มีนาคม 2010

มันอาจจะมาตรงเวลาก็ได้



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มีนาคม 2553

คาร์ล จุง ที่หลายคนเรียกว่าเป็นบิดาของจิตวิทยาพูดว่า “คนเราไม่ชอบได้ยินความจริง” น่าจะจริง ความแน่นอนกับความไม่แน่นอนนั้น หากยังไม่ได้เคลื่อนไปสู่จุดที่สุดของมันจริงจึงไม่แตกต่างกัน ที่พูดว่ามันอาจจะมาตรงเวลาก็ได้นั้น หมายถึงปี ค.ศ.๒๐๑๒ ที่ผู้เขียนได้ย้ำถึงความเป็นไปได้สองประการ ที่อาจเกิดกับโลกและมนุษย์กับสังคมของมนุษย์ทั่วทั้งโลก โดยไม่มีประชาชนคนใดหรือชุมชนไหนได้รับการยกเว้น แต่ไม่ใช่โลกแตกอย่างแน่นอน อาจจะพังไปบางส่วนโดยเฉพาะไบโอสเฟียร์ (biosphere - ชีวมณฑล) จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่ดาวเคราะห์โลก อย่าว่าแต่ไม่เคยเห็นเลย แม้แต่ฝันถึงก็ไม่เคยฝันมาก่อน อย่างที่ เนชันแนลจีโอกราฟิก ฉบับเดือนธันวาคม ๒๐๐๙ นำโฆษณาของไอบีเอ็มมาลง “สนทนากับดาวเคราะห์โลกผู้ทรงปัญญา” ว่าต่อไปนี้ “คือบัญชาที่สั่งให้ (ใครสั่ง? สวรรค์รึ?) ดาวเคราะห์โลกจะต้องเปลี่ยนแปลง คือบัญชาที่สั่งให้ดาวเคราะห์โลกต้องมีปัญญา” นั่นคือ บัญชาที่ทำให้ดาวเคราะห์โลกหรือมนุษยชาติจำต้องเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนทั้งสองด้าน คือโลกกายกับจิตมนุษย์ อย่างหนึ่งไม่ดีกับอย่างหนึ่งดี กายอาจไม่ดี แต่จิตอาจจะเรียกว่าดี

นั่นคือสภาวะล่มสลายทางโลกแห่งรูปกายภาพ กับการวิวัฒนาการของจิตมนุษย์สู่จิตวิญญาณ (noosphere) มันเป็นเรื่องของดุลยภาพที่เป็นธรรมชาติปกติ ซึ่งจะเกิดขึ้นอาจเรียกว่าทันทีทันใด และผู้เขียนเชื่อว่า สภาพการณ์ทั้งสองอาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้ เพราะมีเหตุผลพร้อมมูลทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ อย่าลืมว่าในทางปฐพีวิทยานั้น เราอยู่ในยุคแห่งอินเตอร์เกลเชียล มนุษยชาติมีความสุขกายสบายใจมานานนักหนา กับกายวัตถุนิยม กับความรู้ผิดๆ ที่คิดว่าถูก คิดว่าจริง อยู่กับระบบทุกๆ ระบบที่ได้มาจากความรู้ผิดๆๆๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบของสังคม ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา กระทั่งระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีเงินและบริษัทยาเป็นนาย ประชาชนทั้งโลกเป็นทาส

ผู้เขียนได้พูดได้เขียนเรื่องปี ๒๐๑๒ มานานร่วม ๑๐ ปีแล้ว และที่เขียนเพราะมีเหตุผลที่เป็นความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ศาสนา ทั้งหมดไม่ใช่ว่ามีเจตนามองโลกในแง่ร้าย เพราะว่าจริงๆ แล้วการที่มองโลกด้านหนึ่งด้านใดโดดๆ เพียงด้านเดียวนั้นไม่มี มันจะมีสองด้านเสมอ เป็นดีกับชั่ว เป็นซ้ายหรือเป็นขวา เป็นข้างบนหรือล่าง เป็นหน้าหรือหลัง สองสุดโต่งเสมอไป ดุลยภาพหรือมัชฌิมาปฏิปทาคือชีวิต ฉะนั้นเอง ความทุกข์ทรมานไม่ชอบใจกับความสุขความพอใจ - ในความเห็นส่วนตัว - เป็นเรื่องที่มีผ้าคลุมบางๆ กั้นขวางไว้เท่านั้นเอง ทำไมชีวิตถึงจะต้องสนุกอย่างเดียว? ประเด็นคือมันมีเหตุผลที่เป็นภาพรวมของชีวิตและมนุษยชาติจริงๆ คิดดูให้ดีๆ

ที่ผู้เขียนจำเรื่อง ๒๐๑๒ ได้แม่น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นผู้เขียนเองที่แปลวิทยานิพนธ์ของ ซูซาน แคนนอน ตอนที่เธอทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และนิตยสาร อนาคตที่เป็นบวก (Yes! The Positive Future, 2000) เอาวิทยานิพนธ์ของเธอ (ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม) มาลง กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมและอารยธรรมโลก “สมัยใหม่” ที่จะเกิดขึ้นและจำต้องเกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดในสี่รูปแบบ ซึ่งเธอได้เสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ ซึ่งสังคมอารยธรรมที่เรามีเราใช้กันอยู่มาช้านานจนถึงในขณะนี้ จะจบสิ้นลง - ขึ้นกับสถานภาพของชุมชน สังคมของประเทศทั่วทั้งโลก กับสภาพการณ์ของระบบยุติธรรมและจิตสำนึกโดยรวมของประชาชนในขณะนั้นๆ

ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว ซูซาน แคนนอน ดูจะเขียนไปในทำนองว่า น่าจะเป็นรูปแบบของสังคมอนารยธรรมและความป่าเถื่อนมากกว่ารูปแบบใด เพราะว่าเธอคงจะเอาจิตใจของคนในขณะนี้ กับสภาพของระบบเศรษฐกิจ ของรัฐบาล และของประชาชนในเมือง - นครใหญ่ๆ ของประเทศตะวันตก เช่น อเมริกา หรือยุโรป มาเป็นบรรทัดฐาน (ไม่มีคนอยากเป็นรัฐบาล เพราะไม่มีเกียรติและต้องรับผิดชอบสูง แถมไม่มีเงินเพราะเอาไปช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหมด) ในวิทยานิพนธ์ของ ซูซาน แคนนอน นั่นเอง ที่ผู้เขียนได้ความคิดเรื่องปี ๒๐๑๒ ของพวกนิวเอจ ที่ประชากรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของโลกเชื่อ (“The Crash of 2012!”)

นั่น - เสริมเติมคำทำนายของทุกศาสนากับความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าโลกจะร้อน “ดุจนรก” หรือน้ำท่วมโลก หรือยุคน้ำแข็งใหม่ หรือการย้ายขั้วโลก อุกกาบาตและอื่นๆ ที่ผู้เขียนค้นหามาเขียนเล่าว่า ทั้งหมดอาจจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ วันนี้ หรือวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๑๒ เมื่อดวงอาทิตย์โคจรมาตรงกับจุดศูนย์กลางของกาแล็กซี โดย ดร.โฮเซ อาร์กีเลส (Jose Arguelles: Galactic Research Institute) กล่าวว่า “วันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๑๒ คือวันที่ดวงอาทิตย์ของเราจะเคลื่อนมาทับจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีของเราพอดี (ระบบสุริยะจะโคจรไปรอบๆ จุดศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกครบหนึ่งรอบ โดยใช้เวลา ๒๕๐ ล้านปี) ซึ่งวันนั้นคือวันสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของจักรวาลจากกายมาสู่จิต - สำหรับประชาชนส่วนที่รอดพ้นธรณีประตู (ของความตายและความล่มสลายระดับโลกมาได้)” นั้น

โฮเซ อะกีเลส บอกว่าโลกไม่ได้แตก หากแต่เป็นวิวัฒนาการของโลก ของจักรวาล จากสิ่งไม่มีชีวิต (physicosphere) มาเป็นวิวัฒนาการของชีววิทยา หรือสิ่งมีชีวิตในอดีต (biosphere) ซึ่งโฮเซบอกว่าได้ก้าวมาถึงจุดจบแล้ว - และกล่าวว่า “ความสำเร็จของเทคโนโลยี (technosphere เป็นส่วนของ ไบโอสเฟียร์) - ซึ่ง “ข้อมูล” นั้นคือ “ความหมาย” ที่จะต้องแปลด้วยจิตรู้หรือจิตสำนึก ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการสู่จิตวิญญาณ ตามสเปกตรัมของจิตไปเรียบร้อยแล้ว จึงจะแปลความหมายได้ถูกต้องตามเจตนาของจักรวาล

เพราะฉะนั้นปี ๒๐๑๓ เป็นต้นไป จะเป็นปีที่จะมีวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณหรือธรรมจิต ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิวัฒนาการของโลกแห่งชีวิต ซึ่งมีจิตของมนุษยชาติเป็นจุดหมายปลายทางนั่นเอง (physicosphere – biosphere - noosphere) ถามว่ารู้ได้อย่างว่าจิตมนุษย์ คือจุดหมายปลายทางของวิวัฒนาการของจักรวาล หรือถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าวิวัฒนาการมีแค่สาม spheres เท่านั้นเองหรือ? แล้วโลกพัง และประชาชนจำนวนมากที่ตายด้วยภัยธรรมชาติหลากหลายที่ว่านั่น เกี่ยวข้องกับจักรวาลอย่างไร? คำตอบที่ถามทั้งหมดนั้นได้อธิบายไว้แล้วในย่อหน้านี้ กรุณาอ่านซ้ำๆ หลายๆ หน เพราะว่าอาจจะเป็นที่ผู้เขียนเองเขียนไม่กระจ่างพอก็ได้

ไล่มาตั้งแต่โลกได้มีชีวิตเกิดขึ้นมา จนกระทั่งมีมนุษยชาติเมื่อประมาณสองแสนปีที่แล้ว มนุษยชาติในภาพรวมเพิ่งจะย่างเท้าเข้าสูวัยรุ่น ไม่เคยทำอะไรถูกต้องตามธรรมชาติเลย หากว่าสิ่งที่ผู้เขียนคิด วิเคราะห์ เชื่อมั่น ตามที่ได้เขียนเล่ามาในบทความต่างๆ ซึ่งผู้เขียนได้มาจากศาสดา ปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงมาทั้งหมด ล้วนแสดงภาพใหญ่และภาพรวมของวิวัฒนาการ (ของจักรวาล ของโลกมนุษยชาติ กับสังคม) อย่างน่าสนใจยิ่ง คือแสดงภาพลักษณ์ที่สอดคล้องต้องกันกับวิวัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็ก หรือมนุษย์แต่ละคนเป็นปัจเจกอย่างใดอย่างนั้น (ดู ฌอง เปียเจต์ และโจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ ด้วย)

ในความเห็นของผู้เขียน มนุษยชาติยังเป็นเด็กที่เพิ่งย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ความรู้เรื่องของโลกรอบๆ ตัวและตัวตนของตัวเอง ส่วนใหญ่ที่ได้มาจากประสบการณ์ตรงตั้งแต่ครบ ๓ ขวบบริบูรณ์ ในช่วงการเจริญเติบโตระหว่างนั้น ทำให้ตัวเองมั่นใจว่า ได้เรียนรู้โลกรอบๆ ตัวที่สำคัญต่อ “การอยู่รอด” กับเรียนรู้ตัวตนของตัวเองได้ทั้งหมดแลัว เพราะไม่รู้ว่าที่ตัวเองคิดอย่างมั่นใจนั้นเป็นแต่เพียงได้เรียนรู้เฉพาะที่สำคัญๆ ของหนึ่งการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดถึงสามการเรียนรู้ - รู้รอด รู้เพื่อรู้ (intellectual การเข้าโรงเรียน) และรู้แจ้ง - ดังนั้นเด็กวัยรุ่น (ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยฮอร์โมนเพศ) จึงทะนงตนว่า “ข้าใหญ่” ไปตามเพศนั้นๆ นั่นคือธรรมชาติของวิวัฒนาการ ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลจะต้องเป็นไปตามนั้น

ฉันใดฉันนั้น มนุษยชาติโดยเผ่าพันธุ์ก็ต้องเป็นเช่นนั้น ตามที่ ปิแอร์ เดอ ชาดัง ศรีอรพินโธ วลาดิเมีย เวอนาดสกี และนักจิตวิทยาแทบทุกคน รวมทั้ง เคน วิลเบอร์ จะมองเรื่องของวิวัฒนาการไม่ว่าของสิ่งใด มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต จักรวาลกับโลก หรือมนุษยชาติกับสังคมของมนุษย์ ไปทำนองนั้น นั่นคือ physicosphere - biosphere - noosphere ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งก็คือหัวใจของอิทัปปัจจยตา การคลี่ขยายเป็นวัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุดที่วิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบ

เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงคิดว่าครั้งนี้ “มันอาจจะมาตรงเวลาก็ได้” คือความล่มสลายบางส่วนที่อาจเป็นส่วนใหญ่ของโลกแห่งรูปกาย กับการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ ซึ่งหมายความว่าต่อไปนี้มนุษยชาติและสังคมของมนุษย์โดยรวมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดใหญ่หลวง จนเราไม่อาจมองเห็นหรือคาดเดาได้แม้แต่น้อย เพราะไม่เคยมีมาก่อน ปัญหาและวิกฤติต่างๆ การขัดแย้งแตกแยก ปัญหาแยกดินแดน ปัญหาข้าราชการกับนักการเมืองคอรัปชั่น กระทั่งปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา ยาเสพติด ฯลฯ ในประเทศไทยจะไม่มีหรือมีน้อยลงๆ

ครั้งแรกที่ physicosphere เปลี่ยนเป็น biosphere หรือวงจรแห่งชีวิตนั้นเกิดขึ้นเมื่อร่วม ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ ล้านปีมาแล้ว และโลกก็ไม่แตกด้วย ในทางวิทยาศาสตร์คาดกันว่า มีการเคลื่อนย้ายของแผ่นเปลือกโลกขนานใหญ่ มีดาวหางอุกกาบาตวิ่งมาชนโลก มีการย้ายขั้วโลกหรือบางส่วนมาแล้ว - เฉกเช่นครั้งนี้ - ทั้งหมดจึงมากกว่าเป็นไปได้ อย่าลืมว่าการอธิบายปฏิทินของชาวมายา โฮปี อียิปต์ และฮินดูโบราณนั้น ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ที่บุคคลเขียนขึ้นมากนัก ความล่มสลายโลกในครั้งนี้ หากจริงคงจะได้พิสูจน์เสียทีว่า ระหว่างบังเอิญและกายวัตถุนิยม กับจิตและจิตวิญญาณนั้น อันไหนคือความจริงแท้กว่ากัน

พัฒนาการทางจิตตามแนวคิดของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มีนาคม 2553

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายว่ามนุษย์มี ๕ ระดับจิต พัฒนาตามวัยจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ โดยแต่ละระดับจิตจะสร้างความหมายและความจริงของเขาขึ้นมาภายในโลกนั้นๆ

คีแกนพบว่าการสร้างความหมายของมนุษย์เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ (subject-object relation) โดย “จิตผู้รู้” หมายถึง โครงสร้างจิตที่ทำหน้าที่เรียบเรียงสิ่งที่ถูกรู้เข้าด้วยกัน เพื่อให้กลายเป็นเรื่องราวที่มีความหมาย “สิ่งที่ถูกรู้” หมายถึง สิ่งที่ถูกสังเกต ถูกจัดการ ถูกเชื่อมโยง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้ด้วยกัน เมื่อจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้สัมพันธ์กัน ความหมายและความจริงก็ถูกประกอบสร้าง (constructive) ขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างความหมาย/ความจริงของจิต ยังเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างหนึ่งไปยังอีกโครงสร้างหนึ่งตามลำดับพัฒนาการ (developmental) โดยมีกระบวนการพัฒนาจิตที่อธิบายว่า จิตผู้รู้ในระดับหนึ่ง เคลื่อนตัวกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ของจิตผู้รู้ในระดับถัดไป เมื่อจิตเกิดการเคลื่อนตัวแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง เพิ่มความสามารถในการรองรับความซับซ้อนของโลกได้มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีจิตวิทยาของคีแกนจึงเรียกว่า จิตวิทยาพัฒนาการ-ประกอบสร้าง (Constructive-Developmental Psychology) ซึ่งทำหน้าที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ ในสองลักษณะคือ ๑) ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ที่สร้างความหมาย/ความจริงให้กับมนุษย์แต่ละคน และ ๒) กระบวนการเปลี่ยนแปลงของจิตมนุษย์ (transformation) ที่จิตผู้รู้กลายไปเป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิตผู้รู้ใหม่

ระดับจิตแต่ละขั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ระดับจิตที่หนึ่ง: จิตตามสิ่งเร้า (Impulsive Mind)

เป็นโครงสร้างแรกของความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก โดยที่มีจิตผู้รู้เป็นไปตามสิ่งเร้า (impulse) หรือตามการรับรู้ (perception) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ และสิ่งที่ถูกรู้ คือการสัมผัสและการเคลื่อนไหวทางกายภาพ กล่าวคือ เด็กสามารถจัดการกับการเคลื่อนไหวทางกายภาพหรือการสัมผัสได้ แต่มีการจัดการไปตามสิ่งเร้าหรือการรับรู้ที่ชักนำไปในขณะนั้นๆ เรามักพบระดับจิตนี้ในเด็กช่วงอายุ ๒-๖ ปี โลกของเขาเป็นโลกแห่งจินตนาการ เช่น เด็กรับรู้ว่าเมฆวิ่งตามเขา เด็กเข้าใจว่าถ้าเขย่าถุงขนมแล้วจะทำให้ขนมเพิ่มมากขึ้น เด็กเข้าใจว่าถ้าเปิดตาเขาแล้วคนอื่นก็จะมองเขาไม่เห็นเช่นกัน น้ำในแก้วทรงสูงเมื่อถูกเทไปยังแก้วทรงเตี้ยทำให้น้ำหดตัวน้อยลง เป็นต้น เด็กซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์จากคนใกล้ชิด เช่น ความร่าเริง รอยยิ้ม ความโกรธ ถ้าคนอื่นมีความเห็นต่างไปจากการรับรู้ของเขา เด็กจะเกิดความสับสน งงงวย

ระดับจิตที่สอง: จิตตามใจตน (Imperial Mind)

จิตตามใจตนเกิดเป็นจิตผู้รู้ใหม่ ไปรู้และสัมพันธ์กับจิตตามสิ่งเร้าที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไปแล้ว ณ ระดับนี้ กล่าวคือ จิตตามใจตนสามารถเชื่อมโยงการรับรู้เป็นส่วนๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นมุมมอง (points of view) และสามารถเชื่อมโยงสิ่งเร้าเป็นครั้งๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความชอบส่วนตัว (preferences) ตัวอย่างเช่น เขาสามารถบอกได้ว่า น้ำในแก้วทรงสูงเมื่อถูกเทไปยังแก้วทรงเตี้ยยังมีปริมาณเท่าเดิม เพราะสามารถเชื่อมโยงการรับรู้ระหว่างน้ำในแก้วทรงเตี้ยกับทรงสูงได้ หรือสามารถบอกได้ว่า ของมีขนาดเท่าเดิมแม้ว่าจะเดินเข้าไปใกล้กับเดินออกมาห่าง นั่นคือ เขาสามารถตระหนักถึงและเชื่อมโยงการรับรู้ต่างเวลาและระยะทางได้

ระดับจิตนี้มักพบในเด็กโตถึงวัยรุ่นตอนต้นช่วงอายุ ๗-๑๒ ปี1 เราจะเห็นได้ว่าเด็กวัยนี้สามารถรับรู้ได้ว่า คนอื่นมีมุมมองและความชอบส่วนตัว แยกต่างหากจากมุมมองและความชอบของเขา เด็กวัยนี้จะเริ่มมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาจะรวมตัวกับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่มีมุมมองและความชอบส่วนตัวคล้ายกัน หรือสนับสนุนกัน โลกของเด็กในระดับจิตนี้ มีตัวฉันเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวอย่างความเห็นที่สะท้อนระดับจิตนี้ได้แก่ “ฉันขโมยของคนอื่นได้ ก็เพราะฉันต้องการของชิ้นนั้น แต่คนอื่นจะมาขโมยของฉันไม่ได้ เพราะฉันก็ต้องการมัน” เป็นต้น

ระดับจิตที่สาม: จิตตามสังคม (Socialized Mind)

จิตตามสังคมเป็นจิตผู้รู้ และมีจิตตามใจตนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตตามสังคมจะจัดการกับมุมมองและความชอบส่วนตัว ทั้งของตนเองและคนอื่น ให้อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของสังคม ไม่ว่าสังคมจะมีขนาดเล็กระดับครอบครัว ขนาดปานกลางระดับชุมชน หรือขนาดใหญ่ระดับประเทศ คนระดับจิตนี้สามารถระงับความชอบส่วนตัว เพื่อรักษาประเพณี กติกา ศีลธรรมจรรยา หรือกฎหมายที่สังคมกำหนด ดังนั้นในโลกของคนระดับจิตนี้ คนแต่ละคนจึงมีบทบาทและหน้าที่ภายในสังคม ทุกคนควรพยายามอย่างเต็มความสามารถ เพื่อผดุงคุณงามความดีของการดำรงอยู่ร่วมกันไว้ ด้วยเหตุนี้เอง คนในระดับจิตนี้จึงมักยึดถือบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และจะใช้บทบาทนั้นในทุกสถานการณ์ เช่น บุคคลที่มีบทบาทเป็นครู ก็จะสวมบทบาทครูทั้งในโรงเรียนและในบ้าน เป็นต้น งานวิจัยพบว่า ร้อยละ ๔๓-๔๖ ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี มีจิตอยู่ในระดับจิตที่สาม หรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างระดับจิตที่สามกับสี่
ระดับจิตที่สี่: จิตประพันธ์ตน (Self-authoring Mind)

ณ ระดับจิตที่สี่ จิตประพันธ์ตนเป็นจิตผู้รู้ใหม่ และจิตตามสังคมกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตประพันธ์ตนจะวางระบบการจัดการที่เป็นกลางจากข้อตกลงเฉพาะกลุ่ม สามารถสร้างและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ นโยบาย และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ระบบทำงานบรรลุผล มีหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีในการปฏิบัติงาน สามารถประเมินผลงานและกระบวนการทำงานได้อย่างเป็นระบบ การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เกิดจากการเลือกวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสังคม เขามีสิทธิ์ในการเลือกชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเขาเอง โดยไม่ถูกชี้นำจากสังคม โลกของคนระดับจิตนี้จึงมักมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ เป้าหมาย และการสัมฤทธิ์ผล งานวิจัยพบว่าร้อยละ ๑๘ – ๓๔ ของผู้ใหญ่ระหว่างอายุ ๑๙-๕๕ ปี สร้างความหมายและความจริงตามระดับจิตนี้

ระดับจิตที่ห้า: จิตวิวัฒน์ตน (Self-transforming Mind)

เป็นโครงสร้างจิตที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่งานวิจัยค้นพบในปัจจุบัน ณ ระดับจิตนี้ จิตวิวัฒน์ตนเป็นจิตผู้รู้ และจิตประพันธ์ตนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยจิตวิวัฒน์ตนจะเชื่อมโยง ประสาน ข้ามกระบวนทัศน์ ข้ามระบบความสัมพันธ์ต่างๆ เนื่องด้วยเล็งเห็นว่า ความชัดเจนจากการวางระบบในบางครั้งอาจกลายเป็นกรอบที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และยากต่อการปรับตัว เมื่อเกิดสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ความสามารถในการถักร้อยระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ใหม่ บางครั้งอาจหมายถึงการวิวัฒน์ไปสู่ระบบความสัมพันธ์ใหม่ โลกของคนในจิตระดับนี้ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกันคนละระบบ แต่ทั้งหมดต่างก็ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นทางรอดของสังคม ชุมชน และตนเอง สรรพสิ่งมีความสมบูรณ์และเป็นองค์รวมในตัวมันเอง การจะเข้าใจความสมบูรณ์ได้ อาศัยการวิวัฒน์ตนเองให้สอดคล้องไปกับการวิวัฒน์ของจักรวาลที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและสร้างสรรค์ งานศึกษาของคีแกนยังไม่พบหลักฐานว่ามีใครอยู่ที่ระดับจิตห้าอย่างเต็มขั้น พบแต่เพียงหลักฐานบุคคลที่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากระดับจิตที่สี่ถึงระดับจิตที่ห้ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๓ - ๖ ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี

เมื่อคีแกนวางรากฐานทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ-ประกอบสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาและลาเฮเพื่อนนักวิจัยของเขา ได้ร่วมกันคิดค้นว่า เขาจะช่วยให้คนเติบโตและเปลี่ยนแปลงระดับจิตได้อย่างไร ยี่สิบกว่าปีของการทดลอง นำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ กลายเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยให้คนปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริง แปรเปลี่ยนจากความตั้งใจอย่างจริงใจ ให้กลายเป็นสิ่งที่เขาสามารถทำได้จริง แบบฝึกหัดดังกล่าวเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลง” (Immunity to Change)

เขาพบว่าการพาคนให้พบกับความขัดแย้งที่ดีที่สุด (optimal conflict) ภายในตัวเอง จะช่วยให้คนเติบโตและเปลี่ยนแปลงระดับจิต เหตุผลที่เรียกว่าความขัดแย้งที่ดีที่สุด ก็เพราะว่าความขัดแย้งนั้นทำให้เรา ๑. เกิดความสับสน งงงวย ลังเล กลับไปกลับมา มาอย่างยาวนาน ๒. จนทำให้เรารู้สึกได้ถึงข้อจำกัดของวิธีการรับรู้ของเรา ๓. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้ชีวิตในบางด้านที่เราใส่ใจ และ ๔. มีเหตุปัจจัยรองรับอย่างเพียงพอ ที่ทำให้เราไม่สามารถหลุดออกจากความขัดแย้งนั้นได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถหลีกหนีหรือปฏิเสธมันได้

ความขัดแย้งที่ดีที่สุดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรายังคงดำรงอยู่ในจิตระดับหนึ่งๆ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไประดับถัดไป การมีแบบฝึกหัดที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องฉายแสงเอ็กซเรย์เข้าไปในจิตใจ จนเห็นทะลุปรุโปร่งถึงการทำงานของความขัดแย้งที่ดีที่สุด จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพที่มีอยู่ออกจากกับดักของความขัดแย้งนั้น

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำเสมอไป ภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลงที่ถูกสร้างขึ้นในตัวมนุษย์ ก็มีเหตุผลของตัวมันเอง ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ในโลกได้อย่างสมดุล เพียงแต่เมื่อใดก็ตาม ที่จุดสมดุลนั้นไม่อาจรองรับความซับซ้อนของโลกที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป มนุษย์ก็จำเป็นต้องเคลื่อนตัวไปสู่ความไร้สมดุล เพื่อพบกับจุดสมดุลทางจิตที่รองรับความซับซ้อนใหม่ได้

เอกสารอ้างอิง: 1. Kegan, R. (1982) The Evolving Self: Problem and Process in Human Development. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.; 2. Kegan, R. (1994) In Over Our Head: The Mental Demands of Modern Life. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.; 3. Kegan, R. and Lahey, L. (2009) Immunity to Change: How to Overcome it and Unlock the Potential in Yourself and Your Organization. Cambridge, Mass: Harvard University Press.

เล่นกับไฟ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มีนาคม 2553

เพื่อนคนหนึ่งคุยกับผมเมื่อไปเชียงดาวว่า เริ่มเข้าใจเข้าถึงวิถีที่ผมดำรงอยู่อย่างสบายๆ ภายใต้ผิวหนังของตัวเอง เขาพูดเป็นภาษาอังกฤษ หมายความว่า เราดำรงอยู่อย่างสบายๆ ในความเป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง ผมนึกถึงคำว่า แรงค์ (rank) ที่ อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) ใช้ใน Sitting In The Fire และนึกถึงคนในทีมของประชา (หุตานุวัตร) ที่กำลังจะแปลหนังสือเล่มนี้ ผมแปลคำนี้ว่า “ศักดิ์” เพราะมันมีพยางค์เดียวและมีความหมายเข้ากันได้ดีกับที่มินเดลต้องการใช้คำๆ นี้ ผมคิดว่า การดำรงอยู่อย่างสบายๆ ในความเป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง หรือการดำรงอยู่อย่างสบายๆ ในความเป็นตัวของตัวเอง เป็นศักดิ์อย่างหนึ่งในบรรดาศักดิ์หลายๆ อย่างที่คนเราอาจจะมีได้

เมื่อเร็วๆ นี้ มนตรี ทองเพียร ไปทำเวิร์คชอปให้กับคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มนตรีเอาศักดิ์อะไรไปทำหรือ? อาจารย์อรสาจัดเวิร์คชอปครั้งนี้ให้กับนักศึกษาปริญญาโท และเชิญคณาจารย์ที่สนใจเข้าร่วมด้วย ปรากฏว่ามีอาจารย์เข้าร่วมเพียงสามคนเท่านั้น อาจารย์อรสาอาจจะอยากให้มาเข้ากันมากกว่านี้ แต่พอดีมีเวิร์คชอปคล้ายๆ กันที่ศักดิ์ศรีอาจจะเด่นล้ำกว่า เพราะทีมงานอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง และเริ่มมีการกล่าวกันว่า ทีมงานของมูลนิธิสังคมวิวัฒน์นั้น กระบวนกรไม่ค่อยจะมีศักดิ์ด้านหนึ่ง โดยเฉพาะปริญญาบัตรต่างๆ กันเท่าไรนัก

แต่ศักดิ์ไม่ได้มาจากปริญญาบัตรเพียงเรื่องเดียว ศักดิ์อาจจะมาจากประสบการณ์ตรง หรือปัญญาปฏิบัติได้ด้วย พวกผมมีโอกาสดูแลองค์กรหลายแห่งอย่างลึกเข้าไป ไม่ได้เพียงจัดเวิร์คชอปแล้วเสร็จงาน แต่มีโอกาสตามไปเป็นที่ปรึกษา และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย เราเห็นว่าหากความรู้ในตำราไม่ได้มีการย่อยซึมซับเข้าไปเป็นปัญญาปฏิบัติที่มีชีวิตแล้ว ความรู้นั้นๆ จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ยังไม่ต้องพูดกันถึงทฤษฎีการเรียนรู้เลยด้วยซ้ำว่า องค์ความรู้ของโลกล้วนมีรากฐานที่มาจากปัญญาปฏิบัติทั้งสิ้น

และตอนนี้ ทักษะที่สำคัญยิ่ง ทักษะที่เหนือชั้นขึ้นไป อาร์โนลด์ มินเดล และ เอมี มินเดล ภรรยาของเขา เรียกมันว่า เมตาสกิล (metaskill) คือทักษะที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกับที่พวกเราทำกันอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ จะเรียกชื่อว่า จิตวิวัฒน์ หรือจิตตปัญญาศึกษาก็ตาม แต่พวกเขาเรียกมันว่า โปรเซส เวิร์ค (process work) และเรียกคนทำงานด้านนี้ว่า เวิร์ลเวิร์คเกอร์ (worldworkers) พวกเขาสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมาพอสมควรเลยทีเดียว แต่มีความจำเป็นไหมกับการสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมา ขอให้ท่านพากันใคร่ครวญหาคำตอบดูกันเล่นๆ ก็แล้วกันนะครับ

และคนที่จะทำกระบวนการ (process work) ได้ดี จะต้องพัฒนาตัวเองเป็น เอลเดอร์ (elder) แปลตรงๆ ว่า ‘ผู้อาวุโส’ แต่ประชาแปลว่า ‘สัตบุรุษ’ ซึ่งผมก็ใช้ตามเขาไปก่อน สัตบุรุษนี้คือกระบวนกรหลักที่เป็นเซียนแล้วตามหลักการของเรา แน่นอนครับว่า ศักดิ์ขององค์กรฝึกอบรมสังกัดมหาวิทยาลัยมีชื่อดูเหมือนว่าจะสูงกว่าเราในด้าน “วิชาการ”? แต่ในการวัดแบบมินเดล จะวัดอย่างไร ผมจึงถือโอกาสนำการเปรียบเทียบระหว่าง “ผู้นำ” กับ “สัตบุรุษ” ในบท “The Metaskills of Elders” ในหนังสือ Sitting in the Fire มาลงไว้ให้พวกเราได้เปรียบเทียบกันเล่นๆ นะครับ ดังนี้

ผู้นำทำตามกฏเกณฑ์ที่เยี่ยมยอด ในขณะที่สัตบุรุษเชื่อฟังจิตวิญญาณ

ผู้นำแสวงหาเสียงส่วนใหญ่ ในขณะที่สัตบุรุษยืนอยู่เพื่อคนทุกคน

ผู้นำเห็นปัญหาและพยายามจะยุติมัน ในขณะที่สัตบุรุษเห็นคนก่อปัญหาว่าอาจเป็นครูของเขาได้

ผู้นำพยายามจะซื่อสัตย์ ในขญะที่สัตบุรุษพยายามจะแสดงความจริงในทุกสรรพสิ่ง

ผู้นำประชาธิปไตยสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่สัตบุรุษทำเช่นนั้นด้วย แต่เขายังน้อมรับฟังเผด็จการและภูตผี (คำๆ นี้ต้องขออนุญาตแปลภายหลังอีกทีต่างหากออกไป) อีกด้วย

ผู้นำพยายามทำงานให้ดีกว่าเดิมในงานของเขา ในขณะที่สัตบุรุษพยายามขวนขวายหาคนมาพัฒนาตัวเองเป็นสัตบุรุษเช่นเขา

ผู้นำพยายามจะทรงภูมิปัญญา ในขณะที่สัตบุรุษไร้ตัวตน หากแต่คล้อยตามวิถีแห่งธรรมชาติ

ผู้นำต้องการเวลาใคร่ครวญ ในขณะที่สัตบุรุษใช้เพียงชั่วขณะที่จะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น

ผู้นำรู้ ในขณะที่สัตบุรุษเรียน

ผู้นำพยายามกระทำการ ในขณะที่สัตบุรุษปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไป

ผู้นำต้องการยุทธศาสตร์ ในขณะที่สัตบุรุษศึกษาห้วงขณะ

ผู้นำทำตามแผนงาน ในขณะที่สัตบุรุษค้อมหัวให้แม่นยำที่ไม่เคยรู้เห็นและลี้ลับนำทาง

Back to Top