โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2555
การปรองดอง โดยเฉพาะการปรองดองด้วยกฏหมายอย่างที่พยายามทำกันอยู่ เป็นปรากฏการณ์ภายนอกที่สร้างขึ้นโดยเนื้อแท้แล้วไม่สามารถจะนำไปสู่ความปรองดองได้ หากจิตสำนึกซึ่งเป็นมิติภายในไม่มีความรู้รักสามัคคี คิดแต่โจมตี ให้ร้ายป้ายสี มีแต่การเอาแพ้เอาชนะคะคานกัน ทั้งทางกฏหมายและพลังมวลชน
การใช้คำว่า “ปรองดอง” และ “วาทกรรมการปรองดอง” ซึ่งเป็นการปรุงแต่งภายนอก โดยที่จิตใจ ท่าทีการพูดและการกระทำ มิได้ตั้งอยู่บนฐานของความรู้รักสามัคคี ไม่สามารถจะนำไปสู่การปรองดองที่แท้จริงได้
ปรากฏการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน (มาตรา ๒๙๑) การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ และการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนและหลังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการโจมตีคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะใช้เป็นบทเรียน เป็นกรณีศึกษาอย่างมีสติ เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง
การแยกคำเดียวโดดๆ ออกมาพิจารณาเพื่อหักล้างความหมายหรือเจตนาโดยรวมของความสัมพันธ์ระหว่างคำนั้นกับคำอื่นและกับข้อความทั้งหมดภายใต้บริบทของปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยง
มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความที่พยายามจะตีความเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ จะไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองได้ เพราะนอกจากจะไม่พิจารณาสถานการณ์อย่างเป็นองค์รวมแล้ว ยังไม่แสดงให้เห็นว่าภายในจิตใจมีความรู้รักสามัคคีเป็นที่ตั้ง
อยากให้ผู้อ่านลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ดู
คำว่า “สร้าง” หากอยู่โดดๆ ก็ดูเหมือนจะมีความหมายในทางที่ดี แต่ถ้านำไปรวมกับคำอื่นก็อาจจะมีความหมายในทางไม่ดีได้เช่น “สร้างความแตกแยก” “สร้างความรำคาญ” หรือ “สร้างปัญหา”
ในทำนองเดียวกัน คำว่า “ฆ่าหรือทำลาย” หากไปรวมกับคำว่า ความชั่ว เป็น “ฆ่าหรือทำลายความชั่ว” ความหมายก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี
แต่ถ้าเป็น “ฆ่าหรือทำลายคนชั่ว” ทิศทางของความหมายก็จะเปลี่ยนไปอีก
หรือแม้แต่การตีความโดยรวมก็ยังอาจจะแตกต่างกันออกไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “พื้นฐาน” “ประสบการณ์” “เบื้องหลัง” และ “เป้าประสงค์” ของแต่ละคน
คล้ายกับการตีความคำว่า “และ” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ และคำว่า “ควร” ในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยที่จะเข้าใจ และเข้าถึงเจตนาของการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และบริบทของปรากฏการณ์ที่แวดล้อม ที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพื่อการเอาแพ้เอาชนะ มากกว่าการปรองดองที่เรียกร้องตั้งแต่ต้น
การพิจารณาแบบแยกส่วน ทีละคำ โดยไม่พิจารณาแบบองค์รวม มีแนวโน้มจะนำไปสู่การตีความตามที่ตัวเองเข้าใจและอยากจะให้เป็น และหากขาดสติ ก็มีแนวโน้มจะ “ปิด” รับการตีความที่แตกต่างของผู้อื่น หากขาดปัญญา ก็ไม่สามารถจะเข้าใจ เข้าถึง และก้าวข้ามความคิด ความเชื่อ และความต้องการส่วนตัวได้
หากขาดทั้งสติและปัญญา ก็มีโอกาสจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะแต่ละฝ่ายจะตกอยู่และปฏิบัติภายใต้ “หมวด” (Mode - โหมด) ของการปกป้องตนเอง และการทำลายฝ่ายตรงกันข้าม รังสีอำมหิตก็กระจายไปทั่ว ทำให้เกิดคลื่นความร้อนของความขัดแย้ง สังคมไทยก็จะตกอยู่ในภาวะ “ร้อนทั้งแผ่นดิน”
หากมี “เจตนา” ที่จะปรองดองกันจริงๆ มี “ความรู้รักสามัคคี” ในส่วนลึกของจิตใจ มีเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างสันติสุขในสังคม การตีความคำ ข้อความ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะไปในทิศทางที่ดีงาม ไม่มุ่ง “จ้องจับผิด” หรือ “โจมตี” แต่มุ่ง “จ้องจับถูก” หรือ “ปรองดอง” ด้วยใจอย่างแท้จริง แล้วร่วมด้วยช่วยกันหาและสร้างทางเลือกที่พึงประสงค์ เพื่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม จะได้ไม่ติดกับดักของการเอาแพ้เอาชนะ กับดักของการแบ่งแยก (พวกเรา-พวกเขา หรือ พวกกู-พวกมึง)
นักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม มีความเก่งกล้าทางการเมือง มีความแกร่งกล้าทางจริยธรรม “ควร” จะหาทางสร้างความเป็นหนึ่งจากความหลากหลาย (Unity through diversity) ไม่ใช่แบ่งพรรคแบ่งพวก
ผู้นำประเทศ จะต้องเป็นผู้นำการพยายามหาหนทางสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับประเทศ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันจากความแตกต่างที่หลากหลายของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ประชาชนต้องการ “การนำ” ไม่ต้องการ “การลอยตัว” ของผู้นำประเทศ
สื่อทุกประเภท “ควร” มีสติ และปัญญาในการคัดกรองและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคมโดยรวมจากการนำเสนอข่าวสารของตนเอง เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ไม่สร้างให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจากการนำเสนอของสื่อ ไม่ใช้ลีลาการนำเสนอเพียงเพื่อให้ “ขาย”ได้
สื่อที่ดี “ควร” ให้สติ เตือนสติ และสร้างสติให้กับผู้รับสารในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ ไม่ “ควร” ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องขยายเสียงให้แหล่งข่าว และกระพือความขัดแย้งให้กระจายไปทั่ว สื่อที่ดี “ควร” รู้เท่าทันนักการเมือง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ รู้เท่าทันสื่อด้วยกันเอง และเอื้อให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ด้วย โดยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้าน ยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด
ประชาชนทั่วไป “ควร” พิจารณาอย่างรู้เท่าทันว่า แต่ละคนที่วิพากษ์วิจารณ์การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นผู้เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง หรือเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และแสดงให้เห็นว่าเรารู้เท่าทัน ด้วยการให้สติ เตือนสติ และสร้างสติให้กับเขาและเธอเหล่านั้นอย่างเป็นกัลยาณมิตร บนฐานของความรู้รักสามัคคี
ลองพิจารณาดูว่าความเห็นที่แต่ละคนเสนอก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติโดยรวมหรือไม่ หรือเพียงแค่พิจารณาความถูกผิดในแง่ “ภาษา” ในแง่ “การตีความ” ทางกฏหมาย ทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และที่น่าสนใจคือ แต่ละคนที่พูดที่เขียนนั้น มีจิตใจที่ต้องการการปรองดองที่แท้จริง มี “ความรู้รักสามัคคี” ซึ่งเป็นมิติภายในของคนๆ นั้นจริงแท้สักกี่มากน้อย
อย่าพิจารณาแยกส่วนเฉพาะ “ถ้อยคำ” หรือ “ภาษาพูด” แต่ “ควร” พิจารณา “ภาษาท่าทาง” สำเนียง กิริยา อารมณ์ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และความต้องการของผู้พูดแบบองค์รวม
ลองให้เวลา ให้โอกาสตนเองและผู้อื่น หยุดอยู่กับตนเองสักครู่ เป็นระยะๆ หายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ แล้วใคร่ครวญ ทบทวน ความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองว่าเป็นอย่างไร ความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และโดยเฉพาะต่อสังคมไทย ต่อประเทศชาติ
การโจมตีและการกล่าวโทษซึ่งกันและกันดังที่ทำอยู่ ไม่น่าจะนำไปสู่การปรองดอง
การพยายามแสวงหาหนทางที่จะเอาชนะกันไม่ว่าจะทางกฏหมาย พลังมวลชนหรือเล่ห์กลใด จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ
สุนทรียสนทนา การรับฟังกันอย่างแท้จริง การสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน การเปลี่ยนปัญหาแตกแยกในอดีตและปัจจุบันเป็นเป้าหมายร่วมในอนาคต และการร่วมกันแสวงหาทางเลือกที่เป็นไปได้และพึงประสงค์ น่าจะเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จร่วมกันบนฐานของการรู้รักสามัคคี
ขอเพียงเราแต่ละคนมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอที่จะเปลี่ยนคลื่นความร้อนทางการเมืองเป็นคลื่นของความรัก ความเมตตา
คลื่นความร้อนทางการเมืองที่โหมพัดกระหน่ำทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า อาจจะค่อยๆ สงบลงเป็นสายลมที่อ่อนโยนให้ความเย็นสบาย สุขสันติกับทุกคน...สายลมแห่งความรู้รักสามัคคี
แสดงความคิดเห็น