หมั่นปลูก “กรอบความคิด” ให้เติบโตอยู่เสมอ


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน 2555

ตอนที่ผมไปอบรมการจัดกระบวนการ “ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง” (Immunity to Change) กับศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน และลิซ่า ลาเฮ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาจารย์ลิซ่าแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้เราได้อ่านกันคือ หนังสือเรื่อง กรอบความคิด (Mindset) เขียนโดย ศาสตราจารย์แครอล ดเว็ก ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วพบว่า เป็นแนวคิดที่ต่อยอดการทำงานพิชิตภูมิต้านทานได้เป็นอย่างดี

จากประสบการณ์ที่ผมทำงานจัดกระบวนการและโค้ชผู้บริหารโดยใช้แนวทางนี้มา จนเห็นผู้นำเริ่มพิชิตภูมิต้านทานของตนเองได้จริง เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามที่พึงประสงค์ และไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น เขายังเปลี่ยนวิธีคิด วิธีรู้สึก ทำให้เพิ่มชุดความสามารถในการเป็นผู้นำไปในตัว ทักษะการนำที่เคยได้ฝึกฝนมาจากโครงการพัฒนาผู้นำต่างๆ ที่ผ่านมา กลายเป็นความสามารถที่เขาดึงมาใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

คำถามท้าทายต่อเนื่องจากจุดนี้คือ ผู้นำเหล่านี้จะยังคงมีกรอบความคิดที่พัฒนาและเติบโตต่อไปได้ด้วยตัวเองอย่างไร เพราะในเส้นทางชีวิตและการทำงานย่อมพบกับความท้าทายใหม่ๆ และอุปสรรคที่ยากๆ เข้ามาอยู่เสมอ ผมพบว่าแนวคิดในหนังสือ กรอบความคิด ของศาสตราจารย์ดเว็ก ช่วยเป็นที่ปรึกษาในการค้นหาคำตอบในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับศาสตราจารย์ดเว็ก “กรอบความคิด” หมายถึงชุดความเชื่อ หรือวิธีคิดที่กำหนดการแสดงพฤติกรรม การมองโลก และทัศนคติ ในทางปฏิบัติคือ เมื่อเราแสดงพฤติกรรม หรือแสดงความคิดความเห็นประการใดประการหนึ่ง เราสามารถสะท้อนกลับไปถึงกรอบความคิดที่มาของพฤติกรรมและความคิดนั้นๆ ได้เสมอ

และเมื่อเราสะท้อนตนเองทีไร เราก็ยังพบกรอบความคิดแบบเดิมอยู่เสมอๆ นั่นแสดงว่าเรากำลังติดอยู่กับกรอบความคิดที่ตายตัว (fixed mindset) แต่หากเราสะท้อนพบกรอบความคิดเดิม และไม่ยอมแพ้กับกรอบความคิดเหล่านั้น นั่นหมายถึงเรากำลังมีกรอบความคิดที่เติบโต (growth mindset)

สัญญาณบอกว่าเรามีกรอบความคิดตายตัว คือเรารู้สึกกลัวต่อความท้าทายที่เข้ามา กลัวต่อความสำเร็จของผู้อื่น และมีแนวโน้มล้มเลิกความพยายามได้ง่ายๆ เมื่อเจอกับอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่า ความผิดพลาด ความล้มเหลว เป็นต้น

สัญญาณบอกว่าเรามีกรอบความคิดเติบโต คือเรารู้สึกสนุก ตื่นเต้น และมันส์ กับความท้าทายที่เข้ามา รู้สึกได้รับบทเรียนและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของผู้อื่น มีความใส่ใจ อดทน และความพยายาม ทำแล้วทำอีก แม้จะพบเจออุปสรรคมากน้อยเพียงไรก็ตาม ไม่หวั่นไหวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มองติให้เป็นก่อ ล้มแล้วลุก ผิดแล้วเริ่มต้นใหม่ เป็นต้น

สรุปสั้นๆ กรอบความคิดตายตัว ประเมินตัวเองจากผล และรู้สึกกลัวมากว่าจะไปไม่ถึงเป้า กรอบความคิดเติบโต ประเมินตัวเองจากกระบวนการ และรู้สึกสนุกกับแต่ละก้าวที่ยังไม่ถึง



ซึ่งสอดคล้องกับที่ผมและทีมได้ทำงานเอกซ์เรย์จิตผู้นำกันมาสักระยะ จนพบ “ความเชื่อใหญ่” หรือ “การทึกทักไปเองที่เราเชื่ออย่างสนิทใจ” (Big Assumptions) ซึ่งเป็นหัวขบวนใหญ่ ที่เชื่อมโยงไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรม จนกลายเป็นระบบภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงของคน

เมื่อคนเริ่มเปลี่ยนระบบการคิด การรู้สึก ได้ถึงรากของความเชื่อใหญ่ กรอบความคิดจะเริ่มเติบโตไปสู่กรอบความคิดใหม่ ที่ทึกทักไปเองน้อยลง แต่สังเกต รับฟัง และสะท้อนตนเองได้กว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้น กระนั้นก็ตาม กรอบความคิดใหม่ก็อาจกลายเป็นกรอบความคิดตายตัวอันใหม่ของเขาก็ได้

ความท้าทายในจุดนี้คือ การรักษาให้ผู้นำอยู่ในกระแสของการเติบโตอยู่เสมอ นั่นคือ ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนกรอบความคิดได้หนึ่งครั้งแล้วจบ (เช่น เปลี่ยนจากกรอบความคิด A ไปเป็นกรอบความคิด B) แต่เป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดได้อยู่เรื่อยๆ (เช่น เปลี่ยนจากกรอบความคิด A ไป B ไป C ไป D ได้อีก) ดูเหมือนว่าศาสตราจารย์ดเว็ก จะพบคำตอบในเรื่องนี้จากงานวิจัยของท่านเรื่อง “กรอบความคิด”

ผมเองก็ติดกับกรอบความคิดตายตัวเรื่องหนึ่งมานาน ผมเคยเชื่อว่า “ขยัน = โง่/ถึก” สิ่งที่เราอยากเป็นมากกว่าคือ “เก่ง ทำแป๊บเดียวเสร็จ ออกแรงน้อยๆ แต่ได้มากๆ” นี่เป็นหนึ่งในกรอบความคิดตายตัวของผมที่คับแคบมากๆ ผมพบกรอบความคิดนี้จากการเอาเรื่อง “กัดไม่ปล่อย” มาเป็นโจทย์ในการวินิจฉัยตัวเอง ผมพบว่า ๒-๓ ปีผ่านไป ผมเปลี่ยนกรอบความคิดนี้ไปหลายรอบ แต่ละรอบ ผมได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นๆ ลึกขึ้นๆ เริ่มจากรอบแรกๆ ที่เชื่อมโยงกับอดีตของตัวเอง ที่สอบได้ที่หนึ่งโดยไม่ต้องขยันมากนัก จนถึงการผิดหวังจากความทุ่มเทขยันอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้รับผลดังหวัง จนถึงรอบหลังๆ ที่เริ่มเห็นว่า มีรากเชื่อมโยงไปถึงความขัดแย้งทางทัศนคติระหว่างครอบครัวคนจีนแต้จิ๋วกับจีนแคะของพ่อกับแม่ แต่ละครั้งที่ผมเข้าใจมากขึ้น เหมือนผมได้ยกภูเขาออกจากอกไปทีละลูก

เมื่อเราหมั่นสะท้อนตนเองในระดับกรอบความคิดอยู่เสมอ ขยันทดลองทำต่างที่ข้ามกรอบความคิดอยู่เรื่อยๆ อดทนไม่ย่อท้อกับเสียงต่อว่า หรือไม่หวั่นไหวเมื่อไม่ได้ยินเสียงที่อยากได้ยิน หมั่นปลูกกรอบความคิดให้เติบโตอยู่เสมอ เปรียบดั่งชาวไร่ชาวนาที่หมั่นปลูกพืชพรรณ รดน้ำ พรวนดิน ไม่ย่อท้อกับสภาพอากาศ ร้อนหนาวอย่างไรก็จะปลูก เราจะเริ่มถึงจุดที่เราจะโอบกอดความท้าทาย มันส์กับการล้มแล้วลุก สนุกกับการผิดแล้วเริ่มใหม่ เราจะพบกับความงามของการเติบโตอยู่เสมอ

One Comment

Unknown กล่าวว่า...

เรียนสอบถามว่า ความเชื่อใหญ่Big Assumptions เกิดจากอะไรคะ

Back to Top