มิถุนายน 2016

หัวใจที่มีหู



โดย จารุปภา วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559

ในการทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เพื่อป้องกันและขจัดความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับใครก็ตามด้วยเหตุจากเพศที่เขาและเธอเกิดมาเป็น หรือเลือกเป็น เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของคนทำงานคือการฟัง แบบที่เรียกว่า “ฟังด้วยหัวใจ”

การฟังด้วยหัวใจ ช่วยให้เสียงที่มีธรรมชาติเป็นเพียงแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องมีความหมายต่อเรา

และความหมายนั้นทำให้เรารู้สึกบางอย่าง และเกิดความเชื่อมโยงบางอย่างกับเสียงที่ได้ยิน

หลักการสำคัญที่สุดของการฟังด้วยหัวใจ คือการรับฟังคู่สนทนาในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และทั้งสองฝ่ายสามารถใช้อำนาจร่วมกันในพื้นที่สนทนาได้อย่างแท้จริง

ก่อนอื่น คนฟังต้องเรียนรู้เทคนิคการ Grounding เสียก่อน การกราวดิ้ง คือการกลับมามีสติและหยั่งรากลงในปัจจุบันขณะ คือการพาจิตใจล่องลอยไปตามการชักนำของความคิดและความรู้สึกต่างๆ ให้กลับมาตั้งมั่นอยู่ที่นี่ เวลานี้

เทคนิคการกราวดิ้งมีหลายวิธี ที่ใช้ได้ผลดีและเป็นประโยชน์ในระยะยาว คือการกลับมารู้สึกตัวที่ร่างกายและลมหายใจของเราเอง เริ่มจากหายใจเข้าออกให้ลึกและยาวหลายๆ ครั้ง จากนั้นค่อยๆ ไล่ความรู้สึกไปที่ร่างกายแต่ละส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า สัมผัสความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ร่างกายสัมผัสกับเสื้อผ้า พื้น และสิ่งแวดล้อม รับรู้ท่าทางที่ร่างกายเป็นอยู่ รับรู้ความรู้สึกโปร่งเบา แข็งตึง หรือเจ็บปวดที่เกิดในร่างกายส่วนต่างๆ แล้วใช้ลมหายใจส่งความปรารถนาดีไปที่อวัยวะที่แข็งตึงและเจ็บปวดเหล่านั้นให้หย่อนคลาย

อ่านต่อ »

ตัวป่วน หรือ Change Agent?



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2559

ในอาชีพของกระบวนกร (Facilitator) หรือนักฝึกอบรม เราอาจต้องเจอกับผู้เข้าร่วมอบรมตัวป่วนที่สร้างความอึดอัดและสถานการณ์ยากๆ ให้กับเราอยู่ไม่มากก็น้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่ล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก ล้มเหลวกับเรื่องนี้มาหลายปี ช่วงแรกๆ ถึงกับท้อ แต่หลังๆ ผมฝึกตัวเองให้เป็นคนที่เวลาเจอกับปัญหายากๆ แทนที่จะเอาความล้มเหลวมานั่งตำหนิ ตัดพ้อตัวเอง ก็มักจะเอาโจทย์เหล่านั้นไปปรึกษากับอาจารย์ที่เป็นโค้ชเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เข้าใจสถานการณ์ยากๆ เหล่านั้นในแง่มุมเชิงลึกและเป็นไปเพื่อการเติบโตได้มากขึ้น จึงอยากเขียนเล่าให้ฟังในที่นี้ เผื่อจะได้มุมมองที่เป็นประโยชน์กับหลายคนที่ต้องเจอกับสถานการณ์คล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร นักฝึกอบรม ที่ปรึกษา ผู้นำ ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องจัดประชุมในองค์กรและอยู่กับปัญหาของผู้คนเป็นกิจวัตร

ในมุมมองของงานจิตวิทยากระบวนการ (Process Work) เชื่อว่าตัวป่วนหรือตัวสร้างปัญหา (Trouble maker) นั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ในองค์กร ครอบครัว หรือในห้องอบรมก็ตาม แท้จริงแล้ว เขาเป็นผู้นำพาแก่นสารสำคัญที่จะช่วยทำให้ระบบกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล (Balance the system) แม้ว่าสิ่งที่เขาสื่อสารหรือแสดงออกนั้นจะเป็นเหมือนหนามทุเรียน คือไม่ค่อยน่าฟังหรือเป็นมิตรด้วยเท่าไหร่นัก พูดในอีกแง่มุมหนึ่ง เขาคือกระจกสะท้อนปัญหาสำคัญขององค์กร ที่ไม่ค่อยได้ถูกหยิบยกขึ้นมารับรู้ พูดถึงหรือแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง

ในการอบรมให้กับองค์กรหลายครั้ง โดยเฉพาะการเรียนที่ผู้เข้าร่วมถูกเกณฑ์มา ผมมักจะพบคนที่อยู่ในบทบาทของกบฏ (Rebel) ในที่นี้หมายถึงคนที่ไม่ให้ความร่วมมือในเวิร์คช็อป เป็นเด็กหลังห้อง วิพากษ์วิจารณ์ ท้าทาย ทั้งกับวิทยากร ผู้บริหาร หรือองค์กร เขามักจะนั่งกอดอกอยู่แถวหลัง ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เข้าห้องสาย ออกก่อนเวลา มีท่าทีอึดอัดแบบจำใจอยู่ เต็มไปด้วยเสียงพร่ำบ่นและความไม่พอใจอยู่ภายใน ผู้เข้าร่วมตัวป่วนในรูปแบบกบฏนี้ เพียงแค่คนเดียวในคลาส พลังลบของเขาก็อาจรบกวนให้เราเสียสมาธิรำคาญใจได้ไม่น้อย แม้ว่าผู้เข้าร่วมที่เหลือจะโอเคกับเราก็ตาม ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่พบเจออยู่บ่อยๆ ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ

ไม่นานมานี้ผมได้จัดเวิร์คช็อปให้กับองค์กรแห่งหนึ่ง เรื่องภาวะผู้นำและการคลี่คลายความขัดแย้งในองค์กรยุคใหม่ ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นระดับผู้จัดการ หลายคนมาด้วยความสนใจใคร่รู้ อีกหลายคนมาเพราะเป็นนโยบายบริษัท แต่ก็มาด้วยใจที่เปิดพร้อมเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงองค์กรที่สำคัญ

อ่านต่อ »

คุณธรรมแต่กำเนิด



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2559

"ทำอย่างไรจึงจะปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็กได้?” เป็นคำถามที่อยู่ในใจของพ่อแม่และครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อย คำถามนี้มีนัยยะว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่เด็กไม่มีอยู่แต่เดิม ดังนั้นจึงต้องสร้างขึ้นมา แต่ในความเป็นจริง คุณธรรมบางอย่างมีอยู่ในตัวเด็กตั้งแต่แบเบาะ หนึ่งในนั้นคือความเอื้ออาทรหรือเมตตากรุณา

เมื่อทารกแรกเกิดเห็นหรือได้ยินทารกอีกคนร้องไห้ เขาจะร้องไห้ตามเหมือนกับว่ารู้สึกเป็นทุกข์ไปด้วย (แต่มักจะไม่ร้องหากได้ยินเสียงร้องของตนเอง) ส่วนเด็กที่อายุ ๑๔ เดือนขึ้นไป จะไม่เพียงร้องไห้เมื่อได้ยินอีกคนร้องเท่านั้น แต่จะพยายามเข้าไปช่วยเด็กคนนั้น เด็กยิ่งโต ก็จะร้องไห้น้อยลง แต่จะพยายามช่วยมากขึ้น

เคยมีการทดลองให้เด็กอายุหกเดือนกับสิบเดือนดูภาพเคลื่อนไหวของวงกลมวงหนึ่งซึ่งพยายามไต่เขา บางครั้งก็มีสามเหลี่ยมช่วยดันวงกลมขึ้นไปจนถึงยอด แต่บางครั้งก็มีสี่เหลี่ยมผลักวงกลมลงมาจนถึงพื้น ตัวการ์ตูนทั้งสามล้วนมีนัยน์ตาสองข้างเสมือนคน เด็กดูภาพเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเบื่อ หลังจากนั้นผู้ทดลองก็เอาถาดมาให้เด็กเลือก ด้านหนึ่งของถาดเป็นของเล่นคล้ายตัวสามเหลี่ยมที่ชอบช่วย อีกด้านเป็นของเล่นคล้ายตัวสี่เหลี่ยมที่ชอบแกล้ง ปรากฏว่า เด็กสิบเดือน ๑๔ ใน ๑๖ คนเลือกตัวสามเหลี่ยม เช่นเดียวกับเด็กหกเดือนทั้ง ๑๒ คน การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เด็กนั้นเห็นว่าการช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นจึงชอบตัวที่ช่วยเหลือผู้อื่น

พฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ไม่มีใครสอน แต่ล้วนแสดงออกในทิศทางเดียวกัน คืออยากช่วยเหลือ และชื่นชอบการช่วยเหลือ นั้นหมายความว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นติดตัวเด็กมาตั้งแต่แรกเกิดก็ว่าได้ อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่สัตว์ก็มีคุณธรรมดังกล่าวเช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาสอน

อ่านต่อ »

สมองส่วนหน้าที่รัก



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2559

บทความนี้ได้จากร่างเนื้อหาที่ผมเตรียมเพื่อจะไปพูดเรื่องสมองกับคุณหมอวิโรจน์ ตระการวิจิตในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ โดยผมเริ่มจากโจทย์แล้ววินิจฉัยพร้อมเสนอทางออกดังนี้ครับ

โจทย์

การทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน หรือ multitasking เป็นเรื่องดีหรือไม่? เราจะสามารถใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างไร ได้ข่าวมาว่า สมองของคนทั่วไปทำงานเพียงห้าเปอร์เซ็นต์ของศักยภาพเต็มที่เท่านั้น

วินิจฉัย
พื้นที่ใช้งานจำกัดของสมองส่วนหน้า


จากอ่านและย่อยหนังสือ Your Brain At Work (ปลุกสมองให้คล่องงาน) โดยเดวิด ร็อค (David Rock) ในเรื่องสมองส่วนหน้า หรือ executive brain รวมทั้งความเข้าใจต่างๆ ที่ผมได้สั่งสมมาจากการอ่านหนังสือว่าด้วยเรื่องนิวโรไซน์ (ประสาทวิทยาศาสตร์) หลายต่อหลายเล่ม ผมได้ความเข้าใจบางอย่างที่คิดว่ามีประโยชน์และอยากนำมาเล่าให้ฟังครับ

สมองส่วนหน้าได้สร้างพื้นที่ขึ้นมา และเป็นพื้นที่ของจิตสำนึก (consciousness) ที่ตื่นและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ คิดได้ จินตนาการได้ สัมผัสและรับรู้สิ่งที่อายตนะต่างๆ ส่งมาได้ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกได้

สมองส่วนหน้านี้มีพื้นที่จำกัด หากคิดเป็นหน่วยของ “บิท” แบบคอมพิวเตอร์ สมองส่วนหน้าก็สามารถประมวลผลได้ทีละสองพันบิท ส่วนสมองที่เหลือทั้งหมดสามารถประมวลผลได้เป็นระดับล้านล้านบิท เดวิด ร็อค เปรียบเทียบว่าถ้าพื้นที่สมองส่วนหน้าเทียบเท่าเงินหนึ่งดอลลาร์ สมองส่วนที่เหลือจะมีพื้นที่ทำงานเท่ากับเงินหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด แต่จะอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึก หากจะนำผลลัพธ์การทำงานของสมองส่วนอื่นมาใช้ ต้องผ่านสมองส่วนหน้าก่อนจึงจะนำมาใช้งานได้

เพราะฉะนั้น เราต้องใช้พื้นที่หรือเวทีของสมองส่วนหน้านี้อย่างมัธยัสถ์และให้ประโยชน์สูงสุด

อ่านต่อ »

Back to Top