คุณธรรมแต่กำเนิด



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2559

"ทำอย่างไรจึงจะปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็กได้?” เป็นคำถามที่อยู่ในใจของพ่อแม่และครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อย คำถามนี้มีนัยยะว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่เด็กไม่มีอยู่แต่เดิม ดังนั้นจึงต้องสร้างขึ้นมา แต่ในความเป็นจริง คุณธรรมบางอย่างมีอยู่ในตัวเด็กตั้งแต่แบเบาะ หนึ่งในนั้นคือความเอื้ออาทรหรือเมตตากรุณา

เมื่อทารกแรกเกิดเห็นหรือได้ยินทารกอีกคนร้องไห้ เขาจะร้องไห้ตามเหมือนกับว่ารู้สึกเป็นทุกข์ไปด้วย (แต่มักจะไม่ร้องหากได้ยินเสียงร้องของตนเอง) ส่วนเด็กที่อายุ ๑๔ เดือนขึ้นไป จะไม่เพียงร้องไห้เมื่อได้ยินอีกคนร้องเท่านั้น แต่จะพยายามเข้าไปช่วยเด็กคนนั้น เด็กยิ่งโต ก็จะร้องไห้น้อยลง แต่จะพยายามช่วยมากขึ้น

เคยมีการทดลองให้เด็กอายุหกเดือนกับสิบเดือนดูภาพเคลื่อนไหวของวงกลมวงหนึ่งซึ่งพยายามไต่เขา บางครั้งก็มีสามเหลี่ยมช่วยดันวงกลมขึ้นไปจนถึงยอด แต่บางครั้งก็มีสี่เหลี่ยมผลักวงกลมลงมาจนถึงพื้น ตัวการ์ตูนทั้งสามล้วนมีนัยน์ตาสองข้างเสมือนคน เด็กดูภาพเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเบื่อ หลังจากนั้นผู้ทดลองก็เอาถาดมาให้เด็กเลือก ด้านหนึ่งของถาดเป็นของเล่นคล้ายตัวสามเหลี่ยมที่ชอบช่วย อีกด้านเป็นของเล่นคล้ายตัวสี่เหลี่ยมที่ชอบแกล้ง ปรากฏว่า เด็กสิบเดือน ๑๔ ใน ๑๖ คนเลือกตัวสามเหลี่ยม เช่นเดียวกับเด็กหกเดือนทั้ง ๑๒ คน การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เด็กนั้นเห็นว่าการช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นจึงชอบตัวที่ช่วยเหลือผู้อื่น

พฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ไม่มีใครสอน แต่ล้วนแสดงออกในทิศทางเดียวกัน คืออยากช่วยเหลือ และชื่นชอบการช่วยเหลือ นั้นหมายความว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นติดตัวเด็กมาตั้งแต่แรกเกิดก็ว่าได้ อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่สัตว์ก็มีคุณธรรมดังกล่าวเช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาสอน

หนูตัวหนึ่งถูกแขวนห้อยโตงเตง มันทั้งร้องและดิ้น ทันทีที่หนูอีกตัวเห็นภาพดังกล่าว มันเริ่มวิ่งพล่านและหาทางช่วยหนูตัวนั้น จนพบว่าการกดคันโยกในกรงช่วยให้หนูเคราะห์ร้ายถูกหย่อนลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย

ในห้องทดลองอีกแห่งหนึ่ง ลิงหกตัวถูกฝึกให้รู้จักดึงโซ่เมื่อต้องการอาหาร จู่ๆ มันก็พบว่าถ้ามันดึงโซ่เมื่อใด ลิงอีกตัวหนึ่งจะถูกไฟฟ้าช็อตและร้องด้วยความเจ็บปวด ปรากฏว่าลิงสี่ตัวเปลี่ยนไปดึงโซ่เส้นใหม่ ซึ่งแม้จะให้อาหารน้อยกว่า แต่ไม่ทำให้ลิงตัวนั้นเจ็บปวด ส่วนตัวที่ห้าหยุดดึงโซ่นาน ๕ วัน ขณะที่ตัวที่หกไม่แตะโซ่นานถึง ๑๒ วัน นั่นหมายความว่ามันยอมหิวเพื่อไม่ให้เพื่อนทุกข์ทรมาน

ตัวอย่างดังกล่าวชี้ว่าความเอื้ออาทรหรือความมีน้ำใจ มิใช่สิ่งที่ต้องปลูกฝังในตัวเด็ก แต่เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เจริญงอกงาม หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรบั่นทอนให้ลดน้อยถอยลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือการเลี้ยงดูในครอบครัว รวมทั้งการหล่อหลอมของสังคมนั้น บ่อยครั้งกลับทำตรงข้าม เช่น ส่งเสริมให้เด็กเห็นแก่ตัว ตำหนิลูกหากพบว่าลูกเอาปากกาให้เพื่อน หรือหยิบยื่นเงินให้เพื่อนที่ทำเงินหาย คำพูดว่า “ช่วยเขาแล้วเราได้อะไร” เป็นคำพูดที่กัดกร่อนคุณธรรมในตัวเด็กลงไปเรื่อยๆ ยังไม่ต้องพูดถึงการแก่งแย่งแข่งขันในโรงเรียนหรือบนท้องถนน รวมทั้งพฤติกรรมเอาแต่ได้ที่เห็นจากสื่อต่างๆ

การส่งเสริมและหล่อเลี้ยงคุณธรรมในตัวเด็ก (หรือผู้ใหญ่) ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเทศนาสั่งสอน เพียงแค่เปิดโอกาสให้เขาเห็นความดีของผู้อื่น คุณธรรมในใจเขาก็ถูกปลุกเร้าขึ้นมาทันที หลายคนรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่าเกิดแรงบันดาลใจอยากทำความดีเมื่อเห็นคนอื่นช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเห็นกับตาหรือเห็นจากวิดีโอคลิป อันที่จริงแม้เพียงแค่ได้อ่านหรือได้ยินเรื่องราวแห่งความเสียสละหรือมีน้ำใจของผู้คน เราก็รู้สึกปลาบปลื้ม ประทับใจ และเป็นสุข ซึ่งล้วนแต่กระตุ้นให้เราอยากทำความดีอย่างเขา

การได้เห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ทั้งต่อหน้าต่อตาหรือผ่านสื่อ สามารถกระตุ้นคุณธรรมในใจเราจนเราไม่อาจนิ่งเฉยได้ ทั้งนี้เพราะมีบางอย่างในจิตใจของเราที่ทำให้เรารู้สึกถึงความทุกข์ของเขา (ศาสนาเรียกสิ่งนั้นว่าเมตตากรุณา หรือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ส่วนวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเป็นเพราะเซลล์กระจกหรือ mirror nuron ในสมองของเรา ทำให้มีความรู้สึกร่วมกับเขา) การรับรู้ถึงความทุกข์ของเขาทำให้เราปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (แต่บางครั้งหัวสมองกับหัวใจของเราก็ไม่ได้ไปด้วยกัน ขณะที่หัวใจรู้สึกเป็นทุกข์ที่เห็นคนเป็นลมข้างถนน หัวสมองกลับบอกว่าถ้าช่วยเขาเราก็เสียเวลาหรืออาจไปทำงานช้า ถ้าหัวสมองมีพลังมากกว่า ก็หาทางบ่ายเบี่ยงด้วยการมองไปทางอื่น หรือแกล้งมองไม่เห็น หรืออ้างเหตุผลต่างๆ นานา เช่น “เดินต่อไปเถอะ ใครๆ ก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น”)

วิธีหนึ่งที่มีพลังมากในการเสริมสร้างคุณธรรมก็คือ การได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่มีคนทำดีกับเรา เช่น ช่วยเหลือเรา ให้อาหารหรือของขวัญแก่เรา อดทนต่ออารมณ์ของเรา เราจะมีความรู้สึกอยากทำดีกับเขา รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีกับผู้อื่น อย่างเดียวกับที่เราเคยได้รับ พ่อแม่ที่ฟังลูก อดกลั้นต่อลูก ย่อมส่งเสริมให้ลูกรู้จักฟังพ่อแม่และผู้อื่น รวมทั้งอดกลั้นต่ออารมณ์ของคนอื่นด้วย คนที่เห็นแก่ตัว หากได้รับความเจือจานจากผู้อื่น คุณธรรมในใจของเขาจะได้รับการเสริมแรงจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นในที่สุด

คนเรายังอยากทำความดีเมื่อได้รับคำชม คำชมที่จริงใจนั้นเป็นพลังบวก ที่สามารถดึงพลังบวกหรือความใฝ่ดีในจิตใจของอีกฝ่ายได้ เด็กเกเรหากได้รับคำชมเมื่อเขาทำดีแม้เพียงเล็กน้อย เขาจะมีกำลังใจในการทำความดีมากขึ้น คำชมนั้นสามารถกระตุ้นความใฝ่ดีในใจของเขาจนเอาชนะความก้าวร้าวหยาบกระด้างได้ แต่บางครั้งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาทำความดี เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม อันที่จริงแค่ได้ทำความดี ความรู้สึกปีติปราโมทย์หรือภาคภูมิใจก็เกิดขึ้นทันที ความรู้สึกเหล่านี้เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้เราอยากทำความดีต่อไป

มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ว่าการทำความดี โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ หลายคนหายจากโรคหัวใจเมื่อได้เป็นจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง จำนวนไม่น้อยคลายจากโรคซึมเศร้าเมื่อได้ช่วยเหลือส่วนรวม หรือดูแลสัตว์ที่เจ็บป่วย (อย่าว่าแต่คนเลย ลิงที่มีความเป็นมิตร ชอบสางขนหาเห็บให้แก่ลิงตัวอื่น มีแนวโน้มที่จะอายุยืน เมื่อนำเลือดไปตรวจก็พบว่ามีฮอร์โมนเครียดที่ต่ำมากและมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงกว่า)

ความดีและความสุขนั้นอยู่ใกล้กันมาก ถ้าอยากให้ลูกมีความสุข ก็ควรสนับสนุนให้เขาทำดี ด้วยการส่งเสริมคุณธรรมที่มีอยู่แล้วในใจเขา แต่จะเกิดผลดีอย่างแท้จริง พ่อแม่ก็ต้องส่งเสริมคุณธรรมในใจตนก่อน เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลให้แก่เขา

Back to Top