ทุนทางการรับฟัง (Listening Capital)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557

ผมเข้าไปร่วมก่อตั้งกลุ่ม “มวลมหาประชาคุย” มาได้ระยะหนึ่ง ก็มีมิตรสหายท่านหนึ่งสอบถามมาว่าผมต้องการจะสร้าง “ชุมชน” หรือ สร้าง “พื้นที่เปิดกว้างทางความคิด” กันแน่ ผมตอบว่า “สร้างชุมชน” เขาบอกว่าทำไมไม่สร้างพื้นที่สาธารณะที่ใครจะไปจะมาก็ได้ ผมตอบว่า ผมอยากสร้างชุมชนเพราะชุมชนมันมีชีวิต แต่พื้นที่มันไม่มีชีวิต

เมื่อสนทนาไปจึงได้รู้ว่ามิตรสหายท่านนี้มีความกังวลกับคำว่า “ชุมชน” เพราะเห็นว่ามันเป็นซากปรักหักพังทางความคิดซึ่งจำกัดอิสรภาพของปัจเจกบุคคลในยุคสมัยใหม่เสียจนต้องสาปส่งให้สูญสิ้น เพื่อนของผมคนนี้ดูจะรังเกียจเดียดฉันท์สิ่งที่เรียกว่า “มรดกตกทอดทางวัฒนธรรม” ด้วย เพราะมองว่านั่นคือก้อน “ภาระ” อันระยำตำบอนที่คนรุ่นเก่าทิ้งเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ คนเหล่านี้จึงเพียรพยายามสร้างสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น “วัฒนธรรม” ใหม่ การปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ ไม่อิงอดีต ไม่อิงรากเหง้า และการใช้เหตุผลแบบปฏิฐานนิยม คือปฏิเสธสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่ให้คุณค่ากับสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งก็คือกรอบความคิดที่เราสมาทานมาจากยุคปฏิวัติอุสาหกรรมและยังคงใช้จนทำให้โลกและสิ่งแวดล้อมฉิบหายกันมาอยู่ถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คุยกันได้โดยไม่เห็นหน้าตาได้เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่แบบที่ว่านี้ มันก่อให้เกิดการสื่อสารแบบที่ผมเรียกว่า “ใช้พยัญชนะเป็นศูนย์กลาง” ผู้คนต่างยึดเอา “ตัวอักษร” เป็นหลักฐานในการรับรองความถูกต้องของตัวเอง และอะไรที่อยู่นอกเหนือระบบของภาษาก็ถือว่า “ไม่มีอยู่จริง” ภาษาจึงกลายมาเป็น “มหาลึงค์” ที่กระหวัดซัดทำให้หลายสิ่งต้องกระเซ็นไปอยู่ชายขอบเป็น “สิ่งอื่น” สิ่งหนึ่งที่ถูกซัดไปอยู่ชายขอบก็คือเรื่องของ “ความเข้าใจ” ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (Compassion)

“ความเข้าใจ” ทำให้มนุษย์เราอยู่ด้วยกันได้แม้จะ “ไม่เห็นด้วย” เพราะความเข้าใจอยู่ในปริมณฑลของ “ความรู้สึก” แต่การเห็นด้วยตั้งอยู่ในปริมณฑลของ “ความคิด” นักภาษาศาสตร์บอกว่าเราคิดเป็น “ภาษา” แสดงว่าเราตกอยู่ในกับดักของความคิดซึ่งเป็นภาษาพ่อภาษาแม่ของเรา (เราไม่สามารถจะคิดเป็นภาษาที่เราไม่รู้จักได้) แล้วใครสร้างภาษา? ไม่รู้ แต่เมื่อภาษาถูกสร้างขึ้นแล้วมันก็มีอิทธิพลต่อการประกอบสร้างความคิดของเรา “ความคิด” ไม่ใช่ความจริง เพราะถ้ามันจริงเราคงกินพยัญชนะแทนข้าวได้ แต่น่าแปลกที่ผู้คนต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภาษาและพยัญชนะเพียงไม่กี่ตัว คนเฉลียวฉลาดไม่ทำงานแค่กับภาษาแต่ทำงานกับความรู้สึกของผู้คนด้วย นักแสดง นักร้อง และผู้นำม็อบรู้ความจริงข้อนี้ดี แต่นักวิชาการยังติดกับดักทำงานกับความคิด และพยายาม “ปฏิวัติด้วยกระดาษ” และภูมิอกภูมิใจกับการผลิตน้ำหมึกมาเปื้อนกระดาษให้ต้นไม้ของโลกนี้ลดลงอีกต่อไป การลงทุนที่ดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตยแบบมีหัวใจและไม่เป็นทาสทุน ก็คือการลงทุนสร้าง “ทุนทางการรับฟัง” ไม่ใช่การสร้างทุนทางการโต้เถียง หรือหว่านล้อมจูงใจ เรามีคนที่เป็นนักไฮปาร์คมากแล้วในสังคม ซึ่งเป็นนักปาฐกถาที่ดีเยี่ยมอยู่บนเวที อยู่ในสภา อยู่ในจอทีวี แต่พอเข้ามาทำงานรับใช้ชาติกลับไม่ได้เรื่อง เรามีนักวิชาการและ want-to-be someone มากพอในจอโทรทัศน์ ยูทูบ และหน้าหนังสือพิมพ์ สังคมไทยไม่เคยขาดนักพูด แต่ง่อยเปลี้ยเมื่อมาถึงเรื่องการรับฟัง คำถามคือแล้วเราจะสร้างสังคมที่มีแต่คนพ่นใส่กันตลอดเวลาหรือ?

ทุนทางการรับฟังจะทำให้นักการเมืองไม่ต้องทำตัวเป็นจำอวด ที่จะต้องสร้างกระแสทุกครั้งเมื่ออยู่หน้าไมโครโฟน หรือหน้ากล้อง เพราะทุนทางการรับฟังจะสร้างประชาชนที่เป็นบัณฑิตชน จะรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ถูกลากไปด้วยกระแส ดังนั้น นักการเมืองที่สร้างกระแสแต่ไม่มีเนื้อมีหนังมารองรับคำพูดของตนจะอยู่ไม่ได้ พิธีกรที่เล่นกับกระแสแต่ไม่มีปัญญารองรับก็จะอยู่ไม่ได้ ทุนทางการรับฟังสามารถสร้างได้ในตัวทุกคน ผมมีแบบฝึกหัดง่ายๆ สำหรับฝึกการฟังและแสดงออก ซึ่งได้นำเสนอในกลุ่ม “จิตอาสามวลมหาประชาคุย” มิตรสหายท่านนั้นดูถูกแบบฝึกหัดของผมว่าเหมือน “คำปฏิญาณตนของลูกเสือ” แต่จริงๆ แล้วมันคือคัมภีร์ลับของจอมยุทธ์ซึ่งจะเห็นผลก็ต้องรับไปฝึกฝนดูเสียก่อน แบบฝึกหัด ๔ ข้อ สู่จอมยุทธ์แห่งการฟัง มีดังต่อไปนี้ครับ

๑. ข้าพเจ้าจะฝึกทักษะการรับฟังของตัวเอง เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความใดที่ทำให้เกิดความขุ่นใจ แทนที่จะตอบโต้ในทันที ข้าพเจ้าจะ “หน่วงอารมณ์” เพื่อให้เกิดความปกติขึ้นกับจิตใจ แล้วจึงจะโพสต์ข้อความตอบกลับ และข้าพเจ้าจะระลึกไว้เสมอว่าไม่จำเป็นต้องตอบกลับทุกข้อความของทุกคน โดยเฉพาะข้อความที่ให้ร้ายต่อข้าพเจ้า เพราะทราบว่าผู้มีปัญญาพึงเห็นได้ว่าใครเป็นผู้ก้าวก่ายผู้อื่น

๒. ข้าพเจ้าจะฝึกทักษะในการแสดงออกโดย “ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก” ของตัวเอง โดยไม่ทำการโพสต์ข้อความ “แทน” ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่รับใช้อุดมการณ์ของใครที่ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจและตกผลึกมาเป็นเนื้อเป็นตัวของข้าพเจ้าเอง

๓. ในขณะเดียวกันเมื่อซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง (ข้อ ๒) ข้าพเจ้าก็จะรอบคอบโดยไม่โพสต์ข้อความใดที่จะไป “ก้าวก่าย” ความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หรือลดทอนผู้อื่นให้เหลือเป็นเพียงวัตถุ หรือฟากฝ่ายข้างหนึ่งข้างใด

๔. ข้าพเจ้าจะฝึกสังเกตเจตนาของตนเอง ในทุกครั้งที่แสดงออกว่า ข้าพเจ้ามีเจตนาที่จะครอบงำผู้อื่นทางความคิด ความรู้สึก หรือมีเจตนาเพื่อทิ่มแทงเพื่อความสะใจ ฯลฯ หรือไม่? และถ้าเป็นอย่างนั้นข้าพเจ้าก็จะฝึกออกจากกับดักของความคิดและความรู้สึกแบบนั้นๆ ด้วยการกลับมารู้สึกตัว หรือทำตัวเองให้กลับสู่ความเป็นปกติ ก่อนจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อไป

ทั้ง ๔ ข้อนี้ไม่ใช่การบังคับ ใครจะรับไปทำก็ได้ ซึ่งผมรับรองว่าจะเกิดประโยชน์กับท่านผู้นำเอาไปปฏิบัติอย่างแน่นอน ถ้าทำแล้วได้ผลอย่างไรก็เขียนบอกกันบ้างที่ FB: Sonny Chatwiriyachai ขอบคุณครับ

Back to Top