กันยายน 2004

สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2547

คำว่าสิ่งในที่นี้หมายรวมถึงคนสัตว์สิ่งของ ซึ่งมีทั้งรูปลักษณ์ให้เห็นได้ และมีนามธรรมฝังแฝงอยู่ภายในที่ไม่สามารถมองเห็น จนกว่าสิ่งนั้นจะแสดงตัวตนและแก่นแท้ที่เป็นจริงออกมา

สิ่งที่เห็นแวววาวมิใช่ทองเสมอไป มหาโจรไม่จำเป็นต้องเป็นบุรุษหน้าตาเหี้ยมโหดและท่าทางดุร้าย งูพิษมันจะเลื้อยเชื่องช้าเงียบกริบ สุนัขเห่ามักจะไม่กัด ครอบครัวหนึ่งในบ้านหลังใหญ่ มั่งมีมหาศาล อยากได้อะไรเว้นแต่ดาวกับเดือนก็ย่อมได้ แต่ทุกคนทะเลาะกัน จะหาความสุขสักน้อยหนึ่งก็ไม่มี

สังคมไทยมีลักษณะแปลกอย่างหนึ่งคือ เป็น “สังคมประทับตรา” ใครก็ตามที่เคยทำผิด หรือแสดงความกักขฬะ คดโกงสักครั้งหนึ่ง คนนั้นจะเลวตลอดชาติ สังคมได้ประทับตราแล้วว่าคนนี้เป็นคนไม่ดี เป็นพวกยี้ ไม่ว่าภายหลังเขารู้ตัว กลับใจ ทำความดีสักเท่าใด เขาก็เป็นคนดีไม่ได้ ก็คนมันเคยเลว

ในทางกลับกัน คนที่ทำความดีออกมาเด่นจนสังคมชื่นชมอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เขาจะได้รับการประทับตราจากสังคมว่าเป็นคนที่แสนดี ไม่มีทางที่คนดีจะกลายเป็นคนชั่วไปได้ ภาพลักษณ์ของเขาจะดูสง่าสงบและซื่อสัตย์ สังคมไทย (ซึ่งแปลความได้หลายนัย) เชื่อว่า เขาไม่มีวันคิดอะไรที่ผิดเพี้ยน ฉ้อฉล ก็คนเขาเคยดีก็ต้องดีอยู่วันยังค่ำ

ผู้ที่ศึกษาและเข้าถึงศาสนธรรมจะไม่คิดเช่นนั้น หลักธรรมสอนว่าความเป็นจริงของสรรพสิ่ง คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางวิวัฒน์และวิบัติ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงเกื้อหนุน หรือบั่นทอนซึ่งกันและกัน ยิ่งเป็นมนุษย์ด้วยแล้ว ย่อมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้น

กรรมหรือการกระทำที่เคยทำมา กำลังทำอยู่ และคิดจะทำต่อไป ต้องส่งผลแก่ตนเองตามเวลา สถานะ และเหตุการณ์ที่เผชิญ

พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เทศนาว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำดีด้วยตนเอง ย่อมได้ผลดีด้วยตนเอง ไม่ได้สอนให้คนอื่นทำให้หรือทำให้คนอื่น”

เราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองนั้นดีหรือชั่ว พฤติกรรมคำพูดและจิตของเราบอกชัด คนอื่นจะยกยอปอปั้นหรือนินทาว่าร้ายอย่างไร ถ้าเรารู้จักตรวจสอบตนเอง และรู้ตัวอยู่เสมอ ก็จะไม่เผลอตัว นี่คือจิตตระหนักรู้ที่ควรฝึกฝนเอาไว้

ในประเด็นของกลุ่มคนหรือสังคม การประเมินว่าใครเป็นคนดีนั้น นอกจากสังเกตติดตามดูความสุจริตทั้งกายวาจาใจแล้ว น่าจะใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นเกณฑ์วัดคุณสมบัติของคนดี

พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธไว้ตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการรับรู้ สรุปได้ว่า คนเรานั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เกิดจากการได้ยินได้เห็นอย่างหนึ่งกลับเข้าใจไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง การรับรู้ที่คลาดเคลื่อนยังเกิดจากอารมณ์ปรุงแต่งหรือทิฏฐิ ที่ฝังแน่นอยู่ในใจ รวมถึงสถานะทางสังคมของแต่ละคนทำให้ได้รับการประเมินคุณค่าที่ผิดไปจากความจริงได้ด้วย

ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าคนที่จบจากสถาบันนั้นต้องดี มาจากโรงเรียนนั้นไม่ดี อาชีพนั้นลำบากต่ำต้อย อาชีพนั้นสบาย รวยเร็ว ภาพลวงที่เห็น อาจไม่ใช่ความจริงที่เป็น

ยังไม่เคยเห็นเครื่องประดับรูปควายหรือรูปกาดำเลย มีแต่เข็มกลัดรูปนกยูงรำแพน เราตัดสินเสียแล้วว่าควายหรืออีกา เป็นสัตว์ที่ไม่น่ายกย่อง ทั้งๆ ที่รู้ว่า ควายนั้นเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์

กลับมาพิจารณาสิ่งของบ้าง ของดีคือของที่มีประโยชน์และมีคุณค่า ไม่ใช่ของที่มีแต่ราคา วิธีการตลาดต้องการเพิ่มราคาก็ต้องเคลือบฉาบทา และสร้างภาพลวงว่ามีประโยชน์ยิ่งต่อชีวิต

ทั้งคนและของต่างก็มีดีมีชั่วผสมกันอยู่ ของที่เห็นถูกกระทำให้มันเป็น คนที่เห็นก็มีพฤติกรรมทั้งเปิดเผยซ่อนเร้น สังคมมีส่วนช่วยปรุงแต่งให้ดูดีและดูไม่ได้

ถ้าเราจะพัฒนาจิตให้รู้จักเลือกและตัดสินได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ เราต้องฝึกคิดและพิจารณา คำว่าคิดทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว ในที่นี้เน้นการพิจารณาโดยวางตนเป็นกลาง ไตร่ตรองตรวจสอบเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ก่อนจะตัดสินประเมินค่า

จะใช้สามัญสำนึกบ้างก็ไม่ผิดบาป แต่ปัญญาการรู้วิธีแสวงหาความจริงต้องเป็นตัวนำ คนเรานี้ก็ชอบกล บทจะเกลียดจะรักใครไม่มีเหตุผล เช่น ความรักแรกพบ หรือมองหน้าแล้วศรศิลป์ไม่กินกัน เป็นอารมณ์ของปุถุชน แต่สามัญสำนึกและอารมณ์ไม่ควรครอบงำจิตจนไม่เกิดปัญญา

การพัฒนาจิตโดยการตระหนักรู้ ลดอคติ ลดการใช้อารมณ์ แล้วเพิ่มการพิจารณาหาความจริงอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินว่าใครหรืออะไรดีชั่ว ทำให้เราไม่ผิดหวังรุนแรง เมื่อพบว่าคนเคยดีกลับไม่ดี คนที่เรารักชื่นชอบกลับเปิดเผยเล่ห์เหลี่ยมร้ายกาจออกมา เราจะไม่เสียใจมาก ถ้าพบว่าของรักของหวงที่สรรหามาราคาแพงกลับไร้ประโยชน์และนำความทุกข์มาให้

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี คิดได้อย่างนี้ก็รับได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง จิตจึงตั้งมั่น เมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่หวัง

ใครเล่าจะรู้จริงว่าใครดีใครชั่ว นอกจากตัวคนนั้นเอง

ตัดแต่งยีน (Gene) ให้หายดื้อ

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2547

จีเอ็มโอ (GMO) หรือ Genetic Modified Organism กำลังเป็นที่กล่าวขานกันทั่วเมือง ทุกวันนี้มนุษย์อยากได้อะไร ก็แทบจะสามารถบันดาลให้เป็นจริงได้หมด ไม่อยากให้แมลงกัดกินพืช ก็ตัดแต่งพันธุกรรมของพืชเสียใหม่ให้มีภูมิต้านทานต่อแมลงชนิดนั้นๆ ในไม่ช้า คงจะมีคนที่คิดตัดแต่งยีนลูกหลานของเราให้ “หายดื้อ” เป็นแน่แท้ อันที่จริงเขาว่ากันว่า “เด็กดื้อเป็นเด็กฉลาด” แต่สังคมไทยเรานิยม “เด็กว่าง่าย เด็กหัวอ่อน” เสียมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่เถียงหรือมีปากมีเสียงจึงถูกจำแนกว่าเป็น “เด็กดื้อหรือเด็กก้าวร้าว” นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นสักที นับว่าเป็นการจำกัดโอกาสของเด็ก ในการที่จะฝึกสื่อสารกับผู้อื่นอย่างน่าเสียดาย ไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ เด็กบางคนขาดความมั่นใจและไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ยิ่งสังคมปัจจุบันอยู่ในช่วงสับสนทางวัฒนธรรม เด็กๆ ไม่รู้จะเลือกใช้ชีวิตหรือประพฤติตัวอย่างไรให้เหมาะสม จึงเลือกรับวัฒนธรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะก็เพียงพอแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เด็กจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้การยอมรับจากเพื่อนฝูง

ปัญหาส่วนใหญ่ของเยาวชนในปัจจุบันจึงเป็นปัญหาความรุนแรง ดังที่เห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กวัยรุ่นภาคเหนือตั้งแก๊งค์ซามูไร เด็กวัยรุ่นภาคกลางยกพวกตีกันเป็นพันคน บางกลุ่มฉุดเด็กสาวไปข่มขืน บางกลุ่มก็ตั้งเป็นแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ หรือเด็กวัยรุ่นภาคใต้บางกลุ่มร่วมขบวนผู้ก่อการร้าย เป็นต้น แต่ไม่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ผู้ใหญ่ในพื้นที่นั้นต่างก็ปวดใจไม่แพ้กัน ดังนั้นปัญหาการใช้ความรุนแรงจึงเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องย้อนกลับมามองว่า อันที่จริงแล้ว การที่เขาเหล่านั้นเลือกที่จะใช้ความรุนแรง เป็นเพราะมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอลงไป ใช่หรือไม่ ถ้าจะมองกันให้ลึกซึ้งลงไปอีก ภาวะความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ สังคมผู้ใหญ่ก็มีความเครียดไม่น้อย หากแต่ผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานต่อความเครียดมากกว่า เนื่องจากมีครอบครัว มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อ มีศาสนา ที่สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ระดับหนึ่ง แต่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือมีปัญหาทางบ้าน ย่อมไม่พร้อมที่จะรับกับปัญหาต่างๆ รอบๆ ตัวและพ่ายแพ้ต่อสภาพแวดล้อมที่กดดันในปัจจุบันได้ง่าย จึงแสดงอาการเครียดและสับสน ซึ่งเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันและใช้พลังในทางที่ไม่เหมาะสม คือแทนที่จะทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ กลับทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนเพียงเพื่อต้องการแสดงว่าตนเองมีพละกำลังความสามารถ แต่ด้วยสภาพจิตใจที่อ่อนแอ จึงถูกชักจูงและครอบงำด้วยพลังด้านลบได้โดยง่าย จนบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ไปโดยปริยาย

หากจะเปรียบเทียบเยาวชนของชาติ เสมือนกับต้นไม้น้อยๆ ที่กำลังถูกชอนไชด้วยแมลงหรือศัตรูพืช อันได้แก่ วัฒนธรรมความรุนแรง ที่กระหน่ำผ่านสื่อต่างๆ เข้ามาอย่างไร้ปราการป้องกัน เมื่อเยาวชนของเรามีภูมิต้านทานที่ไม่ดีพอ ขาดเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ความรุนแรงก็จะสามารถกัดกินความคิดของลูกหลานเราอย่างง่ายดาย

ผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่และมีภูมิต้านทานที่สูงกว่า จำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ ป้องกันและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เยาวชน กลั่นกรองให้เห็นถึงประโยชน์และโทษของวัฒนธรรมบางประเภท ปลูกฝังจิตสำนึกและเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันสิ่งดีงามให้แก่กันและกัน เป็นการให้คุณค่าและสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกหลาน ประดุจร่มเงาที่ปกคลุมต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ได้พึ่งพาอาศัย แม้ขณะนี้ อนาคตของชาติจะถูกแมลงหรือหนอนกัดกินไปบ้าง แต่ในที่สุดธรรมชาติก็จะสร้างภูมิต้านทานให้แก่เขาได้ในไม่ช้า แล้วต้นไม้น้อยๆ เหล่านี้ก็จะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่แข็งแรง สามารถให้ความรู้และแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่ลูกหลานในรุ่นต่อไปได้ในอนาคต

สุดท้ายนี้ แม้เทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าไปมากมายเพียงใดก็ตาม กระทั่งสามารถตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตระดับต่างๆ ได้ แต่เทคโนโลยีก็ไม่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมให้เยาวชน “หายดื้อ” หรือเป็นไปอย่างที่สังคมต้องการ รวมทั้งไม่สามารถทำให้คนหายเครียดหรือพ้นทุกข์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นเราต้องกลับมาคิดและช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุอันแท้จริงของความเครียดในสังคม เพราะความรุนแรงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครชนะ แต่ทำร้ายจิตใจทุกคน ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องเอาใจใส่ หาหนทางป้องกัน ช่วยกันสร้างจิตของสังคมให้วิวัฒน์งอกงาม เป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง สามารถแผ่กิ่งใบปกคลุมให้ต้นไม้เล็กๆ เจริญเติบโตภายใต้ร่มเงาได้อย่างปลอดภัย ดังที่ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี พูดเสมอว่า “จงทำจิตให้ใหญ่” เพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อโรคร้าย ที่กำลังเรื้อรังในสังคมปัจจุบัน ไม่ให้คุกคามถึงเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นอนาคตของประเทศก็คงจะไม่สดใสอย่างที่คิดแน่นอน

เรียนรู้จากเซลล์มะเร็ง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ื 14 กันยายน 2547

ผมอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านมาท่องโลกของเซลล์กันเล็กน้อย สัญญาว่าจะพยายามเขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก และจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อแนวคิดการมองโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิตของเราได้

ถ้าเราเปรียบเทียบเซลล์เป็นไข่ดาว ส่วนของนิวเคลียสก็คือ “ไข่แดง” แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า “นิวเคลียส” เป็นเสมือน “สมอง” หรือหัวใจหลักของเซลล์ เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การทำงานของเซลล์นั้นมาจาก “โปรตีน” ชนิดต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนหรือเอ็นไซม์ที่ใช้ในปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่างๆ และโปรตีนก็สร้างมาจาก “ตัวต้นแบบ” ที่มีรหัสต่างๆ กัน จึงทำให้เกิดโปรตีนชนิดต่างๆ กัน ทั้งยังพบว่า “เจ้าตัวต้นแบบ (DNA)” เหล่านั้นถูกเก็บไว้ในนิวเคลียสของเซลล์นี่เอง

นั่นเป็นความเดิมที่เป็นมาตั้งแต่ ๕๐ ปีก่อน (ค.ศ. ๑๙๕๓) โดยเริ่มเมื่อวัตต์สันและคริกส์ค้นพบรูปจำลองของ DNA เป็นภาพสามมิติ ด้วยแนวคิดที่ว่า ยีนส์ หรือ DNA ในนิวเคลียสกำหนดการสร้างโปรตีน การทำงานของร่างกายที่ผิดปกติก็เป็นเพราะโปรตีน ดังนั้นถ้าเราสามารถสร้าง “ตัวต้นแบบ” ที่ดีๆ ได้ก็น่าจะทำให้เกิดโปรตีนดีๆ ได้ และโปรตีนดีๆ ก็จะนำไปสู่การทำงานของร่างกายที่ดีๆ ได้เป็นทอดๆ แบบนี้ ทำให้เกิดความคิดที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับยีนส์”

แนวคิดแบบนี้นำไปสู่ “โครงการเขียนรหัสพันธุกรรมของมนุษย์” หรือที่เรียกกันว่า Genome Project ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจค ใช้เงินทุนมหาศาล และใช้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากช่วยกันทำงาน เพราะคิดว่าถ้าสร้างแผนที่ทางพันธุกรรมสำเร็จ เราก็จะสามารถแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดจากธรรมชาติได้ทั้งหมด โครงการนี้สำเร็จออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๑ นี้เอง แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะค้นหาเท่าไรก็เขียนรหัสพันธุกรรมมนุษย์ออกมาได้เพียงไม่เกิน ๓๔,๐๐๐ ยีนส์ ทั้งๆ ที่จำนวนโปรตีนในร่างกายมนุษย์มีมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ชนิด

นักวิทยาศาสตร์ในอีกซีกหนึ่งของความคิดและเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้คือ บรู๊ซ ลิปตัน (Bruce Lipton) ได้ศึกษาการทำงานของเซลล์และเขียนบทความเป็นรายงานการวิจัยที่สำคัญหลายชิ้น หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “The Biology of Belief” เล่าถึง “ทฤษฎีใหม่” เกี่ยวกับการทำงานของเซลล์ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใน “วิธีคิด” ของนักวิทยาศาสตร์ได้เป็นจำนวนมาก

ลิปตันได้แนวคิดหนึ่งมาจากแบคทีเรียซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีนิวเคลียส ว่าทำไมเจ้าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียถึงมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องอาศัย “สมอง” อย่างนิวเคลียส แถมยังอยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ล้านปีก่อนและไม่มีทีท่าถ้าจะสูญพันธุ์ไปได้เลย

ศึกษาไปศึกษามาพบว่า ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรียนั้นมี “ความพิเศษ” คือในผนังสามชั้นของผนังเซลล์นั้น เปรียบเสมือนแซนวิชเนยที่มีลูกมะกอกสอดไส้อยู่ด้วย แบคทีเรียมีเจ้าลูกมะกอกสอดไส้อยู่ที่ผนังเซลล์ประมาณ ๖ เม็ด เป็นโปรตีนชนิดพิเศษที่เรียกว่า IMP (Integral Membrane Protein) เจ้า IMP นี้มีขั้วด้านนอกที่เรียกว่า “ตัวรับหรือเสาอากาศ” คอยรับข้อมูลจากภายนอกเซลล์ ลิปตันพบว่า ข้อมูลที่เซลล์รับไม่เพียงแต่เป็นเฉพาะปฏิกิริยาทางชีวเคมีเหมือนกับที่เคยเข้าใจกันมาเท่านั้น หากแต่สามารถรับข้อมูลในรูป “คลื่น” ได้ด้วย เหมือนกับเสาอากาศของโทรศัพท์มือถือนั่นเอง

การรับสัญญาณในรูปคลื่นของเสาอากาศของเซลล์นี้ไม่ธรรมดา มีนักวิทยาศาสตร์คำนวณออกมาแล้วว่า “การเลือกรับ” สัญญาณคลื่นที่มีข้อมูลอยู่มหาศาลของขั้วนอกของ IMP นี้ เป็นไปในรูปแบบของสมการฟูเรียร์ (Fourier’s Equation) ซึ่งเป็นสมการของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่นโปเลียนใช้ในการคำนวณเวลาที่เหมาะสมในการยิงปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยที่ปากกระบอกปืนไม่แตก ขั้วนอกของ IMP จึงสามารถเลือกรับข้อมูลที่เหมาะสมเข้ามาเพื่อประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อได้ข้อมูลเข้ามาแล้ว IMP จะส่งสัญญาณไปยังนิวเคลียสก่อนว่า พอจะมีซอฟแวร์หรือข้อมูลอะไรบ้างที่เซลล์จะสามารถตอบสนองด้วยการสร้างโปรตีนจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ หากข้อมูลเดิมที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียส (ยีนส์ที่คุณพ่อคุณแม่ให้มา) เหมาะสมที่จะตอบสนอง IMP ก็จะมอบหมายให้นิวเคลียสทำงานด้วยการสร้างโปรตีนส่งอออกมาในไซโตพลาสซึ่มซึ่งเปรียบเสมือนไข่ขาว เฉพาะการทำงานของนิวเคลียสตรงนี้ เป็นเรื่องเป็นราวที่เข้าใจกันดีในตำราวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้บอกว่า IMP ที่ผนังเซลล์เป็นผู้ส่งข้อมูลมาก่อนเท่านั้นเอง นักวิทยาศาสตร์ก็เลยเข้าใจว่าเป็นนิวเคลียสที่สั่งงานให้สร้างโปรตีน นี่เป็นตัวอย่างของความรู้ที่ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่รู้ไม่สุด เห็นไม่กว้าง เหมือนกับที่กลศาสตร์ของนิวตันก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่อธิบายไม่ได้หมด เช่น อธิบายวัตถุที่มีความเร็วเหนือแสงไม่ได้เป็นต้น แต่ควอนตัมฟิสิกส์สามารถอธิบายได้ ทั้งยังอธิบายกลศาสตร์แบบนิวตันได้อีกด้วย ความรู้ใหม่เรื่องเซลล์ตรงนี้จึงเหมือนกับการต่อยอดความรู้เดิมที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ทีนี้หากว่า “ซอฟแวร์” หรือ “ข้อมูล” ที่มีอยู่ในยีนส์หรือในนิวเคลียสไม่ดีพอไม่เหมาะสมพอที่จะตอบสนองต่อ “ข้อมูล” ที่ขั้วด้านนอกของ IMP ได้รับเข้ามา IMP ก็จะ “สร้างยีนส์” เอง แล้วส่งผ่านขั้วด้านในของเจ้าลูกมะกอกนี้เข้าไปในเซลล์ด้วยตัวเองเพื่อทำการสร้างโปรตีนที่เหมาะสม

นิวเคลียสของเซลล์จึงทำหน้าที่เป็นเพียงอวัยวะสืบพันธุ์มากกว่าเป็นสมองอย่างที่เคยเข้าใจ

นี่จึงเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมอภิมหาโปรเจคอย่างโครงการจีโนมจึงล้มเหลว เพราะไปเข้าใจว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับนิวเคลียสหรือไข่แดงนั่นเอง และเป็นคำอธิบายถึงโปรตีนที่เหลืออีกร่วมหกเจ็ดหมื่นชนิดที่คนเขียนจีโนมไม่สามารถเขียนออกมาจากนิวเคลียสของเซลล์ได้ เพราะไม่ได้สร้างที่นั่น ข้อมูลของยีนส์ในนิวเคลียสเป็นเพียง “ข้อมูลเก่า” ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษเท่านั้น การสร้างยีนส์ขึ้นใหม่โดยผนังเซลล์จึงมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบันและความเป็นไปในอนาคต ที่สำคัญก็คือจำนวนยีนส์ที่ผนังเซลล์สร้างออกมาใหม่นี้ยังเป็นพลวัตมากขึ้น คือมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลจน “อาจจะ” ไม่มีทางเขียนออกมาเป็นรหัสได้อย่างเด็ดขาด หรือเขียนได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเขียน

ยังไม่จบแค่นี้ครับ เราจะเห็นแล้วว่าขั้วนอกของ IMP นั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรับข้อมูลจากภายนอก ในแบคทีเรียที่มี IMP เพียง ๖ อัน ซึ่งหมายความว่ารับข้อมูลได้เพียง ๖ ข้อมูลนั้นกลับมีความมหัศจรรย์ในการ “ดื้อยา” ได้อย่างรวดเร็วมาก กล่าวคือน่าสนใจว่า ทำไมแบคทีเรียถึงได้สามารถผลิตยีนส์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อผลิตโปรตีนสำหรับการดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว บรู๊ซ ลิปตัน อธิบายว่า แบคทีเรียนั้นมีความเป็นชุมชน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเป็นเครือข่าย มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างมหัศจรรย์ เจ้าแบคทีเรียจะไม่อยู่กันเดี่ยวๆ แต่จะรวมกลุ่มกัน เช่น สมมติว่าเมื่ออยู่รวมกัน ๑๐๐,๐๐๐ ตัวก็จะสามารถมีข้อมูลถึง ๖๐๐,๐๐๐ ข้อมูลที่มาแลกเปลี่ยนกัน แบคทีเรียสื่อสารระหว่างกันได้ดีมากถึงขนาดว่าเป็นไปได้ที่แบคทีเรียสามารถแลกหรือส่งผ่านยีนส์ถึงกันและกันได้ เช่นถ้าหนึ่งในหกแสนข้อมูลนี้นำไปสู่การสร้างโปรตีนที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะได้ แบคทีเรียจะสามารถส่งยีนส์ดื้อยานี้ผ่านไปมาระหว่างกันได้แบบเป็น worldwideweb ของแบคทีเรีย (http://www.bacteria....) เลยทีเดียว

มีความเป็นไปได้ที่เซลล์ของร่างกายมนุษย์จะทำงานในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าจำนวน IMP ที่ผนังเซลล์ของมนุษย์มีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียมาก เซลล์ของมนุษย์สามารถทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านขั้วนอกของ IMP เช่นกัน และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เช่น มีการศึกษาพบว่า ในเซลล์สมองของมนุษย์ที่มีมากเกือบ ๑ ล้านล้านเซลล์ (เลขประมาณ ๑๓ หลัก หลายร้อยพันล้านเซลล์) ไม่มีสองเซลล์ไหนเลยในสมองมนุษย์ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และถ้าทฤษฎีผนังเซลล์นี้เป็นจริง ผมคิดว่าเซลล์ทั้งร่างกายทั้ง ๕๐-๗๕ ล้านล้านเซลล์ก็คงจะต้องมีการสื่อสารส่งข้อมูลระหว่างกันในรูปคลื่นพลังงานแบบควอนตัมตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ไม่ได้ติดต่อผ่านกันแต่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีแบบเดียวอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น

เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่แบ่งตัวผิดปกติ ดังนั้นเซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์อื่นๆ หรือไม่สามารถติดต่อได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การขาดการสื่อสารระหว่างเซลล์ก็คือการทำให้เกิดเซลล์มะเร็งนี่เอง

ถ้าเราย้อนไปดูกระบวนการรับข้อมูลของ IMP ของเซลล์ข้างต้น เราก็จะเห็นได้ว่าการขาดการสื่อสารระหว่างเซลล์อาจเกิดจากสาเหตุสองประการคือ

หนึ่ง การ “รับรู้ข้อมูล” ที่ผิดพลาด หมายความว่า IMP ทำงานผิดพลาดเอง

หรือสอง มีสิ่งหรือคลื่นรบกวนจากภายนอก ตัวอย่างเช่น คลื่นกัมมันตรังสีสามารถทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีนี้เช่นกัน เพราะคลื่นกัมมันตรังสีเหล่านั้นรบกวนการทำงานในรูปคลื่นของขั้วนอกของ IMP นั่นเอง ทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจึงแบ่งตัวและเติบโตผิดปกติ

นั่นเป็นทฤษฎีเซลล์แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “การสื่อสาร” ระหว่างกันแบบเป็นองค์รวม

ในอีกทฤษฎีหนึ่งซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์แบบใหม่ด้วย ก็คือทฤษฎีส่วนเสี้ยว (Fractal Theory) บอกว่า ความเป็นไปหรือรวมถึงการทำงานของส่วนย่อยนั้นเป็นภาพสะท้อนของส่วนใหญ่ด้วย เช่น กระหล่ำดอกหรือบร็อคคอรี่ที่เราหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก็จะยังคงมีรูปทรงของกระหล่ำดอกทั้งอัน ก้อนเมฆแต่ละก้อนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนมีรูปทรงที่มองทีเดียวก็รู้ว่าเป็นก้อนเมฆ รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ในเรื่องภาพสามมิติแบบโฮโลแกรมที่แสดงในภาพยนตร์เรื่อง สตาร์วอร์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าส่วนเสี้ยวของแผ่นโลหะที่บันทึกข้อมูลนั้นสามารถสะท้อนภาพทั้งภาพได้ แม้จะแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพียงใด

การทำงานของเซลล์จะสะท้อนการทำงานของมนุษย์ในสังคมด้วย ถ้าเซลล์ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์ มนุษย์ก็ก่อรวมกันเป็นสังคมในรูปแบบเดียวกัน ไม่ใช่แค่เป็นเพียงการเปรียบเทียบเปรียบเปรยเฉยๆ แต่มีความหมายแบบนั้นอย่างจริงจัง และถ้าเราย้อนมาดูการทำงานของเซลล์แบบใหม่ของ บรู๊ซ ลิปตัน เราก็จะสามารถมองเห็นและอธิบายภาพรวมของสังคมได้ว่า

สังคมปัจจุบันกำลังเป็นมะเร็ง

เพราะสังคมในปัจจุบันที่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ คนในสังคมขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน หนึ่งในสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นก็คือ การใช้อำนาจระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐกับประชาชน ครูกับนักเรียน พ่อแม่กับลูก แพทย์กับคนไข้ ผู้เชี่ยวชาญกับคนที่ถูกคาดว่าเป็นผู้ไม่รู้ ฯลฯ

เมื่อมีอำนาจเหนือกว่า ก็จะขาดมิติของการรับฟังกัน เมื่อขาดการรับฟังกันก็สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ เปรียบได้ชัดเจนกับการที่ขั้วด้านนอกของ IMP ไม่สามารถรับสัญญาณหรือข้อมูลจากภายนอกที่ถูกต้องเข้ามาเพื่อประมวลผลในเซลล์ได้ เมื่อข้อมูลมาผิด ก็ย่อมนำไปสู่การตอบรับที่ผิด จนเติบโตผิดปกติกลายเป็นมะเร็งไป เซลล์มะเร็งในที่นี้จึงอาจจะมีความหมายเป็นนัยๆ ถึงคนที่มีอำนาจเหนือกว่านั่นเอง เพราะจะเป็นเซลล์ที่ไม่รับฟังไม่รับรู้ข้อมูล

ความรู้ดังกล่าว นำเราไปสู่แนวคิดเพื่อการแก้ปัญหาว่า ควรจะต้องแก้ที่การสื่อสารระหว่างเซลล์ซึ่งเป็น “ต้นเหตุ” มากกว่าที่จะแก้ที่ปลายเหตุคือการทำลายเซลล์มะเร็ง

หรือถ้าในกรณีของแบคทีเรีย ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งบอกว่า “ฉันมีอำนาจ-ฉันเป็นใหญ่” แบคทีเรียตัวนั้นก็จะสามารถรับข้อมูลได้เพียง ๖ ข้อมูลจาก ๖ IMP เท่านั้นไม่สามารถได้รับ “ข้อมูลร่วมจำนวนมหาศาลของเว็บไซต์ของแบคทีเรียจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ ข้อมูลนั้นได้เลย

เมื่อดูด้วยทฤษฎีนี้ เราจะเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนได้ว่า การใช้ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจเพื่อการควบคุมมากขึ้นไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากแต่จะต้องพยายาม “สื่อสาร” ระหว่างกันให้มากที่สุด เชื่อมโยงระหว่างกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มนุษย์แต่ละคน (เซลล์แต่ละเซลล์) ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างเท่าเทียม

ในทางปฏิบัติ การสร้างการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น ก็คงจะต้องกลับมาที่เรื่อง “การหันหน้าเข้าหากัน” ด้วยการฝึก “การรับฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นมิติหลักเรื่องหนึ่งของ “สุนทรียสนทนา” นั่นเอง

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเพื่ออะไร? และเพื่อใคร?

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2547

ในระยะที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ในไร่นาในประเทศไทย ก่อให้เกิดการตื่นตัวและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยมากพอควร ทั้งในแง่วิชาการ เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งสองฝ่าย คือผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง และในขณะเดียวกันก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

บทความนี้ไม่ต้องการตัดสินหรือลงสรุปว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายฟังซึ่งกันและกันอย่างมีสติ ใช้ปัญญา โดยไม่โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างไปหาข้อมูลเพิ่ม พิจารณาให้รอบด้าน แล้วหันมาคุยกันใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย

ผู้เขียนเองได้ติดตามและรวบรวมข้อมูล ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์และส่วนที่เป็นโทษเป็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับ GMO มากพอควร แต่จะไม่นำมาสรุป ณ ที่นี้ แต่จะนำเสนอข้อมูลและประเด็นที่น่าสนใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นำไปคิด และอาจนำมาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่อง GMO แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า GMO คือ การแสวงหาและนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด จึงจะช่วยให้สังคมมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และโลกของเรามีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)

เราคงไม่ปฏิเสธว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันและในอนาคต เป็นความรู้แบบลดทอนแยกส่วนของตะวันตก (Reductionist Knowledge of the West) เป็นหลัก ซึ่งเป็นฐานคิดและทิศทางของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ลดทอนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความรู้ สถาบันการศึกษา ทรัพยากรทางธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และทุกสิ่งให้เป็นตัวเงิน ให้เป็นรายได้

ฐานคิดดังกล่าวนำไปสู่รูปแบบใหม่ของการร่วมมือระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา มีการให้ทุนทำวิจัย และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาพัฒนาเป็นธุรกิจการค้า เป็นการตัดแต่งต่อเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นการพาณิชย์ (Commercialization of Science) และความรู้ที่ค้นพบก็จะถูกจดลิขสิทธิ์เป็นของส่วนบุคคล (Privatization of Knowledge) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาค้าขายได้

ความก้าวหน้าเฉพาะทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปราศจากการยั้งคิดและพิจารณาผล กระทบอย่างรอบด้านและกว้างไกล ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบางด้านไปไกลถึงขั้นที่ยากจะควบคุมได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาอาวุธเพื่อการทำลายล้างแบบอภิมหาทำลาย (Weapons of Mass Destruction) ทั้งที่เป็นไปโดยเจตนา เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และที่อาจจะไม่เจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่น GMO, Human Cloning หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ก็อาจนำไปสู่การทำลายล้างระบบสังคมและสายใยทางศีลธรรมของมนุษย์ได้ในอนาคต

ลองทำใจให้เปิดกว้าง หันหน้ามาคุยกันอย่างกัลยาณมิตร แล้วพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ ที่กลุ่ม
นักวิทยาศาสตร์เพื่อความรับผิดชอบต่อโลก (Scientists for Global Responsibility: SGR) ร่างโดย Dr. Mae-Won Ho นำเสนอเพื่อการอภิปรายในที่ประชุม World Summit on Sustainable Development (WSSD)

ความรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมความยั่งยืนของโลก ควรหรือไม่ควรมีลักษณะใด
๑. ความรู้ควรเป็นของชุมชน และไม่สามารถนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้
๒. ความรู้ควรต้องช่วยให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ และมีความรับผิดชอบต่อสภาพนิเวศ ๓. ความรู้ควรตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นอิสระจากการพาณิชย์และการควบคุมของรัฐบาล
๔. ความรู้ต้องไม่นำไปใช้เพื่อการทำลายล้าง การกดขี่ และการก้าวร้าวทางการทหาร
๕. ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic) คำนึงถึงอารมณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้น
๖. ความรู้ไม่ควรทำร้ายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ควรเคารพในสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ฯลฯ

ความรู้ที่ควรสนับสนุน
๑. ความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรกรรม
๒. ตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมทางสังคมของความยั่งยืน
๓. ตัวบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และชีวภาพของสุขภาพ
๔. ท้องถิ่นและภูมิภาค vs. โลกาภิวัตน์ ฯลฯ

เทคโนโลยีที่ควรระงับ ได้แก่อะไรบ้างเช่น อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี

เทคโนโลยีที่ควรจะค่อยๆ ลดหายไป เช่น พลังงานและการผลิตพลังงานจากฟอสซิล แอนติไบโอติกในทางเกษตรกรรม เคมีการเกษตรทั้งหลายเช่น สารเคมีฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี

เทคโนโลยีที่ควรนำเข้าสู่การพิจารณากำกับดูแลอย่างสันติจากประชาคมโลก
๑. พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)
๒. นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

งานวิจัยที่ควรยุติ
๑. งานวิจัยที่เกี่ยวกับ WMD (Weapons of Mass destruction) และสงครามชีวเคมี
๒. การดัดแปลงพันธุกรรมในสัตว์เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๓. การดัดแปลงพันธุกรรมในพืชทุกชนิดที่จะนำไปแพร่ในสภาพแวดล้อม เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๔. การโคลนนิ่งมนุษย์ (Human Cloning)
๕. การบำบัดรักษาทางยีน (Gene Therapy)

ประเด็นทั้งหมดเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ควรนำมาพิจารณาให้ลึกซึ้ง รอบด้าน ไม่รีบด่วนสรุป ไม่เอาความรู้หนึ่งใดมาข่มหรืออยู่เหนือความรู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้แบบลดทอนของตะวันตก หรือความรู้แบบองค์รวมของตะวันออก หรือความรู้เฉพาะของกลุ่มชน (Indigenous Knowledge) ที่หลากหลายในโลก โดยมีเป้าหมายร่วมคือ การแสวงหาและพัฒนาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความรู้อื่นๆ เพื่อการพัฒนาโลกแบบยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง

วิกฤติน้ำมัน อนาคตอยู่ที่จิตของเรา

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กันยายน 2547

เร็วๆ นี้ได้หนังสือใหม่มาเล่มหนึ่งเรื่อง Out of Gas: The End of the Age of Oil, David Goodstein, ๒๐๐๔) ที่อ่านแล้วตกใจว่าน้ำมันกำลังจะหมด อย่างน้อยจากตลาดน้ำมันโลกในเร็วๆ นี้ อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า น้ำมันที่ผูกติดกับสังคมวัตถุ ระบบเศรษฐกิจเสรี และเทคโนโลยีดุจฝาแฝด กำลังจะหมดจากตลาด (ข้อมูลของบริษัทเชลล์ เรียกว่าฮับเบิร์ทพีค หรือจุดสูงสุดที่เราสามารถดูดน้ำมันสำรองใต้ดินสู่ตลาดได้ หลังจากนั้น แม้ว่าน้ำมันสำรองใต้ดินยังมีอยู่ แต่ตลาดจะไม่มี) อย่างเร็วอาจในอีก ๕ ปีเศษๆ (www.hubbertpeak.com) หรืออย่างช้า ๔๐ ปี (บริษัทบีพี, www.bp.com) ซึ่งไม่นานพอสำหรับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะปรับตัวได้ทัน นั่นเป็นเรื่องน่ากลัวและร้อนแรงสำหรับคนที่มองอะไรไม่เห็นนอกจากเงินกับเทคโนโลยี ที่เอามาบอกจนเราทุกคน (ยกเว้นส่วนน้อยนิดที่ปัดเศษทิ้งก็ได้) เชื่อว่านั่นคืออารยธรรม ความก้าวหน้า และเป็นวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ (ที่จะต้องอยู่เหนือธรรมชาติอันป่าเถื่อนและล้าหลัง) ดำรงอยู่แบบมีคุณภาพและศักดิ์ศรี เช่น ใส่สูท นั่งรถเบ็นซ์ เป็นต้น

เดวิด กู๊ดสไตน์ บอกว่าเวลาน้ำมันหมดนั้น มันหมดตลาด “ทันที” ซึ่งอาจจะขยายเพิ่มเติมว่า ก่อน“ทันที” คือวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะเลวร้ายต่อเนื่อง ช้าหรือเร็วขึ้นกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อันที่จริง วิกฤติดังกล่าว ได้เริ่มไปบ้างแล้วตั้งแต่หลายเดือนหรือหลายปีก่อน แต่ถูกบดบังและเร่งให้เลวร้ายยิ่งขึ้นโดยสงครามอัฟกันและอิรัก ทำให้คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่ไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่ก็ตาม น้ำมัน (ซากฟอสซิลคาร์บอน) ก็กำลังจะหมดลงจริงๆ และนั่นคือจุดสุดท้ายของอารยธรรมแบบที่เรารู้จัก (วัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ที่ขึ้นกับเงินและเทคโนโลยี) ชื่นชมและคิดว่าเป็นจริงได้มาถึงแล้ว ประเด็นคือ สิ่งที่จะตามมาใน ๕– ๒๐ ปีข้างหน้านี้ มนุษย์ชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร?

ที่มองเห็นเฉพาะหน้าสั้นๆ คือตั้งแต่หน้าหนาวปีนี้ น้ำมันอาจจะมีราคา ๖๐-๗๐ เหรียญต่อบาร์เรล และคงไม่มีทางลดลงมาอีก ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนก็ยังห่างไกลมากจนไม่ทันกับความวุ่นวายที่จะเกิดจากสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ และกระทบกับทุกๆ สังคมแทบจะทันทีทันใด ตามมาด้วยสภาวะอนารยธรรมในทุกๆ หนแห่ง มากหรือน้อยเร็วหรือช้าขึ้นกับสถานภาพทางวัฒนธรรมและการศึกษาของคนในประเทศนั้นๆ

สิ่งที่ตามมา หากสรุปจากผลงานวิจัยของ ซูซาน แคนนอน (Susan Cannon) แห่ง California Institute of Integral Studies (CIIS) ที่ตีพิมพ์ใน Yes! A Journal of Positive Futures, Spring 2000 Issue, “Whose Story, What Future” คาดการณ์อนาคตของสังคมโลกในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ (ซูซานเชื่อว่า จะมีภัยจากธรรมชาติที่ปรับตัวไม่ทันกับอารยธรรมวัตถุ เช่น น้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง พื้นที่ด้านในจะแห้งแล้ง มีโรคระบาดร้ายแรงใหม่ๆ มากมาย และสาธารณูปโภคขาดแคลนในทุกๆ ด้าน เรียกว่า “The Shock of 2012”) สังคมอนาคตจะมี ๔ รูปแบบขึ้นกับสภาพการณ์ในตอนนั้น ๒ ประการคือ หนึ่ง มนุษย์สามารถมีวิวัฒนาการของจิตสู่กระบวนทัศน์ใหม่หรือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Cultural Creatives)ได้ทันหรือไม่? หรือยังคงวัฒนธรรมเดิมคงวัตถุนิยมเดิมๆ ต่อไป สอง สังคมหรือรัฐบาลของประเทศใด มีความแข็งแกร่งมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และสามารถรักษาองค์กรการเมืองและสถาบันต่างๆไว้ได้เพียงใด ซูซานชี้ว่าสังคมหรือประเทศในโลกอนาคต (อาจเริ่มแต่ปี ๒๐๑๒) จะมีสภาพ ๑ ใน ๔ แบบ ๔ สมมติฐาน ต่อไปนี้

สมมติฐานที่หนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ จิตใหม่ และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ทัน แต่ระบบต่างๆ ของสังคมหรือประเทศล่มสลาย ผล เกิดสังคมแห่งความจำเป็นที่เรียบง่าย (Necessary Simplicity) ประชากรจะกระจายอยู่เป็นชุมชนธรรมชาติทั่วทุกหนแห่ง กินใช้เรียบง่ายและเท่าที่จำเป็น สร้างความสุขทางจิตใจร่วมกันทางอินเตอร์เน็ต รัฐบาลและระบบต่างๆ รวมทั้งสาธารณูปโภคแทบทั้งหมดล่มสลาย เพราะไม่มีงบประมาณหรือถูกใช้ในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เป็นผลสะท้อนกลับของอารยธรรมวัตถุแบบเก่า

สมมติฐานที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยน ยังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรมวัตถุ และสังคมอ่อนแอ ทั้งรัฐบาลก็ไร้สมรรถภาพ ผล เข่นฆ่าวุ่นวายทุกหย่อมหญ้า (War and Pieces) ชีวิตขึ้นกับการดูแลตัวเองและการเอาตัวรอด ไร้ความปลอดภัยแบบบ้านป่าเมืองเถื่อน มีแต่การปล้นจี้หรือข่มขืนกันทุกๆ ซอกตรอกถนนในทุกๆ ก้าวย่าง แม้คนของรัฐเองก็ไว้ใจไม่ได้

สมมติฐานที่สาม ประชาชนยังแสวงหาวัตถุที่มีอยู่น้อย แถมสิ่งแวดล้อมก็ล่มสลาย โดยไม่มีวิวัฒนาการทางจิตเหมือนในปัจจุบัน แต่รัฐบาลและระบบยังเข้มแข็งมั่นคง ผล เกิดการเดินขบวนประท้วงประจำวันแบบที่ต่างฝ่ายต่าง “ไร้จิตไร้วิญญาณ” โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายที่ “มี” กับ “ไม่มี” (Soul-less Confrontation) รัฐบาลจะปกป้องทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังผลให้มีการแบ่งแยกเขตแดน กั้นรั้วสร้างกำแพงระหว่างนายทุนกับคนจนเหมือนในภาพยนตร์ หรือ ยิวกับปาเลสไตน์ ที่ยูเอ็นมีมติออกไป แล้วทำอะไรไม่ได้ นอกจากหัวเราะแหะๆ ตีขาตัวเองแปะๆ แก้เขิน

สมมติฐานที่สี่ ประชาชนเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ร่วมกันสรรค์สร้างสังคม โดยรัฐบาลกับระบบมีความเข้มแข็งและเป็นธรรม ผล เกิดบุพนิมิตแห่งการร่วมใจกันและรวมกันเป็นหนึ่ง (Integral Dawn) เป็นสังคมใหม่แห่งกระบวนทัศน์ใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความพอเพียง พอดีและยั่งยืน เป็นสังคมใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ เน้นความเป็นชุมชน เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือเป็นสังคมแห่งจิตวิญญาณ

เชื่อว่าเราทุกคนต้องการเห็นสังคมในรูปแบบสมมติฐานที่สี่ แต่ความอยากเห็นกับการเปลี่ยนแปลงจริงเป็นคนละเรื่องกัน การเปลี่ยนแปลงในมิติทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องยากที่ท้าทาย เพราะเราเคยชินกับวัตถุนิยมและแยกส่วนมานาน ที่สำคัญกว่านั้นคือเรามีเวลาน้อยเหลือเกิน

แต่เราส่วนใหญ่ต้องพยายามและอดทน (วิริยะและขันติธรรม) อย่ากลับไปที่เดิมอีก เผ่าพันธุ์ของเราจึงอาจจะอยู่รอดต่อไปได้

อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส (Elisabet Sahtouris) นักชีววิทยากรีก เขียนในหนังสือ Earth Dance (๒๐๐๐) ว่า “วิกฤติคือคาตาลิสต์สู่การเปลี่ยนแปลง” หรือ “จี่เว่ย” วิกฤติคือโอกาสของเต๋านั้นเอง เธอบอกว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ต่างรู้ดีว่าวิถีอารยธรรมวัตถุนิยมคือวิถีแห่งความพินาศหายนะ ริชาร์ด ลีกตีย์ (Richard Leakey) นักดึกดำบรรพ์วิทยาศาสตร์ เขียนใน The Sixth Extinction (๑๙๙๖) ว่า โลกเราได้พบกับความพินาศอันยิ่งใหญ่มาแล้ว ๕ ครั้ง แต่ละครั้ง (ยกเว้นครั้งที่แล้ว ซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน) เราไม่รู้สาเหตุแท้จริงทั้งหมด แต่ความพินาศครั้งที่ ๖ นี้ เรารู้ว่าเป็นเราเอง!

นับแต่ปี ๑๙๙๒ การประชุมสุดยอดโลกครั้งแรกที่ ริโอ เดอจาเนโร รวมทั้งอีกสิบกว่าครั้งหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามชี้ประเด็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการยั่วยุให้คนคลั่งไคล้วัตถุอย่างไม่บันยะบันยังของบรรษัทข้ามโลกข้ามชาติ เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกระบวนการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านโดยไม่ยกเว้น แต่นักอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากปฏิเสธที่จะเชื่ออย่างเด็ดขาด เหมือนกับผู้โดยสารเรือ “ติตานิก” (Titanic) ที่ชื่นชมและภูมิใจในเทคโนโลยีของเรือยักษ์ ไม่เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่จะนำพาพวกเขาไปตายที่ก้นมหาสมุทร ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้โดยสารบนนาวาโลกที่สุดภูมิใจในเทคโนโลยี “ไฮ-เทค” ใหม่ๆ ที่นักประดิษฐ์ผู้รับใช้บรรษัทยักษ์ใหญ่ผลิตขึ้นมาล่อใจเป็นรายวัน และภูมิใจกับความเป็นอิสรชน “สิทธิของกู” ที่จะคลั่งไคล้อย่างไรก็ได้กับเทคโนโลยีนั้นๆ จึงยากที่คนรุ่นใหม่หัวเก่าจะยอมเชื่อว่าความอิสระและเทคโนโลยี คือสิ่งที่จะนำความฉิบหายและความตายมาให้ตนและชาวโลกอีกมาก เราประมาท อหังการ และโลภมากจนนำตัวเองสู่กับดักของตัวเอง

บางที น้ำมันที่จะขึ้นราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายจากตลาดไปอย่างรวดเร็วภายในทศวรรษนี้ (Hubbert’s Peak, Kenneth S. Deffeyes, ๒๐๐๑) หรือหมดเกลี้ยงใน ๔๐ ปีอย่างที่บริษัทบีพีคาดไว้ ผลที่จะตามมา คือความทุกข์ของเราแต่ละคนที่จะต้องอยู่กับความไม่เคยชิน จากความวุ่นวายของเราไปจนถึงสังคมประเทศชาติ แต่ความทุกข์ความวุ่นวายเหล่านั้นจะสะท้อนให้เราได้คิดมากขึ้นและล้ำลึกขึ้น ไม่ว่าในตอนนั้นเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม สมมติฐานทั้ง ๔ ที่ ซูซาน แคนนอน วิจัยมานั้น ทำให้เราได้คิดว่า มนุษยชาติคงกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเก่าเดิมคือ ยึดถือตัวตน คิดแยกส่วน วัตถุนิยม และฟุ่มเฟือยอย่างที่เคยเป็นเคยทำไม่ได้อีกแล้ว เราคงต้องเรียนรู้ใหม่มีวิธีคิดใหม่ว่า เราในฐานะเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ย่อมจะต้องมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกันหรือเป็นส่วนของกันและกันกับธรรมชาติทั้งหลายนั้นๆ น้ำมันที่หมดลงไปในด้านหนึ่ง คือตัวดึงดูด (attractor of the chaos system) หรือคาตาลิสต์ที่ อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส ว่า ทำให้เราเรียนรู้กับเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าทั้งหมดเป็นเราเองที่จงใจแยกตัวออกจากธรรมชาติและล้างผลาญธรรมชาติเพราะความไม่รู้ เรียนรู้ว่าเป็นเราเองที่อหังการ หยิ่งผยองในปัญญาด้านเทคโนโลยีที่แท้จริงแล้วเป็นอวิชชา ทำให้ธรรมชาติหวนกลับมาสนองตอบต่อเราทั้งเผ่าพันธุ์อย่างไร? การเรียนรู้ที่สุดเจ็บปวดนี้ สำหรับบางคนในเวลานี้และหลายคนในตอนนั้น อาจมีจิตวิวัฒน์ได้ ทำให้เราไม่กลับไปที่เดิมหรือใช้ชีวิตแบบเดิมๆอีกต่อไป

เห็นจะมีแต่การเรียนรู้ที่ว่านี้เท่านั้น ที่จะนำเราไปสู่สมมติฐานรูปแบบที่ ๔ คือบุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Integral Dawn)

Back to Top