อิสรภาพจากตัวตน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2551

หากจัดอันดับ “คุรุ” ทางจิตวิญญาณชาวตะวันตกผู้ทรงอิทธิพลและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งใน ๑๐ อันดับแรกย่อมได้แก่เอกคาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) หนังสือและคำบรรยายของเขาแม้ไม่ใช่ประเภท “How to” ที่ให้สัญญาว่าจะพาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีผู้ติดตามผลงานของเขานับล้านๆ คน คำสอนของเขามีแก่นแกนอยู่ที่ “การอยู่กับปัจจุบัน” ดังชื่อหนังสือเล่มแรกที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาคือ The Power of Now

แม้ตัวเขาเองไม่ได้ประกาศว่าสังกัดศาสนาใด แต่คำสอนของเขาก็มีหลายส่วนที่ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะการเน้นให้ “ดูตัวคิด” และการถอนจิตออกมาจากความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง จนเกิดภาวะตื่นรู้โดยปราศจากความคิด ในทัศนะของเขา ขั้นตอนสำคัญของการเดินทางสู่ความรู้แจ้งคือ “เรียนรู้ที่จะไม่ยึดเอาความคิดของคุณเป็นตัวคุณ” เพราะแท้จริงแล้ว “ความคิดของคุณมิใช่ตัวคุณ” พูดอย่างอาจารย์พุทธทาสก็คือ อย่าไปยึดถือความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงว่าเป็น “ตัวกู ของกู”

ชีวิตของเขาน่าสนใจตรงที่เขาค้นพบความจริงดังกล่าว ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางด้านจิตวิญญาณของศาสนาใดมาก่อน จะว่าไปแล้วความทุกข์ต่างหากที่ผลักดันให้เขาพบความจริงอันลึกซึ้งยิ่ง เขาเล่าว่าในวัยหนุ่มเขาเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแรงจนอยากจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง อาการดังกล่าวรบกวนจิตใจเขามาตลอดจนเกือบอายุ ๓๐ ปี แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่ง

คืนนั้นเขาตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่เลวร้ายมาก แปลกแยกกับทุกสิ่ง ชิงชังโลกทั้งโลก และที่หนักที่สุดคือชิงชังตัวเอง จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม “ฉันทนอยู่กับตัวเองต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจเขาตลอดเวลา จู่ๆ เขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า นี่เป็นความคิดที่แปลก “ตัวฉันมีหนึ่งหรือสองกันแน่ ถ้าฉันทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ ก็แสดงว่าตัวฉันนั้นมีสอง คือ “ฉัน” กับ “ตัวตน” ที่ “ฉัน” ทนอยู่ด้วยไม่ได้” เขาสงสัยขึ้นมาว่า คงมีเพียงหนึ่งเท่านั้นที่จริง

เขาพิศวงงงงวยกับความคิดดังกล่าวจนจิตหยุดปรุงแต่ง ไร้ความคิดใดๆ มีแต่ความรู้สึกตัวเต็มที่ แล้วเขาก็รู้สึกว่าตัวเองถูกดูดลงไปในที่ว่าง เป็นที่ว่างข้างในตัวมากกว่าที่ว่างภายนอก เขาเล่าว่าจำสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมา เขาพบกับความรู้สึกใหม่ เป็นความตื่นตาตื่นใจในมหัศจรรย์ของชีวิต ราวกับว่าเพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกเป็นวันแรก เขายังได้พบกับความสงบที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นเวลานานหลายปีที่เขาไม่เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเข้าใจ เขาอธิบายว่าความทุกข์แสนสาหัสในคืนนั้นได้บีบคั้นให้จิตของเขาต้องถอนจากความยึดติดในตัวตนที่อมทุกข์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิต เขาเชื่อว่าการถอนจากความยึดมั่นดังกล่าวเป็นการถอนอย่างสิ้นเชิง จนตัวตนที่อมทุกข์นั้นพินาศพังภินท์ไปทันที เหมือนกับถอดจุกออกจากตุ๊กตาพองลมจนแฟบ คงเหลือแต่ธรรมชาติแท้จริงที่เป็นปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง

คำอธิบายดังกล่าวใกล้เคียงกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามองว่า ตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก แต่เป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้นมาเอง ซ้ำยังไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นสิ่งจริงแท้ ความหลงดังกล่าวเป็นรากเหง้าของการไปยึดอะไรต่ออะไรมาเป็น “ตัวกู ของกู” อีกมากมาย ไม่เพียงยึดร่างกายนี้ หรือทรัพย์สมบัติรอบตัวว่าเป็น “ตัวกูของกู” เท่านั้น แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทั้งบวกและลบ ก็ยังยึดว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ผลก็คือ เมื่อความเครียดเกิดขึ้น ก็สำคัญมั่นหมายว่า “กูเครียด” เมื่อเกิดทุกขเวทนาไม่ว่ากับกายหรือใจ ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า “กูทุกข์”

รากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวงจึงเกิดจากความยึดติดถือมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ต่อเมื่อปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าว จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ อะไรเล่าที่จะทำให้เกิดการปล่อยวางดังกล่าวได้ คำตอบก็คือ ปัญญาที่แลเห็นความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ หรือยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลยแม้แต่อย่างเดียว

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือความหลงว่าสิ่งทั้งปวงนั้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา และสามารถใช้มันปรนเปรอสร้างสุขแก่เราได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย แถมยังเต็มไปด้วยทุกข์จนไม่น่ายึดถือหรือน่าเอาด้วยซ้ำ จิตก็ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงทันที

ตรงนี้เองที่ความทุกข์มีความสำคัญ เพราะสามารถทำให้ผู้คน “ตาสว่าง” และหลุดจากความหลงดังกล่าวได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของโทลเลอเกิดขึ้นเมื่อเขาประสบกับความทุกข์อย่างหนักถึงขั้นอยากตายไปจากโลกนี้ ในด้านหนึ่งความทุกข์ดังกล่าวทำให้จิตของเขากระสับกระส่ายทุรนทุราย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ผลักดันให้เขาจำต้องปล่อยวางจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” พูดอีกอย่างคือเขาตระหนักชัดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์” นั้นไม่น่ายึดถืออีกต่อไป ยิ่งมาได้คิดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์” นี้เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เขาก็สลัดมันทิ้งได้ทันที

ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุและภิกษุณีหลายรูปที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะถูกทุกข์บีบคั้นอย่างหนักจนเห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ คือร่างกายและจิตใจนั้นไม่น่ายึดถือแม้แต่น้อย อาทิ พระธรรมาเถรีซึ่งเป็นภิกษุณีวัยชราผู้ทุพพลภาพ เวลาไปบิณฑบาตต้องถือไม้เท้าประคองร่างกายที่สั่นเทา มีคราวหนึ่งท่านเกิดสะดุดล้มลง ร่างกระแทกกับพื้น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรง ชั่วขณะนั้นเองที่ท่านเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความตระหนักชัดว่าร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือ ทำให้จิตของท่านปล่อยวางในขันธ์และหลุดพ้นทันที

อีกกรณีหนึ่งได้แก่พระสัปปทาสเถระ ท่านมีความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่พบความสงบทั้งๆ ที่บวชมาถึง ๒๕ ปี รู้สึกว่าชีวิตของตนไร้คุณค่า ครั้นจะลาสิกขาก็รู้อับอาย จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะที่ท่านสะบัดมีดโกนปาดคอ เกิดความเจ็บปวดอย่างแรง ท่านก็ได้ประจักษ์ชัดว่าว่า สังขารนั้นเป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดถือ จิตก็ปล่อยวางและหลุดพ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที

ความทุกข์สามารถเปิดใจให้เกิดปัญญาได้ แต่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อจิตไม่จมดิ่งอยู่ในความทุกข์อย่างสิ้นเชิง แต่สามารถ “ทะลึ่ง” โผล่พ้นความทุกข์แม้ชั่วขณะ จนแลเห็นความทุกข์ แทนที่จะเป็น “ผู้ทุกข์” ชั่วขณะนั้นเองที่ปัญญาสามารถผุดโพลงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นความทุกข์ตามที่เป็นจริง การฉุกคิดระคนฉงนสงสัยที่เกิดขึ้นกับโทลเลอว่า “ตัวฉัน” ที่อมทุกข์นั้น มีจริงแน่หรือ เป็นเชื้ออย่างดีให้ปัญญาญาณสว่างโพลงขึ้นมา จนสามารถสลัดตัวตนที่ปรุงแต่งนั้นทิ้งไปได้

อย่างไรก็ตามการที่จะ “เห็น” ทุกข์ โดยไม่ “เป็น” ทุกข์ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีสติเป็นเครื่องยกจิตออกจากทุกข์ สติที่เกิดขึ้นหากมีกำลังมากพอสามารถทำให้จิตหลุดจากทุกข์ บางครั้งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่ก็นานพอที่ปัญญาจะมารับช่วงต่อ จนหลุดจากทุกข์ หรือ “ได้คิด” ขึ้นมาจนเปลี่ยนใจเปลี่ยนชีวิต ดังที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่กลุ้มใจจนเตรียมโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่พลันได้เห็นแสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ ก็เกิดฉุกคิดขึ้นมา มองชีวิตในมุมใหม่ จนเลิกคิดฆ่าตัวตาย และเริ่มต้นชีวิตใหม่จนก้าวข้ามความทุกข์ที่รุมเร้าได้

คนทั่วไปเมื่อถูกทุกข์กลุ้มรุม หากยังพอมีสติอยู่ ก็มักหาทางหนีจากทุกข์ ด้วยการหันเหใจให้ไปรับรู้สิ่งอื่นที่น่าพึงพอใจแทน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวห้าง หรือเสพเพศรส แต่หากถูกทุกข์รุมเร้าอย่างหนักจนทนไม่ไหว ก็อาจปลิดชีวิตตัวเอง มองในแง่หนึ่งนั่นคือความพยายามที่จะหนีจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” โดยสำคัญผิดว่า ร่างกายและจิตใจนี้คือตัวตน

น่าสนใจก็ตรงที่มีบางคนที่พยายามหนีจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” ด้วยการสลัดมันทิ้งไป แต่แทนที่จิตจะเป็นอิสระ กลับไปยึดเอาตัวตนอื่นเป็นที่พึ่งแทน กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ต่อเมื่อตัวตนเดิมหายทุกข์ จึงกลับไปหาตัวตนนั้นและดำรงชีวิตเหมือนปกติ นี้อาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดบางคนจึงมีความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่าบุคลิกซ้อน (multiple personality disorder)

เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “คาเรน” เป็นหญิงวัย ๓๔ ปี ที่จิตแพทย์พบว่าเธอมีบุคลิกต่างๆ ถึง ๑๗ แบบ แต่ละแบบนั้นแตกต่างกันราวกับเป็นคนละคน และไม่สื่อสารกัน แต่ละบุคลิกมีชื่อและสำนึกตัวตนแตกต่างกัน ราวกับมีคน ๑๗ คนในร่างเดียวกัน บางบุคลิกชื่อ “แคลร์” เป็นเด็ก ๗ ขวบ บางบุคลิกชื่อ “ซิดนีย์” อายุ ๕ ขวบ ในแต่ละวันคาเรนจะสลับอยู่ในบุคลิกต่างๆ กัน โดยไม่เฉลียวใจเลยว่ามีบุคลิกอื่นๆ อยู่ในตัวเธอด้วย

คาเรนเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์เมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว ด้วยอาการซึมเศร้าและอยากฆ่าตัวตาย ต่อมาจิตแพทย์พบว่าเธอถูกบิดาล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก น่าแปลกก็ตรงที่เธอจำไม่ได้ว่ามีเพศสัมพันธ์กับพ่อ ทั้งๆ ที่มีลูกด้วยกัน ๒ คน การปรึกษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องทำให้เขาค่อยๆ ค้นพบบุคลิกทั้ง ๑๗ อย่างในตัวเธอ

จิตแพทย์ได้พบว่า บุคลิกเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยจิตไร้สำนึกเพื่อเป็นทางหนีทุกข์ เมื่อใดก็ตามที่ไปอยู่ในบุคลิกหนึ่ง ก็จะไม่รับรู้ความทุกข์ที่เกิดกับอีกบุคลิกหนึ่ง เพราะแต่ละบุคลิกนั้นเสมือนเป็นคนละตัวตนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้จักกัน ดังนั้นเวลาคาเรนถูกพ่อกระทำมิดีมิร้าย เธอจะกลายไปเป็นเด็กชายที่ชื่อ “ไมลส์” วัย ๘ ขวบทันที เพราะจิตไร้สำนึกรู้ดีว่าเด็กชายย่อมไม่ถูกกระทำเช่นนั้นจากพ่อ พูดอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นตัวตนที่ชื่อคาเรน ถูกสลัดทิ้งไป และมีตัวตนใหม่เข้ามาแทนที่ เป็นตัวตนที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคาเรน นี้คือเหตุผลว่าทำไมคาเรนจำไม่ได้ว่าพ่อทำอะไรกับเธอ

แต่ละตัวตนมีหน้าที่ต่างๆ กันซึ่งช่วยให้เธอสามารถทนกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ เวลาพูดคุยกับพ่อ ตัวตนที่ชื่อ “ซิดนีย์” ก็เข้ามาแทน เพราะเป็นเด็กที่ร่าเริง สามารถคุยเล่นกับพ่อได้ วิธีนี้ทำให้เธอไม่ต้องเป็นปฏิปักษ์กับพ่อ เพราะยังต้องพึ่งพาพ่ออยู่

การสลัดตัวตนเดิมทิ้งเพื่อไปยึดตัวตนใหม่ สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดบางคนจึงมีลักษณะเหมือนผีเข้า อาการดังกล่าวอาจเกิดกับหญิงสาวที่อยู่ภายใต้การดูแลกวดขันอย่างใกล้ชิดจากพ่อหรือแม่เจ้าระเบียบ ในด้านหนึ่งเธอจึงเป็นคนสุภาพเรียบร้อยราว นุ่มนวล แต่บางครั้งก็กลายเป็นคนก้าวร้าว อามรณ์รุนแรง และน่ากลัว ด่าทอพ่อแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ราวกับเป็นคนละคน ใช่หรือไม่ว่า บุคลิกหรือตัวตนอย่างหลังนั้นเป็นทางออกของเธอ เพื่อระบายความโกรธเกลียดใส่พ่อแม่ได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจเธอ ซึ่งปกติไม่สามารถทำได้ในฐานะคนธรรมดา พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเครียดจากการถูกกดดันให้อยู่ในระเบียบ รวมทั้งความทุกข์จากความรู้สึกผิดที่โกรธเกลียดพ่อแม่ ทำให้เธอไม่สามารถทนอยู่กับตัวตนเดิมที่เรียบร้อยได้ จึงต้องสลัดตัวตนนั้นทิ้ง และหาตัวตนใหม่ที่อนุญาตให้เธอทำสิ่งต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ

การทิ้งตัวตนเดิม แล้วไปยึดตัวตนใหม่นั้น เป็นวิธีหนีทุกข์ไปได้ชั่วคราว แต่ไม่นานก็ต้องกลับมาเจอทุกข์ดังเดิม เพราะในที่สุดก็ต้องหวนคืนสู่ตัวตนเดิม ซ้ำยังมักสร้างทุกข์ใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสับสนทางใจ กรณีดังกล่าวยังชี้ว่า การสลัดตัวตนมิใช่ของง่าย เพราะจิตมักไปยึดเอาสิ่งอื่นมาเป็นตัวตน หรือสร้างภาพลวงอย่างใหม่ให้มาเป็น “ตัวกู” แทน ความทุกข์นั้นมีพลังบีบคั้นให้จิตปล่อยวางจากตัวตน (ที่ปรุงแต่งขึ้นเอง) ก็จริง แต่หากไม่มีสติเพื่อพลิกจิตให้เห็นทุกข์แล้ว ก็ยากที่จะเกิดปัญญาจนอยู่เหนือทุกข์ได้ ตรงข้ามความทุกข์นั้นเองกลับผลักให้ไปหาตัวตนใหม่ด้วยหวังว่าจะเป็นสรณะสำหรับหลบทุกข์ได้ แต่นั่นเป็นความหลงอีกอย่างหนึ่ง เพราะตราบใดที่ยังยึดติดถือมั่นว่ามีตัวตนอยู่ ก็ต้องมี “กู ผู้ทุกข์” อยู่ร่ำไป ไม่ว่าตัวตนนั้นจะถูกปรุงแต่งให้เลอเลิศเพียงใดก็ตาม

Back to Top