กันยายน 2009

วิถีแห่งจิตวิวัฒน์



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กันยายน 2552

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ศกนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสานจิตรเสวนา ในการประชุมมหกรรมความรู้การพัฒนาจิต ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

น่าปลื้มใจที่มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก หลังจากที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถานำ ที่กระตุ้นความคิดให้รักการสืบค้น แสวงหาความจริงเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจและทางปัญญาแล้ว สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้สนทนากันในรูปแบบการอภิปรายที่ผู้ฟังมีส่วนร่วมอย่างมาก

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ดำเนินการสนทนา ได้ให้ผู้เขียนตอบคำถามสั้นๆ ว่า การร่วมกิจกรรมจิตวิวัฒน์มาโดยตลอดนั้น ผู้เขียนได้รับประโยชน์อะไร และมีความประทับใจวิทยากรคนใดบ้าง

ข้อความต่อไปนี้คือคำตอบที่ได้เขียนเตรียมไว้ แต่มิได้นำขึ้นไปพูดบนเวที เพราะธรรมชาติการสนทนาของกลุ่มจิตวิวัฒน์นั้น เราฟังคนอื่นพูด เราพูดสิ่งที่เราคิด ไม่ใช่พูดสิ่งที่เราเขียน เราฟังด้วยใจและไตร่ตรอง และเราพูดจากใจ เราอาจจะบันทึกบางสิ่งไว้เฉพาะที่ประทับใจ และอยากแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง ในการเสวนาแต่ละครั้ง ผู้เขียนจึงมีบันทึกของตนเองไว้คิดทบทวน สรุปได้ดังนี้

๑. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ คือการลดอัตตาตัวตน ทำจิตให้ว่างปลอดโปร่ง สบาย พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับการเสวนา ตั้งใจฟัง ฟังแล้วคิดพิจารณา คิดก่อนพูด พูดแล้วหัดคิดทบทวนสิ่งที่ได้พูดไป หลายปีที่ได้ฝึกการลดตัวตน ผู้เขียนค่อยๆ เรียนรู้ว่า การแบกเอาความถือตนว่ามีความรู้ เป็นนักวิชาการที่ผู้คนยกย่องนั้น ไม่ถูกต้อง การเป็นคนสามัญธรรมดา การอ่อนน้อมถ่อมตนในทุกสถานต่างหากที่ทำให้จิตและความคิดเปิดกว้าง และสามารถน้อมรับความคิดที่แตกต่างได้ดี

๒. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ เป็นการฝึกจิตให้น้อมลงสู่การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน ผู้เขียนนั้นอยู่ในวัยชราแล้ว ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ถูกฝึกให้อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ และมักจะตีตราตนเองว่าเป็น “ผู้ใหญ่” หลายครั้งที่ทุกข์ใจว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ เหตุใดจึงเพ้อผัน ไม่มีเหตุผล ทำตัวเหลวไหล คิดอะไรประหลาดๆ ผู้เขียนโชคดีที่ได้มาฝึกตนในกลุ่มจิตวิวัฒน์ ได้พบคนหนุ่มสาวที่มีความคิดดีๆ มีความรู้ในสิ่งใหม่ๆ มากกว่าผู้เขียนจริงๆ ผู้เขียนเริ่มมีมุมมองใหม่ ลองค้นหาความฉลาดรู้และวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ผู้เขียนพบว่าสังคมไทยยังมีหวัง ซี่กรงที่กักขังความคิดเริ่มหลุดลงไป การยึดกรอบกฎเกณฑ์ตามความเคยชินเริ่มลดลง เปิดรับความคิดและความรู้ที่เป็นทางเลือกมากขึ้น เกิดความรักและความเมตตาต่อคนรุ่นใหม่ มีความสุขที่ได้ทำงานด้วยกัน

๓. ได้เห็นแบบอย่างที่ดีของการฝึกตน การเสวนาในกลุ่มจิตวิวัฒน์ มีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตด้านต่างๆ มานำการสนทนา สมาชิกของกลุ่มได้เห็นแบบอย่างทางบุคลิกภาพ วิธีคิด ความรู้จริงจากการปฏิบัติจริง เหตุการณ์ที่ชักนำให้ต้องพัฒนาตัวเอง ฯลฯ ของวิทยากร เป็นบทเรียนที่ผู้เขียนได้เรียนรู้แต่ละครั้ง ตลอด ๗๑ ครั้งที่ผ่านมา เช่น วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่พูดถึง “การเขียนโลกใบใหม่” ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ สนทนาเรื่อง “จังหวะหัวใจ จังหวะชีวิต จังหวะแผ่นดิน” กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม แนะนำ “สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน” ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าเรื่อง “การเดินทางสูความเป็นมนุษย์ที่แท้” ความรู้และประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับ แล้วนำมาฝึกฝนตนเองนั้น เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่หาไม่ได้จากตำราใดๆ

๔. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ ช่วยสร้างแนวคิดใหม่ของการเรียนรู้ ผู้เขียนได้พบวิธีการเรียนรู้ใหม่ คือการผสมผสานการเรียนรู้ภายในตน กับการไขว่คว้าหาความรู้สำเร็จรูปจากภายนอก เป็นการเรียนรู้ชีวิตและจิตใจตนเอง ควบคู่ไปกับการรู้วิชาและศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ เรื่องจักรวาล และควอนตัมฟิสิกส์ เรื่องภาวนาเพื่อสัมผัสชีวิตด้านใน (ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต) เรื่องความเงียบ ศิลปะบำบัด มองรอบทิศมนุษยนิยม ผู้เขียนพบว่า กระบวนการเรียนรู้นั้น นอกจากมีวิธีการต่างๆ แบบที่เคยทำมาแล้ว ยังมีการเรียนรู้ด้วยใจที่เกิดจากการเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึกซึ้ง กิจกรรมสุนทรียสนทนา การฝึกคิดเชิงบวก และการซักถามอย่างชื่นชมในบรรยากาศที่เป็นมิตร

๕. ในวิถีแห่งจิตวิวัฒน์ ผู้เขียนพบว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังการเล่าเรื่องจากวิทยากร ผู้เขียนได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ที่ผุดขึ้นในใจ กับถ้อยคำที่วิทยากรกำลังพูด เมื่อเขาพูดจบ ผู้เขียนได้จดบันทึกความรู้ที่บังเกิดขึ้นไว้เตือนตนเองอยู่เสมอ ดังจะขอยกตัวอย่าง เมื่อได้ฟัง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าเรื่อง “การต่อสู้ภายในเพื่อชัยชนะทางจิตวิญญาณ” ซึ่งเล่าว่า ประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านพบ เขาฝึกตนที่จะไม่ผูกพัน เขาได้เข้าใจอำนาจของความว่าง และความว่างของอำนาจ ตัวตนดั้งเดิมกับตัวตนใหม่ของเสกสรรค์ ได้เปลี่ยนแปลง (transform) จากที่เคยมีอัตตาสูง เผชิญเหตุการณ์ด้วยความทุกข์ มาสู่ความว่าง จนตัวตนเล็กลง วางความยึดเหนี่ยว (attachment) จนไม่มีเสกสรรค์อีกต่อไป

เมื่อจบการสนทนา ผู้เขียนได้บันทึกทันที และอ่านให้ ดร.เสกสรรค์ ฟังดังนี้

¤ เสกสรรค์ในความทรงจำ

เหมือนน้ำคือคลื่นซัดหาย

บัดนี้เธอเตรียมตัวตาย

ยากง่ายดีชั่วตัวเอง

หยุดยั้งความเป็นวีรชน

ตัวตนแห่งความกล้าเก่ง

ข้ามพ้นความฝันหวั่นเกรง

ตามกรรมบทเพลงชีวิต

ยามลงหยั่งลึกตรึกล้ำ

ตอกย้ำตัวต้องครองสิทธิ์

แท้จริงหาใช่ความคิด

ยึดติดจับจองของเรา

ท้ายสุดคือความรู้แจ้ง

โต้แย้งสิ่งสอนก่อนเก่า

สู่ความปลอดโปร่งโล่งเบา

ว่างเปล่าจึงเต็มเข้มคม

เสกสรรค์ไม่ยึดเสกสรรค์

จึงมีชีวันสุขสม

ตัวตนที่เห็นเป็นปม

กลับสลายปานสายลมสู่เสรี
ประสบการณ์จากกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลงผู้เขียนทีละน้อย จากความคิดติดกรอบของการศึกษาไปสู่ความคิดของการศึกษาทางเลือก และการสร้างแนวทางใหม่ของการเรียนรู้ภายในตนผสมผสานกับความรู้ที่มีอยู่รอบตัว

ผู้เขียนค้นพบว่า ความสุขที่แท้มีอยู่ในคนที่ไม่ยึดติดกับอำนาจและเงินตรา ความเป็นคนธรรมดาสามัญนั้นดีที่สุด การเรียนรู้เพื่อพัฒนากายและพัฒนาจิต เป็นการศึกษาที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เรียนด้วยตนเอง เรียนจากธรรมชาติ เรียนกับกัลยาณมิตร เรียนโดยการประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ

กลุ่มจิตวิวัฒน์เกิดขึ้นด้วยการก่อตัว มิใช่ด้วยการจัดตั้งและสั่งการ มีหลักแต่ไม่กำหนดกรอบ สมาชิกกลุ่มมารวมตัวกันอย่างสมัครใจ ท่ามกลางความเป็นมิตรและความปรารถนาดีต่อสังคม เป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดพลังเพิ่มพูนขึ้นในการสร้างสุขภาวะให้แก่ตนเองและแก่บ้านเมือง

ใครๆ ก็เรียนรู้เพื่อจิตวิวัฒน์ได้ ไม่มีการกำหนดสถานภาพ อายุ วุฒิ ใดๆ ขอแต่เพียงเป็นมนุษย์ที่ใฝ่ฝึกฝนตนเอง ไม่เล็งผลเลิศ ไม่หวังผลรวดเร็ว เพราะการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อีกทั้งไม่มีต้นแบบสำเร็จรูปตายตัว

บทความนี้ส่งท้ายด้วยคำบรรยายของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ในงานสานจิตรเสนาว่า

จิตวิวัฒน์ทำให้เกิดสุข

เป็นความสุขที่ราคาถูก – happiness at low cost

เมื่อราคาถูกจึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน

ทลายกำแพง (ในใจ) ลง



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กันยายน 2552

ผู้เขียนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้าแรก ฉบับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ว่า “จนท.สังคมสงเคราะห์ ปลอบโยน ด.ญ.วันเพ็ญ แซ่เล้า อายุ ๑๒ ปี ที่ปล่อยโฮเป็นที่น่าเวทนา โดยมีน้องสาววัย ๒ ขวบ นั่งดูดนมดูอย่างไร้เดียงสา หลัง ๒ พี่น้องถูกพ่อแม่ทิ้งไว้ในบ้านเช่าใน อ.วังน้อย” ภาพเด็ก ๒ คน ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงภาพในอดีตครั้งผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในประเทศเยอรมนี วันหนึ่งในขณะที่กำลังนั่งรับประทานอาหารกับเพื่อนรุ่นพี่อีก ๒ คน มีผู้หญิงไทยคนหนึ่งเดินโซซัดโซเซเมาสุรามาทรุดกายลงที่โต๊ะที่เรานั่ง ร่างของเธอผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก แต่งกายไม่เรียบร้อย ไม่ได้รูดซิปกางเกง พวกเรารู้ได้จากลักษณะภายนอกทันทีว่า เธอประกอบอาชีพขายบริการและกำลังป่วยเป็นโรคเอดส์ เสียงของเธอแหบแห้งและพร่ำพรรณนาวนไปวนมาเกี่ยวกับลูกของเธอ “เด็กลูกครึ่งมันน่ารักจริง ๆ คนโตมันอายุ ๑๒ ไอ้คนเล็ก ๕ ขวบ...เนี่ย...ก็ปล่อยให้มันอยู่กันเอง วันๆ มันก็กินสปาเก็ตตี้กับซอสมะเขือเทศเปล่าๆ...วันนี้ไอ้คนโตบอกไม่ให้ฉันมาทำงาน...มันร้องไห้ บอกว่า แม่จ๋า...อย่าไปทำงานเลยนะ พวกเราคิดถึงแม่ อยู่กับพวกเราเถอะนะ ไม่ต้องไปทำงานแล้วนะ” เธอพยายามลุกขึ้นยืน แต่ก็หมดเรี่ยวแรงล้มตัวลงมาทับผู้เขียน ทิ้งน้ำหนักตัวทั้งหมดลงมา เนื้อตัวเธอเปียกเหนอะหนะ ไม่รู้ว่าเหนอะหนะจากอะไร ผู้เขียนเห็นความกลัวข้างในตัวเองอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่สตรีผู้นี้พูดถึงลูกๆ ของเธอนั้น ยิ่งน่าเศร้าใจกว่า จนผู้เขียนอดร้องไห้ออกมาไม่ได้

เรื่องราวเหล่านี้ในเยอรมนีมีมากมายจนผู้เขียนแทบสำลัก และเกิดคำถามในใจมากมาย หน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กมีมากมาย แต่ก็ช่วยได้ไม่ทั่วถึง หากมองเรื่องนี้อย่างผิวเผิน อาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นพิษผลจากวัตถุนิยมบริโภคนิยมเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย แต่เมื่อศึกษาไปจริงๆ จะพบว่าหลายกรณีเหลือเกินที่คนเหล่านี้สมัครใจย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศไทยไปเอง แม้จะต้องไปเผชิญกับชีวิตสารพัดรูปแบบในต่างแดน แม้จะผิดกฎหมายเป็นที่ดูถูกดูแคลน เป็นที่รังเกียจของต่างชาติก็ยอม มากกว่าจะที่อยู่ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมเดิมที่กดดันและปิดโอกาสในชีวิต

ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นฐานเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงปรากฏการณ์การหนีของคนจากเยอรมนีตะวันออกเข้าสู่เยอรมนีตะวันตก โดยลักลอบผ่านกำแพงเบอร์ลิน เข้าสู่บริเวณของเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่มีกำแพงล้อมรอบไว้ท่ามกลางพื้นที่ของเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด

ในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ดินแดนทั้งหมดของเยอรมนีได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เพื่อเป็นสินชดเชยสงครามให้ฝ่ายเสรีนิยม (อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ) และฝ่ายคอมมิวนิสต์ (รัสเซีย) เมืองเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจึงถูกแบ่งด้วย แต่ทว่า เมืองเบอร์ลินทั้งเมืองอยู่ในอาณาบริเวณของเยอรมนีตะวันออก ดังนั้นพื้นที่ที่ตกเป็นของอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ จึงเป็นเสมือนเกาะเล็ก ๆ อยู่ใจกลางเยอรมนีตะวันออก ในตอนแรกยังไม่มีกำแพงใด ๆ กั้นเขตระหว่างตะวันออกและตะวันตก แต่ผ่านไป เกิดเหตุการณ์ที่คนเริ่มย้ายสำมะโนครัวออกจากเยอรมนีตะวันออกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจุดหนึ่งที่คนย้ายถิ่นฐานมามากที่สุดคือเบอร์ลินตะวันตก จนกระทั่งรัฐบาลฝ่ายรัสเซียต้องประกาศมาตรการห้ามย้าย และทำการกั้นรั้วลวดหนามขึ้นทันทีทันใดในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ เพื่อไม่ให้คนเดินทางอีกต่อไป และในที่สุดได้เกิดสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิด คือมีการสร้างกำแพงขึ้นสูงประมาณ ๓ เมตร ความยาวประมาณ ๑๕๖ กิโลเมตร ล้อมรอบเบอร์ลินตะวันตกไว้ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบหนีเข้าเบอร์ลินตะวันตกได้โดยง่าย มีรถถังและทหารผลัดเปลี่ยนเวรยามอย่างเข้มงวดตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ยังมีคนหนีข้ามผ่านกำแพงเบอร์ลินอยู่อย่างต่อเนื่อง ยอมเสี่ยงตายสละชีวิต มากถึง ๕,๐๐๐ ครั้ง ตลอดระยะเวลา ๒๘ ปี เรียกว่า หนีกันวันเว้นวัน และมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อคนทั้งโลกว่า เมื่อระบบ ๒ ระบบได้ประจันหน้ากันอยู่ที่กำแพงเบอร์ลิน ระบบหนึ่งเป็น “ระบบปิด” อีกระบบหนึ่งเป็น “ระบบเปิด” ผู้คนเลือกที่จะอยู่ภายใต้การปกครองแบบระบบเปิด ซึ่งให้ความสำคัญกับ “ความเป็นสมาชิก” ของคน และคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างจริงจัง สามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่ใช่การกำหนดนโยบายมากจากคนกลุ่มเล็ก ๆ จากชนชั้นปกครองอย่างเช่นเผด็จการทหารในเยอรมนีตะวันออก และถึงแม้ฝ่ายปกครองจะประชาสัมพันธ์ถึงคุณธรรมจริยธรรมในระบบมากมายเพียงใด แต่ก็ยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่า ทำไมต้องมีทหารถือปืน มีรถถังคอยกำกับ และเข่นฆ่าคนที่หนีออกจากระบอบที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

จนในที่สุด รัฐบาลรัสเซียต้องยอมรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเปิดกำแพงเบอร์ลินในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ประโยคที่โด่งดังมากไปทั่วโลก คือประโยคที่ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวต่อประธานาธิบดี มิคาเอล กอร์บาชอฟ ของรัสเซียว่า “Tear down this wall (จงทลายกำแพงนี้ลง)” นั่นหมายถึง จงทลายกำแพงในใจคุณลง และยอมเปิดรับหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเสมอภาค เช่นเดียวกันกับคนทั้งโลก

ถึงแม้ในขณะนั้นเยอรมนีตะวันตกจะเป็นประเทศที่มีสภาพสังคม เศรษฐกิจที่แข็งแรง แต่ภายหลังกำแพงเปิด การฟื้นฟูเยอรมนีตะวันออกเป็นไปอย่างเชื่องช้า และใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ในการบูรณะประเทศฟากที่เคยปกครองโดยทหาร อย่างไรก็ตาม ได้ทำให้ทั้งโลกได้เรียนรู้ร่วมไปด้วย ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคน ๒ ฟาก ที่ห่างกันไม่ถึง ๑ กิโลเมตร ว่าสภาพบ้านเมืองมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บ้านเมืองที่ปกครองโดยการรัฐประหารหรืออำนาจในระบบปิด มีความบอบช้ำทรุดโทรมมาก คนยากจน มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้คือ ความรุนแรงของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่คลั่งชาติ นีโอนาซี ที่คอยดักทำร้ายชาวต่างชาติ

แต่ถึงแม้เยอรมนีจะมีปัญหานีโอนาซี แต่คนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ ตุรกี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งคนเอเชียที่พบเห็นได้มากมาย ก็ยังคงย้ายถิ่นฐานมาอยู่เยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ การมองแต่เพียงว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของบริโภคนิยม จึงอาจไม่ใช่เหตุผลที่ครอบคลุมหรือดีนักในการนำมาอธิบาย ทว่าการย้ายถิ่นฐานไปยอมตกระกำลำบากที่เยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลินหรือไม่? เป็นการขยายวงกว้างของตัวกำแพงที่มองไม่เห็นที่มีอยู่ทั่วโลกหรือไม่?

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อเรื่องวิวัฒนาการของคน เชื่อว่าคนทั้งหมดจะเรียนรู้และมีพัฒนาการ จนเกิดดุลยภาพและสันติภาพในการอยู่ร่วมระหว่างคนด้วยกัน ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม และระหว่างคนกับจักรวาลเป็นลำดับไป ผู้เขียนเชื่อว่าหากเรามองโลกอย่างมีที่มาที่ไป จะพบว่าคนได้ผ่านความทุกข์ยาก และบาดเจ็บล้มตายกรุยทางให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันมามาก มีความจริงที่ปรากฏชัด มีบทเรียนที่มนุษยชาติสูญเสียร่วมกันอย่างใหญ่หลวง และผ่านการตระหนักรู้ร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะมีกำแพงสูงและกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด ก็ไม่สามารถยับยั้งธรรมชาติของวิวัฒนาการมนุษย์ที่ทะลุทะลวงกำแพงเหล่านั้นได้ ทว่าผู้ที่กำแพงในใจเปิดได้ทันเวลาอย่างประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ และกลายเป็นวีรบุรุษในใจของคนเยอรมนีตลอดกาลนั้น จะเหลือบนโลกอยู่สักกี่คนหรือ? คำตอบของเรื่องนี้ อาจอยู่แต่ในสายลม...

ปณิธานครู-ปณิธานแพทย์



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 12 กันยายน 2552

การประชุมจิตวิวัฒน์ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ผมเกิดความสุขอิ่มเอมและเกิดกำลังใจเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นอย่างบอกไม่ถูก

คุณครูวิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ผู้เขียนหนังสือที่ดีมากๆ ชื่อว่า โรงเรียนนอกกะลา เป็นผู้จุดชนวนความสุขและความหวังให้กับวงจิตวิวัฒน์ในวันนั้น ผ่านการแนะนำของคุณหมอสมชาย ธรรมสารโสภณ จากโรงพยาบาลกระสัง

ในระหว่างที่รอจะเข้าห้องประชุม ผมพลิกๆ อ่านดูหน้าแรกของหนังสือ โรงเรียนนอกกะลา เล่มนี้ พบข้อความที่จะทำให้คนอ่านต้องสะดุ้งและเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า เรื่องราวของโรงเรียนนี้เป็นอย่างไร และเป็นไปได้อย่างไร ครูวิเชียรเขียนไว้ว่า

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ เป็นโรงเรียนที่ไม่มีดาวให้ผู้เรียน เป็นโรงเรียนที่ไม่ต้องใช้แบบเรียน เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง เป็นโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก และเป็นโรงเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข

ครูวิเชียรค่อยๆ บอกเล่าเรื่องราวมากมาย ว่าลำปลายมาศพัฒนาสามารถเป็นไปได้ตามที่ได้เขียนไว้อย่างไร

คุณครูเล่าได้ครอบคลุมทุกๆ ด้านของการศึกษาในความหมายของลำปลายมาศพัฒนา การเล่นและเรียนรู้ของเด็กในยามเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ซึ่งครูวิเชียรถือว่ามีความสำคัญมากเหมือนกับเป็นการเตรียมพร้อมด้านร่างกายของเด็ก เมื่อเข้าห้องเรียนแล้ว จะมีวิธีการเตรียมเด็กให้พร้อมกับบทเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เมื่อครูเห็นว่าเด็กพร้อมแล้วจึงจะเข้าสู่บทเรียนแบบสั้นๆ ใช้เวลาพูดไม่นานเกินไป จากนั้นก็กลับไปให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามแผนการเรียนที่เด็กๆ ได้ช่วยกันวางเอาไว้ตั้งแต่แรก

การใช้เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ เป็นเรื่องเด่นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น การบอกความรู้สึกกันตรงๆ ระหว่างครูกับนักเรียน หรือครูกับครู การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่บ้าน และชุมชน

การให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ผู้ปกครองทุกคนต้องมาสอนในโรงเรียนอย่างน้อยหนึ่งวิชา จะเป็นอะไรก็ได้

ผมนั่งฟังคุณครูวิเชียรเล่าด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เรื่องราวทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็ก ซึ่งเป็นไปในแนวเดียวกันและสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องสมองและวิทยาศาสตร์ในกระบวนทัศน์ใหม่ที่หลายคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์กำลังดำเนินการอยู่ และกำลังค่อยๆ เผยตัวออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องหนึ่งที่สะดุดใจผมมากคือ “ปณิธานห้าข้อของครู” ที่คุณครูวิเชียรใช้สำหรับคุณครูทุกคนในโรงเรียน

คุณครูวิเชียรเล่าว่า การรับสมัครคุณครูใหม่ให้มาสอนที่โรงเรียนไม่ยากเลย เพราะมีคนมาสมัครเยอะมาก แต่เมื่อรับเข้ามาแล้วกว่าที่จะฝึกหัดให้คุณครูใหม่ “รู้สึกร่วม” กับ “ปณิธาน” ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานั้นเป็นเรื่องยากที่สุด ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปีขึ้นไป กว่าที่คุณครูใหม่จะดื่มด่ำกับการเรียนการสอนที่แปลกใหม่แบบนี้ คุณครูเลยมี “ปณิธานห้าข้อ” ไว้สำหรับคุณครูเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน

หนึ่ง ตอนเป็นเด็กต้องการอย่างไรก็ให้ปฏิบัติอย่างนั้นกับเด็ก

สอง รักเด็กทุกคน ให้เกียรติ หาข้อดีของเขาและสร้างเสริมส่วนนี้

สาม ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลวแม้แต่คนเดียว

สี่ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป ถามตัวเองเสมอว่าทำให้ดีกว่านี้อีกได้หรือไม่

ห้า ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ไปทำอาชีพอื่น

เพราะ “ปณิธานห้าข้อ” ของครูวิเชียร ทำให้ผมนึกได้ขึ้นมาทันทีว่า เป็นเรื่องเดียวกันในระบบสาธารณสุขได้เลย เพียงปรับคำพูดบางคำก็จะกลายเป็น “ปณิธานห้าข้อสำหรับแพทย์พยาบาล” ได้

ข้อที่หนึ่ง ผมเห็นว่าสามารถใช้ความรู้สึกข้อนี้ เป็นแนวทางหลักในการดูแลรักษาคนไข้ได้เป็นอย่างดี ตอนที่เราเป็นคนไข้ ต้องการให้แพทย์พยาบาลปฏิบัติกับเราอย่างไร ก็ให้ปฏิบัติแบบนั้นกับคนไข้

ข้อสอง เป็นหัวใจหลักของสุขภาพแบบองค์รวมเลยทีเดียว คือรักและให้เกียรติคนไข้ มุ่งพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาวะของคนไข้มากกว่าที่จะมัวแต่รอรักษาโรค การจะเข้าถึงความลึกในระบบสุขภาพให้ได้นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาวะกำเนิด” (Salutogenesis) ซึ่งเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในตัวคนไข้ด้วย ไม่ใช่สนใจแค่ “พยาธิกำเนิด” (Pathogenesis) หรือมุ่งรักษาโรคอย่างเดียว

ข้อสาม ถ้าแปลงเฉยๆ จะกลายเป็นเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะคำว่า “ล้มเหลว” ในปณิธานของครูวิเชียรที่ใช้กับระบบการศึกษา อาจจะต้องปรับแต่งเล็กน้อยในระบบสุขภาพ เพราะความเข้าใจทั่วไปสำหรับสาธารณสุขคำว่าล้มเหลวหมายถึง “การเสียชีวิต”

ความหมายในข้อนี้จึงน่าจะหมายถึง ให้ศรัทธาในตัวคนไข้เสมอ ไม่ทอดทิ้งคนไข้แม้ว่าเขาจะดื้อดึงในเรื่องของสุขภาพของเขาสักแค่ไหนก็ตาม คนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่างก็มีความคิดทัศนคติมีตัวตนเป็นของเขาเอง การจะเข้าใจคนไข้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในบางบริบทและบางสถานการณ์ แต่ “ความระลึก” ถึงปณิธานข้อนี้พอจะช่วยเตือนให้เราสามารถรักคนไข้ได้ง่ายขึ้น

ข้อที่สี่ ผมชอบคำถามของคุณครูวิเชียรที่ให้ถามตัวเองว่า เราจะทำดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่ ก็สามารถเป็นตัวช่วยให้ “ทะลุกรอบ” อะไรบางอย่างได้ นักเรียนของคุณครูวิเชียรหลายคนมีเรื่องราวที่บ้าน บางคนไม่มีพ่อ บางคนอยู่กับยาย มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อครูและโรงเรียน เฉกเช่นเดียวกันกับคนไข้ที่มาโรงพยาบาล ปัญหาบางอย่างแพทย์และพยาบาลอาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่ผมเชื่อว่า อย่างน้อยคำถามนี้อาจจะสามารถช่วยให้ “ใครบางคน” “ทำอะไรที่แตกต่าง” ได้

ห้า ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ไปทำอาชีพอื่น

ในความเป็น “องค์รวม” นั้น เรื่องราวของส่วนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงเรื่องราวของส่วนอื่นๆ ในระบบ นั่นหมายความว่า “ปณิธานครูห้าข้อนี้” ยังสามารถปรับให้เป็น “ปณิธานของทุกๆ อาชีพ” ได้ เช่น “ปณิธานนักการเมือง” “ปณิธานนักธุรกิจ” “ปณิธานตำรวจทหาร” ฯลฯ

งานที่คุณครูวิเชียรทำไว้ที่ลำปลายมาศพัฒนา จึงสามารถเป็นตัวอย่างของชุดความเข้าใจที่สำคัญให้กับการพัฒนาในระบบอื่นๆ ทุกๆ ระบบได้เป็นอย่างดียิ่ง

จิตตปัญญาศึกษา: ทางเลือกหรือทางรอดของสังคม?



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2552

การขยายตัวที่ค่อนข้างจะรวดเร็วของการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในสถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่ปัจจุบันดูเหมือนจะหาหลักยึดอะไรไม่ค่อยได้ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา

ในเรื่องของการศึกษา นับตั้งแต่การปฏิรูปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ มาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนจะพายเรืออยู่ในอ่างของปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรและอย่างไร เช่น การปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ การผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย การขยายโอกาสทางการศึกษาในทุกระดับ และโดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยเฉพาะสาขาวิชาบริหารการศึกษา และหลักสูตรและการสอน) รวมไปถึงการแข่งขันให้มหาวิทยาลัยติดอันดับโลก ดูเหมือนไม่ได้ช่วยให้การศึกษาโดยเฉพาะผู้เรียนมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ทั้งที่การปรับเปลี่ยนเหล่านั้นมีข้ออ้างร่วมกัน คือการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และผลการทดสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) บ่งบอกว่า ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องความเก่ง (คะแนนผลสัมฤทธิ์ที่ค่อนข้างต่ำในทุกรายวิชา) ส่วนเรื่องความดี และความสุข ก็มีแนวโน้มลดลงเมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น ดูเหมือนโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาของไทยจะมีคุณภาพของปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของคุณภาพลดลง

โครงการโรงเรียนวิถีพุทธที่มีโรงเรียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะติดอยู่กับรูปแบบภายนอก มากกว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ โรงเรียน และสถาบันการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ ส่วนใหญ่ยังคงบริหารจัดการ และให้การศึกษาภายใต้ระบบคิดและแนวปฏิบัติตาม (รับใช้และตอบสนอง) ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมโดยขาดสติหรือไม่รู้เท่าทัน

ชื่อบทความ “จิตตปัญญา: ทางเลือกหรือทางรอดของสังคม?” เป็นชื่อเดียวกับการประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๒ ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะจัดในวันที่ ๒-๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาควรจะนำมาพิจารณา ใคร่ครวญ ทบทวนอย่างจริงจัง

ผู้เขียนเคยเขียนบทความชื่อ “ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขอหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา” ลงในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ ตอนนั้นไม่ได้ตั้งคำถามว่าจิตตปัญญาศึกษาจะเป็นทางเลือกหรือทางรอดของสังคม แต่เสนอให้พิจารณานำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ โดยได้นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในมหาวิทยาลัย ๒๕ แห่ง มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า ๗๐๐ คน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หากจะตอบคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษาจะเป็นทางเลือกหรือทางรอดของสังคม ผู้เขียนขอตอบภายใต้บริบทสังคมไทยว่าเป็นทางเลือก ยิ่งถ้าพิจารณาภายใต้บริบทการศึกษาในระบบของประเทศไทย ยิ่งชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็น (แค่) ทางเลือก เพราะการศึกษาในระบบในปัจจุบันอยู่ภายใต้แนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยมแบบขาดสติ ที่แม้แต่โรงเรียนวิถีพุทธที่เสนอและได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ยังไม่ได้รับความสำเร็จเท่าเทียมกับโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธที่เป็นโรงเรียนเอกชน

สังคมยังคงดำรงและดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะมีจิตตปัญญาศึกษาหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่มีคุณค่ามากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า เรา (ชุมชนและเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา) ต้องทุ่มเทมากขึ้น ทำงานหนักเพิ่มขึ้น ตั้งสติ และเสริมปัญญามากขึ้นเพื่อให้สิ่งดีๆ ที่เรียกว่าจิตตปัญญาศึกษาเกิดขึ้น และสร้างสรรค์สังคมแห่งความดีงามให้เป็นจริง

ลองดูข้อมูลต่อไปนี้ แล้วจะเข้าใจว่าทำไมผู้เขียนจึงตอบว่าจิตตปัญญาศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ เป็น (แค่) ทางเลือกของสังคม

นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษารอบสอง (๒๕๕๒-๒๕๖๑) สอดคล้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งไปพูดในการประชุมวิชาการประจำปีที่จัดโดยที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ สรุปได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างคุณภาพการศึกษา การพัฒนาครูอาจารย์ และการปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (อีกแล้วครับท่าน)

โดยการสร้างกลไก/องค์กรใหม่เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปรอบสอง เช่น จะจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการผลิต และพัฒนาวิชาชีพครู พัฒนาครูของครูในสถาบันผลิตครู พัฒนาครูประจำการ และผู้นำทางการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น จะมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ประเมิน และให้การรับรองสมรรถนะวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐาน เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้การผลิตกำลังคนมีความสอดคล้องกับความต้องการเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามสมรรถนะ จะมีสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ผลิตรายการในรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในรูปแบบหลากหลายแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้และการประกอบอาชีพ

นอกจากนั้น ยังจะจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อผลักดันการกระจายอำนาจบริหารจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษาให้เป็นจริง เพื่อความอิสระและคล่องตัวของโรงเรียน (อีกแล้วครับท่าน)

เห็นไหมครับว่า เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้แนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการศึกษาในทุกระดับและประเภทให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และเมื่อพิจารณาแนวทางการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาคงต้องเข้าไปร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับสถาบันคุรุศึกษา แต่ก่อนอื่นคงต้องถอยกลับมาใคร่ครวญทบทวนตนเอง

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย ได้รับอานิสงส์จากบุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงานจำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างและพัฒนาชุมชนปฏิบัติและเครือข่าย แล้วช่วยกันขับเคลื่อนในหลายรูปแบบหลากลักษณะ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความต้องการ และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างของทั้งผู้รับและผู้ให้

ในปัจจุบันจิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ เป็นทั้งวิชาการ วิชาชีพ และนักปฏิบัติ จึงมีหลายประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องควรใคร่ครวญอย่างลุ่มลึก เพื่ออย่างน้อยช่วยกันทำให้จิตตปัญญาศึกษาเป็นทางเลือกของสังคม แล้วพัฒนาไปสู่ทางรอดที่พึงประสงค์ของสังคมร่วมกัน เช่น หากจะเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในระบบ เราคงต้องมีองค์ความรู้ไม่ว่าจะเป็นสาระเชิงทฤษฎี วิธีแสวงหาความรู้/วิธีวิทยาการวิจัย/เครื่องมือ กระบวนการทางจิตตปัญญาและผลการศึกษาที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ เพราะเราคงไม่สามารถโน้มน้าวให้นักการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ยอมรับจิตตปัญญาศึกษาได้เพียงแค่พูดว่า เชื่อเราเถอะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่นักการศึกษากระแสหลักจะถามว่า มีผลการศึกษา/วิจัยที่พอจะทำให้มั่นใจได้หรือไม่ว่าได้ผล เพราะแม้แต่ทฤษฎีและแนวปฏิบัติทางการศึกษาใหม่ๆ บางอย่างที่มีผลการวิจัยรองรับ ก็ยังเป็นได้แค่การศึกษาทางเลือก

ระหว่างเขียนบทความ นึกแวบไปถึงประเด็นคำถามที่น่าสนใจของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ที่เชิญชวนให้เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ลองใคร่ครวญทบทวนดู เลยนำมาเสนอเป็นของแถม

เราชวนให้ผู้คนรักและเมตตาต่อกัน...เรารักและเมตตากันเองหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนอภัยต่อกัน...เราให้อภัยกันแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนใช้ชีวิตสมดุล หัว-กาย-ใจ...เราสมดุลตัวเองได้เพียงใด
เราชวนให้ผู้คนย้อนดูตัวเอง เข้าใจตระหนักรู้ตัวเอง...เราดูหรือไม่ บ่อยแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนคุยกันด้วยความสุนทรีย์ ฟังกันมากขึ้น...เราทำระหว่างกันด้วยหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนฟังคนโดยไม่ตัดสิน...เราตัดสินคนเร็วไปบ้างหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนเข้าใจเบื้องหลังกรอบความคิดหรือมุมมองต่อโลกที่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ได้รับ...เรารู้ทันหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนลดอัตตาตัวตน...เรายังมีอยู่เพียงใด

เราชวนให้ผู้คน...เราทำได้อย่างที่ชักชวนเพียงใด...จิตตปัญญา

และขอเพิ่มเติมอีกหนึ่งคำถาม...

เราอยากให้ผู้อื่นยอมรับ เข้าใจเรา...เราทำให้ผู้อื่นยอมรับ เข้าใจเราหรือไม่...จิตตปัญญาศึกษา

Back to Top