พฤษภาคม 2012

องค์กรมีชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2555

มาร์กาเร็ต วีทลีย์ นักเขียนและนักบริหารจัดการชาวอเมริกันผู้เสนอแนวคิดเรื่องผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ที่สอดคล้องกับชีวิต ได้ยึดหลักความรู้และความเข้าใจจากการค้นพบทางชีววิทยามาเป็นสมมุติฐานใหม่และแรงบันดาลใจในการนำเสนอแนวคิดของ “องค์กรจัดการตัวเอง” หรือ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” ในแวดวงของการบริหารจัดการแนวใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างองค์กรที่เชื่อมสัมพันธ์ถึงกันภายใน อย่างเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและท้าทายตลอดเวลา

สมมุติฐานแรกที่อาจต่างออกไปจากสมมุติฐานที่ว่าชีวิตต้องการความอยู่รอดและจำต้องได้รับการควบคุมให้อยู่ในกรอบและทิศทางที่เหมาะสมนั้น คือสมมุติฐานที่น่าสนใจที่สุดของชีวิตในชีววิทยาสมัยใหม่ นั่นคือ ชีวิตต้องการและสามารถสร้างตัวเองได้ (autopoiesis) และปรารถนาที่จะสร้างสิ่งใหม่อยู่เสมอ

หลักฐานสำคัญในเรื่องนี้เห็นจะหนีไม่พ้นความหลากหลายทางชีวภาพที่มีมากมายมหาศาลในระบบธรรมชาติ ที่แสดงถึงความสร้างสรรค์ในระดับที่แทบไม่ใช่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดอย่างที่เราเคยใช้ในการอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง

ความใหม่ดูประหนึ่งว่าไม่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น แต่เป็นเพราะความใหม่คือการค้นหา โอกาส ความเป็นไปได้ของการดำรงชีวิต การบรรลุถึงอิสรภาพในการเป็นสิ่งต่างๆ ดังที่ เคลวิน เคลลี อธิบายไว้ว่า ชีวิตคือการแสวงหาและการค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ของการแสดงออก นักชีววิทยาชื่อ ฟราสซิสโก วาเรลา และฮุมเบอร์โต มาตูรานา สังเกตเห็นว่า ชีวิตไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ที่แข็งแรงกว่าจึงอยู่รอด” แต่ตอบสนองต่อพื้นที่หรือโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่า สำหรับการทดลองของ “ความอยู่รอดของสิ่งที่ปรับตัวได้ดีที่สุด” มีการออกแบบการทดลองหลายรูปแบบ มีความเป็นไปได้ของการปรับตัวที่หลากหลาย และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ใช้ความอิสระในการลองผิดลองลองถูกนี้มากกว่ามนุษย์เสียอีก ด้วยความที่มนุษย์เรามักเรียกร้องความสมบูรณ์กับทุกเรื่อง นับตั้งแต่ลองผิดลองถูกครั้งแรก

ความอิสระในการลองผิดลองถูกที่ชีวิตจะเปลี่ยนตัวเองเป็นรูปแบบที่จะดำรงชีวิตและสืบเผ่าพันธุ์ที่นำมาซึ่งความหลากหลายอันไร้ขีดจำกัด ในการเล่าเรื่องราวของจักรวาลของฉัน ฉันอยากจะเปล่งเสียงให้ความใหม่เป็นคุณค่าที่ได้รับการเชิดชูจากทุกชีวิต เป็นสิ่งที่อำนวยให้ชีวิตมีการค้นพบใหม่ๆ ความจำเป็นและความสามารถในการสร้างตัวตนเป็นแรงผลักดันที่เราเห็นในการทดลองของมนุษย์อย่างเด่นชัด แต่เรามีความเข้าใจผิดอย่างมากในองค์กรของเรา

สมมุติฐานที่สองคือ ชีวิตมีความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับชีวิตอื่น เพื่อสร้างระบบของความสัมพันธ์ที่ สมาชิกแต่ละคนได้รับการสนับสนุนจากระบบที่สร้างขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมองแต่ละชีวิตอย่างแยกส่วน ในโลกธรรมชาติ ดังคำพังเพยแอฟริกันโบราณที่ว่า “เมื่ออยู่ลำพัง ฉันเห็นสิ่งที่วิเศษมากมาย แต่ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เป็นของจริง” นักชีววิทยา ลินน์ มาร์กูลิส แสดงถึงการตระหนักรู้เดียวกันนี้เมื่อเธอพูดว่า การเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใครนั้น เป็นความคิดทางการเมือง (ของมนุษย์) ไม่ใช่ความคิดทางชีววิทยา ในทุกหนทุกแห่ง ชีวิตได้แสดงตนในสายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบ จากความสัมพันธ์นี้ ชีวิตสร้างระบบที่สร้างความมั่นคงและสนับสนุนกันมากกว่าชีวิตที่อยู่เพียงลำพัง สิ่งมีชีวิตปรับแต่งตัวเองให้สนองตอบต่อเพื่อนบ้านและสิ่งแวดล้อมของมัน การตอบสนองต่อกันและกันได้ก่อกำเนิดและสร้างสรรค์ระบบที่ซับซ้อนขององค์กรที่เราเห็นในธรรมชาติ ชีวิตเป็นการแสวงหาระบบ มันแสวงหาการรวมตัวเป็นองค์กร องค์กรเป็นการเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ องค์กรจัดการตนเองเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างระบบที่เราเฝ้าดูอยู่และพิสูจน์ให้โลกเห็นวิธีการจัดการที่มาจากภายใน

ชีวิตเป็นระบบจัดการตนเองที่สามารถสร้างสรรค์ตัวเอง สร้างโครงสร้างและวิถีทาง รวมทั้งเครือข่ายของการสื่อสาร คุณค่าและความหมาย พฤติกรรมและมาตรฐาน แทนที่จะคิดถึงองค์กรเป็นสิ่งที่สร้างจากโครงสร้าง แผนการ การออกแบบ หรือบทบาทหน้าที่ ที่จริงแล้วองค์กรเกิดมาจากการมีปฏิสัมพันธ์และความต้องการของสมาชิกแต่ละคนที่ตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน

การปะทะกันระหว่างสมมุติฐานเก่าและใหม่มีให้เห็นได้ในทุกแห่ง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราเห็นการปะทะกันนี้ในองค์กรที่ถูกสร้างมาเพื่อให้กำเนิดกระบวนทัศน์ใหม่ รวมถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั้งหลาย รวมไปถึงวัดและองค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้คนขององค์กรเหล่านี้ได้สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ พวกเขารวมตัวกันเพราะพวกเขารู้ว่าไม่สามารถทำความฝันให้เป็นจริงแต่โดยลำพัง ต้องมีองค์กรเพื่อทำให้เกิดขึ้น เป็นความปรารถนาของมนุษยชาติที่นำพวกเขาให้สร้างองค์กรเพื่อทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เพื่อนำสิ่งที่ดีมาสู่โลก เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้อื่น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มาจากกระบวนทัศน์ใหม่

กระนั้นก็ตาม เมื่อพวกเขาเริ่มต้นงานสร้างองค์กร ความคิดเก่าและนิสัยเก่าก็ถูกนำออกมา องค์กรเหล่านี้ครอบเอาโครงสร้างและบทบาทวางแผนงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ใช้การสั่งการและการควบคุม กำกับในการนำองค์กร เมื่อเวลาผ่านไป องค์กรที่ถูกสร้างเพื่อตอบโจทย์กระบวนทัศน์ใหม่ก็กลายเป็นสำเนา ของโครงสร้างที่แข็งกระด้างของกระบวนทัศน์เก่า ผู้คนเกิดความไม่พอใจต่อองค์กรที่พวกเขาสร้างขึ้น เพราะในเวลานี้มันกลับเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างสรรค์ ความหวัง และความฝันของพวกเขา

บทเรียนจากชีววิทยาใหม่ได้นำภาพขององค์กรที่แตกต่างจากเดิม มันสอนเราว่าเมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ก็จะมีความสามารถสร้างองค์กรให้เป็นรูปเป็นร่าง สร้างแผนงาน คุณค่า และวิสัยทัศน์ เราเป็นองค์กรจัดการตนเองเฉกเช่นเดียวกับชีวิตทุกชีวิต และกระบวนทัศน์ใหม่ยังให้รายละเอียดกระบวนการจัดตั้งองค์กร ที่สร้างความตกตะลึงในภาพที่ตรงข้ามกับภาพของการจัดตั้งองค์กรแบบเก่าที่มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เพราะมีการสอดประสาน ได้รับการสอดส่องดูแลเป็นอย่างดี เราสามารถสรุปกระบวนการสร้างระบบของชีวิตอย่างง่ายๆ ว่า ชีวิตแสวงหาการรวมเป็นองค์กรโดยใช้ความยุ่งเหยิง (Chaos) เป็นวิธีการสร้างระบบ องค์กรเป็นกระบวนการ ไม่ใช่โครงสร้าง

ในขณะเดียวกัน กระบวนการสร้างระบบได้สร้างความสัมพันธ์ขึ้นจากการมีเป้าประสงค์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนและสร้างข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ให้ความสนใจกับผลของการกระทำของเรา ร่วมกันปรับตัว ร่วมกันวิวัฒน์ สร้างปัญญาในขณะที่เราเรียนรู้ ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงจากทุกทิศทุกทาง ระบบชีวิตให้รูปแบบองค์กรของตัวเองและวิวัฒน์รูปแบบนั้นๆ เป็นรูปแบบใหม่ๆ อีก เพื่อสร้างความหมาย สื่อสาร และเพื่อสังเกตว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ความสามารถเหล่านี้จะปลุกความมีชีวิตอย่างแท้จริงให้กับองค์กร และสนับสนุนความเป็นองค์กรจัดการตนเอง

เราค้นพบโลกที่ชีวิตให้กำเนิดตัวเองโดยใช้แรงขับที่ทรงพลังสองประการคือ ความต้องการมีอิสระในการสร้างตัวตนและความต้องการที่จะเอื้อมหาความสัมพันธ์กับชีวิตอื่น แรงทั้งสองไม่เคยจางหายไปจากชีวิต แม้ในขณะที่เราปฏิเสธมัน เราไม่สามารถลบล้างมันได้ มันมีความพร้อมที่จะแสดงออกมาเสมอ แม้ในองค์กรมนุษย์ที่พยายามกดทับมันไว้อย่างที่สุด ชีวิตไม่เคยหยุดการยืนยันความต้องการในการสร้างตัวตนของมัน และชีวิตไม่เคยหยุดแสวงหาความสัมพันธ์

หากเรา ในฐานะผู้นำพยายามที่จะสั่งการและควบคุมองค์กร โดยละเลยที่จะตระหนักถึงแรงขับของชีวิต ชีวิตจะออกแรงต้านความประสงค์ของเราเสมอ แล้วแทนที่จะเรียนรู้จากชีวิต เรากลับมีแนวโน้มที่จะมอง พฤติกรรมเหล่านี้ว่า ”ยากต่อการควบคุม” เป็นเหตุตัดสินใจใช้การนำที่บังคับควบคุมยิ่งขึ้น ความล้มเหลวและความรู้สึกไม่พอใจในองค์กรเป็นผลมาจากการปฏิเสธแรงขับของชีวิต เรียบเรียงจาก Finding Our Way โดย มาร์กาเร็ต วีทลีย์

การปรองดองที่ถูกมองข้าม


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2555

ตรงข้ามกับเดือนตุลาคม พฤษภาคมไม่เคยเป็นเดือนที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่เลย จนกระทั่งเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว พฤษภาคมปีนี้ นอกจากจะเป็นวาระครบสองทศวรรษเหตุการณ์นองเลือดปี ๓๕ แล้ว ยังครบสองปีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี ๕๓ อีกด้วย

ทั้งสองเหตุการณ์กินเวลาหลายวัน และคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย แต่ในขณะที่เหตุการณ์ปี ๓๕ ลงเอยด้วยชัยชนะของประชาชนและความพ่ายแพ้ของอดีตคณะรัฐประหาร (ที่หวังสืบต่ออำนาจผ่านพรรคการเมือง) เหตุการณ์ปี ๕๓ ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะเลย ต่างพ่ายแพ้และสูญเสียบอบช้ำทั้งคู่ ตามมาด้วยความแตกร้าวของสังคมไทยยิ่งกว่าเดิม

หลังจากเหตุการณ์ปี ๓๕ ซึ่งเป็นการรวมพลังเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดหลัง ๑๔ ตุลา ๑๖ เคยเชื่อ (และหวัง) กันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในเมืองไทยอีก เพราะผู้กุมอำนาจได้รับบทเรียนสำคัญว่า การใช้ความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง ไม่ว่าจะใช้วิธีรัฐประหารหรือปราบปรามผู้ชุมนุมก็ตาม ในที่สุดย่อมส่งผลเสียสะท้อนกลับมาสู่ผู้ใช้ความรุนแรงเสมอ การกลับมาของประชาธิปไตยโดยเฉพาะหลังจากที่มีการวางรากฐานด้วยรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ‘ฉบับประชาชน’ ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์นองเลือดจากความขัดแย้งทางการเมืองจะยุติเสียที

แต่ดูเหมือนว่าความคิดแบบอำนาจนิยมจะฝังลึกในหมู่คนไทย การใช้อำนาจหรือความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าปัญหาผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมทั้งกรณีกรือเซะและตากใบ) ปัญหายาเสพติด (ฆ่าตัดตอน) รวมทั้ง “ปัญหาทักษิณ” (ซึ่งถูกจัดการด้วยวิธีรัฐประหาร) ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากการปักหลักประท้วงอย่างยืดเยื้อของคนเสื้อแดง ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่าย ๆ การใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมจึงเกิดขึ้นอีกครั้งจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายมากมาย

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ตอกย้ำว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาที่ฝังลึกของสังคมไทย มันกลายเป็นวิถีทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับระบบเผด็จการเท่านั้น แม้เป็นประชาธิปไตย ความรุนแรงก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทัศนคติที่แพร่หลายในหมู่ผู้คน อาทิ ความคิดแบบอำนาจนิยม รวมทั้งความคิดที่ว่า คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์ คือ เมื่อตัดสินใครว่า “ผิด” แล้ว ก็สามารถจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ รวมทั้งฆ่าเขา โดยไม่ต้องสนใจกระบวนการยุติธรรม

สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่หนุนเสริมให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย ก็คือ ความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น หากยังมีโครงสร้างและกลไกต่างๆ รองรับ สนับสนุน เช่น โครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์สู่ส่วนกลาง ซึ่งทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและความคับแค้นใจในหมู่ผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ลำพังช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนระดับบนกับระดับล่าง ก็ทำให้ฝ่ายหลังเกิดความไม่พอใจอยู่แล้ว ยิ่งมาพบว่าตนสิทธิมีเสียงน้อยกว่าคนระดับบน หรือนักการเมืองที่ตนสนับสนุนต้องมีอันเป็นไปด้วยกลวิธีต่างๆ ก็ยิ่งเกิดความคับแค้นใจ ดังนั้นจึงง่ายมากที่จะโดนใจกับคำว่า “ไพร่-อำมาตย์” หรือ “สองมาตรฐาน” จนพร้อมที่จะลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกหาความเป็นธรรม การประท้วงนั้นไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความรุนแรงเสมอไปก็จริง แต่มักนำไปสู่การเผชิญหน้าจนง่ายที่จะเกิดการปะทะและลุกลามขยายตัวกลายเป็นความรุนแรงได้ โดยเฉพาะเมื่อมีความเชื่อว่าความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ เหตุปัจจัยแห่งความรุนแรงนั้น ในด้านหนึ่งมีรากเหง้าอยู่ที่ทัศนคติหรือจิตสำนึกของผู้คน อีกด้านหนึ่งก็แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างที่ห้อมล้อมครอบคลุมผู้คนเอาไว้ นั่นหมายความว่าเมืองไทยจะก้าวข้ามความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้ก็ต่อเมื่อแก้ไขเหตุปัจจัยทั้งสองระดับ น่าเสียดายที่แม้เหตุการณ์นองเลือดครั้งล่าสุดผ่านไปได้สองปีแล้ว แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าเหตุปัจจัยทั้งสองระดับจะได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังแต่อย่างใด แม้จะมีความพยายามหาหนทางปรองดองเพื่อลดความแตกแยกก็ตาม จริงอยู่การปรองดองเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ถึงแม้จะสำเร็จ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดจะไม่เกิดขึ้นอีกตราบใดที่เหตุปัจจัยทั้งสองระดับยังคงอยู่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ความแตกแยกของผู้คนในสังคม ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าลดลง แม้จะไม่ถึงขั้นเผชิญหน้าด่าทอในลักษณะกลุ่มชน แต่ก็ขยายตัวไปในรูปลักษณ์อื่น กล่าวคือ ไม่เพียงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในเชิงบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในเชิงคุณค่าด้วย เช่น แบ่งแยกหรือจัดฝ่ายว่า “คุณธรรม” หรือ “ความดี” เป็นเรื่องของคนเสื้อเหลือง ส่วน “ประชาธิปไตย” หรือ “ความเป็นธรรม” เป็นของคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกเป็นลบหรือถึงกับรังเกียจหากมีการพูดถึงประชาธิปไตย หรือความเป็นธรรม ส่วนคนเสื้อแดงหลายคนก็มีอาการอย่างเดียวกันหากมีการพูดถึงคุณธรรม หรือความดี พูดอีกอย่างคือ ตอนนี้ไม่ใช่แต่ตัวบุคคลเท่านั้นที่ถูกประทับตราอย่างง่ายๆ แม้แต่คุณค่าก็ถูก “ใส่สีสวมเสื้อ” ว่าเป็นเหลืองหรือแดงเช่นกัน

การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายดังกล่าวมีแนวโน้มจะขยายไปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ถูกมองว่าเป็นประเด็นของคนเสื้อเหลือง แต่ถ้าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ก็มองว่าเป็นเรื่องของคนเสื้อแดง ใครที่ต่อต้านเขื่อน พูดเรื่องการโกงกิน จึงมีแนวโน้มที่จะถูกตีตราว่าเป็นเสื้อเหลือง (หรือสลิ่ม) ส่วนใครที่เสนอแก้ ม.๑๑๒ ก็ถูกตีตราว่าเป็นคนเสื้อแดง

จริงอยู่แม้คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจะชูคุณค่าที่ต่างกัน หรือถึงกับใช้คุณค่าดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาอีกฝ่าย (เช่น ไม่ใช่คนดี หรือต่อต้านประชาธิปไตย) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าเหล่านี้จะถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นคุณค่าที่อยู่คนละขั้ว คุณธรรมกับประชาธิปไตย หรือ ความดีกับความเป็นธรรม เป็นคุณค่าที่สำคัญทั้งคู่ ต่างเสริมสมบูรณ์ให้แก่กันและกัน ไม่ว่าบุคคลหรือสังคม ย่อมไม่อาจขาดคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ การเชิดชูสิ่งหนึ่งและปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง ย่อมทำให้ชีวิตยากไร้ สังคมถดถอย จะว่าไปแล้วในส่วนลึกของเราทุกคนย่อมมีใจใฝ่ในคุณค่าทั้งสองประการ แต่หากมีความเข้าใจไปว่าคุณค่าอันใดอันหนึ่งเป็นของฝ่ายตรงข้าม ที่เราไม่ควรสมาทานหรือเชิดชูด้วยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การปฏิเสธด้านหนึ่งของตัวเอง คนที่ปฏิเสธตัวเองย่อมรู้สึกพร่องและบั่นทอนพลังของตนเอง ดังนั้นจึงยากที่จะนำพาชีวิตให้เจริญงอกงามและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมได้

การเห็นว่าคนแต่ละฝ่ายมีความเป็นมนุษย์เหมือนกับตน แม้จะมีสีเสื้อหรืออุดมการณ์ต่างกันก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปรองดอง แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการปรองดองของคนทุกฝ่ายก็คือการปรองดองระหว่างคุณธรรมกับประชาธิปไตย ไม่มองว่าคุณค่าทั้งสองเป็นศัตรูที่อยู่คนละข้าง การปรองดองเชิงคุณค่าดังกล่าว ไม่เพียงทำให้เกิดการปรองดองภายในตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานของการปรองดองในสังคมไทยอีกด้วย

ขยายภาชนะของจิต


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2555

โลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่โลกยุคข้อมูลข่าวสารที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่ายุคไหนๆ ที่ผ่านมา งานวิจัยเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ประมาณการณ์กันว่า ทุกๆ สองปี ข้อมูลทั้งหมดในโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า แล้วจำนวนข้อมูลทั้งหมดทั่วโลกที่ถูกสร้างในปี ๒๐๑๑ มีมากถึง ๑.๘ ล้านล้านล้านกิ๊กกะไบท์เข้าไปแล้ว ถ้าอยากรู้ว่ามากแค่ไหน ลองคิดกะคร่าวๆ เอาว่า ทุกคนในประเทศไทย ส่งข้อความเอสเอ็มเอส กันคนละ ๓ ข้อความทุกนาทีโดยไม่หยุด จะใช้เวลารวมกันทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ปี 

โลกยุคก่อนจะส่งข้อมูลกันทีก็ต้องใช้นกพิราบ คนขี่ม้า ส่งข้อความกันแต่ละที ก็หวาดเสียวว่า นกจะบินถึงผู้ส่งหรือเปล่า คนขี่ม้าจะเป็นอะไรไประหว่างทางหรือไม่ แต่ยุคนี้แค่ไม่กี่คลิก ข้อความก็ไปถึงผู้รับได้แล้ว คนติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น แม้ไม่ได้เจอกันมานาน ก็หากันจนเจอด้วยสังคมออนไลน์และระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ข่าวดีคือ โลกนี้มีอะไรให้ค้นหาอีกมาก มีคนให้รู้จักอีกเยอะ ข่าวร้ายคือ ข้อมูลสูงท่วมหัวจนคนรับไม่ไหว และการติดต่อกันอย่างเร่งด่วนอาจทำให้คนกระทบกระทั่งกันง่ายขึ้น 


แล้วใครเล่าที่เป็นคนรับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ไม่ใช่ตัวเราเองหรอกหรือ ในตัวเรามีอะไรบ้างที่ทำหน้าที่หลักในการรับข้อมูล เราอาจตอบว่า มีสมอง แล้วก็จิตใจ สมมุติว่ามีเท่านี้ คำถามต่อไปคือ เราจะทำอย่างไรกับสมองและจิตใจของเรา เพื่อให้รองรับและจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ในยุคก่อนๆ

ศาสตร์สมัยใหม่เริ่มชี้ชัดใกล้เคียงกันว่า ทั้งสมองและจิตใจของมนุษย์สามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ (neuroplasticity & adaptive mind) เมื่อเรารู้จักการเรียนรู้ที่เข้าถูกทาง เราจะสามารถขยายภาชนะของจิตให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ (mental capacity) แล้วเราจะพบว่าเรายังคงเรียนรู้ได้อีก และสิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นจะไม่ใช่ขยะความรู้ ที่เชื่อมโยงอะไรกับชีวิตของเราไม่ได้ เราจะเรียนรู้จากกันและกันมากขึ้น มากกว่าแค่แบ่งปันข้อมูลในเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ และไม่ใช่แค่เรียนรู้เพื่อได้รู้มากขึ้น แต่เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เราจะเข้าใจกันมากขึ้น เข้าใกล้กันมากขึ้น

ลองพิจารณาคำพูดที่ว่า "สัตว์ที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด หรือแข็งแรงที่สุด แต่เป็นสายพันธุ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด" ("It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent, but rather the one most responsive to change.") (คำพูดนี้เป็นของแคลเรนส์ ดาร์โรว์ [Clarence Darrow] ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นคำพูดของชาร์ลส์ ดาร์วิน [Charles Darwin]) เป็นการเปรียบเปรยกับคนฉลาดมีความรู้มากที่สุด หรืออยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุด คนประเภทนี้อาจอยู่ไม่รอดเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แต่คนประเภทที่มีความสามารถในการปรับตัวต่างหากจะอยู่รอดต่อไป

คนฉลาดและคนมีอำนาจเปรียบเสมือนชาล้นถ้วยคือ เมื่อคนยึดถือความรู้และอำนาจเดิมไว้มาก จะเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมใหม่ไม่ได้อีกต่อไป ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนประเภทนี้คือ การไม่สามารถรับความเห็นย้อนกลับได้ (feedback) หากเราเปรียบจิตของเราเหมือนถ้วยน้ำชา ภาชนะจิตของคนฉลาดและมีอำนาจมีความคับแคบ เราจะไม่สามารถรับความเห็นย้อนกลับอะไรได้อีกต่อไป มันจะล้นออกเหมือนชาที่รินจนล้นถ้วยแล้ว คนประเภทนี้จะมีแนวโน้มคิดเอาเองว่า การได้รับความเห็นหรือคำแนะนำใดๆ คือการบ่งบอกว่าฉันยังทำได้ไม่ดีพอ ฉันยังเก่งไม่พอ หรือฉันยังสมบูรณ์แบบไม่พอ เป็นต้น 

ความเชื่อบนฐานการทึกทักเอาเองแบบนี้ (Big Assumptions: BA) คือสิ่งที่ทำให้เกิด "กรอบความคิดตายตัว" (fixed mindset) การอยู่รอดในยุคนี้และต่อๆ ไป คนจำเป็นต้องเปลี่ยนมาสู่ "กรอบความคิดแบบเติบโต" (growth mindset) เป็นการพลิกเปลี่ยนจากด้านความรู้และอำนาจ มาสู่การเรียนรู้และปรับตัว นี่คือหนทางที่เรียกว่า "การขยายภาชนะของจิต"

คนเราจะขยายภาชนะของจิตได้อย่างไร

ผมขอใช้ "ไข่ดาว" เป็นภาพเปรียบเทียบสักหน่อย ในไข่ดาวมีพื้นที่สองส่วนคือ พื้นที่ไข่แดง กับพื้นที่ไข่ขาว ในพื้นที่ไข่แดง เราจะมีวิธิคิด วิธีรู้สึก และพฤติกรรมแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ทำอย่างนี้ก็อยู่รอดได้ไปวันๆ แล้ว ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีก มันรู้สึกว่าปลอดภัยดีแล้ว เช่น เป็นหัวหน้าก็ใช้วิธีการสั่งลูกน้องโดยไม่ต้องคำนึงว่าต้องรับฟังอะไรเพิ่มเติม หรือเป็นพนักงานเข้าใหม่ไฟแรง จบมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ จะมีใครมาแนะนำหรือสอนงานอะไรเพิ่มไม่ได้ เป็นต้น

ในพื้นที่ไข่ขาว เราจะมีวิธีคิด วิธีรู้สึก และพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น หัวหน้านั่งฟังลูกน้องและถามไถ่เพื่อเปิดโอกาสให้รับฟังลูกน้องเพิ่มขึ้นไปอีก หรือพนักงานใหม่ไฟแรงที่พร้อมให้พี่ๆ สอนงาน น้อมรับคำแนะนำ และเรียนรู้ใหม่ได้ทุกวัน เป็นต้น 

การขยายภาชนะของจิต คือการขยายพื้นที่ไข่แดงให้ใหญ่ขึ้น อย่างเป็นธรรมชาติ

ในช่วงแรกของการขยายภาชนะของจิต เราจะต้องกล้าก้าวออกจากพื้นที่ไข่แดง เพื่อมาปักหลักอยู่ในพื้นที่ไข่ขาวให้ได้นานพอ ด้วยการทำต่าง คิดต่างไปจากเดิม เราจะรู้สึกเสี่ยง อึดอัด และสั่นไหวในช่วงแรก วัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่า "กูแน่-กูดี" แต่เพื่อ "เก็บข้อมูล" ในพื้นที่ไข่ขาว ตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่ลองท้าทายตัวเองให้ฟังลูกน้องจนจบ แทนที่จะตัดบทสั่งไปก่อน ใช้โอกาสนี้จดบันทึกความคิดความรู้สึกที่ทนฟังจนจบ แล้วสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้องไปด้วย เป็นการเก็บข้อมูลไปก่อน เมื่อข้อมูลในพื้นที่ไข่ขาวถูกเก็บมากพอ (นั่นหมายถึง ทำต่างซ้ำแล้วซ้ำอีก) กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นที่จิต และพื้นที่ไข่แดงจะขยายออกเอง เมื่อจิตประมวลข้อมูลเหล่านั้นจนเกิดความเข้าใจใหม่ (ที่ต่างไปจาก BA หรือความเชื่อบนฐานการทึกทักเอาเองแบบเดิม)

แน่นอนว่า ระหว่างที่ภาชนะของจิตยังไม่ขยาย มันจะเกิดความรู้สึกอยากจะกลับเข้าไปในพื้นที่ไข่แดง เราก็สามารถกลับเข้าไปพักได้ แต่ให้บอกตัวเองว่าอย่าพักนานเกินไป ให้กล้าก้าวออกมาใหม่ เพื่อเรียนรู้ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ด้วยการท้าทายทำต่าง คิดต่างอย่างสม่ำเสมอ แล้วเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านในพื้นที่ไข่ขาว เมื่อทำอย่างนี้นานพอ ภาชนะของจิตจะค่อยๆ ขยายออก ว่ากันว่า ใช้เวลาช่วงท้าทายนี้สักประมาณ ๓ เดือน ๖ เดือน หรือ ๑๒ เดือน ก็จะเห็นผลการขยายภาชนะของจิตได้อย่างยั่งยืน

เมื่อภาชนะของจิตเราขยายออก เราจะอยู่รอดท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน ได้อย่างเข้าใจ ดำรงชีวิตตามสิ่งที่เราเห็นคุณค่า และให้ความสำคัญได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง แทนที่จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้ที่ท่วมโลกและความทุกข์จากการรักษาอำนาจที่ได้มาแล้วไม่ให้หายไป เราจะเรียนรู้และปรับตัวได้อยู่เสมอ และเป็นคนสายพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข

ถอนรากเหง้าของความรุนแรง


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2555

เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคมติดๆ กัน ๒ ปี ทำให้สังคมเกิดความทรงจำใหม่เกี่ยวกับเดือนเมษา-พฤษภา ที่จริงความรุนแรงทางการเมืองถึงกับเสียเลือดเสียเนื้อมีมาหลายครั้ง ถ้าจะนับแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็มีการฆ่านักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แล้วก็พฤษภามหาวิปโยค ๒๕๓๕ แล้วก็มีเมษายน ๒๕๕๒ เมษา-พฤษภา ๒๕๕๓ แล้วก็ยังผวากันต่อไปว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีกและรุนแรงกว่าเดิม เพราะรากเหง้าของความรุนแรงยังดำรงอยู่
นอกจากความรุนแรงทางการเมือง สังคมไทยยังมีความรุนแรงอย่างอื่นๆ อีกมาก ทั้งๆ ที่เป็นเมืองพุทธ เรามีอัตราการฆ่ากันตายสูงกว่าในญี่ปุ่น สูงกว่าในยุโรป สูงกว่าในสหรัฐอเมริกาเป็นอันมาก นี่ก็ความรุนแรง ปีหนึ่งๆ คนไทยยังตายเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน นี้ก็เป็นความรุนแรง ลูกคนจนยังตายมากกว่าลูกคนรวย ๓ เท่า อย่างนี้รุนแรงไหม คนจนถูกฟ้องและดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเอง บางคนถูกตัดสินจำคุกและตายในคุกด้วย เราเรียกกันว่าความอยุติธรรมที่ถูกกฎหมาย ชื่อแสดงถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural violence) เมื่อมันเป็นโครงสร้างมันจึงรุนแรงยิ่ง ความรุนแรงอย่างเงียบ (Silent violence) เช่น ความยากจนและความอยุติธรรมก่อให้เกิดความตายและความเสียหายใหญ่โตยิ่งกว่าความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งมากนัก หรืออีกนัยหนึ่ง ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งเป็นส่วนน้อยที่ปะทุขึ้นมาจากฐานใหญ่ของความรุนแรงอย่างเงียบ ทำนองยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะรู้ว่าความรุนแรงมันแก้ไม่ได้ด้วยเพียงแต่ว่าใครบางคนจะไปเกี้ยเซี้ยกับใครบางคน ส่วนว่าใครจะไปรดน้ำรดท่าใครหรือจะสุนทรียสนทนาอะไรกันก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่อยากชวนให้มองรากเหง้าของความรุนแรงในสังคมไทย และช่วยกันถอดชนวนแห่งความรุนแรง ตั้งแต่จิตสำนึกจนถึงโครงสร้าง ดังนี้

(๑) ต้นตอของความรุนแรงในสังคมไทยมาจากการคิดและทำเชิงอำนาจอันสืบต่อมาช้านาน อำนาจทำให้ขาดศีลธรรม ความสัมพันธ์ที่ดี และความก้าวหน้าด้วยปัญญา อำนาจทำให้คิดแบบบนลงล่าง (Top down) ทุกหนทุกแห่ง พ่อแม่ก็คิดเชิงอำนาจกับลูก ครูก็คิดเชิงอำนาจกับนักเรียน นายก็คิดเชิงอำนาจกับลูกน้อง ข้าราชการก็คิดเชิงอำนาจกับราษฎร ฯลฯ การคิดเชิงอำนาจทำให้ไม่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ขาดความเสมอภาค ภราดรภาพ และสามัคคีธรรม สัมพันธภาพเชิงอำนาจทำให้ขาดการเรียนรู้จึงขาดความก้าวหน้าด้วยปัญญา การคิดและทำเชิงอำนาจเป็นการใช้สมองส่วนหลังซึ่งเป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้บกพร่องในการใช้สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา วิจารณญาณ และศีลธรรม

สังคมอย่างนี้ขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำมากเกิน สังคมที่ขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำมากเกิน จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ฉะนั้น เราจะต้องสร้างจิตสำนึกและวิธีคิดใหม่ ที่ถอนตัวออกจากอำนาจ

(๒) การปกครองโดยการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง นี้คือโครงสร้างอำนาจที่ไม่ถูกต้องอันนำมาสู่ปัญหาเกือบทุกชนิดในสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหา ๔ อย่างใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง ระบบรัฐด้อยสมรรถนะ เพราะเป็นระบบอำนาจไม่ใช่ระบบปัญญา จึงแก้ปัญหาอะไรเกือบไม่ได้เลย เช่น ความยากจน การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ความยุติธรรม ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ระบบรัฐล้มเหลวทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟมากขึ้นๆ

สอง ระบบรัฐคอร์รัปชั่น ถ้าอำนาจกระจุกที่ไหน คอร์รัปชั่นมากที่นั่น คอร์รัปชั่นจึงเปรียบประดุจมะเร็งร้ายที่กัดกินชาติ

สาม การรัฐประหารทำได้ง่าย เพราะอำนาจกระจุกจึงยึดอำนาจได้ง่าย ถ้าอำนาจกระจายไม่รู้จะยึดตรงไหน

สี่ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองรุนแรง เพราะอำนาจรวมศูนย์ ใครได้อำนาจทางการเมืองก็กินรวบหมดทั้งประเทศ จึงเป็นแรงจูงใจให้นักธุรกิจการเมืองทุ่มทุนเข้ามาแย่งชิงอำนาจ ทำให้เกิดธนาธิปไตย และการต่อสู้กันรุนแรง แต่ถึงรุนแรงเท่าใด ก็แก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ ถ้าอำนาจยังรวมศูนย์

ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวเรื่องชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง สังคมไทยต้องรีบทำความเข้าใจและแก้ไขการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จึงจะถอดสลักความรุนแรงได้

(๓) ความถูกต้องต้องก่อตัวขึ้น (Self organization) จากหน่วยย่อยข้างล่าง วิกฤตใหญ่ของโลกขณะนี้เป็นความล้มเหลวของระบบใหญ่ เช่น ระบบการเมืองใหญ่ ระบบเศรษฐกิจใหญ่ ระบบการเงินใหญ่ เพราะระบบใหญ่เหล่านี้สร้างความถูกต้องไม่ได้

ระบบที่ซับซ้อนที่สุดคือระบบร่างกายของเรา ร่างกายของเรารักษาความถูกต้องเชิงระบบไว้ได้ เราจึงมีสุขภาพดีและมีความยั่งยืนพอสมควร ความซับซ้อนของร่างกายทั้งหลายมาจากเซลล์ๆ เดียว เซลล์ๆ นี้ต้องมีความถูกต้องทุกอย่าง จาก ๑ งอกเป็น ๒ เป็น ๔, ๘, ๑๖, ๓๒ ... และพัฒนาไปเป็นอวัยวะต่างๆ ทุกอวัยวะมีเซลล์เป็นหน่วยย่อยพื้นฐาน เซลล์ต้องถูกต้องทุกอย่างอวัยวะจึงจะถูกต้อง อวัยวะถูกต้องทุกอย่างร่างกายทั้งหมดจึงจะถูกต้อง

หน่วยย่อยพื้นฐานของสังคมคือชุมชน

ชุมชนคือหน่วยย่อยที่มีความถูกต้องของการอยู่ร่วมกันได้ง่าย ทั้งการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนสามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรง เมื่อชุมชนเป็นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลจึงจะมีความยั่งยืน ถ้าชุมชนทั่วประเทศมีความเข้มแข็ง ประเทศก็จะตั้งอยู่บนฐานของความถูกต้อง

นั่นคือความถูกต้องต้องก่อตัวขึ้นมาจากความถูกต้องของหน่วยย่อยข้างล่าง

ไม่มีใครสามารถเสกความถูกต้องลงไปจากข้างบนได้ เพราะข้างบนเป็นเรื่องของอำนาจ มายาคติ และความฉ้อฉล เป็นที่แย่งชิงอำนาจกันรุนแรงและบ่อเกิดของความรุนแรง

ถ้าเราเข้าใจสาเหตุของความรุนแรงตั้งแต่จิตสำนึกไปจนถึงโครงสร้าง เราทุกคนก็มีส่วนในการถอดชนวนความรุนแรงได้ โดย

(๑) ปรับโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกใหม่ มองเห็นว่า เพื่อนมนุษย์และสรรพธรรมชาติทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความเคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเคารพในธรรมชาติทั้งหมด มีสัมพันธภาพที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ก้าวหน้าด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่ คือความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ซึ่งเป็นทุนมหาศาลที่เงินซื้อไม่ได้ ทุนแห่งความเชื่อถือไว้วางใจกันทำให้เกิดความสุขและความสำเร็จ

(๒) ศึกษาเรื่องกระจายอำนาจจากการรวมศูนย์ออกไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด บ้านเมืองจะสงบลงตัว รัฐประหารจะทำไม่ได้ คอร์รัปชั่นจะลดน้อยถอยลง การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่ส่วนกลางอย่างรุนแรงอันนำไปสู่ความรุนแรงจะหมดไป เพราะหมดแรงจูงใจ เนื่องจากอำนาจกระจายไปหมดแล้ว

(๓) รวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง การมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันเต็มพื้นที่ของสังคม เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมจากโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นโครงสร้างแนดิ่งมาเป็นโครงสร้างทางราบที่มีความเสมอภาค มีภราดรภาพ และเข้ามาสัมพันธ์ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่ารวมตัวร่วมคิดร่วมทำ สังคมทางดิ่งหรือสังคมอำนาจมีความเครียดในตัวสูง และระเบิดไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ในขณะที่สังคมทางราบมีความสงบเย็นในตัวและก้าวหน้าด้วยพลังทางสังคมและทางปัญญา จึงเป็นศานติสังคม

ที่จริงเรามีสถาบันเพื่อการเรียนรู้ที่กว้างขวางใหญ่โต เช่น ระบบการศึกษา ระบบการพระศาสนา ระบบการสื่อสาร ถ้าระบบเหล่านี้ทำเพียง “การสั่งสอน” ให้คิดเหมือนเดิม เราก็ออกจากระบบอำนาจและความรุนแรงไม่ได้ เพราะการคิดเหมือนเดิมคือการคิดเชิงอำนาจ แต่ถ้าระบบเหล่านี้ส่งเสริม “การเรียนรู้” ให้เกิดจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างใหม่ เราก็ถอนรากเหง้าของความรุนแรงของสังคมไทยได้

แต่ระบบก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากคนไทยจำนวนหนึ่งที่มากพอเกิดจิตสำนึกใหม่

Back to Top