พฤษภาคม 2008

ทุนนิยมอย่างมีจิตสำนึก



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2551

ท่านผู้อ่านหลายคนคงจะเคยได้ยินว่า จักรวาลนี้ประกอบขึ้นด้วยสสารฝ่ายลบหรือฝ่ายสร้างสรรค์ (Matter) ซึ่งจะมีมากกว่าสสารฝ่ายบวก (Antimatter) เพียงหนึ่งในพันล้านตัว สสารทั้งสองชนิดซึ่งเหมือนกันทุกประการเพียงแต่ผิดกันที่ประจุไฟฟ้า คือ ชนิดหนึ่งมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ เช่น อิเล็กตรอน กับอีกชนิดหนึ่งมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก เช่น โพสิตรอน ทั้งนี้ สสารที่มีประจุไฟฟ้าเท่ากันเป๊ะๆ จะทำลายกันและกันจนหมด โดยเปลี่ยนเป็นพลังงานออกมา และเพียงหนึ่งในพันล้านตัวที่เหลืออยู่นี้ ก็สามารถสรรค์สร้างทุกสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ของจักรวาลนี้ได้ทั้งหมด รวมทั้งระบบสุริยะ โลกของเรา กับมนุษย์ทุกๆ คนด้วย โดยการสร้างสรรค์อาจจะเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกที่ควบคุมพฤติกรรมทางกายและจิตใจของมนุษย์ทุกคนทั้งในด้านความดีงามและคุณธรรมจริยธรรม แต่ขณะเดียวกันก็ให้ทั้งความเลวและความชั่วร้ายด้วย

พูดง่ายๆ เราทุกคนเป็นทั้งเทวดากับอสูรร้ายกันทั้งนั้น อย่างแทบจะพูดได้ว่ามีอยู่กันคนละเกือบครึ่งหนึ่ง โดยฝ่ายที่ดีงาม (Good) หรือฝ่ายสร้างสรรค์จะมีอยู่มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง (Evil) เล็กน้อย และจากส่วนที่เหลือสุดจะเล็กน้อยนี้เองที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์สังคมอารยธรรมความดีงามและความเจริญให้แก่มนุษยชาติได้ทั้งหมด

พูดง่ายๆ ความดีความชั่วมีอยู่อย่างละเกือบครึ่งมาตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว ดังนั้น การที่เราคิดว่าชีวิตเป็นเรื่องบังเอิญและจักรวาลนั้นเป็นเรื่องไกลตัว คงจะต้องคิดใหม่

การเปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ความดีงามที่ว่ามานั้น เป็นภาพของสังคมโลกโดยรวม แต่หากพูดถึงแต่ละสังคมหรือประเทศชาติหนึ่งใดอย่างเป็นปัจเจก การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งช่วงใด จะขึ้นกับการกระตุ้นจากอารมณ์ของสังคม หรือเอสคิว (SQ) ของประชาชนที่นั่นในขณะนั้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชนหนึ่งใดในช่วงเวลาสั้นๆ ที่อาจเป็นความดีเลิศอย่างสุดๆ ก็ได้ หรือชั่วร้ายอย่างสุดๆ ก็ได้ จึงมีให้เห็นเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของโลกมาตลอด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตามอย่างหรือการกดดันจากสังคมภายนอกจึงมีขึ้นเสมอๆ

ก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายพันปี สังคมโลกอยู่ในยุคเกษตรกรรมและระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องของสิทธิที่กษัตริย์มอบให้ประชาชนปฏิบัติ จนกระทั่งทุนนิยมและความเป็นปัจเจกชนเกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ ๑๗ โดยมีวิทยาศาสตร์กายภาพที่เราทั้งโลกเชื่อว่าเป็นความรู้ที่ให้ความเป็นจริงที่สุด กับเทคโนโลยีที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์กายภาพนั้นๆ เป็นรากฐาน จึงได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งทำให้สังคมโลกตะวันตกเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของตนให้เป็นการอุตสาหกรรม และประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงตามเป็นกระแสโลกานุวัตรมาจนบัดนี้ และตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา โลกตะวันตกได้มีการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมไปเป็นเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร (Information economy) ทำให้สังคมโลกเปลี่ยนตามเป็นกระแสโลกานุวัตรอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ทุนนิยมกับสิทธิมนุษยชนบนความเป็นตัวตนของแต่ละคนนั้น มาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่เป็นประหนึ่งยาดำที่ซึมแทรกอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ปัจจุบันนี้ ยุคหรือระบบเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารได้จบลงแล้วในสังคมโลกตะวันตก แม้ว่าจะยังคงแข็งแรงอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ตามระดับของการพัฒนานั้นๆ แต่สุดท้ายแล้วระบบเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารคงจะเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มจากซีกโลกตะวันตกเหมือนอย่างเคย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ในครั้งนี้ (New paradigm of economy) มาจากทางตะวันออก และมีเนื้อหาสาระของความเป็นตะวันออกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้น แต่เราชาวตะวันออกไม่รู้เป็นอย่างไร จึงไม่ค่อยเชื่อชาวตะวันออกด้วยกัน ต้องเป็นฝรั่งตะวันตกหรืออเมริกันถึงจะเชื่อ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลกในครั้งใหม่นี้ จะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ (Spirituality) เป็นเรื่องของทุนนิยมจิตวิญญาณ (Spiritual capitalism) หรือระบบทุนนิยมอย่างมีจิตสำนึก (Conscious capitalism)

ระบบเศรษฐกิจที่มีจิตสำนึกใหม่หรือจิตวิวัฒน์เป็นรากฐานนั้น วันนี้และต่อๆ ไปจะต้องมีแน่ ไม่ว่านักธุรกิจจะชอบหรือไม่ เพราะปัญหาที่ซับซ้อนจนเป็นวิกฤตอย่างที่เราไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน เช่น การก่อการร้ายที่มีมากขึ้นทุกๆ วัน สงครามที่ปล้นเงินชาวโลกไปเป็นจำนวนมาก น้ำมันที่ค่อยๆ หมดไปพร้อมๆ กับแพงขึ้นและหายากขึ้นทุกๆ วัน ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำและอาหารไปทุกหย่อมหญ้า การว่างงานและเงินในกระเป๋าของประชาชนที่นับวันมีแต่จะแห้งลง ทำให้อาชญากรรมและยาเสพติดเพิ่มทวีขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และปัญหาสังคมอื่นๆ มีแต่จะรุนแรงและมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เราแสวงหาคำตอบเพื่อการอยู่รอด และการแสวงหาดังกล่าว คือการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านและรอบคอบซึ่งเป็นเรื่อง “ภายใน” ทั้งหมด

ขณะนี้ในทางธุรกิจและเศรษฐกิจนั้น แม้ว่านักธุรกิจส่วนใหญ่จะมองเห็นการทำธุรกิจเป็นเรื่องของการแข่งขันและการทำกำไรในระยะสั้นให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม กับการเชื่อฟังยังเป็นเรื่องของการบังคับบัญชาและการควบคุม แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อนักธุรกิจส่วนน้อยส่วนหนึ่งโดยเฉพาะบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกกับเอกชนบางคนที่รักธรรมชาติ - รวมทั้งรักอนาคตการอยู่รอดของลูกหลานและของเผ่าพันธุ์อย่างแท้จริง - เริ่มจะหันมาหาความหมายและคุณค่าของชีวิตในฐานะมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ความดีงามและจริยธรรมอย่างจริงจัง นักธุรกิจเหล่านี้กำลังหันไปหาความเป็นหนึ่งหรือความเป็นองค์รวม (Holism) แต่นักธุรกิจแบบนี้ยังมีน้อยและเปลี่ยนช้ามากๆ ขณะที่เรามีเวลาเหลืออยู่น้อยเต็มที

ทุกวันนี้ นักธุรกิจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่ว่า ทุกคนต่างรู้ว่าเราไม่มีเวลาที่จะทำอย่างเดิมๆ ได้อีกแล้ว และไม่ว่าเราจะทำอย่างไร การหวังให้โลกกลับไปเหมือนเดิมเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ระบบเศรษฐกิจและธุรกิจที่ตั้งบนความโลภ การทำลายสิ่งแวดล้อม การหากำไรระยะสั้นบนความเป็น “ตัวกูของกู” นั้นกำลังจะจบลงโดยสิ้นเชิงจริงๆ

ที่มองเห็นในปัจจุบันก็คือ ความหวังว่าเราส่วนใหญ่มากๆ จะตื่น และเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลาก่อนที่โลกจะล่มสลายไปทั้งหมด ซึ่งแม้เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่คงไม่นานนักแน่ๆ และผู้เขียนเชื่อว่า – ทั้งโดยหลักฐานบางอย่างทางวิทยาศาสตร์ และโดยทางจิต หรือทางศาสนา –ปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) จะเป็นปีที่โดมิโนล้ม (ดู www.youtube.com: matrix singularity) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ

สิ่งที่นักธุรกิจส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่กล่าวมา กำลังเร่งทำกันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ปรึกษาระดับยักษ์ใหญ่ ที่พยายามจัดระบบเศรษฐกิจของโลกในกระบวนทัศน์ใหม่ จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นผลกำไรสูงสุดกับการแข่งขันไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่รวมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วยกัน เรียกว่า Corporate Social Responsibility (CSR) โดยเริ่มต้นมีขึ้นที่อเมริกาในช่วงปลายๆ ทศวรรษ ๑๙๗๐ และหลังจากนั้น ได้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีรายงานขององค์การสหประชาชาติ ในปี ๑๙๙๕ ว่ามีองค์กรใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนของธรรมชาติ หรือเน้นความโปร่งใสเพิ่มขึ้นมาก และมีรายงานจากบริษัทตรวจบัญชีนานาชาติแห่งหนึ่งบอกว่า ในปี ๒๐๐๕ บริษัทใหญ่ๆ มากกว่าร้อยละ ๕๐ ทั่วทั้งโลก ได้รายงานการมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากซีเอสอาร์แล้ว ยังมีองค์กรทางเศรษฐกิจอย่างมีจิตสำนึกเพื่อสังคมอีกองค์กรหนึ่งชื่อ กองทุนเพื่อการลงทุนให้กับชุมชน (Socially Responsible Investing: SRI) หรือการคัดเลือกหรือ “กรอง” (screened) ที่จะนำเงินหรือทุนมาซื้อหุ้นหรือซื้อบริษัทใดๆ ที่มีจริยธรรม มีความโปร่งใส เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อบริษัทที่เน้นเฉพาะการหากำไรให้ได้มากที่สุดเลย กองทุนเอสอาร์ไอตั้งขึ้นในปี ๑๙๘๔ และเพียง ๒๐ ปีต่อมา มีเงินทุนเพิ่มขึ้นถึง ๕ พันเท่า จาก ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น ๒๑๖,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีกลายนี้มีรายงานว่ากองทุนเอสอาร์ไอมีเงินลงทุนให้กับชุมชนและสังคมมากถึงราวร้อยละ ๑๐ ของเงินลงทุนทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา

และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ กษัตริย์ภูฏานพระองค์ก่อนได้เสนอต่อองค์การสหประชาชาติให้ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) เป็นเครื่องชี้วัดความเจริญพัฒนาของประเทศหนึ่งใด โดยเสนอให้ใช้ความสุขมวลรวมของคนในประเทศ (GNH) นั้นๆ แทน ดังที่เรารู้กันอยู่

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าอาจมีความสำคัญกว่าคือ การมีความก้าวหน้าอยู่ไม่น้อยในด้านของการ “ตื่น” ที่ภายใน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและวิสัยทัศน์ของพฤติกรรมภายนอก (inside-out) ของนักธุรกิจเอกชนแต่ละคนที่เป็นปัจเจก ซึ่งจะทำให้มีการตื่นและเปลี่ยนแปลงจากภายในออกไปสู่ภายนอก และเมื่อนักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์นักวิชาการระดับผู้นำของสังคมเปลี่ยนจริงๆ แบบนี้ ประชาชนคนทั่วไปส่วนหนึ่งก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

ความคิดและพฤติกรรมที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของบ้านเราท่านหนึ่ง คือ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา กล่าวว่า ในปี ค.ศ.๒๐๑๓ เป็นต้นไป ประชากรไทยส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งจะมีการตื่นตัวทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีทางที่เป็นไปได้ แต่ผู้เขียนที่มองอนาคตของมนุษยชาติทั้งในทางวิทยาศาสตร์ และทางจิตวิญญาณ หรือญาณหยั่งรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อ หรือกับศาสนาเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลง (Human transformation) จะเกิดขึ้นอย่างทั่วไปได้ จำต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะนำไปสู่การตื่นและการเปลี่ยนแปลง และตัวเร่งปฏิกิริยาที่สำคัญที่สุดคือ ความเจ็บปวดกับความทุกข์อย่างลึกล้ำ ความทุกข์ทั้งของตนเองและผู้ที่เรารัก หรือความทุกข์จากความไม่ปลอดภัยของส่วนรวม ที่ทำให้เราคิดแบบสะท้อนสู่ภายใน (World Values Survey, www.maweb.org)

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่า ก่อนที่จะมีการตื่นทางจิตวิญญาณได้จริงและเป็นล่ำเป็นสัน โลกจะต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่ยิ่งใหญ่และต่อเนื่องอย่างที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ เช่น มหันตภัยจากธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ รวมทั้งโรคระบาดต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มทวีขึ้นรูปแบบแล้วรูปแบบเล่า เช่นเดียวกับโดมิโนที่เมื่อเริ่มต้นล้มแล้วก็ไม่มีทางที่ใครจะขัดขวางได้เลย

นับตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ เป็นต้นมา เริ่มมีนักธุรกิจสนใจในเรื่องการทำสมาธิและการเจริญสติโดยการฝึกในศูนย์ต่างๆ เช่น ศูนย์การปฏิบัติสมาธิเพื่อสังคม ศูนย์ของคุณหมอจอห์น คาบัต-ซิน หรือเข้าโปรแกรมฝึกจิตการเป็นผู้นำ (Presencing) ของ ปีเตอร์ เซงเก้ มีรายงานว่า ตั้งแต่ปี ๑๙๙๔ เป็นต้นมา มีนักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ร่วมแสนคนจากประเทศต่างๆ จำนวน ๕๖ ประเทศ ได้เข้าปฏิบัติ “ราชาโยคะ” โปรแกรมสำหรับผู้บริหารและผู้นำ โดยทุกวันนี้ มีอินเตอร์เน็ตที่แนะนำการฝึกการทำสมาธิและการเจริญสติด้วยวิธีต่างๆ สำหรับสาธารณชนโดยเฉพาะนักธุรกิจอีกด้วย

การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการทำธุรกิจที่ได้กล่าวมาทั้งหมด การตีจากกระแสที่ใช้มานานจนเคยชินนั้น สำหรับนักธุรกิจ เป็นเรื่องที่ทั้งยากและกินเวลามาก คงไม่ทันกับเวลาที่โลกจะต้องพัง ความหวังอย่างเดียวคือ เราต้องให้ข้อมูลเรื่องโลกร้อน และระบบเศรษฐกิจธุรกิจในรูปแบบปัจจุบัน ผ่านทุกๆ สื่อซ้ำแล้วซ้ำอีกเท่านั้นจึงอาจจะพอช่วยได้บ้าง

จิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับกฎหมายสำหรับนักการเมือง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2551

ปัจจุบันเราได้ยินนักการเมือง และผู้นำระดับสูง พูดในทำนองว่า ถ้าทำถูกกฎหมายก็เป็นสิ่งถูกต้อง และมีความชอบธรรมที่จะทำ และในบางกรณีถึงกับพูดในลักษณะที่ว่า อะไรที่ไม่ผิดกฎหมายก็ทำไปเถอะ คำพูดและการกระทำดังกล่าวสะท้อนค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ทางกฎหมายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าค่านิยมเช่นนี้จะเป็นตัวแบบที่ไม่ดีกับประชาชนและโดยเฉพาะเยาวชนของประเทศ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการพยายามจะทำสิ่งที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม ขาดจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการแก้หรือออกกฎหมาย เพื่อจะได้ทำสิ่งนั้นอย่างถูกกฎหมาย แล้วก็อ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย มีความชอบธรรมที่จะทำ ทั้งๆ ที่โดยจิตสำนึกก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่งาม ไม่ควรทำ ดังที่เราได้เห็นนักการเมืองบางคน และพรรคการเมืองบางพรรคทำ อ้าง และพยายามทำเป็นระยะๆ

การทำถูกกฎหมายแม้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรทำหรือไม่ควรทำเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่า ตัวอย่างเช่น หวยบนดิน บ่อนคาสิโน โสเภณีตีตรา ... ทำให้ถูกกฎหมายได้ แต่ควรทำหรือไม่ การบริหารจัดการสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันดีหรือสิ่งที่เคยผิดกฎหมาย แล้วทำให้ถูกกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพโดยอ้างแค่เรื่องการควบคุมการจัดระเบียบ มีคุณค่าเพียงพอ และคุ้มค่าต่อการสูญเสียค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีบางประการของไทยไปหรือไม่

การจัดสรรโควตารัฐมนตรีตามจำนวนสมาชิกในมุ้งใหญ่ มุ้งเล็ก ตามจำนวนเงินที่สนับสนุนพรรค ตามภาค หรือตามมือที่มองเห็นและมองไม่เห็น เป็นความชอบธรรมที่นักการเมืองและพรรคการเมืองมักจะอ้าง แต่เหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศหรือไม่ ไม่เห็นพูดถึง พูดแต่เพียงว่าได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย ก็มีความชอบธรรมที่จะทำ (เพราะได้รับเลือกมาแล้ว เป็นตัวแทนแล้ว เป็นรัฐบาลแล้ว)

ถ้ารักชาติจริง เห็นแก่ประโยชน์สูงสุดของประชาชนส่วนใหญ่และประเทศจริง ทำไมไม่เลือกคนดีและคนเก่งที่สุดมาเป็นรัฐมนตรี ทำไมต้องมีโควตา โควตาเป็นประชาธิปไตยหรือ โควตาถูกกฎหมายหรือ มีกฎหมายเกี่ยวกับโควตารัฐมนตรีหรือไม่ หรือเป็นเพียงแนวปฏิบัติของนักเลือกตั้งที่ชอบอ้างประชาธิปไตย โดยลดทอนประชาธิปไตยเหลือแค่การเลือกตั้ง

เหตุผล และข้ออ้างส่วนใหญ่ที่นักการเมืองใช้มักจะอิงกับความถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเป็นฝ่ายปฏิบัติเองก็จะบอกว่าทำตามกฎหมาย แต่ถ้าถูกกล่าวหาก็จะอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย ความคิดและการกระทำดังกล่าว บิดเบือนให้เข้าใจผิดไปว่ากฎหมายคือ กรอบปฏิบัติสูงสุด ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายเป็นกรอบกติกาภายนอก ไม่ควรอยู่เหนือคุณธรรมความดีความงามภายในจิตใจ กฎหมายไม่ควรขัดแย้งกับความดีงามในสังคม และไม่ควรเอื้อให้คนทำสิ่งที่เลวได้อย่างถูกกฎหมาย

ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอันเป็นคุณธรรมภายในที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะสมเรียนรู้กันมาผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษไทย กลายเป็นสิ่งที่ด้อยคุณค่ากว่ากฎหมายใหม่ที่ร่างขึ้นมาตามแนวตะวันตก แบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ความถูกต้องชอบธรรม และความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถูกลดทอนลงเหลือเพียงความถูกต้องชอบธรรม และความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย และตามกฎระเบียบของหน่วยงาน

ผู้เขียนเคยเขียนบทความในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เรื่อง “ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก” ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองและคนทั่วๆ ไปจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน กำลังลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม ความยุติธรรม ความชอบธรรม เหลือแค่เพียงความถูก-ผิดทางกฎหมาย และโดยเฉพาะความถูก-ผิดตามกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของหน่วยงานของตนเอง และยังได้ตั้งข้อสังเกตเชิงคำถามว่า ความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมจริงหรือไม่ ความถูกต้องตามกฎหมาย สร้างให้สังคมเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมจริยธรรมหรือไม่ ทั้งที่ในหลักการแล้วกฎหมายที่ดีก็ควรนำไปสู่ความยุติธรรม และความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ไม่ควรแยกหรือแปลกแยกออกจากกัน

อันที่จริงบทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญส่วนหนึ่งจากการได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มากด้วยประสบการณ์ จึงขอเอ่ยนามด้วยความเคารพคือ อาจารย์ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ท่านได้ให้ข้อสังเกตด้วยความห่วงใยว่า ค่านิยมที่ผิดเกี่ยวกับกฎหมายในปัจจุบันที่สำคัญอันหนึ่งคือ การคิดว่ากฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด จึงมักจะได้ยินคำพูดทำนองว่า “อะไรไม่ผิดกฎหมายก็ทำไปเถอะ” ค่านิยมเช่นนี้อาจารย์บอกว่าต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการ ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณ ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเป็นมืออาชีพมีความสำคัญกว่า เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องต่ำสุด ซึ่งถูกใจผู้เขียนมาก

หากนำข้อสังเกตของอาจารย์ชัยณรงค์มาพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ปรากฏในสังคมไม่ว่าจะในระดับโลกหรือระดับประเทศ ก็จะเห็นได้ชัดเจนอย่างน่าวิตก เช่น กรณีกองทุนข้ามชาติระดับใหญ่จัดกระทำ (Manipulate) ให้ราคาน้ำมัน ราคาทองคำผันผวนเพียงเพื่อผลกำไร การบิดเบือนราคาหุ้น การหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน การออกหรือแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควตา การจ้อง และการสืบหาการกระทำที่ผิดหรือส่อว่าอาจจะผิดกฎหมายของฝ่ายตรงข้าม (รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ตนเองกับคู่ปรปักษ์) โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน สังคม และ ประเทศชาติ และโดยปราศจากจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี

จริงอยู่ที่ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นกฎหมายของสังคม แต่คนที่มีอำนาจ และนักการเมืองบางคน ไม่ให้ความสำคัญเท่ากับกฎหมายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในปัจจุบัน ความถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงความถูกต้องตามการตีความตามตัวอักษรเพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก โดยบิดเบือนหรือมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมักเป็นแนวปฏิบัติที่นักการเมืองอาชีพบางคนชอบทำโดยอ้างความชอบธรรม และอ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามกฎหมาย

เสรีภาพของบุคคลตามกฎหมาย อาจจะไม่ใช่เสรีภาพส่วนบุคคลที่แท้จริง เสรีภาพส่วนบุคคลที่แท้จริง เป็นเสรีภาพภายในที่บริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายภายนอกมาบังคับ มีความโปร่งใส ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อยืนยันความโปร่งใส

การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ชอบธรรม จึงชอบทำ และลงมือทำอย่างจริงจัง จริงใจ และอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ของท่านเจ้าคุณอลงกต วัดพระบาทน้ำพุ การช่วยเหลือคนยากจนให้มีงานทำของหลวงพ่อพระพยอม กัลยาโณ วัดสวนแก้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายบังคับ แต่ถูกต้อง ชอบธรรม ตามหลักจริยธรรม และคุณธรรมอันดีงามของการอยู่ร่วมกันในสังคม

ความเมตตา กรุณา เป็นสิ่งดีงาม สมควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ หรือตราไว้เป็นกฎหมาย เพราะเป็นคุณค่า เป็นค่านิยมที่ดีงามเกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เกิดจากการมีสติและปัญญาของบุคคล ไม่ได้เกิดจากการบังคับตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องการขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี หรือการขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวุฒิทางการศึกษา เรื่องถือครองหุ้นเกิน ๕% และอื่นๆ ในทำนองเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลตัดสินตามกฎหมายก่อนตัดสินใจ เพราะเจ้าตัวน่าจะรู้ดีว่าความจริงเกี่ยวกับตัวเองเป็นอย่างไร หากมีจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็ไม่ควรรับตำแหน่งหรือไม่ควรทำตั้งแต่แรก ยกเว้นไม่รู้จริงๆ แต่เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่ต้องรอผลการตัดสินทางกฎหมาย ตัดสินได้ด้วยตัวเองอย่างมีความกล้าหาญทางคุณธรรม

อย่าลืมว่านักการเมืองและผู้นำประเทศ เป็นเสมือนครูและตัวแบบให้กับประชาชน และเยาวชนของประเทศ

ขอให้มีสติและปัญญาในการเป็นครูและตัวแบบที่ดี มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม มากกว่าการพยายามทำให้ถูกต้องทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว

พันธนาการ: เงื่อนอคติในความสัมพันธ์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู และ มิรา ชัยมหาวงศ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2551

ช่วงนี้ กลุ่มกระบวนกรทางเชียงรายกำลังศึกษาบทเรียนจากวอยซ์ไดอะล็อค ของ ดร. สโตน สามีภรรยา ที่ว่า พันธะคือพันธนาการ (Bonding Pattern) ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขบนความสัมพันธ์ ที่เมื่อแต่ละคนมาข้องเกี่ยวกันแล้วไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ พันธะเช่นนี้จะสร้างทุกข์ของการอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์ทุกระดับที่เกิดขึ้นในมนุษย์

พันธะเช่นนี้ มีความเกี่ยวข้องกับสมอง คือกระบวนความสัมพันธ์ที่มีมาในพ่อแม่กับลูก เป็นวงจรสมองที่ก่อขึ้นอย่างถาวรในตัวเรา ดำรงอยู่อย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล ที่ว่า “หลับใหล” คือเราจะไม่รู้ตัวถึงการดำรงอยู่ของมัน แต่เราจะคิดว่า นี่คือตัวเรา เราเป็นเช่นนี้เอง และไม่คิดว่า เพียงวงจรหนึ่งของสมองที่เราไปจดจำรูปแบบ แบบแผน ที่แม่หรือพ่อมีต่อเรานั้น เราจะนำกลับมาใช้อีกในความสัมพันธ์อื่นๆ รอบตัวเรา กับคู่ของเรา กับเพื่อนร่วมงาน กับเพื่อน กับลูกหลานของเรา มันเป็นพันธะผูกมัดตัวเอง เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตายตัว เป็นเทปม้วนเก่า เป็นแบบแผนความสัมพันธ์ที่ถูกทำซ้ำๆ อยู่เช่นนั้น แม้ว่ามันจะใช้การได้ไม่ดีนัก และก่อให้เกิดความขัดแย้งและความทุกข์ขึ้นมาก็ตาม

ผมขอนำตัวอย่างสดๆ เป็นข้อเขียนของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งศึกษาวอยซ์ไดอะล็อคร่วมกัน มาลงไว้

ขออนุญาตนำความ (ข้างบน) ของครูมาศึกษาเทียบเคียงกับประสบการณ์ของผม กับ "ท่านผู้ยกตน" ของผม

ปมในใจของผมกับท่าน (ผู้ยกตน) ที่เกือบจะสะสมเป็นอารมณ์ที่ลุกเป็นไฟ หากมองเป็นพันธนาการตามนัยยะของ ดร. สโตน ซึ่งครูได้เขียนสรุปอย่างกระชับได้ใจความงดงามยิ่งนัก ผมพบว่า ปมดังกล่าวเป็นปมที่เกิดจากพันธนาการหรือรูปแบบและวงจรที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในบทบาทที่ผมมักจะเล่นเป็น "ลูกขบถ" กำลังสู้รบตบมือกับ "พ่อเผด็จการ" ขณะที่ลูกขบถต้องการที่ทางเป็นตัวของตัวเอง และพ่อเผด็จการต้องการขีดเส้นให้ลูกเดิน พันธนาการนี้หากยังดำรงอยู่ในใจ เมื่อมีสถานการณ์ใด หรือใครที่นำพันธนาการคล้ายๆ เช่นนี้เข้ามา วงจรความรู้สึกนึกคิดของลูกขบถก็จะทำงาน โดยพิพากษาตัดสิน ผลักไส ท้าตีท้าต่อย หรือจะแค่นินทาก็ตาม

แต่เมื่อมีโอกาสใคร่ครวญครั้งแล้วครั้งเล่า จนวงจรของผมที่ได้พิพากษาท่านว่า เป็น "คนยกตนข่มชาวบ้าน" "ใช้อำนาจบาตรใหญ่" และลึกๆ แล้วเป็น "เผด็จการ" นั้น อาจจะไม่จำต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป วงจรดังกล่าวจะอ่อนกำลังลงเมื่อถูกใคร่ครวญอย่างเพียงพอนั้นประการหนึ่ง

และอีกประการหนึ่งได้แก่ ทางเลือกใหม่ในจิตไร้สำนึก กล่าวคือความเป็นไปได้ใหม่ที่ผมไม่จำต้องเล่นในบทบาทของวงจรเดิม ที่มักจะเล่นบทขัดขืนเหมือน "ลูกขบถ" และขณะเดียวกันผมก็ไม่จำต้องกลายเป็น "เด็กว่านอนสอนง่าย" เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด แต่สามารถเลือกลงมือกระทำ และเข้าไปสัมพันธ์กับ "ท่าน" (ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็ไม่ใช่ "พ่อ" ของเราสักหน่อย) และพูดคุยกับท่านตามเนื้อผ้าเท่าที่จำเป็น เพื่อให้งานลุล่วงไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น บทเรียนในครั้งนี้ เป็นวงจรใหม่ที่หลุดออกจากพันธนาการเดิมในเรื่องนี้ กับ "ท่าน" ท่านนี้ ส่วนเรื่องใหม่ ท่านใหม่ หรือใครอีกคนที่จะเข้ามาในวันหน้า เป็นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที


ผมคิดถึงความสัมพันธ์กับคนรุ่นหลานที่ใกล้ชิดกันคนหนึ่งที่อาจจะอยู่ในฐานะเพื่อนของผม ซึ่งเขาเป็นคนที่ทนกับอาการโม้โอ้อวดของผมไม่ค่อยได้ เพื่อนคนหนึ่งช่วยทำแบบฝึกหัดหนึ่งของวอยซ์ไดอะล็อคให้กับเขา เป็นแบบฝึกหัด ๔ ช่องของ เจมี่ แพนกายา เขาเริ่มจากช่องที่ ๒ ที่ให้เขียนถึงคุณสมบัติหรือบุคลิกภาพในคนอื่นที่เขาหงุดหงิด เขาเลยลงบุคลิกภาพของผมไปว่า เป็นคนขี้โม้ ยกตนข่มท่าน ชอบกำกับ สั่งการ ควบคุมบังคับ อะไรในทำนองนี้

ทีนี้ในช่องที่ ๑ สิ่งที่เขาจะต้องหาคือ พลังบริสุทธิ์หรือด้านที่ไปพ้นจากการตัดสินด้วยอคติของบุคลิกภาพที่เขียนไว้ในช่องที่ ๒ เช่น “ควบคุมบังคับ” “เจ้ากี้เจ้าการ” หรือ “ใช้อำนาจจัดการ” ซึ่งเป็นเรื่องที่รับได้ยากมากสำหรับเขา แล้วนำไปกรอกลงช่องที่ ๑ เขาใช้เวลานานทีเดียว แต่ในที่สุดก็เขียนว่า “การดูแลใส่ใจ” แต่ใส่เงื่อนไขไว้ว่า “ไม่เห็นภาพรวม” และทุกๆ ประโยคในช่องที่ ๑ เขาจะใส่ “แต่” ไว้เสมอ

ข้อสังเกตของผมก็คือ มันเป็นการยากที่มนุษย์จะเห็นบุคลิกภาพที่เราหงุดหงิดว่า มีพลังบริสุทธิ์ของมันอยู่ ถึงแม้ในที่สุดเราจะคิดได้ แต่เราก็จะใส่คำว่า “แต่” ลงไป คือเรารับได้อย่างมีเงื่อนไขนั่นเอง

ผลพวงของพันธะแบบพันธนาการ

ผลที่เกิดตามมาจากพันธะแบบพันธนาการนี้ ประการแรกก็คือ ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะในรูปแบบความสัมพันธ์นี้ คนๆ หนึ่งจะเล่นบทบาทเป็นพ่อแม่ และอีกคนหนึ่งจะเล่นบทบาทเป็นลูก แน่นอนพ่อแม่ย่อมมีอำนาจเหนือลูก และประการที่สอง ความสัมพันธ์จะเป็นไปแบบจำยอม คือไม่อาจทำตัวเป็นอื่นได้ เช่น จะต้องเป็นลูกที่ดี หรือจะต้องเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นต้น ประการที่สาม ก็คือการถูกผูกติดอยู่ในวิถีเดิมๆ แห่งความสัมพันธ์ โดยไม่อาจสร้างสรรค์ ไปพ้นกรอบความคิด และวิถีปฏิบัติเดิม ๆ

เราจะตื่นรู้และออกจากพันธนาการได้อย่างไร

พันธนาการเป็นเงื่อนไขที่ล็อคไม่ให้แต่ละคนเรียนรู้และเติบโตขึ้น สร้างคุณภาพใหม่ๆ และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ หรือความสัมพันธ์ที่ปราศจากความตื่นรู้ ที่แต่ละคนติดอยู่กับเพียงอคติส่วนบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาได้ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาใหญ่

คำถามคือว่า เมื่อตัวเราแต่ละคนมีความสัมพันธ์และมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาในทุกระดับ เราจะมีกลไกหรือมีเครื่องมืออย่างไรที่จะช่วยให้เรานำพาตัวเองสู่ความตื่นรู้และก้าวพ้นจากอคติส่วนตนที่พันเกี่ยวตัวเราอย่างเป็นพันธะที่สร้างปัญหา รู้จักมองคุณค่าและด้านดีของผู้อื่นจากหัวใจ ให้การ “อยู่ร่วม” เป็นอิสระและสร้างความหมายให้ทั้งตัวเองและผู้อื่น

อิสรภาพจากตัวตน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2551

หากจัดอันดับ “คุรุ” ทางจิตวิญญาณชาวตะวันตกผู้ทรงอิทธิพลและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งใน ๑๐ อันดับแรกย่อมได้แก่เอกคาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) หนังสือและคำบรรยายของเขาแม้ไม่ใช่ประเภท “How to” ที่ให้สัญญาว่าจะพาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีผู้ติดตามผลงานของเขานับล้านๆ คน คำสอนของเขามีแก่นแกนอยู่ที่ “การอยู่กับปัจจุบัน” ดังชื่อหนังสือเล่มแรกที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาคือ The Power of Now

แม้ตัวเขาเองไม่ได้ประกาศว่าสังกัดศาสนาใด แต่คำสอนของเขาก็มีหลายส่วนที่ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะการเน้นให้ “ดูตัวคิด” และการถอนจิตออกมาจากความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง จนเกิดภาวะตื่นรู้โดยปราศจากความคิด ในทัศนะของเขา ขั้นตอนสำคัญของการเดินทางสู่ความรู้แจ้งคือ “เรียนรู้ที่จะไม่ยึดเอาความคิดของคุณเป็นตัวคุณ” เพราะแท้จริงแล้ว “ความคิดของคุณมิใช่ตัวคุณ” พูดอย่างอาจารย์พุทธทาสก็คือ อย่าไปยึดถือความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงว่าเป็น “ตัวกู ของกู”

ชีวิตของเขาน่าสนใจตรงที่เขาค้นพบความจริงดังกล่าว ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางด้านจิตวิญญาณของศาสนาใดมาก่อน จะว่าไปแล้วความทุกข์ต่างหากที่ผลักดันให้เขาพบความจริงอันลึกซึ้งยิ่ง เขาเล่าว่าในวัยหนุ่มเขาเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแรงจนอยากจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง อาการดังกล่าวรบกวนจิตใจเขามาตลอดจนเกือบอายุ ๓๐ ปี แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่ง

คืนนั้นเขาตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่เลวร้ายมาก แปลกแยกกับทุกสิ่ง ชิงชังโลกทั้งโลก และที่หนักที่สุดคือชิงชังตัวเอง จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม “ฉันทนอยู่กับตัวเองต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจเขาตลอดเวลา จู่ๆ เขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า นี่เป็นความคิดที่แปลก “ตัวฉันมีหนึ่งหรือสองกันแน่ ถ้าฉันทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ ก็แสดงว่าตัวฉันนั้นมีสอง คือ “ฉัน” กับ “ตัวตน” ที่ “ฉัน” ทนอยู่ด้วยไม่ได้” เขาสงสัยขึ้นมาว่า คงมีเพียงหนึ่งเท่านั้นที่จริง

เขาพิศวงงงงวยกับความคิดดังกล่าวจนจิตหยุดปรุงแต่ง ไร้ความคิดใดๆ มีแต่ความรู้สึกตัวเต็มที่ แล้วเขาก็รู้สึกว่าตัวเองถูกดูดลงไปในที่ว่าง เป็นที่ว่างข้างในตัวมากกว่าที่ว่างภายนอก เขาเล่าว่าจำสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมา เขาพบกับความรู้สึกใหม่ เป็นความตื่นตาตื่นใจในมหัศจรรย์ของชีวิต ราวกับว่าเพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกเป็นวันแรก เขายังได้พบกับความสงบที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นเวลานานหลายปีที่เขาไม่เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเข้าใจ เขาอธิบายว่าความทุกข์แสนสาหัสในคืนนั้นได้บีบคั้นให้จิตของเขาต้องถอนจากความยึดติดในตัวตนที่อมทุกข์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิต เขาเชื่อว่าการถอนจากความยึดมั่นดังกล่าวเป็นการถอนอย่างสิ้นเชิง จนตัวตนที่อมทุกข์นั้นพินาศพังภินท์ไปทันที เหมือนกับถอดจุกออกจากตุ๊กตาพองลมจนแฟบ คงเหลือแต่ธรรมชาติแท้จริงที่เป็นปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง

คำอธิบายดังกล่าวใกล้เคียงกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามองว่า ตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก แต่เป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้นมาเอง ซ้ำยังไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นสิ่งจริงแท้ ความหลงดังกล่าวเป็นรากเหง้าของการไปยึดอะไรต่ออะไรมาเป็น “ตัวกู ของกู” อีกมากมาย ไม่เพียงยึดร่างกายนี้ หรือทรัพย์สมบัติรอบตัวว่าเป็น “ตัวกูของกู” เท่านั้น แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทั้งบวกและลบ ก็ยังยึดว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ผลก็คือ เมื่อความเครียดเกิดขึ้น ก็สำคัญมั่นหมายว่า “กูเครียด” เมื่อเกิดทุกขเวทนาไม่ว่ากับกายหรือใจ ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า “กูทุกข์”

รากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวงจึงเกิดจากความยึดติดถือมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ต่อเมื่อปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าว จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ อะไรเล่าที่จะทำให้เกิดการปล่อยวางดังกล่าวได้ คำตอบก็คือ ปัญญาที่แลเห็นความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ หรือยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลยแม้แต่อย่างเดียว

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือความหลงว่าสิ่งทั้งปวงนั้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา และสามารถใช้มันปรนเปรอสร้างสุขแก่เราได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย แถมยังเต็มไปด้วยทุกข์จนไม่น่ายึดถือหรือน่าเอาด้วยซ้ำ จิตก็ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงทันที

ตรงนี้เองที่ความทุกข์มีความสำคัญ เพราะสามารถทำให้ผู้คน “ตาสว่าง” และหลุดจากความหลงดังกล่าวได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของโทลเลอเกิดขึ้นเมื่อเขาประสบกับความทุกข์อย่างหนักถึงขั้นอยากตายไปจากโลกนี้ ในด้านหนึ่งความทุกข์ดังกล่าวทำให้จิตของเขากระสับกระส่ายทุรนทุราย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ผลักดันให้เขาจำต้องปล่อยวางจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” พูดอีกอย่างคือเขาตระหนักชัดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์” นั้นไม่น่ายึดถืออีกต่อไป ยิ่งมาได้คิดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์” นี้เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เขาก็สลัดมันทิ้งได้ทันที

ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุและภิกษุณีหลายรูปที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะถูกทุกข์บีบคั้นอย่างหนักจนเห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ คือร่างกายและจิตใจนั้นไม่น่ายึดถือแม้แต่น้อย อาทิ พระธรรมาเถรีซึ่งเป็นภิกษุณีวัยชราผู้ทุพพลภาพ เวลาไปบิณฑบาตต้องถือไม้เท้าประคองร่างกายที่สั่นเทา มีคราวหนึ่งท่านเกิดสะดุดล้มลง ร่างกระแทกกับพื้น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรง ชั่วขณะนั้นเองที่ท่านเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความตระหนักชัดว่าร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือ ทำให้จิตของท่านปล่อยวางในขันธ์และหลุดพ้นทันที

อีกกรณีหนึ่งได้แก่พระสัปปทาสเถระ ท่านมีความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่พบความสงบทั้งๆ ที่บวชมาถึง ๒๕ ปี รู้สึกว่าชีวิตของตนไร้คุณค่า ครั้นจะลาสิกขาก็รู้อับอาย จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะที่ท่านสะบัดมีดโกนปาดคอ เกิดความเจ็บปวดอย่างแรง ท่านก็ได้ประจักษ์ชัดว่าว่า สังขารนั้นเป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดถือ จิตก็ปล่อยวางและหลุดพ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที

ความทุกข์สามารถเปิดใจให้เกิดปัญญาได้ แต่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อจิตไม่จมดิ่งอยู่ในความทุกข์อย่างสิ้นเชิง แต่สามารถ “ทะลึ่ง” โผล่พ้นความทุกข์แม้ชั่วขณะ จนแลเห็นความทุกข์ แทนที่จะเป็น “ผู้ทุกข์” ชั่วขณะนั้นเองที่ปัญญาสามารถผุดโพลงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นความทุกข์ตามที่เป็นจริง การฉุกคิดระคนฉงนสงสัยที่เกิดขึ้นกับโทลเลอว่า “ตัวฉัน” ที่อมทุกข์นั้น มีจริงแน่หรือ เป็นเชื้ออย่างดีให้ปัญญาญาณสว่างโพลงขึ้นมา จนสามารถสลัดตัวตนที่ปรุงแต่งนั้นทิ้งไปได้

อย่างไรก็ตามการที่จะ “เห็น” ทุกข์ โดยไม่ “เป็น” ทุกข์ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีสติเป็นเครื่องยกจิตออกจากทุกข์ สติที่เกิดขึ้นหากมีกำลังมากพอสามารถทำให้จิตหลุดจากทุกข์ บางครั้งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่ก็นานพอที่ปัญญาจะมารับช่วงต่อ จนหลุดจากทุกข์ หรือ “ได้คิด” ขึ้นมาจนเปลี่ยนใจเปลี่ยนชีวิต ดังที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่กลุ้มใจจนเตรียมโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่พลันได้เห็นแสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ ก็เกิดฉุกคิดขึ้นมา มองชีวิตในมุมใหม่ จนเลิกคิดฆ่าตัวตาย และเริ่มต้นชีวิตใหม่จนก้าวข้ามความทุกข์ที่รุมเร้าได้

คนทั่วไปเมื่อถูกทุกข์กลุ้มรุม หากยังพอมีสติอยู่ ก็มักหาทางหนีจากทุกข์ ด้วยการหันเหใจให้ไปรับรู้สิ่งอื่นที่น่าพึงพอใจแทน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวห้าง หรือเสพเพศรส แต่หากถูกทุกข์รุมเร้าอย่างหนักจนทนไม่ไหว ก็อาจปลิดชีวิตตัวเอง มองในแง่หนึ่งนั่นคือความพยายามที่จะหนีจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” โดยสำคัญผิดว่า ร่างกายและจิตใจนี้คือตัวตน

น่าสนใจก็ตรงที่มีบางคนที่พยายามหนีจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” ด้วยการสลัดมันทิ้งไป แต่แทนที่จิตจะเป็นอิสระ กลับไปยึดเอาตัวตนอื่นเป็นที่พึ่งแทน กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ต่อเมื่อตัวตนเดิมหายทุกข์ จึงกลับไปหาตัวตนนั้นและดำรงชีวิตเหมือนปกติ นี้อาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดบางคนจึงมีความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่าบุคลิกซ้อน (multiple personality disorder)

เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “คาเรน” เป็นหญิงวัย ๓๔ ปี ที่จิตแพทย์พบว่าเธอมีบุคลิกต่างๆ ถึง ๑๗ แบบ แต่ละแบบนั้นแตกต่างกันราวกับเป็นคนละคน และไม่สื่อสารกัน แต่ละบุคลิกมีชื่อและสำนึกตัวตนแตกต่างกัน ราวกับมีคน ๑๗ คนในร่างเดียวกัน บางบุคลิกชื่อ “แคลร์” เป็นเด็ก ๗ ขวบ บางบุคลิกชื่อ “ซิดนีย์” อายุ ๕ ขวบ ในแต่ละวันคาเรนจะสลับอยู่ในบุคลิกต่างๆ กัน โดยไม่เฉลียวใจเลยว่ามีบุคลิกอื่นๆ อยู่ในตัวเธอด้วย

คาเรนเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์เมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว ด้วยอาการซึมเศร้าและอยากฆ่าตัวตาย ต่อมาจิตแพทย์พบว่าเธอถูกบิดาล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก น่าแปลกก็ตรงที่เธอจำไม่ได้ว่ามีเพศสัมพันธ์กับพ่อ ทั้งๆ ที่มีลูกด้วยกัน ๒ คน การปรึกษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องทำให้เขาค่อยๆ ค้นพบบุคลิกทั้ง ๑๗ อย่างในตัวเธอ

จิตแพทย์ได้พบว่า บุคลิกเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยจิตไร้สำนึกเพื่อเป็นทางหนีทุกข์ เมื่อใดก็ตามที่ไปอยู่ในบุคลิกหนึ่ง ก็จะไม่รับรู้ความทุกข์ที่เกิดกับอีกบุคลิกหนึ่ง เพราะแต่ละบุคลิกนั้นเสมือนเป็นคนละตัวตนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้จักกัน ดังนั้นเวลาคาเรนถูกพ่อกระทำมิดีมิร้าย เธอจะกลายไปเป็นเด็กชายที่ชื่อ “ไมลส์” วัย ๘ ขวบทันที เพราะจิตไร้สำนึกรู้ดีว่าเด็กชายย่อมไม่ถูกกระทำเช่นนั้นจากพ่อ พูดอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นตัวตนที่ชื่อคาเรน ถูกสลัดทิ้งไป และมีตัวตนใหม่เข้ามาแทนที่ เป็นตัวตนที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคาเรน นี้คือเหตุผลว่าทำไมคาเรนจำไม่ได้ว่าพ่อทำอะไรกับเธอ

แต่ละตัวตนมีหน้าที่ต่างๆ กันซึ่งช่วยให้เธอสามารถทนกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ เวลาพูดคุยกับพ่อ ตัวตนที่ชื่อ “ซิดนีย์” ก็เข้ามาแทน เพราะเป็นเด็กที่ร่าเริง สามารถคุยเล่นกับพ่อได้ วิธีนี้ทำให้เธอไม่ต้องเป็นปฏิปักษ์กับพ่อ เพราะยังต้องพึ่งพาพ่ออยู่

การสลัดตัวตนเดิมทิ้งเพื่อไปยึดตัวตนใหม่ สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดบางคนจึงมีลักษณะเหมือนผีเข้า อาการดังกล่าวอาจเกิดกับหญิงสาวที่อยู่ภายใต้การดูแลกวดขันอย่างใกล้ชิดจากพ่อหรือแม่เจ้าระเบียบ ในด้านหนึ่งเธอจึงเป็นคนสุภาพเรียบร้อยราว นุ่มนวล แต่บางครั้งก็กลายเป็นคนก้าวร้าว อามรณ์รุนแรง และน่ากลัว ด่าทอพ่อแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ราวกับเป็นคนละคน ใช่หรือไม่ว่า บุคลิกหรือตัวตนอย่างหลังนั้นเป็นทางออกของเธอ เพื่อระบายความโกรธเกลียดใส่พ่อแม่ได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจเธอ ซึ่งปกติไม่สามารถทำได้ในฐานะคนธรรมดา พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเครียดจากการถูกกดดันให้อยู่ในระเบียบ รวมทั้งความทุกข์จากความรู้สึกผิดที่โกรธเกลียดพ่อแม่ ทำให้เธอไม่สามารถทนอยู่กับตัวตนเดิมที่เรียบร้อยได้ จึงต้องสลัดตัวตนนั้นทิ้ง และหาตัวตนใหม่ที่อนุญาตให้เธอทำสิ่งต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ

การทิ้งตัวตนเดิม แล้วไปยึดตัวตนใหม่นั้น เป็นวิธีหนีทุกข์ไปได้ชั่วคราว แต่ไม่นานก็ต้องกลับมาเจอทุกข์ดังเดิม เพราะในที่สุดก็ต้องหวนคืนสู่ตัวตนเดิม ซ้ำยังมักสร้างทุกข์ใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสับสนทางใจ กรณีดังกล่าวยังชี้ว่า การสลัดตัวตนมิใช่ของง่าย เพราะจิตมักไปยึดเอาสิ่งอื่นมาเป็นตัวตน หรือสร้างภาพลวงอย่างใหม่ให้มาเป็น “ตัวกู” แทน ความทุกข์นั้นมีพลังบีบคั้นให้จิตปล่อยวางจากตัวตน (ที่ปรุงแต่งขึ้นเอง) ก็จริง แต่หากไม่มีสติเพื่อพลิกจิตให้เห็นทุกข์แล้ว ก็ยากที่จะเกิดปัญญาจนอยู่เหนือทุกข์ได้ ตรงข้ามความทุกข์นั้นเองกลับผลักให้ไปหาตัวตนใหม่ด้วยหวังว่าจะเป็นสรณะสำหรับหลบทุกข์ได้ แต่นั่นเป็นความหลงอีกอย่างหนึ่ง เพราะตราบใดที่ยังยึดติดถือมั่นว่ามีตัวตนอยู่ ก็ต้องมี “กู ผู้ทุกข์” อยู่ร่ำไป ไม่ว่าตัวตนนั้นจะถูกปรุงแต่งให้เลอเลิศเพียงใดก็ตาม

ดับความขัดแย้งด้วยจิตวิวัฒน์และทางสายกลาง

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2551

ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๑ เนื่องในโอกาสวันศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสำนักงานระงับข้อพิพาท ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยการระงับข้อพิพาททางเลือก ด้วยหลักการและเหตุผลที่ว่า “การระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายหลักในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เนื่องจากเป็นการยุติข้อพิพาทที่คู่ความได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม อันจะส่งผลให้เกิดความสมานฉันท์และสันติสุขในสังคม”

ขอให้อ่านข้อความข้างบนช้าๆ อย่างมีโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นใจความสำคัญที่สะท้อนถึงกระบวนการใหม่ในเรื่องความยุติธรรม

กระบวนทัศน์เก่าที่เราคุ้นเคยก็คือ ศาลมีหน้าที่ “ตัดสิน” ว่าใครผิดใครถูก ใครแพ้ใครชนะ เป็นขาวเป็นดำ เป็นบวกเป็นลบ ให้รู้ดำรู้แดง ซึ่งก็ยังจำเป็น โดยเฉพาะในเรื่องที่ง่ายและเป็นเส้นตรง แต่สังคมปัจจุบันมีความเชื่อมโยงซับซ้อนหลายมิติอันเข้าใจได้ยาก ไม่ตรงไปตรงมา มีความขัดแย้งที่แม้ “ตัดสิน” ว่าใครผิดใครถูกก็ไม่หายขัดแย้งหรือกลับรุนแรงมากขึ้น หลายปีมาแล้ว ที่เมืองซินซินนาติ ในสหรัฐอเมริกา ตำรวจคนขาวตีคนดำ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างขาวกับดำ เรื่องมาถึงศาล ผู้พิพากษาบอกว่า “ผมยังไม่ตัดสิน” เพราะถึงตัดสินอย่างไรก็ไม่สามารถยุติความขัดแย้งระหว่างขาวกับดำได้ ความขัดแย้งระหว่างขาวกับดำมีรากที่ลึกซึ้ง การตัดสินไม่สามารถถอนรากของความขัดแย้งได้ ท่านผู้พิพากษาขอให้ทั้งสองฝ่ายไปใช้ “กระบวนการ” สลายข้อพิพาท

การ “ตัดสิน” กับการใช้ “กระบวนการ” สะท้อนวิถีคิด ๒ แนวทาง

แนวทางที่ ๑ คือการคิดแบบสำเร็จรูป ตายตัว แยกส่วน สุดโต่ง

แนวทางนี้ใช้กันทั่วไปมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อประธานาธิบดีบุชพูดว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณก็เป็นศัตรูของเรา” นั้นเป็นตัวอย่างการคิดแบบแยกส่วนสุดโต่งสุดๆ ที่จริงที่ชีวิตและสังคมติดขัด ขัดข้อง ขัดแย้ง รุนแรง และวิกฤต ก็เพราะการคิดแบบตายตัวแยกส่วน เราคิดและทำอะไรแบบแยกส่วนเสมอ เช่น การพัฒนาก็แยกส่วนว่าหมายเฉพาะเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็แยกส่วนเอาเงินเป็นตัวตั้ง การศึกษาก็แยกส่วนจากชีวิต ที่ชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาแยกส่วนไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่การศึกษาคือชีวิต และชีวิตคือการศึกษา อะไรที่แยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ

ระบบร่างกายของเราเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่แยกส่วน ปอด ตับ หัวใจ ไต และอวัยวะต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลายล้วนเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ ถ้าปอด ตับ หัวใจ แยกส่วนไปคนละทางสองทาง เราก็เป็นคนอยู่ไม่ได้ ถ้าเซลล์ของตับจะแบ่งตัวเติบโตเป็นเอกเทศโดยไม่เกี่ยวกับระบบทั้งหมด นั่นคือมะเร็งตับ ซึ่งนำไปสู่ความขัดข้องของระบบร่างกายทั้งหมด คือการป่วย วิกฤต และตาย

ความป่วยและความวิกฤตของชีวิตและสังคมเกิดขึ้นเพราะการคิดและการทำแบบแยกส่วน ซึ่งผิดธรรมชาติ

ธรรมชาติคือการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง หรืออย่างเป็นอนิจจัง

แนวทางที่ ๒ คือ วิถีธรรม หรือวิถีธรรมชาติ หรือทางสายกลาง พระพุทธเจ้าเป็นแชมเปี้ยนที่สอนแนวทางนี้มาเนิ่นนานว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง คือเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรแยกส่วนตายตัว การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาหนุนเนื่อง ที่เรียกว่าความเป็นปัจจัยให้เกิดหรืออิทัปปัจจยตา ธรรมชาติคือกระแสของเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นพลวัต (Dynamic interconnectedness) ไม่มีอะไรที่ดำรงอยู่ตายตัวแยกส่วนเป็นเอกเทศ ธรรมชาตินี้มีอยู่แล้ว พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติขึ้น แต่ทรงค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ หลักธรรมตามธรรมชาตินี้ บางทีก็เรียกว่า หลักธรรมที่เป็นกลางตามธรรมชาติ รูปข้างล่างนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่องแยกส่วนและเรื่องความเป็นกลางตามธรรมชาติได้ติดตามากขึ้น



ถ้าอ่านพระไตรปิฎกให้ดีๆ จะเห็นว่า เต็มไปด้วยวิถีคิดความเป็นกลางตามธรรมชาติ และปฏิเสธ “ส่วนสุด” (Extremes) ส่วนสุดภาษาบาลีว่า “อันตา” หรือ “อันตะ” ดังที่ “อนันตะ” แปลว่าไม่มีที่สุด ดังตัวอย่างเช่น

“ส่วนสุดทั้งสองภิกษุไม่ควรเสพ”

“การชมหรือติเตียนไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะคือการที่รู้ว่าอะไรเกิดจากอะไร” ตรงนี้อาจช็อกความรู้สึกของเรา เพราะเราคุ้นเคยกับการชมและการติเตียน แต่ถ้าคิดดูให้ดีๆ การชมหรือติเตียนเป็นการเหมารวมสำเร็จรูปตายตัว ว่าคนนี้ดี คนนี้ไม่ดี จริงๆ แล้วขึ้นกับว่าเรื่องอะไร เมื่อใด เกี่ยวข้องกับอะไร

พราหมณ์ชานุสโสณีทูลถาม “พระโคดมผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือหนอ”

ตรัสตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการหนึ่ง”

พราหมณ์ทูลถามอีก “พระโคดมผู้เจริญ ก็สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริงหรือหนอ”

ตรัสตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการที่สอง”

แล้วตรัสเพิ่มเติมโดยใจความว่า “ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี”

กล่าวคือไม่มีอะไรมีหรือไม่มีโดยตัวของมันเอง แบบที่ชานุสโสณีถาม ซึ่งถือเป็นที่สุด (อันตะ) หรือแยกส่วนตายตัว การจะมีหรือไม่มีขึ้นกับเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยทำให้มีก็มี ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยทำให้มีก็ไม่มี ทรงเรียกการคิดเชิงความเป็นเหตุปัจจัยว่า เป็นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา

เพราะฉะนั้นคำว่าทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น นอกเหนือไปจากมรรค ๘ แล้ว ยังหมายถึงการคิดเชิงความเป็นเหตุปัจจัยหรืออิทัปปัจจยตาด้วย

สังคมโดยทั่วไปและสื่อมวลชนยังคิดแบบ “ส่วนสุด” หรือแยกส่วน คำสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนจึงเข้าไปสู่ “การเสี้ยมปลาย” โดยไม่รู้ตัว เมื่อผมเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย วันหนึ่งสื่อมวลชนถามว่า “คุณหมอท้อใจไหม” ผมตอบว่า “ไม่” เขาถามซ้ำว่า “งั้นคุณหมอก็เต็มไปด้วยความหวังสิ” ผมตอบว่า “เปล่า” เขาก็งงว่าเอ๊ะ แล้วมันยังไง คำถามที่ถามนั้นอยู่ที่ “ส่วนสุด” สองข้าง ผมไม่เข้าไปสู่ความท้อใจหรือความหวัง เพราะสิ่งต่างๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย นั่นคือทางสายกลาง

ผมพยายามหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ เพราะไม่ต้องการตอบคำถามที่ต้องการคำตอบสำเร็จรูปว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” “เอา” หรือ “ไม่เอา” “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ผมพยายามเขียนเป็นบทความเพื่ออธิบายความเชื่อมโยงด้วยเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ แต่ทั้งๆ ที่เป็นบทความก็ถูก “ตัดตอน” เอาไปขึ้นปกชนิดแยกข้างแยกขั้วบ่อยๆ เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ผมพบ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อท่านมาเป็นประธานเปิดงานรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ ขณะที่รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน ท่านพูดว่า “คุณหมอประเวศที่รู้จักทางสื่อกับตัวจริงไม่เหมือนกันเลย” ผมต้องขอโทษที่ยกตัวอย่างเกี่ยวกับตัวเอง เพียงต้องการให้เห็นความเป็นจริงในสังคมเกี่ยวกับวิธีคิด ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งและไม่รู้ตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องการการแก้ไข แม้จะเป็นเรื่องยากเพียงใด

การคิดแบบสำเร็จรูป ตายตัว แยกส่วน นำไปสู่อุปสรรค ไปต่อไปไม่ได้ บีบคั้น เข้าไม่ถึงความจริง ติดขัด ขัดแย้ง ออกจากความขัดแย้งไม่ได้ จึงรุนแรงและวิกฤต โลกวิกฤตเพราะการคิดแบบนี้

ลองคิดเปรียบเทียบกับอนุภาคที่มีประจุบวกคือโปรตอน และที่มีประจุลบคืออีเล็กตรอน อนุภาคทั้งสองชนิดนี้เคลื่อนที่ไม่ได้ไกล เพราะจะถูกขั้วตรงข้ามจับไว้ ตรงข้ามกับนิวตรอนซึ่งเป็นกลางสามารถทะลุทะลวงไปได้ไกลแสนไกล ฉันใด การคิดเชิงบวกเชิงลบไปไม่ได้ไกล จะถูกขั้วตรงข้ามจับไว้ แต่การคิดด้วยความเป็นกลางนั้นทะลุทะลวงไปสู่ความจริงทั้งหมดได้ การคิดอย่างเป็นกลางจึงนำไปสู่ปัญญา หรือปัญญาทำให้คิดอย่างเป็นกลาง

เราคิดแบบแยกส่วนเพราะเราเอาตัวตนหรืออัตตาเป็นตัวตั้ง จิตที่ติดอยู่ในตัวเองจะบีบคั้นเพราะคับแคบและไม่จริง จิตที่หลุดจากตัวเองไปสู่ความจริงที่ใหญ่กว่าจะเป็นอิสระ มีความสุข มีความรักอันไพศาล จิตวิวัฒน์คือจิตที่หลุดจากความคับแคบจากตัวเองไปสู่ความจริงที่ใหญ่กว่า จิตวิวัฒน์กับการคิดอย่างเป็นกลางนั้นมีปฏิสัมพันธ์กัน คือจิตวิวัฒน์ทำให้คิดอย่างเป็นกลาง ทางสายกลางทำให้จิตวิวัฒน์ จิตวิวัฒน์และทางสายกลางไปพ้นการแยกข้างแยกขั้ว จึงดับความขัดแย้งโดยสิ้นเชิงทั้งในตัวเองและกับภายนอก เป็นไปเพื่อความสุขอันประณีตและความรักอันไพศาลต่อมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งมวล

ทางสายกลางนี้แม้พระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว วิทยาศาสตร์เข้าไปติดอยู่ในโลกทรรศน์และวิธีคิดแบบแยกส่วนตายตัวเสียช้านาน เพิ่งสักร้อยปีมานี่เองที่มีการค้นพบวิทยาศาสตร์ใหม่แห่งสัมพัทธภาพและควอนตัมที่แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต ซึ่งตรงกับอิทัปปัจจยตา วิทยาศาสตร์ใหม่จะดึงโลกทรรศน์และวิธีคิดของมนุษย์จากความแยกส่วนตายตัวมาสู่ทางสายกลาง

มีเส้นทางหลายเส้นหรือพหุบทที่จะไปสู่จิตวิวัฒน์ แต่ก็รวมลงที่มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ทางนี้นำไปสู่สันติภาพ

จึงเรียกกันว่าเป็นสันติวรบท

Back to Top