กันยายน 2007

บ้านเมืองจะพ้นวิกฤตเพราะจิตวิวัฒน์ (เท่านั้น)

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 กันยายน 2550

ในประวัติศาสตร์บ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง อาจมียุคที่ติดขัดใหญ่เป็นช่วงระยะเวลายาวนานหาทางออกไม่ได้ แต่ในที่สุดก็หลุดออกจากความติดขัดใหญ่ๆ หรือวิกฤตการณ์ได้ จึงควรศึกษาว่าบ้านเมืองนั้นๆ ในยุคนั้นๆ มีอำนาจอะไรมาทำให้วิกฤต และทำอย่างไรจึงหลุดออกจากสภาวะวิกฤตได้ จะขอยกตัวอย่างสองประเทศ คือ หนึ่ง อินเดีย ถูกอำนาจจักรวรรดินิยมอันเกรียงไกรของอังกฤษยึดและปกครองประเทศเสมือนเสือขยุ้มเนื้ออยู่นานนับร้อยปี ในยุคล่าอาณานิคม ชาวยุโรปมีเรือรบที่ทำด้วยเหล็กสามารถวิ่งไปได้รอบโลกพร้อมทั้งปืนใหญ่และปืนกล อำนาจยิงของชาวยุโรปนั้นมหาศาลอย่างที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่มีอารยธรรมเก่าแก่ใดๆ เช่น อารยธรรม ๕,๐๐๐ ปี ของลุ่มแม่น้ำสินธุหรือลุ่มแม่น้ำฮวงโหจะทานอำนาจยิงอันมหาศาลของชาวยุโรปได้ ที่เมืองอมฤตสระของอินเดีย ประชาชนประท้วงการปกครองของอังกฤษ ถูกทหารอังกฤษใช้ปืนกลยิงตายหมดทุกคน ความพยายามที่จะปลดปล่อยตนเองไปสู่อิสรภาพของคนอินเดียทำอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ อินเดียเกิดมีมหาบุรุษ คือ มหาตมะ คานธี ที่นำชาวอินเดียต่อสู้ด้วยอหิงสธรรม เริ่มแรกไม่มีใครเชื่อว่าขบวนการสันติวิธีจะสู้กับปลายกระบอกปืนได้อย่างไร การณ์กลับปรากฏว่าความรุนแรงไม่มีอำนาจในการต่อสู้กับความรุนแรงที่ใหญ่กว่า แต่อหิงสธรรมกลับเอาชนะปลายกระบอกปืนได้ อินเดียได้รับอิสรภาพและหลุดออกจากความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ได้

สอง แอฟริกาใต้ คนขาวได้เข้าไปยึดครองแอฟริกาใต้อันเป็นดินแดนของคนผิวสีและใช้นโยบายการปกครองแบบแบ่งแยกผิวที่เรียกว่า อพาร์ธีต (Apartheid) อย่างรุนแรง มหาตมะคานธีเมื่อเป็นทนายความหนุ่มไปว่าความที่แอฟริกาใต้ ก็เคยถูกจับโยนออกจากรถไฟ เพราะเป็นคนผิวสีแต่สะเออะไปนั่งชั้นหนึ่ง คนพื้นเมืองพยายามต่อสู้เท่าใดๆ ก็ไม่สำเร็จ ถูกฆ่าตายบ้างถูกจำคุกบ้าง เนลสัน แมนเดล่า ผู้นำการต่อสู้คนหนึ่ง เคยถูกลอบสังหารหลายครั้ง และถูกจำคุกถึง ๒๗ ปี ท่ามกลางความกดดันของนานาชาติอย่างไรๆ คนขาวก็ไม่กล้าลงจากอำนาจ เพราะกลัวว่าถ้าลงจากอำนาจแล้วจะถูกคนดำฆ่า แต่ เนลสัน แมนเดล่า ประกาศแนวทางอหิงสธรรมว่าจะไม่ฆ่าล้างแค้นคนขาว จนกระทั่งคนขาวเชื่อถือไว้วางใจ ยอมลงจากอำนาจ แอฟริกาใต้ก็ได้ปกครองตนเอง คนขาวกับคนดำที่ขับเคี่ยวเข่นฆ่ากันมากว่า ๑๐๐ ปี ก็สามารถอยู่ร่วมกันด้วยสันติได้ ประเทศหลุดจากความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เพราะอหิงสธรรม เนลสัน แมนเดล่า กลายเป็นรัฐบุรุษที่ทั่วโลกให้ความเคารพ

ทั้ง มหาตมะ คานธี และ เนลสัน แมนเดล่า มีจิตใหญ่หรือจิตวิวัฒน์ จึงสามารถใช้อหิงสธรรมเป็นเครื่องมือได้ คนที่มีจิตเล็กอยู่ในระดับของโลภะ โทสะ โมหะ ย่อมเอารัดเอาเปรียบ ใช้อำนาจ จะเป็นอำนาจเงิน หรืออำนาจติดอาวุธ หรืออำนาจรัฐ ย่อมไม่สามารถใช้อหิงสธรรมได้ ในทั้งกรณีอินเดียและแอฟริกาใต้ในที่สุดคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ทั้งคนขาวและคนดำ ต้องมีจิตวิวัฒน์ระดับใดระดับหนึ่งจึงสามารถตกลงยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้

ทั่วโลกที่วิกฤตอยู่ด้วยประการต่างๆ ขณะนี้คงจะไม่มีทางออกด้วยระดับจิตต่ำๆ อันประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ดังจะเห็นได้ว่าไม่สามารถแก้ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาความขัดแย้ง ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจ (โลภะ) หรือวิธีการทางสงคราม (โทสะ) ได้ เพราะทั้งสองล้วนเกิดจากโมหะ ความหลงหรือความไม่รู้ ทำให้ทำการโดยใช้อำนาจ จะเป็นอำนาจเงินหรืออำนาจติดอาวุธก็ตาม มนุษย์ล้วนใช้ “เกียร์อำนาจ” ในการดำเนินการต่างๆ กันมาโดยตลอด “เกียร์อำนาจ” ไม่สามารถพาสังคมมนุษยชาติไปสู่สันติสุขได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์ของการพัฒนา จะพัฒนาด้วยระดับจิตต่ำๆ อยู่ในภพภูมิแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ ต่อไปไม่สำเร็จแล้ว จำเป็นต้องยกระดับจิตไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น นั่นคือต้องเปลี่ยนจาก “เกียร์อำนาจ” มาเป็น “เกียร์จิตวิวัฒน์”

ประเทศของเราก็พยายามพัฒนากันมาพักใหญ่แล้ว แต่ต้องเรียกว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เราไม่สามารถแก้ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยยิ่งห่างมากขึ้น อันนำไปสู่ปัญหาทางสังคม จิตใจ และการเมืองอย่างไม่มีทางออก เราแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงได้ การเมืองเรื่องประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้วรวมทั้งฉบับปัจจุบันก็ยังมองไม่เห็นแสงว่าแล้วการเมืองจะดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดรวมกันเป็นความติดขัดครั้งใหญ่ของประเทศ ไม่รู้ว่าไปพ้นวิกฤตการณ์เรื้อรังได้อย่างไร

สังคมไทยมีวัฒนธรรมอำนาจ คือคิดเชิงอำนาจ พูดเชิงอำนาจ สัมพันธ์เชิงอำนาจ และใช้อำนาจในการดำเนินการต่างๆ เดิมก็ใช้อำนาจรัฐ ต่อมาก็มีอำนาจเงินเข้ามาอีกอย่าง ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงินไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยาก อำนาจรัฐไม่เคยแก้ปัญหาความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมได้ แต่มักเป็นตัวสร้างความอยุติธรรมเสียเอง รัฐไม่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมและจัดการการใช้ทรัพยการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ การปฏิวัติรัฐประหารก็ทำกันมาหลายครั้งแล้วก็ไม่ปรากฏว่าแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ ถ้าดูแบบแผนการออกเสียงเลือกตั้งและประชามติรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่าอำนาจรัฐไม่มีน้ำยาต่อการออกเสียงลงคะแนนของประชาชน เมื่อคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เรียกว่ามีอำนาจรัฐและอำนาจเงินสุดๆ แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ มิหนำซ้ำยังเกิดวิกฤตการณ์ที่มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “วิกฤตที่สุดในโลก”

อันที่จริง คุณทักษิณเป็นคนเก่งมาก แต่ในเมื่อระดับจิตยังต่ำอยู่ในภพภูมิของ โลภะ โทสะ โมหะ จึงสูญเสียโอกาสที่จะพาประเทศหลุดออกจากความติดขัดครั้งใหญ่ ลองนึกภาพว่าถ้าคุณทักษิณมีจิตใหญ่ทำนองเดียวกับ มหาตมะ คานธี หรือ เนลสัน แมนเดล่า ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร หลายคนก็อาจจะหัวเราะว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ นี้ก็เป็นเรื่องของคุณทักษิณจะต้องใช้โยนิโสมนสิการเอาเอง คุณทักษิณเป็นคนชอบเอาชนะ แต่ชนะอะไรก็ไม่เท่าชนะตัวเอง

นักการเมืองทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน คงจะไม่มีทางรวยหรือเก่งเท่าคุณทักษิณ ซึ่งก็เห็นแล้วว่า แม้รวยและเก่งขนาดนั้นยังไปไม่รอด ถ้าขาดจิตวิวัฒน์ แล้วจะทำไปแบบนั้นอีกทำไม นักการเมืองที่จิตอยู่ในระดับต่ำในวังวนของเงินและอำนาจ คงจะช่วยบ้านเมืองไม่ได้ มีแต่จะซ้ำเติมให้วิกฤตมากขึ้น หากนักการเมืองเกิดจิตสำนึกใหม่ มีจิตใหญ่ บ้านเมืองจะพ้นจากความติดขัด

คุณทักษิณจะคิดยังไงต่อไปก็ตามที ประเทศไทยจะหลุดจากความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้ สังคมไทยยังจะเข้า “เกียร์อำนาจ” ต่อไปเห็นจะไม่ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์แห่งการพัฒนามาเป็น “เกียร์จิตวิวัฒน์” คนไทยทุกคนจำเป็นต้องหันมามองทรัพยกรอันยิ่งใหญ่ภายในของตน ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีซ่อนอยู่ในหัวใจ ทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวและมีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ ขอให้เราสลัดมายาคติที่ครอบงำอยู่ เกิดจิตสำนึกอันใหญ่หลวงว่าเรามีเกียรติและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน ในความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มีแต่ กิน ขี้ ปี้ นอน เยี่ยงสัตว์เท่านั้น แต่เราสามารถมีจิตสูงที่ทำอะไรดีๆ ได้ มีแต่จิตวิวัฒน์เท่านั้นที่จะพาเราออกจากความติดขัดครั้งใหญ่ของบ้านเมืองและของโลกได้

จิตตปัญญาศึกษากับการบ่มเพาะญาณทัศนะ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 22 กันยายน 2550

ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้ ผมยังรู้สึกว่าอยากจะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาอยู่ดี เพราะคิดว่ายังเป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับสังคมในอนาคตอันใกล้นี้ หลายๆ ท่านพยายามขอให้ช่วย “นิยาม” หรือขอช่วย “ให้คำจำกัดความ” ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านๆ มาหลายๆ ท่านก็อาจจะไปเข้าใจว่า “จิตตปัญญาศึกษา” คือ “การนั่งสมาธิ” หลายๆ แห่ง หลายๆ โรงเรียน หลายๆ หน่วยงานก็จะมีหลักสูตรให้นักเรียนนักศึกษา “ไปเข้าวัดแบบเจ็ดวันเจ็ดคืน” ซึ่งการทำแบบนั้นก็อาจจะ “ทั้งใช่และไม่ใช่” “จิตตปัญญาศึกษา” ในแนวทางที่ผมเข้าใจ

เพราะถ้าจะถามความเห็นของผมเป็นการส่วนตัวอย่างสั้นที่สุดว่า “อะไร” คือ “ข้อแตกต่าง” สำคัญที่สุดที่ “จิตตปัญญาศึกษา” แตกต่างไปจากระบบการศึกษาทั่วไป

ผมอยากจะขอตอบด้วยคำๆ เดียวว่า “ญาณทัศนะ”

กล่าวคือระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปไม่ได้เน้นหรือนำพาหรือหล่อเลี้ยงหรือเอื้อที่จะทำให้เกิด “การบ่มเพาะญาณทัศนะ” แต่ใน “จิตตปัญญาศึกษา” คือระบบการศึกษาที่เน้นถึงการหล่อเลี้ยงให้ก่อเกิดและนำพา “ญาณทัศนะ” มาใช้

“ญาณทัศนะคืออะไร?” ผมคงจะไม่สามารถอธิบายได้โดยละเอียดในบทความชิ้นนี้ แต่ญาณทัศนะเป็นคุณสมบัติเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน เหมือนกับเป็น “ความรู้สึกพิเศษ” ที่ปิ๊งแว้บออกมาในสภาวะที่เหมาะสม นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็อาศัย “ญาณทัศนะ” ในการทำงานและค้นพบ “งานชิ้นโบว์แดง” ของตัวเองมาทั้งหมดทั้งสิ้น

แต่มนุษย์ในปัจจุบัน “ถูกทำให้เชื่อ” เฉพาะเรื่อง “เหตุและผลในเชิงเส้นตรง” เท่านั้น และค่อยๆ ให้ความสำคัญกับ “ญาณทัศนะ” น้อยลงไปเพราะคิดว่าไม่มีเหตุมีผล ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว “ญาณทัศนะ” มีเหตุและมีผลแต่เป็นไปในเชิงที่ซับซ้อนและไม่เป็นเส้นตรง เป็นสมการหลายชั้น

ในบทความชิ้นนี้ผมอยากจะเน้นให้เห็นถึง “ความสำคัญ” ของ “ญาณทัศนะ” ที่ระบบการศึกษาทั่วไปได้ละเลย จนทำให้การเรียนรู้ในเรื่องนี้ตกหล่นและขาดหายไป

ถ้าเราจะลองมาดูเรื่อง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของมนุษย์” ของดรายฟัสแอนด์ดรายฟัสที่ได้ทำวิจัยไว้ และพบว่าเราพอจะแบ่ง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้” ออกมาได้เป็นห้าขั้นดังต่อไปนี้คือ

ขั้นแรก เมื่อเราเริ่มเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็จะเริ่มจากการเป็น “เด็กฝึกงาน” ก่อน เด็กฝึกงานก็จะทำอะไรตามขั้นตามตอน ตามกติกาทุกอย่าง เถรตรง เช่น เมื่อเริ่มเรียนดนตรีเราก็จะเริ่มจากการฝึกทำเสียงเบสิกต่างๆ

ขั้นที่สอง เป็น “เด็กฝึกงานก้าวหน้า” ก็จะเริ่มพลิกแพลงได้มากขึ้น เริ่มมีสถานการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้เราไม่ต้องเถรตรงตามทฤษฎีตามขั้นตอนที่กำหนด เพราะเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เออ ... มันพอจะพลิกแพลงได้บ้างแล้วนะ มันไม่ได้เสียหายอะไรนะ อะไรทำนองนั้น

ขั้นที่สาม เป็น “คนทำงานเป็น” คือเมื่อทำงานไปก็เริ่มสามารถก่อเกิดเป็น “ประสบการณ์” ในการทำงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทั้งสามขั้นที่ว่านี้ก็เป็นเพียง “การเรียนรู้” ที่อาศัยการทำงานเชิง “เหตุและผล” ที่ใช้เพียงสมองซีกซ้ายที่ทำงานเกี่ยวกับตรรกะเหตุผลเท่านั้น

ขั้นที่สี่ เป็น “คนทำงานเก่ง” ในขั้นตอนนี้จะมีเรื่องราวของ “ญาณทัศนะ” เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ในขั้นที่สี่นี้ คนทำงานเก่งจะเริ่มฝึกฝนตัวเองในการใช้ “ญาณทัศนะ” ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้เมื่อสมองทั้งก้อนสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน

ขั้นที่ห้า เป็น “เซียน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ พัฒนาได้เต็มศักยภาพของมนุษย์ คือ สามารถนำ “ญาณทัศนะ” เข้ามาใช้ได้อย่างจริงจังเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง

และในชีวิตความเป็นจริงแล้ว มนุษย์สามารถที่จะ “พลิกแพลง” การทำงานของตัวเองไปได้ไกลกว่าการเรียนรู้ในสามขั้นตอนแรกที่เอ่ยถึงมาเบื้องต้นนี้ เช่น นักการตลาดที่เป็นเซียนจริงๆ แม้จะอาศัยข้อมูลเชิงตัวเลข แต่ในช่วงของการตัดสินใจจริงๆ นั้น พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเรื่องสำคัญบนฐานของตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาศัย “ความรู้สึกลึกๆ” อะไรบางอย่างและหลายๆ ครั้งการตัดสินใจแบบนั้นดูเหมือนจะ “ขัดแย้ง” กับตัวเลข ขัดแย้งกับเหตุและผลที่ควรจะเป็น

“ความรู้สึกลึกๆ อะไรบางอย่าง” นี่แหละคือ “ญาณทัศนะ”

หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าสองขั้นตอนหลังนั้นเป็นเรื่องของ “ประสบการณ์” ที่ทำงานไปนานๆ ก็สามารถก่อเกิดได้เอง แต่เรื่องราวอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้คนมากมายทำงานมาตลอดชีวิตก็อาจจะทำได้เพียงแค่ “คนทำงานเป็น” หรือขั้นที่สามเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาความสามารถในเรื่องราวบางอย่างได้ตั้งแต่ยังอายุไม่มาก

หลายๆ คนอาจจะไปเรียกขั้นตอนที่สี่และที่ห้านี้ว่า “เป็นพรสวรรค์”

ผู้ช่วยทันตแพทย์ผู้หนึ่งยกมือขึ้นทันทีเมื่อผมถามในเวิร์คช็อปครั้งหนึ่งถึง “ประสบการณ์ในการเป็นเซียน” ของผู้เข้าร่วมแต่ละท่านที่ประกอบไปด้วยพยาบาลอาวุโสหลายท่าน ผมก็งงๆ มากว่า “เอ๊ะ หรือว่าน้องผู้ช่วยท่านนี้จะเข้าใจเรื่องที่ผมอธิบายไปผิด” ผู้ช่วยทันตแพทย์ที่เพิ่งทำงานได้สองวันจะมีประสบการณ์อะไรที่อยู่ในขั้นที่ห้าซึ่งมีญาณทัศนะได้ เธอบอกว่า “เธอมีประสบการณ์เป็นเซียนในเรื่องระนาด” ตอนที่หัดเรียนใหม่ๆ ก็ต้องเรียนตามขั้นตอนต่างๆ ถือไม้ระนาดอย่างไร ตีตรงไหนเป็นเสียงอะไร จนกระทั่งสามารถตีระนาดได้เป็นและตีเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เธอสามารถตีระนาดได้ตามตัวโน๊ตทุกตัวได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ในระหว่างที่เล่นระนาดไปตามตัวโน๊ตในวันนั้น เธอรู้สึกว่า บางตัวโน๊ตเธอไม่อยากจะเล่นตามตัวโน๊ตที่กำหนดไว้ แต่อยากจะตีเสียงไปตามความรู้สึกและพบว่า “กินใจผู้ฟัง” ได้มากกว่าการเล่นตามตัวโน๊ตแบบทื่อๆ

ในความเป็นจริง “ญาณทัศนะ” เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งหากว่าเราสามารถเข้าใจ เราจะสามารถพัฒนาให้ก่อเกิดขึ้นมาได้จริง ทำซ้ำได้จริง และสามารถทำได้เรียนรู้กันได้ในระบบการศึกษา เช่น ระบบการศึกษาแบบ “จิตตปัญญา” ที่ว่านี้นี่เอง สำหรับผมแล้วปัจจัย “อะไรก็ได้” ที่สามารถเอื้อให้เกิดญาณทัศนะ ล้วนแล้วแต่เป็น “จิตตปัญญาศึกษา” ทั้งสิ้น

และท้ายสุดที่สำคัญที่ไม่อยากจะให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เซียน” ก็คือ เราต้องการให้ผู้คนสัมผัส “ญาณทัศนะ” กันมากๆ และหาหนทางเพื่อการเรียนรู้ “ญาณทัศนะ” กัน แต่ไม่ได้หมายความว่า “เราต้องการให้เกิดความเป็นเลิศ” ในเชิงการแข่งขันนะครับ

สร้างการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่
ด้วยการสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2550

หากพิจารณานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้น/พัฒนาขึ้น และมีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปอย่างทั่วถึง ที่ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ของโลกมนุษย์ จะมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่สำคัญสามครั้งคือ การปฏิวัติเทคโนโลยีทางเกษตรกรรม (ยุคเกษตรกรรม) การปฏิวัติเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ยุคอุตสาหกรรม) และการปฏิวัติเทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (ยุคไซเบอร์) ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านจะแตกต่างกันออกไป โดยระยะเวลาจะสั้นลง แต่รวดเร็วและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านการเกษตร เริ่มเมื่อ ๑๑,๐๐๐ ปีก่อน ส่งผลให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากการล่าสัตว์และเร่ร่อนมาเป็นการทำเกษตรกรรม ลงหลักปักฐานทำมาหากินทางเกษตรกรรม จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดชุมชนเมือง มีเมืองใหญ่เป็นศูนย์ตลาดการค้าและบริการต่างๆ เกิดอาชีพและการค้าเฉพาะทางเพิ่มขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปมากมาย

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม เริ่มเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. ๑๗๐๐ เมื่อมีการผลิตเครื่องจักรไอน้ำมาใช้แทนแรงม้า มีการพัฒนาเครื่องจักรเหล่านั้นไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและการขนส่ง มีรถไฟพลังไอน้ำ มีการผลิตไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า กล้องถ่ายรูป ภาพยนตร์ และอีกหลายๆ อย่าง การปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้แผ่ขยายไปทั่วโลก ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิตที่หลากหลายของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

การปฏิวัติเทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (Cybernetic Technology) เริ่มในปี ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วต่อเนื่อง ในช่วงนี้มีการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่โดยบริษัท IBM จากนั้นมาวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง โทรศัพท์มือถือ และการพัฒนาระบบอินเตอร์เนท ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) และ นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต ความคิดความเชื่อ และค่านิยมของมนุษยชาติเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามช่วง ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น และดูเหมือนมนุษย์จะมีการ “พัฒนา” แบบก้าวกระโดดมากขึ้น

แต่ทำไมโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง เรามีสงครามโลกสองครั้ง เรามีสงครามในรูปแบบและลักษณะต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน เช่น สงครามระหว่างประเทศ สงครามภายในประเทศ สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง สงครามเย็น ...

ทำไมยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งมีความขัดแย้ง ยิ่งต้องมีการแข่งขันช่วงชิง

ทำไมยิ่งมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์ยิ่งมีความเครียด อยู่ร้อน นอนทุกข์

ทำไมการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ
การพัฒนาสังคม และการเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงไม่สามารถทำให้คนมีความสุข มีความรัก ความเมตตา ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อม และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้น และที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้โลกมีสันติภาพได้

หรือเราต้องหยุดคิด พินิจพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างมีสติและปัญญา เกี่ยวกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาที่ไหลไปตามกระแสอย่างขาดสติกันใหม่

โดยเฉพาะระบบการศึกษา แทนที่จะช่วยเตือนสติ สร้างสติ และสร้างปัญญา กลับออกแบบและพัฒนาไปเพื่อรับใช้ทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาตามกระแสหลักดังกล่าวอย่างขาดสติ ขาดจิตสำนึกที่ดีงาม การศึกษาจึงมีแนวโน้มเป็นธุรกิจการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

คงถึงเวลาที่ต้องมาสังคายนาระบบการศึกษากันใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างและพัฒนาจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา เพื่อเปลี่ยนทิศทางหรือรหัสการพัฒนา จากที่เน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจ เน้นผลผลิตมวลรวม เน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มาเป็นการเน้นความสุขมวลรวม เน้นสุขภาวะและความมั่นคงองค์รวม (Holistic/integral Well-Being and Stability) ของคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

จากทุกขภาวะในลักษณะที่รีบเร่ง เร่าร้อน แข่งขันเพื่อโค่นล้มเอาชนะ ตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม สู่สุขภาวะแบบองค์รวม ที่สงบเย็นเป็นสุข มีความพอประมาณ พอเหมาะพอดี มีเหตุผล มีคุณธรรม คุณงามความดี และปัญญา เป็นฐานของการพัฒนาตามแนวปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

การศึกษาที่พึงประสงค์ควรจะเป็นเช่นไร จึงจะสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ที่พึงประสงค์ดังกล่าว

ก่อนที่จะช่วยกันคิดเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา ลองมาช่วยกันพิจารณาการศึกษาที่เป็นอยู่ว่าเป็นไปในลักษณะใด

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษากระแสหลักโดยรวมที่ดำเนินอยู่ มีลักษณะที่สอดรับ สนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ “ทุ่มถมความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เพ้อหาความสามารถในการแข่งขัน แย่งชิงกันเป็นหนึ่ง พึ่งพิงอิงติดเทคโนโลยี มีความคับแคบทางความคิด เสพย์ติดความเป็นเลิศ เชิดหน้าใส่ผู้ด้อยผู้น้อยนิด จิตเล็กและมืดมัว เห็นแก่ตัว ไม่กลัวผิด ... ไขว่คว้าไล่ล่าสุดชีวิต ไม่เคยคิดจะเพียงพอ”

การศึกษาที่เป็นอยู่เน้นเพียงให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เข้าใจ และไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จึงมีวิชาการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ในลักษณะของวิธีและขั้นตอน (How To) ที่เป็นระบบในการบริหาร หรือควบคุมการเปลี่ยนแปลง หาวิธีลดหรือป้องกันผลกระทบในทางลบด้วยวิชา การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) สอนให้คนเป็นคนดีด้วยวิชาศีลธรรม ...

ดูเหมือนการศึกษาในปัจจุบันถูกลดคุณค่าเหลือเพียงการเรียนวิชา แล้วเพิ่มมูลค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มตามระดับวิชา หรือปริญญาที่สูงขึ้น

การศึกษาที่เป็นอยู่ในกระแสหลัก เน้นให้เห็นความสำคัญของการติดตามความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตามทันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทันสมัยมากเท่านั้น

ดูเหมือนการศึกษาถูกลดค่าให้เหลือเพียงการติดตาม แล้วเพิ่มค่าได้ตามความรวดเร็วในการติดตามและปริมาณของสิ่งที่ตามทัน จึงต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี มีการสร้างเครือข่ายที่ทันสมัย เพียงเพื่อตามไล่การเปลี่ยนแปลง ...

การศึกษาที่มีคุณค่าที่แท้จริง ไม่น่าจะเป็นเพียงการวิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลง เพียงเพื่อให้รู้สึกเสมือนว่าได้ทันสมัย ไม่ตกยุค

ครู อาจารย์ ไม่น่าจะเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกในการช่วยป้อนหรือชี้ช่องทางแสวงหาข้อมูล ข่าวสารที่ช่วยให้ผู้เรียนดูเหมือนจะทันสมัย หรือเรียกใหม่ว่า ”ทันสมัยเสมือน” (Virtual Modernization) ด้วยการให้ข้อมูล ข่าวสารสำเร็จรูปที่หยาบและฉาบฉวยให้ลูกศิษย์

นักเรียน นิสิต นักศึกษา จึงไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องรับข้อมูล ข่าวสารที่ “ทันสมัยเสมือน” ปราศจากการกลั่นกรอง สะท้อนคิด (Reflective Thinking) ทั้งจากผู้สอน และตัวผู้เรียนเอง

การศึกษาที่แท้ จึงมิใช่จำกัดแคบแค่เฉพาะการสอน การบรรยายในห้องเรียน การค้นและคว้าจากห้องสมุดหรือแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาทำเป็นรายงาน หรือนำมาเสนอและอภิปรายในห้องเรียน

การศึกษาที่แท้ ไม่ใช่การโคลนนิ่ง (Cloning) ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ กรอบความคิด ทฤษฎี หรือระเบียบวิธี และโดยเฉพาะไม่ใช่การโคลนนิ่งความคิดความเชื่อของผู้สอนให้กับผู้เรียน

การให้การศึกษาในลักษณะวิ่งไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง หรือเรียนลัดด้วยการลอก/ถอดแบบหรือโคลนนิ่ง อย่างเก่งก็ได้แค่รู้เท่า แล้วก็ต้องคอยตามการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้วิ่งไล่ต่อไป

จริงๆ แล้วการคิดและการให้การศึกษาแบบนี้ ยังไงๆ ก็ไม่มีทางทันการเปลี่ยนแปลง เพราะคอยแต่จะไล่ให้ทัน ไม่เคยคิดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยมีสติที่จะหยุดคิดและถามตัวเองว่าจะวิ่งไล่การเปลี่ยนแปลงไปทำไม ไล่ให้ทันไปเพื่ออะไร

การจะทันการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การพยายามที่จะไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเรียนลัดด้วยการลอกเลียนแบบ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุด จึงลอกเลียนไม่ได้ การจะทันการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จึงต้อง “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ แค่พยายามจะ “เท่า” หรือ “ไล่ทัน” การเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จึงต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา พัฒนาการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน (และผู้สอน) ให้เรียนรู้เพื่อที่จะ “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง นำไปสู่การเข้าใจ การยอมรับ และเคารพในตนเอง ผู้อื่น วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อทำให้

ไม่เป็นคน ยึดติด คิดแคบสั้น
แต่เป็นคน สติมั่น และเข้มแข็ง
มีจิตใหญ่ ใฝ่ดีงาม และแข็งแรง
เพื่อเป็นแหล่ง สร้างเมตตา ปัญญาธรรม


การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จึงควรเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างให้เกิดสังคมคุณภาพ ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ที่ความดี ความงาม และความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน นำให้เกิดสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพในโลกได้

มองชีวิตและสังคมผ่านวัฒนธรรมความตาย

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2550

จุดหมายเป็นตัวกำหนดวิธีการฉันใด ท่าทีต่อความตายก็เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ในแต่ละสังคมหรือแต่ละยุคสมัย เราสามารถทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนและความเป็นไปในสังคมนั้นได้ จากการศึกษาว่าผู้คนมีทัศนคติหรือปฏิบัติต่อความตายอย่างไร ทัศนคติหรือการปฏิบัติที่กลายเป็นแบบแผนของสังคม เราอาจเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมความตาย”

วัฒนธรรมความตายที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีนี้เอง จะเข้าใจได้ชัดก็ต่อเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมความตายของสังคมไทยในอดีต ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบันโดยเฉพาะในชนบท

คนไทยแต่ก่อนมองว่าความตายมิได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารอันไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ในวัฏสงสารนี้มีการเวียนเกิดเวียนตายนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้จึงยอมรับความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะความตายสามารถเป็นทางผ่านไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าได้ หากทำบุญมามากพอในชีวิตนี้อีกทั้งรู้จักน้อมจิตให้เป็นกุศลก่อนตาย การตระหนักว่ามีชีวิตหลังความตาย ทำให้ภาวะหลังความตายมิใช่สิ่งลี้ลับ อย่างน้อยก็แน่ใจว่า ถ้าทำดีก็ได้ไปสู่สุคติ ในภาคอีสาน ผู้ป่วยที่เพียบหนักจะประนมมือพร้อมดอกไม้ธูปเทียนเพราะเชื่อว่าตายแล้วก็จะได้ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ความเชื่อว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารอันไม่มีประมาณ ยังทำให้ผู้คนเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เพราะเป็นของชั่วคราว และเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของวัฏสงสารอันยาวไกล ขณะเดียวกัน ความเชื่อว่านอกจากชาตินี้แล้ว ยังมีชาติก่อนและชาติหน้า ในด้านหนึ่งทำให้ผู้คนยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ในชาตินี้ แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใด ก็ไม่ดิ้นรนเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่าเป็นผลกรรมจากชาติก่อน ขณะเดียวกันก็มีความหวังกับชาติหน้า จึงให้ความสำคัญกับชาติหน้ามากกว่าด้วยการมุ่งทำความดี สั่งสมบุญกุศล

การไม่ให้ความสำคัญมากนักกับชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้ เห็นได้จากการไม่ขวนขวายที่จะสร้างความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทางวัตถุ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าความร่ำรวยเป็นจุดหมายของชีวิต จึงทำมาหากินแต่พอเลี้ยงตัวได้ ทรัพย์สมบัติจึงมีไม่มาก ไม่ใช่แต่ทรัพย์สินเท่านั้น แม้แต่ชื่อเสียงก็ไม่ถือว่าสำคัญมาก ศิลปินที่สร้างนฤมิตกรรมชั้นนำในทางศิลปะ ไม่ว่าพระพุทธรูป หรือจิตรกรรมฝาผนัง ไม่เคยมีใครที่จารึกชื่อไว้ในผลงานของตนเลย ความสุขทางโลกหรือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “ประโยชน์ปัจจุบัน” มิได้มีความสำคัญยิ่งยวดอย่างที่เป็นกับคนปัจจุบัน

ในวัฒนธรรมดังกล่าว มิติด้านจิตใจสำคัญกว่าร่างกาย วัตถุ หรือชื่อเสียง เพราะสามอย่างหลังนั้นเป็นของชั่วคราว ตายไปแล้วก็ไร้ความหมายเพราะเอาไปไม่ได้ แต่จิตใจนั้นสามารถส่งผลไปถึงภพภูมิในชาติหน้า จิตที่เปี่ยมด้วยบุญกุศลย่อมนำพาไปสู่สุคติ ด้วยเหตุนี้การดำเนินชีวิตของคนในอดีตจึงให้ความสำคัญกับเรื่องบุญกุศลมาก แม้แต่อาชีพการงานก็มุ่งถึงบุญกุศลควบคู่กับการเลี้ยงชีพ ท่านอาจารย์พุทธทาสเมื่อครั้งยังเป็นพระเงื่อม เคยถามชาวนาระหว่างออกบิณฑบาตว่า ทำนาทำไม คำตอบที่ได้รับก็คือ เพื่อมีข้าวไว้ใส่บาตร ไว้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และแจกจ่ายญาติมิตร สำหรับชาวบ้านในเวลานั้น การมีข้าวเพื่อทำบุญนั้น เป็นเรื่องที่มาก่อนการเลี้ยงตนเองและครอบครัวเสียอีก

ในวัฒนธรรมดังกล่าว มิติด้านจิตใจสำคัญกว่าร่างกายหรือวัตถุ ไม่จำเพาะกับวิถีชีวิตในยามปกติเท่านั้น ในยามใกล้ตายก็เช่นกัน การช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่สงบหรือเปี่ยมด้วยบุญกุศล เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการยืดลมหายใจให้นานที่สุด หากจะมีการเยียวยาร่างกายก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตให้สงบ

ในระดับสังคม วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจแบบยังชีพ ซึ่งเน้นการพึ่งตนและพออยู่พอกิน มากกว่าที่จะมุ่งความเจริญเติบโตทางวัตถุ ประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจมีความสำคัญน้อยกว่าดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำนาของชาวบ้านไม่ได้มุ่งให้เกิดผลิตผลมากที่สุด แต่มุ่งเจือจานทั้งคนและสัตว์ คาถากันขโมยที่เด็กชายเงื่อมได้รับจากแม่เมื่อถูกสั่งให้ไปเฝ้านาก็คือ “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” เศรษฐกิจแบบเจือจาน (gift economy) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดังกล่าว โดยถือว่าอาหารและน้ำเป็นของให้เปล่า มิใช่สินค้าที่จะซื้อขายกันได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และเทคโนโลยี ที่เกิดกับสังคมไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำให้วัฒนธรรมความตายแปรเปลี่ยนไป จนกระทั่งทัศนคติกระแสหลักคือ เห็นความตายเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิต (มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังแต่ก่อน) มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นเลยไปอีกว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิตอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอะไรหลังจากนั้น

ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่พึงหลีกเลี่ยงหรือปกปิดให้มากที่สุด การพูดถึงความตายกลายเป็นเรื่องอัปมงคล แม้กระทั่งคำว่า “ความตาย” ก็กลายเป็นคำอุจาดไป ต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น เช่น “หมดลม” “จากไป” “สิ้นชีวิต” หากจะมีใครตาย ก็ต้องไปตายในที่รโหฐาน คือที่มิดชิดหรือลับตา มีคนรู้เห็นเพียงไม่กี่คน การตายที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในห้องไอซียู จึงถือว่าดูดีกว่าตายที่บ้าน และหากตายแล้ว ก็ไม่ควรตั้งศพที่บ้าน แต่ต้องไปตั้งในวัด ซึ่งมักเป็นที่ที่แยกออกไปจากชุมชน (ลองนึกภาพว่าหากมีการตั้งศพและทำพิธีที่บ้านซึ่งอยู่กลางหมู่บ้านจัดสรร ผู้คนในหมู่บ้านนั้นจะรู้สึกอย่างไร)

วัฒนธรรมดังกล่าวนับว่าตรงกันข้ามกับสมัยก่อนที่ถือว่าความตายเป็นปรากฏการณ์ของชุมชน เป็นเรื่องสาธารณะ ที่ทุกคนในหมู่บ้านรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งขณะใกล้ตายและหลังตายแล้ว เช่น พากันไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่บ้านและอยู่กับเขาจนหมดลม เมื่อตายแล้วก็ตั้งศพที่บ้านโดยชาวบ้านช่วยกันจัดงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เมื่อจะเผาก็ไปร่วมพิธีทั้งหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีการเปิดโลงเพื่อล้างหน้าศพก่อนเผาด้วย

นอกจากนั้น ในปัจจุบันความตายยังเป็นสิ่งต้องห้าม มิใช่แต่คนทั่วไปเท่านั้นที่ถูกกีดกันไม่ให้รู้เห็น โดยเฉพาะเด็ก แม้กระทั่งผู้ป่วยเอง ส่วนใหญ่ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้รับรู้ว่าวาระสุดท้ายกำลังจะมาถึง ในเวลาเดียวกัน ความตายยังถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ มิใช่ของของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น หากยังเป็นความพ่ายแพ้ของเจ้าตัวด้วย วิทยาการสมัยใหม่ทำให้เกิดความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความตายเป็นสิ่งที่ควบคุมหรือจัดการได้ เช่นเดียวกับที่สามารถปรับเปลี่ยนร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นหากต้องตายท่ามกลางการดูแลของแพทย์และเทคโนโลยีนานาชนิด จึงถือว่าเป็นความล้มเหลวของแพทย์ ขณะเดียวกันการตายก่อนอายุขัยก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของเจ้าตัวด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ความตายจึงเป็นสิ่งที่ต้องประวิงเวลาให้มาถึงช้าที่สุด อะไรที่สามารถทำได้ต้องทำเพื่อให้มีลมหายใจยืนยาวนานที่สุด แม้จะยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก็ตาม การปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบโดยแพทย์ไม่เข้าไปแทรกแซงเลยนั้นเป็นเรื่องที่แพทย์และญาติยอมรับได้ยาก การเยียวยารักษาจึงเน้นแต่ด้านร่างกาย ขณะที่การเยียวยาหรือดูแลรักษาจิตใจถูกมองข้ามไป ในกระบวนการดังกล่าว ความตายถูกลดทอนให้เหลือแค่มิติทางกาย กล่าวคือดูที่ลมหายใจ การเต้นของหัวใจ หรือการทำงานของสมอง ความตายมีความหมายเพียงแค่ความแตกดับทางกาย ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นกับจิตใจ หรือสามารถเกิดขึ้นได้กับจิต ไม่ต้องคำนึง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความตายจึงเป็นได้แค่ “วิกฤต” สถานเดียว ทั้ง ๆ ที่ยังสามารถเป็น “โอกาส” ได้ด้วย กล่าวคือเป็นวิกฤตทางกายก็จริง แต่เป็นโอกาสทางจิตวิญญาณ ถึงแม้กายจะเต็มไปด้วยทุกขเวทนา แต่ใจไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานก็ได้ ซ้ำยังอาจเข้าถึงความสงบอย่างลึกซึ้งได้ด้วย

ทัศนคติและการปฏิบัติต่อความตายดังกล่าว ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน กล่าวคือทำให้ผู้คนอยู่อย่างลืมตาย ไม่พยายามนึกถึงหรือพูดถึงความตาย คิดแต่จะทำใจให้เพลิดเพลินกับความสนุกสนาน จนลืมไปว่าสักวันตัวเองก็จะต้องตาย หากนึกถึงเมื่อใดก็คิดว่าไปตายเอาดาบหน้าก็แล้วกัน คือถึงตอนนั้นก็ค่อยว่ากันอีกที ไม่คิดที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ขณะที่ยังมีเวลาและมีสุขภาพดี

ในวัฒนธรรมความตายดังกล่าว ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าหรือชีวิตหลังความตาย จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตนี้ ความสุขทางโลกหรือ “ประโยชน์ปัจจุบัน” จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ชีวิตทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการแสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ และสถานะ ยิ่งกว่าการทำความดีหรือสร้างบุญกุศล

ในบรรดาความสุขทางโลก สิ่งที่มาก่อนอื่นใดคือความสุขทางวัตถุหรือทางร่างกาย ดังนั้นควบคู่กับการแสวงหาวัตถุก็คือการหลงใหลในร่างกาย เพราะร่างกายไม่เพียงเป็นอุปกรณ์แสวงหาความสุข (ด้วยการกิน เที่ยว และมีเซ็กส์) เท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือแสวงหาปัจจัยแห่งความสุข (คืองานและเงิน) รวมทั้งเป็นที่มาแห่งความสุขโดยตัวมันเอง กล่าวคือเป็นสุขเพราะมีรูปร่างที่สวยงาม ได้มาตรฐาน จึงหมกมุ่นกับการตกแต่งและเปิดเผยทรวดทรงให้มากที่สุดแม้จะใส่ชุดนักศึกษาก็ตาม

เมื่อมีทัศนคติเช่นนี้ คนส่วนใหญ่จึงกลัวแก่เพราะจะทำให้ไม่ได้เสพสุขจากร่างกายอย่างเต็มที่ ยิ่งความตายแล้ว ไม่ต้องพูดถึง เพราะนั่นหมายถึงการไม่ได้เสพสุข จึงทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะความแก่และความตาย การเป็นอมตะจึงเป็นสุดยอดปรารถนาของคนปัจจุบัน แต่ในเมื่อหลีกความตายไม่พ้น ก็ขอให้มีชื่อเสียงดำรงคงอยู่ต่อไปหรือมีอนุสาวรีย์เป็นเครื่องสืบทอดตัวตน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาที่สังคมปัจจุบันจะเน้นการสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในเมื่อไม่เชื่อสวรรค์ในชาติหน้า ก็สร้างสวรรค์ในชาตินี้เสียเลย แต่สิ่งที่ตามมาคือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมกันนั้นก็มีการเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดเพื่อนมนุษย์ จนต้องมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นหิวโหย บังเกิดเป็นนรกขึ้นมาทั่วทุกมุมโลก

มองในแง่นี้วัฒนธรรมความตายในปัจจุบันจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต นอกจากสร้างความทุกข์แก่สรรพชีวิตแล้ว ยังปิดโอกาสที่บุคคลจะเข้าถึงคุณค่าและสิ่งสุดสุดที่ชีวิตพึงเข้าถึง สิ่งที่ควรทำก็คือ ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลต่อชีวิต กล่าวคือส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้ออาทรต่อสรรพชีวิต และช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ปล่อยวางแทนที่จะติดยึดหรือมุ่งตักตวง เพื่อเข้าถึงสภาวะอันประเสริฐสุดที่ชีวิตเข้าถึงได้

วัฒนธรรมความตายดังกล่าวก็คือ การมองความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เห็นคุณค่าของการตายอย่างสงบ และรู้จักใช้ความตายให้เป็นโอกาสในการยกระดับทางจิตวิญญาณ โดยอยู่อย่างพร้อมจะตายทุกขณะ หรือดียิ่งกว่านั้นก็คือ เรียนรู้ที่จะ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

เติบโตตามแผนที่หัวใจ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน 2550

ภาพข่าวเล็กๆ หน้า ๕ ของหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ สะดุดตาและกระทบใจผู้เขียนอย่างแรง

ภาพนั้นเป็นงานแสดงเพ็ตแฟชั่นวีคที่นิวยอร์ค ซึ่งนางแบบแต่งชุดไทยงดงาม สวมชฎาอลังการ อุ้มสุนัขพุดเดิลแต่งตัวเฉิดฉาย สวมปะวะหล่ำกำไลแพรวพราว ที่ดูขัดตาเป็นอย่างยิ่งคือสุนัขตัวนั้นสวมชฎาหน้าตาบ้องแบ๊ว

จริงอยู่ งานแฟชั่นสัตว์เลี้ยงนี้เน้นการออกแบบความคิดการแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยง จะออกแบบให้สุนัขใส่เสื้อถักด้วยทองคำทั้งตัวประดับสร้อยเพชรเจ็ดล้าน ก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่การนำชฎาทรงเครื่องเต็มยศมาสวมให้สุนัขนั้น ใช้สมองส่วนใดคิด

สมัยนี้วงการต่างๆ เน้นการคิดนอกกรอบ ทั้งนี้เพื่อแหวกวงล้อมของฐานคิดแบบเดิมๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคม ผู้เขียนเห็นว่า การรู้จักคิดใหม่ทำใหม่เป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องคิดถึงกาลเทศะ พื้นฐานทางวัฒนธรรม แสดงรสนิยมดีและเป็นไปในทางสร้างสรรค์

การปลูกฝังความคิดและจิตใจที่ละเอียดประณีต รู้จักคิดและทำสิ่งที่ควรนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภารกิจของสถานศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา และอีกส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้จากสังคม สื่อมวลชน และสิ่งแวดล้อม

น่าเสียดายที่กระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษานั้น เน้นกลุ่มสาระของหลักสูตรเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผู้ปกครองและนักเรียนรู้สึกเดือดร้อนมาก เมื่อต้องสอบความสามารถทางศิลปะ ดนตรี และกีฬา ยิ่งกิจกรรมอาสาสมัคร ซึ่งจะกล่อมเกลาจิตใจให้ลดความเห็นแก่ตัวและเพิ่มความรักผู้อื่นด้วยแล้ว หาได้มีความสำคัญอันใดเลยกับการที่จะเป็นปัญญาชน

เมื่อดนตรี ศิลปะ กีฬา และจิตใจ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกทอดทิ้ง จึงพอจะทำนายได้ว่า คนไทยรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป จะขาดความละเอียดประณีต จิตใจหยาบกระด้าง ทำและสร้างสิ่งใด เอาง่ายเข้าว่า เสร็จเร็ว เตะตา กระตุ้นอารมณ์ คนที่สุภาพ อ่อนโยน มารยาทดี จะเสียเปรียบในการดำเนินชีวิต คนที่ขาดวินัย ก้าวร้าว หยาบกระด้าง จะได้ชัยชนะในทุกสนามแข่งขัน

ถ้าไม่อยากให้สังคมไทยเต็มไปด้วยการขับเคี่ยว แข่งขัน ล้มล้างกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าไม่อยากเห็นคนที่จบปริญญาเอกทำร้ายคู่ครองอย่างโหดเหี้ยม ผู้ดีในละครโทรทัศน์มีกิริยาวาจาหยาบคายเป็นที่ชื่นชอบของแฟนละคร ฯลฯ เราอาจจะต้องคิดถึงการอบรมปลูกฝังความประณีตอ่อนโยนในจิตใจของผู้คนในสังคมไทย ก่อนที่จะสายเกินไป

บทความจิตวิวัฒน์ครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้เสนอการพัฒนาจิตใจและความประณีตอ่อนโยน ตามแผนที่หัวใจ (MAPS : music, art, play or physical and spiritual development) บทความนี้ ผู้เขียนขอขยายความเส้นทางการเรียนรู้ตามแผนที่หัวใจ ที่วงการศึกษาทุกระดับต้องจัดอย่างถูกต้องและจริงจัง

ดนตรี ศิลปะ การเล่น การพัฒนากายและจิต เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เน้นการฝึกฝนอบรมและเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง จุดประสงค์ของการเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้เรียนเป็นศิลปิน เป็นนักกีฬา หรือเป็นนักพรตนักบวช แต่เพื่อสร้างสรรค์จินตนาการ การถ่ายทอดความคิด การสร้างวินัยในตนเองระหว่างฝึกฝน และกล่อมเกลาจริตกิริยาให้อ่อนโยน ละเอียดประณีต เข้าถึงความงามความดีของชีวิต

การเรียนรู้ตามเส้นทางแผนที่หัวใจ เป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เคลื่อนไหว แจ่มใส และมีความสุข ดนตรีมีท่วงทำนองและจังหวะที่พาเพลิน ปลุกเร้า กล่อมเกลาอารมณ์ให้เบิกบาน ช่วยพัฒนาความจำและทักษะภาษา เมื่อนำมาสัมพันธ์กับท่วงท่าเคลื่อนไหว ที่สำนวนไทยเรียกว่า ร้องรำทำเพลง ก็เกิดจินตนาการ และซึมซับคุณค่าที่งดงามของการบรรเลงดนตรี

ดนตรีมิได้แยกกันสิ้นเชิงจากศิลปะ เพราะต่างก็ประสานอยู่ในกันและกัน เพียงแต่เครื่องมือและวิธีการแสดง ถ่ายทอดความคิดจินตนาการแตกต่างกัน ศิลปะมีหลายรูปแบบ เท่าที่ได้เรียนรู้กันแพร่หลาย คือ วิจิตรศิลป์ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ฯลฯ และที่เด็กๆ เรียนกันอยู่ เช่น งานวาดภาพ งานปั้น งานออกแบบ และงานประดิษฐ์ ดนตรีและศิลปะ ช่วยพัฒนาการรับรู้เชิงสุนทรีย์และเป็นพื้นฐานการมีรสนิยมดี

กีฬา การเล่น การออกกำลังกาย นอกจากเป็นการสร้างเสริมสุขภาพทางกายแล้ว ยังฝึกความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว กระตุ้นและพัฒนาสมอง สร้างระเบียบวินัยในตนเอง ขยัน-อดทน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ดังนั้น สังคมจึงให้อภัยลำบาก เมื่อพบว่านักกีฬาชกต่อยกันในสนามแข่งขัน

ดนตรี ศิลปะ กีฬา และการปลูกฝังคุณธรรม มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาจิตใจ ช่วยพัฒนาสมอง จิตสำนึก สุนทรียภาพ และบุคลิกภาพ

แพทย์หญิงพัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ กล่าวว่า ศิลปะ เป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่เกิดจากความรู้สึกร่วม และการสัมผัสรับรู้ ซึ่งช่วยถักทอเส้นใยประสาทให้เชื่อมโยงกันแข็งแรง เชื่อมโยงโลกภายในตัวตนของเรากับโลกภายนอก แล้วเกิดความสัมพันธ์กันเป็นงานศิลปะ

คุณภัทราวดี มีชูธน อธิบายว่า เด็กและเยาวชนมีพลังงานเหลือมาก ศิลปะ ดนตรี และการเล่น ช่วยให้เขาได้แสดงออก สร้างความภาคภูมิใจ และสามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรดี อะไรงาม รู้จักผิดชอบชั่วดี

ปัจจุบัน นักการศึกษาทั้งไทยและเทศ ต่างก็เน้นวิธีการจัดกิจกรรมเล่นปนเรียน (play and learn) ทั้งนี้ต้องจัดให้เหมาะกับวัย ความสนใจ และความถนัดของผู้เรียนด้วย

เส้นทางการเรียนรู้ตามแผนที่หัวใจ (MAPS) แทรกซึมอยู่ได้ทุกสาระเนื้อหาทางวิชาการและวิชาชีพ หรืออาจจะไม่เป็นวิชาอะไรเลย เป็นการเรียนด้วยใจรัก

MAPS เป็นยารักษาโรคใจได้หลายอาการ แก้โรคใจร้อน โรคใจหยาบ ด้วยการกล่อมเกลาจิตและอามรณ์ให้เย็น ละเอียดอ่อน ประณีต

MAPS ช่วยแก้นิสัยมักง่าย ช่วยดัดนิสัยคนที่ทำอะไรอย่างขอไปที เพราะการเข้าถึงสุนทรียรสต้องตั้งใจ พากเพียร ฝึกฝน จึงจะซาบซึ้ง ควบคุมจิตใจของตนเองได้

MAPS ช่วยดับอารมณ์ฟุ้งซ่าน ก่อเกิดสมาธิ มีใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำ เกิดความสงบทั้งใจและกาย

MAPS มีความเป็นสากล แต่ก็เชื่อมโยงรากฐานทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ การแสดงออกและการถ่ายทอดความคิดจินตนาการ จึงต้องมีรสนิยมดี คำนึงถึงศักดิ์ศรีของเผ่าพันธุ์ ไม่คลั่งสมัยนิยมจนลืมรากเหง้าของตนเอง

ความงาม ความดี และความจริง จึงควรเชื่อมโยงผสมผสานกันอย่างสมดุล

เมื่อเราเคาะระฆัง แม้จะหยุดเคาะแล้ว เสียงกังวานก็ยังอยู่อีกชั่วครู่ กิจกรรมตามเส้นทาง MAPS ก็เช่นกัน แม้จะทำหรือปฏิบัติไปแล้ว ความงดงาม ความเข้มแข็ง ความประทับใจก็ยังคงอยู่ เมื่อฝึกทำซ้ำๆ ก็จะตกผลึกสะสมเป็นความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ

เมื่อเยาวชนในสถานศึกษาขาดโอกาสที่จะสัมผัสกับความงาม และไม่เคยลิ้มรสความประณีตกลมกลืนอย่างผ่อนคลาย แต่ละวันเขาได้พบเห็นแต่ศิลปะเชิงพาณิชย์ ความบันเทิงที่โฉ่งฉ่างสุกเอาเผากิน ได้ยินแต่เสียงด่าทอด้วยความก้าวร้าวหยาบกระด้าง เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่รวดเร็วและรุนแรง คนรุ่นใหม่จึงเคยชินกับสิ่งเหล่านั้น และรับเอามาเป็นลีลาชีวิต เน้นราคา ไม่คิดถึงคุณค่า น่าเสียดาย

ผู้ที่รับการศึกษาทั้งในระบบและจากการเรียนรู้ทางสังคม จึงมิได้ดูจากปริญญาหรือวุฒิบัตร ว่าเป็นผู้มีการศึกษา แต่จะดูจากความเป็น “ศึกษิต” ซึ่ง พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงบัญญัติไว้และอธิบายว่า ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๖ ประการ คือ (๑) ใช้ภาษาได้ดีและถูกต้อง (๒) ประพฤติดี มรรยาทดี (๓) รสนิยมดี (๔) คิดตรึกตรองได้ถ่องแท้ (๕) เจริญกาย เจริญปัญญา แสวงหาความรู้ และ (๖) แปลความคิดเป็นการกระทำได้สำเร็จ

ที่ผู้เขียนติดใจมาก คือคำอธิบายข้อที่ว่า “รสนิยมดี” ซึ่ง น.ม.ส. ทรงแปลจากคำว่า good taste เปรียบเทียบคน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี กุสุมรส และอีกกลุ่มหนึ่งมี สถุลรส (bad taste)

MAPS ช่วยกล่อมเกลาให้คนเติบโตขึ้นและสร้างสรรค์งานอย่างกุสุมรส คือประณีต นุ่ม นวลเนียน เหมือนกลีบดอกไม้

เมื่อโลกมีเสียงดนตรี ทั้งที่เป็นศัพท์สำเนียงจากธรรมชาติและการบรรเลง

เมื่ออารมณ์ของคนแช่มชื่นด้วยเส้นสายลวดลายและสีสัน

เมื่อมนุษย์ได้เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย แสดงออกด้วยการละเล่น

เมื่อจิตของทุกคนได้รับการฝึกฝนให้บรรเทาร้อนผ่อนเย็น

ผู้คนก็จะมีกุสุมรส นิยมความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน

เป็นรสชื่นชุ่มฉ่ำของชีวิต สด สะอาด สมดุล

เป็นความงอกงาม เติบโตในเส้นทาง แม้จะเลี้ยวลดก็ไม่มีวันหลง

เมื่อจิตมุ่งไปตามทิศของแผนที่หัวใจ

Back to Top