ตุลาคม 2013

ความรักและเมตตา เป็นสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2556

เมื่อวันที่ ๙ - ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา มีงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาวะของคนสองงาน งานแรกคือ อรุโณทัยแห่งหัวใจที่เยียวยา (Dawn of Palliative Care) จัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ งานที่สองคือ การประชุมนานาชาติ The 10th Asia-Pacific Hospice Conference (APHC 2013) จัดที่บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้มาเข้าร่วมประชุมในงานแรกเกือบหกร้อยคน และในงานที่สองมีกว่าพันคน ทั้งสองงานนี้มีสาระทางวิชาการเหมือนกันคือ “การบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Palliative Care

ถึงแแม้จะเป็นงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้มาเข้าร่วมส่วนใหญ่กลับมิใช่แพทย์ หากแต่มีพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร ทันตแพทย์ บุคลากรสุขภาพสาขาอื่นๆ และมีประชาชนหลายสายอาชีพที่สนใจมาเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีแม้กระทั่งนักบวช พระ นักการศาสนา มาเข้าร่วมด้วย แสดงว่าเนื้อหาสาระของหัวข้อนี้ มิได้ถูกจำกัดวง หรือถูกรับรู้ว่าเป็นวิชาจำเพาะของแพทย์แต่อย่างใด กลับเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สนใจ ใครๆ ก็รู้สึกว่า “นี่เป็นเรื่องของฉัน ฉันก็มีอะไรที่ต้องทำกับเรื่องนี้”

ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปเพียงไร สัจจธรรมคือมนุษย์มิได้เป็นอมตะ ทุกคนต้องตาย ความตายอยู่รอบตัวเรา เกิดขึ้นทุกขณะจิต ทุกแห่งทุกหน เพียงแต่ว่าเราจะ “เลือก” ที่จะมองเห็น ได้ยิน และให้ความสนใจหรือไม่เท่านั้น ที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กระทำ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมองเห็นอะไร ได้ยินอะไร และให้ความหมายว่าอย่างไรทั้งสิ้น แต่ที่เราไม่ได้สนใจในบางเรื่องตลอดเวลา เพราะว่ามนุษย์สามารถเลือกได้ บางเรื่องทำให้เราสบายใจมีความสุข เราก็อยากจะอยู่กับเรื่องนั้นเป็นเวลานานๆ บางเรื่องทำให้เราจม และอยู่กับความทุกข์ เราอาจไม่อยากจะคิดถึง ไม่อยากจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกนั้น เราก็หนีออกมาจากที่นั้นเสีย

ทว่าเมื่อเราจัดการประชุมขึ้น พลังประการหนึ่งของงานประชุมคือ “พลังมวลชน” จะมีผู้ที่สนใจมารวมกันอยู่ในที่แห่งเดียว มนุษย์นั้นหยิบยืมพลังชีวิตจากกันและกันได้เสมอ และเมื่อมีคนที่คิดเหมือนเรา สนใจในเรื่องคล้ายกับเรา จะพบว่าพลังของเราสามารถเพิ่มขึ้นได้ และในเรื่องบางเรื่อง พื้นที่บางแห่ง อารมณ์ความรู้สึกบางประการที่เราอาจจะไม่กล้าเข้าไปค้นหา เราจะพบว่าพลังที่เพิ่มขึ้นมาจากการอยู่รวมกันหลายๆ คน จะทำให้เราสามารถครุ่นคิดและใคร่ครวญในเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาได้

เมื่อมนุษย์เลือกที่จะใช้เวลาทุ่มเทใคร่ครวญกับเรื่องราว จิตอันละเอียดอ่อนที่ทุกคนมี ค่อยๆ คลี่สยาย สัมผัสกับบางแง่มุมที่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยเห็นมาก่อน วลีสั้นๆ บางคำเมื่อเราใช้จินตนาการสานต่อ ภาพคนเบื้องหน้าเราก็เปลี่ยนแปลงไป

“ผมเป็นทหารเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน ได้รับบาดเจ็บจนต้องลาออก” คำพูดของคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเพียงวลีสั้นๆ แต่อาจารย์หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ชวนผู้เข้าร่วมประชุมจินตนาการถึงภาพอดีตทหารอเมริกันที่ปฏิบัติงานในสงครามเวียดนาม เกร็ดรายละเอียดของความโหดร้ายในสงครามที่พวกเราเคยได้รับรู้ จากข่าวสารบ้าง จากภาพยนตร์บ้าง ทำให้พวกเราเริ่มมองเห็นที่มาของความรู้สึก และการกระทำบางประการของผู้ป่วยทหารเก่ารายนี้ รวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเขาเมื่อวาระสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามา

ในงานประชุมนานาชาติ APHC 2013 มีผู้มาเข้าร่วมจาก ๒๔ ประเทศทั่วโลก หลากหลายสาขาอาชีพ ไม่เพียงแต่การงานที่แตกต่างกัน แต่พื้นฐานชีวิต ฐานะ การศึกษา ศรัทธาและความเชื่อก็มีความหลากหลายที่สุด แต่เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมเข้ามารับฟังคำบรรยายของพระไพศาล วิสาโล เรื่องราวของวิถีพุทธในการเผชิญกับความทุกข์ที่สุดแห่งชีวิต ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ อย่างมีสมาธิ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา มิได้เป็นอุปสรรคต่อมนุษย์ในการที่จะสัมผัสกับเรื่องราวที่ทุกๆ สังคมพบเห็นกันเป็นประจำแต่อย่างใด นั้นคือ ความตาย และชีวิตที่ดำเนินมาถึงระยะท้าย

สิ่งที่เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ “ความรู้” เท่านั้นที่มีการแลกเปลี่ยน แต่ “ภูมิปัญญา” ที่แฝงเร้นในเรื่องราวมากมายที่ผู้เข้าร่วมนำพามาด้วย ทำให้เกิดการเติบโตหลายมิติในตัวบุคคล และบางคนก็ได้รับการเยียวยาจากเรื่องราวเหล่านี้ หลายคนกลับไปพร้อมกับประกายตาที่แจ่มใสขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้น แม้ความยากลำบากที่รอคอยอยู่จะไม่น้อยลงไป แต่ทว่ามีการค้นพบว่า บนเส้นทางการดูแลเพื่อนมนุษย์นั้น เรามิเคยอยู่โดดเดี่ยวหรือทำอยู่เพียงลำพังเลย มีอะไรอีกมากที่เราจะได้เรียนรู้ มีเพื่อนอีกไม่น้อยที่เรายังจะได้พบเจอ และสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ทุกคนได้รับทราบก็คือ คนทุกคนมีสิทธิที่ได้รับความรัก ความเมตตา ความเกื้อกูลจากกันและกัน ทั้งจากสมาชิกในครอบครัว จากเพื่อนบ้าน จากสังคมทุกสังคม เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในสังคมที่จะต้องตระหนักรู้ว่า ความทุกข์ หรือสุขภาวะนั้น มิได้เป็นเรื่องของหน่วยงานใด หรือใครบางคน แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสะท้อนว่าจิตสำนึกของคนในสังคมนั้นๆ รับรู้ถึงหน้าที่ของตนเองแล้วหรือไม่ และเมื่อมนุษย์ตระหนักในหน้าที่ เมื่อนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ อันได้แก่การได้รับความรัก ความเมตตา ต่อดวงวิญญาณของเราทุกคน

ทำผิดเมื่อยึดติดความดี



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2556

ยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย หลากหลายแตกต่างทั้งในแง่วิถีชีวิต ทัศนคติ มุมมองและผลประโยชน์ เป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นไม่จำเพาะระหว่างคนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจต่างกันเท่านั้น แม้คนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจเหมือนกัน ก็ยังมีแง่รสนิยม การดำเนินชีวิต และมุมมองที่ต่างกัน คุณค่าบางอย่างที่เราเห็นว่าสำคัญอย่างแน่แท้ เป็นอื่นไปไม่ได้ แต่คนอื่นกลับไม่เห็นเช่นนั้น กลับชื่นชมยึดถือสิ่งที่เราเห็นว่าไร้คุณค่า ไม่น่ายึดถือเลย กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เห็นเป็นเรื่องผิดเพี้ยนหรือวิปริตไป ถึงกับทับถมดูถูกกัน

ความหลากหลายแตกต่างดังกล่าว คือความจริงอย่างหนึ่งของโลกทุกวันนี้ที่เราควรเปิดใจยอมรับ เช่นเดียวกับที่ต้องยอมรับว่าความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพราก และความตาย เป็นความจริงของชีวิตที่เราหนีไม่พ้น หากเราปฏิเสธความจริงแห่งชีวิตดังกล่าว เราก็จะถูกความจริงนั้นตามล่าหลอกหลอนจนหาความสุขได้ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ความจริงของโลก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธผลักไสต่อต้านมัน

อย่างไรก็ตาม การยอมรับความหลากหลายหรือความเห็นต่างของผู้อื่น จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเราวางใจอย่างถูกต้องต่อคุณค่าหรือความคิดที่เรายึดถือด้วย ถ้าหากเรายึดติดถือมั่นมากเกินไป เห็นว่าเป็นความจริงแท้ เราย่อมอดไม่ได้ที่จะดูถูกคนที่ไม่ได้ยึดถือหรือคิดเหมือนเรา ใช่แต่เท่านั้น เมื่อใดที่เราเห็นเขาไม่เคารพสิ่งที่ยึดถือเทิดทูน เราก็จะรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ หรือรู้สึกถูกละเมิดลบหลู่ จึงง่ายที่จะเกิดความรู้สึกโกรธเกลียดคนผู้นั้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้พูดร้ายหรือจ้วงจาบสิ่งที่เราเคารพเลย ดังที่ชาวพุทธหลายคนอาจจะเคยรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเพื่อนชาวคริสต์หรือมุสลิมไม่กราบไหว้พระพุทธรูป ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้แสดงอาการดูหมิ่นเหยียดหยามเลย แต่แค่เขาไม่กราบไหว้นอบน้อมเหมือนเรา ก็ทำให้เราขุ่นเคืองใจหรือรู้สึกถูกละเมิดเสียแล้ว

อาการเช่นนั้นเกิดจากอะไร หากไม่ใช่เป็นเพราะเราเอาอัตตาไปผูกติดกับสิ่งเหล่านั้น หรือพูดอีกอย่างคือ ยึดติดถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาหรือตัวตนของเรา เมื่อคนอื่นไม่แสดงอาการเคารพเชิดชูสิ่งนั้น เราจึงรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ จึงเกิดความทุกข์ ตามมาด้วยความไม่พอใจ ซึ่งหากไม่มีสติรู้ทัน ก็สามารถลุกลามเป็นความโกรธและเกลียด และอาจส่งผลให้มีการกล่าวร้ายหรือทำร้ายกัน

สิ่งที่ดี มีคุณค่า หากเรายึดติดถือมั่น ก็อาจส่งผลร้ายได้ ดังหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต จ.ระยอง ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” ตัวอย่างเช่น คนที่ทำความดีแล้วยึดติดในความดีนั้น ง่ายมากที่จะเกิดความหลงตนว่าดีกว่าคนอื่น เกิดอาการยกตนข่มท่านและชอบเอาความดีของตนไปตัดสินผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนอื่นไม่ดีเหมือนตนหรือไม่ดีเหมือนที่ตนคิด ก็จะไม่พอใจเขา เห็นเขาเป็นลบทันที คนดีที่ยึดติดความดีของตน จึงกลายเป็นคนที่น่าระอา ไม่น่าคบ หรือเบียดเบียนคนอื่นได้ง่าย

ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของการทำร้ายผู้อื่นในนามของคุณธรรมความดี ยิ่งมีการตีตราหรือแขวนป้ายใครว่าเป็นคนเลว ประพฤติผิดศีลธรรม ด้วยแล้ว ผู้คนก็รู้สึกว่ามีความชอบธรรมที่จะกำจัดเขา หรือใช้วิธีการใดๆ กับเขาก็ได้ แม้จะเป็นวิธีการที่ฉ้อฉล ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องความดี การยึดติดความดี จึงสามารถผลักให้ “คนดี” ทำชั่วได้ง่ายมากในนามของความดี ซึ่งแท้จริงก็คือการทำชั่วเพื่อสนองอัตตาของตนมากกว่า ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ภิกษุชาวภูฏาน กล่าวเตือนใจได้ดีว่า “ศีลธรรมคืออาหารของอัตตา ทำให้เรากลายเป็นพวกเคร่งศาสนา และตัดสินผู้อื่นซึ่งมีศีลธรรมแตกต่างจากเรา การยึดมั่นในศีลธรรมในแบบฉบับของตนทำให้เราดูถูกผู้อื่น และพยายามจะยัดเยียดศีลธรรมของตนแก่เขาเหล่านั้น แม้มันจะหมายถึงการฉกฉวยเสรีภาพไปจากเขาก็ตาม”

ความดีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ไม่จำต้องเป็นความดีตามหลักศาสนาก็ได้ แม้แต่ความดีตามมาตรฐานของอุดมการณ์ทางโลก ไม่ว่า ชาตินิยม ประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หากยึดติดถือมั่นก็สามารถผลักดันหรือสนับสนุนให้เราทำสิ่งเลวร้ายได้ ช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ เพียงเพราะเห็นต่างจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ผลก็คือคนเหล่านี้กลายเป็นคนเลวของรัฐไปทันที ดังนั้น “คนดี” จึงสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ เช่น รุมซ้อมทุบตีเขาก็ได้ ภรรยาของประธานเหมา กล่าวสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่า “เมื่อคนดีทุบตีคนเลว นั่นเป็นสิ่งที่คนเลวสมควรได้รับ”

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ตัดสินว่าใครเป็นคนเลว นั่นคือการออกใบอนุญาตให้คนดีมีสิทธิทำอย่างไรกับเขาก็ได้ คนเลวคนผิดจึงมีสิทธิเป็นศูนย์เมื่ออยู่ในมือของคนดี นี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงตระหนักเอาไว้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อจะตัดสินใครว่าเป็นคนเลว คนไม่ดี โดยใช้มาตรฐานทางศีลธรรมของตน เพราะนั่นอาจเปิดช่องให้กิเลสหรือทิฐิมานะครอบงำได้ง่าย กลายเป็นว่าแทนที่จะปกป้องความดี กลับส่งเสริมความชั่วแทน

การตัดสินว่าใครเป็นคนเลวนั้น มักจะเริ่มต้นจากการแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วตีตราแขวนป้ายให้เขา เช่น ทีแรกก็เป็น “แดง” เป็น “เหลือง” จากนั้นก็มีสมญานามอื่นๆ ตามมาจนสุดท้าย กลายเป็น “ควายแดง” กับ “แมลงสาบ” หรือ “ทุนนิยมสามานย์” กับ “ศักดินาล้าหลัง” ตราหรือป้ายเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ถ้อยคำที่ใช้แสดงความดูถูกเหยียดหยามอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทัศนคติของผู้เรียก ทำให้เห็นแต่ด้านที่เลวร้ายของเขา หรือหลงติดอยู่กับภาพที่ตนเองสร้างขึ้น จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงตรงนั้นแล้วก็ไม่ยากที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการที่เลวร้าย ก็ไม่รู้สึกผิด เพราะ “มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน” หรือเพราะว่า “มันไม่ใช่มนุษย์แล้ว”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ ชื่อ” ท่านที่ศึกษาธรรมย่อมตระหนักดีว่า ชื่อที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ นั้น แม้เป็นสิ่งสมมุติ แต่ก็สามารถลวงให้เราเชื่อว่ามีตัวตนตามชื่อนั้น หรือมีตัวตนชื่อนั้นจริงๆ ชื่อหรือสมมุติทำให้เรามองไม่เห็นธรรมชาติแท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่ไร้ตัวตน ในทำนองเดียวกันเมื่อเราตีตราแขวนป้ายให้แก่คนใดหรือคนกลุ่มใดก็ตาม เราก็มีแนวโน้มที่จะถูกตราหรือป้ายนั้นครอบงำใจ คือเห็นเขาตามชื่อเรียกนั้น จนมองไม่เห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน และสมควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

ความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุดหากต่างฝ่ายต่างมองแบบแบ่งข้างแยกขั้ว ว่า “ฉันดี แกเลว” “ฉันถูก แกผิด” การมองเป็นขาวเป็นดำเช่นนี้ มีแต่จะทำให้เกิดการจองเวรไม่หยุดหย่อน แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายหันมาตระหนักว่า ความจริงไม่ได้แบ่งเป็นขาวและดำชัดเจนอย่างนั้น เราก็มีส่วนผิด และเขาก็มีส่วนถูก ความโกรธ เกลียด และกลัว ก็จะลดลง และหันหน้าเข้าหากันได้ง่ายขึ้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องคลายความยึดติดถือมั่นในความคิด ความเชื่อ หรือความดีของตน เพราะหากยังยึดติดถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ก็จะยอมรับความเห็นต่างได้ยาก และจะรู้สึกขุ่นเคืองใจเพราะตัวตนถูกกระทบ เมื่อพานพบหรือรับรู้ว่ามีคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับความคิดความเชื่อของเราหรือสิ่งที่เรายกย่องเทิดทูน

เดินไปด้วยกัน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2556

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีการเดินเท้าเพื่อความเป็นธรรมร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คนในอินเดีย เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียหลังประกาศเอกราช และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันก็ว่าได้


การเดินเท้าดังกล่าวตั้งต้นที่เมืองกวาลิเออร์และมีเป้าหมายที่นครนิวเดลี – เมืองหลวงและที่ตั้งของรัฐสภาอินเดีย – รวมระยะทาง ๓๕๐ กิโลเมตร ผู้คนที่มาร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและดาลิต (จัณฑาล) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน

สาเหตุน่ะหรือ? - อินเดียประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรที่ดินอย่างหนัก ในช่วง ๖๕ ปีที่ผ่านมา ผู้คน ๑๔ ล้านคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากชาวนา โดยมีคนราว ๒๑.๓ ล้านคนต้องย้ายที่อยู่เพราะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ สถิติในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ พบว่าชาวนา ๒๖๐,๐๐๐ คนฆ่าตัวตาย กล่าวโดยสรุป ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและยังต้องรอการชดเชยจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสลัมอินเดียจึงมีมากมายและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

เป้าหมายของการเดินที่เรียกว่า ชนะเดช ๒๐๑๒ (Janadesh) – คำพิพากษาของปวงชน – ก็คือ การเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินระดับชาติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลุ่มคนยากจนที่ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มประชากรชายขอบทั้งหลายเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพ

ผลก็คือ หลังจากเริ่มเดินได้ ๗ วัน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับผู้นำภาคประชาชนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ขบวนทั้งหมดจึงหยุดที่เมืองอัครา

ผู้คนที่ยากไร้ ๑๐๐,๐๐๐ คนออกมาเดินพร้อมกันได้อย่างไร? – กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) แปลว่า สภาสมานฉันท์ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ประกอบด้วยองค์กรชุมชนราว ๑๑,๐๐๐ แห่ง เป็นเครือข่ายครอบคลุมกว่า ๑๑ รัฐ ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยราชโคปาล (Rajagopal) นักปฏิบัติการทางสังคมที่สมาทานสันติวิธีตามแนวทางของคานธี

เอ็กตา ปาริฉัด มีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมผ่านการเสริมพลังอำนาจการต่อรองของกลุ่มคนในสังคมและเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตนเอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนยึดแนวทางสันติวิธีของคานธีที่ปฏิเสธความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร หากหมายถึงเมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งก็คือความรุนแรงทางโครงสร้าง ก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของอินเดีย หากยังเพื่อประโยชน์ของโลกอีกด้วย

การเดินทางสู่ความฝันของเอ็กตา ปาริฉัด มุ่งเน้นการทำงานกับ “คน” โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ในชุมชน ทั้งกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกขับไล่ออกมาจากป่าหลังจากรัฐประกาศให้เป็นป่า สงวนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มดาลิตที่อยู่นอกระบบวรรณะของฮินดู และเป็นการทำงานที่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก

ด้วยเหตุนี้เอง ก่อนการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คน เพื่อเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน จึงมีการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๒๕,๐๐๐ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ การเตรียมการก่อนเดินแต่ละครั้งประกอบด้วยการเดินเท้าย่อยๆ ในแต่ละรัฐ บุคลากรของเอ็กตา ปาริฉัด จะลงไปในแต่ละหมู่บ้านเพื่อจัดเตรียมความพร้อมของผู้คนและชุมชน ตั้งแต่สนับสนุนให้มีองค์กรระดับหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เก็บเงินวันละ ๑ รูปี หรือข้าว ๑ กำมือจากแต่ละครอบครัว และข้าววันละ ๕ กิโลกรัมจากแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นเสบียงกรังระหว่างการเดินเท้า มีการเขียนคำขวัญของขบวนการไว้บนกำแพงบ้าน ติดธงสีเขียวพร้อมสัญลักษณ์ที่หน้าบ้าน มีการประชุมหมู่บ้านและจัดทำบันทึก ตลอดจนสวดมนต์ ร้องเพลงประจำขบวนการ และเปล่งคำขวัญอย่างสม่ำเสมอ นี้ยังไม่นับการพัฒนาศักยภาพผู้นำและภาวะการนำ ที่มีหลักสูตรและกระบวนการคัดเลือกคนโดยชุมชนอย่างชัดเจน – กระบวนการตระเตรียมเหล่านี้ใช้เวลาสองปีบ้าง ห้าปีบ้าง ไม่ใช้เงินเป็นหลักในการขับเคลื่อน แต่มุ่งที่การเสริมพลังอำนาจภายในของผู้คน เป็นการจัดตั้งมวลชนอย่างละเอียดประณีตมากทีเดียว

เอ็กตา ปาริฉัด ให้ความสำคัญต่อสันติวิธีตามแนวทางคานธีมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านตั้งแต่ระดับฐานล่าง การนำพาผู้คนเข้าสู่ปฏิบัติการเดินเท้าอย่างสันติวิธีในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็คือการฝึกฝนเตรียมความพร้อมของผู้คนนั่นเอง สำหรับชาวบ้านผู้ยากไร้และขาดทักษะในการอ่านเขียน การนำพาตัวเองเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการจริงจึงเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ในปฏิบัติการแต่ละครั้งจึงไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย

เมื่อสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อยจากปฏิบัติการจากระดับเล็กมาสู่ใหญ่ คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ก็เกิดความมั่นใจ เกิดเป็นอำนาจภายในที่มีพลังในตัวของแต่ละบุคคล และเมื่อก่อตัวขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน/ขบวน ที่มีกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันและตัดสินใจร่วมกัน ก็นำไปสู่อำนาจร่วมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทั่งสามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าอย่างเช่นอำนาจรัฐได้ – และทั้งหมดก็คือการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นเอง

ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก ต้องลงทุนลงแรงสูง และใช้เวลามาก การสร้างการเปลี่ยนแปลงกระแสหลักจึงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วัดผลสำเร็จที่การปรับแก้หรือออกกลไก/นโยบาย/มาตรการใหม่ ซึ่งหลายครั้งพบว่ากลไกไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง กฎหมายหรือนโยบายไม่ถูกนำไปบังคับใช้ หรือมีการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ จะว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นเพราะได้ละเลยการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกนั่นเอง นั่นคือ แม้ว่าจะเกิดแนวนโยบายใหม่และอาจกล่าวได้ว่า สังคมมีการพัฒนาขึ้นแต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะประสบผลหรือทรงพลังก็ต่อเมื่อผู้ที่ประสบความทุกข์หรือเจ้าของปัญหาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ผู้ประสบความทุกข์โดยมากมักเป็นคนยากไร้ คนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ ไร้ตัวตน ไร้เสียง ไร้พื้นที่แสดงตัว ซึ่งนอกจากจะเกิดจากโครงสร้างอยุติธรรมที่กดทับแล้ว ยังเกิดจากจิตสำนึกที่กดทับตัวเองด้วย การสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกจึงต้องมุ่งเน้นเจ้าของปัญหาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งนี้ ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ หรือปัญญาชน ก็ต้องมีหน้าที่ในการเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การฟื้นฟูพลังอำนาจภายในของกลุ่มคนชายขอบ และช่วยกันสร้างระบบที่เอื้อต่อการใช้อำนาจหรือการตัดสินใจร่วมกันให้มากที่สุด

หากถามว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ไหมในเมืองไทย? - ก็คงต้องชวนให้หันไปดูอินเดีย ประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ยากไร้ แต่ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งอย่างเอ็กตา ปาริฉัด ประเทศที่เต็มไปด้วยความทุกข์ของผู้คนจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังมุ่งหวังถึงสังคมที่เป็นธรรมอย่างไม่ท้อถอย ประเทศที่ดูงมงายไปด้วยลัทธิความเชื่อทางศาสนามากมายแถมไม่มีศาสนาประจำชาติ กลับมีศรัทธาอย่างเข้มแข็งในเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดศาสดาและผู้นำทางศาสนาจำนวนมากนี้ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการเดินไปด้วยกันของเพื่อนมนุษย์อันสามัญธรรมดานี้เอง

นักการเมือง จิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตย



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2556

สามคำหลักที่รวมเป็นชื่อบทความนี้ เป็นสามคำหลักที่มีความหมายกว้างใหญ่ เปิดกว้าง ลุ่มลึก และสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างเป็นองค์รวม ไม่สมควรแยกออกจากกันและกันอย่างแยกส่วน เพราะเมื่อไรที่แยกออกจากกัน ความหมายที่กว้างใหญ่ก็จะคับแคบ ที่เปิดกว้างก็จะปิดทับ ที่ลุ่มลึกก็จะผิวเผิน ฉาบฉวย และเลือกข้าง (อคติ) นำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย (คนละพรรค คนละพวก) ก่อให้เกิดการวางแผนและรวมพลเพื่อแย่งชิงอำนาจอย่างขาดจิตวิญญาณของความเป็นนักการเมืองที่ดี ผ่านพิธีกรรมเปลือกนอกตามระบอบและกระบวนการ (แอบอ้าง) ประชาธิปไตย ที่ขาดไร้ซึ่งจิตวิญญาณ

จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นนักการเมืองโต้เถียงกันในเรื่องความถูกผิดทางกฎหมาย ในความหมายที่แคบ แยกส่วน เพื่อยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายตรงกันข้าม และอ้างเหตุผลเพื่อบ่งบอกว่าฝ่ายตนถูก ในลักษณะของการเยาะเย้ย ถากถาง ก้าวร้าวหรือท้าทาย อย่างขาดจิตวิญญาณและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่พึงมี

นักการเมืองที่ดี ควรต้องมีจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม และหากเชื่อมั่นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งอ้างกันว่าเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด นักการเมืองที่ดีก็ควรต้องมีจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริงถูกต้อง ไม่ใช่แค่อ้างเฉพาะผลของการเลือกตั้ง โดยไม่ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้ามาสู่ถนนการเมืองของตนเองและพรรคพวก ว่าเข้ามาเพื่อช่วยกันสร้างชาติสร้างบ้านเมือง หรือเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อเป็นอาชีพของตนเองและครอบครัว ไม่คำนึงถึงกระบวนการ/วิธีการหาเสียงว่าเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ใช้อำนาจและอิทธิพลหรือเปล่า ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่

นักการเมืองที่ดีย่อมต้องมีจิตวิญญาณของการสร้างชาติสร้างบ้านเมือง ไม่ควรมีจิตวิญญาณของการกินเมืองที่คอยฉกฉวยและสร้างสรรค์โอกาสเอาผลประโยชน์ของชาติ ของสาธารณะ มาเป็นของตนเอง ครอบครัวและพรรคพวก นักการเมืองที่ดีต้องไม่คิดและทำในลักษณะที่ว่า เงินของรัฐคือเงินของรัฐบาล เงินของรัฐคือเงินของพรรค และเงินของรัฐคือเงินของตัวเอง จะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้

นักการเมืองที่ดีต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ มีความกล้าที่จะก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตนสู่ผลประโยชน์สาธารณะที่ยิ่งใหญ่กว่า

นักกินเมือง ย่อมมีจิตวิญญาณของการกินเมือง แอบอ้างประชาธิปไตยเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อการคิดและการกระทำของตนเอง โดยขาดจิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง

สังคมไทยในปัจจุบัน มิใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ขาดจิตวิญญาณและจิตสำนึกในอาชีพและ/หรือวิชาชีพของตัวเอง เราได้เห็นคนที่อยู่ในวิชาชีพ และอาชีพต่างๆ มีพฤติกรรมที่ขัดกับที่เราคาดหวังไว้บ่อยๆ เช่นครู อาจารย์ ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจชั้นนำ ตำรวจ ทหาร แพทย์ แม้กระทั่งพระสงฆ์ แต่บทความนี้ให้ความสำคัญกับนักการเมืองเป็นกรณีพิเศษ เพราะความคิด คำพูด และการกระทำของนักการเมือง มีผลกระทบต่อสาธารณะชน และสาธารณะประโยชน์ในวงกว้าง และที่สำคัญ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นอาจารย์ อยากเห็นนักการเมืองคิด ทำ และพูดให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป อยากเห็นและให้กำลังใจนักการเมืองที่มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม มีจิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตย มีความกล้าที่จะก้าวข้ามอย่างน้อยในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคม...

นักการเมืองที่ดีต้องกล้าที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับกระบวนท่า และกล้าที่จะก้าวข้ามประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ สู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

กล้าที่จะก้าวข้ามการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ (ซื้อสิทธิ์-ขายเสียง โกง...) สู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

กล้าที่จะก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค สู่ผลประโยชน์ของชาติ และประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม

กล้าที่จะใคร่ครวญ/ทบทวนความคิด ความเชื่อและการกระทำของตนเอง

กล้าที่จะก้าวข้ามความจริง ความดี ความงามแบบแยกส่วน สู่ความจริงความดีความงามแบบองค์รวม

กล้าที่จะก้าวข้ามการตั้งใจฟังเพื่อจับผิดหรือโต้แย้งสู่การฟังเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

กล้าที่จะหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยความจริงใจ มีสุนทรียสนทนาระหว่างกัน ไม่รีบด่วนสรุปตัดสิน ยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างกันอย่างแท้จริง

ไม่ต้องถอยคนละก้าว แต่กล้าที่จะจูงมือเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม

เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ นักการเมืองที่ดีจึงควรต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะก้าวข้ามการเอาแพ้เอาชนะ สู่การรู้แพ้รู้ชนะ กล้าที่จะก้าวข้ามการพยายามจะไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง สู่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ช่วยกันมองไปข้างหน้า หาแนวโน้มที่เป็นไปได้ และพึงประสงค์สำหรับสังคมไทย แล้วร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นจริง

Back to Top