วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม 2555

หลังจากการโต้เถียงด้วยน้ำเสียงที่ไม่ยอมลดราวาศอกให้กันครั้งนั้น เพื่อนรักสองคนก็ไม่พบเห็นหน้าค่าตากันอีก รวมทั้งการสื่อสารพูดคุยทุกทาง มียกเว้นเพียงครั้งที่ทราบว่าอีกฝ่ายประสบอุบัติเหตุแขนหัก และอีกครั้งในปีถัดไปหลังจากที่อีกคนประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ที่มีการยกหูโทรศัพท์ไปถามไถ่และสั่งการไม่ให้ใครตายก่อนใคร

หลายเดือนหลังจากนั้น หลังจากต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกันในเรื่องการงานเป็นระยะ วันที่วาระและเป้าหมายของงานตรงกัน นัดหมายก็เกิดขึ้น และ – วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

วันที่น้ำท่วมเมืองไทยเกือบแทบทุกหัวระแหง เมืองหลวงเต็มไปด้วยผู้ประสบภัยและผู้เสี่ยงต่อการประสบภัย ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ นั่งสนทนากันตั้งแต่เช้าจดเย็น ไม่มีเบี้ยประชุม ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีสื่อมวลชนมาทำข่าว - เพียงเพื่อแบ่งปันมุมมอง และร่วมกันหาทางแก้ปัญหาในเชิงวิชาการและการขับเคลื่อนสังคม วันที่สติปัญญาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางยอมรับว่าไม่อาจรับมือกับน้ำท่วมได้ – วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

แม้ประเทศไทยจะไม่มีสหภาพแรงงานนอกระบบ แต่เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ๑๕ เครือข่ายก็นัดหารือกันในที่สุด เพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา วันที่ภัยพิบัติน้ำท่วมจู่ลู่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ประสิทธิภาพของกลไกรัฐทั้งหลายจมไปกับสายน้ำ ในภาวะที่งานหายไปพร้อมกับทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงน้อยนิด และไม่มีสวัสดิการใดรองรับ – วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

ในสมาคมวิชาชีพอีกแห่ง บรรดาสุภาพบุรุษวิศวกรที่เน้นผลสำเร็จจากการทำงานหนักและไม่ใคร่จัดวงเสวนากันสักเท่าไหร่มากันเต็มห้องประชุม และร่วมวงสนทนาที่จัดกันต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนหาสาเหตุของวิบัติภัยน้ำท่วม และร่วมกันหาทางออก ในวันที่พบว่าวิชาชีพของตนเป็นปัญหาของปัญญาเชิงเดี่ยว และปรารถนาจะแสวงหาปัญญาใหม่ - วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

ผู้คนทั้งหลายต่างแบ่งปันทุกข์สุขและแสวงหาคำตอบจากวงสนทนา เพราะการสนทนาเป็นหนทางหนึ่งของการสื่อสารของมนุษย์ต่อมนุษย์ กระทั่งการจะริเริ่มการงานใด ก็จำต้องสนทนาทำความรู้จักมักคุ้นกันก่อน เมื่อประสบอุปสรรคปัญหาก็ต้องนั่งหารือร่วมกัน เพื่อหาทางคิดทางแก้ทะลุทะลวงหาทางออกไปด้วยกัน

น่าแปลกที่ว่า เมื่อมีความเห็นต่างหรือขัดแย้ง เรามักจะมุ่งเอาชนะคะคานกัน มุ่งต่อสู้หรือสละชีพเพื่อสิ่งที่เราเชื่อ มากกว่าจะหาทางแลกเปลี่ยนสนทนาและรับฟังซึ่งกันและกัน วัฒนธรรมของการ “มาคุยเรื่องนี้กันเถอะ” เพื่อแก้ไขปัญหา หลายครั้งถูกตีตราว่าเป็นการพูดเปล่า-เปล่าโดยไม่ลงมือกระทำการ ทั้งที่หากมีดวงตาอ่อนโยนลงสักนิด ก็จะเข้าใจได้ว่าการสนทนาก็เป็นการกระทำรูปแบบหนึ่ง เป็นทั้งการสื่อสาร เป็นทั้งการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นทั้งการถ่ายทอดความรู้ และจะเห็นอะไรบางอย่างที่งอกงามขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ ซึ่งมีกำหนดจะจัดงานในวันที่ ๒ – ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่ในการจัดกระบวนการสนทนาเพื่อกำหนดข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเหล่านี้ไม่ใช่ข้อเรียกร้องดาด-ดาดต่อผู้มีอำนาจ หากถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะเพราะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองจากภาคประชาชนในวงกว้างขึ้นมาสู่ผู้บริหารประเทศ และมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสังคม และฝ่ายรัฐ เพื่อหาฉันทามติร่วมกันในประเด็นปัญหาต่างๆ

ประเด็นสำคัญอย่างการจัดการภัยพิบัติโดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง การบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย ไปจนถึงประเด็นความปลอดภัยทางอาหารผ่านกรณีการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เหล่านี้ ได้ผ่านกระบวนการสนทนาถกเถียงแลกเปลี่ยนและหาข้อตกลงบางอย่างร่วมกันระหว่างผู้คนที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จำนวนมากหลายร้อยคน รวมถึงการขอรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ หลายพันคน ก่อนจะมาถึงเวทีสุดท้ายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ผลผลิตของกระบวนการสนทนานั้นดูประหลาด เพราะเกิดเป็นเอกสารจำนวนไม่กี่หน้า และยังต้องส่งต่อเข้ากระบวนการของกลไกในระดับบริหารประเทศอีก – อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปที่กระบวนการก่อนจะเกิดเป็นฉันทามติและกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรบนแผ่นกระดาษนั้น สมัชชาสุขภาพได้ร้อยเรียงเอาผู้คนจำนวนมากมาสู่กระบวนการสนทนาระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ได้สร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งความคิดความรู้สึก และเปิดพื้นที่และโอกาสของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพลเมืองจำนวนไม่น้อยเลย

คุณภาพของการพูดคุยนั้นก็ขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายอย่าง การจัดกระบวนการเพื่อให้เอื้อต่อการสนทนาที่มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และการจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดการสนทนาในประเด็นปัญหาระหว่างผู้คนจำนวนมากก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนลงแรงมาก ทว่า หากสนับสนุนกระบวนการพูดคุยที่มีคุณภาพนี้อย่างต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิดวัฒนธรรมของการสนทนาที่ช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของการแก้ไขปัญหาอย่างสันติปราศจากความรุนแรง ในวันที่สังคมไทยยังมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีช่องทางของการรับฟังความแตกต่างหลากหลาย ในวันที่เราเบื่อหน่ายการผรุสวาท/นินทา/ประท้วงปิดถนน - วันนี้...พวกเราพูดคุยกัน

Back to Top