กุมภาพันธ์ 2014

สามอำมหิต ผู้ขับเคลื่อนวงจรแห่งความชั่วร้ายของการเมืองไทย



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มีนาคม 2557

อสูรกายสามตัวที่เป็นพลังมืดขับเคลื่อนวงจรแห่งความชั่วร้ายในวงการการเมืองไทยคือ ทุนนิยมสามานย์ อำนาจ และการทุจริตคอรัปชั่น

แนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยม ที่มุ่งเน้นการแข่งขัน การเอาแพ้เอาชนะ เพื่อสร้างความได้เปรียบ ความใหญ่ ความสุดโต่ง ความเป็นหนึ่ง ความเป็นผู้ชนะ...ได้ล้างสมอง และครอบงำคนส่วนใหญ่ของโลกผ่านระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี (ฟรีแต่ไม่แฟร์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก) ระบบการค้า การลงทุน...มีการปลูกฝังอย่างเป็นระบบ เป็นทางการ ผ่านระบบการศึกษา (ทฤษฎีการบริหารจัดการ การตลาด การโฆษณา...) แล้วก็ซึมลึกเข้าไปในระบบการเมือง กลายเป็นธุรกิจการเมือง ที่ไปกันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับระบอบประชาธิปไตยเชิงปริมาณ (เสียงข้างมาก) ที่ไร้จิตสำนึกประชาธิปไตย (การซื้อสิทธิ์-ขายเสียง การโกงการเลือกตั้งทุกรูปแบบเพียงเพื่อให้ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง...) เราจึงมีนักการเมืองที่ลงทุน และเล่นการเมืองเป็นอาชีพจำนวนมาก เป็นอาชีพที่ถ่ายทอด มอบให้เป็นมรดกให้กับคนในวงศ์ตระกูล และพรรคพวกได้ เมื่อเข้าสู่วงการเมืองได้สำเร็จ ก็มีตำแหน่ง มีอำนาจ เมื่อมีตำแหน่งมีอำนาจ ก็มีช่องทางทุจริตคอรัปชั่นในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ไม่ใช่แค่ถอนทุนจากการเข้าสู่ระบบการเมือง แต่เพื่อทำกำไรที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่รวมถึงคนและเครือข่าย เพื่อจะได้เป็นทุนที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นในการต่อสู้ครั้งต่อๆ ไป

นักการเมืองที่เลวเข้าสู่การเมืองเพราะอยากมีอยากได้อำนาจเพื่อที่จะได้เข้ามาทุจริตคอรัปชั่น แล้วเอาเงินที่ได้มาโดยมิชอบเหล่านั้นไปดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อรักษาอำนาจ เพิ่มและสั่งสมอำนาจ เพื่อจะได้ทุจริตคอรัปชั่นแบบครบวงจรได้มากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างบริบท และเครือข่ายภายใต้การสมรู้ร่วมคิดและร่วมทำกับข้าราชการ และนักธุรกิจที่ขาดคุณธรรมจริยธรรมบางคนบางกลุ่ม กลายเป็นวงจรแห่งความชั่วร้ายของการเมืองไทย ที่ยิ่งหมุนยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งมีพลังดึงดูดเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นหลุมดำทางการเมืองที่เลวร้าย เพราะขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความชั่วร้าย สามพลังรวมเป็นหนึ่งเดียว... หลุมดำสุดอำมหิต

การคิดและการกระทำภายใต้วงจรแห่งความชั่วร้ายดังกล่าว เป็นการคิดและการกระทำแบบเห็นแก่ตัวและพวกพ้อง เป็นแบบแยกส่วน แบ่งพรรคแบ่งพวก จึงนำไปสู่การแตกแยก แตกหักดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ตลอดมาตั้งแต่เมื่อมีระบบการเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบที่เรียกกันว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ (พวกมากลากไป พวกใครพวกมัน ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย...)

การจะหลุดพ้นจากวงจรแห่งความชั่วร้ายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องทำให้คนในสังคมมองเห็น และรู้เท่าทันมหาภัยของพลังดำทั้งสามนั้น แล้วใช้สติและปัญญาในการสร้างสรรค์ระบบการเมืองใหม่ที่อ่อนตัว ยืดหยุ่น เอื้อต่อการพัฒนาแบบยั่งยืน บนฐานของสังคมและวัฒนธรรมไทย

ไม่ต้องรีบร้อน และคาดหวังผลอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การแก้ไขกฎหมาย ทำได้รวดเร็ว แต่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาคน ต้องใช้เวลามากกว่ามาก ปัญหาโครงสร้าง ปัญหากฎหมายคิดแบบแก้ไขได้ แต่ปัญหาคน ไม่ควรคิดแบบแก้ไข แต่ควรคิดแบบสร้างและพัฒนา ซึ่งใช้เวลามากกว่า แต่มีโอกาสให้ผลที่ยั่งยืนกว่า

ตัวอย่างเช่น ถ้าคิดแก้ปัญหาในเชิงเหตุและผล หากเห็นว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยมอย่างที่เป็นอยู่เป็นตัวการสำคัญของปัญหา ก็ต้องแก้หรือปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติ หรือนำแนวคิดใหม่ แนวปฏิบัติใหม่มาแทนเช่น เศรษฐกิจพอเพียง บุญนิยม เอื้ออาทรนิยม

การปฏิรูปการเมืองไทย ถ้าคิดว่าการเข้ามาเล่นการเมืองของนักการเมือง เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจตามที่กล่าวไว้ในตอนต้น เราก็ต้องปฏิรูประบบอำนาจ ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการรับผิดชอบต่อผลและผลกระทบของการใช้อำนาจ

และถ้าเชื่อว่าอำนาจเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอรัปชั่น ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งมีโอกาสมาก ก็ควรหาวิธีลดอำนาจเฉพาะตำแหน่งลง หรืองดอำนาจการตัดสินใจเพียงคนเดียวไปเลย แล้วใช้การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมแทน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังมีวิธีคิดแบบแก้ไขปัญหาอยู่ส่วนหนึ่ง โดยการกำหนดกรอบ กติกาใหม่ๆ หลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ก็ยังมีปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมเพราะเป็นปัญหาที่มาจากตัวนักการเมือง ที่ยังคงมีระบบคิดและการปฏิบัติในวงจรแห่งความชั่วร้ายอยู่ การวิพากษ์วิจารณ์โจมตีเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญในบางจุด บางมาตรา หรือทั้งฉบับของนักการเมืองบางคน สะท้อนความคิดของเขาเหล่านั้นว่าคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวส่วนพรรค หรือประโยชน์สุขส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก

คุณหมอประเวศ วะสี ได้เคยเสนอการจัดการปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อน หนักอึ้งเหมือนภูเขาด้วยทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือการสร้างและใช้ความรู้ (Knowledge) ไปร่วมและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) และนำไปเชื่อมและขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายหรือกฎหมาย (Political/Legal Power) มีหลายหน่วยงานนำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วได้รับความสำเร็จ เราอาจนำแนวคิดนี้มาจัดการหรือปฏิรูประบบการเมืองของไทยได้

เมื่อการเมืองปัจจุบัน ติดกับอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้าย เพราะขับเคลื่อนด้วยสามพลังอำมหิต การนำสามพลังสร้างสรรค์ (พลังความรู้/ปัญญา พลังเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และพลังทางกฎหมาย/นโยบาย) มาต่อสู้อย่างมีสติและอย่างรู้เท่าทัน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมอีกแนวทางหนึ่ง ลองช่วยกันพิจารณาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

เส้นทางสู่อนัตตา วิถีครู หรือ เส้นทางสู่สัตบุรุษ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557

เส้นทางเดินไปสู่อนัตตสภาวะอันหลากหลายที่เชื่อมเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียว หนทางแรกคือการออกจากความคุ้นชินเดิมๆ


ออกจากความคุ้นชินเดิมๆ

เพียงเริ่มง่ายๆ กับการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายตัวตนได้ คือเคลื่อนออกจากแบบแผนการใช้ชีวิตเดิมๆ ก่อน ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึกและความคิด เคลื่อนย้ายออกจากไข่แดง คือพื้นที่ที่เราคุ้นชินไปสู่ไข่ขาวหรือดินแดนแห่งความไม่รู้ ไม่คุ้นชิน

ใน Shaman's Body หนังสือที่อาร์โนลด์ มินเดล เขียน เล่าเรื่องพ่อมดชาวเม็กซิกันในสไตล์ของเขาว่า สำหรับดอนฮวนแล้ว สิ่งที่นายพรานต่างจากเหยื่อที่ถูกล่าคือ เหยื่อจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ เดิมๆ ทำให้นายพรานสามารถคาดการณ์และจัดการเหยื่อได้โดยง่าย


ความจริงพื้นฐานของมนุษย์

ผมอยากจะวกกลับมาพูดถึงความจริงพื้นฐานของมนุษย์สักหน่อยว่า พื้นฐานของมนุษย์นั้น มองได้สองด้าน ด้านหนึ่งคือ บาปกำเนิด (original sin) และอีกด้านหนึ่งคือ พรกำเนิด (original blessing) ก็คือการพูดถึง "โพธิจิต" คือจิตพื้นฐานของมนุษย์ที่ใสกระจ่าง ตื่นรู้

เรากลับมาดูเรื่องง่ายๆ ในด้านชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่และวิวัฒนาการของสัตว์จนกระทั่งเป็นมนุษย์ จะเห็นว่ามนุษย์มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการตรัสรู้อยู่แล้ว มนุษย์เป็นสัตวะที่มีปัญญา และสามารถใช้ปัญญาได้อย่างไร้ขอบเขต แต่ทำไมเราจึงทุกข์และติดแหงกอยู่กับความคุ้นชินเดิมๆ สัญชาตญาณเดิมๆ อัตโนมัติที่หลับใหลเดิมๆ ซึ่งแปลว่าเราไม่ได้เรียนรู้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า มนุษย์เรามีโหมดปกป้องไว้สำหรับการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หรือแม้กระทั่งในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแล้ว เราก็ยังคงติดยึดกลไกทางสมองที่จะกลับไปสู่โหมดปกป้องอยู่ กลับไปสู่อาการวนเวียนอยู่กับปฏิกิริยาอัตโนมัติที่เจ็บปวด และไม่วิวัฒน์อยู่ แต่หากเราเข้าใจและหลุดออกไปจากโหมดปกป้องนี้ได้ ไม่เข้าไปในอัตโนมัติที่หลับใหล เราก็จะเข้าสู่ความเป็นไปได้แห่งการตื่นรู้ อันเป็นจิตเดิมแท้ที่ประภัสสรอยู่แล้ว


สมองพุทธะ

หนังสือ Buddha's Brain ของริก แฮนสัน หลอมรวมสองวินัย สองศิลปศาสตร์ (discipline) คือเรื่องประสาทวิทยา (neuroscience) เข้ากับพุทธธรรม จริงๆ ไม่ใช่เขาคนเดียวที่ทำเช่นนี้ หากเขาเป็นกึ่งๆ คนเขียนรายงานออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ แต่ทั้งหมดที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ผมหลอมรวมแนวคิด หลายหลากมาจากหนังสือหลากหลายเล่ม เพียงแต่ว่าผมชอบชื่อหนังสือของเขา จึงยกขึ้นมากล่าว

จากสมองพุทธะ เราอาจเอาชนะคะคานแนวโน้มของโหมดปกป้องได้ง่ายๆ โดยใช้การผ่อนคลายร่างกายส่วนต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ (parasympathetic) เพียงร่างกายของเราผ่อนคลาย โหมดปกป้องจะตั้งอยู่ได้ยาก และ/หรือกลับไปสู่โหมดปกติได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น

ตัวอย่างที่สอง เราอาจเรียนรู้ที่จะสัมผัสความสุขที่สร้างขึ้นได้เลยจากจินตนาการ หรือการย้อนภาพกลับไปหาวันคืนแห่งความสุข เพียงการเขียนความสุขสามอย่าง ชีวิตก็แปรเปลี่ยนไปแล้ว โดยอาจสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ในเวลาเพียงสองสามเดือน เป็นต้น

และในสำนัก interpersonal neurobiology แดเนียล ซีกัลได้พูดถึงการพัฒนา “mindsight” ซึ่งอาจแปลอย่างพระกรรมฐานได้ว่า “ดูจิต” เขาเป็นนักจิตบำบัดที่หลอมรวมเอาประสาทวิทยา (neuroscience) กับพุทธธรรมมาใช้งานร่วมกัน เพียงสอนวัยรุ่นให้นั่งสมาธิวันละสิบห้านาที เด็กคนนั้นก็สามารถหายจากอาการคนสองบุคลิกหรือไบโพลาร์ได้ เป็นต้น ที่จริงงานของซีกัลลุ่มลึกกว่านี้อีก แต่ขอกล่าวถึงในที่นี้โดยสังเขปเท่านั้น


สืบสายธารแห่งปัญญาของคาร์ล จุง

ผมเรียนรู้ปัญญาของคาร์ล จุง ผ่านการศึกษาแนวคิดของสองสำนักซึ่งพูดเรื่องเดียวกันด้วยท่าทีและบุคลิกภาพคนละอย่าง แต่ถ้าได้แนวทางมาผสมผสานกันจะเป็นพลวัตที่สมบูรณ์ยิ่ง สำนักหนึ่งคือ จิตวิทยาตัวตน (psychology of selves) ของดร.ฮาลและดร.ซิดรา สโตน อีกสำนักหนึ่งคือ จิตวิทยากระบวนการ (process psychology) ของอาร์โนลด์และเอมี มินเดล

สองสามีภรรยาสโตน แยกจิตออกเป็นตัวตนต่างๆ โดยมีตัวตนหลัก (primary selves) เป็นความคุ้นชินเดิมๆ และมีตัวตนที่ถูกกีดกันออกจากสำนึกหรือถูกละเลยหลงลืม (disowned selves) โดยจุดมุ่งหมายคือ เราต้องตื่นขึ้นและเป็นอิสระจากการครอบงำของตัวตนหลักๆ แต่สามารถเชื่อมโยงกับตัวตนหลักได้อย่างตื่นรู้ เป็นผู้ใช้งานมากกว่าถูกครอบงำ การมีความสัมพันธ์ที่ตื่นรู้ จะทำให้เราสามารถขยายขอบเขตของตัวตนเราโดยไปใช้แบบแผนพลังงาน หรือบุคลิกตรงกันข้าม หรือ disowned selves ได้ด้วย

ส่วนแนวคิดของมินเดลสองสามีภรรยาแทนที่จะแบ่งเป็นตัวตนต่างๆ กลับเรียกสิ่งเหล่านั้นเป็นกระบวนการ (processes) ต่างๆ แบ่งเป็นกระบวนการปฐมภูมิ (primary processes) กับกระบวนการทุติยภูมิ (secondary processes) สองสำนักนี้มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน แต่ใช้ชื่อต่างกันเล็กน้อย

ทั้งสองสำนักทำงานกับจิตไร้สำนึก (unconscious) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหลอมรวมจิตไร้สำนึกเฉพาะของเราเข้ากับจิตไร้สำนึกของจักรวาล ทำงานเชื่อมความรู้กับความไม่รู้ ทำงานกับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก ขยายขอบเขตของ primary ไปสู่ secondary และ disowned อย่างเป็นพลวัต จนกระทั่งจิตเรากับจิตจักรวาลหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

พลวัตนี้จะนำเราไปสู่พื้นฐานอันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ หรือสัตวะแห่งแสง เมื่อนั้น เราไม่ต้อง ถามหาความเป็นอัจฉริยะ เราไม่ต้องถามหาความหลุดพ้นอันเป็นที่สุด เพราะนั่นคือจิตเดิมแท้ของเรา หรือของจิตจักรวาลตลอดเวลาอย่างที่มันเป็น


องค์ประกอบของกระบวนการ

แต่คำถามคือ แล้วเราจะไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้อย่างไร เราอาจจะเริ่มต้นจากที่ใดที่หนึ่ง หมายถึงภูมิหลังความเป็นมาของบุคคล หมายถึงบาดแผลหรือปมในอดีตที่มีมากน้อย หนักเบาไม่เท่ากัน

การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญ แดเนียล ซีกัลป์กล่าวว่า หากพ่อแม่ได้ดูแลและเยียวยาปมของตัวเอง จะสามารถเลี้ยงลูกโดยไม่เอาปมตัวเองส่งต่อไปให้ลูก สามารถหล่อเลี้ยงให้ลูกดำรงอยู่ในความเป็นปกติแห่งจิตได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดสองประการคือ

หนึ่ง ความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง การปล่อยให้ลูก (อาจหมายถึงครูกับศิษย์ด้วย) ได้ใช้ศักยภาพของชีวิตและปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้จัดการตัวเองตามศักยภาพแห่งวัย ความเป็นองค์กรจัดการตัวเองเป็นฐานแรก เป็นเจตจำนงแห่งการดำรงอยู่ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะควร เด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีความมั่นคง มีวินัย มีความอึดหรือขันติทางกายและใจที่จะผ่านอุปสรรคของชีวิต

สอง ความต้องการพื้นฐานในฐานะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงที่จะทำให้การดำรงอยู่และการเจริญเติบโตทั้งภายในภายนอกเป็นไปอย่างปกติอีกประการหนึ่ง คือความมั่นคงอันเกิดจากสัมพันธภาพ ประกอบด้วยความสนิทสนม เป็นความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนที่จะกระตุ้นศักยภาพแห่งความรัก ความรักก่อเกิดปัญญา ปัญญาก่อเกิดความรัก ทำให้เกิดสมดุลแห่งพลัง แห่ง personal and impersonal หรือสมดุลระหว่างฐานคิดและฐานใจนั่นเอง

ของขวัญอันขัดแย้ง



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557

เมื่อวันที่ ๒๒-๒๖ ม.ค. ๒๕๕๗ ผมได้มีโอกาสเรียนหลักสูตรจิตวิทยาเชิงกระบวนการ ที่เรียกว่า Process-Oriented Psychology (หรือ Process Work) เรื่อง “ผู้นำจากภายใน (Leadership Presence)” กับกระบวนกรผู้มากประสบการณ์ อาจารย์ Gill Emslie จาก Findhorn Consultancy Service สหราชอาณาจักร โดยเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้เพื่อเติบโตจากภายในผ่านการทำความเข้าใจการกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้ง แม้เธอจะมาสอนเรื่องนี้ให้กับกลุ่มศึกษาปฏิบัติเป็นปีที่สี่แล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมเข้าเรียน ก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกคราวไป

คราวนี้ผมได้เรียนรู้การทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นสนามพลังที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันอย่างแยกไม่ออก สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเราด้วย และในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ก็สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราด้วย โดยทั้งสองอย่างส่งผลถึงกันและกันตลอดเวลา เพราะมีการเชื่อมโยงกันตลอดเวลา ทั้งในสิ่งที่ชอบใจ (สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้คุณค่า) และที่ไม่ชอบ (ขัดแย้งกับระบบคุณค่าของเรา)

ในความสัมพันธ์ เพื่อรักษาบรรยากาศที่ราบรื่นและสัมพันธภาพที่ดี เราอาจเลือก “เก็บ” ความรู้สึกกวนใจ (disturbance) ความรู้สึกที่ไม่ดีหรือไม่พอใจ (discontent) ไว้ แล้วบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” เพื่อจะได้ไม่สร้าง “ปัญหา” ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เราเชื่อว่าความรู้สึกนี้จะหายไปเอง และดำรงความสัมพันธ์ในภาวะ “สุภาพ” และ “ให้เกียรติ”​ กันต่อไป แต่ยิ่งหลีกเลี่ยงการปะทะกระทบกระทั่งด้วยการละเลยความรู้สึกภายในของตัวเอง ความสัมพันธ์ก็อาจจะยิ่งห่างเหินกันไปทีละน้อยๆ ดังเราพูดถึงคนอื่นได้อย่างเปิดเผยมากกว่าพูดกับเจ้าตัวโดยตรง และเมื่อห่างกันมากขึ้นไปอีกก็จะเกิดอาการ “อยากออกห่าง” หรืออยากมีชีวิตโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอีก เพื่อรักษาความ “สบายใจ” ของตัวเองไว้

ที่น่าสนใจก็คือ แม้เราจะพยายามเก็บความไม่พึงพอใจเหล่านี้เอาไว้อย่างดี แต่เรามักจะไม่รู้ตัวว่าเรา “เก็บอาการ” ไม่อยู่ และแสดงออกโดยไม่รู้ตัวหรือนึกไม่ถึง ซึ่งอาการหรือสัญญาณซ้อนเหล่านี้ (double signals) ส่งผลต่ออีกฝ่ายผ่านจิตไร้สำนึกโดยไม่รู้ตัวได้อย่างแยบยล และอาจส่งผลให้เขาเกิดความรู้สึกต่างๆ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลหรือที่ไปที่มา เช่น อาการหมั่นไส้ เหม็นเขียว อิจฉา กระอักกระอ่วน ติดขัดหรือไม่สบายใจ รวมทั้งอาการด้านบวกเช่น ความชอบพอ หลงใหล คลั่งไคล้ หรือหลงเสน่ห์ด้วย

กล่าวเฉพาะด้านลบว่า ส่วนใหญ่กว่าเราจะรู้ตัวก็ปล่อยให้ความรู้สึกกวนใจเหล่านี้สั่งสมและหมักหมมจนกลายเป็นความห่างเหิน หวาดระแวงทั้งในระดับอ่อนๆ แบบกวนใจเป็นพักๆ (แม้จะอยู่ห่างกัน) และแบบรุนแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนถึงขั้นโกรธหรือแค้น ยิ่งเราต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เราก็จะสร้าง “ภาพลักษณ์ตัวแทน” ของอีกฝ่ายในใจเราเองอย่างวิจิตพิสดารมากกว่า “ตัวจริง” และเริ่มพูดถึงเขาราวกับรู้จักเขาดีแล้ว

แต่ที่น่าแปลกคือ ยิ่งเรากีดกันสิ่งรบกวนออกไปจากหน้าจอชีวิตมากเท่าไร ก็ดูเหมือนเราเริ่มกลายเป็นสิ่งนั้นมากขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น คนที่ประณามความรุนแรงก็เริ่มกระทำการรุนแรงเสียเอง หรือผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็กลายเป็นเผด็จการในองค์กรหรือครอบครัวของตัวเองได้อย่างแนบเนียน เป็นเพราะเราเองปฏิเสธสิ่งรบกวนนั้นๆ ทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในตัวเรา

ดังนั้นทางออกที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ “การมีท่าทีที่เหมาะสม” การมองว่าอาการ “กระทบรบกวน” ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสัมพันธภาพ ไม่ถือว่าเป็น “ปัญหา” ที่ต้องหลีกเลี่ยง หากแต่เป็นสิ่งที่จักรวาลหรือธรรมชาติภายในต้องการให้เราทำความเข้าใจ และหลอมรวมเพื่อให้เกิดความบริบูรณ์และสมดุลในระบบยิ่งขึ้น

โดยแนวทางการทำงานในเรื่องนี้มี ๒ ประการคือ ประการแรก เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าเรามีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น ให้ลองระบุหรือสื่อสารมันออกมา แล้วค้นหาว่า “อีกฝ่าย” แสดงออก พูด หรือทำอะไรที่ส่งผลถึงเรา เช่น สีหน้าท่าทางของเขา คำพูดบางอย่าง หรือการแสดงออกทางสายตา และค้นหาภายในตัวเองว่าสิ่งที่เราให้คุณค่าหลักนั้นคืออะไร และสิ่งที่มากระทบนั้นมีคุณลักษณะเด่นหรือแก่นสาร (Essence) อะไร เช่น เราอาจระบุว่า สิ่งที่กวนใจคือ “เขาดูมั่นใจเกินเหตุและกร่าง” และเมื่อค้นหาแก่นสารภายใน เราอาจพบว่าแม้รูปแบบภายนอกอาจขัดแย้งกับระบบคุณค่าหลักของเราเช่น “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” แต่ภายใต้รูปแบบที่ “มั่นใจเกินเหตุ” นี้ เราก็พบว่ามีคุณลักษณะของ “ความเป็นตัวของตัวเองและอิสระในการแสดงออก” ที่เราเองก็ต้องการบ้างเช่นกัน

ประการที่สอง เราสามารถชำระสะสางสิ่งปฏิกูลที่ตกค้างหมักหมมในความสัมพันธ์ได้ด้วยการสื่อสารอย่างเปิดเผยกับบุคคลนั้นๆ ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและถามไถ่ความรู้สึกของอีกฝ่ายเพื่อรับรู้กันและกัน ด้วยเจตนาให้บรรยากาศหรือความรู้สึกระหว่างเราโล่งโปร่งและสบายเนื้อสบายตัวยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันหันหน้าเผชิญกับ “อะไรบางอย่าง” ที่ดำรงอยู่กับจิตไร้สำนึกร่วม เพื่อทำความเข้าใจกับ “สิ่งแปลกปลอม” ในตัวเอง อย่างไม่มาหลอกหลอนให้กลายเป็นหวาดระแวงและห่างเหินจนเกินแก้ไข

โดยสรุป เมื่อเกิดเหตุจี้ใจขึ้น เราไม่จำเป็นต้องใช้คาถา “ไม่เป็นไร” กลบเกลื่อนผลกระทบที่ไม่อาจกำจัดให้หมดไปได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะ “เปิดรับ” ของขวัญที่มาพร้อมกับความขัดแย้ง โดยมีแก่นสารล้ำค่าสำหรับชีวิตบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ต่อชีวิตได้ และยังสื่อสารบอกกล่าวต่ออีกฝ่ายให้รับรู้ถึงสิ่งที่เราได้รับ อันจะนำพาความสัมพันธ์ของเราให้เข้าใจและเข้าใกล้กันอย่างจริงแท้ยิ่งขึ้น

ทุนทางการรับฟัง (Listening Capital)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557

ผมเข้าไปร่วมก่อตั้งกลุ่ม “มวลมหาประชาคุย” มาได้ระยะหนึ่ง ก็มีมิตรสหายท่านหนึ่งสอบถามมาว่าผมต้องการจะสร้าง “ชุมชน” หรือ สร้าง “พื้นที่เปิดกว้างทางความคิด” กันแน่ ผมตอบว่า “สร้างชุมชน” เขาบอกว่าทำไมไม่สร้างพื้นที่สาธารณะที่ใครจะไปจะมาก็ได้ ผมตอบว่า ผมอยากสร้างชุมชนเพราะชุมชนมันมีชีวิต แต่พื้นที่มันไม่มีชีวิต

เมื่อสนทนาไปจึงได้รู้ว่ามิตรสหายท่านนี้มีความกังวลกับคำว่า “ชุมชน” เพราะเห็นว่ามันเป็นซากปรักหักพังทางความคิดซึ่งจำกัดอิสรภาพของปัจเจกบุคคลในยุคสมัยใหม่เสียจนต้องสาปส่งให้สูญสิ้น เพื่อนของผมคนนี้ดูจะรังเกียจเดียดฉันท์สิ่งที่เรียกว่า “มรดกตกทอดทางวัฒนธรรม” ด้วย เพราะมองว่านั่นคือก้อน “ภาระ” อันระยำตำบอนที่คนรุ่นเก่าทิ้งเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ คนเหล่านี้จึงเพียรพยายามสร้างสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น “วัฒนธรรม” ใหม่ การปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ ไม่อิงอดีต ไม่อิงรากเหง้า และการใช้เหตุผลแบบปฏิฐานนิยม คือปฏิเสธสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่ให้คุณค่ากับสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งก็คือกรอบความคิดที่เราสมาทานมาจากยุคปฏิวัติอุสาหกรรมและยังคงใช้จนทำให้โลกและสิ่งแวดล้อมฉิบหายกันมาอยู่ถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คุยกันได้โดยไม่เห็นหน้าตาได้เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่แบบที่ว่านี้ มันก่อให้เกิดการสื่อสารแบบที่ผมเรียกว่า “ใช้พยัญชนะเป็นศูนย์กลาง” ผู้คนต่างยึดเอา “ตัวอักษร” เป็นหลักฐานในการรับรองความถูกต้องของตัวเอง และอะไรที่อยู่นอกเหนือระบบของภาษาก็ถือว่า “ไม่มีอยู่จริง” ภาษาจึงกลายมาเป็น “มหาลึงค์” ที่กระหวัดซัดทำให้หลายสิ่งต้องกระเซ็นไปอยู่ชายขอบเป็น “สิ่งอื่น” สิ่งหนึ่งที่ถูกซัดไปอยู่ชายขอบก็คือเรื่องของ “ความเข้าใจ” ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (Compassion)

“ความเข้าใจ” ทำให้มนุษย์เราอยู่ด้วยกันได้แม้จะ “ไม่เห็นด้วย” เพราะความเข้าใจอยู่ในปริมณฑลของ “ความรู้สึก” แต่การเห็นด้วยตั้งอยู่ในปริมณฑลของ “ความคิด” นักภาษาศาสตร์บอกว่าเราคิดเป็น “ภาษา” แสดงว่าเราตกอยู่ในกับดักของความคิดซึ่งเป็นภาษาพ่อภาษาแม่ของเรา (เราไม่สามารถจะคิดเป็นภาษาที่เราไม่รู้จักได้) แล้วใครสร้างภาษา? ไม่รู้ แต่เมื่อภาษาถูกสร้างขึ้นแล้วมันก็มีอิทธิพลต่อการประกอบสร้างความคิดของเรา “ความคิด” ไม่ใช่ความจริง เพราะถ้ามันจริงเราคงกินพยัญชนะแทนข้าวได้ แต่น่าแปลกที่ผู้คนต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภาษาและพยัญชนะเพียงไม่กี่ตัว คนเฉลียวฉลาดไม่ทำงานแค่กับภาษาแต่ทำงานกับความรู้สึกของผู้คนด้วย นักแสดง นักร้อง และผู้นำม็อบรู้ความจริงข้อนี้ดี แต่นักวิชาการยังติดกับดักทำงานกับความคิด และพยายาม “ปฏิวัติด้วยกระดาษ” และภูมิอกภูมิใจกับการผลิตน้ำหมึกมาเปื้อนกระดาษให้ต้นไม้ของโลกนี้ลดลงอีกต่อไป การลงทุนที่ดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตยแบบมีหัวใจและไม่เป็นทาสทุน ก็คือการลงทุนสร้าง “ทุนทางการรับฟัง” ไม่ใช่การสร้างทุนทางการโต้เถียง หรือหว่านล้อมจูงใจ เรามีคนที่เป็นนักไฮปาร์คมากแล้วในสังคม ซึ่งเป็นนักปาฐกถาที่ดีเยี่ยมอยู่บนเวที อยู่ในสภา อยู่ในจอทีวี แต่พอเข้ามาทำงานรับใช้ชาติกลับไม่ได้เรื่อง เรามีนักวิชาการและ want-to-be someone มากพอในจอโทรทัศน์ ยูทูบ และหน้าหนังสือพิมพ์ สังคมไทยไม่เคยขาดนักพูด แต่ง่อยเปลี้ยเมื่อมาถึงเรื่องการรับฟัง คำถามคือแล้วเราจะสร้างสังคมที่มีแต่คนพ่นใส่กันตลอดเวลาหรือ?

ทุนทางการรับฟังจะทำให้นักการเมืองไม่ต้องทำตัวเป็นจำอวด ที่จะต้องสร้างกระแสทุกครั้งเมื่ออยู่หน้าไมโครโฟน หรือหน้ากล้อง เพราะทุนทางการรับฟังจะสร้างประชาชนที่เป็นบัณฑิตชน จะรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ถูกลากไปด้วยกระแส ดังนั้น นักการเมืองที่สร้างกระแสแต่ไม่มีเนื้อมีหนังมารองรับคำพูดของตนจะอยู่ไม่ได้ พิธีกรที่เล่นกับกระแสแต่ไม่มีปัญญารองรับก็จะอยู่ไม่ได้ ทุนทางการรับฟังสามารถสร้างได้ในตัวทุกคน ผมมีแบบฝึกหัดง่ายๆ สำหรับฝึกการฟังและแสดงออก ซึ่งได้นำเสนอในกลุ่ม “จิตอาสามวลมหาประชาคุย” มิตรสหายท่านนั้นดูถูกแบบฝึกหัดของผมว่าเหมือน “คำปฏิญาณตนของลูกเสือ” แต่จริงๆ แล้วมันคือคัมภีร์ลับของจอมยุทธ์ซึ่งจะเห็นผลก็ต้องรับไปฝึกฝนดูเสียก่อน แบบฝึกหัด ๔ ข้อ สู่จอมยุทธ์แห่งการฟัง มีดังต่อไปนี้ครับ

๑. ข้าพเจ้าจะฝึกทักษะการรับฟังของตัวเอง เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความใดที่ทำให้เกิดความขุ่นใจ แทนที่จะตอบโต้ในทันที ข้าพเจ้าจะ “หน่วงอารมณ์” เพื่อให้เกิดความปกติขึ้นกับจิตใจ แล้วจึงจะโพสต์ข้อความตอบกลับ และข้าพเจ้าจะระลึกไว้เสมอว่าไม่จำเป็นต้องตอบกลับทุกข้อความของทุกคน โดยเฉพาะข้อความที่ให้ร้ายต่อข้าพเจ้า เพราะทราบว่าผู้มีปัญญาพึงเห็นได้ว่าใครเป็นผู้ก้าวก่ายผู้อื่น

๒. ข้าพเจ้าจะฝึกทักษะในการแสดงออกโดย “ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก” ของตัวเอง โดยไม่ทำการโพสต์ข้อความ “แทน” ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่รับใช้อุดมการณ์ของใครที่ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจและตกผลึกมาเป็นเนื้อเป็นตัวของข้าพเจ้าเอง

๓. ในขณะเดียวกันเมื่อซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง (ข้อ ๒) ข้าพเจ้าก็จะรอบคอบโดยไม่โพสต์ข้อความใดที่จะไป “ก้าวก่าย” ความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หรือลดทอนผู้อื่นให้เหลือเป็นเพียงวัตถุ หรือฟากฝ่ายข้างหนึ่งข้างใด

๔. ข้าพเจ้าจะฝึกสังเกตเจตนาของตนเอง ในทุกครั้งที่แสดงออกว่า ข้าพเจ้ามีเจตนาที่จะครอบงำผู้อื่นทางความคิด ความรู้สึก หรือมีเจตนาเพื่อทิ่มแทงเพื่อความสะใจ ฯลฯ หรือไม่? และถ้าเป็นอย่างนั้นข้าพเจ้าก็จะฝึกออกจากกับดักของความคิดและความรู้สึกแบบนั้นๆ ด้วยการกลับมารู้สึกตัว หรือทำตัวเองให้กลับสู่ความเป็นปกติ ก่อนจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อไป

ทั้ง ๔ ข้อนี้ไม่ใช่การบังคับ ใครจะรับไปทำก็ได้ ซึ่งผมรับรองว่าจะเกิดประโยชน์กับท่านผู้นำเอาไปปฏิบัติอย่างแน่นอน ถ้าทำแล้วได้ผลอย่างไรก็เขียนบอกกันบ้างที่ FB: Sonny Chatwiriyachai ขอบคุณครับ

Back to Top