มีนาคม 2014

สงครามจิตใต้สำนึก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มีนาคม 2557

ในพื้นที่สาธารณะทั้งหลายในเมืองไทยนั้น หากเงยหน้าขึ้นมองไปรอบตัว เราจะพบเห็นป้ายโฆษณาใหญ่น้อยเต็มไปหมด ป้ายเหล่านี้ล้วนตะโกนออกมาดัง-ดังว่า “จงซื้อ” และ “จงครอบครอง” และถ้าเป็นโฆษณาของโรงพยาบาล ข้อความที่แอบตะโกนแบบเรียบร้อยก็คือ “จงป่วย” และ “จงมาตรวจและพบโรค”


เช่นเดียวกับโฆษณาทางวิทยุในต่างจังหวัดและหรือขอบปริมณฑลของกรุงเทพฯ ที่ช่วงเช้าเต็มไปด้วยโฆษณาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ช่วงกลางวันก็เป็นโฆษณาอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่อ้างสรรพคุณเป็นยาและอ.ย.อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมสังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมแห่งการซื้อ อาหารที่บริโภคก็ปนเปื้อนสารเคมีจำนวนมาก และผู้คนก็วิ่งไปหาหมอเพียงแค่เป็นไข้หวัด

จิตใจของมนุษย์นั้นเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ดังที่ซิกมันด์ ฟรอยด์เคยเปรียบเทียบไว้ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นผ่านความคิด คำพูด และพฤติกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงของสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก

จิตใต้สำนึกนี้ไถ่ นัท ฮันห์ เคยอธิบายไว้ในเล่ม สู่ชีวิตอันอุดม ว่าเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ หรือเรียกว่าอาลัยวิญญาณ เมล็ดพันธุ์ของจิตใต้สำนึกเหล่านี้เป็นเครื่องกำหนดความคิด คำพูด และพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหมด การบ่มเพาะและดูแลจิตใต้สำนึกจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

เมล็ดพันธุ์ของความโกรธ/เกลียด/รัก/หลง ฯลฯ ล้วนดำรงอยู่ในพื้นที่จิตใต้สำนึกนี้ หากเรามองเห็นและตระหนักถึงเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ภายในตัวของเราได้ เราย่อมดูแลเมล็ดพันธุ์ทั้งดีและไม่ดีได้ นั่นคือ เมล็ดพันธุ์ของความไม่ดีก็ดูแลไม่ให้เติบโตงอกงามออกไปเป็นความคิด/คำพูด/พฤติกรรม ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะส่งเสริมให้เมล็ดพันธุ์ที่ดีเติบโตงอกงาม


การบ่มเพาะและดูแลจิตใต้สำนึกนี้เกิดขึ้นได้จากการจัดสภาวะแวดล้อมอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับกระบวนการตรวจติดตามสภาวะภายในของตนเองหรือที่เรียกว่าการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ/ภาวนา/เจริญสติ

ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนใส่ใจและหรือมีความรู้น้อยลงเกี่ยวกับการตรวจติดตามสภาวะภายในของตน การจัดสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เอื้อต่อการบ่มเพาะและดูแลจิตใต้สำนึกที่ดีจึงมีความสำคัญมาก


ในสมัยโบราณ บ้านของคนจีนจะแขวนตัวอักษรที่แสดงถึงคุณธรรมต่างๆ เป็นต้นว่า กตัญญู สัตย์ซื่อ กล้าหาญ ฯลฯ


ที่หมู่บ้านพลัมมีอักษรและคำขวัญที่เชิญชวนผู้คนกลับมาสู่ปัจจุบันขณะติดอยู่ในหลายที่ ทั้งในห้องน้ำ ห้องนอน ห้องภาวนา และในสวน – และเป็นเช่นเดียวกันกับสวนโมกข์ ไชยา และอีกหลายวัดในเมืองไทย

อย่างไรก็ดี สภาวะแวดล้อมปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เต็มไปด้วยข่าวสารจำนวนมาก และมีคุณภาพเชิงลบ หากเราไม่ระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการเสพข่าวโฆษณาจนกลายเป็นนักบริโภคนิยม หรือเสพข้อมูลข่าวสารความรุนแรง ไม่ว่าจะถ้อยคำ/ความประชดประเทียดเสียดสี กระแหนะกระแหนด่าทอ กระทั่งว่าตัวเราเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งแวดล้อมนั้นเอง เช่น เป็นต้นตอเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ พูดหรือเขียนประชดประชันแบบรายวัน กระแหนะกระแหนด่าทอรายชั่วโมง – เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์จิตใต้สำนึกที่ไม่ดีทั้งนั้น และไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมการประชดประชันกระแหนะกระแหนด่าทอต่อเนื่องรายวันนานหลายเดือน จึงกลายมาเป็นเฮทสปีช (Hate Speech) เป็นปฏิบัติการต่อยตีบนท้องถนน เป็นพฤติกรรมล่าแม่มดด้วยการเปิดเผยชื่อที่อยู่ของศัตรู/เหยื่อให้คนอื่นไปข่มขู่ทำร้ายร่างกายถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน


เมล็ดพันธุ์จิตใต้สำนึกของพวกเราแต่ละคนพอมารวมกันมากเข้าก็กลายเป็นจิตใต้สำนึกแบบรวมหมู่ของสังคม และนำมาสู่การกำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคม ดังนั้นเอง ถ้าคนหลายคนทำในหลายสิ่งเหมือนกันมากเข้าจนกลายเป็นคุณค่าร่วม เช่น การมองเห็นศัตรูเป็นมารร้ายไม่ใช่มนุษย์ การสะใจในความสูญเสียของเพื่อนมนุษย์อีกฝ่าย เห็นแต่คำตอบแบบขาว-ดำในความขัดแย้งเห็นต่าง เห็นว่าตนเองดีกว่าคนอื่น เห็นว่าคนอื่นทำดีไม่เหมือนตนเอง ฯลฯ เมล็ดพันธุ์จิตใต้สำนึกเหล่านี้ - ไม่ว่าจะอยู่ฟากฝ่ายของความคิดทางการเมืองแบบใด – ก็ล้วนนำพาสังคมไปสู่ทิศทางแห่งความล่มสลายไม่ต่างกัน

สงครามในมหาภารตยุทธนั้น เป็นสงครามทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่สงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง หากมนุษย์พ่ายแพ้ต่อจิตใจฝ่ายต่ำ ประกอบด้วยความโลภและความรุนแรง ดังที่พี่ฆ่าน้อง หลานฆ่าปู่ ศิษย์ฆ่าอาจารย์ นักรบมุ่งชัยชนะจนผิดกติกา ลอบทำร้ายกันยามค่ำคืน พราหมณ์ทำร้ายหญิงมีครรภ์ ธรรมบุตรกล่าวเท็จ เหล่านี้ย่อมนำไปสู่หายนะและความพินาศ พระกฤษณะ อวตารแห่งพระนารายณ์ แม้จะเป็นเพียงสารถีรถศึก ก็ยังถูกสาปให้ญาติพี่น้องตนเองเข่นฆ่ากันจนสิ้นวงศ์ ตัวเองก็เสียชีวิตในลักษณาการอันน่าอนาถ


สถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันมีผู้เปรียบว่าเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม เป็นสงครามทางความคิดและอุดมการณ์ และมีแนวโน้มที่จะเป็นสงครามกลางเมืองได้ อย่างไรก็ดี อนาคตของสงครามกลางเมืองก็ขึ้นอยู่กับสงครามทางจิตสำนึก/จิตวิญญาณในปัจจุบันด้วย

การดูแลจิตสำนึกของความรุนแรงไม่ให้เติบโต และบ่มเพาะจิตสำนึกของสันติวิธีให้งอกงาม ผ่านปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพและระดับปรากฏการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการระมัดระวังความคิด คำพูด การกระทำของเรา/สังคม จึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็น

ปลดปล่อยนักเรียน



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557

มีปรากฏในที่สาธารณะหลายครั้งว่า ต้นเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้เกิดจากระบบการศึกษาที่ผิดพลาดมาช้านาน หากจะป้องกันมิให้เกิดซ้ำ หรือหากจะแก้ปัญหาให้ถาวร จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาครั้งใหญ่

ปฏิรูปการศึกษาไม่พอ ให้ถอนรากถอนโคนแล้วเริ่มใหม่


ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้หลายข้อ จะยกตัวอย่างเพียง ๓ ข้อ

ข้อแรก การศึกษาของประเทศไทยไม่ทำให้นักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตรู้จักคิดและรู้วิธีอยู่ร่วมกับความคิดที่แตกต่าง อธิบายว่าในขณะที่เราเรียกร้องให้นักเรียนรู้จักคิด แต่การศึกษาเองที่ส่งสัญญาณห้ามเด็กคิดตลอดมา หนักกว่านี้คือนักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตไม่มีประสบการณ์อยู่ร่วมกับความเห็นที่แตกต่างมากพอ

ข้อสอง สืบเนื่องจากข้อแรกที่ว่านักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตไม่มีประสบการณ์อยู่ร่วมกับความเห็นต่างที่มากพอ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว หลักสูตรการสอนในประเทศไทยสอนให้รู้เรื่องเดียวและต้องเชื่อเสมอ เนื้อหาที่ปรากฏในหลักสูตรหรือที่ครูสอนเป็นความจริงที่ผู้เรียนไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อไปก่อนเพื่อสอบให้ได้ (หรือเป็นเด็กดีมีวินัย) เมื่อเด็กๆ ทำตัวว่านอนสอนง่ายเช่นนี้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปีและชั้นอุดมศึกษาอีก ๔-๖ ปี ไม่ว่าจะสาขาวิชาอะไรก็ตาม เราจึงได้บัณฑิตที่คิดต่างไม่ได้หรือถ้าคิดได้ก็ต้องหลบซ่อน (ยังดีที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คให้ซ่อนตัวอยู่บ้าง)

ข้อสาม สืบเนื่องจากข้อสอง เนื้อหาในหลักสูตรหรือที่ครูสอน คือความจริงที่ถูกสร้างและถูกสถาปนาให้เป็นความจริงหนึ่งเดียวไม่มีอื่น สามารถยกตัวอย่างเนื้อหาในหลักสูตรทุกวิชาของทุกชั้นปีตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีได้มากมายว่า เนื้อหาที่มีอยู่ล้าสมัยหรือมีผู้เห็นต่างอย่างไรบ้าง

หากจะยกตัวอย่างให้ทันเหตุการณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องความมีอยู่ของอาณาจักรล้านนาในบริเวณภาคเหนือตอนบนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีปฏิสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจที่สุโขทัย อยุธยา หรือกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาอย่างไร มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการศึกษาไทยมากเพียงใด เป็นต้น

ความผิดพลาดของระบบการศึกษาสามข้อข้างต้น มิใช่ข้อกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย มีหลักฐานสนับสนุนจำนวนมากแต่เราก็ไม่เคยได้อภิปรายถึงหลักฐานเหล่านี้อย่างผู้เจริญแล้วเสียที

ข้อหนึ่ง กฎ ระเบียบ และข้อห้ามเรื่องการแต่งกาย ทรงผม และเครื่องประดับของนักเรียนทุกระดับเป็นรูปธรรมของการใช้อำนาจมิให้เด็กไทยคิด การแต่งกาย ทรงผม และเครื่องประดับมีความสำคัญต่อพัฒนาการบุคลิกภาพส่วนที่ว่าด้วยตัวตนคือ self เด็กที่สามารถกำหนดหรือควบคุมตัวตนหรือ self ได้จึงจะมีความมั่นใจหรือความภูมิใจในตนเองคือมี self-esteem ที่ดี เด็กที่มี self-esteem ที่ดีจึงพัฒนาต่อได้และพัฒนาปัญญาไปได้ด้วย ในทางตรงข้ามเด็กที่ถูกทำลายตัวตนแต่แรกก็จะหยุดพัฒนาตนเองหรือพัฒนาไปในทิศทางที่อำนาจบังคับนั้นกำหนด

ข้อสอง ข้อสอบปรนัยของการศึกษาทุกระดับรวมทั้งข้อสอบระดับชาติของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นรูปธรรมของการสกัดกั้นความเห็นต่างทั้งมวลให้เหลือความจริงที่ถูกสถาปนาแล้วเพียงหนึ่งเดียว แม้จะมีผู้อ้างว่าเหล่านี้เป็นข้อสอบที่มีหลักคิดและคิดอย่างมีวิจารณญาณ แต่ก็ไม่พ้นว่าต้องมีวิจารณญาณตามที่ผู้ออกข้อสอบกำหนดให้


เป็นเรื่องน่ายินดีที่ข้อสอบปรนัยระดับชาติกลายเป็นเรื่องขำขันประจำปีที่คนจำนวนมากเฝ้าติดตามด้วยใจระทึก ว่าจะมีใครออกข้อสอบและคำเฉลยเด็ดๆ อะไรได้อีก แต่ถ้าคนจำนวนมากได้แต่ขำไปทีละปีโดยไม่ลงมือถอนรากถอนโคนระบบการศึกษาเหล่านี้ทิ้ง ข้อสอบเหล่านี้เองจะเป็นเครื่องฉุดรั้งสติปัญญาของเด็กไทยรุ่นต่อรุ่นอย่างน่าเสียใจ

ข้อสาม หลักสูตรประวัติศาสตร์ไทยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการสถาปนาความจริงโดยใช้ผู้เขียนหลักสูตรเป็นศูนย์กลาง และศูนย์กลางนั้นอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น การเขียนประวัติศาสตร์วิธีนี้สร้างความขัดแย้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน การเขียนประวัติศาสตร์วิธีนี้ทำให้คนไทยด้วยกันเองหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ไม่มีที่ยืนอย่างมีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นล้านนา ปัตตานี หรือบริเวณที่ราบสูงอีสาน ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุด การเขียนประวัติศาสตร์วิธีนี้กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองบุคคลที่นิยมการใช้อำนาจมาอยู่ด้วยกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่คอยกำจัดความคิดที่แตกต่างเสมอมา

อันที่จริง แทบทุกสาขาวิชาก็ใช้วิธีสถาปนาความรู้ให้กลายเป็นความจริงที่ตั้งข้อสงสัยมิได้ ไม่เว้นแม้แต่แพทยศาสตร์ ภายใต้การเรียนการสอนเชิงอำนาจเช่นนี้ ทำให้นักศึกษาสาขาวิชานั้นๆ มีทางเลือกเพียงสองทาง คือสยบต่ออำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและลูกหลานในภายหน้า หรือไม่ก็เป็นผู้มีความเห็นต่างที่เก็บตัวอยู่เงียบๆ (ยังดีที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คให้พื้นที่กลุ่มแพทย์ที่เห็นต่างได้มีที่ยืนและแสดงออกอยู่บ้าง)

เรื่องแย่ที่สุดของที่สุดเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ นักเรียนยากจนถูกคัดกรองออกจากถนนการศึกษาตลอดเวลา มีแต่นักเรียนที่พ่อแม่มีฐานะสู้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเรียนกวดวิชาไหวที่สามารถไปต่อได้เรื่อยๆ และท้ายที่สุดแล้วใครทุนหนากว่าเป็นผู้ชนะ


ควรมีการสำรวจว่านิสิตของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงสามลำดับแรกมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร นิสิตแพทย์ในปัจจุบันมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร แม้กระทั่งนักเรียนของโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดสามลำดับแรกมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร เราจะได้ภาพความเหลื่อมล้ำที่มีหลักฐานชัดเจน

อยากแก้ปัญหาปัจจุบัน เพื่อให้สังคมภายหน้าเราสามารถคิดต่างและอยู่ร่วมกันกับเพื่อนๆ ที่คิดต่างอย่างสันติ ควรลงมือถอนรากถอนโคนการศึกษาไทยวันนี้

มีวิธี ไม่ใช่ไม่มี ครูทุกคนเป็นคนสำคัญ ขอเพียงให้รู้วิธี

สร้างสันติท่ามกลางความขัดแย้ง : มุมมองแนวพุทธ



โดย ดร.จอห์น แมคคอแนล*
กลุ่มสันติทำ สัมภาษณ์และเรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มีนาคม 2557

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องภายในสังคมไทย และดำเนินไปสู่ความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อาสาสมัครสันติวิธีมีโอกาสได้รับฟังประสบการณ์จาก ดร.จอห์น แมคคอแนล ส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนี้สร้างความเข้าใจถึงการสร้างสันติท่ามกลางความขัดแย้ง จากมุมมองแนวพุทธว่าคืออะไร และทำงานอย่างไรในการสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อออกจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งเริ่มต้นได้จากตัวเราทุกคน และนี่คือบางส่วนของบทสนทนาในวันนั้น

“ในสถานการณ์ของประเทศศรีลังกาและประเทศไทย ผมไม่อยากแสร้งทำเป็นบอกว่าผมมีสูตรวิเศษ หรือมีคำตอบง่ายๆ อันดับแรก เราต้องคิดว่าในความขัดแย้งนี้ในแต่ละกลุ่มก็มีการพูดคุยกันและสร้างภาพต่างๆ ขึ้นมา ทุกสิ่งเกิดขึ้นในความคิดของพวกเขา (เกิดเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ในใจคนที่เกี่ยวข้อง) นั่นเป็นสิ่งที่ทั้งดีและไม่ดี ที่ไม่ดีเพราะถ้าคุณไม่พอใจหรือกังวลอะไรสักอย่าง จิตของคุณจะจ่อมจมอยู่แต่กับเรื่องนั้นและคาดการณ์ได้ว่าทุกอย่างจะแย่ลง แต่ในทางกลับกัน ในความเป็นจริง โลภะ โทสะ โมหะเป็นอนิจจังอย่างสิ้นเชิง ถ้าคุณรับมือกับมันโดยไม่มีสติ มันจะแย่ลง แต่ถ้าคุณรับมือกับมันด้วยสติ มันจะลดลงอย่างรวดเร็ว

“นั่นคือสิ่งที่การเป็นคนกลางในการเจรจาทำ คุณนำความเข้าใจผิดของแต่ละฝ่ายมา แล้วนำความจริงและความชัดเจนใส่เข้าไปแทน คุณนำความโกรธเคืองของแต่ละฝ่ายมา แล้วสร้างความปรารถนาดีต่อกัน คุณนำความโลภของแต่ละฝ่ายมา แล้วสร้างมุมมองที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและขันติ ใส่ใจต่อความต้องการของแต่ละฝ่าย และจากความต้องการของแต่ละฝ่าย เราสามารถหาข้อตกลงร่วมได้

“พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ใส่ใจต่อการสร้างสันติ บางครั้งพระองค์ทำหน้าที่คนกลาง ครั้งหนึ่งมีปัญหาที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่สงฆ์จนกลายเป็นความขัดแย้ง พระแต่ละรูปต่างเต็มไปด้วยความไม่พอใจและเกลียดชังกัน

“พระพุทธองค์พยายามอย่างไม่ลดละที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขด้วยกัน ข้อแนะนำอย่างหนึ่งของพระองค์ในระหว่างที่ความขัดแย้งกำลังลุกลามคือ ขอให้แต่ละคนชื่นชมความดีของผู้อื่น อย่าลืมความดีของพระรูปนั้น อย่าลืมว่านี่เป็นพระอาจารย์สอนธรรมะให้กับท่าน เขาเป็นคนดีมาก เขาสอนธรรมะดีมาก นี่คือพระอาจารย์สอนพระวินัยให้กับท่าน อย่าลืมเสีย ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราลืมไปได้ง่ายมากในความขัดแย้ง เมื่อไปถึงจุดที่คนทำร้ายคนอีกฝ่ายโดยไม่เลือกหน้า คนมักไม่เห็นคุณค่าว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

“พระพุทธองค์ยังตรัสอีกว่า เมื่อความขัดแย้งรุนแรงขึ้น พวกเธอควรนั่งลงข้างๆ กัน (ลองคิดภาพดูนะครับ นั่งเคียงข้างกัน ไม่ใช่นั่งหันหน้าเข้าหากัน) และคุยกันให้รู้เรื่อง หาทางออกร่วมกัน หาข้อตกลงร่วม และเราจะไม่เดินหน้าต่อไปสู่ความรุนแรง เราจะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยกัน พระองค์ท่านยังบอกว่า ให้พิจารณาถึงผลของความขัดแย้งด้วย ถ้าเรายังเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ สังฆะจะแตกแยกกัน

“แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย บรรดาสงฆ์ทั้งหลายไม่เห็นด้วยและบอกกับพระพุทธเจ้าว่าขอให้พระองค์ไปนั่งสงบๆ แล้วเราจะรับผิดชอบเรื่องนี้เอง พวกเขาปฏิเสธคำแนะนำของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็จากพวกเขาไปจริงๆ ชาวบ้านรอบๆ ก็ไม่ใส่บาตรให้พระ เพราะพวกพระทำตัวไร้ปัญญามาก พระเลยหิวมาก ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พวกเขาก็ออกเริ่มค้นหาพระพุทธเจ้า เพื่อกราบขอโทษ

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง ความขัดแย้งจริงๆ แล้วคือ โลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นในจิตใจคน จุดเดียวที่มันเริ่มก่อตัวขึ้นคือภายในตัวเรา และในความเป็นจริงเราทุกคนต่างล้วนแต่สัมพันธ์กันหมด ทันทีที่คุณเริ่มรู้สึกเป็นศัตรู ผมจะรับรู้ได้ ถึงผมไม่เห็นชัดๆ ผมก็ยังรับรู้ได้ ในทำนองเดียวกัน ทันทีที่คุณเริ่มมีความเมตตา ผมก็จะรับรู้ได้เช่นกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกเจ็บปวด เวลาที่อยู่ในสถานการณ์ความตึงเครียดและความขัดแย้ง และด้วยเหตุผลที่เรามีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่นนี้เอง เราจึงสามารถใช้มันในทางกลับกันได้ โดยพยายามเอาชนะความหลงที่มาจากความยึดมั่นถือมั่นในตนเอง ด้วยการมีความเข้าใจที่ชัดแจ้ง เอาชนะความโกรธเคือง ด้วยความปรารถนาดี เอาชนะความโลภ ด้วยการใส่ใจต่อความต้องการของทุกๆ ฝ่าย เราทำเช่นนี้ได้ในหลายๆ ระดับ แต่เราจะทำในระดับที่สูงขึ้นไม่ได้ หากเราไม่สามารถทำได้ในตัวเราเอง

“พระพุทธเจ้ายังมีคำแนะนำอื่นๆ เช่น หากคุณต้องการพูดอะไรบางอย่างที่อีกฝ่ายไม่อยากรับฟัง มี ๕ ขั้นตอนที่เราควรทำ

“ขั้นแรกคือ เลือกเวลาพูดให้เหมาะสม ขั้นที่สอง พูดแต่ความจริง โดยไม่มีความเท็จ ไม่ขยายความ ไม่สร้างเรื่อง ขั้นที่สาม พูดอย่างอ่อนโยน ไม่รุนแรง นั่นแปลว่าเราพูดอย่างชัดเจน มั่นคง แต่น้ำเสียงเป็นไปด้วยความเคารพ ขั้นที่สี่ พูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออีกฝ่าย ให้คำแนะนำในด้านบวก แทนที่จะกล่าวโทษอีกฝ่าย และขั้นสุดท้าย พูดด้วยความเมตตาในใจ

“และผมคิดว่าการบ่มเพาะความเมตตาในใจ เป็นหัวใจของการสร้างสันติ ตอนที่ผมทำงานในศรีลังกา ผมมักจะต้องไปเจอคนที่ทำในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเสมอ ในทุกการประชุม ผมจะตั้งสติตอนเดินเข้าประตู ผมจะแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ให้กับพวกเขา และให้กับทุกคนที่จะได้รับผลกระทบ

“วัฒนธรรมความขัดแย้งนั้นเต็มไปด้วยพลังทางลบ และมีความบิดเบือนมาก เราจะดีใจมาก ที่เห็นฝ่ายตรงข้ามได้รับบาดเจ็บ เราจะคิดว่าพวกเขาสมควรโดนแล้ว แต่พอฝ่ายเราได้รับบาดเจ็บ เราจะไม่พอใจมาก ดังนั้น สำคัญมากที่ฝ่ายผู้สร้างสันติจะต้องมีสติ มีความเมตตา และบ่มเพาะมันขึ้นมาใหม่เสมอๆ เราไม่สามารถไว้ใจได้ว่าความเมตตาของเราจะคงอยู่ไปตลอด เพราะเราได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ดังนั้น เราจึงต้องบ่มเพาะเมตตาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

“เมื่อดูสถานการณ์ในภาพใหญ่ มันอาจดูเหมือนว่าคุณทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วแต่ละคนสามารถทำในระดับเล็กๆ ได้ เราสามารถทำความเข้าใจความขัดแย้งและทำให้สิ่งที่ไม่เป็นจริงลดลง เราสามารถลดความโกรธเคืองที่ก่อตัวขึ้นได้ เราสามารถทำให้คนสนใจไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้นำของอีกฝั่งที่พวกเขาเกลียด แต่เข้าไปสัมผัสกับคนธรรมดาในอีกฝั่งที่ไม่ได้ต่างอะไรไปจากพวกเขาเลย คนที่มีความใส่ใจเหมือนๆ กัน มีคุณค่าเหมือนๆ กัน มีศาสนาเดียวกัน มีความกลัวเหมือนๆ กัน และต่างก็มีความเหมือนกันอยู่ แต่ถูกบิดเบือนไปด้วยความขัดแย้ง ด้วยการให้ข้อมูลผิดๆ หรือให้ข้อมูลที่ขยายความ”



*ดร.จอห์น แมคคอแนล เคยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพในประเทศศรีลังกา เป็นผู้ศึกษาคำสอนทางพุทธที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายความขัดแย้งและการเยียวยา บทความนี้เรียบเรียงขึ้นจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกับอาสาสมัครสันติวิธีในเมืองไทย

ทำไมต้องเจรจากับโจร



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มีนาคม 2557

ย้อนหลังไปเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว ประเทศแอฟริกาใต้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต บ้านเมืองแตกแยกอย่างหนัก มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธปีละหลายร้อยครั้ง เป็นผลจากนโยบายเหยียดผิวของรัฐบาลที่สืบเนื่องมาหลายสิบปี คนดำและคนเอเชียถูกลิดรอนสิทธิเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง ไม่สามารถใช้สถานที่สาธารณะร่วมกับคนขาวได้ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และชายหาด อีกทั้งยังถูกกีดกันไม่ให้พักอาศัยในเมืองเดียวกับคนขาว คนขาวซึ่งมีไม่ถึง ๑ ใน ๕ ของประชากรกลายเป็นเจ้าของประเทศทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย เนื่องจากคนผิวสีทั้งหลายไม่มีสิทธิเลือกตั้ง การเหยียดผิวอย่างเป็นระบบดังกล่าวปลุกเร้าให้คนผิวดำลุกขึ้นประท้วง และเมื่อถูกปราบปรามอย่างหนัก จึงหลบใต้ดินและจับอาวุธขึ้นสู้อย่างไม่ยอมลดราวาศอกส่วนรัฐบาลคนขาวก็ยิ่งใช้ความรุนแรงหนักขึ้น กดขี่ปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ซ้ำยังสนับสนุนชนเผ่าซูลูให้บดขยี้กองกำลังของคนดำอีกทางหนึ่งด้วย การปะทะกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าส่งผลให้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นอันมาก

ปี ๒๕๓๑ แอฟริกาใต้ใกล้เกิดสงครามกลางเมือง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ เนื่องจากถูกประชาคมโลกคว่ำบาตร แทบไม่มีประเทศใดคบค้าสมาคมด้วย แม้กระทั่งในด้านกีฬาและวัฒนธรรมตอนนั้นเนลสัน แมนเดลา ผู้นำคนดำ ถูกจำคุกมาแล้ว ๒๕ ปี เขาเห็นว่าการเจรจาเท่านั้นที่สามารถพาแอฟริกาใต้หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองได้ จึงพยายามหาช่องทางเจรจากับรัฐบาล หลังจากใช้เวลา ๒ ปี เจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงถึง ๑๒ ครั้ง ก็สามารถเข้าไปสนทนาตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีโบทาและเดอเคลิร์กได้ทั้งๆ ที่ยังเป็นนักโทษอยู่

ผู้นำหลายคนในพรรค ANC (African National Congress)ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของแมนเดลา เพราะเขาเจรจากับฝ่ายรัฐโดยลำพัง ไม่สามารถปรึกษาพูดคุยกับผู้นำคนอื่นๆ ได้เลย (เนื่องจากเป็นนักโทษอุกฤษฏ์ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเกือบสิ้นเชิง) จึงย่อมอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ หลายคนกลัวว่านี้เป็นแผนของรัฐบาลที่ต้องการตอกลิ่มระหว่างแมนเดลากับ ANC บางคนถึงกับระแวงว่าแมนเดลากำลังขายตัว ใช่แต่เท่านั้นเสียงค้านยังมาจากฝ่ายหัวรุนแรงในพรรคที่เห็นว่า มีแต่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้นที่จะนำชัยชนะมาสู่คนดำอย่างแท้จริง คนเหล่านี้มองว่าความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ควรหวั่นวิตก เพราะมันคือการปฏิวัติที่กำลังเคลื่อนตัว

อย่างไรก็ตาม แมนเดลากลับมองว่า “ประเทศใดก็ตาม แม้ในยามสงคราม ก็ยังมีเวลาสำหรับการเจรจา” แมนเดลาจึงเดินหน้าต่อไปและสามารถเปลี่ยนความคิดของผู้นำส่วนใหญ่ของ ANC ได้ การริเริ่มของแมนเดลานอกจากจะเปิดลู่ทางให้มีการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับผู้นำANC คนอื่นๆ (ที่อยู่นอกคุก) แล้ว ยังนำไปสู่ข้อตกลงหลายประการที่ผ่อนคลายความรุนแรง อาทิ การปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้งการคืนอิสรภาพให้แก่เมนเดลา ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญคนสุดท้ายที่ได้ออกจากคุก การเลือกตั้งทั่วประเทศในปี ๒๕๓๗ ได้ทำให้อำนาจจากคนขาวถูกส่งผ่านมายังคนดำได้อย่างสันติ โดยปราศจากการนองเลือด นับแต่นั้นแอฟริกาใต้ก็เริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว

ทั้งๆ ที่ต้องเจรจาแต่ลำพังในคุกท่ามกลางเสียงคัดค้านของมิตรสหายและพลพรรค แต่การที่แมนเดลาสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในแอฟริกาใต้ได้โดยสันติวิธี แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของเขา รวมทั้งความมั่นคงในหลักการ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะตน และความกล้าที่จะทำตามความเชื่อของตนแม้คนอื่นจะเห็นต่าง

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นรัฐบุรุษของแมนเดลา หากยังบ่งชี้ถึงความความหนักแน่นและถี่ถ้วนรอบคอบในทางจริยธรรมของเขา แม้จะไม่สยบยอมต่อรัฐบาลที่ชั่วร้ายโหดเหี้ยม แต่เขาพร้อมจะเจรจาด้วยหากสามารถป้องกันสงครามกลางเมืองหรือหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ น่าคิดว่า หากเขายึดติดกับความถูกต้องอย่างหัวชนฝาถึงขั้นชูธงว่า “ไม่เจรจากับโจร” หรือ “ต้องแตกหักกับคนชั่ว” ผู้คนจะต้องล้มตายกันอีกมากมาย และแอฟริกาใต้คงลุกเป็นไฟอย่างที่นักสังเกตการณ์ทั่วโลกเคยคาดการณ์เอาไว้

การประกาศว่า “ไม่เจรจากับโจร” “ต้องแตกหักกับคนชั่ว” แม้เป็นหลักการที่ดูดี บ่งชี้ถึงความยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่ปรารถนาข้องแวะกับคนชั่วร้าย แต่หากยึดมั่นมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียได้ ลองนึกถึงเหตุการณ์โจรจับผู้บริสุทธิ์เป็นตัวประกัน ขณะที่ถูกล้อมด้วยตำรวจซึ่งมีอาวุธครบมือ โจรต้องการเจรจากับตำรวจ แต่หากตำรวจประกาศว่าไม่เจรจากับโจร ต้องแตกหักกับคนชั่ว อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวประกัน แม้ตัวประกันจะตายด้วยน้ำมือของโจร ตำรวจก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย

การยึดมั่นในความถูกต้องนั้นจะมีประโยชน์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะถึงขั้นสูญเสียชีวิตและอวัยวะ หากยึดมั่นในความถูกต้องแล้ว คนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องมีอันเป็นไป มันจะเป็นความถูกต้องได้อย่างไร

จะว่าไปแล้วการยึดมั่นในความถูกต้องดังกล่าว แม้ไม่มีใครเดือดร้อนเลย มีแต่ตนเองเท่านั้นที่เดือดร้อน ในบางกรณีก็ใช่ว่าจะสมควรทำ เช่น ถูกโจรเอาปืนจ่อหัวในซอยเปลี่ยวเพื่อปล้นทรัพย์ ควรหรือที่จะ “แตกหักกับคนชั่ว” ถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องไม่ยอมยื่นเงินให้เขาตามคำขู่ แต่ต้องขัดขืนต่อสู้ ผลที่เกิดขึ้นคืออะไรก็คงเดาได้ไม่ยาก ผู้มีสติปัญญาย่อมไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน ถ้าไม่ยอมทำตามคำขู่ของโจร สิ่งที่ควรทำก็คือพยายามเจรจากับโจรเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา หรืออาจเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้

คนที่กล้าประกาศอย่างหนักแน่นว่า ไม่เจรจากับโจร ต้องแตกหักกับคนชั่วนั้น มักเป็นเพราะคิดว่าตนอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ และสามารถมีชัยเหนือโจรและคนชั่วได้โดยไม่ต้องเจรจา ในทัศนะของเขา การเจรจาจะทำให้เขาได้รับชัยชนะไม่เด็ดขาด บรรลุเป้าหมายไม่เต็มร้อย หรือทำให้ชัยชนะที่สมบูรณ์ถูกชะลอออกไป อย่างไรก็ตามน่าคิดต่อไปว่า หากยืนกรานต่อสู้ต่อไป โดยไม่ยอมเจรจา แต่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้น (จะเป็นฝ่ายไหนก็ไม่สำคัญ เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าทั้งสิ้น ยิ่งเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่สมควรตาย) การกระทำเช่นนั้นจะเรียกว่าเป็นความถูกต้องได้หรือไม่ ถ้ายึดมั่นในความถูกต้องอย่างแท้จริง ก็ควรคิดถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นจากการกระทำของตนด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ควรคิดถึงแต่ชัยชนะของตนเท่านั้น

ถ้าคิดถึงแต่ชัยชนะของตนหรือผลได้ที่จะเกิดขึ้นกับตน ก็ชวนให้คิดต่อไปว่า แท้จริงแล้ว ที่ทำไปทั้งหมดนั้นเป็นเพราะยึดมั่นในความถูกต้องหรือยึดมั่นในชัยชนะของตนกันแน่ พูดอีกอย่าง เขาทำเพื่อธรรมหรือเพื่ออัตตาตัวตนกันแน่ นี้เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายในความขัดแย้งควรไตร่ตรองมองให้ลึกหากมีจิตใจใฝ่ความถูกต้องอย่างแท้จริง

Back to Top