เส้นทางสู่อนัตตา วิถีครู หรือ เส้นทางสู่สัตบุรุษ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557

เส้นทางเดินไปสู่อนัตตสภาวะอันหลากหลายที่เชื่อมเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียว หนทางแรกคือการออกจากความคุ้นชินเดิมๆ


ออกจากความคุ้นชินเดิมๆ

เพียงเริ่มง่ายๆ กับการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายตัวตนได้ คือเคลื่อนออกจากแบบแผนการใช้ชีวิตเดิมๆ ก่อน ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึกและความคิด เคลื่อนย้ายออกจากไข่แดง คือพื้นที่ที่เราคุ้นชินไปสู่ไข่ขาวหรือดินแดนแห่งความไม่รู้ ไม่คุ้นชิน

ใน Shaman's Body หนังสือที่อาร์โนลด์ มินเดล เขียน เล่าเรื่องพ่อมดชาวเม็กซิกันในสไตล์ของเขาว่า สำหรับดอนฮวนแล้ว สิ่งที่นายพรานต่างจากเหยื่อที่ถูกล่าคือ เหยื่อจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ เดิมๆ ทำให้นายพรานสามารถคาดการณ์และจัดการเหยื่อได้โดยง่าย


ความจริงพื้นฐานของมนุษย์

ผมอยากจะวกกลับมาพูดถึงความจริงพื้นฐานของมนุษย์สักหน่อยว่า พื้นฐานของมนุษย์นั้น มองได้สองด้าน ด้านหนึ่งคือ บาปกำเนิด (original sin) และอีกด้านหนึ่งคือ พรกำเนิด (original blessing) ก็คือการพูดถึง "โพธิจิต" คือจิตพื้นฐานของมนุษย์ที่ใสกระจ่าง ตื่นรู้

เรากลับมาดูเรื่องง่ายๆ ในด้านชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่และวิวัฒนาการของสัตว์จนกระทั่งเป็นมนุษย์ จะเห็นว่ามนุษย์มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการตรัสรู้อยู่แล้ว มนุษย์เป็นสัตวะที่มีปัญญา และสามารถใช้ปัญญาได้อย่างไร้ขอบเขต แต่ทำไมเราจึงทุกข์และติดแหงกอยู่กับความคุ้นชินเดิมๆ สัญชาตญาณเดิมๆ อัตโนมัติที่หลับใหลเดิมๆ ซึ่งแปลว่าเราไม่ได้เรียนรู้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า มนุษย์เรามีโหมดปกป้องไว้สำหรับการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หรือแม้กระทั่งในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแล้ว เราก็ยังคงติดยึดกลไกทางสมองที่จะกลับไปสู่โหมดปกป้องอยู่ กลับไปสู่อาการวนเวียนอยู่กับปฏิกิริยาอัตโนมัติที่เจ็บปวด และไม่วิวัฒน์อยู่ แต่หากเราเข้าใจและหลุดออกไปจากโหมดปกป้องนี้ได้ ไม่เข้าไปในอัตโนมัติที่หลับใหล เราก็จะเข้าสู่ความเป็นไปได้แห่งการตื่นรู้ อันเป็นจิตเดิมแท้ที่ประภัสสรอยู่แล้ว


สมองพุทธะ

หนังสือ Buddha's Brain ของริก แฮนสัน หลอมรวมสองวินัย สองศิลปศาสตร์ (discipline) คือเรื่องประสาทวิทยา (neuroscience) เข้ากับพุทธธรรม จริงๆ ไม่ใช่เขาคนเดียวที่ทำเช่นนี้ หากเขาเป็นกึ่งๆ คนเขียนรายงานออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ แต่ทั้งหมดที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ผมหลอมรวมแนวคิด หลายหลากมาจากหนังสือหลากหลายเล่ม เพียงแต่ว่าผมชอบชื่อหนังสือของเขา จึงยกขึ้นมากล่าว

จากสมองพุทธะ เราอาจเอาชนะคะคานแนวโน้มของโหมดปกป้องได้ง่ายๆ โดยใช้การผ่อนคลายร่างกายส่วนต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ (parasympathetic) เพียงร่างกายของเราผ่อนคลาย โหมดปกป้องจะตั้งอยู่ได้ยาก และ/หรือกลับไปสู่โหมดปกติได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น

ตัวอย่างที่สอง เราอาจเรียนรู้ที่จะสัมผัสความสุขที่สร้างขึ้นได้เลยจากจินตนาการ หรือการย้อนภาพกลับไปหาวันคืนแห่งความสุข เพียงการเขียนความสุขสามอย่าง ชีวิตก็แปรเปลี่ยนไปแล้ว โดยอาจสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ในเวลาเพียงสองสามเดือน เป็นต้น

และในสำนัก interpersonal neurobiology แดเนียล ซีกัลได้พูดถึงการพัฒนา “mindsight” ซึ่งอาจแปลอย่างพระกรรมฐานได้ว่า “ดูจิต” เขาเป็นนักจิตบำบัดที่หลอมรวมเอาประสาทวิทยา (neuroscience) กับพุทธธรรมมาใช้งานร่วมกัน เพียงสอนวัยรุ่นให้นั่งสมาธิวันละสิบห้านาที เด็กคนนั้นก็สามารถหายจากอาการคนสองบุคลิกหรือไบโพลาร์ได้ เป็นต้น ที่จริงงานของซีกัลลุ่มลึกกว่านี้อีก แต่ขอกล่าวถึงในที่นี้โดยสังเขปเท่านั้น


สืบสายธารแห่งปัญญาของคาร์ล จุง

ผมเรียนรู้ปัญญาของคาร์ล จุง ผ่านการศึกษาแนวคิดของสองสำนักซึ่งพูดเรื่องเดียวกันด้วยท่าทีและบุคลิกภาพคนละอย่าง แต่ถ้าได้แนวทางมาผสมผสานกันจะเป็นพลวัตที่สมบูรณ์ยิ่ง สำนักหนึ่งคือ จิตวิทยาตัวตน (psychology of selves) ของดร.ฮาลและดร.ซิดรา สโตน อีกสำนักหนึ่งคือ จิตวิทยากระบวนการ (process psychology) ของอาร์โนลด์และเอมี มินเดล

สองสามีภรรยาสโตน แยกจิตออกเป็นตัวตนต่างๆ โดยมีตัวตนหลัก (primary selves) เป็นความคุ้นชินเดิมๆ และมีตัวตนที่ถูกกีดกันออกจากสำนึกหรือถูกละเลยหลงลืม (disowned selves) โดยจุดมุ่งหมายคือ เราต้องตื่นขึ้นและเป็นอิสระจากการครอบงำของตัวตนหลักๆ แต่สามารถเชื่อมโยงกับตัวตนหลักได้อย่างตื่นรู้ เป็นผู้ใช้งานมากกว่าถูกครอบงำ การมีความสัมพันธ์ที่ตื่นรู้ จะทำให้เราสามารถขยายขอบเขตของตัวตนเราโดยไปใช้แบบแผนพลังงาน หรือบุคลิกตรงกันข้าม หรือ disowned selves ได้ด้วย

ส่วนแนวคิดของมินเดลสองสามีภรรยาแทนที่จะแบ่งเป็นตัวตนต่างๆ กลับเรียกสิ่งเหล่านั้นเป็นกระบวนการ (processes) ต่างๆ แบ่งเป็นกระบวนการปฐมภูมิ (primary processes) กับกระบวนการทุติยภูมิ (secondary processes) สองสำนักนี้มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน แต่ใช้ชื่อต่างกันเล็กน้อย

ทั้งสองสำนักทำงานกับจิตไร้สำนึก (unconscious) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหลอมรวมจิตไร้สำนึกเฉพาะของเราเข้ากับจิตไร้สำนึกของจักรวาล ทำงานเชื่อมความรู้กับความไม่รู้ ทำงานกับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก ขยายขอบเขตของ primary ไปสู่ secondary และ disowned อย่างเป็นพลวัต จนกระทั่งจิตเรากับจิตจักรวาลหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

พลวัตนี้จะนำเราไปสู่พื้นฐานอันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ หรือสัตวะแห่งแสง เมื่อนั้น เราไม่ต้อง ถามหาความเป็นอัจฉริยะ เราไม่ต้องถามหาความหลุดพ้นอันเป็นที่สุด เพราะนั่นคือจิตเดิมแท้ของเรา หรือของจิตจักรวาลตลอดเวลาอย่างที่มันเป็น


องค์ประกอบของกระบวนการ

แต่คำถามคือ แล้วเราจะไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้อย่างไร เราอาจจะเริ่มต้นจากที่ใดที่หนึ่ง หมายถึงภูมิหลังความเป็นมาของบุคคล หมายถึงบาดแผลหรือปมในอดีตที่มีมากน้อย หนักเบาไม่เท่ากัน

การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญ แดเนียล ซีกัลป์กล่าวว่า หากพ่อแม่ได้ดูแลและเยียวยาปมของตัวเอง จะสามารถเลี้ยงลูกโดยไม่เอาปมตัวเองส่งต่อไปให้ลูก สามารถหล่อเลี้ยงให้ลูกดำรงอยู่ในความเป็นปกติแห่งจิตได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดสองประการคือ

หนึ่ง ความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง การปล่อยให้ลูก (อาจหมายถึงครูกับศิษย์ด้วย) ได้ใช้ศักยภาพของชีวิตและปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้จัดการตัวเองตามศักยภาพแห่งวัย ความเป็นองค์กรจัดการตัวเองเป็นฐานแรก เป็นเจตจำนงแห่งการดำรงอยู่ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะควร เด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีความมั่นคง มีวินัย มีความอึดหรือขันติทางกายและใจที่จะผ่านอุปสรรคของชีวิต

สอง ความต้องการพื้นฐานในฐานะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงที่จะทำให้การดำรงอยู่และการเจริญเติบโตทั้งภายในภายนอกเป็นไปอย่างปกติอีกประการหนึ่ง คือความมั่นคงอันเกิดจากสัมพันธภาพ ประกอบด้วยความสนิทสนม เป็นความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนที่จะกระตุ้นศักยภาพแห่งความรัก ความรักก่อเกิดปัญญา ปัญญาก่อเกิดความรัก ทำให้เกิดสมดุลแห่งพลัง แห่ง personal and impersonal หรือสมดุลระหว่างฐานคิดและฐานใจนั่นเอง

Back to Top