มิถุนายน 2014

ปฏิรูปการศึกษาไทย : เพื่อใคร เพื่ออะไร และอย่างไร?



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2557

ตอบเป็นเบื้องต้นก่อนเลยว่า ปฏิรูปการศึกษาจะต้องคิดและทำเพื่อ “ผู้เรียนรู้” ซึ่งได้แก่ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง การพัฒนาระบบ และการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทของการศึกษา เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวตนของผู้เรียนรู้ซึ่งเป็นมิติภายใน อันได้แก่อารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ค่านิยม ทัศนคติ ความคิด และความเชื่อ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกด้านต่างๆ เช่นเทคโนโลยี การเมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ...ซึ่งเป็นมิติภายนอก

ปฏิรูปการศึกษาจะต้องคิดและทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อ “สร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม” ไม่ใช่แค่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่ฉาบฉวย ผิวเผิน และชั่วคราวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้ดูดีมีความทันสมัย

การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเริ่มต้น และให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการสร้างและพัฒนาคุณภาพภายในของครู/อาจารย์ ในฐานะที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และในฐานะที่เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน

การพัฒนาครู เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นผู้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสำคัญ (Fundamental Transformation) ในระดับบุคคล นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร และสังคมโดยรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็น และเร่งด่วน นอกจากจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเพราะเป็นการพัฒนาจากภายในสู่ภายนอก จากบุคคลสู่สถานศึกษา ชุมชน และสังคมโดยรวมแล้ว การปฏิรูปโครงสร้าง และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดรับกันอย่างเป็นองค์รวม

ผมเคยเขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เป็นระยะๆ แต่ในการเป็นวิทยากร โดยเฉพาะในวงการศึกษา ผมจะพูดและย้ำตลอดเวลาว่า เราต้องปฏิรูปการศึกษาของเรา ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทันสมัย ใกล้เคียงหรือเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เจริญ (ทางวัตถุ) แล้ว ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับบนสุดลงมาจนถึงแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามแนวคิดและแนวปฏิบัติขององค์กรทางธุรกิจ ซึ่งถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และปรับหลักสูตรที่เนื้อหาสาระให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง (Change) ที่เป็นมิติภายนอก เพื่อจะได้เปลี่ยนปรับรับการเปลี่ยนแปลง

แต่เราต้องปฏิรูประบบและกระบวนการทางการศึกษาที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดอาการที่ผมเรียกว่า “ปิ๊งแว้บ” เป็นระยะๆ เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายนอก และภายในตัวตนของตนเอง และที่สำคัญคือการรับรู้ การตระหนักรู้ และการเรียนรู้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมิติทั้งสองและสรรพสิ่ง

ผมจึงเสนอว่าในการปฏิรูปการศึกษา จะต้องคิดถึงการปฏิรูปครู/อาจารย์เป็นอันดับแรก ไม่ใช่โครงสร้าง ลำดับชั้นของตำแหน่ง ระบบการประเมิน ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาตามที่ทำกันอยู่ และระบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อหวังจะเพิ่มคุณภาพเชิงปริมาณภายนอก (คะแนนจากผลการสอบวัดประเภทต่างๆ ) แต่มีผลไปกดทับจิตวิญญาณของความเป็นครู/อาจารย์ แทนที่ครู/อาจารย์จะใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับลูกศิษย์ และชุมชน ก็กลับต้องมาใช้เวลาในการเตรียมรับการประเมินภายนอก และเตรียมตัวรับการประเมินเพื่อปรับระดับและเลื่อนตำแหน่งต่างๆ

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ระบบบริหาร โครงสร้างและสิ่งประกอบภายนอกอื่นๆ ไม่สำคัญ เพราะมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปทั้งหมด เพียงแต่จะเน้นให้เห็นความสำคัญของครู/อาจารย์ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนระบบ โครงสร้าง ระบบการให้ความดีความชอบ ระบบการวัดการประเมิน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จะปฏิรูป จะต้องไม่มาทำร้ายหรือทำลายจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครูไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ (รายวิชา หลักสูตร) และทักษะที่สำคัญและจำเป็นในแต่ละสาขาวิชาชีพไม่สำคัญ ยังสำคัญอยู่ครับ แต่ผมกำลังพูดถึงกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาและแต่ละหลักสูตรเพื่อให้หยุดคิด ใคร่ครวญทบทวนอย่างมีสติ ว่าเราเน้นจากภายในสู่ภายนอก หรือเน้นเฉพาะเนื้อหาสาระ (ความรู้และทักษะ) ภายนอกเท่านั้น เราเน้นการเรียนรู้ หรือการสอน การเรียน และการสอบ ตามวิธีการแบบเดิมที่ทำกันอยู่ เราเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือการสอนการถ่ายทอดเนื้อหาในรายวิชา เราเน้นการรู้เท่าทันซึ่งเป็นมิติภายในหรือการไล่ให้ทันความรู้และทักษะที่เป็นมิติภายนอก

ข้อสังเกตของผมก็คือ การศึกษากระแสหลัก มีการปฏิรูปมิติภายนอกเป็นหลัก เช่นปฏิรูประบบและโครงสร้างองค์กร ตำแหน่งและค่าตอบแทนตามตำแหน่ง มาตรฐานกลาง มาตรฐานสากล มากกว่าการสร้างและพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครู/อาจารย์ การปฏิรูปแต่ละครั้งไหลไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงภายนอกเพื่อให้มีคุณภาพเหมือนหรือใกล้เคียงกับที่อื่นที่เหนือกว่าเมื่อเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากล การปฏิรูปแต่ละครั้งเราพยายามจะหาตัวแบบที่ดีที่สุดเพื่อที่จะเทียบเคียงกับเขาโดยมิได้คำนึงถึงบริบทและเป้าหมายที่แตกต่าง เราทำเพียงเพื่อให้ดูทันสมัย มีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการไล่ล่าตามมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนไปตลอด

การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขออย่าให้ติดกับดัก “ความก้าวหน้าและความทันสมัย” จนสูญเสียความเป็นไทย และความดีความงามของความเป็นคนไทย

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิเสธหรือประท้วงความก้าวหน้าและความทันสมัย แต่ต้องการให้มีสติและปัญญาที่จะรู้เท่าทัน แล้วร่วมด้วยช่วยกันเลือกและสร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความทันสมัยที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม เป็นตัวแบบที่ดีที่ให้ประเทศอื่นมาเรียนรู้และเทียบเคียงได้บ้าง

บทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของการศึกษาคือการสร้างสติและปัญญาให้ปวงชนทุกหมู่เหล่า ไม่ใช่ทำให้ใหลหลงจนขาดสติ และปัญญา เมามัวกับการตามไล่ล่ามาตรฐานของคนอื่น วิ่งหาความก้าวหน้าและความทันสมัยตามความหมายที่ผู้อื่นกำหนด

ความก้าวหน้าที่ขาดสติ และความทันสมัยที่ไร้ปัญญา ไม่น่าจะเกิดขึ้นในการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปประเทศครั้งนี้

เพราะผมไม่อยากให้ใครมาวิพากษ์หรือวิจารณ์ตามหลังว่า การศึกษาของไทยนั้น “ทันสมัยแต่ขาดสติ และไร้ปัญญา” ครับ

ที่จริงผมมีแนวทางที่เสนอว่าจะทำอย่างไร แต่เนื้อที่มีจำกัดครับ แต่ก็เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วหลายบทความ ลองหาอ่านดูได้ครับ

มองไปข้างหน้า มวลมหาประชาคุย


สัมภาษณ์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
เรียบเรียงโดย กลุ่มสันติทำ
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2557
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2557

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งอื่นๆ ในสังคม มีคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อพูดคุยในนามของ “มวลมหาประชาคุย” อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด คือหนึ่งในผู้จุดประกายความคิดของการพูดคุยรูปแบบนี้ อาจารย์ได้อธิบายให้เห็นว่ามวลมหาประชาคุยมีความเป็นมาและกระบวนการอย่างไร รวมทั้งสังคมจะได้อะไรจากการพูดคุยบ้าง และการพูดคุยจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งได้หรือไม่ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะความขัดแย้งเดิมตอนที่กลุ่มสันติทำไปสัมภาษณ์อาจารย์ เหตุการณ์ต่างๆ จะดูเหมือนสงบนิ่งลงอย่างน้อยชั่วคราว แต่หากมองในระยะยาวแล้ว เราคงต้องเริ่มตระเตรียมกระบวนการบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือในคลี่คลายความขัดแย้งในอนาคตโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือลดทอนความเป็นประชาธิปไตยลงอีก


จุดเริ่มต้นของมวลมหาประชาคุย

มวลมหาประชาคุยเริ่มต้นภายหลังการเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบล่าสุด (ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม กปปส.) ได้สักเดือนกว่าๆ ผู้คนมีความคิดที่อยากจะพูดอยากจะคุย แต่ในพื้นที่ที่ไปร่วมชุมนุม การแสดงความคิดอาจจะทำไม่ได้อย่างเต็มที่นัก ในพื้นที่อย่างโซเชียลมีเดียก็มักจะมีข้อขัดแย้งในการนำเสนอความคิดกันอย่างมาก จึงมีผู้คนมานั่งคุยกันว่า เราอาจจำเป็นต้องมีพื้นที่คุย ส่วนจะนำไปสู่สิ่งใดเราไม่ได้ตั้งไว้ ว่ามันจะต้องนำไปสู่การปฏิรูป ประชาธิปไตย หรือทางออก จุดสำคัญมีเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้คนสามารถที่จะมาคุยกันได้ เพราะเรามีความเชื่อในปัญญารวมหมู่ คือถ้ามีการรวมหมู่ของผู้คนมาพูดคุยกัน ใช้วิจารณญาณร่วมกันอย่างสันติ น่าจะมองเห็นทางที่ดีกว่าทางที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

เราจึงเชิญชวนกันมาทำเวทีว่าอำนาจของการพูดคุย ประชาธิปไตยของการพูดคุย มันควรจะเป็นยังไง เราเลยตั้งหลักว่า เราจะเปิดเวทีที่เราเรียกว่า มวลมหาประชาคุย


กระบวนการพูดคุย

ทุกคนมีโอกาสในการพูดการนำเสนอได้อย่างเสรีภายใต้เวลาที่มี แต่ไม่มีใครเป็นวิทยากรหลัก วิทยากรรอง หรือเป็นผู้ดำเนินรายการ มีแต่ทุกคนมานั่งพูดคุยกันในวงใหญ่ หลังจากนั้นชวนแบ่งกลุ่มย่อยตามแต่ความสนใจ โดยยึดหลักที่เรียกว่ากฎสองขา คือพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีประโยชน์ ถ้าเรานั่งอยู่ตรงนั้นแล้ว รู้สึกอึดอัดไม่มีประโยชน์ต่อวงที่คุยกัน เราก็ย้ายไปอยู่ในที่อื่น

เราเริ่มจัดครั้งแรกที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นจัดครั้งที่สองที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตดินแดง โดยเปลี่ยนรูปแบบนิดหน่อย คือจัดเป็นห้องย่อย ทุกคนนำเสนอได้ว่าใครจะเปิดห้องย่อยอะไรบ้าง และใครอยากจะเป็นคนฟังในห้องไหนบ้าง มีการโฆษณาคนละ ๓ นาที แล้วเราก็จัดห้องย่อยไปตามคะแนนเสียง คนฟังเยอะก็เป็นห้องใหญ่ คนฟังน้อยก็ห้องเล็ก แต่ทุกคนได้พูดกันหมด บางคนอาจจะเตรียมมาคุยเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะฟังมาจากครั้งแรกแล้วเรื่องนี้น่าสนใจ บางคนเตรียมมาเรื่องการปฏิรูประบบพลังงาน หลังจากนั้นยังกระจายไปจัดตามจังหวัดต่างๆ คือเชียงใหม่ แพร่ ชลบุรี เป็นต้น


เป้าหมายและประโยชน์ของการพูดคุย

การทำแบบนี้คงไม่ถึงขั้นนำไปสู่ทางออกของประเทศ แต่คงจะทำให้เรา โดยเฉพาะคนที่ได้เข้าร่วมเห็นว่า พื้นที่ของการพูดคุยมีความหมายจริงๆ ทำให้คนได้หาทางออกที่เราอาจจะนึกไม่ถึงตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งหลายๆ ครั้ง หลายๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี เช่น จังหวัดชลบุรีมีการพูดคุยกันสองสามรอบ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมร่วมกัน มีการจัดตั้งสภาลุ่มน้ำโดยมีทุกภาคส่วนมาหารือ วางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน มีฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม ฝ่ายคัดค้านการขยายตัวของอุตสาหกรรม ฝ่ายชลประทาน ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ การพูดคุยลักษณะนี้ทำให้ทุกคนสามารถอยู่และแสวงหาทางออกร่วมกันได้

ถ้าคนที่มาคุย รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์ จากที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยคิดมาก่อน นั่นแหละคือเป้าหมายของการพูดคุย ซึ่งจากการสอบถาม การพูดคุยช่วยในสิ่งนี้ ผมคิดว่ากฎสองขาทำหน้าที่สำคัญ สำหรับสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ บางทีเราอยู่ในสังคมไทยที่ค่อนข้างจะเกรงอกเกรงใจกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อถูกใช้ในพื้นที่สาธารณะมากเกินไป บางครั้งในวงพูดคุยเราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่พูดอยู่ไม่ถูกต้องเหมาะสมนัก แต่เราไม่ได้แสดงอาการใดๆ ออกมา รวมถึงไม่ได้เดินออกไปยังจุดที่เราทำประโยชน์ได้มากกว่า ส่งผลให้พื้นที่สาธารณะนี้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดสำหรับสังคมส่วนรวม แต่เมื่อเรานำกฎสองขามาใช้ เราพบว่าผู้คนจะต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะผู้พูด เมื่อพูดหรือแสดงความเห็นไปแล้ว ผู้คนมีความคิดเห็นอย่างไร จะมีส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เราปรับตัวเข้าหากัน แล้วนำไปสู่ทางออกร่วมกัน


การพูดคุยกันจะช่วยลดความรุนแรงหรือไม่

ความรุนแรงลดลงอยู่แล้ว ตั้งแต่เรารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกัน เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ผมไปเวทีจังหวัดชลบุรี ความรู้สึกของเขา ปัญหาเรื่องน้ำเป็นยิ่งกว่าปัญหา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในนิคม ในชุมชน คุณคือผู้ร่วมชะตากรรม แน่นอนว่าเขามีความเห็นต่างกัน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราร่วมชะตากรรมกัน ทีละส่วนทีละประเด็น หาทางออกร่วมกันได้

แต่ผมคิดว่าความรู้สึกนี้ยังไม่เกิดในสังคมไทยนัก เราต่างยังรู้สึกว่าชะตากรรมเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองฝ่ายเดียวได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ๆ แล้วฝ่ายเราน่าจะถูก ซึ่งจริงๆ คำว่าถูกคำว่าผิดมันก็เป็นเรื่องน่าคิด ในแง่ที่ว่าบางสิ่งที่เราคิดว่าถูกมันอาจถูกจริงก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจต่อความคิดเห็นซึ่งแตกต่างจากเรา ในที่สุดสิ่งที่เรายึดมั่นว่าถูก มันไม่อาจนำเราไปสู่ทางออกที่ถูกที่ดีได้


ความคาดหวังต่อการพูดคุยเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าเรามองแคบคือ แค่ชัยชนะทางการเมืองระยะเฉพาะหน้า เราอาจจะรู้สึกว่า เราขับไล่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จับกุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พิพากษาหรือลงคะแนนเสียงแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ไปได้ แต่ถ้าเรามองแบบระยะไกล ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงไม่สามารถที่จะชนะและปกครองประเทศนี้ หรือมีอำนาจบริหารจัดการประเทศนี้โดยลำพังฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายต้องมาปรับเข้าหากัน

อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ เราต้องไม่มองว่าการพูดคุยต่างๆ นี้ เป็นเรื่องเฉพาะผู้บริหาร ผู้ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เรามีปัญหาอยู่คือ การกระจายอำนาจการพูดคุย เพราะอำนาจการพูดคุยตกอยู่ในคนกลุ่มเดียว คนทั่วไปมีอิทธิพลในการพูดบนเวทีไม่มากนัก เราเลยคิดว่าจำเป็นที่จะต้องกระจายอำนาจการพูดคุย


แนวทางการพูดคุยในอนาคต

ยังมีการพูดคุยกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพื่อจะจัดรายการให้เปิดกว้างให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถพูดคุย จัดวงคุยที่บ้านตัวเอง แต่ว่ามีการถ่ายทำและเผยแพร่ และต่อเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ ไม่ใช่มีเฉพาะที่เป็นแกนนำ เป็นผู้นำ เป็นตัวหลักเท่านั้น และอาจจะมีวงคุยที่มีทัศนคติทางการเมือง ทัศนคติต่อเรื่องๆ หนึ่งในแง่มุมที่ต่างกันและมาพูดคุยในรายการเดียวกัน

จุดสำคัญคือ เราต้องไม่รู้สึกเบื่อที่จะมีวงแบบนี้ แต่แน่นอน ถ้าเราเบื่อ เราใช้กฎสองขา ที่จะบอกว่าเราอยู่อย่างนี้ไปไม่ได้มีประโยชน์ แต่เมื่อเราไม่หยุดแสวงหาและใช้กฎสองขา มันจะนำไปสู่แนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เราพูดคุยกันได้ คำว่าต้องคุยนี่ไม่ได้หมายความว่าถูกบังคับให้มาคุย แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่เราจะพูดคุยกันได้ ผมคิดว่าถ้าเรามีการพูดคุยกันมากกว่านี้ เราก็จะมีความเข้าใจกันมากกว่านี้ มีทางออกกันมากกว่านี้

ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2557

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง จนต่อมาอาจารย์เหล่านี้หาทางจัดกิจกรรมด้วยตัวเอง เพื่อต้องการนำความรู้และประสบการณ์แบบกระบวนกร มาใช้ในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ เป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมเลยอยากมีส่วนร่วมโดยการยกร่างข้อเสนอแปลกๆ แหวกแนวออกไป เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์และเข้าตากรรมการที่ไหนบ้าง

การเรียนการสอนแบบนี้ เริ่มต้นที่การตั้งโจทย์ ข้อแรก ทำอย่างไร โจทย์จึงจะท้าทายผู้เรียนคือนักศึกษาแพทย์ให้อยากค้นหา ข้อสอง ทำอย่างไรผู้เรียนจะมีทักษะในการเรียนรู้ สิ่งที่ผมค้นพบมาในงานค่ายต่างๆ คือ เราจะต้องให้พวกเขาประจักษ์เสียก่อนว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้มาในห้องเรียนนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง แล้วการเรียนรู้ที่แท้จริงคืออะไรล่ะ? เราจะถ่ายทอดวิทยายุทธ์นี้ไปสู่พวกเขาได้อย่างไร?

แนวทางหนึ่ง คือการกลับไปหาต้นฉบับ ไปหาเอกสารชั้นต้นของคนที่ค้นคิดในเรื่องนั้นๆ อ่าน

ผมนึกถึงการเรียนรู้ของศัลยแพทย์คนหนึ่ง ที่เริ่มเรียนได้อย่างจริงจัง เมื่อเขาได้เข้าห้องผ่าตัด เขาบอกว่า ๓ เดือนที่เข้าห้องผ่าตัด เขาได้เรียนมากกว่า ๖ ปีที่เป็นนักศึกษาแพทย์ อันนี้คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ใช่ไหม? และเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงด้วย

อีกประการหนึ่ง คือการเรียนเป็นทีม เอาจุดเด่นข้อด้อยของแต่ละคนมาผสมผสาน เอาด้านบวกของแต่ละคนมาเสริมแรง และสร้างทีมขึ้นมา ให้ทีมเกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันอย่างที่เกิดขึ้นกับพวกอาจารย์หมอใน ๓ วันที่อยู่ในค่ายเรียนรู้ของผม อย่างพี่สอนน้อง ลากจูงกันไป

ทำอย่างไรจะเอาท่าทีเล่นๆ เข้ามาในงาน เข้ามาในการเรียนรู้

เช่น ตั้งหัวข้อที่จะเรียน ลองให้แต่ละทีมของนักศึกษาไปค้นหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาเสนอในห้องเรียน รอบแรกให้ เสนอภาพรวมของหัวเรื่องนั้นๆ ว่ามีอะไรที่เป็นแกนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้ามาด้วยกัน และเชื่อมโยงกันอย่างไร แล้วให้ (จัดการกันเอง) แบ่งว่าทีมไหนจะศึกษาเรื่องอะไร ให้แต่ละทีมมานำเสนอในรอบต่อไป เมื่อทีมหนึ่งนำเสนอ ทีมที่เหลือให้คะแนน หรือบอกว่า หนึ่ง ข้อมูลเพียงพอหรือไม่ สอง การเชื่อมโยงเรื่องราวเป็นอย่างไร สาม การนำเสนอเป็นอย่างไร ชัดเจนไหม? น่าสนใจไหม? เป็นต้น

ลองเรียนแบบไม่ต้องอ่านตำราเลยได้ไหม? เรียนสดๆ จากอินเทอร์เน็ต เหมือนสมมุติขึ้นมาว่านักศึกษาแพทย์ทั้งหมดเป็นชุมชนนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าเรื่องนี้ รวมไปถึงการคาดเดาว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์รู้อย่างนี้แล้ว ลองเดาซิว่า ก้าวต่อไปขององค์ความรู้นี้จะเป็นเช่นไร

แล้วลองเอาทั้งหมดที่ค้นคว้าขึ้นมาได้ไปเปรียบเทียบกับตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองให้คะแนนเปรียบเทียบอย่างยุติธรรมว่า ของใครดีกว่ากัน ของนักศึกษาแพทย์ หรืออาจารย์ผู้เรียบเรียงตำราขึ้นมา ลองไปศึกษาแนวทางอื่นบ้างก็ได้ เช่น แพทย์แผนจีน ว่าเขามองเรื่องเดียวกันนี้แตกต่างอย่างไรกับแพทย์แผนตะวันตก

เนื้อหาที่เรียน ลองตั้งโจทย์ว่า หากเราไม่สามารถเรียนทั้งหมด จำทั้งหมด หากเราจะย่อเรื่องราวลงเท่าที่จำเป็นจริงๆ จะต้องเรียนเรื่องอะไร ให้นักศึกษาไปลองนำสรุปมา สมมุติเนื้อหามี ๑๐๐ หน่วย ย่อเหลือสัก ๑๐ หน่วย เราต้องเรียนอะไร และใน ๑๐ หัวข้อใหญ่นั้น แต่ละทีมเอามาเพียงหัวข้อเดียว ให้เลือกเรื่องที่ยากที่สุด และศึกษาเรื่องนั้นอย่างกระจ่างแจ้ง ให้รู้เลยว่าได้ทำงานที่ยากที่สุดไปแล้ว จำเป็นไหมที่เราต้องเรียนเนื้อหาทั้งหมด คณะแพทยศาสตร์ในเยอรมันแห่งหนึ่ง หลังจะสืบค้นวิจัยทำนองนี้แล้ว เขาตัดหลักสูตรออกไปครึ่งหนึ่งเลย แต่กลับสามารถผลิตแพทย์ออกมาได้มีคุณภาพดีกว่าเดิม

เพื่อนของผมบางคนอาจจะแย้งว่า "ใช่ครับ เรียนแพทย์มา ๖ ปี ไม่เท่ากับผ่าตัด ๓ เดือน แต่หาก ไม่ได้เรียนมาก่อน ก็ผ่าไม่ได้ครับ ความรู้ความสามารถมันจะค่อยๆ เพิ่มตามการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น หลายๆ เรื่องต้องมีการเตรียมตัว ปูพื้นมาบ้าง ก่อนจะเข้าสู่จุดที่สำคัญ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มองข้ามจุดที่อาจจะเป็นความเป็นความตายของคนไข้ได้ครับ"

ผมขออภิปรายต่ออย่างนี้ครับ คือ ผมไม่ได้เสนอให้ไม่เรียนมาก่อนแล้วเข้าห้องผ่าตัดเลย แต่ลองช่วยกันคิดดูไหมครับว่า การเรียนที่จะเตรียมนักศึกษาแพทย์ก่อนไปทำงานจริง ควรจะเป็นเช่นไร? หรือเราจะนำพานักศึกษาไปในเหตุการณ์จำลองของการผ่าตัดแบบเหมือนจริง (simulation)

ลองฟังผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ผมเอาข้อมูลมาจากหนังสือ How Doctors Think โดย นายแพทย์เจอโรม กรู๊ปแมน (Jerome Groopman, M.D.) สำคัญมากเลยครับ คือ ผลจากการชันสูตรคนตายที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าร้อยละ ๓๐ อาจจะไม่ตายก็ได้ หากหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง และผลการวินิจฉัยโรคผิดๆ มาจากหลายทาง แต่เหตุผลใหญ่ๆ ๒ ประการเป็นอย่างน้อย คือ หนึ่ง ปัญหาทักษะการสื่อสารกับคนไข้ เช่น การฟังและการรับรู้อวัจนภาษา และสอง กระบวนการคิดของแพทย์ ผมอยู่กับอาจารย์หมอ ๑๐ คน ๓ วัน หมอบางคนบอกว่า หากหมอไม่ได้ตื่นรู้ และไม่ทำงานกับตัวเอง เพียงความรู้สึกไม่พอใจ หรือหงุดหงิดกับคนไข้บางบุคลิกภาพ เท่านั้น ก็อาจวินิจฉัยโรคพลาดได้แล้ว

มีเพื่อนอีกคนบอกว่า ที่พูดมาทั้งหมดไม่เห็นภาพ ลองยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมสักอย่างหนึ่งได้ไหมว่า เรียนรู้วิธีเรียนรู้ (learn how to learn) โดยไม่ใช่การเรียนที่เน้นการท่องจำจะทำได้อย่างไร

ผมจะเล่าเรื่องครั้งหนึ่งที่ผมเข้าไปแก้โจทย์ให้กับบริษัทจำหน่ายเครื่องมือแพทย์แห่งหนึ่ง ดังนี้

ผมเอาวิธี learn how to learn ไปแก้ปัญหา "พนักงานขายไม่มีความรู้ในตัวสินค้าเพียงพอ" แล้วพนักงานขายก็ไม่ยอมทำอะไรให้ดีขึ้นอีกด้วย แม้จะเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ตาม

ผมเริ่มจากการให้ผู้บริหารระบุว่า จะเอาตัวสินค้าตัวไหนมาให้ผมสาธิตวิธีเรียนรู้เรื่องสินค้าแบบกระบวนทัศน์ใหม่ พวกเขาเลือกสินค้ามาตัวหนึ่ง สมมุติว่าเป็นตู้อบเด็ก คือเวลาเด็กคลอดออกมาไม่แข็งแรง ตู้อบเด็กจะเป็นตัวช่วยดูแลเด็กให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น

ผมเริ่มสาธิตให้ดูโดยแบ่งพนักงานขาย ๑๐ คนเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มละ ๓ คน และมีกลุ่มหนึ่ง ๔ คน

ขั้นแรก ให้ ๓ กลุ่มนั้นไปหาความรู้และข้อมูลมา อย่างไรก็ได้ แล้วกลับมานำเสนอสินค้าให้ลูกค้าอย่างไม่ต้องอาศัยการจดอะไรมา จะกลับไปดูแคตตาล็อกหรือดูตัวสินค้าจริงเลยก็ได้ แล้วให้ทั้งสามทีมนำเสนอกันคนละรอบ พอพวกเขานำเสนอเสร็จ ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า การนำเสนอของพวกเขา หากจะให้ดีกว่านี้ ยังขาดอะไรอยู่ ให้พวกเขาลงไปหาข้อมูลมาใหม่ และมานำเสนออีก ๑ รอบทั้ง ๓ ทีม พอเสร็จ ทีนี้ให้ผู้บริหารช่วยเติม เพื่ออุดช่องว่าง หรือจุดอ่อน หากต้องการให้ชนะคู่แข่งได้

ลองคิดดูสิครับว่า หนึ่ง พวกเขาผ่านการหาข้อมูล อ่าน ตีความและพยายามทำความเข้าใจข้อมูลกันกี่รอบ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด สอง ผมถามว่าเป็นไง เบื่อไหม สนุกไหม รู้สึกอย่างไรกับเวลาบ้าง พวกเขารู้สึกสนุกและเวลาผ่านไปเร็วมาก สาม การทำงานเป็นทีม ทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม ทำให้พวกเขาสนิทสนมกันยิ่งขึ้นและพัฒนาความเป็นทีมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ จะจำลองไปใช้กับการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์ได้ไหม? ตัวดัชนีชี้วัดการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ก็คือความสามารถที่จะยักย้ายถ่ายเทความรู้ในบริบทหนึ่ง นำเอาไปใช้กับอีกบริบทหนึ่งไม่ใช่หรือ เราจะเอาเรื่องนี้ไปปรับประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียนเรียนแพทย์ได้หรือไม่?

สุดท้าย "ผมว่าในที่สุด เราเคารพสติปัญญาของเยาวชนของเราน้อยเกินไป เราเตรียมตัวกันน้อยเกินไปที่เราจะมาสอนพวกเขา เมื่อเตรียมตัวน้อย เราจึงใช้วิธีโบราณที่สุดในการเรียนการสอน ที่น่าเบื่อและไร้จินตนาการที่สุด และเราบอกว่าทำได้อย่างนี้อย่างเดียวแหละ จริงหรือครับ? หรืออันนี้มาจากความไม่รับผิดชอบ หรือความมักง่าย ที่คนที่เรียนมาอย่างไร้จินตนาการ จะได้ถ่ายทอดความไร้จินตนาการไปยังคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า??!!

บ่าวที่ดี นายที่เลว



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2557

“บ่าวที่ดี นายที่เลว” เป็นนิยามหนึ่งของเงิน เงินมีคุณประโยชน์มากมายหากเรารู้จักใช้มัน นอกจากช่วยให้เราและครอบครัวมีชีวิตที่ผาสุกแล้ว เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อกูลผู้อื่นและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่หากเราปล่อยให้มันเป็นนายเรา ครอบงำชีวิตจิตใจของเรา ความเดือดร้อนก็จะตามมาทั้งกับเราและผู้อื่น คนจำนวนไม่น้อยยอมทำชั่วก็เพราะเงิน ไม่ใช่แค่คดโกงเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น แม้กระทั่งบุพการีก็ไม่ละเว้นหากมีมรดกก้อนใหญ่รออยู่หลายคนแม้จะหักห้ามใจไม่ทำชั่วเพราะเงิน แต่ก็ยอมตายเพื่อมันหากมีใครมาแย่งชิงเอาไป หรือตรอมตรมจนล้มป่วยเมื่อสูญเสียมันไป ที่ฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย เมื่อยอมให้เงินมาเป็นใหญ่เสียแล้ว เป็นธรรมดาที่ใครๆ ก็ย่อมหวงแหนมันยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต

แต่จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เงินเท่านั้น ความคิดก็เป็น“บ่าวที่ดี นายที่เลว” ด้วยเช่นกัน ความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยไกลจากอันตราย เราใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหาก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลาย ถ้าคิดไม่เป็นหรือคิดไม่ถูก ชีวิตเราย่อมเต็มไปด้วยความยุ่งยากนานัปการ แต่ถึงจะคิดเป็นหรือคิดเก่ง ถ้าวางความคิดไม่ได้ ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ชีวิตก็เป็นทุกข์เช่นกัน เช่น ฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ วิตกกังวลจนป่วย คนที่คลุ้มคลั่งจนเป็นบ้าหรือถึงกับฆ่าตัวตายก็เพราะปล่อยให้ความคิดรุมเร้าจิตบงการใจอย่างมิอาจควบคุมได้ มิใช่หรือ

ความคิดใดความคิดหนึ่งเมื่อกลายมาเป็นนายเรา มันไม่เพียงสร้างปัญหาให้เราเท่านั้น หากยังก่อความทุกข์แก่ผู้อื่นได้ด้วย อาการที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ เมื่อรู้ว่าคนอื่นมีความคิดที่แตกต่างจากเรา เราจะรู้สึกทนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะรู้สึกว่าความคิดของเรากำลังถูกท้าทายหรือมีคู่แข่ง เราจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความคิดนั้น เริ่มจากโต้แย้ง หักล้าง คัดง้างและโจมตีความคิดของเขา รวมทั้งลดความน่าเชื่อถือของมันด้วย ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเราเลย เพียงแค่แสดงความเห็นที่ต่างจากเรา เราก็รู้สึกไม่พอใจเขาเสียแล้ว นอกจากเล่นงานความคิดของเขาแล้ว เรายังอาจโจมตีตัวเขา ด้วยการต่อว่าด่าทอ หรือใช้ผรุสวาท หากเขาตอบโต้เพื่อปกป้องความคิดของเขา เราก็จะเล่นงานเขาหนักขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นการทะเลาะวิวาท

เมื่อความคิดกลายเป็นนายเรา ก็ง่ายมากที่เราจะมองคนอื่นที่คิดต่างจากเราเป็นศัตรู หรือปฏิบัติต่อเขาราวกับเป็นคนละพวก แม้จะเป็นมิตรสหาย พี่น้อง คู่รัก หรือพ่อแม่ เราก็อาจตัดสัมพันธ์กันได้ง่ายๆ เพียงเพราะคิดต่างกัน แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับการทำร้ายกันถึงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามระหว่างอุดมการณ์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เพราะผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตน จนพร้อมที่จะฆ่าฟันผู้คนทั้งๆ ที่ไม่รู้จักเพียงเพื่อปกป้องความคิดที่ตนยึดถืออย่างหัวปักหัวปำ

ผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตนได้อย่างไร คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่น นี้เป็นสาเหตุเดียวกับที่เงินกลายเป็นนายของใครต่อใคร เมื่อใดก็ตามที่เรายึดติดถือมั่นว่าเงินก้อนนี้เป็น “ของกู” เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปทันที ยิ่งยึดติดถือมั่นอย่างแรงกล้า เราก็พร้อมจะตายเพื่อมัน หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อมัน ความคิดก็เช่นกัน ทันทีที่เรายึดติดถือมั่นว่าความคิดนี้เป็น “ของกู” อีกทั้งยังเป็นความคิดที่ประเสริฐและถูกต้อง เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปโดยไม่รู้ตัว ยอมทำทุกอย่างเพื่อมัน แม้จะต้องตัดญาติขาดมิตรกับผู้คน ก็ไม่ยี่หระ

ความยึดติดถือมั่นหากกระทำอย่างเหนียวแน่น ก็ทำให้เราหลงตัวลืมตนได้ง่าย จนยอมทำทุกอย่างแม้เป็นความเลวร้ายหรือเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ก็เพื่อสิ่งที่ตนยึดติดถือมั่นนั้น ผลก็คือ แทนที่มันจะเป็นเครื่องมือของเรา มันกลับมาเป็นนายเรา แม้ความคิดนั้นจะเป็นสิ่งประเสริฐหรือถูกต้อง แต่หากยึดติดถือมั่นจนลืมตัวแล้ว เราก็สามารถทำสิ่งต่ำทรามหรือความผิดอันมหันต์ได้ ดังคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดถือมั่นในศาสนาที่รักสันติ แต่กลับลงเอยด้วยการประหัตประหารผู้คนเพียงเพราะเขานับถือศาสนาต่างจากตน

ถ้าอยากเป็นนายความคิด แทนที่จะให้ความคิดเป็นนายเรา เราจำต้องมีสติรู้ทันความคิดนั้น เมื่อมันผุดขึ้นมาในใจ ก็รู้ว่ามันเป็นแค่ความคิดไม่ใช่ “ตัวกู” อีกทั้งสามารถวางมันลงได้เมื่อไม่ใช้งาน ที่สำคัญก็คือหมั่นตรวจสอบใคร่ครวญมันอยู่เสมอ ประหนึ่งหยิบเครื่องประดับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทำให้เห็นตำหนิหรือข้อจำกัดของมัน ไม่สำคัญมั่นหมายว่ามันเลอเลิศสมบูรณ์พร้อม

มีท่าทีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราไม่หลงยึดมั่นในความคิดใดความคิดหนึ่งจนคับแคบมืดบอด พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สัจจานุรักษ์” (การคุ้มครองสัจจะหรือรักความจริง)นั่นคือ การไม่ยืนกรานยึดติดว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นที่ถูกต้องและเป็นจริง ดังมีพุทธพจน์ว่า “วิญญูชน เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล(ทั้งนั้น)” ทัศนคติดังกล่าวช่วยให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ดูถูกคนที่เห็นต่างจากตน หรือด่วนสรุปว่าเขา “โง่” “ผิด” หรือ “ชั่วร้าย”

ความคิดที่เรายึดถือนั้น แม้จะไตร่ตรองมาอย่างดี ก็ไม่ควรมั่นใจว่าเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าไม่อยากให้ความคิดพาเราเข้ารกเข้าพง ควรตรวจสอบหรือทักท้วงความคิดของตนอยู่เสมอ รวมทั้งคิดเผื่อไว้บ้างว่า ความคิดนั้นอาจมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะเราเป็นปุถุชน ย่อมมีการรับรู้ที่จำกัด หากเราตระหนักว่าสิ่งที่เราไม่รู้นั้นยังมีอีกมาก และอาจมากกว่าสิ่งที่เรารู้ด้วยซ้ำ เราจะไม่หลงยึดมั่นความคิดใดจนมืดบอด

เป็นธรรมดาที่ผู้ยึดติดถือมั่นในความคิด ย่อมรู้ตัวได้ยาก เพราะถูกความคิดนั้นครอบงำจิตใจจนลืมตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เตือนให้เรารู้ตัวว่ากำลังยึดติดถือมั่นก็คือ เกิดความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธทันทีที่ความคิดที่ตนยึดถือนั้นถูกวิจารณ์ หรือมีการนำเสนอความเห็นอื่นมาเทียบเคียงเสมือนเป็นคู่แข่งขันท้าทาย หากไม่มัวส่งจิตออกนอก หมายตอบโต้ผู้ที่คิดต่างจากตน แต่กลับมาตามดูรู้ทันอารมณ์ของตน ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่เราโมโหโกรธาเขาก็เพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตนนั้นเอง นั่นจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจไม่เผลอทำอะไรที่เลวร้าย แต่ถ้าไม่มีสติรู้ทันใจของตน หากความคิดสั่งให้ด่า เราก็จะด่าทันที ความคิดสั่งให้ทำร้ายเขา เราก็จะทำไม่ยั้ง มารู้ตัวอีกทีก็สายเกินแก้แล้ว

ผู้คนทุกวันนี้ทำร้ายจิตใจกัน ตัดสายสัมพันธ์กันจนขาดสะบั้น สร้างศัตรูมากมาย อีกทั้งยังทำร้ายร่างกายกันอย่างน่าสลดใจ ไม่ใช่เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เป็นเพราะปล่อยให้ความคิดต่างๆ เถลิงอำนาจมาเป็นนายตน ยอมทำตามคำบงการของมัน เพื่อความเป็นใหญ่ของมัน หากเราไม่สามารถเป็นนายของมัน หรือนำมันกลับมาเป็นบ่าวได้ ก็ยากที่ชีวิตจะราบรื่นสงบสุข ซ้ำยังจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหนักขึ้นด้วย

Back to Top