โลกร้อน เย็นธรรม



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2551

ธรรมชาติทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่น่านน้ำ ผืนป่า และแผ่นดินที่มนุษย์เข้าถึงยาก จรดขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ กำลังอยู่ในอันตราย ทุกวันนี้แทบไม่มีที่ใดบนผืนโลกที่ปลอดพ้นจากสารพิษ แม้แต่ทวีปอาร์กติกก็ยังพบร่องรอยของสารดีดีทีในตัวสัตว์ซึ่งสามารถทำลายระบบประสาท กลางมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งไกลจากทวีปนับพัน ๆ ไมล์มีขยะพลาสติกนับหมื่นตันล่องลอย และทำให้สัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะกินมันเข้าไปด้วยคิดว่าเป็นอาหาร ขณะที่สัตว์ทั้งใหญ่น้อยต้องสูญพันธุ์เพราะถิ่นที่อยู่ถูกรุกราน

ธรรมชาติทั่วโลกกำลังประสบวิกฤตในสามลักษณะ คือ ๑.การแพร่กระจายของมลภาวะทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ และอากาศ ๒. ความร่อยหรอหรือสูญหายอย่างรวดเร็วของธรรมชาติ ไม่ว่า ชนิดพันธุ์ของพืช สัตว์ ตลอดจนทรัพยากร อาทิ น้ำมัน แร่ธาตุ และป่า ๓. ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อาทิ น้ำท่วม ฝนแล้ง

ในบรรดาภัยทั้งสามประการนี้ ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศเป็นประเด็นที่กำลังมีการพูดถึงมากที่สุด แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่น้ำท่วม ฝนแล้ง หากกำลังวิตกถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ “โลกร้อน” แม้ว่าโลกร้อนเป็นปัญหาที่เราเพิ่งตระหนักเมื่อไม่ถึง ๒๐ ปีมานี้เอง แต่มันกลับกลายเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่สามารถนำมนุษยชาติและสรรพชีวิตในโลกนี้เข้าสู่ภาวะวิกฤตได้เร็วกว่าภัยสองประการแรกเสียอีก

ไม่เป็นที่สงสัยกันแล้วว่า “โลกร้อน” เป็นวิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่นเดียวกับการเกิดมลภาวะและการร่อยหรอสูญหายของทรัพยากรธรรมชาติ มันเป็นวิกฤตที่จะมีผลกระทบกว้างไกลเกินกว่าที่มนุษย์จินตนาการไปถึง เนื่องจากมันส่งผลพร้อมกันทั่วทั้งโลก มิได้กระจายเป็นจุด ๆ อย่างภัยธรรมชาติชนิดอื่น ๆ

ปัจจุบันมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด เช่น รถยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมัน เครื่องยนต์ที่ประหยัดพลังงาน อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า รวมทั้งโครงการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้พิภพ แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำได้จริงหรือมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เทคโนโลยีเหล่านี้ก็เพียงแต่ชะลอปัญหา หรือกลับส่งเสริมให้มนุษย์บริโภคมากขึ้น เช่นเดียวกับรถประหยัดน้ำมัน ที่กลับกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางมากขึ้น การบริโภคน้ำมันจึงไม่ได้ลดลงเลย กลับจะมากขึ้นด้วยซ้ำ

รากเหง้าของปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อยู่ที่ทัศนคติของมนุษย์ในปัจจุบันที่มองเห็นธรรมชาติเป็นเพียงมวลวัตถุที่มีขึ้นเพื่อปรนเปรอความต้องการของมนุษย์เท่านั้น เราไม่ได้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงพึงสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ตรงกันข้ามผู้คนกลับเข้าใจว่ามนุษย์คือนายของธรรมชาติ ดังนั้นจึงสามารถทำอย่างไรกับธรรมชาติก็ได้

ทัศนคติอีกประการหนึ่งที่มาควบคู่กันก็คือ การเข้าใจว่าความสุขเกิดจากการครอบครองและบริโภควัตถุ มีมากเสพมากเท่าไรก็จะมีความสุขมากเท่านั้น ชีวิตจะก้าวหน้าเพียงใดก็วัดจากจำนวนและชนิดของรถที่มี ตลอดจนราคาของบ้านและที่ดินในครอบครอง รวมทั้งยอดเงินในบัญชีเงินฝาก ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เราแข่งกันเสพและครอบครองวัตถุ โดยมีลัทธิบริโภคนิยมเป็นตัวกระตุ้น และมีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นตัวรองรับ แต่ไม่ว่าจะมีมากเสพมากเพียงใด ผู้คนก็ไม่เคยรู้สึกพอเสียที ยังต้องการไม่หยุดหย่อน ผลก็คือเกิดการทำลายธรรมชาติอย่างขนานใหญ่ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตอันฟุ้งเฟ้อร่ำรวยที่ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด โดยที่ความสุขของผู้คนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ดังเห็นได้จากอัตราการเป็นโรคจิตโรคประสาทและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นี้คือทัศนคติหลัก ๆ สองประการที่เป็นรากเหง้าของการทำลายธรรมชาติในปัจจุบัน

ทัศนคติดังกล่าวและพฤติกรรมที่สืบเนื่องตามมา ไม่เพียงทำให้ผู้คนเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับธรรมชาติเท่านั้น หากยังทำให้ผู้คนเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับตัวเองด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้คนทุกวันนี้ทนอยู่กับตัวเองคนเดียวไม่ได้ แต่พยายามหนีตัวเองตลอดเวลา ด้วยการไปขลุกอยู่กับสิ่งเสพ เที่ยวห้าง คุยโทรศัพท์ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะไปเบียดเบียนธรรมชาติ

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ธรรมชาติแวดล้อมวิกฤตก็เพราะธรรมชาติภายในของผู้คนเสียสมดุล พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติแวดล้อมทุกวันนี้เป็นผลมาจากความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติภายในผู้คน เป็นเพราะผู้คนมีความทุกข์ อ้างว้าง และว่างเปล่าในส่วนลึกของจิตวิญญาณ จึงพยายามหาวัตถุมาเติมเต็ม แต่ไม่ว่าจะแปรธรรมชาติเป็นสิ่งเสพและทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใด จิตวิญญาณก็ไม่เคยเติมเต็มเสียที

ธรรมชาติแวดล้อมจะไม่มีวันฟื้นฟูได้เลยหากธรรมชาติภายในของผู้คนไม่คืนสู่สมดุลหรือความปกติ ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ธรรมชาติกับธรรมะแยกจากกันไม่ออก หากจะฟื้นฟูธรรมชาติได้ก็จำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมในใจของผู้คน นั่นคือทำให้ผู้คนกลับมาตระหนักถึงความเป็นจริงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงควรสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ขณะเดียวกันธรรมยังช่วยให้เรารู้จักพอ มีชีวิตที่เรียบง่ายได้โดยไม่ต้องฝืนใจ เพราะสามารถเข้าถึงความสุขที่ประณีต

ความสุขอันประณีตนั้นไม่ต้องอาศัยการเสพหรือมีวัตถุ แต่เกิดจากการมีจิตใจที่สงบเย็น จากการทำความดี จากการเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้คนอันเป็นผลจากความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของเรา รวมทั้งจากความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราทุกคนย่อมโหยหาความสุข และการที่เราพากันไปแสวงหาความสุขจากวัตถุ ก็เพราะเราไม่รู้จักหรือไม่สามารถเข้าถึงความสุขอันประณีต แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงความสุขอันประณีตได้ ความสุขจากวัตถุจะมีเสน่ห์น้อยลง

ความสุขอันประณีตเกิดจากเข้าถึงธรรม เมื่อเรารู้จักพอ ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย และเมื่อจิตใจมีความสุข ความพอก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ไม่มีความจำเป็นต้องเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อปรนเปรอกิเลสหรือสนองความสุขอย่างหยาบ ๆ อีกต่อไป ทำให้มีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ใจที่มีธรรมจึงเป็นหลักประกันแห่งการรักษาคุ้มครองธรรมชาติที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามธรรมไม่ได้เกื้อกูลธรรมชาติฝ่ายเดียว ธรรมชาติก็เกื้อกูลธรรมด้วย ผู้ที่มีจิตใจรุ่มร้อน เมื่อได้มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด จิตใจก็จะสงบเย็นได้เร็ว เกิดกุศลธรรมได้ง่าย และหากหันมามองด้านใน หรือรู้จักบำเพ็ญทางจิต สติ สมาธิ ปัญญาก็จะเจริญงอกงาม ผู้ที่มีใจเปิดกว้าง ย่อมเรียนรู้ธรรมได้มากมายจากธรรมชาติ ไม่ว่าสัจธรรมคือความเป็นจริงของชีวิต เช่น ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง และความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของทุกสิ่งในจักรวาล ใช่แต่เท่านั้นธรรมชาติยังสอนจริยธรรมให้แก่เราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจากต้นไม้ที่เอื้อเฟื้อสรรพสัตว์ จากแมลงที่อดทนและเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ จากนกที่โบยบินอย่างอิสระโดยไม่มีทรัพย์สินเป็นภาระ เมื่อมีผู้ถามหลวงปู่มั่นว่าท่านรู้ธรรมได้อย่างไรในเมื่อเรียนหนังสือไม่มาก ท่านตอบว่า “สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า” และด้วยเหตุผลเดียวกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงแนะให้ผู้มาเยือนสวนโมกข์ หัดฟังต้นไม้และก้อนหินสอนธรรม

ผู้ที่ใฝ่ธรรมหรือหวังความเจริญงอกงามของชีวิตด้านใน จึงควรมีเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด ในบรรยากาศเช่นนั้น หากน้อมจิตให้ดี ไม่เพียงเราจะเห็นธรรมจากธรรมชาติแวดล้อมเท่านั้น หากยังจะเห็นธรรมชาติภายในใจเราชัดเจนด้วย ซึ่งนำไปสู่การเห็นสัจธรรมของชีวิตและโลกได้ ทำให้เกิดความสงบและสว่างกระจ่างแจ้งภายใน

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ธรรมชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย เราไม่ควรที่จะแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติเท่านั้น แม้จะเป็นประโยชน์ทางธรรมก็ตาม หากควรมีน้ำใจเอื้อเฟื้อและตอบแทนคุณ ธรรมชาติด้วย โดยช่วยกันพิทักษ์รักษาธรรมชาติอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า การนำสิ่งของมาหมุนเวียนใช้ใหม่ การส่งเสริมถุงผ้า การคุ้มครองสัตว์และพันธุ์พืช ตลอดจนการรณรงค์ให้ผู้คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ข้อที่พึงตระหนักคือ การพิทักษ์รักษาธรรมชาติเป็นงานที่เห็นผลช้า และอาจหยุดยั้งการทำลายไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรท้อแท้หรือคับข้องใจ เพราะถึงอย่างไรนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง จะว่าไปแล้วจำเป็นมากที่เราควรมองการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะจะช่วยให้เรามีความสงบเย็นในจิตใจได้ ในขณะที่โลกกำลังร้อนไม่หยุด ไม่ควรที่เราจะร้อนรุ่มไปกับผู้คนทั้งโลก หากควรรักษาใจให้สงบเย็นเอาไว้ การทำงานใด ๆ ก็ตาม แม้จะเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่หากเราทำด้วยความทุกข์แล้ว สิ่งนั้นก็อาจกลายเป็นโทษได้ อย่างน้อยก็เป็นโทษแก่เราเอง

ในยามที่โลกกำลังร้อน เราจึงไม่ควรร้อนตามโลก แต่ควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตและทำประโยชน์แก่โลกได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าโลกจะร้อนเพียงใด แต่ธรรมนั้นร่มเย็นเสมอ เมื่อใดใจถึงธรรม ความสงบเย็นภายในก็เป็นไปได้แม้โลกภายนอกจะร้อนรุ่มเพียงใดก็ตาม

Back to Top