พฤศจิกายน 2008

กล้าสอน (๒) : ฐานคิด หรือ ฐานใจ?



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551

ใน “กล้าสอน” ตอนที่สองนี้ ผมอยากพูดเรื่องของ “องค์ความรู้” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบที่จะต้องคำนึงถึงของพาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ คือ หนึ่ง องค์ความรู้ สอง วิธีการสอน สาม ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู “กล้าสอน” ตอนที่หนึ่ง ผมพูดถึงตัวตนของครูไปบ้างแล้ว จึงอยากพูดถึงองค์ความรู้ โดยจะเชื่อมโยงกับความคิดของพาล์มเมอร์ และเพิ่มเติมความคิดของผมที่ค้นคว้าทั้งจากที่อื่นๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองลงไปด้วย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่เดิมก่อน ระบบโรงเรียนนั้นได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกระบวนทัศน์เก่า) และระบบอุตสาหกรรม โดยที่ระบบอุตสาหกรรมเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดแบบกลไก หรือการนำอุปไมยอุปมาแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำงาน ในการใช้ชีวิต การมองโลก และการจัดการกับโลก อุปมาอุปไมยแบบเครื่องจักรนี้ ได้คืบคลานเข้ามาในปริมณฑลขององค์ความรู้ และวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ถูกลดทอนลงไปกลายเป็นเพียงการเรียนรู้แบบเครื่องจักรกล โดยมีระบบอุตสาหกรรมหรือระบบโรงงานเป็นต้นแบบ เราลองนึกถึงโรงงานผลิตปลากระป๋อง แล้วเราจะเข้าใจระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่

พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับคำว่า objective ซึ่งเป็นคุณศัพท์ ที่หมายถึงการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจิตของเรา ตัวเราในที่นี้คือ subject หรือแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ประธาน” หรือ “ตัวตน” หรือ “ฉัน” นั้นเอง หากเอาฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง การมองจะไม่เที่ยงตรง จะมีอคติได้ ต้องไม่เอาฉันเข้าไปเกี่ยว การมองนั้นจึงจะเป็น “ภววิสัย” คือ objective

แต่พาล์มเมอร์ก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เช่นในควอนตัมฟิสิกส์ เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ควอนตัม กล่าวกันอย่างสอดคล้องว่า ประธาน หรือฉัน (subject) ต้องเข้าไปเกี่ยวอยู่แล้ว ต้องเข้าไปหลอมรวมอยู่แล้ว ตัวประธานนี้แหละที่จะเข้าไปกำหนดความแตกต่างของการรับรู้ของเรา หากไม่เข้ามามองดูตัวตนนี้ เราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ประธาน (subject) จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ลองกลับมามองเรื่องนี้ผ่านปัญญาปฏิบัติดูบ้าง ในแบบฝึกหัดวอยซ์ไดอะล็อกของสามีภรรยาสโตน (ซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่) ต้นฉบับเรื่องวอยซ์ไดอะล็อกนี้ เขาใช้คำว่า personal and impersonal เขาไม่ได้ให้ค่ากับอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างนี้มากกว่าอีกอย่างหนึ่ง แต่เขาเห็นว่าคำตอบอยู่ที่การนำส่วนผสมของทั้งสองมาใช้ร่วมกันอย่างกลมกลืนมากกว่า หลังจากผมได้นำเรื่อง personal and impersonal นี้มาทำแบบฝึกหัดหลายครั้งหลายหน จนเกิดปัญญาปฏิบัติ จนอวัยวะใหม่ (วงจรสมองใหม่) ก่อเกิดขึ้นมารับรู้ความนัยที่แฝงเร้น (tacit knowledge) อย่างแจ่มชัดขึ้นแล้ว ผมเห็นว่า personal หรือ subjective นั้นเป็นฐานใจ ส่วน impersonal หรือ objective นั้นเป็นฐานคิด ลักษณะเดียวกับซูมอิน ซูมเอาต์ด้วย คือ เมื่อใช้ฐานใจ เราจะมีความเป็นส่วนตัว (personal) เราจะเข้าไปใกล้ชิด หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนหรือสิ่งของนั้น ๆ อันนี้คือซูมอิน และเมื่อซูมเอาต์ เราจะถอยห่างออกมามอง ไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันหรือนัวเนีย แต่นำตัวตนของเราออกห่างออกมา อันนี้เป็น impersonal คือไม่เอาตัวเองเข้าไปพันพัว ถอยออกมา แยกออกมา (disconnect) แต่มันเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนะ แล้วแยกออกมา มันจะได้อิสระบางอย่าง แต่ก็สูญเสียการต่อติด (connect) เป็นหนึ่งเดียวอย่างแนบในไปด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราอาจเต้นรำสลับกลับไปกลับมา เพื่อเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา แล้วเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา การสลับไปมาอย่างนี้จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนครบถ้วนแง่มุมมากขึ้น หรืออันที่จริงแล้วสมองจะทำงานอย่างนี้เอง หากเราไม่ไปจำกัดกรอบให้มันจนเกินพอดี

อีกระดับหนึ่งของงานวิจัยสมองในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า สองพลังงาน สองศักยภาพ สองปัญญานี้ คือปัญญาจากฐานใจและปัญญาจากฐานคิด ที่จริงทำงานร่วมกัน แนบสนิทกันมากกว่าที่เราคาดคิด หรือ จากที่เรารู้ๆ กันอยู่ ในภาษาและปัญญาของยุคสมัย ที่จริง อารมณ์ หรือฐานใจ เป็นฐานของความคิดด้วยซ้ำ หากเราไม่เข้าใจฐาน จะเอาแต่ยอด เราจะมั่นคงได้อย่างไร เขาเทียบกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่า อารมณ์เป็นซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ (operating software) และความคิดเป็นตัวซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ ซอฟต์แวร์ใช้งาน (application software) อีกอุปมาอุปไมยหนึ่งจะมองว่า ความคิดเป็นข้อมูลหรือเนื้อหา อารมณ์เป็นการจัดแฟ้ม เป็นจัดเก็บ จัดที่ทาง (organizer) จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเกี่ยวพันกันอยู่อย่างแนบแน่นแยกไม่ออกเลย

ความรู้ในประเด็นฐานคิดฐานใจนี้ จะเข้าไปเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” หรือ “Knowledge Management (KM)” ด้วย ผมคิดว่า จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องแยกแยะคำต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เช่นคำว่า “ความรู้” กับ “ตำรับตำรา” คู่หนึ่ง และ “ความรู้” กับ “ปัญญาปฏิบัติ” อีกคู่หนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องเขียนเป็นอีกบทความแยกออกไปกระมัง

สุดท้ายไม่ใช้ท้ายสุด การจะเป็นครูที่แท้ได้ เราต้องเชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกันกับความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เราจะสอน ทุกปรัชญาจะให้ความสำคัญกับคู่หนึ่งของพลังงาน นั่นคือ “ปัญญาและความรัก” หรือ “impersonal and personal” ความรักทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ และความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งใด หรือบุคคลใด ก็ก่อให้เกิดความรัก ที่สำคัญคือ ต้องเอาฐานคิดและฐานใจมาร่วมกันทำงาน พร้อมด้วยฐานปฏิบัติ หรือฐานกายด้วย จึงจะครบองค์เป็นสองสามชั้นของปัญญาสามฐาน และร้อยเรียงให้ทำงานประสานเสียงกัน มิใช่ปีนเกลียวขัดแย้งกัน

แต่อารยธรรมตะวันตก ที่เริ่มจากคริสต์ศาสนาปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก เอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง เอาความเป็นภววิสัย หรือเอาฐานความคิดเข้ามาเพียงฐานเดียว เอาการมองเห็นที่พื้นผิว หรือรูปธรรมบางแง่มุมอันจำกัดเข้ามา (ชูมากเกอร์ จากหนังสือแผนที่คนทุกข์ของเขา บอกว่า วิทยาศาสตร์เก่าใช้ตาเดียวที่บอดสีเท่านั้น ก็แสวงหาสัจจะได้?) และเป็นความคิดแบบแผนเดียวอีกด้วย คือ ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational mind) แบบตรรกะเท่านั้น เราจึงแยกตัว แปลกแยกจากความรู้ของเรา เรารู้แบบไม่ได้สัมผัสความรู้นั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น หรือความรู้นั้นไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของเรา ในเซลล์ของเรา ในอณูแห่งชีวิตของเรา หรือเป็นเลือดเนื้อของเรา ทางพุทธศาสนาใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” หรือ “รู้ได้เฉพาะตน” อันนี้เป็นความรู้แบบอัตวิสัย (subjectivity) หรือไม่?

วิทยาศาสตร์เก่าบอกว่าอัตวิสัยพิสูจน์ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า ผู้สังเกตไม่อาจแยกตัวออกไปจากสิ่งสังเกต ไม่อาจแยกตัวตน ตัวคน หรือ consciousness คือ “จิต” ออกไปได้ เราแยกจิตออกไปไม่ได้จากการรับรู้ และเรียนรู้ด้วย แต่การรับรู้แบบอัตวิสัยนี้ มันมีมิติที่พิสูจน์ได้ โดย communal หรืออย่างเป็นชุมชน เนื่องจากการที่รับรู้ได้เฉพาะตนนั้น มันพอดีออกมาตรงกัน จึงเป็นความรู้ในทางธรรมที่พิสูจน์ได้อย่างนี้เอง เมื่อก่อน ภาพของนักวิทยาศาสตร์คือที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไร้อารมณ์ความรู้สึก บัดนี้ นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะเต็มเปี่ยมได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังทำงานกันเป็นหมู่คณะอีกด้วย ซึ่งถอดความเป็นพุทธได้ในคำว่า “สังฆะ” หรือ “กัลยาณมิตร” นั่นเอง

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์พระอนุชาว่า “อานนท์ กัลยาณมิตรมีความสำคัญอย่างไรกับพรหมจรรย์” พระอานนท์ตอบว่า “มีความสำคัญเป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าทรงแก้ไขให้ โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า “อานนท์ ที่จริงแล้ว กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ความในย่อหน้านี้ เกี่ยวพันกับความในย่อหน้าที่แล้วหรือไม่อย่างไร วิญญูชนโปรดพิจารณาเอาเองเถิด

โลกร้อน เย็นธรรม



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2551

ธรรมชาติทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่น่านน้ำ ผืนป่า และแผ่นดินที่มนุษย์เข้าถึงยาก จรดขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ กำลังอยู่ในอันตราย ทุกวันนี้แทบไม่มีที่ใดบนผืนโลกที่ปลอดพ้นจากสารพิษ แม้แต่ทวีปอาร์กติกก็ยังพบร่องรอยของสารดีดีทีในตัวสัตว์ซึ่งสามารถทำลายระบบประสาท กลางมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งไกลจากทวีปนับพัน ๆ ไมล์มีขยะพลาสติกนับหมื่นตันล่องลอย และทำให้สัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะกินมันเข้าไปด้วยคิดว่าเป็นอาหาร ขณะที่สัตว์ทั้งใหญ่น้อยต้องสูญพันธุ์เพราะถิ่นที่อยู่ถูกรุกราน

ธรรมชาติทั่วโลกกำลังประสบวิกฤตในสามลักษณะ คือ ๑.การแพร่กระจายของมลภาวะทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ และอากาศ ๒. ความร่อยหรอหรือสูญหายอย่างรวดเร็วของธรรมชาติ ไม่ว่า ชนิดพันธุ์ของพืช สัตว์ ตลอดจนทรัพยากร อาทิ น้ำมัน แร่ธาตุ และป่า ๓. ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อาทิ น้ำท่วม ฝนแล้ง

ในบรรดาภัยทั้งสามประการนี้ ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศเป็นประเด็นที่กำลังมีการพูดถึงมากที่สุด แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่น้ำท่วม ฝนแล้ง หากกำลังวิตกถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ “โลกร้อน” แม้ว่าโลกร้อนเป็นปัญหาที่เราเพิ่งตระหนักเมื่อไม่ถึง ๒๐ ปีมานี้เอง แต่มันกลับกลายเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่สามารถนำมนุษยชาติและสรรพชีวิตในโลกนี้เข้าสู่ภาวะวิกฤตได้เร็วกว่าภัยสองประการแรกเสียอีก

ไม่เป็นที่สงสัยกันแล้วว่า “โลกร้อน” เป็นวิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่นเดียวกับการเกิดมลภาวะและการร่อยหรอสูญหายของทรัพยากรธรรมชาติ มันเป็นวิกฤตที่จะมีผลกระทบกว้างไกลเกินกว่าที่มนุษย์จินตนาการไปถึง เนื่องจากมันส่งผลพร้อมกันทั่วทั้งโลก มิได้กระจายเป็นจุด ๆ อย่างภัยธรรมชาติชนิดอื่น ๆ

ปัจจุบันมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด เช่น รถยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมัน เครื่องยนต์ที่ประหยัดพลังงาน อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า รวมทั้งโครงการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้พิภพ แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำได้จริงหรือมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เทคโนโลยีเหล่านี้ก็เพียงแต่ชะลอปัญหา หรือกลับส่งเสริมให้มนุษย์บริโภคมากขึ้น เช่นเดียวกับรถประหยัดน้ำมัน ที่กลับกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางมากขึ้น การบริโภคน้ำมันจึงไม่ได้ลดลงเลย กลับจะมากขึ้นด้วยซ้ำ

รากเหง้าของปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อยู่ที่ทัศนคติของมนุษย์ในปัจจุบันที่มองเห็นธรรมชาติเป็นเพียงมวลวัตถุที่มีขึ้นเพื่อปรนเปรอความต้องการของมนุษย์เท่านั้น เราไม่ได้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงพึงสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ตรงกันข้ามผู้คนกลับเข้าใจว่ามนุษย์คือนายของธรรมชาติ ดังนั้นจึงสามารถทำอย่างไรกับธรรมชาติก็ได้

ทัศนคติอีกประการหนึ่งที่มาควบคู่กันก็คือ การเข้าใจว่าความสุขเกิดจากการครอบครองและบริโภควัตถุ มีมากเสพมากเท่าไรก็จะมีความสุขมากเท่านั้น ชีวิตจะก้าวหน้าเพียงใดก็วัดจากจำนวนและชนิดของรถที่มี ตลอดจนราคาของบ้านและที่ดินในครอบครอง รวมทั้งยอดเงินในบัญชีเงินฝาก ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เราแข่งกันเสพและครอบครองวัตถุ โดยมีลัทธิบริโภคนิยมเป็นตัวกระตุ้น และมีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นตัวรองรับ แต่ไม่ว่าจะมีมากเสพมากเพียงใด ผู้คนก็ไม่เคยรู้สึกพอเสียที ยังต้องการไม่หยุดหย่อน ผลก็คือเกิดการทำลายธรรมชาติอย่างขนานใหญ่ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตอันฟุ้งเฟ้อร่ำรวยที่ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด โดยที่ความสุขของผู้คนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ดังเห็นได้จากอัตราการเป็นโรคจิตโรคประสาทและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นี้คือทัศนคติหลัก ๆ สองประการที่เป็นรากเหง้าของการทำลายธรรมชาติในปัจจุบัน

ทัศนคติดังกล่าวและพฤติกรรมที่สืบเนื่องตามมา ไม่เพียงทำให้ผู้คนเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับธรรมชาติเท่านั้น หากยังทำให้ผู้คนเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับตัวเองด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้คนทุกวันนี้ทนอยู่กับตัวเองคนเดียวไม่ได้ แต่พยายามหนีตัวเองตลอดเวลา ด้วยการไปขลุกอยู่กับสิ่งเสพ เที่ยวห้าง คุยโทรศัพท์ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะไปเบียดเบียนธรรมชาติ

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ธรรมชาติแวดล้อมวิกฤตก็เพราะธรรมชาติภายในของผู้คนเสียสมดุล พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติแวดล้อมทุกวันนี้เป็นผลมาจากความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติภายในผู้คน เป็นเพราะผู้คนมีความทุกข์ อ้างว้าง และว่างเปล่าในส่วนลึกของจิตวิญญาณ จึงพยายามหาวัตถุมาเติมเต็ม แต่ไม่ว่าจะแปรธรรมชาติเป็นสิ่งเสพและทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใด จิตวิญญาณก็ไม่เคยเติมเต็มเสียที

ธรรมชาติแวดล้อมจะไม่มีวันฟื้นฟูได้เลยหากธรรมชาติภายในของผู้คนไม่คืนสู่สมดุลหรือความปกติ ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ธรรมชาติกับธรรมะแยกจากกันไม่ออก หากจะฟื้นฟูธรรมชาติได้ก็จำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมในใจของผู้คน นั่นคือทำให้ผู้คนกลับมาตระหนักถึงความเป็นจริงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงควรสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ขณะเดียวกันธรรมยังช่วยให้เรารู้จักพอ มีชีวิตที่เรียบง่ายได้โดยไม่ต้องฝืนใจ เพราะสามารถเข้าถึงความสุขที่ประณีต

ความสุขอันประณีตนั้นไม่ต้องอาศัยการเสพหรือมีวัตถุ แต่เกิดจากการมีจิตใจที่สงบเย็น จากการทำความดี จากการเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้คนอันเป็นผลจากความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของเรา รวมทั้งจากความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราทุกคนย่อมโหยหาความสุข และการที่เราพากันไปแสวงหาความสุขจากวัตถุ ก็เพราะเราไม่รู้จักหรือไม่สามารถเข้าถึงความสุขอันประณีต แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงความสุขอันประณีตได้ ความสุขจากวัตถุจะมีเสน่ห์น้อยลง

ความสุขอันประณีตเกิดจากเข้าถึงธรรม เมื่อเรารู้จักพอ ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย และเมื่อจิตใจมีความสุข ความพอก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ไม่มีความจำเป็นต้องเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อปรนเปรอกิเลสหรือสนองความสุขอย่างหยาบ ๆ อีกต่อไป ทำให้มีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ใจที่มีธรรมจึงเป็นหลักประกันแห่งการรักษาคุ้มครองธรรมชาติที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามธรรมไม่ได้เกื้อกูลธรรมชาติฝ่ายเดียว ธรรมชาติก็เกื้อกูลธรรมด้วย ผู้ที่มีจิตใจรุ่มร้อน เมื่อได้มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด จิตใจก็จะสงบเย็นได้เร็ว เกิดกุศลธรรมได้ง่าย และหากหันมามองด้านใน หรือรู้จักบำเพ็ญทางจิต สติ สมาธิ ปัญญาก็จะเจริญงอกงาม ผู้ที่มีใจเปิดกว้าง ย่อมเรียนรู้ธรรมได้มากมายจากธรรมชาติ ไม่ว่าสัจธรรมคือความเป็นจริงของชีวิต เช่น ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง และความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของทุกสิ่งในจักรวาล ใช่แต่เท่านั้นธรรมชาติยังสอนจริยธรรมให้แก่เราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจากต้นไม้ที่เอื้อเฟื้อสรรพสัตว์ จากแมลงที่อดทนและเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ จากนกที่โบยบินอย่างอิสระโดยไม่มีทรัพย์สินเป็นภาระ เมื่อมีผู้ถามหลวงปู่มั่นว่าท่านรู้ธรรมได้อย่างไรในเมื่อเรียนหนังสือไม่มาก ท่านตอบว่า “สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า” และด้วยเหตุผลเดียวกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงแนะให้ผู้มาเยือนสวนโมกข์ หัดฟังต้นไม้และก้อนหินสอนธรรม

ผู้ที่ใฝ่ธรรมหรือหวังความเจริญงอกงามของชีวิตด้านใน จึงควรมีเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด ในบรรยากาศเช่นนั้น หากน้อมจิตให้ดี ไม่เพียงเราจะเห็นธรรมจากธรรมชาติแวดล้อมเท่านั้น หากยังจะเห็นธรรมชาติภายในใจเราชัดเจนด้วย ซึ่งนำไปสู่การเห็นสัจธรรมของชีวิตและโลกได้ ทำให้เกิดความสงบและสว่างกระจ่างแจ้งภายใน

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ธรรมชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย เราไม่ควรที่จะแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติเท่านั้น แม้จะเป็นประโยชน์ทางธรรมก็ตาม หากควรมีน้ำใจเอื้อเฟื้อและตอบแทนคุณ ธรรมชาติด้วย โดยช่วยกันพิทักษ์รักษาธรรมชาติอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า การนำสิ่งของมาหมุนเวียนใช้ใหม่ การส่งเสริมถุงผ้า การคุ้มครองสัตว์และพันธุ์พืช ตลอดจนการรณรงค์ให้ผู้คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ข้อที่พึงตระหนักคือ การพิทักษ์รักษาธรรมชาติเป็นงานที่เห็นผลช้า และอาจหยุดยั้งการทำลายไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรท้อแท้หรือคับข้องใจ เพราะถึงอย่างไรนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง จะว่าไปแล้วจำเป็นมากที่เราควรมองการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะจะช่วยให้เรามีความสงบเย็นในจิตใจได้ ในขณะที่โลกกำลังร้อนไม่หยุด ไม่ควรที่เราจะร้อนรุ่มไปกับผู้คนทั้งโลก หากควรรักษาใจให้สงบเย็นเอาไว้ การทำงานใด ๆ ก็ตาม แม้จะเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่หากเราทำด้วยความทุกข์แล้ว สิ่งนั้นก็อาจกลายเป็นโทษได้ อย่างน้อยก็เป็นโทษแก่เราเอง

ในยามที่โลกกำลังร้อน เราจึงไม่ควรร้อนตามโลก แต่ควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตและทำประโยชน์แก่โลกได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าโลกจะร้อนเพียงใด แต่ธรรมนั้นร่มเย็นเสมอ เมื่อใดใจถึงธรรม ความสงบเย็นภายในก็เป็นไปได้แม้โลกภายนอกจะร้อนรุ่มเพียงใดก็ตาม

หนีน้ำ ถามใจ



โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551

คุณรู้ไหม...

เขาว่ากันว่าโลกร้อน

น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย

น้ำกำลังจะท่วมกรุงเทพฯ



หลายคนเตือนมา

เขาว่าอีกไม่เกิน ๑๐ ปี

แต่บางคนบอกปีหน้า

...

วันก่อนผมหยุดคุยกับแม่ค้าที่ตลาด

เจ๊แกบอกว่า…

“เศรษฐีเมืองกรุงมาซื้อที่บนดอย เตรียมไว้ปลูกบ้านกันแยะ”

....

เชียงรายเป็นหนึ่งในที่ลี้ภัยสินะ

...ผมคิด

...

สำหรับผม

ผมไม่ได้คิดจะมาอยู่เชียงรายเพื่อหนีน้ำ

จึงยังไม่ได้เตรียมซื้อที่เนินไว้ปลูกบ้าน

ยังไม่ได้เตรียมซื้อเรือพาย

หรือห่วงยางไว้สำหรับลูกสาว

...

บางครั้งผมก็มานั่งคิด

ว่าเอ...

ทำไมเราจึงได้ชะล่าใจถึงเพียงนี้

ไม่รีบหาที่ทางกันเหนียวเอาไว้บ้าง

...

น้ำท่วมโลก

โลกวิปริต

ผมคิด...

เกิดขึ้นแน่ๆ

ตายแน่ๆ

ไม่ช้าก็เร็ว ไม่นานเกินรอ

หากผู้อยู่อาศัยในโลก

ยังบริโภคกันแบบนี้

ยังใช้น้ำมันกันแบบนี้

ยังผลิตขยะและของเสียกันแบบนี้

ยังแก่งแย่ง แข่งขันกันแบบนี้

เป็นพลโลกที่ปราศจากจิตสำนึกกันไปเรื่อยๆ แบบนี้

...

บอกตรงๆ

บางทีผมเห็นรถราในกรุงเทพฯ

เห็นวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ

เห็นคลองในกรุงเทพฯ

ผมยังคิดเล่นๆ ว่า

ให้น้ำพัดมาล้างกรุงเทพฯบ้างก็น่าจะดี

แต่มันจะล้างใจที่ด้านชาและสกปรกของคนออกไปได้บ้างไหมนะ

บางที

คงมีเพียงความทุกข์แสนสาหัสเท่านั้น

ที่จะทำให้คนตื่น

...ผมคิด

....

สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เศรษฐกิจตกต่ำ

บ้านเมืองลุกเป็นไฟ คนไทยฆ่าฟันกัน

โลภ ...โกรธ ...หลง

กับโลกร้อน

คนป่วย โลกก็ป่วยได้

ฟ้าก็บ้าได้ ธรณีก็คลั่งได้

เกิดได้ ก็เจ็บได้ และตายได้เช่นกัน

คุณว่าไหม?

...

เขาว่าการเจริญมรณสติ

จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น

การเจริญมรณสติในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึง

การดำเนินชีวิตแบบกลัวตายหรือหนีตาย

แพนิค แอนด์ พารานอย (panic and paranoia)

“ไม่ประมาทไว้ก่อน” จนลุกลี้ลุกลนไม่เป็นตัวของตัวเอง

แต่ผมว่า การเจริญมรณสติ น่าจะหมายถึงอะไรง่ายๆ

อย่างการตระหนักรู้ในทุกลมหายใจเข้าออกที่ว่า

“ความตายมาเยือนเราได้ตลอดเวลา”

“ภัยจะมาเมื่อไรก็ได้”

แล้วไงต่อ

...

น้ำท่วมโลกถือเป็นเรื่องใหญ่

อาจหมายถึง ความตายของอะไรหลายๆ อย่าง

ที่ใกล้เข้ามา รอเราอยู่เบื้องหน้า ไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อความตายอยู่ตรงหน้า คำถามที่ว่า

“ถ้าพรุ่งนี้อเมริกาจะทิ้งระเบิดปรมาณูลงทั่วประเทศไทย คุณจะย้ายไปอยู่ประเทศไหน?”

“หากคุณกำลังเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คุณจะไปบำบัดรักษา ยืดเวลาชีวิตกันที่ไหน?”

และ “ถ้าพรุ่งนี้น้ำจะท่วมโลก คุณจะหนีน้ำไปอยู่ไหน?”

มองออกนอกตัวไป แล้วเห็นอะไรในใจบ้าง

...

ได้ยินไหม...

ยังมีเสียงกระซิบอย่างแผ่วเบา เสียงด้านในที่ยังเฝ้าถามใจเราอยู่เสมอ

“ถ้าพรุ่งนี้คุณอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างที่คุณรักอีกต่อไป

คุณจะใช้เวลาของวันนี้อย่างไร?”

ผมว่า...

นั่นคือพลังแห่งการดำเนินชีวิตที่ความตายได้มอบให้



“น้ำท่วมโลก”

“คนไทยฆ่าฟันกัน”

“สันติภาพกำลังจะสูญสิ้น”

ข้อความเหล่านี้ ไม่ได้เอาไว้เพียงเพื่อมองความเป็นไปในแง่ร้าย

ไม่ได้เอาไว้กระตุ้นต่อมความหวังและความกลัว

สร้างโลกขมุกขมัวให้ใจหมอง

...

คำถามเหล่านี้

เป็นคำถามแห่งความเป็นความตาย

เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบจากนักวิชาการ หรือผู้ (สู่) รู้

แต่มันคือ “คำถามแห่งการเปลี่ยนจิตสำนึก”

คำถามที่ปลุกให้คุณตื่น

ที่คำตอบอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่ได้ถาม

“เราเกิดมาทำไม”

“หากวันหนึ่งเราต้องตาย แล้ววันนี้เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”

คนทุกคนควรจะได้มีเวลาถามตัวเอง ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกชั่วขณะ ทุกลมหายใจเข้าออกที่เรายังสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติไปได้ในแต่ละวัน

เป็นคำถามที่เราควรจะถามในทุกครั้งที่เราใช้จ่าย ทุกครั้งที่เราใช้รถ ทุกครั้งที่เราเลือกส.ส.เข้าไปในสภา

… ถือเป็นมรณานุสติ

...

น้ำจะท่วมโลกพรุ่งนี้แล้ว...

วันนี้เราได้ทำอะไรเพื่อคนรอบข้าง และวิกฤตจิตสำนึกที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง

น้ำท่วมหน้าบ้านคุณแล้ว...

คุณรู้สึกอะไรในใจบ้างกับความทุกข์ร่วมของเพื่อนมนุษย์ในครั้งนี้

...

อย่างน้อยก่อนจะหาทางหนีทีไล่

ขอได้เปิดพื้นที่ว่างๆ ของใจ

ไว้สำหรับการใคร่ครวญความรู้สึก ความหมาย และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ดูบ้าง

อย่าเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาหนีน้ำ ขึ้นเรือพาย...

แล้วกลับไปใช้ชีวิตเวียนว่าย บริโภคเผลอไผลอย่างไร้สติ บนดอยแถวเชียงรายกันต่อไป

...

อย่างกะหนังไททานิค

ผมคิด...

กล้าสอน (๑)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551

The Courage to Teach หรือ “กล้าสอน” เป็นหนังสือที่ดีที่สุดไม่กี่เล่มที่ผมได้อ่านในรอบห้าปีนี้ เขียนโดย พาร์เกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ซึ่งเป็นเควกเกอร์ (เควกเกอร์เป็นนิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนาที่เข้าหาศาสนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีนักบวช ไม่มีคนที่เป็นสื่อกลาง หากทุกคนเป็นฆราวาสที่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีวัฒนธรรมภาวนาอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ในชีวิตอย่างมีพลัง) หนังสือของพาล์มเมอร์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ครูของณัฐฬส (วังวิญญู) คนหนึ่งมีพาล์มเมอร์เป็นหนึ่งในครูสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

พาล์มเมอร์ยังทำเวิร์คชอป “กล้าสอน” โดยให้คนเข้าค่ายหลีกเร้นใคร่ครวญ เพื่อกลับมาสะท้อนย้อนใคร่ครวญร่วมกันในคณะครู เข้ามาทบทวนความหมายของการเป็นครู วิธีการสอน และที่สำคัญยิ่ง ตัวตนด้านในของครู พาล์มเมอร์พูดถึงองค์ประกอบ ๓ ประการในการเป็นครูที่ดี หนึ่ง คือ องค์ความรู้ สอง คือ วิธีการสอน สาม คือ ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู หรือคำของพาล์มเมอร์อันเป็นชื่อที่สองของหนังสือ “กล้าสอน” ของเขา คือ “ภูมิทัศน์แห่งโลกภายในของครู”

จากประสบการณ์ของพาล์มเมอร์เอง วิธีการสอนนั้นไม่ใช่เป็นประเด็นที่สำคัญนัก แต่ตัวตนของครูต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ เขาเคยพยายามลอกเลียนครูของเขา ผู้มีพลังในการสอนมาก แต่ครูคนนี้กลับมีวิธีการสอนแบบอนุรักษ์นิยมธรรมดา คือ จะบรรยายอย่างยืดยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่ทิ้งเวลาให้ถามตอบกันเลยด้วยซ้ำ แต่ครูกลับเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และเชื่อมโยงศิษย์เข้าสู่องค์ความรู้หรือวิชาที่จะสอนได้อย่างทรงพลัง เขาพยายามลอกเลียนครูทุกอย่าง แต่ผลคือความล้มเหลว กว่าจะรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร ต้องเสียเวลาไปเป็นทศวรรษ ตอนหลัง เขาได้เปลี่ยนวิธีการสอน หากยังคงพลังอะไรบางอย่างของครูคนนี้ไว้ในท่วงทำนองการสอน เขาจึงพบ “มหาวิชา” แห่งการสอน และเขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม ทำหลักสูตรเวิร์คชอปให้ครูมาเรียนแปดครั้งๆ ละสามสี่วัน ในช่วงเวลาสองปี งานของเขาแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา ๓๒ รัฐ สร้างกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) ได้ถึง ๑๕๐ คน และเวลานี้ได้มีหลักสูตร “กล้านำ” เพิ่มเข้ามา เพราะสิ่งที่เขาค้นพบ มิใช่ว่าจะใช้ได้เฉพาะในแวดวงการศึกษาเท่านั้น

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และยังเชื่อมโยงศิษย์เข้าหาองค์ความรู้ได้อีกด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เควกเกอร์เป็นนิกายที่ลงลึกในเรื่องศาสนธรรม คนกลุ่มนี้นิยมสันติวิธีหรือสันติวิถี แม้ยอมตายแต่ไม่ยอมเข้าสงคราม คงเป็นเพราะฐานเดิมบางประการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ ทำให้ข้อสาม คือ การทำงานกับโลกภายในของครู กลายเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้

พาล์มเมอร์กล่าวว่า ทำไมเด็กนักเรียนจึงชอบครูคนใหม่ ที่เพิ่งจะมาเป็นครู หรือบรรดาพวกครูฝึกหัดทั้งหลาย ผมเองได้ใช้ประเด็นนี้เป็นประเด็นเริ่มต้นกับเวิร์คชอปที่จัดให้บรรดาครู ซึ่งผมทดลองมาแล้วสองเวิร์คชอป มันชวนให้ครูได้ไปใคร่ครวญอะไรบางอย่างว่า ทำไมเด็กจึงรักครูคนใหม่ของเขา คนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปสรุปกันจากการสนทนาในเรื่องนี้อย่างละเอียดลออว่า ครูคนใหม่ยังไม่ได้เป็นครูอย่างครูเก่า ซึ่งจะมี “มาดของครู” ที่ซึ่งเด็กจะกลัว และมีอำนาจลี้ลับที่จะสะกดเด็กให้อยู่ในอำนาจได้ สามารถจัดการห้องเรียนได้เรียบร้อย คือ เด็กจะเคารพเชื่อฟังครู แต่ครูคนใหม่ยังไม่มีอำนาจนี้ ยังเป็นครูธรรมดาที่เปราะบาง อ่อนแอ บางทีจัดการนักเรียนไม่อยู่ก็ร้องไห้หน้าห้องเรียนนั้นเอง แต่แล้วเด็กจะรักและจะให้ความร่วมมือ ครูหลายคนที่มาร่วมเวิร์คชอปกับผมบอกว่า พวกเขาพากันรักครูคนใหม่ของเขา และเลยไปถึงรักวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย

ตอนผมไปอยู่หมู่บ้านเด็ก ทำงานร่วมกับ พิภพ ธงไชย ในปีแรกของโรงเรียนแห่งนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แนะว่า ให้ไปอยู่กับเด็กโดยไม่ต้องใช้อำนาจ มันทำให้ผมคิดถึงว่า อำนาจที่แท้จริงของครูคืออะไร? ไม่ใช่ไม้เรียว หรือคะแนน ผมได้ใคร่ครวญโจทย์ข้อนี้มาตลอดชีวิต แล้วผมก็ได้เป็นครูสมใจ หากแต่เป็นครูนอกระบบโรงเรียน ผมอาจจะพบคำตอบ แต่งานเขียนของพาล์มเมอร์ได้ทำให้คำตอบนั้นชัดเจน และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

พาล์มเมอร์พูดถึงการเชื่อมโยงกับเด็กได้ แล้วนำพาเด็กไปเชื่อมโยงกับวิชาที่ครูสอน ซึ่งครูจะต้องเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนด้วย ต้องเข้าหา เข้าถึงวิชาที่สอน จนองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นเลือดเนื้อของครูเอง ส่วนวิธีการสอน กระบวนการสอน ครูแต่ละคนอาจจะต้องหาทางเข้าหาความเหมาะสมลงตัว ยืดหยุ่นและผันแปรได้ตามความถนัดหรือตามอัตลักษณ์ของครูแต่ละคนเอง

พาล์มเมอร์พูดถึงครูคนหนึ่งที่อยู่ข้างใน (Inner teacher) ว่า เราต้องค้นหาครูภายในของเราให้พบ ในฐานะนักเรียนวอยซ์ ไดอะล็อค ผมคิดว่า ครูภายในที่ว่านี้ เชื่อมโยงอยู่กับเด็กน้อยผู้เปราะบางของ ดร. สโตน สองสามีภริยา (Dr. Hal & Sidra Stone) ทั้งสองได้กล่าวถึงสรรพคุณของเด็กน้อยผู้เปราะบางที่ดำรงตนอยู่ภายในเราไว้ว่า หนึ่ง เด็กน้อยมีความสามารถที่จะสนิทสนม เมื่อเราเปราะบาง เรายอมรับความอ่อนแอของเรา ความกลัวของเรา เหมือนกับว่าเรายังเป็นครูคนใหม่ตลอดกาล ใช่ไหม เป็นไปได้ไหม?

สอง เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ตัวตนดั้งเดิมของเรา (ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปบางคนได้โยงเข้ากับจิตเดิมแท้อันประภัสสร หรือเรืองแสง) ทำให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไร ชอบอะไร ซึ่งอาจจะช่วยนำพาให้เราไปสอนในสิ่งที่เราสามารถเชื่อมโยงได้จนเป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเรา จนกระทั่ง เราอาจจะสามารถเชื่อมโยงเด็กให้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือปรัชญา และทำให้เด็กรักในสิ่งที่เรารักไปได้ด้วย

สาม เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ผู้ที่ตื่นตะลึง ทึ่งกับทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้า ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ ด้วยสภาวะจิตที่พร้อมจะเรียนรู้สูงสุดอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกกันว่า สภาวะจิต หรือสมอง ที่เราจะสามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)

สี่ เด็กน้อยผู้เปราะบาง ยังมีแผนที่ทางจิตวิญญาณติดตัวมา เมื่อเราเข้าไปแตะตัวเด็กน้อยในตัวเราได้ เราจะเห็น “แผนที่ทางจิต” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Psychic fingerprint” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไพเราะที่สุดในโลกคำหนึ่ง (คำของ ดร. สโตน เอง) และเราจะแจ้งใจซึ่งทางเดินแห่งจิตวิญญาณของเรา เราจะได้เห็นว่า ครูไม่ได้เพียงสอนวิชาเท่านั้น หากยังสอนมหาวิชา หรือวิชาว่า ด้วยการเติบโตด้านใน ด้านจิตวิญญาณอีกด้วย

Back to Top