โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2556
สามคำหลักที่รวมเป็นชื่อบทความนี้ เป็นสามคำหลักที่มีความหมายกว้างใหญ่ เปิดกว้าง ลุ่มลึก และสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างเป็นองค์รวม ไม่สมควรแยกออกจากกันและกันอย่างแยกส่วน เพราะเมื่อไรที่แยกออกจากกัน ความหมายที่กว้างใหญ่ก็จะคับแคบ ที่เปิดกว้างก็จะปิดทับ ที่ลุ่มลึกก็จะผิวเผิน ฉาบฉวย และเลือกข้าง (อคติ) นำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย (คนละพรรค คนละพวก) ก่อให้เกิดการวางแผนและรวมพลเพื่อแย่งชิงอำนาจอย่างขาดจิตวิญญาณของความเป็นนักการเมืองที่ดี ผ่านพิธีกรรมเปลือกนอกตามระบอบและกระบวนการ (แอบอ้าง) ประชาธิปไตย ที่ขาดไร้ซึ่งจิตวิญญาณ
จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นนักการเมืองโต้เถียงกันในเรื่องความถูกผิดทางกฎหมาย ในความหมายที่แคบ แยกส่วน เพื่อยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายตรงกันข้าม และอ้างเหตุผลเพื่อบ่งบอกว่าฝ่ายตนถูก ในลักษณะของการเยาะเย้ย ถากถาง ก้าวร้าวหรือท้าทาย อย่างขาดจิตวิญญาณและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่พึงมี
นักการเมืองที่ดี ควรต้องมีจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม และหากเชื่อมั่นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งอ้างกันว่าเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด นักการเมืองที่ดีก็ควรต้องมีจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริงถูกต้อง ไม่ใช่แค่อ้างเฉพาะผลของการเลือกตั้ง โดยไม่ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้ามาสู่ถนนการเมืองของตนเองและพรรคพวก ว่าเข้ามาเพื่อช่วยกันสร้างชาติสร้างบ้านเมือง หรือเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อเป็นอาชีพของตนเองและครอบครัว ไม่คำนึงถึงกระบวนการ/วิธีการหาเสียงว่าเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ใช้อำนาจและอิทธิพลหรือเปล่า ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่
นักการเมืองที่ดีย่อมต้องมีจิตวิญญาณของการสร้างชาติสร้างบ้านเมือง ไม่ควรมีจิตวิญญาณของการกินเมืองที่คอยฉกฉวยและสร้างสรรค์โอกาสเอาผลประโยชน์ของชาติ ของสาธารณะ มาเป็นของตนเอง ครอบครัวและพรรคพวก นักการเมืองที่ดีต้องไม่คิดและทำในลักษณะที่ว่า เงินของรัฐคือเงินของรัฐบาล เงินของรัฐคือเงินของพรรค และเงินของรัฐคือเงินของตัวเอง จะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้
นักการเมืองที่ดีต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ มีความกล้าที่จะก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตนสู่ผลประโยชน์สาธารณะที่ยิ่งใหญ่กว่า
นักกินเมือง ย่อมมีจิตวิญญาณของการกินเมือง แอบอ้างประชาธิปไตยเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อการคิดและการกระทำของตนเอง โดยขาดจิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง
สังคมไทยในปัจจุบัน มิใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ขาดจิตวิญญาณและจิตสำนึกในอาชีพและ/หรือวิชาชีพของตัวเอง เราได้เห็นคนที่อยู่ในวิชาชีพ และอาชีพต่างๆ มีพฤติกรรมที่ขัดกับที่เราคาดหวังไว้บ่อยๆ เช่นครู อาจารย์ ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจชั้นนำ ตำรวจ ทหาร แพทย์ แม้กระทั่งพระสงฆ์
แต่บทความนี้ให้ความสำคัญกับนักการเมืองเป็นกรณีพิเศษ เพราะความคิด คำพูด และการกระทำของนักการเมือง มีผลกระทบต่อสาธารณะชน และสาธารณะประโยชน์ในวงกว้าง และที่สำคัญ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นอาจารย์ อยากเห็นนักการเมืองคิด ทำ และพูดให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป อยากเห็นและให้กำลังใจนักการเมืองที่มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม มีจิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตย มีความกล้าที่จะก้าวข้ามอย่างน้อยในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคม...
นักการเมืองที่ดีต้องกล้าที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับกระบวนท่า และกล้าที่จะก้าวข้ามประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ สู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
กล้าที่จะก้าวข้ามการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ (ซื้อสิทธิ์-ขายเสียง โกง...) สู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม
กล้าที่จะก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค สู่ผลประโยชน์ของชาติ และประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม
กล้าที่จะใคร่ครวญ/ทบทวนความคิด ความเชื่อและการกระทำของตนเอง
กล้าที่จะก้าวข้ามความจริง ความดี ความงามแบบแยกส่วน สู่ความจริงความดีความงามแบบองค์รวม
กล้าที่จะก้าวข้ามการตั้งใจฟังเพื่อจับผิดหรือโต้แย้งสู่การฟังเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
กล้าที่จะหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยความจริงใจ มีสุนทรียสนทนาระหว่างกัน ไม่รีบด่วนสรุปตัดสิน ยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างกันอย่างแท้จริง
ไม่ต้องถอยคนละก้าว แต่กล้าที่จะจูงมือเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ นักการเมืองที่ดีจึงควรต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะก้าวข้ามการเอาแพ้เอาชนะ สู่การรู้แพ้รู้ชนะ กล้าที่จะก้าวข้ามการพยายามจะไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง สู่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ช่วยกันมองไปข้างหน้า หาแนวโน้มที่เป็นไปได้ และพึงประสงค์สำหรับสังคมไทย แล้วร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นจริง
แสดงความคิดเห็น