มกราคม 2012

วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม 2555

หลังจากการโต้เถียงด้วยน้ำเสียงที่ไม่ยอมลดราวาศอกให้กันครั้งนั้น เพื่อนรักสองคนก็ไม่พบเห็นหน้าค่าตากันอีก รวมทั้งการสื่อสารพูดคุยทุกทาง มียกเว้นเพียงครั้งที่ทราบว่าอีกฝ่ายประสบอุบัติเหตุแขนหัก และอีกครั้งในปีถัดไปหลังจากที่อีกคนประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ที่มีการยกหูโทรศัพท์ไปถามไถ่และสั่งการไม่ให้ใครตายก่อนใคร

หลายเดือนหลังจากนั้น หลังจากต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกันในเรื่องการงานเป็นระยะ วันที่วาระและเป้าหมายของงานตรงกัน นัดหมายก็เกิดขึ้น และ – วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

วันที่น้ำท่วมเมืองไทยเกือบแทบทุกหัวระแหง เมืองหลวงเต็มไปด้วยผู้ประสบภัยและผู้เสี่ยงต่อการประสบภัย ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ นั่งสนทนากันตั้งแต่เช้าจดเย็น ไม่มีเบี้ยประชุม ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีสื่อมวลชนมาทำข่าว - เพียงเพื่อแบ่งปันมุมมอง และร่วมกันหาทางแก้ปัญหาในเชิงวิชาการและการขับเคลื่อนสังคม วันที่สติปัญญาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางยอมรับว่าไม่อาจรับมือกับน้ำท่วมได้ – วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

แม้ประเทศไทยจะไม่มีสหภาพแรงงานนอกระบบ แต่เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ๑๕ เครือข่ายก็นัดหารือกันในที่สุด เพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา วันที่ภัยพิบัติน้ำท่วมจู่ลู่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ประสิทธิภาพของกลไกรัฐทั้งหลายจมไปกับสายน้ำ ในภาวะที่งานหายไปพร้อมกับทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงน้อยนิด และไม่มีสวัสดิการใดรองรับ – วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

ในสมาคมวิชาชีพอีกแห่ง บรรดาสุภาพบุรุษวิศวกรที่เน้นผลสำเร็จจากการทำงานหนักและไม่ใคร่จัดวงเสวนากันสักเท่าไหร่มากันเต็มห้องประชุม และร่วมวงสนทนาที่จัดกันต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนหาสาเหตุของวิบัติภัยน้ำท่วม และร่วมกันหาทางออก ในวันที่พบว่าวิชาชีพของตนเป็นปัญหาของปัญญาเชิงเดี่ยว และปรารถนาจะแสวงหาปัญญาใหม่ - วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

ผู้คนทั้งหลายต่างแบ่งปันทุกข์สุขและแสวงหาคำตอบจากวงสนทนา เพราะการสนทนาเป็นหนทางหนึ่งของการสื่อสารของมนุษย์ต่อมนุษย์ กระทั่งการจะริเริ่มการงานใด ก็จำต้องสนทนาทำความรู้จักมักคุ้นกันก่อน เมื่อประสบอุปสรรคปัญหาก็ต้องนั่งหารือร่วมกัน เพื่อหาทางคิดทางแก้ทะลุทะลวงหาทางออกไปด้วยกัน

น่าแปลกที่ว่า เมื่อมีความเห็นต่างหรือขัดแย้ง เรามักจะมุ่งเอาชนะคะคานกัน มุ่งต่อสู้หรือสละชีพเพื่อสิ่งที่เราเชื่อ มากกว่าจะหาทางแลกเปลี่ยนสนทนาและรับฟังซึ่งกันและกัน วัฒนธรรมของการ “มาคุยเรื่องนี้กันเถอะ” เพื่อแก้ไขปัญหา หลายครั้งถูกตีตราว่าเป็นการพูดเปล่า-เปล่าโดยไม่ลงมือกระทำการ ทั้งที่หากมีดวงตาอ่อนโยนลงสักนิด ก็จะเข้าใจได้ว่าการสนทนาก็เป็นการกระทำรูปแบบหนึ่ง เป็นทั้งการสื่อสาร เป็นทั้งการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นทั้งการถ่ายทอดความรู้ และจะเห็นอะไรบางอย่างที่งอกงามขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ ซึ่งมีกำหนดจะจัดงานในวันที่ ๒ – ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่ในการจัดกระบวนการสนทนาเพื่อกำหนดข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเหล่านี้ไม่ใช่ข้อเรียกร้องดาด-ดาดต่อผู้มีอำนาจ หากถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะเพราะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองจากภาคประชาชนในวงกว้างขึ้นมาสู่ผู้บริหารประเทศ และมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสังคม และฝ่ายรัฐ เพื่อหาฉันทามติร่วมกันในประเด็นปัญหาต่างๆ

ประเด็นสำคัญอย่างการจัดการภัยพิบัติโดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง การบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย ไปจนถึงประเด็นความปลอดภัยทางอาหารผ่านกรณีการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เหล่านี้ ได้ผ่านกระบวนการสนทนาถกเถียงแลกเปลี่ยนและหาข้อตกลงบางอย่างร่วมกันระหว่างผู้คนที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จำนวนมากหลายร้อยคน รวมถึงการขอรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ หลายพันคน ก่อนจะมาถึงเวทีสุดท้ายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ผลผลิตของกระบวนการสนทนานั้นดูประหลาด เพราะเกิดเป็นเอกสารจำนวนไม่กี่หน้า และยังต้องส่งต่อเข้ากระบวนการของกลไกในระดับบริหารประเทศอีก – อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปที่กระบวนการก่อนจะเกิดเป็นฉันทามติและกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรบนแผ่นกระดาษนั้น สมัชชาสุขภาพได้ร้อยเรียงเอาผู้คนจำนวนมากมาสู่กระบวนการสนทนาระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ได้สร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งความคิดความรู้สึก และเปิดพื้นที่และโอกาสของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพลเมืองจำนวนไม่น้อยเลย

คุณภาพของการพูดคุยนั้นก็ขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายอย่าง การจัดกระบวนการเพื่อให้เอื้อต่อการสนทนาที่มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และการจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดการสนทนาในประเด็นปัญหาระหว่างผู้คนจำนวนมากก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนลงแรงมาก ทว่า หากสนับสนุนกระบวนการพูดคุยที่มีคุณภาพนี้อย่างต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิดวัฒนธรรมของการสนทนาที่ช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของการแก้ไขปัญหาอย่างสันติปราศจากความรุนแรง ในวันที่สังคมไทยยังมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีช่องทางของการรับฟังความแตกต่างหลากหลาย ในวันที่เราเบื่อหน่ายการผรุสวาท/นินทา/ประท้วงปิดถนน - วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

สู่ชีวิตเดิมแท้ (Soul Journey)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2555

สำหรับปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ที่ถือว่าเป็นรางวัลชีวิตที่ล้ำค่าที่สุดของผมคือการได้กลับมาภาวนาในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ขานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่และคนหนุ่มสาวปกาเกอญอช่วยปกปักษ์รักษาไว้มาตลอด สำหรับผม ที่นี่คือวิหารใหญ่ที่ช่วยให้จิตวิญญาณของผู้คนที่มาเยี่ยมเยียนและพำนักได้รับการหล่อเลี้ยงและฟื้นฟู

It’s not part of the plan because it’s the path that call us to make our journey.

เป็นเรื่องน่าแปลกว่าหลังจากน้ำท่วมกรุง กิจกรรมหลายอย่างถูกยกเลิก หลายคนตกงาน หรือว่างจากงาน กลายเป็น “โลกเว้นวรรค” หลายคนรอคอยการกลับคืนสู่ชีวิตปกติ หลายคนที่ตั้งใจจะมาเข้าร่วมนิเวศภาวนาก็ยกเลิกไปเหลือเพียง ๓ คน จนทางสถาบันขวัญแผ่นดินที่เป็นผู้จัดต้องขอยกเลิกการจัดไปด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อผมได้โทรคุยกับผู้เข้าร่วมทั้งสามคนที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง ก็ได้รับรู้ถึงความตั้งใจดีที่จะเข้าร่วมหลักสูตร ที่จะได้ใช้ชีวิตลำพังกับธรรมชาติและอดอาหารถึงสองวัน ความตั้งใจที่จะละทิ้งโลกที่เอื้ออำนวยความสะดวกสบาย และความปลอดภัย แล้วเดินทางไปสู่ความไม่รู้ ความลำบากและธรรมชาติเพื่อแสวงหาพลังและความเข้าใจให้กับชีวิต ทำให้ผมได้ตระหนักรู้ถึง “วาระชีวิต” ของแต่ละคน ว่าร้องเรียกชัดเจนถึงการเดินทางที่จำต้องเกิดขึ้น ราวกับเป็นฤดูชีวิตที่หมุนเวียนเปลี่ยนมาถึงวาระแห่งการเปลี่ยนผ่านภายใน

ผมตกลงทำตามแผนการใหม่ที่มาจากผู้เข้าร่วมและใจของตัวเอง มันดูไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่มันสอดคล้องกับจิตใจลึกๆ ที่อยากทำอะไรบางอย่างที่เป็นเหมือนกับการมอบของขวัญที่งดงาม และประณีตลึกซึ้งให้กับชีวิต เป็นการส่งท้ายปีเก่าที่ลงตัว เพราะจะว่าไปแล้วชีวิตของการเป็นนักจัดฝึกอบรมในเรื่องการเรียนรู้ภายในให้กับผู้คนและองค์กรต่างๆ ก็เปรียบได้กับช่างฝีมือที่ช่วยสร้างสรรค์ชิ้นงานให้กับผู้คนในเวลาและพื้นที่อันจำกัด แต่สำหรับการทำนิเวศภาวนานั้น ด้วยเวลาและสถานที่ที่ยาวนานและกว้างใหญ่ขึ้น ชิ้นงานหัตถกรรม ทางจิตจึงมีโอกาสประณีตและทรงค่ายิ่งขึ้น

เราเริ่มต้นเดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่โดยขับรถมุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งขุนเขา อ.สะเมิง ระหว่างทางเราแวะพักดื่มกาแฟและเช็คอินเพื่อรับรู้ความตั้งใจของแต่ละคน ว่าวาระชีวิตที่นำพาเรามาร่วมกันจาริกครั้งนี้คืออะไร มันเป็นบทสนทนาที่ช่วยทำให้แต่ละคนชัดเจนกับความปรารถนาเบื้องลึกภายในตัวเอง เพราะความชัดเจนนี้ จะช่วยทำให้คำตอบที่เราจะได้รับจากธรรมชาติชัดเจนและทรงพลังเช่นกัน ดังที่เราได้ค้นพบถึงความปรารถนาของแต่ละคนที่ต้องการข้ามพ้นความกลัวภายในใจ แล้วใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย กล้าเผชิญ การเข้าถึงสมดุลของชีวิต หรือการก้าวออกมาจากความโดดเดี่ยวแล้วกลับคืนสู่การสร้างสัมพันธภาพที่เกื้อกูลกับคนรอบข้าง เมื่อเรารู้อย่างกระจ่างชัดแล้วว่าเราต้องการละโลกไปชั่วคราวนี้เพื่อจะรับพลังวิเศษใดกลับมา เราก็ออกเดินทางกัน

ในนิเวศภาวนา การละโลกคือการละโลกแห่งสมมติ ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข ข้อผูกมัดและพันธนาการทั้งมวลที่เราและสังคมมีต่อกัน และที่ก่อประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวเรา” ไม่ว่าเราจะมี “ฐานะ” เป็นอะไรในสังคม เช่น เป็นพ่อหรือแม่ สามีหรือภรรยา ลูกหรือพี่น้อง หัวหน้าหรือลูกน้อง ละอำนาจและฐานที่มั่นของตัวตน แล้วดำเนินกลับไปสู่โลกแห่งธรรมชาติเดิมแท้ที่ดำรงอยู่ทั้งภายนอกและภายใน คล้ายกับการเข้าสู่ “ความตาย” ของตัวเอง เป็นความไม่มีเหลือซึ่งความมั่นคง ความรู้หรือแม้แต่สติแบบที่เคยเป็น นี่ไม่ใช่การไป “ฝึกสติในธรรมชาติ” แต่ฝึก “ทิ้ง” ตัวตนที่อยากมีสตินั้นอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่าเมื่อเกิดความว่างและสูญสิ้นแล้วจะเหลือสิ่งใด เมื่อไร้อำนาจและพลังในชีวิตแล้ว จะมีแรงอะไรเหลือ นี่ไม่ใช่การฝึกสร้างความแข็งแกร่งทางกายและใจอีกเช่นกัน เพราะเป็นการเดินทางที่จะไม่มีการรับประกันสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นรางวัลและผลลัพธ์ตอบแทน มีแต่จะเรียกร้องให้เราได้อุทิศชีวิตและยอมรับความสิ้นสูญอย่างศิโรราบ ดังนั้นจึงเป็นการเดินทางเพื่อเผชิญกับความกลัวที่เกิดจากการอดและความไม่รู้

แนวทางปฏิบัติเช่นนี้มีที่มาจากวิถีปฏิบัติดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ในโลก ซึ่งแม้ดูจะแตกต่างจากการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตโดยทั่วไปในท่าทีและวิธีการบางอย่าง เพราะโดยทั่วไป การปฎิบัติธรรมที่มุ่งเป้าสู่การละตัวตน เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้นจนหลุดพ้นและเป็นอิสรภาพจากโลกมนุษย์ที่ดำเนินไปด้วยอาสวกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ดังที่มีอยู่แล้วในศาสนา ซึ่งเปรียบกับการเดินทางขึ้นจากโลกมนุษย์สู่ดินแดนชีวิตที่เหนือสามัญ (ขึ้นฟ้า) ในขณะที่นิเวศภาวนามีท่าทีของการลดทอนและละทิ้งตัวตน จนน้อมต่ำลงสู่ความเป็นธาตุดั้งเดิมที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสธารของธรรมชาติและแผ่นดิน (ลงดิน) เหมือนกับการยอมให้ชีวิตตกให้ต่ำเพื่อหยั่งถึงรากฐานเดิมแท้ของชีวิต นั่นคือ ความแปรเปลี่ยน ความสูญสิ้นและเอกภาพของชีวิตทั้งมวล หากมองแนวทางทั้งสองก็จะเห็นว่า หากตกได้ต่ำเท่าไร ก็จะยิ่งสามารถหยั่งรากลงลึก และเพื่อหยัดยืนคืนสู่โลกมนุษย์ได้อย่างมั่นคงเท่านั้น


เพื่อนวัยเยาว์ชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ แซม ไวน์สต็อค (อายุ ๒๒ ปี) ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การข้าม ผ่านเขตชีวิต ว่าเมื่อเขาอายุครบยี่สิบ เขาได้อธิฐานเพื่อขอพลังแห่งการเติบใหญ่จากชุมชนและธรรมชาติ โดยก่อนเข้าสู่การเข้าเงียบ และอด เขาปาวารณาเว้นจากเครื่องมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ สุรา รวมทั้งสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เนท เพื่อบ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้ภายในให้มั่นคง แล้วเมื่อชุมชนมารวมตัวกัน ก็ได้ทำพิธีผูกข้อมือเขากับแม่ด้วยเชือกอย่างแน่นหนา หลังจากนั้นให้ทั้งสองตัดพันธนาการที่ผูกติดกันอยู่ทั้งทางกาย และทางใจออกจากกันให้ได้ คล้ายกับการตัดครั้งแรก คือตัดสายสะดือตอนคลอด เพื่อให้ทั้งสองได้เติบโตและมีชีวิตอยู่ต่อไป (หากไม่ตัดจะตาย) แล้วเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งการอด และนิเวศภาวนา บนยอดเขาเป็นเวลา ๔ วันเพื่อรับภารกิจ ชีวิตและพลังจากธรรมชาติ เมื่อกลับคืนสู่โลกมนุษย์ ชุมชนก็จะรับฟังเจตนาแห่งการใช้ชีวิตของเด็กหนุ่มผู้นี้และสนับสนุนเกื้อกูล เขาเดินทางไปสู่โลกมืดและเผชิญกับมารภายในตน คือความกลัว ความหิว ความเบื่อหน่ายและจิตตารมณ์ทั้งหลายให้รอดด้วยตัวเอง แล้วน้อมรับพลังวิเศษกลับมาใช้ให้เกิดคุณในโลกแก่สังคมในโลก

สำหรับการเดินทางของพวกเราครั้งนี้ มีผู้เฒ่าปกาเกอญอที่ผ่านราตรีแห่งขุนเขามายาวนาน ได้ช่วยขอพรจากผืนดิน และสายน้ำ ให้เราแต่ละคนได้เข้าสู่การเข้าเงียบและอดอาหารลำพังเป็นเวลา ๒ วัน ๒ คืนเพื่อเปิดรับพลังวิเศษ หรือโอสถทางจิตวิญญาณ (Medicine) จากธรรมชาติ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร นี่จะเป็นห้วงเวลาที่ความโดดเดี่ยว ความหิว ความกลัว ความโหยหา ความไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือแม้แต่ความเบื่อหน่ายจะเผยผุดได้อย่างชัดเจน การอดอาหารจะเป็นการตัดกำลังออกจากร่างกายที่เป็นฐานความมั่นคงอันหนึ่งให้กับจิต แล้วพิธีกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ที่จะเกิดขึ้นทั้งอย่างตั้งใจและแบบธรรมชาตินี้ จะช่วยทำให้เกิดพื้นที่ภายใน และความสัมพันธ์ใหม่ที่จิตมีต่อตัวเองและธรรมชาติ บางคนทำการก่อไฟ หรืออาบน้ำ ตัดผม หรือเหลาไม้ ปีน มุด เดิน นอน ยืน ร้องเพลง ร่ายรำหรือแม้แต่การหลับใหลไปกับความเหน็ดเหนื่อย ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่พร้อมรับปัญญาและพลังของธรรมชาติ

เมื่อได้กลับเข้ามาแบ่งปันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงของการภาวนาให้กับวงของผู้อาวุโสได้รับรู้ และสะท้อนทวน ก็จะทำให้แต่คนได้เห็นว่าพลังวิเศษที่ตัวเองได้รับคืออะไรอย่างชัดเจนขึ้น พลังวิเศษนี้จะเกิดผลอย่างแท้จริงเมื่อนำกลับมาใช้ในโลกของมนุษย์ เป็นการตายเพื่อเกิดใหม่ หากตายจริงก็จะเกิดใหม่จริง พร้อมกับพลังวิเศษที่ติดตัวมาพร้อมกับเป้าประสงค์หรือภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของการถือกำเนิดทางจิตวิญญาณ โลกมนุษย์อาจจะยังต้องการตำนานและการเดินทางทางจิตวิญญาณเหล่านี้เพื่อไม่หลงลืมรากเดิมแท้ของชีวิต คือธรรมชาติที่เรียบง่ายและไม่แบ่งแยก เพื่อว่าอารยธรรมของโลกจะไม่ดำเนินไปสู่การทำลายหรือทำร้ายตัวเองไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้

ควอนตัมเมคคานิกส์กับพุทธศาสนา



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มกราคม 2555

ธรรมะของพุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยก็เป็นจิตวิทยาดังที่ คาร์ล จุง ว่า แต่ผู้เขียนคิดว่านั่นไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ใหม่หลายคนบอกว่า พุทธศาสนามีความสอดคล้องแนบขนานกับควอนตัมฟิสิกส์ หรือวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ (Fritjof Copra: The Tao of Physics, 1975 และ Gart Zukav: The Dance of Wuli-Master, 1979) ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อมั่นมากๆ เช่นกันว่า เป็นความจริงอย่างไม่มีข้อสงสัย สัจธรรมความจริงของพระพุทธเจ้าคือควอนตัมเมคคานิกส์โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้เขียนว่า ความสงสัยกังวลใจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือสอดคล้องกับความจริงแท้ หรือความจริงทางธรรมของพุทธศาสนา และไม่ถูกต้องที่มนุษย์จะอยู่กับเหตุผลซึ่งเป็นความจริงทางโลก (ที่สำคัญมากๆ) สำหรับคนทั่วไป แต่ไม่ตรงกับธรรมะของพระพุทธเจ้า นั่นเพราะเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง เพราะความขี้สงสัยและเรื่องเหตุผลนั้น มนุษย์คิดขึ้นเอง (มนุษย์มีอัตตา “ตัวกูของกู” จึงเข้าข้างมนุษย์ตลอดเวลา ใกล้เข้าไปจากนั้นก็จะเข้าข้างผิวพรรณตัวเอง ชาติประเทศตัวเอง ตระกูลตัวเอง ฯลฯ ตามลำดับจนถึงของกูและตัวกู) สอง เราเคารพเหตุผลเพราะว่ามันแสดงความรู้และสติปัญญา (intelligence ซึ่งไม่ใช่ภาวนามยปัญญาหรือปัญญาที่มาเองระหว่างภาวนาหรือในสมาธิ) ของเราเป็นเอกเทศจากคนอื่นๆ - เราภาคภูมิใจในสติปัญญาและความรู้ ประเด็นนี้คล้ายๆ กับข้อหนึ่ง แต่พ่วงเอาความรู้และสติปัญญาไปด้วย อันเป็นความจริงทางโลก และความป็นสอง - ซึ่งส่วนใหญ่ - เกิดขึ้นมาจากความรู้และสติปัญญาที่ว่านั้น (ในพุทธศาสนานั้น ผู้เขียนคิดว่าคำว่าปัญญาเฉยๆ น่าจะหมายถึงภาวนามยปัญญา หรือปัญญาที่หมายถึงการระลึกได้ คือสตินั่นเอง)
ดังนั้น เรื่องของความสงสัยกับเรื่องของเหตุผลจึงไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับความจริงแท้ของพุทธศาสนา แต่เป็นความจริงทางโลกที่สำคัญมากๆ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พูดคุยกับนักศึกษาปริญญาเอกด้านพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่หันมาทำปริญญาโทในสาขาจิตตปัญญาศึกษาว่า พุทธศาสนาและควอนตัมฟิสิกส์เป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์ใหม่พยายามจะอธิบายพุทธศาสนาในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ทราบว่านักศึกษาคนนั้นจะคิดอย่างไร? เพราะเขาตอบผู้เขียนมาว่า “ผมพยายามจะเชื่อ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนควอนตัมฟิสิกส์มาอย่างลึกซึ้ง และยังเข้าใจว่าฟิสิกส์ใหม่คงไม่ต่างไปจากฟิสิกส์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์เท่าใดนัก

แต่นั่น – ผู้เขียนเข้าใจว่า คือความผิดอันยิ่งใหญ่สำหรับนักวิทยาศาสตร์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์ดังที่ จอห์น อาร์ชิบาลด์ วีลเลอร์ และนักควอนตัมฟิสิกส์อีกหลายคนพูดคล้ายๆ กันว่าฟิสิกส์ใหม่ช่างแตกต่างไปจากฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์ยุคเก่ามากมายยิ่งนัก คือเหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ได้ฉุดกระชากวิทยาศาสตร์เก่าหรือฟิสิกส์เก่าให้ล้มทั้งยืนหรือหกคะเมนไปเลย

ในหนังสือความจริงทางควอนตัมของ นิค โรเบิร์ตส์ (Nic Roberts: Quautum Reality, 1985) เขาได้อ้างถึงการประชุมของนักฟิสิกส์ยุคใหม่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งมี นีลส์ บอห์ร และ เวอเนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก เป็นหัวเรือใหญ่ ที่เรียกว่า “คำแปลความจริงทางควอนตัมของโคเปนเฮเกน (Copenhagen Interpretation)” ซึ่ง นิค โรเบิร์ตส์ ได้แยกแบ่งความจริงทางควอนตัมออกไปเป็นแปดข้อ ปรากฏว่าทั้งแปดข้อคือเส้นทางที่นำไปสู่ความจริงที่แท้จริง หรือความจริงทางธรรมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น รวมทั้งข้อแรกที่เป็นจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นยังไม่ถึงสิบปี และนักจักรวาลวิทยาในปัจจุบันให้การยอมรับเพิ่มมากขื้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงกับพุทธศาสนาและลัทธิพระเวทว่า จักรวาลมีจำนวนไม่สิ้นสุด และผู้เขียนยังเชื่อว่าพลังงานมืด (dark energy) ก็คือพลังงานจิตที่แยกจากจิตไม่ได้นั่นเอง

ความจริงทางควอนตัมที่เป็นคำแปลของโคเปนเฮเกน นอกจากจะตรงกับพุทธศาสนาแล้ว ยังไปตรงกับหลักการของศาสนาเต๋าด้วย – แต่ไม่ตรงกับฟิสิกส์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์แม้แต่ข้อเดียว นั่น – สำหรับผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ที่ให้เหตุผลแก่มนุษยชาติโดยตอบความจริงของรูปกายมานานกว่า ๕๐๐ ปีกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอธิบายความจริงทางจิต – เฉกเช่นวิวัฒนาการทางกายภาพที่มีวิวัฒนาการทางกายก่อนที่จะมีวิวัฒนาการทางจิต (และกำลังมีวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณอยู่ในขณะนี้) - ดังที่ผู้เขียนได้พูดได้เขียนมาตลอดเวลา

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อว่าด้วยการค้นพบทฤษฏีควอนตัมหรือควอนตัมเมคคานิกส์ - ดังที่ได้พูดว่าสอดคล้องต้องกันกับความจริงที่แท้จริงหรือความจริงทางธรรมของศาสนาพุทธและศาสนาเต๋า จะต้องมีความหมายเฉพาะบางอย่าง

ผู้เขียนยังเชื่อว่า นอกจาก - การค้นพบควอนตัมฟิสิกส์ที่สอดคล้องต้องกันกับความจริงที่แท้จริงหรือความจริงทางธรรมโดยเฉพาะของพุทธศาสนาแล้ว ภายใต้ความเชื่อนี้ เรายังได้พบว่าวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือทฤษฏีควอนตัม – ที่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์เก่าอย่าง “สิ้นเชิง” – ยังสามารถตอบคำถามหรืออธิบายอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ความเป็นสอง หรือจักรวาลวิทยาใหม่เป็นอย่างดี ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าไม่สามารถอธิบายได้เลย ความเป็นสอง คือความแตกต่างกันของความจริงทั้งสอง อันได้แก่ความจริงทางโลก กับความจริงทางธรรม หรือความจริงที่แท้จริงซึ่งพุทธศาสนาได้ค้นพบ (ทางจิต) และอธิบายไว้เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ดังที่ผู้เขียนได้เขียนมาตลอด

ทั้งหมดคือการพิสูจน์ความจริงด้วยวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ที่อีกไม่ช้าไม่นาน จะเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ “ทุกคน” ว่าเป็นความจริงที่แท้จริงแทนที่วิทยาศาสตร์ยุคเก่าที่ให้ความจริงน้อยกว่าจนเทียบไม่ได้ (เป็นหมื่นๆ เท่า) ความเป็นสองที่ทางพุทธศาสนา และลัทธิพระเวทเน้นย้ำเป็นนักเป็นหนา และเรียกความจริงทางโลกว่า “มายา” หรือภาพลวงตา ความเป็นสองที่เป็นความเชื่อของชาวตะวันออก และตรงกับความจริงทางควอนตัมฟิสิกส์ที่เรียกว่า “โลกที่มองเห็นเป็นสอง” ของ เวอเนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก (duplex world of Heisenberg) ส่วนจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งเพิ่งมีขึ้นมา จะบอกว่าจักรวาลของเราเป็นเพียงหนึ่งในจักรวาลที่มีจำนวนไม่สิ้นสุด ตรงกับที่ควอนตัมฟิสิกส์ (multiworlds theory) และพุทธศาสนาบอกไว้

ที่ผู้เขียนพูดมาทั้งหมดนั้น แสดงสองสิ่งสองอย่างที่เกี่ยวกับบทความนี้คือ หนึ่ง เป็นความต้องการของผู้เขียนที่จะบอกว่า โดยพื้นฐานแล้ว ผู้เขียนเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบันหรือเป็นหมอ แต่โดยพื้นฐานที่อยู่ลึกยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนมีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนาที่มี “ปัญญา” เป็นแก่นแกนโดยจะต้องผ่านการทำ “สมาธิ” – และที่สำคัญ ผู้เขียนยังมีความใกล้ชิดกับศาสนาอื่นๆ อย่างลึกล้ำ – จึงมีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับการเป็นศาสนานิยมหรือเป็นนักจิตนิยมสุดโต่ง แต่ทว่าผู้เขียนจะมีความสนใจอย่างยิ่งยวดกับสภาวะจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง เพราะผู้เขียนมีความใกล้ชิดกับศาสนาอิสลาม คริสต์ เต๋า โดยผู้ใกล้ชิด ทั้งยังได้ศึกษาศาสนาอื่นๆ มาพอสมควร สอง ผู้เขียนคิดและเชื่อว่า ควอนตัมเมคคานิกส์หรือวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่นั้นเป็นการค้นพบวิทยาศาสตร์โดยเจตนาของจักรวาล หรือวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณไปตามสเปคตรัม ซึ่งสอดคล้องความจริงทางธรรมของกับพุทธศาสนาจริงๆ

ดังนั้น ความมุ่งหมายของผู้เขียนที่พูดกับนักศึกษาจิตตปัญาศึกษาในวันนั้น จึงหมายความว่าผู้เขียนมองเห็นว่าวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่นั้น มีความสอดคล้องต้องกันกับความจริงทางธรรมหรือจะพูดว่า “ควอนตัมเมคคานิกส์ได้ตามพิสูจน์พุทธศาสนาในทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความจริงที่แท้จริงก็ได้” ซึ่งสำคัญมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั้งหลายของโลก และผู้เขียนเองยังคิดว่าเป็นสาเหตุให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการเหล่านั้น เข้าใจในความเป็นวิทยาศาสตร์ของศาสนาพุทธรวมทั้งศาสนาอื่นๆ ทางตะวันออกมากขึ้น บางคนถึงกับหันไปนับถือพุทธศาสนากับศาสนาดังกล่าว และสำหรับผู้ที่ยังยากจะเลิกเชื่อว่ามีพระเจ้า ต่างก็หันไปนับถึอลัทธิพระเวท ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่เราจะเชื่อมั่นในความจริงที่แท้จริงอย่างไร? ถ้าหากเชื่อมั่นว่ามันคือความสำคัญที่สุดแล้ว เรื่องของการมีหรือไม่มีพระเจ้าจึงได้ตกมาเป็นรอง อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้ปฏิเสธพรหมมัน ที่เริ่มปรากฏในอุปนิษัทฉบับแรกๆ ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่ และพระองค์ได้ศึกษามาก่อนที่จะบรรลุนิพพาน

บทความนี้ นอกจากจะบอกอย่างจริงๆ ว่า วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือควอนตัมเมคคานิกส์นั้นให้ความจริงที่แท้จริงอันถูกต้องยิ่งกว่าฟิสิกส์ยุคเก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์นับหมื่นเท่าแสนเท่าแล้ว (นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคลาสสิคัลฟิสิกส์และเทคโนโลยีให้ความจริงที่แท้จริงได้เพียงร้อยละ ๙๗ – ๙๙ แต่ควอนตัมฟิสิกส์ให้ความจริงแท้ได้ถึงร้อยละ ๙๙.๙๙)

สำหรับผู้เขียน ควอนตัมเมคคานิกส์ยังเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทั้งให้และตามพิสูจน์ความเป็นวิทยาศาสตร์ “ที่แท้จริง” ให้กับศาสนาเต๋า พุทธศาสนา และลัทธิพระเวทด้วย

Back to Top