สิงหาคม 2012

หมั่นปลูก “กรอบความคิด” ให้เติบโตอยู่เสมอ


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน 2555

ตอนที่ผมไปอบรมการจัดกระบวนการ “ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง” (Immunity to Change) กับศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน และลิซ่า ลาเฮ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาจารย์ลิซ่าแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้เราได้อ่านกันคือ หนังสือเรื่อง กรอบความคิด (Mindset) เขียนโดย ศาสตราจารย์แครอล ดเว็ก ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วพบว่า เป็นแนวคิดที่ต่อยอดการทำงานพิชิตภูมิต้านทานได้เป็นอย่างดี

จากประสบการณ์ที่ผมทำงานจัดกระบวนการและโค้ชผู้บริหารโดยใช้แนวทางนี้มา จนเห็นผู้นำเริ่มพิชิตภูมิต้านทานของตนเองได้จริง เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามที่พึงประสงค์ และไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น เขายังเปลี่ยนวิธีคิด วิธีรู้สึก ทำให้เพิ่มชุดความสามารถในการเป็นผู้นำไปในตัว ทักษะการนำที่เคยได้ฝึกฝนมาจากโครงการพัฒนาผู้นำต่างๆ ที่ผ่านมา กลายเป็นความสามารถที่เขาดึงมาใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

คำถามท้าทายต่อเนื่องจากจุดนี้คือ ผู้นำเหล่านี้จะยังคงมีกรอบความคิดที่พัฒนาและเติบโตต่อไปได้ด้วยตัวเองอย่างไร เพราะในเส้นทางชีวิตและการทำงานย่อมพบกับความท้าทายใหม่ๆ และอุปสรรคที่ยากๆ เข้ามาอยู่เสมอ ผมพบว่าแนวคิดในหนังสือ กรอบความคิด ของศาสตราจารย์ดเว็ก ช่วยเป็นที่ปรึกษาในการค้นหาคำตอบในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับศาสตราจารย์ดเว็ก “กรอบความคิด” หมายถึงชุดความเชื่อ หรือวิธีคิดที่กำหนดการแสดงพฤติกรรม การมองโลก และทัศนคติ ในทางปฏิบัติคือ เมื่อเราแสดงพฤติกรรม หรือแสดงความคิดความเห็นประการใดประการหนึ่ง เราสามารถสะท้อนกลับไปถึงกรอบความคิดที่มาของพฤติกรรมและความคิดนั้นๆ ได้เสมอ

และเมื่อเราสะท้อนตนเองทีไร เราก็ยังพบกรอบความคิดแบบเดิมอยู่เสมอๆ นั่นแสดงว่าเรากำลังติดอยู่กับกรอบความคิดที่ตายตัว (fixed mindset) แต่หากเราสะท้อนพบกรอบความคิดเดิม และไม่ยอมแพ้กับกรอบความคิดเหล่านั้น นั่นหมายถึงเรากำลังมีกรอบความคิดที่เติบโต (growth mindset)

สัญญาณบอกว่าเรามีกรอบความคิดตายตัว คือเรารู้สึกกลัวต่อความท้าทายที่เข้ามา กลัวต่อความสำเร็จของผู้อื่น และมีแนวโน้มล้มเลิกความพยายามได้ง่ายๆ เมื่อเจอกับอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่า ความผิดพลาด ความล้มเหลว เป็นต้น

สัญญาณบอกว่าเรามีกรอบความคิดเติบโต คือเรารู้สึกสนุก ตื่นเต้น และมันส์ กับความท้าทายที่เข้ามา รู้สึกได้รับบทเรียนและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของผู้อื่น มีความใส่ใจ อดทน และความพยายาม ทำแล้วทำอีก แม้จะพบเจออุปสรรคมากน้อยเพียงไรก็ตาม ไม่หวั่นไหวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มองติให้เป็นก่อ ล้มแล้วลุก ผิดแล้วเริ่มต้นใหม่ เป็นต้น

สรุปสั้นๆ กรอบความคิดตายตัว ประเมินตัวเองจากผล และรู้สึกกลัวมากว่าจะไปไม่ถึงเป้า กรอบความคิดเติบโต ประเมินตัวเองจากกระบวนการ และรู้สึกสนุกกับแต่ละก้าวที่ยังไม่ถึง



ซึ่งสอดคล้องกับที่ผมและทีมได้ทำงานเอกซ์เรย์จิตผู้นำกันมาสักระยะ จนพบ “ความเชื่อใหญ่” หรือ “การทึกทักไปเองที่เราเชื่ออย่างสนิทใจ” (Big Assumptions) ซึ่งเป็นหัวขบวนใหญ่ ที่เชื่อมโยงไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรม จนกลายเป็นระบบภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงของคน

เมื่อคนเริ่มเปลี่ยนระบบการคิด การรู้สึก ได้ถึงรากของความเชื่อใหญ่ กรอบความคิดจะเริ่มเติบโตไปสู่กรอบความคิดใหม่ ที่ทึกทักไปเองน้อยลง แต่สังเกต รับฟัง และสะท้อนตนเองได้กว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้น กระนั้นก็ตาม กรอบความคิดใหม่ก็อาจกลายเป็นกรอบความคิดตายตัวอันใหม่ของเขาก็ได้

ความท้าทายในจุดนี้คือ การรักษาให้ผู้นำอยู่ในกระแสของการเติบโตอยู่เสมอ นั่นคือ ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนกรอบความคิดได้หนึ่งครั้งแล้วจบ (เช่น เปลี่ยนจากกรอบความคิด A ไปเป็นกรอบความคิด B) แต่เป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดได้อยู่เรื่อยๆ (เช่น เปลี่ยนจากกรอบความคิด A ไป B ไป C ไป D ได้อีก) ดูเหมือนว่าศาสตราจารย์ดเว็ก จะพบคำตอบในเรื่องนี้จากงานวิจัยของท่านเรื่อง “กรอบความคิด”

ผมเองก็ติดกับกรอบความคิดตายตัวเรื่องหนึ่งมานาน ผมเคยเชื่อว่า “ขยัน = โง่/ถึก” สิ่งที่เราอยากเป็นมากกว่าคือ “เก่ง ทำแป๊บเดียวเสร็จ ออกแรงน้อยๆ แต่ได้มากๆ” นี่เป็นหนึ่งในกรอบความคิดตายตัวของผมที่คับแคบมากๆ ผมพบกรอบความคิดนี้จากการเอาเรื่อง “กัดไม่ปล่อย” มาเป็นโจทย์ในการวินิจฉัยตัวเอง ผมพบว่า ๒-๓ ปีผ่านไป ผมเปลี่ยนกรอบความคิดนี้ไปหลายรอบ แต่ละรอบ ผมได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นๆ ลึกขึ้นๆ เริ่มจากรอบแรกๆ ที่เชื่อมโยงกับอดีตของตัวเอง ที่สอบได้ที่หนึ่งโดยไม่ต้องขยันมากนัก จนถึงการผิดหวังจากความทุ่มเทขยันอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้รับผลดังหวัง จนถึงรอบหลังๆ ที่เริ่มเห็นว่า มีรากเชื่อมโยงไปถึงความขัดแย้งทางทัศนคติระหว่างครอบครัวคนจีนแต้จิ๋วกับจีนแคะของพ่อกับแม่ แต่ละครั้งที่ผมเข้าใจมากขึ้น เหมือนผมได้ยกภูเขาออกจากอกไปทีละลูก

เมื่อเราหมั่นสะท้อนตนเองในระดับกรอบความคิดอยู่เสมอ ขยันทดลองทำต่างที่ข้ามกรอบความคิดอยู่เรื่อยๆ อดทนไม่ย่อท้อกับเสียงต่อว่า หรือไม่หวั่นไหวเมื่อไม่ได้ยินเสียงที่อยากได้ยิน หมั่นปลูกกรอบความคิดให้เติบโตอยู่เสมอ เปรียบดั่งชาวไร่ชาวนาที่หมั่นปลูกพืชพรรณ รดน้ำ พรวนดิน ไม่ย่อท้อกับสภาพอากาศ ร้อนหนาวอย่างไรก็จะปลูก เราจะเริ่มถึงจุดที่เราจะโอบกอดความท้าทาย มันส์กับการล้มแล้วลุก สนุกกับการผิดแล้วเริ่มใหม่ เราจะพบกับความงามของการเติบโตอยู่เสมอ

เพื่อนและพี่น้องที่ไม่รู้จัก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2555


- ๑ -


รุ่งสางราวหกโมงเช้า ขบวนจักรยานในซอยค่อยทยอยเคลื่อนตัวออกไป เปล่าเลย ไม่ใช่ชมรมคนขี่จักรยานที่ไหน ประดาคนในเครื่องแบบเสื้อเหลืองกางเกงดำเหล่านี้เป็นพนักงานของบริษัทรับทำความสะอาดอาคารต่างๆ ในกระทรวงแห่งหนึ่ง เธอเหล่านี้มีนิวาศสถานอยู่ข้างกระทรวงฯ ต้องทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น จันทร์ถึงศุกร์ และหากมีการทำความสะอาดใหญ่ เช่น ขัดพื้น ลงน้ำยา ก็อาจจะต้องมาทำงานวันเสาร์ด้วย

ในวันที่พนักงานทำความสะอาดบางคนป่วยเป็นไข้ไม่สบาย หน่วยงานรัฐก็เพียงแต่โทรฯ หาบริษัทรับทำความสะอาด แล้วบริษัทฯ ก็จะส่งพนักงานคนใหม่มาทำงานแทนในวันนั้น และให้พนักงานที่ป่วยไปพัก เป็นกติการับประกันว่าสถานที่ทำงานนั้นจะสะอาดเอี่ยมอ่องทุกวัน อย่างไรก็ดี หากบริษัทฯ หาพนักงานมาแทนไม่ได้ พนักงานคนที่ป่วยก็จะถูกบังคับให้ทำงานต่อในวันนั้น

พนักงานที่ป่วย หากบริษัททำประกันสุขภาพให้ หรือทำประกันสังคมร่วมกัน ก็พอจะมีเงินไปหาหมอและซื้อยาได้บ้าง และหากต้องล้มหมอนนอนเสื่อนาน ถ้าโชคดี บริษัทก็จะต้องอนุญาตให้ลาป่วย ไม่หักเงินเดือน และไม่ไล่ออกเพราะป่วย อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ควรจะเป็นโชค หรือควรจะเป็นเรื่องนายจ้างใจดีมีมนุษยธรรม หรือควรจะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกันแน่?


- ๒ -


คนขับแท็กซี่อายุย่าง ๖๐ ปีมีอยู่มากมายทีเดียวบนท้องถนน บางคนผ่อนชำระรถแท็กซี่ได้เป็นคันที่สามแล้ว คันก่อนหน้านำไปทาสีใหม่ จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ยกให้กับลูกสาวที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีและทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง

ในชีวิตของเขาเหล่านี้ ไม่มีนิยามคำว่าวันหยุด เพราะหยุดขับรถเมื่อไหร่ รายได้ก็หายไปทันที และสำหรับบางคนภาระค่าผ่อนรถยังคงอยู่ ส่วนค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลานั้นยิ่งไม่รู้จัก เพราะถ้าขับรถได้ไม่พอค่าเช่าหรือค่าผ่อนรถรวมกับค่าแก๊สหรือน้ำมัน กระทั่งค่ากินข้าวในวันนั้น ก็ถือว่าเกิดหนี้สะสมขึ้นมาทันที

พวกเขาเหล่านี้ไม่มีกำหนดเกษียณอายุการทำงาน เพราะหากหยุดทำงาน ก็ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินเกษียณอายุ และลูกหลานก็ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลได้

ทำไมคนที่ทำงานโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา ทำงานตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่มีโอกาสใช้ชีวิตเป็นคนแก่ที่มีเงินเกษียณดูแล?


- ๓ -


บ่ายวันหนึ่ง มีคนงานตกตึกอีกแล้ว พวกเขาขึ้นไปทำความสะอาดเช็ดกระจกด้านนอกอาคาร สลิงขาดไปเส้นหนึ่ง หล่นลงไปตายทันทีสามคน อีกสองคนรอดมาได้

โดยหลักการแล้ว งานเสี่ยงอย่างนี้ อันตรายอย่างนี้ ระบบความปลอดภัยต้องสูง ค่าตอบแทนต้องมาก แต่ในความเป็นจริงไม่เคยเป็นเช่นนั้น

อาคารสูงระฟ้ามีมากมายในบางกอก เป็นความสำเร็จทางวิศวกรรม เป็นความสำเร็จอันน่าปลาบปลื้มของนักลงทุน เป็นพื้นที่โฆษณาใหม่น่าสนใจ แต่ – คนเช็ดกระจกอาคารตกตึก – เป็นความล้มเหลวของใครบ้าง?

ทำไมคนทำงานในอาชีพสุจริตกลุ่มหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในการทำงานมากกว่าคนอื่น? การทำงานและมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยในขณะทำงานเป็นสิทธิหรือความกรุณาของสังคม?


- ๔ -


ที่ชายแดนไทย-พม่าแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ และส่วนใหญ่แล้วเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เขาและเธอทำงานให้กับนายจ้างไทย ทำงานที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะทำ รายได้ต่ำกว่าและจำนวนเวลาทำงานก็มากกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด

สามีภรรยาแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีลูกด้วยกันหลายคน เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัว ตึกคลอดในโรงพยาบาลบางแห่งเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ หรือให้ละเอียดชัดเจนขึ้นก็คือ แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิง เป็นเมีย เป็นแม่ และส่วนใหญ่ผิดกฎหมายการเข้าเมือง

เคยมีข้อเสนอให้ส่งแรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์กลับประเทศต้นทาง – แต่นี่ไม่ควรเป็นคำตอบ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว หากแต่เพราะแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเหล่านี้กินนอนอยู่บนแผ่นดินไทย โดยเสียค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินค่าอยู่ต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าเขาและเธอเสียภาษีในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ ให้กับแผ่นดินไทยอยู่ตลอดเวลา


- ๕ -


ทำไมคนทำงานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสร้างเศรษฐกิจให้กับสังคมและประเทศ จึงไม่ได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย ตั้งครรภ์ อุบัติเหตุ เกษียณอายุ?

พวกเขาและเธอเหล่านี้ไม่ใช่คนขี้เกียจ เพราะการขี้เกียจไม่ก่อรายได้ และการไม่มีรายได้หมายถึงการอดอยาก เป็นความเป็นความตายในชีวิตของเขาและเธอทีเดียว

ในสังคมเสรีประชาธิปไตยบางแห่งที่เชื่อเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ภราดรภาพ” ด้วย ภราดรภาพในที่นี้ก็คือ การดูแลกันและกันอย่างเสมือนเป็นเพื่อนพี่น้องต่อกัน การดูแลกันและกันนั้นก็คือ หากมองเห็นว่าเพื่อนของเรา พี่น้องของเรา ยังลำบากในเรื่องไหน โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ความปลอดภัยในการทำงาน การเจ็บป่วย การตั้งครรภ์ การศึกษาของเด็ก การใช้ชีวิตผู้สูงอายุอย่างมีความสุข ฯลฯ ก็จำเป็นต้องเข้ามาเกื้อกูลดูแลกัน และด้วยการสร้างระบบ ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์เป็นรายไป

แต่การจะเกิดภราดรภาพ มองเห็นคนที่เราไม่รู้จักเป็นเพื่อนของเรา เป็นพี่น้องของเรา อาจจะต้องเริ่มจากการปรับเลนส์สายตา ให้มองเห็น “คน” ใกล้ตัวเราให้มากขึ้น เห็นชีวิต เห็นความสุขความทุกข์ของเขาและเธอได้ การมองเห็นนี้ต้องอาศัยความละเอียด ซึ่งหากเราไม่กลับเข้ามาสู่จังหวะของความช้า สู่ความสงบนิ่ง ดวงตาและใจย่อมไม่เห็นอะไรได้แจ่มชัด เทคนิคและวิถีของจิตวิวัฒน์ทั้งหลายที่ว่าด้วยการยกระดับจิตก็เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อดวงจิตอันเป็นสุขสงบของเราคนเดียว หากดวงจิตอันสุขสงบนั้นยังต้องทำให้เกิดกรุณามองเห็นความทุกข์ของเพื่อนและพี่น้องที่เราไม่รู้จักเหล่านี้ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น

เจ็ดเสาเจริญสติ



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕

"อาจารย์ครับ ผมอยากรู้เรื่องการเจริญสติครับ อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยสิครับ"

นักศึกษามักจะหาโอกาสทั้งออนไลน์ออฟไลน์มาปรึกษาเรื่องการเจริญสติอยู่เสมอๆ ทำให้รู้สึกว่ายุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นแค่ยุคของความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจ และด้านจิตวิญญาณ ดังที่สื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศออกข่าวกันมากมาย แต่ยังเป็นยุคเบ่งบานของการพัฒนาจิตอีกด้วย ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องการฝึกฝนพัฒนาจิตใจตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมาก หนังสือขายดีอันดับต้นๆ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ ก็เป็นหนังสือแนวธรรมะและพัฒนาตนเอง สถานปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นมากมาย มีครูบาอาจารย์ที่สอนเก่งๆ หลายท่าน สื่อต่างๆ ที่สามารถดาวน์โหลดมาชมมาฟังจากอินเทอร์เน็ตก็มากมาย เรียกว่าฟังจนตายก็ยังฟังไม่หมด แม้กระทั่งแอพพลิเคชันทางมือถือก็มีให้ใช้บนทุกระบบปฏิบัติการ

หัวใจสำคัญของการฝึกฝนเหล่านี้ก็คือ การเจริญสติ (Mindfulness) หรือ "การอยู่กับปัจจุบันขณะ" ซึ่งล้วนได้รับการวิจัยและพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กับหลายวงการ

ทางภาคธุรกิจ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีสถาบันการศึกษาหรือแคมปัสเป็นของตนเอง เช่น กูเกิ้ล หรือ แอปเปิ้ล ก็จัดให้มีหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่อง (สตีฟ จอบส์ ก็เป็นชาวพุทธนิกายเซนที่ปฏิบัติจริงจังมาก) แม้กระทั่งบริษัทชั้นนำของไทย เช่น เครือบริษัทเอสซีจี ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ในด้านการศึกษา การฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วยการเจริญสตินั้นเป็นหัวใจหลักของแนวคิด "จิตตปัญญาศึกษา" ซึ่งเป็นที่สนใจและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย มีศูนย์ เกิดหลักสูตร และรายวิชาเปิดสอนในหลายมหาวิทยาลัยในโลกและในแทบทุกมหาวิทยาลัยของไทย

วงการที่ได้ใช้ประโยชน์จากการความรู้นี้อย่างมากวงการหนึ่ง คือ วงการสาธารณสุข โดยผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ ศาสตราจารย์ จอน คาบัต-ซินน์ แห่งศูนย์การเจริญสติทางการแพทย์ สาธารณสุข และสังคม คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์สูงสุดของนิกายเซนในเกาหลีใต้ และยังได้เรียนรู้จากแพทย์รางวัลโนเบล ทำให้เขาผสานศาสตร์ทั้งสองและคิดค้นเทคนิคการลดความเครียดโดยใช้หลักการเจริญสติ (Mindfulness-Based Stress Reduction) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก มีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า ๑๗,๐๐๐ ราย และมีการนำไปใช้ในสถานบริการด้านสาธารณสุขมากกว่าสองร้อยแห่งทั่วโลก

ศาสตราจารย์ จอน คาบัต-ซินน์ เป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเจริญสติสมัยใหม่ เขาทำให้การเจริญสติเป็นที่เข้าใจ ยอมรับ และขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เขาจัดอบรมให้กับซีอีโอ ผู้พิพากษา ผู้สอนศาสนา แม้กระทั่งนักกีฬาโอลิมปิก

ในหนังสือ Full Catastrophe Living เขาได้เขียนถึง เจ็ดเสาของการเจริญสติ (The Seven Attitudinal Pillars of Mindfulness Practice) โดยเป็นหลักทางทัศนคติ ว่าผู้ที่ใส่ใจฝึกฝนการอยู่กับปัจจุบันขณะนั้นควรมีทีท่าหรือวางจิตวางใจอย่างไร เมื่อพิจารณาดูแล้วก็น่าสนใจ เพราะใช้ภาษาเรียบง่าย สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางควบคู่กับที่สอนกันอยู่ในไทยได้

โดยเขาแจกแจงไว้ว่าเสาทั้งเจ็ดของการเจริญสตินี้ประกอบด้วย

๑. การไม่ตัดสิน (Non-judging) คือการฝึกเป็นเหมือนกับพยานที่รับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราโดยไม่ไปตัดสินใดๆ ไม่ไปให้ค่าเป็นบวกเป็นลบ เป็นดีเป็นไม่ดี เป็นชอบไม่ชอบ การตัดสินให้ค่านี้เรามักทำจนเป็นนิสัย บ่อยครั้งก็โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ก็รู้ตัวแต่ห้ามไม่ได้

รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาวนาช่วงเข้าพรรษาเขียนเล่าให้ฟังเมื่อเช้านี้ว่า "เมื่อคืนวานภาวนาไม่ได้เลย ฟุ้ง ห่วง กังวลเรื่องงานที่ต้องไปร่วมอภิปราย แต่รู้สึกไม่พร้อมเลย กลัวพูดไม่ดี แล้วผลก็เป็นอย่างที่กังวล พูดๆ ไปเกิดนึกอะไรไม่ออก เศร้าจัง ... แต่ก็ยอมรับความไม่ได้เรื่องในตัวเราได้ยากเหลือเกิน"

เช่นนี้น่าจะเพิ่มการเท่าทันการตัดสินโดยการฝึกสังเกตลมหายใจของเรา หรือลองสังเกตดูว่าในช่วง ๑๐ นาทีนั้นใจเรามัววุ่นอยู่กับการชอบหรือไม่ชอบประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าสักกี่มากน้อย

๒. ความอดทน (Patience) หลายครั้งผู้ฝึกฝนใจร้อน อยากให้เกิดผลเช่นนั้นเช่นนี้โดยไว รุ่นน้องที่ทำงานเพิ่งเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ ตนเองอยู่ในความทุกข์ ฝึกไปก็มักจะตั้งคำถามทำนองว่า "นี่ทำมาตั้งนานแล้วทำไมไม่เห็นเกิดมรรคเกิดผลอะไรเลย"

ความอดทนถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจและยอมรับว่า สิ่งต่างๆ มีการเกิดขึ้นเป็นไปในรูปแบบและเวลาของมันเอง เราไม่สามารถไปกะเกณฑ์ให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ ยกตัวอย่างผีเสื้อที่อยู่ในดักแด้ หากเราไปนำออกมาก่อนเวลาที่เหมาะสมก็ไม่สามารถจะบินได้ แม้ว่าเราจะทำไปด้วยความหวังดีสักเพียงใดก็ตาม

๓. จิตใจพร้อมที่จะเรียนรู้ (Beginner's Mind) สิ่งที่เราคิดว่าเรา "รู้แล้ว" คือ อุปสรรคขวางกั้นการที่เราจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง เพราะเรามองไปที่สิ่งใดเรามักจะเห็นสิ่งที่เราเห็นแล้วหรือรู้จักแล้วเป็นหลัก พร้อมกับให้ชื่อ ให้คำ พากย์ไปเบ็ดเสร็จ

ในการอบรมแนวจิตวิวัฒน์-จิตตปัญญาจึงมักมีแบบฝึกหัดให้มองหาสิ่งใหม่มิติใหม่ของสิ่งที่เราคิดว่ารู้จักดีอยู่แล้ว เช่น ปากกาหรือนาฬิกาที่ติดตัวเรา เมื่อกลับไปก็สามารถไปฝึกมองหรือมีประสบการณ์กับกิจกรรมที่เราทำบ่อยๆ หรือบางทีรู้สึกว่าเบื่อ เช่น ขับรถเส้นทางเดิมๆ กลับบ้าน ฝึกให้เรามองคนรู้จักเดิมๆ ด้วยสายตาใหม่ จนกระทั่งมักมีการพูดกันเล่นๆ ขำๆ ว่ามาเรียนแล้วกลับไปจะพบว่าได้ภรรยาใหม่ สามีใหม่ ความนี้ไม่ได้หมายถึงมีภรรยาหรือสามีอีกคน แต่คือคนเดิมที่เราเห็นสิ่งใหม่ในตัวเขา

๔. ความไว้วางใจ (Trust) เราต้องฝึกที่จะเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันจะถูกหรือผิดก็ตาม การบ่มเพาะความไว้วางใจนี้เช่นนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ในการฝึกเจริญสติ ซึ่งคือกระบวนการฝึกที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ที่จะฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ยิ่งเราไว้วางใจตัวเรามากเท่าไหร่ เราก็จะไว้วางใจคนอื่นง่ายขึ้นเท่านั้น

นี่จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง เพราะระบบโรงเรียนของเราฝึกให้ผู้เรียนตอบคำถามให้ถูกต้อง นักเรียนต่างแข่งขันกันพยายามทายให้ได้ว่าคำตอบที่ครูอยากฟังคืออะไร แทนที่จะฝึกจริงแท้กับความคิด กับความรู้สึกของตนเอง การฝึกความไว้วางใจจึงเป็นการฝึกที่จะเชื่อประสบการณ์ตรงของตนเอง ไม่ใช่เชื่อคำตอบจากครูหรือผู้มีอำนาจ

๕. ความไม่มุ่งเป้า (Non-striving) เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในโลกนี้เป็นไปเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อจะได้อะไรบางอย่างหรือไปที่ไหนสักแห่ง แต่นั่นไม่ใช่เสาหรือหลักของการเจริญสติ ซึ่งเป็นการฝึกทำเพื่อที่จะ "ไม่ทำ" เป็นพาราดอกซ์ (ความจริงคู่ขัดแย้ง) ซึ่งฟังดูเหมือนจะเพี้ยนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ในความทุกข์ ความเครียดหรือความเจ็บปวด

ดังตัวอย่างรุ่นน้องข้างต้น ผู้ไม่อยากทนอยู่กับความทุกข์ที่ทับถมในใจ อยากภาวนาให้ไปจากที่ตรงนี้เสียที ทั้งๆ ที่หัวใจของการฝึกเจริญสติแท้จริงแล้ว คือ การได้อยู่ตรงนี้อย่างเต็มที่เสียทีต่างหาก การฝึกเพื่อจะผ่อนคลาย หายเจ็บ หรือแม้กระทั่งบรรลุธรรมจึงขัดกับหลักการเจริญสติโดยตรง

๖. การยอมรับ (Acceptance) บ่อยครั้งที่เรามักจะปฏิเสธ ต่อต้าน ไม่ยอมรับความเป็นจริงตรงหน้า โดยเฉพาะหากว่าไม่ตรงกับใจของเรา เราใช้แรง กำลัง เวลาไปมหาศาลเพื่อที่จะแข็งขืนดึงดัน พยายามให้บางอย่างเป็นอย่างอื่นจากที่มันเป็นจริงๆ ทั้งๆ ทางที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับ ซึ่งก็คือ การมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างแท้จริงตามที่มันเป็นในปัจจุบัน การยอมรับนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะงอมืองอเท้า ปล่อยให้ใครจะทำอะไรหรือเป็นอะไรก็ช่าง เพียงแค่หมายความว่าเราไม่ต้องเสียเวลาไปต่อต้านความจริง

มีสองความเชื่อที่มนุษย์มักตัดสินตนเองอยู่เสมอๆ คือ ฉันไม่ดีพอ และ ฉันไม่เป็นที่รัก ตัวอย่างรุ่นพี่ที่รู้สึกว่าตนเองไม่เก่งไม่ดีพอ ยากที่จะยอมรับตนเองนั้น วิธีที่เหมาะที่สุดอาจจะเป็นการบอกกับตัวเองว่า "เราก็เป็นของเราอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และในระหว่างนี้ เราจะยอมรับตัวเราอย่างที่เราเป็นด้วย"

๗. การปล่อยวาง (Letting Go) ในการฝึกปฏิบัติ อาจมีบางความคิด ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งสภาวะ ที่เราชอบใจอยากจะเก็บเอาไว้ และในทางกลับกันก็อาจจะมีบางความคิด ความรู้สึก หรือสภาวะที่เราอยากปฏิเสธ การปล่อยวางในการเจริญสติ คือ การตั้งใจที่จะไม่ไปทำอะไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังที่พระไพศาล วิสาโล ใช้วลีที่ว่า "ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา" เป็นการสรุปความที่ตรงประเด็น

เจ็ดเสาของการเจริญสตินี้ชี้แนะแนวทางให้ผู้ปฏิบัติรู้จักวางจิตวางใจให้เหมาะสมได้อย่างชัดเจน และช่วยเสริมทั้งการเจริญสติตามรูปแบบและในชีวิตประจำวันได้ โดยมากแล้วพวกเราเหล่านักปฏิบัติต่างก็มุ่งมั่นในการพัฒนาฝึกฝนการเจริญสติของตนอยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุนี้เอง หลายครั้งหลายคราวก็เป็นผลให้เราคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป ยิ่งปฏิบัติมามากก็ยิ่งคาดหวังถึงความก้าวหน้า หวังว่าจะทำได้ดีดังที่เคยทำได้บ้าง ความตั้งใจดีอันเกิดจากความมุ่งมั่นจริงจังต่อการปฏิบัติจึงมักกลายให้เกิดทัศนคติที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการฝึกฝนของเราไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการด่วนตัดสินตัวเอง ความร้อนใจอยากเห็นความก้าวหน้าเห็นผลตามคาด การที่เราเชื่อว่าเรารู้แล้วทำให้ประมาทและพลาดการเรียนรู้ระหว่างรายทาง ความกังวลสงสัยไม่อาจวางใจ การดึงดันไม่ยอมรับสภาพ และสุดท้ายคือการยึดติด โดยเฉพาะกับประสบการณ์ที่ดีในการปฏิบัติ



การพัฒนาจิตจากการเจริญสติมีหัวใจหลักคือ การอยู่กับปัจจุบันขณะ และวิถีทางการปฏิบัติก็มีได้หลายแนวตามจริต ตามความสนใจของแต่ละบุคคล เมื่อราว 8 ปีที่ผ่านมานั้น ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีคุณค่ามากเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” กล่าวถึงโมเดลสำคัญคือ ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์ ซึ่งแต่ละซี่ของธรรมจักรนั้นเป็นช่องทางการพัฒนาจิตที่หลากหลาย อาทิ การทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม (และต่อมาถูกเรียกว่าจิตอาสา) การศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ (ในปัจจุบันคือจิตตปัญญาศึกษา) วิปัสสนากรรมฐานเป็นวิถีชีวิต สื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยทุกซี่เชื่อมโยงร่วมกันด้วยแกน คือ เรื่องการเจริญสติ อันเป็นการวิวัฒน์จิตนั่นเอง

ในโลกปัจจุบันที่การค้นคว้าหาข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ เราต่างสามารถหาแนวทางวิธีการฝึกฝนตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านแนะไว้ได้ทั้งจากหนังสือ อินเตอร์เนท และสื่อซีดี อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ในบริบทหรือแวดวงของวงการไหน ก็สามารถเลือกช่องทางการพัฒนาจิตที่เข้ากันและสอดคล้องกับเงื่อนไขของเราได้ เจ็ดเสาของการเจริญสติจึงช่วยเสริมให้ได้เป็นอย่างดีว่าเราพึงวางทัศนคติของเราอย่างไรในการปฏิบัติ

คำแนะนำที่ผมจะให้แก่ลูกศิษย์ที่อยากรู้เรื่องการเจริญสติ จึงมักไม่สามารถบอกเขาอย่างรวบรัดและจำกัดเฉพาะแนวทางหนึ่งใดได้ ด้วยหนทางนี้เป็นวิถีทางที่มีการเดินทางอันยาวไกล ผู้เรียนย่อมต้องเป็นผู้เลือกและเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง แต่จะด้วยรูปแบบใด แนวทางไหน ในช่องทางอะไรก็ตาม หากปฏิบัติด้วยทัศนคติที่เอื้อต่อการฝึกฝนใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ก็ย่อมเป็นหนทางส่งเสริมให้เกิดสติ สู่การวิวัฒน์จิตของตน

ผู้ถักทอ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2555

สนธยาเยือน ณ นครแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์​ เจ้าหัวเมืองหนุ่มผู้เป็นบุตรของเจ้าผู้ครองนคร ได้เดินทางกลับมาเยือนพ่อแม่ของตนหลังจากที่ไม่เคยได้พบหน้ากันมาถึงสิบห้าปี เจ้าชายถูกส่งไปครองนครอันแสนไกลจนได้อภิเษกสมรสมีบุตรมีธิดา จึงคิดจะกลับมาเยี่ยมบ้าน แต่ด้วยความที่พระองค์ตั้งพระทัยว่าจะแอบหยอกพระชนนีเล่น จึงปกปิดการเดินทางครั้งนี้ให้มีผู้ล่วงรู้ไม่กี่คน

พระองค์เมื่อเดินทางมาถึงนครแห่งนี้ ใจให้กระวนกระวายใคร่จะได้พบพระมารดา จึงเร่งรุดเดินทางไปเข้าเฝ้า โดยไม่สนใจคำทัดทานของมหาดเล็กทั้งหลาย ตลอดจนนางสนมนางในที่กราบทูลว่าพระนางกำลังทรงสรงน้ำอยู่ พระองค์เปิดประตูเข้าไป พระนางตกพระทัยรีบตวาดรับสั่งให้เจ้าชายออกไป

“เจ้าเป็นใคร ออกไปเดี๋ยวนี้” แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว เจ้าชายได้เห็นสิริโฉมพระมารดา ซึ่งแม้จะล่วงวันผ่านวัยแต่นางกลับสวยสะพรั่งไม่ต่างจากสาวแรกรุ่น เจ้าชายเห็นดังนั้นก็หลงรักด้วยแรงสเน่หา ด้วยเห็นว่ามารดางามกว่าชายาของตนซึ่งนับวันยิ่งหย่อนยานไปด้วยริ้วรอยแห่งวัย พระองค์ถึงกับตรัสออกมาอย่างลืมตัวว่า

“ข้าจะออกไปเดี๋ยวนี้ แต่ขอถามแม่นางผู้เลอโฉมด้วยปริศนาจะได้หรือไม่?”

“จะถามอะไร ก็รีบเอ่ยเถิด ถ้าใครมาเห็นเข้าจะไม่งาม”


เจ้าชายสบช่องจึงแกล้งถามว่า

“ประตูที่เราเคยออกมาแล้วจะเข้าไปอีกได้หรือไม่?”

พระราชินีไม่ได้เฉลียวใจว่านี่คือบุตรชายของตน และคงมิได้มีใจสงสัยต่อความหมายสองแง่สองนัยของคำถามของกุลบุตร จึงได้เอ่ยตอบไปว่า

“ประตูที่เข้าออกอยู่แล้วเป็นประจำ ทำไมถึงจะเข้าไปอีกไม่ได้”

สิ้นเสียงคำตอบของนาง เจ้าชายเกิดลำพองใจคิดว่าเดี๋ยวจะกลับมาปลุกปล้ำเอาแม่เป็นเมีย ไม่ทันเดินออกไปถึงก้าว ก็เกิดอาเพศให้แผ่นดินที่เคยเป็นพระราชวังและนครอันรุ่งเรืองทรุดจมหายไปในธรณี ส่วนน้ำป่าจำนวนมหาศาลก็ไหลท่วมจนกลายเป็นบึงขนาดใหญ่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างลงสู่บาดาล ส่วนชาวเมืองที่ยังเหลืออยู่บ้างก็รีบอพยพโยกย้ายหนีตายกันอลหม่าน ในทิศทางที่ชาวบ้านเดินทางอพยพไป ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาขาด” ส่วนบึงขนาดใหญ่เนื้อที่เป็นร้อยๆ ไร่ รู้จักกันในชื่อ “บึงหล่ม” แห่ง อ.พรหมพิราม จ.​พิษณุโลก


หญิงร่างท้วมวัยเป็นแม่คน เธอเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เล่าเรื่องนี้ให้ผมกับ อาจารย์ประสาท ประเทศรัตน์ฟังแววตาเป็นประกาย พวกผมสองคนเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้น่าสนใจและสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการเรียนรู้ของเยาวชน ซึ่งจัดในหัวข้อ “พัฒนาทักษะชีวิตส่งเสริมสายใยรักในครอบครัว” ของโรงพยาบาลพรหมพิราม

ตำนานบึงหล่ม เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องเล่าพื้นบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสายใยของรุ่นสู่รุ่น เป็น “ทางเข้า” ให้เยาวชนต่อเชื่อมถึงรากทางวัฒนธรรมของเขา ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่ไม่มีบทบาทในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้กับลูกหลาน สายใยแห่งครอบครัวก็จะถูกทำลาย เพราะเด็กจะมองปู่ย่าตายายว่าเป็นคนแก่ที่ไร้ประโยชน์ ตำนานบึงหล่มไม่ใช่เรื่องบัดสี ของตะวันตกก็มีบทประพันธ์ละครคลาสสิคเรื่อง โอดิปุส เร็กซ์ ของ โซโฟคลีส ที่บัณฑิตทั่วโลกต้องศึกษา ถ้ากล่าวกันอย่างกว้างๆ มันเป็นเรื่องความกระสันต์อยากของมนุษย์ที่จะพิชิตธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา

ทุกวันนี้ความหลงผิดของมนุษย์อย่างพวกเราที่เอาโลกคือมาตุคามมาปู้ยี่ปู้ยำ ได้ส่งผลเป็น “ภัยธรรมชาติ” แบบพิลึกพิลั่นอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน ธรรมชาติสอนให้เราอยู่อย่างกลมกลืน แต่ความโลภในใจมนุษย์ต้องการจะครอบครองหน่วงเหนี่ยวไว้เป็นของตน ความกลมกลืนส่งผลเป็นความงาม และสุนทรียะของการถ้อยทีถ้อยอาศัย ทุกวันนี้แม้ในอำเภอห่างไกล ผมได้เข้าไปสำรวจพบว่าสิ่งเหล่านี้กำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว สายใยชุมชนซึ่งเชื่อมโยงด้วย บ.ว.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสีพูดถึง มาวันนี้อาจจะมีให้เห็นเป็นเพียงรูปสไลด์สวยๆ บนเวทีสัมมนาทางวิชาการระดับประเทศเท่านั้น

บ้านในที่นี้หมายถึงชุมชน โยงใยด้วยรากวัฒนธรรมซึ่งมองไม่เห็น ทุกวันนี้ในอำเภอรองๆ ลงไปของพรหมพิราม กำลังมีสภาพเป็นหมู่บ้านคนชรา เพราะผู้ใหญ่วัยทำงานทิ้งลูกหลานให้ปู่ย่าเลี้ยง เนื่องจากตัวเองต้องไปทำงานในเมือง ส่วนลูกหลานต้องตื่นแต่เช้าและนั่งรถตู้ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง เมื่อเด็กนิยมเข้าไปเรียนในเมือง โรงเรียนท้องถิ่นจึงเริ่มเล็กลง บางชั้นเรียนมีเด็กเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น แม้แต่ครูในโรงเรียนยังส่งลูกตัวเองเข้าไปเรียนในเมือง ไม่ยอมให้เรียนในโรงเรียนที่ตนสอน เยาวชนของเราถูกระบบโรงเรียนปล้นออกไปจากชุมชน ไปจากรากวัฒนธรรม เพราะนาฬิกาของโรงเรียนกลืนกินนาฬิกาของวัด วันพระที่เคยมีความสำคัญถักทอสายใยชุมชน เดี๋ยวนี้หมดความหมายเพราะต้องยอมหลบทางให้กับวันหยุดที่ระบบโรงเรียนกำหนด ระบบโรงเรียนถูกกำหนดด้วยระบบทุนข้ามชาติอีกต่อหนึ่ง เรากำลังจะล่มสลายอย่างเป็นระบบ และกลืนกินตัวเองด้วยระบบที่พวกเรากันเองกำหนดขึ้น

“ตั้งแต่ห้ามตีเด็ก ครูก็ไม่ต่างอะไรกับพนักงานรับจ้างสอน”
ครูคนหนึ่งเปรยให้ผมฟัง ผมนึกถึงครูบาอาจารย์สมัยก่อนที่สอน “วิชาครู” อย่าง นาฏศิลป์ไทย ด้วยไม้เรียวและน้ำตา มันมีหนทางเดียวจริงๆ จะไปสู่ความเป็นเลิศแบบนั้นได้ “แต่ก่อนผู้ปกครองฝากให้ดูแลลูกหลาน ถ้ามีเรื่องถูกครูตี พ่อแม่จะตีซ้ำ ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ถ้ามีเรื่องอะไรพ่อแม่จะตามมาด่าครูถึงในโรงเรียน”

แปลว่าสายใยชุมชนขาดสะบั้นไปเรียบร้อย



ผมถามว่าทำไมคนทำงานด้านสังคมในท้องถิ่นถึงไม่แสวงหาความร่วมมือจากภาคีอย่างวัดบ้าง

“โอ๊ย ไม่หรอก พระเป็นพวกขี้เกียจ”

หัวหน้าชุมชนคนหนึ่งพูดขึ้นสีหน้าจริงจัง ผมขมวดคิ้วย่น ไม่นึกว่าทัศนคติจะเป็นแบบนี้ พอไปคุยกับผู้ปกครองก็สะท้อนว่าที่ตนไม่อยากให้เยาวชนไปวัดก็เพราะ “ไม่ค่อยไว้ใจพระ เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวไม่ดีออกสื่อเยอะ เรื่องชู้สาวบ้างอะไรบ้าง”

เมื่อไม่มีใครในชุมชนอยากทำงานประสานสายใย พวกผมจึงทดลองทำกันเอง เช้าวันต่อมาพวกผมพาเด็กๆ ไปเที่ยวที่ “บึงหล่ม” และให้ อสม.​หญิงบรรยายประวัติความเป็นมาของสถานที่ เด็กๆ ทำท่าสนใจเมื่อเห็นท่อนไม้โบราณขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านเอาพวงมาลัยมากราบไหว้ ต่างฟังเรื่องราวของการขุดสมบัติในบึงหล่มด้วยความสนใจ อะไรจะดีไปกว่าให้ชุมชนเขาเรียนรู้กันเอง พวกผมทำตัวโปร่งใสเป็นแค่ผู้จัดกระบวนการเท่านั้น

ต่อมาก็ได้พาเยาวชนไปวัดแห่งหนึ่งใกล้สถานที่อบรม เด็กๆ เข้าไปกราบพระในโบสถ์​ สถานที่สงบร่มเย็นเหมาะแก่การเรียนรู้ แปลกใจว่าทำไมเด็กส่วนใหญ่ไม่เคยมา ผมเล่าเรื่องพุทธประวัติเวอร์ชั่นวัยโจ๋ พวกเขาฟังกันด้วยแววตาสนใจ ฟังจบผมให้เด็กถามอะไรก็ได้ที่เขาสนใจ มีเด็กคนหนึ่งถามว่า

“พวกเราเรียนไปทำไม?”

เจ้าอาวาสเข้ามาพอดี ท่านถูกบังคับแกมขอร้องจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้เล่าประวัติวัดให้ฟัง แต่ด้วยความที่มาจำวัดอยู่ไม่นาน หรืออาจจะไม่เคยมีใครมาขอให้พูด ท่านจึงยกหนังสือเล่มโตมาอ่านให้เด็กฟัง ผลก็คือเด็กๆ ทำตาปรือกันเป็นแถบ ผมเห็นท่าไม่ดีจึงกอบกู้สถานการณ์ด้วยการเอาคำถามของเด็กมาถามท่าน
ประกายตาของท่านสดใสทันทีเมื่อได้ยินคำถาม ท่านจึงเล่าเรื่องให้ฟังว่าเมื่อก่อนท่านเป็นคนไม่มีการศึกษา จึงไปทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง วันหนึ่งท่านเห็นตะปูยาวตัวหนึ่งมันหงิกงอ ด้วยความเสียดายจึงเอาค้อนทุบตะปูกับพื้นปูน หวังจะให้มันกลับมาตรงดังเดิม เมื่อเถ้าแก่มาเห็นเข้าจึงต่อว่าท่านเสียยกใหญ่

“โธ่ไอ้สมองหมา ปัญญาควาย! …เอ็ง ทุบตะปูกับพื้นปูนของอั๊ว แล้วถ้าพื้นมันแตกไปจะทำยังไง ตะปูตัวเดียวราคากี่ตังค์ แล้วพื้นปูนอั๊วต้องใช้ปูนกระสอบละกี่ตังค์ ต้องผสมอีก ต้องเทใหม่อีก มึงใช้ส้นตีนคิดหรือไง?”

เด็กที่กำลังจะกลายเป็นซอมบี้ ตอนนี้ตื่นขึ้นมาฟังเรื่องเล่าของเจ้าอาวาสอย่างสนใจ

“แปลกที่ เราไม่ได้โกรธเขานะตอนนั้น” ท่านพูดยิ้มๆ “มานึกดูก็เห็นจริงตามเขาว่า เรามารู้ทีหลังว่าเถ้าแก่คนนั้นก็ไม่ได้เรียนสูงอะไร จบแค่ ป.๖ แต่เป็นเพราะเขามีความรู้มีประสบการณ์จึงทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะฉะนั้นที่ถามว่าเราเรียนไปทำไม เรียนไปเถอะ เพราะเราไม่ได้เรียนเอาวุฒิหรือปริญญา แต่เราเรียนเพื่อที่เราจะได้มี ‘ความรู้’ แล้วเราจะได้เอาความรู้นั้นไปทำให้ชีวิตเรามีความสุขความเจริญ”

เด็กๆ ฟังแล้วพยักหน้าหงึกหงัก เข้าใจในสิ่งที่ท่านสื่อ

สายใยชุมชนกำลังถูกถักทอขึ้นใหม่อีกครั้ง

เหนือการปรองดองภายนอก คือความรู้รักสามัคคีภายใน



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2555

การปรองดอง โดยเฉพาะการปรองดองด้วยกฏหมายอย่างที่พยายามทำกันอยู่ เป็นปรากฏการณ์ภายนอกที่สร้างขึ้นโดยเนื้อแท้แล้วไม่สามารถจะนำไปสู่ความปรองดองได้ หากจิตสำนึกซึ่งเป็นมิติภายในไม่มีความรู้รักสามัคคี คิดแต่โจมตี ให้ร้ายป้ายสี มีแต่การเอาแพ้เอาชนะคะคานกัน ทั้งทางกฏหมายและพลังมวลชน

การใช้คำว่า “ปรองดอง” และ “วาทกรรมการปรองดอง” ซึ่งเป็นการปรุงแต่งภายนอก โดยที่จิตใจ ท่าทีการพูดและการกระทำ มิได้ตั้งอยู่บนฐานของความรู้รักสามัคคี ไม่สามารถจะนำไปสู่การปรองดองที่แท้จริงได้

ปรากฏการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน (มาตรา ๒๙๑) การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ และการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนและหลังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการโจมตีคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะใช้เป็นบทเรียน เป็นกรณีศึกษาอย่างมีสติ เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง

การแยกคำเดียวโดดๆ ออกมาพิจารณาเพื่อหักล้างความหมายหรือเจตนาโดยรวมของความสัมพันธ์ระหว่างคำนั้นกับคำอื่นและกับข้อความทั้งหมดภายใต้บริบทของปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยง

มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความที่พยายามจะตีความเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ จะไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองได้ เพราะนอกจากจะไม่พิจารณาสถานการณ์อย่างเป็นองค์รวมแล้ว ยังไม่แสดงให้เห็นว่าภายในจิตใจมีความรู้รักสามัคคีเป็นที่ตั้ง

อยากให้ผู้อ่านลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ดู

คำว่า “สร้าง” หากอยู่โดดๆ ก็ดูเหมือนจะมีความหมายในทางที่ดี แต่ถ้านำไปรวมกับคำอื่นก็อาจจะมีความหมายในทางไม่ดีได้เช่น “สร้างความแตกแยก” “สร้างความรำคาญ” หรือ “สร้างปัญหา”

ในทำนองเดียวกัน คำว่า “ฆ่าหรือทำลาย” หากไปรวมกับคำว่า ความชั่ว เป็น “ฆ่าหรือทำลายความชั่ว” ความหมายก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี

แต่ถ้าเป็น “ฆ่าหรือทำลายคนชั่ว” ทิศทางของความหมายก็จะเปลี่ยนไปอีก

หรือแม้แต่การตีความโดยรวมก็ยังอาจจะแตกต่างกันออกไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “พื้นฐาน” “ประสบการณ์” “เบื้องหลัง” และ “เป้าประสงค์” ของแต่ละคน

คล้ายกับการตีความคำว่า “และ” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ และคำว่า “ควร” ในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยที่จะเข้าใจ และเข้าถึงเจตนาของการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และบริบทของปรากฏการณ์ที่แวดล้อม ที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพื่อการเอาแพ้เอาชนะ มากกว่าการปรองดองที่เรียกร้องตั้งแต่ต้น

การพิจารณาแบบแยกส่วน ทีละคำ โดยไม่พิจารณาแบบองค์รวม มีแนวโน้มจะนำไปสู่การตีความตามที่ตัวเองเข้าใจและอยากจะให้เป็น และหากขาดสติ ก็มีแนวโน้มจะ “ปิด” รับการตีความที่แตกต่างของผู้อื่น หากขาดปัญญา ก็ไม่สามารถจะเข้าใจ เข้าถึง และก้าวข้ามความคิด ความเชื่อ และความต้องการส่วนตัวได้

หากขาดทั้งสติและปัญญา ก็มีโอกาสจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะแต่ละฝ่ายจะตกอยู่และปฏิบัติภายใต้ “หมวด” (Mode - โหมด) ของการปกป้องตนเอง และการทำลายฝ่ายตรงกันข้าม รังสีอำมหิตก็กระจายไปทั่ว ทำให้เกิดคลื่นความร้อนของความขัดแย้ง สังคมไทยก็จะตกอยู่ในภาวะ “ร้อนทั้งแผ่นดิน”

หากมี “เจตนา” ที่จะปรองดองกันจริงๆ มี “ความรู้รักสามัคคี” ในส่วนลึกของจิตใจ มีเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างสันติสุขในสังคม การตีความคำ ข้อความ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะไปในทิศทางที่ดีงาม ไม่มุ่ง “จ้องจับผิด” หรือ “โจมตี” แต่มุ่ง “จ้องจับถูก” หรือ “ปรองดอง” ด้วยใจอย่างแท้จริง แล้วร่วมด้วยช่วยกันหาและสร้างทางเลือกที่พึงประสงค์ เพื่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม จะได้ไม่ติดกับดักของการเอาแพ้เอาชนะ กับดักของการแบ่งแยก (พวกเรา-พวกเขา หรือ พวกกู-พวกมึง)

นักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม มีความเก่งกล้าทางการเมือง มีความแกร่งกล้าทางจริยธรรม “ควร” จะหาทางสร้างความเป็นหนึ่งจากความหลากหลาย (Unity through diversity) ไม่ใช่แบ่งพรรคแบ่งพวก

ผู้นำประเทศ จะต้องเป็นผู้นำการพยายามหาหนทางสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับประเทศ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันจากความแตกต่างที่หลากหลายของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ประชาชนต้องการ “การนำ” ไม่ต้องการ “การลอยตัว” ของผู้นำประเทศ

สื่อทุกประเภท “ควร” มีสติ และปัญญาในการคัดกรองและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคมโดยรวมจากการนำเสนอข่าวสารของตนเอง เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ไม่สร้างให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจากการนำเสนอของสื่อ ไม่ใช้ลีลาการนำเสนอเพียงเพื่อให้ “ขาย”ได้

สื่อที่ดี “ควร” ให้สติ เตือนสติ และสร้างสติให้กับผู้รับสารในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ ไม่ “ควร” ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องขยายเสียงให้แหล่งข่าว และกระพือความขัดแย้งให้กระจายไปทั่ว สื่อที่ดี “ควร” รู้เท่าทันนักการเมือง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ รู้เท่าทันสื่อด้วยกันเอง และเอื้อให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ด้วย โดยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้าน ยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด

ประชาชนทั่วไป “ควร” พิจารณาอย่างรู้เท่าทันว่า แต่ละคนที่วิพากษ์วิจารณ์การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นผู้เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง หรือเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และแสดงให้เห็นว่าเรารู้เท่าทัน ด้วยการให้สติ เตือนสติ และสร้างสติให้กับเขาและเธอเหล่านั้นอย่างเป็นกัลยาณมิตร บนฐานของความรู้รักสามัคคี

ลองพิจารณาดูว่าความเห็นที่แต่ละคนเสนอก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติโดยรวมหรือไม่ หรือเพียงแค่พิจารณาความถูกผิดในแง่ “ภาษา” ในแง่ “การตีความ” ทางกฏหมาย ทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และที่น่าสนใจคือ แต่ละคนที่พูดที่เขียนนั้น มีจิตใจที่ต้องการการปรองดองที่แท้จริง มี “ความรู้รักสามัคคี” ซึ่งเป็นมิติภายในของคนๆ นั้นจริงแท้สักกี่มากน้อย

อย่าพิจารณาแยกส่วนเฉพาะ “ถ้อยคำ” หรือ “ภาษาพูด” แต่ “ควร” พิจารณา “ภาษาท่าทาง” สำเนียง กิริยา อารมณ์ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และความต้องการของผู้พูดแบบองค์รวม

ลองให้เวลา ให้โอกาสตนเองและผู้อื่น หยุดอยู่กับตนเองสักครู่ เป็นระยะๆ หายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ แล้วใคร่ครวญ ทบทวน ความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองว่าเป็นอย่างไร ความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และโดยเฉพาะต่อสังคมไทย ต่อประเทศชาติ

การโจมตีและการกล่าวโทษซึ่งกันและกันดังที่ทำอยู่ ไม่น่าจะนำไปสู่การปรองดอง

การพยายามแสวงหาหนทางที่จะเอาชนะกันไม่ว่าจะทางกฏหมาย พลังมวลชนหรือเล่ห์กลใด จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ

สุนทรียสนทนา การรับฟังกันอย่างแท้จริง การสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน การเปลี่ยนปัญหาแตกแยกในอดีตและปัจจุบันเป็นเป้าหมายร่วมในอนาคต และการร่วมกันแสวงหาทางเลือกที่เป็นไปได้และพึงประสงค์ น่าจะเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จร่วมกันบนฐานของการรู้รักสามัคคี

ขอเพียงเราแต่ละคนมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอที่จะเปลี่ยนคลื่นความร้อนทางการเมืองเป็นคลื่นของความรัก ความเมตตา

คลื่นความร้อนทางการเมืองที่โหมพัดกระหน่ำทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า อาจจะค่อยๆ สงบลงเป็นสายลมที่อ่อนโยนให้ความเย็นสบาย สุขสันติกับทุกคน...สายลมแห่งความรู้รักสามัคคี

Back to Top