ธันวาคม 2008

พลวัตรการปฏิวัติสู่การเปลี่ยนสังคมที่ยิ่งใหญ่


โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2551

บทความนี้ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในความเห็นของผู้เขียน คือเป็นเรื่องของจิตวิวัฒน์ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ หรือสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของมนุษย์แต่ละคนและของทุกๆ สังคม รวมทั้งที่บ้านเรา – ที่แม้จะเริ่มไปบ้างแล้ว แต่ยังน้อยนิดเกินไปเมื่อเทียบกับเวลาที่เราอาจมีเพียงแค่ ๒๒ ปี ตามที่ อาร์โนลด์ ทอยน์บี (Arnold J. Toynbee) ว่าไว้ (Quoted by Fritjof Capra in The Turning Point, 1982) – เป็นเรื่องยิ่งใหญ่จริงๆ ที่ไม่สามารถจะอธิบายอย่างสั้นๆ ได้ ผู้เขียนจึงเขียนซ้ำๆ เพื่อย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่งคนทั่วไปมักจะไม่เห็นหรือไม่มีเวลาคิด จะว่าไปแล้วเรื่องที่เขียน – แม้จะค่อนข้างหนักและกว้างใหญ่ไพศาล เพราะส่วนใหญ่มากๆ เป็นเรื่องของศาสนากับวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องของจิตซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนความศรัทธาเพราะว่ามนุษย์มองไม่เห็น กับเรื่องจักรวาลที่เป็นกายวัตถุอันเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนความจริง (ทางโลก เฉพาะที่ตาของมนุษย์มองเห็น)

แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนย้ำนักย้ำหนาและเขียนมานาน คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติสังคมวัฒนธรรมของมนุษยชาติ หาไม่แล้วมนุษย์จะเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์ไปทั้งหมด ในสมัยช่วงหลังของทศวรรษ ๑๙๘๐ กับช่วงต้นๆ ของทศวรรษ ๑๙๙๐ ซึ่งผู้เขียนเริ่มเขียนบทความและหนังสืออย่างเป็นกิจจะลักษณะนั้น ที่ยุโรปตะวันตกกับสหรัฐอเมริกามีปัญญาชนที่เป็นนักคิดนักเขียนระดับแนวหน้า รวมทั้งสโมสร ชมรมทางวิชาการพากันพูดถึงหรือเขียนหนังสือแนวนี้ รวมทั้งแนวระบบนิเวศธรรมชาติกันมาก โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาตะวันออก กับการเปลี่ยนแปลงจิตของปัจเจกชนและกระบวนทัศน์ของสังคมโลกโดยรวม ที่มนุษยชาติจะต้องมีขึ้นโดยเร็วให้ได้ ถ้าหากต้องการให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด ซึ่งตรงกับความคิดและวิถีชีวิตที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการวัตถุนิยมแยกส่วนและมองธรรมชาติเป็นใหญ่ของผู้เขียนอยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลานั้นที่บ้านเราแทบไม่มีคนพูดกัน

เมื่อต้นปี ๒๐๐๘ นี้ เอกฮาร์ท โทลเลอ ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า โลกใหม่: การตื่นสู่ความมุ่งหมายของคุณ (Ekhart Tolle: New Earth: Awakening to Your Purpose, 2008) ทันทีที่วางขาย ก็กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดในอเมริกาไปและยังคงอยู่ในระดับนั้นต่อมาอีกหลายเดือน ผู้เขียนเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะเหมาะสมกับช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันกำลังแสวงหาการเปลี่ยนแปลงวิถีของสังคม ที่ทำให้นายบารัค โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต ที่ชูและย้ำเน้นนโยบายเช่นเดียวกันนั้น สามารถเอาชนะนายจอห์น แมคเคน แห่งพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปอย่างถล่มทลาย

เอกฮาร์ท โทลเลอ ได้เขียนเอาไว้ว่า “เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตที่ร้ายกาจอย่างสุดกู่ ... สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวหรือแต่ละเผ่าพันธุ์ หากว่าไม่ตายหรือสูญพันธุ์ไป ก็จำต้องเปลี่ยนตัวเองเหนือเงื่อนไขข้อจำกัดของตน ด้วยการ “ก้าวกระโดดทางวิวัฒน์” (Evolutionary leap) ... เพื่อสนองตอบต่อวิกฤตอันเลวร้ายเพื่อการ “อยู่รอด” – และนั่นคือสิ่งที่เผ่าพันธุ์มนุษยชาติกำลังถูกท้าทายอยู่ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ อันเกิดจากการล่มสลายของการทำหน้าที่คุ้มครองโลกที่เกิดจากจิตที่มีแต่ความอวดดีอหังการมมังการของเราเอง – ซึ่งรู้และสอนเตือนไว้โดยมหาปัญญาของครูโบราณเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และบัดนี้ได้ตอกย้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าความอวดดีอหังการของมนุษย์นั้น ในที่สุดจะทำลายและทำร้ายดาวเคราะห์โลกของเราไป และจะแก้ไขได้ก็ด้วยการเปลี่ยนทางจิตวิญญาณเท่านั้น กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เองที่บางคนเริ่มที่จะรู้และปฏิบัติเช่นนั้น เหตุผลที่ประชากรโลกโดยทั่วไปยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณในตอนนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่มากๆ ยังไม่รู้กัน หรือยังไม่ถึงเวลาถูกบังคับด้วยความทุกข์เข็ญลำเค็ญอย่างแท้จริง (imperative)”

ทำไม? เราส่วนใหญ่มากๆ ของโลกถึงไม่รู้ หรือว่าเราจะต้องรอคอยความทุกข์ยากลำเค็ญจริงๆ มาถึงเสียก่อน? รอคอยการถูกบังคับเสียก่อนถึงจะเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณและเปลี่ยนสังคมของเรา? เหตุผลก็คงเป็นไปตามความเห็นของชาวโลกในหลายๆ ประเทศที่บอกกับ ดเวน เอลยิ่น ในบทความก่อนหน้านั่นแหละ – เพราะว่ามนุษยชาติยังเป็นเด็กวัยรุ่น (Adolescence) และยังคงยึดมั่นในหลักการแยกส่วนและวิทยาศาสตร์กายภาพที่ตรงกับการรับรู้แต่ภาพลวง (ที่คิดว่าจริง) ของเรา หรือดังที่บรรณาธิการบริหารของโครงการการเปลี่ยนแปลงอนาคตของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตได้สรุปไว้ (The 2008 Shift Report, Institute of Noetic Science) ว่า “วิทยาศาสตร์แยกส่วนของเรากล้าหาญชาญชัยถึงกับทำให้ความจริงกลายเป็นสิ่งง่ายๆ โดยการแยกย่อยธรรมชาติทุกๆ อย่างให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ พอที่มนุษย์สามารถจัดการได้” ตัวอย่างเช่น


  • ความมั่งคั่งคือความเด่นความดี และยิ่งรวยก็ยิ่งเด่นกว่าดีกว่า
  • ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือสัญลักษณ์ที่จริงแท้ของความเจริญ
  • มูลค่าการตลาด (เป็นเงิน) ของทุกๆ สิ่งรวมสิ่งแวดล้อม คือสิ่งชี้วัดที่ดีที่สุด
  • โลกและธรรมชาติเป็นของมนุษย์ ฉะนั้น เราจะทำอะไรกับมันก็ได้
  • โลกประกอบด้วย “กูและพวกของกู” กับ “มึงและพวกของมึง”
  • โดยสันดาน มนุษย์มีพื้นฐานของสัตว์ที่เห็นแก่ตัวและเลวร้าย
    ฯลฯ


ทั้งนี้เพราะมนุษย์โดยทั่วไป “(ไม่รู้ว่า) ปัญหาและการแก้ปัญหาธรรมชาตินั้น ทุกๆ สิ่งและทุกๆ อย่างเชื่อมต่อโยงใยกันอย่างเป็นระบบ”

โชคดี (ภาษาพาไป) อยู่บ้างที่ทุกวันนี้ – อย่างน้อยในประเทศที่พัฒนามากๆ แล้ว - คนส่วนหนึ่งกำลังเห็นและกำลังโหยหา “การเปลี่ยนแปลง” ทั้งด้านปัจเจกบุคคลและของสังคมโดยรวมกันอย่างขะมักเขม้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ไปเมืองนอกบ่อยๆ บอกว่า ที่เมืองนอกนั้นมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลง (Shift) กันมากในวงการที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

เพราะฉะนั้น ที่ผู้เขียนบอกว่าโชคดีก็มาจากการนี้ ที่เราในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย มักจะทำตามหรือเลียนแบบอะไรที่ฝรั่งผิวขาวจากประเทศที่พัฒนาแล้วเขาคิด เขาทำ หรือปฏิบัติ ซึ่งไทยเราก็จะคิด ทำ หรือปฏิบัติตามมากกว่าคนผิวสีอื่น นั่นเป็นการคิดที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงจากประสบการณ์ที่อาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น อีกไม่นานคนส่วนใหญ่ของประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะพากันปฏิบัติตาม หรือพากันเลิกยึดมั่นในหลักการวัตถุนิยมแยกส่วนที่มองทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลเป็นเครื่องจักรเช่นนาฬิกา หรือพากันมีพฤติกรรมที่จะเอื้ออำนวยให้มีวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ ทั้งในด้านของปัจเจกและของสังคมวัฒนธรรมโดยรวม ซึ่งจะว่าไปแล้วและดังที่ เอกฮาร์ท โทลเลอ ว่าไว้ข้างบน เป็นมหาปัญญาที่รู้และชี้บ่งโดยครูโบราณมาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีก่อน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าของเรา ผู้ประกาศพุทธศาสนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณไล่สูงขึ้นไป ทั้งในแต่ละคนบุคคลและทั้งในสังคมโดยรวม

ทั้งนี้และทั้งนั้น นั่นคือองค์ความรู้และวัฒนธรรมของเราและของชาวตะวันออกมาแต่ไหนแต่ไร แต่เราได้เหินห่างไปบ้างโดยกระแสตะวันตกเก่าๆ โดยเฉพาะกับนักวิชาการและปัญญาชนส่วนหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ – และเหตุผลส่วนหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ เป็นเพราะฝรั่งในประเทศที่พัฒนามากๆ แล้ว เช่น อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และออสเตรเลีย ฯลฯ ได้หันมารับองค์ความรู้ของตะวันออกและวัฒนธรรมของเรามากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติจิตและการเจริญสติ – เราจึงได้มีการรื้อฟื้นองค์ความรู้เก่าของเราเองที่เน้นการปฏิบัติศาสนาและการทำสมาธิสำหรับสาธารณชนคนทั่วไป โดยเฉพาะกับนักเรียน นักศึกษา และปัญญาชนที่อยู่ใต้กระแสตะวันตกและวัตถุนิยมเก่าๆ เดิมๆ มานาน เช่น จิตตปัญญาศึกษาที่ผู้เขียนเอามาเขียนลงที่นี่เมื่อสัปดาห์ก่อน

หลายๆ คนเป็นเช่นเดียวกับคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่เชื่อว่าสิ่งสำคัญสุดที่อยู่ในจิตใจกับหัวใจของเรา คือความสอดคล้องแนบประสานกันระหว่างสององค์ความรู้ นั่นคือความศรัทธาในศาสนาและภาวะจิตวิญญาณ กับความจริงทางโลกหรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งรู้ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงด้วยวิธีการตรวจวัด (Methodology or Measurement) ที่ใช้การชี้วัดตามที่ตาของมนุษย์มองเห็น นั่นคือ สององค์ความรู้ที่ถูกแยกจากกันมานานด้วยความไม่รู้ของเด็กวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ชมรมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศตะวันตกทุกคนต่างรู้ดีว่า มีวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ที่ทำให้เราเข้าใจว่า เรื่องที่อยู่ภายในหรือสภาวะจิต (ที่ต้องมีวิวัฒนาการสู่สภาวะจิตวิญญาณไล่สูงขึ้นไป) กับเรื่องของกายภายนอกหรือวิวัฒนาการชีววิทยานั้น ต่างเป็นความจริงที่มนุษย์เราจะต้องรู้และนำไปประยุกต์เป็นระบบและโครงสร้างประกอบวิถีชีวิตของเราตลอดไป โดยมีจิตที่อยู่ภายใน – อาศัยพลังงานหรือแรงแห่งการวิวัฒนาการ หรือแรงกรรม – ในการนำการขับเคลื่อนปัจเจกก็เช่นนั้น สังคมโดยรวมก็เช่นนั้น

ความจริงก็กระจ่างชัดกับสาธารณชนคนทั่วไปโดยไม่ต้องชี้วัดอะไรหรือตรงไหนเลย ระดับจิตของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติกำลังเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ – ด้วยพลวัตรของพลังหรือแรงแห่งวิวัฒนาการของจักรวาล (หรือจะบอกว่าโดยพระเจ้าก็ไม่มีใครว่า) – และขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงของความคิดจิตวิญญาณ และพฤติกรรมของกาย ร่วมกันเป็นบูรณาการ (integral) แทนที่จะเป็นกาย – ที่แยกส่วนเป็นตัวกูของกูและตัวมึงของมึงอย่างเดียวเช่นในอดีต – กับวัตถุนิยม มนุษยชาติโดยรวมกำลังรอคอย “มวลอันวิกฤต” (critical mass) อยู่ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ เราทั่วโลกกำลังรอคอยการเปลี่ยนแปลงจิตของมนุษย์และการปฏิวัติสังคมของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างใจจดใจจ่อ

นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของเราแต่ละคนเป็นปัจเจกและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวม (Paradigm or Worldview) ในวันนี้และเดี๋ยวนี้ กำลังดำเนินไปกับบางคนบางกลุ่มในสังคมนั้นๆ และทุกๆ ประเทศชาติ เช่นเดียวกันกับจิตตปัญญาศึกษาและการปฏิบัติสมาธิที่บ้านเรา เพียงมากหรือน้อยเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนเป็นเช่นเดียวกับคนไทยและชาวโลกทั้งผองที่หวังว่า การเปลี่ยนแปลงทางจิตและพฤติกรรมทางกายของเราอย่างบูรณาการในครั้งนี้ จะทันเวลากับอภิมหาวิกฤตโลกที่จะมาถึงในเร็ววันนี้

จิตตปัญญาศึกษาคือทางรอดของเราจริงๆ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2551

ทุกวันนี้สังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน ทำให้มนุษย์ต้องคิดหนักซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเอาตัวให้อยู่รอด เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองหรือของเผ่าพันธุ์สปีชีส์นั้นๆ ให้อยู่รอดตามไปด้วย แต่น่าเสียดายและน่าเสียใจที่สภาพโลกที่อยู่เบื้องหลังสังคมเราที่เปลี่ยนไปมากนี้กำลังเสื่อมสลาย ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความล่มสลายของโลกธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงจริงๆ นั้น เกิดขึ้นจากน้ำมือของเราแท้ๆ ดังที่นักวิทยาศาสตร์ของคณะทำงานไอพีซีซีกว่า ๒,๕๐๐ คนจากมากกว่า ๑๐๐ ประเทศบอกเรา เรา - โดยเฉพาะในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตามการสำรวจโพลเมื่อเร็วๆ นี้ ต่างพากันไม่เชื่อว่า โลกร้อนจะเกิดจากความสุขสนุกสะดวกสบายและปลอดภัยที่เรามีด้วยเทคโนโลยีเพื่อหนีความทุกข์ ส่วนใหญ่มากๆ เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ แต่กลับคิดว่า เป็นไปตามจังหวะหรือวัฏจักรธรรมชาติธรรมดาๆ ของโลก นั่นคืออันตรายจากการไม่รู้แต่คิดว่ารู้ของเราที่คิดว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัตถุนิยมจะสามารถช่วยรักษาเผ่าพันธุ์ของเราให้อยู่รอดได้ แต่จงอย่าลืมว่า ข้อมูลจากแหล่งที่มามากมาย รวมทั้งจากองค์การสหประชาชาติ ต่างชี้บ่งเหมือนๆ กันว่าประชากรของชาติด้อยและกำลังพัฒนานั่นเอง จะเป็นสังคมที่จะได้รับความทุกข์ทรมานจากภัยต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากความล่มสลายหายนะของสิ่งแวดล้อม และจากเทคโนโลยีเพื่อความสุขสนุกสะดวกสบายและปลอดภัยแต่เฉพาะแต่รูปกายเรา โดยไม่รู้ว่าความสุขแท้จริงเป็นความสุขจากภายในที่ชี้นำ

ในระยะสี่ห้าปีมานี้ บ้านเราหรือทั้งโลกได้กำลังเผชิญอยู่กับหลายต่อหลายปัญหาซึ่งได้กลายเป็นวิกฤตชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน หรือไม่เราก็ผลักไปให้ผู้อื่นหรือโทษคนอื่นกระทั่งชาติอื่น เพราะว่า “ตัวกูของกูกระทั่งชาติกู” ไม่เคยผิด นั่นเป็นวิกฤตและปัญหาชนิดที่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นที่ใดและภูมิภาคไหนของโลกในขณะหนึ่งขณะใด ต่างก็มีกันทั้งนั้น คือ รู้สึกว่าปัญหาของสังคมมนุษย์เพิ่มทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าใครจะเป็นคนพูดคนเขียนและพูดเขียนที่ไหนเมื่อไหร่? นั่น – แปลว่าอย่างไร? สำหรับผู้เขียน นั่น – แปลว่า ระบบและโครงสร้างของสังคมโลกที่เรามีอยู่ รวมทั้งวิถีชีวิตที่เราใช้นำชีวิตนั้น มันผิดมาทั้งหมดเลย อย่างน้อยก็ผิดมาตั้งแต่การรับรู้ (perceive) โลกและเรียนรู้ชีวิตจากองค์ความรู้ที่ตั้งบนวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมแยกส่วน แต่กระนั้นเราก็ยังไม่รู้สึก ยังคงวิถีชีวิตเดิมๆ โดยรังแกธรรมชาติมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดธรรมชาติทนต่อไปไม่ไหว และเริ่มตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ ด้วยภัยต่างๆ มากขึ้นและรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าวิกฤตได้เดินทางมาถึงจุดจบจุดสิ้นสุดในช่วงปัจจุบันวันนี้แล้ว โดยที่เราหมดหนทางหมดปัญญาที่จะแก้ไขหรือแม้แต่จะบรรเทาให้เบาบางลงได้ด้วยความคิดและประสบการณ์เก่าๆ ของเรา ตามที่ไอน์สไตน์ว่าไว้

โดยเฉพาะหลังจากความแตกแยกของประชาชนคนไทยซึ่งเห็นได้ชัดเจน ชนิดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซ้ำเติมมหาภัยอื่นๆ อย่างที่เรารู้ๆ กัน ความขัดแย้งแตกแยกที่เริ่มต้นด้วยระบบการเมือง “ระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเพียงวิธีเดียว หรือเราจะเรียกว่าประชาธิปไตยเฉยๆ ก็ได้” ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนคิดว่า คำว่าประชาธิปไตยเฉยๆ หมายถึงการผ่านการเลือกตั้งหรือการเป็นสมาชิกสภาผู้แทน “อันทรงเกียรติ” เท่านั้น ซึ่งมักจะได้คนเก่าๆ เดิมๆ ในกลุ่มผู้สมัครราว ๓,๐๐๐ คนของประชากรของประเทศไทยร่วม ๖๕ ล้านคน หรือคนที่เป็นวงษาคณาญาติ เช่น ภรรยาสามีของผู้แทนคนเก่าคนเดิมที่ไม่มีโอกาสสมัครผู้แทนได้อีก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด

นั่นคือระบบที่มักอ้างกันว่าดีที่สุด แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์นักสำหรับการเมืองการปกครองของสังคมมนุษย์โลกในปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ต้องแสดงความคิดความเห็นกับเขาบ้าง ในฐานะนักคิดนักเขียนที่เขียนแต่เรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าทั้งไกลตัว หรือค่อนข้างหนักๆ มานาน จริงๆ แล้วในความคิดเห็นส่วนตัว ระบบประชาธิปไตยตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเพียงครั้งเดียว หรือประชาธิปไตยเฉยๆ ที่ใช้อยู่นี้ เป็นกระบวนการที่ผิดธรรมชาติอย่างแรงมากๆ เพราะเป็นการมองหรือประเมินตามที่ตาเห็นว่า หากว่าเป็น “คน” ที่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ใหญ่ที่เกิดในสังคมนั้นๆ แล้ว ไม่ว่าจะซื่อบื้อ หรือเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่แต่กับอบายมุข หรือเป็นนักเลงโตคนชั่วร้าย แต่จับไม่ได้เพราะไม่มีใบเสร็จ ฯลฯ แล้ว ย่อมมีสิทธิที่เท่าเทียมกันทั้งหมด และมีสิทธิที่จะเลือกตั้งได้โดยการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งสำหรับบ้านเรา จะจัดให้มีขึ้นเพียงครั้งเดียว นั่นเป็นสังคมมนุษย์รวมทั้งสังคมไทยในปัจจุบันอันเกิดจากกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผิดธรรมชาติ ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติที่มีแต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สรุปเท่าที่เขียนมาวันนี้ รวมทั้งหลักๆ ที่ผู้เขียนเขียนมาตลอดเวลาอันยาวนาน คือ มนุษยชาติกำลังแย่ลงมากขึ้นทุกๆ วัน จนบัดนี้ได้มาถึงปลายทางกำลังจะตกเหวอยู่รอมร่อ โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างหน้าสุดจากการผลักดันของผู้ที่อยู่ข้างหลัง คือ ผู้ยากจนและผู้ยากไร้ในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ยังขาดวุฒิภาวะหรือไร้โอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และผู้ที่ยังเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีจังหวะของมัน “อีกหน่อยสิ่งต่างๆ ก็จะกลับมาเหมือนเดิม” (เมืองนอกเขาจะเรียกว่า BAU หรือ Business as usual) ซึ่งขอยืนยันว่า “ไม่มีทาง”

ส่วนสาเหตุที่เราเลือกที่จะเดินทางเส้นนี้ เพราะว่าเราทั้งเผ่าพันธุ์เลย ยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ยังไม่แตกพานด้วยซ้ำดังที่ ดเวน เอลยิ่น ว่า คนส่วนใหญ่มากๆ ในโลก มากกว่าครึ่งค่อนที่ยืนอยู่ที่ปากเหวเหล่านี้ อะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวของตัวเองหรือโลกรอบๆ ตัวก็ไม่รู้สักอย่าง นอกจากเรื่องที่เป็นความสุขสนุกสะดวกสบายและความปลอดภัยแล้ว ก็ไม่สนใจหรือรับรู้อะไรทั้งนั้น เพราะเชื่อว่ากูรู้หมดแล้วจึงไม่มีทางเชื่อใคร คนเหล่านี้จึงช่วยไม่ได้ที่ต้องตกเหวตายกันทั้งหมด

ส่วนที่เหลือไม่มากนัก คือผู้ที่ไม่รู้เหมือนกัน แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และแสวงหาข้อมูลอย่างไม่หยุดหย่อน และข้อมูลการเรียนรู้หนึ่งในนั้นคือ จิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน (Transformation education) สร้างสรรค์ปัญญาที่ได้จากการภาวนา (Wisdom or Intuition) ซึ่งขณะนี้มีสถาบัน มีชมรม มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น มหิดล จุฬาฯ อาศรมศิลป์ ฯลฯ ที่เปิดสอนอยู่ในขณะนี้หรือในเร็วๆ นี้ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

อย่าลืมว่าการสร้างสรรค์จิตสู่จิตวิญญาณ เพื่อการผ่านพ้นหรือก้าวล่วง (Spirituality and transcendence) นั้น เป็นสาระที่สำคัญที่สุดและเป็นแก่นแท้ของทุกๆ ศาสนาและวัฒนธรรมโลก นั่นคือบันไดที่นำมนุษย์ไปสู่วิมุตติ การ “รู้แจ้ง” ที่เชื่อว่านั่นคือเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาล

ผู้เขียนรู้ว่า จักรวาลวิทยาใหม่ไม่ได้มีสิ่งใดที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของจักรวาลได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ได้ ความรู้ที่เป็นความจริงตามที่มนุษย์สังเกตทั้งด้วยตากับเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดหรือยอมรับกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้น มีจำนวนมากเหลือเกินที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นชิง ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอายุของอุบัติกาลของจักรวาลกับอายุของกำเนิดการทางชีววิทยาของเผ่าพันธุ์สปีชีส์ของมนุษย์ สัดส่วนจะเท่ากับประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ : ๑ คือ จักรวาลมีขึ้นเมื่อร่วม ๑๔ พันล้านปี ในขณะที่มนุษย์ (โฮโมซาเปียนส์) มีขึ้นมาในโลกเพียง ๑๕๐,๐๐๐ ปี คิดคร่าวๆ ตามหลักสถิติคือประมาณ ๑ แสนเท่า

ริชาร์ด ก็อตต์ นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษ ทำนายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ถึง ๙๕ % ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท ว่ามนุษยชาติจะหายสาปสูญไปทั้งเผ่าพันธุ์ (Richard Gott: Gott’s Prediction, Wall Street Journal, Jan.1 2000) ภายในอย่างน้อย ๕,๑๐๐ ปี (อย่างมากเกือบๆ แปดล้านปี) โดยคำนวณจากความน่าเป็นไปได้อย่างที่สุดจากความสัมพันธ์ระหว่างอายุของจักรวาลกับอายุที่โลกมีมนุษย์คนแรกขึ้นมา อีกตัวอย่างหนึ่งโดยเหตุผล ด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง สสารวัตถุที่ประกอบเป็นจักรวาล น่าจะถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดเข้ามาหากันและสุดท้ายรวมกันแน่นหดเล็กๆ ลงๆ เรื่อยๆ จนหดฟุบแฟบ หรือระบิดเป็นซุปเปอร์โนวา (Collapsed-supernova) แต่ทว่าแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดสสารวัตถุให้เข้ามาหากันนั้น มันเกิดพอดีกับแรงผลักจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาจากกระบวนการเทอร์โมนิวเคลียร์จากภายในดวงดาว (เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา) ราวๆ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ล้านดาว ซึ่งจักรวาลของเรามีเท่านั้นพอดี

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรามีค่าตัวคงที่ (Natural constant) ที่ทำให้เราสามารถคำนวณและเรียนรู้จักรวาลได้อย่างที่ยอมรับกัน แต่จากข้อมูลจากคณิตศาสตร์ที่เรามีในขณะนี้ ตัวคงที่อันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาให้เราค่อยๆ ค้นพบนั้น ซึ่งทุกวันนี้เราค้นพบมาเรื่อยๆ นับเป็นร้อยๆ ตัวแล้ว จะมีค่าคงที่ที่กำหนดและควบคุมการเปลี่ยนแปลง (หรืออนิจจตา) ของสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งหมดของจักรวาล แต่เราไม่รู้เลยและเป็นไปได้ที่เราไม่มีทางจะรู้ไม่ว่าเมื่อไร? ถึงเหตุผลว่าทำไม? มันจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นคือ ทำไม? สรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของโลกของจักรวาลถึงได้ไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกับทั้งหมด เว้นแต่ค่าตัวคงที่ของธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่กำหนดควบคุมให้มีการเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจตานั้นๆ หรือว่าจะมีสิ่งที่เป็นที่สุด คอยกำหนดและควบคุมสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของจักรวาลที่คงที่และเสถียรตลอดกาล หรือเป็นธรรมชาติของธรรมชาติ ซึ่งแน่นอน จะต้องมีสิ่งที่เป็นที่สุดของที่สุด ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ เราจะเรียกว่าอะไร? เป็นนิพพานหรือพุทธะ เป็นเต๋า หรือเป็นพระเจ้าในนามใด??

มีตัวอย่างเช่นนี้อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีเหตุผลจริงๆ ทั้งจะอธิบายด้วยความขี้เกียจหรือเห็นไกลตัวว่าบังเอิญก็เกินไป เพราะว่ามันมีเป็นพันเป็นหมื่น สู้เรื่องของความแตกแยกกันของคนในชาติไม่ได้ หรือเรื่องของประชาธิปไตยตัวแทนและระบบรัฐสภา คือประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จ กับการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ไม่ได้ความทั้งคู่ไม่ได้ว่า เราจะเอาอันไหน? หากว่าการแสวงหาการแก้ไขที่ทุกคนทั้งในชาติและในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้รอดจริง มีความสุขจริงๆ โดยไม่ต้องมีเงินหรือทรัพย์สินเลย หรือโยนทิ้งไปเสียทั้งหมดซึ่งระบบทุนนิยมเสรีที่เน้นการ “บริโภคโยนทิ้ง” ที่แม้จะยากสุดยาก ก็เป็นไปได้ แล้วหันไปสู่ความสำคัญที่ภายในจิตตปัญญาศึกษา (Comtemplative education) ความสุขที่อิ่มเอมสงบสงัดที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงของตนเอง (Transformative learning) ซึ่งโดยหลักการก็คือ การทำสมาธิฝึกสติที่มีปฏิบัติกันอยู่ในทุกๆ ศาสนาทุกๆ วัฒนธรรมที่เสมอๆ กัน - รวมทั้งที่นายบารัก โอบามา ที่อยากทำหรืออยากปฏิวัติเปลี่ยนสังคมของอเมริกาจนได้เป็นประธานาธิบดี - ไม่มีใครเหนือกว่าใคร โดยไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

ส่งต่อความรัก



โดย นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2551

เช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เช้าดีๆ ได้ไปร่วมประชุมจิตวิวัฒน์ ฟังอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล เล่าเรื่องการต่อสู้ภายใน การแสวงหาด้านจิตวิญญาณ คุ้มค่ากับการถ่อสังขารลงไปฟังอาจารย์สองชั่วโมง เสียดายที่ได้ฟังแค่นั้น เพราะเที่ยวบินเที่ยวเช้าไปถึงเวลาเริ่มประชุมพอดี อาจารย์เสกสรรเป็นฮีโร่ทางการเขียนหนังสือของผมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจารย์เขียนโดยใช้ภาษาที่คมและสวยงาม มักอธิบายความรู้สึกที่ผมรู้สึกเช่นกัน แต่เขียนบรรยายไม่ได้ออกมาได้อย่างสวยงาม

สิ่งที่ผ่านยากที่สุดในชีวิตด่านหนึ่ง ก็คือการติดดี การคิดว่าตัวเองเป็นนักรบแห่งมโนธรรม เมื่อเราคิดว่าเราคิดดีคิดประเสริฐกว่าคนอื่น สิ่งที่ตามมาก็คือการตัดสินคนอื่น ว่าด้อยกว่า เลวกว่า แล้วเราก็จะจัดการคนอื่น นั่นคือสภาพสังคมปัจจุบัน ที่บางคนออกมาทำอะไรแล้วคิดว่าตัวเองถูก คนที่ไม่ออกมาคือผิด หรือแหย ขี้กลัว ทั้งที่คนที่ออกมาพูดอย่างนั้น ก็เคยขี้ขลาดหนีตายมาแล้วในอดีต เมื่อเพื่อนเดินออกไปสู่สงคราม คอยยุให้คนเดินไปตายเพื่อเป้าหมายของตนเอง เป็นคนเชียร์นี่มันสนุกกว่า แต่ความตายและแขนขาขาดเป็นเรื่องจริง

เมื่อพ้นยุคสมัยนี้ไปแล้ว บางทีความตายและการเสียอวัยวะเพื่ออะไรนี่ มันอาจชัดเจนขึ้น จนกระทั่งมีคำถามว่า “เพื่ออะไร” สติเป็นเรื่องสำคัญ การรู้ตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ การฆ่าฟันในรวันดา ในเขมรสมัยก่อน ก็มีจุดเริ่มต้นที่เรื่องราวแบบนี้ มีคนชั่วและคนดี ยังมีหนทางอื่นในการดูแลผู้คน นอกจากการออกมาเอาชนะกัน พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด ถ้าจะมีใครตัดสินผมว่าเป็นคนแบบไหน อันนี้เป็นสิทธิและเป็นปัญหาของคนๆ นั้น ซึ่งการที่ผมหรือเราจะเป็นอะไร มีแต่เราที่รู้อยู่ ไม่จำต้องเป็นอย่างเขาว่า หรืออยากให้ใครเขาชื่นชม

วันที่ ๗ ตุลาคม วันถัดมา ความรุนแรง ความแค้น ความขัดแย้ง ความกลัว แพร่สะพัดไปทั่วประเทศ ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เราต้องเลือกข้าง เราจะไม่… และอื่นๆ อีก ลูกสาวและลูกชายผมนั่งดูทีวีอยู่ แล้วก็ถามว่า “ป๊า เค้าทะเลาะกันทำไมเหรอ ทะเลาะกันนี่ต้องฆ่ากันด้วยหรือ” ผมไม่รู้ว่าเราจะสอนลูกของเราอย่างไรว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ถูกต้อง การเอาชนะด้วยการฆ่าฟันเป็นเรื่องถูกต้องหรือ แล้วจะสอนเรื่องเมตตากันอย่างไร การอภัยกันอย่างไร แววตาของลูกทั้งสองไม่เข้าใจ

เด็กอีกหลายล้านคนในประเทศนี้ จะถูกอธิบายเรื่องราวนี้กันอย่างไร เมื่อไปโรงเรียน พวกเขาจะทะเลาะกันด้วยเรื่องที่พ่อแม่อธิบายไม่เหมือนกันหรือเปล่า เมื่อพ่อแม่ของพวกเขาเลือกข้าง แล้วการทะเลาะของพวกเขาจะจบลงด้วยความรุนแรงเหมือนที่ปรากฏตามทีวีทุกช่องหรือเปล่า เรากำลังหน้ามืดตามัวกับการเอาชนะกัน จนลืมเป้าหมายที่แท้ของการออกมาทะเลาะกันหรือเปล่า และเราก็ไม่ได้ดูแลคนรุ่นต่อไปว่าจะเติบโตกันอย่างไร

ถ้าเราฝังใจกับมันมาก ขอให้ดูสิ่งที่เห็นให้เป็นอนิจจัง หลายคนในรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นนักศึกษาที่ถือไม้และมีมือเปล่าออกไปสู้ปืน เพื่อประชาธิปไตยและประชาชน บนท้องถนน และก่นด่ารัฐบาลว่าปราบประชาชน เมื่อปี ๒๕๑๖ ปี ๒๕๑๙ คนๆ เดียวกันที่เคยก่นด่าระบบและออกไปประท้วงรัฐบาลเมื่อก่อน บัดนี้เป็นรัฐบาล และบอกว่าการที่รัฐบาลปราบประชาชนคือความถูกต้อง และเพื่อรักษาประชาธิปไตย ไอ้พวกที่ออกมาประท้วงนี่เป็นพวกกบฏ เช่นนี้แล้ว ความถูกต้องก็คือที่ๆ เรายืนอยู่ ไม่ใช่ความถูกต้องแท้ที่ไม่ขึ้นกับที่ๆ เราอยู่ สักวันหนึ่งข้างหน้า คนที่ออกมามีบทบาทบนท้องถนนวันนี้ ก็อาจจะเป็นรัฐบาลและปราบประชาชนเช่นเดียวกับที่ตนเคยก่นประณาม เช่นนั้นแล้ว เรากำลังทำอะไรกันอยู่ และเราจะเสียสละชีวิตของเราเพื่อสิ่งใด

คืนนั้น ผมพาลูกเข้านอน ลูกสาวถือหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งมาให้ผมอ่านให้ฟังก่อนนอน หนังสือเล่มนั้นชื่อเรื่องเล่าที่ประทับใจอะไรประมาณนั้น เธอขอให้เล่าเรื่องสุดท้ายของหนังสือให้ฟัง

เรื่องการส่งต่อความรัก

เรื่องนี้เกี่ยวกับคุณยายกับหลานสาว คุณยายเสียคุณตาไป โลกของคุณยายก็หม่นหมองลง หลานสาวบรรยายความรู้สึกในการเดินไปบ้านยายทุกครั้ง เหมือนเดินไปใต้ต้นไม้ที่มืดครึ้ม ในวันอันขมุกขมัวของฤดูใบไม้ร่วง

วันหนึ่งเมื่อเธอเดินไปบ้านคุณยาย ในใจของเธอก็นึกหน้าคุณยายที่อมทุกข์หน้าตาเศร้าหมอง แต่ทว่าเมื่อเปิดประตูเจอหน้ายาย ยายของเธอใบหน้าสดใสยิ้มแย้มเหมือนมีรัศมีเปล่งประกายออกมา

“เกิดอะไรขึ้นคะคุณยาย ทำไมคุณยายถึงหน้าตามีความสุขอย่างนี้”

“ยายเข้าใจแล้วหลานรัก ยายเข้าใจแล้วว่าทำไมตาทิ้งยายไป”

“ทำไมล่ะค่ะ”

“เพื่อให้ยายมีโอกาสได้รักคนอื่นไงล่ะหลานเอ๋ย ต่อนี้ไปยายจะมอบความรักให้แก่ทุกคนโดยไม่เลือกว่าเขาเป็นใคร”

จากนั้นคุณยายก็ทำตามที่คุณยายว่า เมื่อหลานสาวได้มาเยี่ยมคุณยายอีก คุณยายก็เล่าเรื่องการส่งต่อความรักให้ฟังว่า คุณลุงของหลานแวะมาและเล่าเรื่องที่กังวลใจมากมาย ทั้งโกรธและเศร้าใจ ยายก็รับฟังอย่างสงบ เมื่อคุณลุงเล่าเรื่องจนหมดและดูใจเย็นลง ก็ลากลับบ้าน วันต่อมาคุณลุงเอาขนมเค้กก้อนโตมาให้คุณยาย คุณยายก็เอาออกไปให้คนยากจนสิบกว่าคนได้กินขนมอร่อยไป จากนั้นคนสิบกว่าคนก็มาช่วยคุณยายทำสวน หาดอกไม้สวยๆ มาปลูก ทำให้คนที่เดินผ่านไปมามีความสุข และคนเหล่านั้นก็ไปทำเรื่องดีๆ ต่อๆ กันไปอีก

คุณยายมีความสุขกับการเล่าเรื่องราวเหล่านั้น และยังส่งต่อความรักไปทุกวัน

จวบจนคุณยายเข้าโรงพยาบาล วันสุดท้ายของชีวิต หลานสาวมาเยี่ยมคุณยายตามปกติ แต่เมื่อไปถึงห้องคุณยาย หลานสาวก็ใจหายเมื่อพบกับเตียงที่ว่างเปล่า เธอรีบเดินออกมาพบกับคุณพยาบาล

“ยายเป็นอะไรไปหรือเปล่าค่ะ”

คุณพยาบาลโอบไหล่เธอและพาไปยังหน้าต่างที่มีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา

“คุณยายของหนูได้พบกับความสงบแล้ว ก่อนที่คุณยายจะสิ้นลม ได้ขอน้ำพี่แก้วหนึ่ง พี่คิดว่าคุณยายคงกระหายน้ำ แต่คุณยายเอาน้ำแก้วนั้นไปรดที่กระถางต้นไม้ข้างหน้าต่างซึ่งกำลังเหี่ยวเฉา แล้วบอกว่า ถ้าหลานยายมา บอกหลานยายด้วยนะว่ายายไม่ได้ไปไหน ยายรดน้ำให้ต้นไม้นี้เพื่อให้มันเติบใหญ่ และเมื่อเติบใหญ่ ขอให้คุณพยาบาลย้ายมันไปปลูกในป่า เพื่อให้มันโตให้ความร่มรื่น และให้ผู้คนได้อาศัยร่มเงาของมัน ได้นั่งพูดคุยกันถึงเรื่องความรักที่ต่างคนได้ส่งมอบให้กันและกัน ส่วนยายไม่ได้ไปไหนหรอก ยายจะเป็นแสงสว่างที่จะส่องมาให้ต้นไม้ต้นนี้เติบโต และยายจะเป็นแสงสว่างที่ส่องมายังมันอีกเมื่อมันเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ผู้คน เพื่อเป็นแสงสว่างและแรงบันดาลใจให้ผู้คนต่างๆ ส่งมอบความรักต่อๆ กันไป บอกหลานยายด้วยนะ”

พูดจบทั้งคุณพยาบาลและหลานสาวก็ยืนนิ่งริมหน้าต่าง ให้แสงสว่างที่ส่องเข้าอาบไล้ร่างกาย และทั้งคู่ก็รับรู้ถึงความอบอุ่นที่ปรากฏในหัวใจ และเข้าใจความหมายของชีวิตว่าเกิดมาเพื่อสิ่งใด

ผมไม่รู้ว่านิทานเรื่องนี้จะช่วยเยียวยาลูกทั้งสองได้ไหม จากคราบไคลของความรุนแรงที่ปรากฏ แต่ผมมีความหวัง เพราะความรักมีอานุภาพมากกว่าความแค้นและความเห็นแก่ตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่ความรุนแรงแฝงอยู่ในอณูของอากาศ ผมเชิญชวนทุกท่านส่งต่อความรักครับ ส่งต่อกันไปเพื่อเราทุกคน

โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2551

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีโฆษณาแป้งน้ำทางโทรทัศน์ ว่าด้วยแม่มดใจร้ายส่องกระจกแล้วถามว่า “กระจกจ๋าบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปถพี...” กระจกตอบไม่ตรงใจก็โกรธมาก ยิ่งโกรธหน้าตาท่าทางที่อัปลักษณ์อยู่แล้วก็น่าเกลียดมากขึ้น

ผู้เขียนจำได้ว่าเคยถามแม่มดอยู่คนเดียวว่า เธอส่องกระจกอยู่แล้ว มองไม่เห็นเงาตนเองหรือ ความริษยาพยาบาทมันบังตาหมดสิ้นหรืออย่างไร

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่เหมือนแม่มดที่อยู่ในโฆษณานั้น ส่องกระจกทุกวันก็มองเห็นรูปลักษณ์ของตนเองเพียงผิวเผิน และที่มองไม่เห็น คือความคิดและจิตใจของตนเอง ว่าแจ่มใส งดงาม หรือ ขุ่นมัว เต็มไปด้วยอคติ โง่เขลา

คนที่น่าสงสาร คือพวกที่มีชีวิตโลดแล่นไปตามเส้นทางที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว ถูกหลอกล่อด้วยความหลงผิด คิดแค้น มุ่งแต่จะทำลายล้างผู้อื่นเพื่อแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่ง และความมั่งคั่ง คนพวกนี้มองไม่เห็นตัณหาและพฤติกรรมที่ผิดของตนเอง ด้วยมีอคติมาบังตา แต่จะมองเห็นความผิดพลาดและความชั่วของคนที่เขาเกลียดชัง แต่ละวันก็เฝ้าแต่ขุดคุ้ยข่าวร้ายออกมาประจาน ยิ่งถ้าคนประเภทนี้แบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย การโจมตีกันด้วยวาจาและอาวุธ ก็สรรหามาสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย

เชื้อปะทุของความขัดแย้ง เกิดขึ้นจากอคติ ๔ คือ ความลำเอียง เพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงผิด และเพราะความกลัว

ความรุนแรงในสังคมไทยทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากความหลงผิดอันเป็นโมหาคติ ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แปลไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ว่า prejudice caused by delusion or stupidity เราขาดหลักการและวิธีการที่จะค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำมาเป็นฐานของการคิด ตัดสินใจ และปฏิบัติการเคลื่อนไหว สันติธรรมซึ่งเป็นหลักการสำคัญ และวิธีการเสวนาอย่างเปิดใจกว้าง ได้ถูกละทิ้งและถูกบดบังด้วยอคติ คนไทยส่วนใหญ่จึงตกอยู่ท่ามกลางสงครามวิวาทะ พูดเอาดีใส่ตัว พูดเอาชั่วใส่คนอื่นอยู่ทุกคืนทุกวัน

ความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังแบ่งฝ่ายแบ่งสีกันขณะนี้ ข่าวสารได้กลายเป็นอาวุธสำคัญ ที่สื่อให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้ว่าใครกำลังทำอะไรดีหรือชั่วในบ้านเมืองของเรา แต่ข่าวสารเหล่านั้นมีความจริงหรือไม่ เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เราควรเชื่อทั้งหมด หรือควรตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างไร การรับข่าวสารจึงต้องคิดพิจารณาทบทวนระหว่างบรรทัด ค้นหานัยที่แฝงและซ่อนความประสงค์ดีหรือร้ายในการสร้างข่าวหรือรายงานเหตุการณ์เหล่านั้น ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของข่าว

การปะทะกันของข่าวจากคน ๒ สี สร้างความสับสนให้แก่คนที่ไม่มีสีอย่างที่สุด กลุ่มเสื้อสีหนึ่งสร้างข่าวว่าพวกตนกำลังเสียสละ ทำสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยมองว่าต้องกำจัดกลุ่มเสื้ออีกสีหนึ่งที่เป็นเผด็จการ ทำลายชาติ และทำความผิดที่ให้อภัยไม่ได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มหลังก็สร้างข่าวว่าพวกตรงกันข้ามใช้กฎหมู่ ไม่เคารพกฎหมาย ก้าวร้าวรุนแรง และทำความหายนะให้แก่บ้านเมืองเช่นกัน

น่าแปลกที่คู่วิวาทแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่ากลุ่มของตนมีคุณสมบัติของประชาธิปไตย และกำลังต่อสู้อย่างอาจหาญเพื่อประชาธิปไตย แต่คนเหล่านี้ได้วิเคราะห์ความคิดและพฤติกรรมของตนหรือไม่ ว่ามีความบกพร่อง ผิดเพี้ยนไปจากคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเพียงนามธรรมที่มีความหมายคล้ายกับความดี ความถูกต้อง แต่ถ้าทุกกลุ่มทุกคนส่องกระจกดูแล้ว ก็จะพบว่าตนเองได้มีส่วนร่วมและมีส่วนให้แก่สังคมประชาธิปไตยหรือไม่เพียงใด

ผลจากการเมืองนำมาสู่เรื่องการศึกษา มีผู้กล่าวประนามการศึกษาอยู่เนืองๆ ว่าการที่ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม เช่นนี้ เป็นเพราะการจัดการศึกษามีคุณภาพต่ำ ไม่สอนให้คนรู้หน้าที่ของพลเมือง ไม่อบรมศีลธรรม ไม่ปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ไม่ฝึกให้คนมีความขยันหมั่นเพียร ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ฯลฯ สรุปเป็นถ้อยคำดูหมิ่นได้ว่า การศึกษาไม่ได้ให้อะไรเลย ผู้เรียนได้แค่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่มีการศึกษา

ถ้อยคำเช่นนี้ คนที่อยู่ในวิชาชีพอื่นก็จะกระหน่ำซ้ำเติมอย่างเต็มที่ว่าต้องรื้อระบบการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ เสนอแนะแนวทางปฏิรูปที่สวยหรู โดยมิได้คำนึงถึงกระบวนการที่จะต้องเกี่ยวข้องกับนักเรียนกว่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน ครูจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน โรงเรียนกว่า ๘๐,๐๐๐ โรง ผู้ปกครองมากกว่า ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาทางเลือก

ส่วนผู้ที่อยู่ในวงวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ย่อมมีเหตุผลโต้แย้งว่า การศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน สื่อเทคโนโลยีการวัดและประเมินผล การประกันและการประเมินคุณภาพของผู้เรียนและของสถานศึกษา

คนไทยทุกรุ่นทุกวัยมิได้เรียนรู้จากระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ทุกคนได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ตนได้เผชิญและผจญในชีวิต เรียนรู้จากแบบอย่างของผู้คนในสังคม กลุ่มเพื่อน กลุ่มคนดัง ซึ่งเป็นแบบอย่างทั้งดีและชั่ว เรียนรู้จากสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้จากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และเรียนรู้จากธรรมชาติแวดล้อม ที่วิถีชีวิตต้องดำเนินไป กระแสการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ เคลื่อนไหวรุนแรงและรวดเร็วมาก สามารถครอบงำความคิด พฤติกรรม และให้บทเรียนแก่คนในสังคมได้มากกว่าการเรียน “วิชา” ในระบบการศึกษา

แม้กระนั้น ทั้งคนในวงการศึกษาและบุคคลทั่วไป ก็ต้องหมั่นพิจารณาตรวจสอบทบทวนตนเอง ว่าได้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และภารกิจของตนเพียงใด มีความบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงตนอย่างไรบ้าง คนไทยทุกคนมีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของสังคมไทย จะกล่าวโทษผู้อื่นโดยมิได้หันมามองจุดอ่อนของตนหาได้ไม่

การกล่าวโทษและเสียงนินทาว่าร้าย เหมือนกับโคลนสกปรก คนที่สาดโคลนใส่ผู้อื่น โคลนนั้นก็ย่อมเปรอะเปื้อนมือของตนเช่นกัน บางครั้งอาจจะเปื้อนมอมแมมหมดทั้งตัวก็เป็นได้ คนเราควรสงวนเวลาที่ใช้มองข้อบกพร่องของคนอื่น นำมาใช้ทบทวนตนเอง ปรับปรุงตนเอง ย่อมเป็นประโยชน์คุ้มค่า

ผู้เขียนเขียนบทความข้างต้นไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน แล้วออกไปอยู่กับธรรมชาติ ๔ วัน กลับเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน เข้ามาสู่ค่ำคืนที่ระทึกใจว่าคนไทยจะลุกขึ้นมาฆ่ากันเองหรือไม่ เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำความเลวร้ายอย่างให้อภัยไม่ได้

กว่าบทความนี้จะตีพิมพ์เผยแพร่ก็ในวันที่ ๖ ธันวาคม ผ่านวันมหามงคลที่รวมหัวใจของไทยทั้งชาติเป็นหนึ่งเดียว ขอพระบารมีปกเกล้าฯ แผ่พระเมตตาคุณสู่จิตใจของพวกที่แยกกันเป็นหลายฝ่ายหลายสี ให้ลบอคติที่สิงอยู่ในความคิดจนชีวิตดำมืดนั้นสว่างขึ้นด้วยปัญญา

ผู้เขียนเคยทำนายเหตุการณ์ในอนาคตและวางความหวังในปีหน้าและปีต่อๆ ไป แต่ในวันนี้สุดที่จะทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชั่วโมงต่อไปเกี่ยวกับชาติไทยที่รักของเรา

เสียงเรียกร้องการเจรจาดังขึ้นที่โน่น ที่นี่ หากการเจรจาเกิดขึ้นได้จริง ผู้เขียนขอร้อง “คนมีสี” ทุกฝ่าย ให้มองคู่กรณีโดยพยายามค้นหาความคิดและการกระทำของเขาในส่วนที่ถูกต้อง และมองเข้าไปในตัวตนของตน โดยพยายามค้นหาความคิดและการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเรา เพราะเราจะไม่ได้ยินและไม่เห็นอะไรเลย ถ้ายึดมั่นว่าตนเองถูกต้องและอีกฝ่ายหนึ่งชั่วร้าย การเจรจาจบลงอย่างสูญเปล่า ประเทศชาติก็สูญเสีย น่าเศร้าใจ

o โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา

ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น

โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง

ปองปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ”

สุภาษิตคำโคลงโลกนิติ


ไม่ว่าเหตุการณ์วิกฤตจะจบลงอย่างไร ประเทศไทยก็ยังคงต้องเจ็บปวดบอบช้ำไปอีกนาน คนไทยยังคงสับสนและจิตใจระส่ำระสาย ความรัก ความเมตตาต่อกันเท่านั้นที่พอจะเยียวยาให้สงบ ลบความโกรธที่แรงร้อนให้เย็นลง

คนสวมเสื้อแบ่งสีทั้งหลาย ตื่นขึ้นมาเช้าวันนี้ จงเดินไปส่องกระจกแล้วถามว่า

“กระจกจ๋าบอกข้าเถิด ใครทำให้ไทยเกิดมิคสัญญี” กระจกที่แตกร้าวยับเยินจะตอบว่า

“อ๋อใช่ คนไทยด้วยกันน่ะซี ทั่วพื้นปถฐีไม่มีใคร (...) เกิน”

ขอได้โปรดลบอคติออกจากใจด้วยเถิด เพื่อสันติจะได้เกิดขึ้น สังคมไทยพอมีเวลาสงบ พักฟื้น ประคับประคองกันให้ยืนหยัดขึ้นมาใหม่

ก่อนจะสายเกินแก้ ก่อนจะแพ้ย่อยยับ

ก่อนที่บ้านเมืองจะดับ ลับลงต่อหน้าต่อตา

Back to Top