มกราคม 2014

มุสโสลินีและฮิตเลอร์



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557

มีหนังมินิซีรีส์สัญชาติอิตาลีที่หลายคนคงไม่ได้ดู คือ Benito (Il Giovane Mussolini ) นำแสดงโดยนักแสดงชาวอิตาลีที่ไปมีชื่อเสียงในหนังฮอลลีวู้ดและทุกคนรู้จักกันดีคือ อันตานิโอ บานเดราส

หนังยาว ๖ ชั่วโมงพูดอิตาลีตลอดทั้งเรื่อง วางจำหน่ายในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Rise and Fall of Mussolini กำกับการแสดงโดย Gianluigi Calderone ใช้นักแสดงชาวอิตาลีเกือบทั้งหมด แม้ว่าหนังจะตั้งชื่อว่าความรุ่งเรืองและความเสื่อมของมุสโสลินีแต่ดูเหมือนหนังจะทำได้เพียงแค่ครึ่งแรก คือแสดงให้เห็นเพียงขาขึ้น ซึ่งก็ปาเข้าไปมากกว่า ๓๐๐ นาทีแล้ว ยังไม่ทันจะเห็นขาลงหนังก็ชิงจบเสียก่อน

หรือว่าที่เห็นในจอนั่นแหละคือ “ขาลง” แม้ว่าจะแสดงให้เห็น “ขาขึ้น” ก็ตาม

พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่เขาทำ เป็นความเสื่อมของตนเองและของประเทศชาติตั้งแต่แรก อยู่ที่ใครจะมองเห็นได้เร็วกว่ากัน

หนังออกฉายปี ค.ศ. ๑๙๙๓ เวลานั้นนักแสดงนำคืออันตานิโอ บานเดราส อายุ ๓๓ ปี เพิ่งจะเป็นที่รู้จักบ้างจากหนัง The Mambo Kings ปี ๑๙๙๒ ก่อนที่จะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากหนัง Desperado ในเวลาอีก ๒ ปีต่อมาคือปี ๑๙๙๕ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากหลายคนไม่ทราบว่า เขาเคยรับบท เบนิโต มุสโสลินี ในช่วงแรกๆ มาก่อน


หนังเปิดเรื่องเมื่อมุสโสลินีในวัยหนุ่มเดินทางไปเป็นครูสอนหนังสือในเมืองเล็กๆ เมื่อปี ๑๙๐๑ เพียงไม่กี่วันเขาก็ฉวยโอกาสหลับนอนกับบุตรสาวของครูใหญ่ซึ่งเป็นแม่ลูกอ่อน หลังจากฉากนี้เราจะเห็นความมือไวใจเร็วในเรื่องผู้หญิงของเขาอีก ๓-๔ ครั้งติดๆ กันตลอดทั้งเรื่อง เรียกว่าพบใครชอบใจก็ไม่รอช้าที่จะรุกเข้าใส่แล้วชวนขึ้นเตียงในทันที

เมื่อครูใหญ่และชุมชนหมู่บ้านจับเขาได้แล้วไล่ออก เขาเดินทางไปเป็นคนงานขุดหินแบกหินในเหมืองแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงไปทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างในเขตมหาวิทยาลัยเจนีวา ที่นี่เขาพบรักนักศึกษาแพทย์สาวสวยลูกผู้ดีมีสกุล จึงลงทุนปลอมตัวเป็นนักศึกษาเข้าไปนั่งเรียนหนังสือด้วยและได้หลับนอนกับเธออีก เวลานั้นความเป็นอยู่ของกรรมกรเหมืองและกรรมกรก่อสร้างย่ำแย่ มุสโสลินีซึ่งมีความคิดคล้อยตามแนวทางสังคมนิยม จะคอยพูดจาปลุกระดมกรรมกรทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อเกิดเหตุการณ์คนงานคนหนึ่งตกร้านถึงตาย เขาจึงได้โอกาสนำการประท้วงเป็นครั้งแรก


บทบาทการนำของเขาชักพาเขาเข้าสู่ที่ประชุมของพรรคสังคมนิยมแห่งชาติ ที่ซึ่งเขาได้พบรักกับแองเจลิกา (Angelica Balabanoff, ๑๘๗๙-๑๙๖๕) แกนนำคนสำคัญของพรรคเชื้อชาติรัสเซียที่ได้เสียกับเขาในเวลาอันรวดเร็ว และจะผูกพันกันอีกหลายปีทั้งเรื่องหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว มุสโสลินีได้ปราศรัยในที่ประชุมพรรคเป็นครั้งแรก แต่ด้วยแนวคิดหัวรุนแรงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากแกนนำพรรคส่วนใหญ่ วิธีการรุนแรงที่เขาทำ ทำให้ถูกตัดสินเนรเทศออกจากเจนีวา และออกจากทริเอสเตซึ่งเวลานั้นเป็นของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันทริเอสเตอยู่ในดินแดนอิตาลี)

มุสโสลินีเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองฟอร์ลี แต่งงานกับราเชล อดีตนักเรียนที่เขาเคยตีมือไปหนึ่งครั้ง และเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคสังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยบทบาทอันโดดเด่นในการเมืองท้องถิ่น ทำให้เขาได้ทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Avanti ที่มิลานซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของพรรคเวลานั้น

แล้วสงครามโลกครั้งที่ ๑ อุบัติขึ้น มุสโสลินีใช้โอกาสที่พวกสังคมนิยมหรือ “พวกสีแดง” กำลังต่อสู้กับพวกนิยมสาธารณรัฐหรือ “พวกสีเหลือง” ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันหลายครั้ง ให้ทั้งสองสีหันมาร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาลฝ่ายนิยมกษัตริย์ด้วยการไม่ยอมเกณฑ์ทหาร และไม่ยอมเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ความสำเร็จในการรวมคนสองสีที่เห็นต่างกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวครั้งนี้ คือจุดเริ่มต้นของการไต่ขึ้นสู่อำนาจไม่หยุดยั้ง

แต่ด้วยความมุทะลุและใช้ความรุนแรงไม่เลือกหน้า ทำให้เขามีศัตรูในพรรคมากมายคอยสกัดกั้นบทบาทจนกระทั่งถอดถอนเขาออกจากหน้าที่ดูแลหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นอาวุธที่ทรงอำนาจมากที่สุด ในตอนจบของหนัง มุสโสลินีหันไปนิยมกษัตริย์และใช้โอกาสนั้นนำอิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งที่เขาต่อต้านมาตั้งแต่แรกอย่างหน้าตาเฉย

ตลอดทั้งเรื่อง มุสโสลินีเป็นนักพูดและนักฉวยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้หญิง หน้าที่การงาน หรือการชิงอำนาจ เขามีข้อดีอยู่ข้อหนึ่งคือไม่กลัวและไม่หลบเมื่อพบเรื่องยากๆ ที่ไม่มีใครกล้าทำ มีคำพูดติดปากเขาในหนังเรื่องนี้หลายครั้งคือ “try me” ใครที่ได้ยินก็จะ “ลองใช้” เขาทำงานทุกที เพราะไม่มีใครกล้าเปลืองตัวทำงานยากหรืองานสกปรกชิ้นนั้น ดังนั้นยกให้ครูบ้านนอกคนหนึ่งทำจึงไม่มีอะไรจะเสีย แต่การณ์กลับปรากฏว่าเขาทำสำเร็จทุกครั้งไปจริงๆ เสียด้วย



ในขณะที่หนังเรื่องนี้ฉายภาพมุสโสลินีเป็นนักฉวยโอกาสที่ใจกล้า เด็ดเดี่ยว และมีความสามารถ หนังมินิซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งฉายภาพฮิตเลอร์เป็นนักสร้างภาพและนักแสดง

หนังมินิซีรีส์สองรางวัลเอ็มมีปี ๒๐๐๓ สัญชาติคานาดา Hitler: The Rise of Evil กำกับการแสดงโดย Christian Duguay ได้นักแสดง โรเบิร์ต คาร์ไลล์ รับบท อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และ ปีเตอร์ โอทูล รับบทประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก หนังสร้างได้ไม่ดีนัก มีข้อเท็จจริงหลายตอนที่คลุมเครือ อย่างไรก็ตามเรื่องการสร้างภาพและการแสดงของฮิตเลอร์นั้นเป็นที่รู้กัน ในแง่มุมนี้ หนังได้ฉายให้เห็นถึงทีมงานของฮิตเลอร์ที่ช่วยกันสร้างฉาก สร้างอาคาร สร้างสัญลักษณ์ โฆษณาชวนเชื่อ และตกแต่งสิ่งแวดล้อมเพื่อปลอบประโลมชาวเยอรมันให้เห็นดีเห็นงามไปกับความรุ่งเรืองของพรรคนาซี เฉพาะเรื่องหนวดที่เป็นเอกลักษณ์และการซ้อมโบกไม้กำมือดูเหมือนจะได้รับการขับเน้นเป็นพิเศษ

หนังฉายตั้งแต่ฮิตเลอร์เป็นทหารไปร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี ๑๙๑๔ ต้องทนลำบากตรากตรำเสี่ยงตายในสนามเพลาะเช่นทหารทั่วไป จนกระทั่งได้เข้าร่วมพรรคสังคมนิยมแห่งชาติแล้วไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ ตามลำดับ ใช้ช่องทางของประชาธิปไตยในการสถาปนารัฐตำรวจ แล้วจบลงเมื่อพรรคนาซีครองอำนาจเบ็ดเสร็จหลังการตายของฮินเดนเบิร์กในปี ๑๙๓๔

คนหนึ่งเป็นนักพูดและนักฉวยโอกาส คนหนึ่งเป็นนักสร้างภาพและนักแสดง ทั้งสองคนทำให้มีคนตายมากกว่า ๕๐ ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นทหาร ๒๐ ล้านคน พลเรือน ๒๓ ล้านคน ชาวยิว ๖ ล้านคน และอีก ๑ ล้านคนเป็นชาวยิปซี คนรักร่วมเพศ และผู้พิการปัญญาอ่อนประเภทต่างๆ

ที่เจ็บใจกันเสมอมาคือ เวลานั้นมีผู้คนหลงเชื่อพวกเขามากมายเพียงนั้นได้อย่างไร คนสมัยนั้นสูญเสียความสามารถที่จะเห็นความเป็นจริงและความรุนแรงครั้งใหญ่ที่จะติดตามมาได้อย่างไร

อะไรที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้องในวันนี้ หรือที่แท้แล้วเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างร้ายแรง

อนาคตอยู่ที่นี่ ประวัติศาสตร์ก็อยู่ตรงนี้



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มกราคม 2557

ถ้าเรามีโอกาสขึ้นไทม์แมชชีนเดินทางไปในอนาคตอีก ๕๐ ปีข้างหน้า และสามารถส่งจดหมายข้ามเวลากลับมายังตัวเราเองในสังคมไทยปัจจุบัน เนื้อความในจดหมายที่เราเขียนเล่าถึงสังคมไทยในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร?

สำหรับคนที่ถูกเรียกว่าพวกโลกสวย อาจจะเล่าให้เราฟังถึงสังคมไทยในอนาคตอันงดงาม ความเจริญกระจายตัวออกไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในแต่ละภูมิภาคมีมหาวิทยาลัยรัฐเปิดเพิ่มและให้เรียนฟรี ผู้คนมีงานทำและมีระบบประกันสังคมคุ้มครองทั่วถึง คนจะร่ำรวยได้ก็จากการทำงานหนักเท่านั้น ไม่ใช่จากการครอบครองที่ดินหรือได้รับมรดก ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองสูง นักการเมืองคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีมากมาย สัดส่วนผู้นำหญิงชายทางการเมืองใกล้เคียงกัน ผู้นำแรงงานและผู้นำเครือข่ายคนพิการกลายเป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจบปริญญาเอกด้านประสาทวิทยา ไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นเลยเช่นเดียวกับสงคราม กองทัพกลายเป็นกระทรวงจิตอาสา รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายร่างขึ้นโดยผู้คนกลุ่มหนึ่ง โดยใช้เวลาในการถกเถียงกันอยู่ ๒ ปี ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางอีก ๕ ปี และใช้เวลาอีกหนึ่งชั่วอายุคนในการหลอมรวมเข้าไปในจิตสำนึก วิธีคิด และวิถีชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ในบ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำลดลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมลดลงชัดเจน

สำหรับคนที่ถูกเรียกว่าพวกโลกมืด อาจจะเล่าให้เราฟังถึงสงครามกลางเมืองที่ยังไม่สิ้นสุด ผู้คนบาดเจ็บล้มตายลงจำนวนมาก ประชากรลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ ผู้หญิงเกือบทุกคนถูกข่มขืน ประชากรเด็กที่ตายส่วนใหญ่อายุไม่ถึงห้าขวบ กรุงเทพฯ ถูกทิ้งร้าง หลังจากการปะทะนองเลือดครั้งใหญ่ ขั้วอำนาจแบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน แต่ละฝ่ายมีกองทัพของตัวเอง ความเกลียดชังแผ่ขยายไปแทบทุกอณูของแผ่นดิน มหาวิทยาลัยปิดตัวลง อาจารย์และนักวิชาการกลายเป็นเสนาธิการวางแผนสู้รบในแต่ละฝั่ง แรงงานและเกษตรกรเป็นกลุ่มแรกที่ตายลงในการปะทะช่วงแรก ถัดมาเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทนเห็นความทุกข์และเดือดร้อนของผู้คนไม่ได้ นักธุรกิจกลุ่มใหญ่ตลอดจนศิลปินและปัญญาชนบางคนทยอยเดินทางออกนอกประเทศไปตั้งแต่ต้น ไม่เหลือสถาบันใดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติร่วมกันได้อีกต่อไป ต่างชาติถอนการลงทุนภายในประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำอย่างถึงที่สุด ที่รายได้ดีคือธุรกิจอาวุธสงครามและนำเข้ามลพิษ ผู้คนตกงาน อดอยาก ปราศจากความหวัง และส่งต่อความเกลียดชังไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

หากพินิจให้ดี โลกในอนาคตของพวกโลกสวยและพวกโลกมืดไม่ใช่ความฝันและจินตนาการที่วาดขึ้นมาเล่น-เล่น เพราะถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน โลกอนาคตที่แตกต่างกันทั้งสองแบบล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น โดยเงื่อนไขสำคัญก็คือ การตัดสินใจของคนไทยในปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าเราเชื่อว่าโลกสวยนั้นควรเป็นอนาคตของเรา และเป็นอนาคตที่เป็นไปได้ เราย่อมทำทุกวิถีทางในปัจจุบัน เพื่อสร้างเหตุปัจจัยของโลกอนาคตที่แสนสดสวยนั้น

ถ้าเราเชื่อว่าโลกมืดนั้นเป็นไปได้ แต่ไม่ควรเป็นอนาคตของเรา เราย่อมทำทุกวิถีทางในปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเหตุปัจจัยของโลกอนาคตที่นำไปสู่สังคมอันล่มสลายนั้น

ด้วยเหตุนี้ อนาคตจึงเป็นเรื่องของทางเลือก ไม่ใช่เรื่องที่ถูกกำหนดไว้ และทฤษฎีผีเสื้อขยับปีกก็ยืนยันว่า ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจของเราในปัจจุบันย่อมส่งผลถึงอนาคตในวันพรุ่งเสมอ – อนาคตจึงอยู่ที่นี่ อยู่ในมือของปัจจุบันขณะนี้เอง

แล้วถ้าจดหมายจากอนาคตจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ด้วย ประวัติศาสตร์ที่บันทึกการกระทำของยุคสมัยจะถูกเขียนไว้อย่างไร?

สำหรับพวกโลกสวยที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมนั้นก็คงจะเขียนเล่าว่า พวกเขา/เธอมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความเชื่อมั่นนี้นำไปสู่ความไว้วางใจและเปิดพื้นที่ให้กับกระบวนการสนทนา และลงทุนลงแรงด้านเวลาเพื่อขัดสีแลกเปลี่ยนความคิด/ความเห็น/จินตนาการจนมีความเห็นพ้องต้องกันทั้งในระดับคุณค่า วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และวิธีการ เพราะพวกเขา/เธอตระหนักดีว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นไม่อาจละทิ้งหรือกีดกันคนอื่นออกไปจากกระบวนการร่วมคิดและร่วมทำได้ การแบ่งปันพื้นที่ให้กับการนำเสนอปัญหาอันหลากหลายนอกจากจะเป็นเรื่องจำเป็นแล้ว ยังช่วย สร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน เกิดเป็นเยื่อใยไมตรีที่พร้อมเกื้อกูลกันและกัน สังคมที่ก้าวไปข้างหน้าจึงไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และด้วยเหตุนี้ การกระจายอำนาจจึงเกิดขึ้น การกระจายรายได้และทรัพยากรจึงเกิดขึ้น โครงสร้างที่เคยเบียดเบียนกันที่น้อยลงทำให้ผู้คนมีทางเลือกในชีวิตมากกว่าเดิม มีเสรีภาพมากขึ้น และเป็นสุขมากขึ้น

ส่วนพวกโลกมืดที่มองเห็นสังคมล่มสลายก็คงจะเล่าว่า พวกเรา – ไม่ใช่เขา/เธอ - ได้ทำอะไรแย่-แย่มากมายที่ทำให้ไปถึงจุดแห่งความสิ้นหวัง ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งเห็นต่างที่ไม่สร้างสรรค์ ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อของตนเองที่ล้ำเส้นเกินพอดีกลายเป็นความสุดโต่ง และกีดกันไปจนถึงปิดกั้นความคิดความเชื่ออื่นที่แตกต่างออกไป ไม่สนใจกระบวนการสนทนา เพราะไม่เชื่อว่าอีกฝ่ายจะมีความคิดความเห็นที่ดี ไม่ไว้วางใจในศักยภาพการเรียนรู้ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง เริ่มบริภาษว่าร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ดูหมิ่นเหยียดหยามอีกฝ่ายให้สิ้นความเป็นมนุษย์ และใช้กำลังอำนาจบังคับอีกฝ่ายให้ยินยอม เกิดเป็นสถานการณ์เผชิญหน้าที่แต่ละฝ่ายขาดความเห็นอกเห็นใจและไร้ความกรุณา แม้ความรู้ความคิดสติปัญญาที่มีก็กลายเป็นของใจร้ายไปหมดสิ้น และนำพาผู้คนสู่สมรภูมิแห่งการประหัตประหาร เกิดเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด และแม้ระหว่างการปะทะยืดเยื้อ ก็ไม่ให้โอกาสกับกระบวนการเจรจา ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจึงสั่งสมเป็นความเกลียดชังทบเท่าทวีคูณ

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่อยู่กับปัจจุบัน พวกเราก็เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ด้วย ประวัติศาสตร์จึงเป็นทางเลือกของเราเช่นเดียวกับอนาคต ความคิดและการกระทำของเราในปัจจุบันก็คือการสร้างประวัติศาตร์


อนาคตอยู่ที่นี่ ประวัติศาสตร์ก็อยู่ตรงนี้ - อยู่ในมือของเรา อยู่ในการตัดสินใจของเรา อยู่ในปัจจุบันขณะนี้เอง

กล้าที่จะไม่สอน ๒: ไว้วางใจแต่ตรวจสอบได้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มกราคม 2557

เมื่อวันที่ ๑๓ ธค. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับบริษัทต่างชาติที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง และต้องดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ เพราะทำให้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เป็นทั้งชาวต่างชาติและคนไทย เรื่องที่ต้องรับผิดชอบในการนำเสนอคือค่านิยมหลักในการทำงานของบริษัทคือ Trust but Verify (ไว้วางใจแต่ตรวจสอบได้) ซึ่งประธานกรรมการบริษัทต้องการปลูกฝังให้เกิดกับพนักงานทุกคนทุกระดับ โดยเฉพาะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพนักงานผู้อยู่ในความดูแลทั้งหมด

ก่อนการอบรมสัมมนา ได้มีโอกาสคุยกับประธานกรรมการบริษัท ท่านก็ได้เปรยให้ฟังว่า ท่านอยากจะถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยมหลักทั้งสองนี้ให้กับทุกคนในบริษัท แต่มันยากมาก และก็สงสัยเช่นกันว่าผมจะทำ (สอน/อบรม) อย่างไร ผมก็บอกกับท่านว่า ผมจะไม่สอน ไม่บรรยาย เพราะค่านิยมทั้งสองเรื่องนี้เป็นความคิดรวบยอดสำคัญ (Key Concepts) เป็นมิติภายใน ไม่ใช่การเรียนรู้ภายนอกว่าจะทำอย่างไร (How to) และไม่มีมาตรฐานเชิงพฤติกรรมที่เหมือนกันสำหรับทุกคน ในการนำเสนอของผมจึงจะเน้นที่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเพื่อให้แต่ละคนได้ได้มีโอกาสทำความเข้าใจ เห็นความสำคัญ เชื่อและศรัทธาในค่านิยมหลักทั้งสองเรื่องนี้ผ่านกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาที่สำคัญสามกระบวนการคือ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ โดยที่ผู้เข้าร่วมทุกคนรวมทั้งผมและท่านประธานเองต่างก็เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่มีใครสอนใครในความหมายและตามรูปแบบการสอน/การฝึกอบรมแบบเดิมที่คุ้นชินกัน ท่านก็รับฟังด้วยความสนใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน

การร่วมเรียนรู้ในเรื่อง Trust และ Verify ในวันนั้นดำเนินไปด้วยดี ผู้เข้าร่วมเรียนรู้มีความอิ่มเอิบกับประสบการณ์ตรงที่ได้รับและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ถึงแม้ในระหว่างทางจะมีเสียงร้องไห้และน้ำตาของผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นระยะๆ แต่ก็จบลงด้วยรอยยิ้มที่มอบให้แก่กันด้วยความไว้วางใจ ถึงขั้นกล้าที่จะร้องไห้และหลั่งน้ำตาต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงทุกคน

การแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติเกี่ยวกับค่านิยมหลักทั้งสองเรื่องของบริษัท ท่ามกลางพื้นที่แลกเปลี่ยนที่มั่นคงปลอดภัย พื้นที่ที่เปิด อบอวลไปด้วยการยอมรับและเคารพระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีชีวิตชีวา

การรู้จัก และเข้าใจเพื่อนร่วมงานอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้นผ่านกระบวนการสำคัญของจิตตปัญญาศึกษา เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกันและช่วยกันตรวจสอบความคิด ขั้นตอน กระบวนการทำงาน และผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติเพิ่มขึ้น

การไว้วางใจจึงไม่ใช่การปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ และการช่วยกันตรวจสอบจึงไม่ใช่กระบวนการจ้องจับผิด

การไว้วางใจแสดงถึงการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้เกียรติ และเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน

การตรวจสอบ ตรวจทานระหว่างกันเป็นกระบวนการของการช่วยกันสร้างสรรค์ความถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันของส่วนรวม เป็นกระบวนการสร้างความเที่ยงตรง โปร่งใส และหากปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งและส่วนเดียวกันกับการทำงานตามปกติได้ งานของฝ่ายตรวจสอบก็จะง่ายขึ้นหรือไม่จำเป็นต้องมี

ไว้วางใจ และ ตรวจสอบได้ เป็นค่านิยมหลักสำคัญสำหรับการบริหารจัดการและการทำงานโดยทั่วไป หากไม่มีก็เป็นปัญหา จึงต้องช่วยกันสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้น

ปัญหาทางการเมืองที่ปรากฏเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากมวลมหาประชาชน ยิ่งไม่มีการตรวจสอบที่เที่ยงตรงโปร่งใสในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ความไม่ไว้วางใจก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น

การถกเถียงกันว่าควรจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือแม้กระทั่งปฏิรูปไปพร้อมๆ กับเลือกตั้ง ไม่สามารถหาข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายได้ ก็เพราะการไม่มีความไว้วางใจระหว่างกันเป็นฐานสำคัญ การอ้างระบอบประชาธิปไตย (ตามการตีความของฉัน) จึงเป็นแค่วาทกรรมทางการเมือง ฝ่ายไหนจะได้รับการยอมรับ เชื่อถือ และศรัทธามากกว่า จึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจริงๆ มากกว่ากัน

ความไว้วางใจ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากพฤติกรรม (การคิด พูด ทำ) ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดจากความทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตรวจสอบได้ ไม่ปกปิด ไม่คลุมเครือ เปิดเผย โปร่งใส ไม่โกหก ไม่หลอกลวง

ไว้วางใจ และ ตรวจสอบได้ ในฐานะที่เป็นค่านิยม เป็นมิติภายใน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถสอนกันได้โดยตรง ต้องประสบเอง เรียนรู้เอง ปิ๊งแว้บเอง

ผมไม่สามารถสอนให้ผู้อื่นไว้วางใจแม่ผมหรือคนอื่น อย่างที่ผมไว้วางใจได้

เมื่อได้รับการทาบทามให้ไปเป็นวิทยากรกระบวนการเรื่อง ไว้วางใจ แต่ ตรวจสอบได้ ผมรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เชิญผม ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทรัพยากรมนุษย์ (HR) ของบริษัทถามผมว่า จะมีเอกสารประกอบไหม ผมตอบว่าไม่มี เธอถามว่า มี power point ไหม ผมตอบว่าไม่มี เธอถามอีกว่าจะใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ ผมตอบว่าไม่ เธอถามว่า จะจัดห้องแบบไหน ผมตอบว่า จัดเก้าอี้เป็นวงกลมตามจำนวนผู้บริหารที่เข้า (ประมาณ ๑๒ คน) เธอถามเพื่อความมั่นใจว่า จะใช้ flip chart หรือไม่ ผมตอบว่าไม่ เธอถามตามหน้าที่ต่อว่า จะมีกรณีศึกษาหรือแบบฝึกหัดหรือเปล่า ผมตอบว่า ไม่มี เธอพูดว่า จัดอบรมคราวนี้สบายจัง ไม่ต้องวุ่นวายจัดเตรียมอะไรเลย แล้วอาจารย์จะสอนแบบไหนคะ? ผมตอบว่าผมเลิกสอนมาหลายปีแล้ว แต่จะมีกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายเธอพูดว่าขอบพระคุณค่ะอาจารย์

วางลงบ้าง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มกราคม 2557

“เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”

นี้เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ชาวพุทธไทยคุ้นหูมาก น่าสนใจก็ตรงที่พระพุทธองค์มิได้ตรัสภาษิตนี้ด้วยเหตุที่ฆราวาสอาฆาตพยาบาทต่อกันเท่านั้น หากยังทรงปรารภเหตุมาจากการที่ภิกษุสงฆ์ทะเลาะเบาะแว้งกันด้วย ดังมีปรากฏในโกสัมพิยชาดก อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภิกษุกรุงโกสัมพีที่แตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายในสมัยพุทธกาล

เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม) ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อย ได้เข้าไปปลดทุกข์ในส้วม เมื่อเสร็จกิจแล้วเหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะ ต่อมาพระวินัยธร (ผู้ชำนาญวินัย) ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อยเช่นกัน เข้าไปใช้ส้วมนั้น ครั้นเห็นน้ำชำระนั้น ก็ออกมาถามพระธรรมกถึกว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าการเหลือน้ำทิ้งไว้นั้นเป็นอาบัติ” เมื่อพระธรรมกถึกยอมรับว่าไม่ทราบ และขอปลงอาบัติ แต่พระวินัยธรตอบว่า “ในเมื่อท่านไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่เป็นอาบัติ”

เรื่องน่าจะจบเพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้นพระวินัยธรได้กล่าวกับศิษย์ของตนทำนองตำหนิพระธรรมกถึกว่า แม้ต้องอาบัติก็ยังไม่รู้ ศิษย์พระวินัยธรจึงเอาคำพูดดังกล่าวไปพูดเยาะเย้ยให้ศิษย์พระธรรมกถึกฟัง เมื่อรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็ไม่พอใจ พูดขึ้นมาว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนบอกว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ตอนนี้บอกว่าเป็นอาบัติแล้ว อย่างนี้ก็พูดมุสาสิ” เมื่อได้ยินเช่นนี้ศิษย์ของพระธรรมกถึกก็ไปพูดข่มศิษย์พระวินัยธร ว่า “อาจารย์ของพวกท่านพูดมุสา” ผลก็คือเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างศิษย์ของสองอาจารย์ ลามไปถึงครูบาอาจารย์ กลายเป็นปฏิปักษ์กัน เท่านั้นยังไม่พอ ญาติโยมและอุปัฏฐากของทั้งสองท่านก็แตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ต่างทุ่มเถียงกล่าวโทษกันจนเสียงอื้ออึง พระไตรปิฎกบรรยายว่า แม้กระทั่งเทวดาอารักขาทั้งสองฝ่ายก็แตกกันเป็นสองพวกไปจนถึงพรหมโลก

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบความ ก็เสด็จไปเตือนสติภิกษุทั้งสองฝ่าย ทรงชี้ให้เห็นโทษของความแตกสามัคคี และชักชวนให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกัน ทรงแสดงอานิสงส์ของความสามัคคี พร้อมกับชี้แจงแสดงเหตุผลนานัปการ รวมทั้งนำชาดกต่าง ๆ มาเล่าเป็นคติเตือนใจ

แม้กระนั้นภิกษุทั้งสองฝ่ายก็ยังดื้อรั้น ไม่ยอมฟังคำของพระองค์แม้แต่น้อย กลับกราบทูลพระองค์ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าได้มายุ่งเกี่ยวให้ลำบากพระองค์เลย โปรดอยู่สบายแต่พระองค์เดียวเถิด ปล่อยให้พวกข้าพระองค์ทะเลาะวิวาทกันต่อไปเถิด”

เมื่อเป็นเช่นนี้ วันรุ่งขึ้นพระองค์ได้เสด็จไปบิณฑบาตเพียงพระองค์เดียว กลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะ ก่อนเสด็จออกจากกรุงโกสัมพี ได้ตรัสคาถา ตอนหนึ่งมีความว่า “ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่อาจระงับได้ ... แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่ยอมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังป่าปาลิเลยกะ และจำพรรษาที่นั่น ฝ่ายชาวโกสัมพีเมื่อไม่เห็นพระองค์ และรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็ไม่กราบไหว้ ไม่ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุเหล่านั้น จนซูบผอมเพราะขาดอาหาร ในที่สุดภิกษุทั้งสองฝ่ายสำนึกตัวว่าผิด ยอมสามัคคีกัน และไปขอขมาโทษต่อพระพุทธองค์

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า คนที่ดื้อรั้นไม่ฟังคำสอนของพระพุทธองค์นั้น บางครั้งไม่ใช่คนที่ไกลวัดไกลธรรมหากได้แก่ภิกษุผู้อยู่ใกล้พระพุทธองค์นั้นเอง อีกทั้งไม่ใช่พระอลัชชีที่ติดในลาภสักการะ ไม่ใส่ใจในพระธรรมวินัย หากเป็นถึงครูบาอาจารย์ เป็นผู้มีความรู้มีการศึกษาทางธรรมวินัย มีลูกศิษย์และญาติโยมให้ความเคารพนับถือมากมาย อีกทั้งยังมีเทวดาอารักขาอีกด้วย หากไม่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว ท่านเหล่านั้นสามารถเรียกว่าเป็น “พระดี” ได้ด้วยซ้ำไป

คำถามก็คือ อะไรทำให้ท่านเหล่านั้นดื้อรั้นจนทำผิดพลาดได้ถึงขนาดนั้น คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ซึ่งทำให้ปักใจเชื่อว่าอีกฝ่ายผิดเต็มที่ เมื่อหมกมุ่นอยู่กับความเชื่อว่าฉันถูก แกผิด ใจก็ปิดสนิท ไม่ยอมรับฟังความเห็นของใครทั้งนั้นที่ต่างไปจากตน ไม่เว้นแม้กระทั่งคำสอนของพระศาสดา เดาได้ไม่ยากว่าขณะที่พระองค์แสดงธรรมให้ภิกษุโกสัมพีฟัง ในใจของท่านเหล่านั้นอื้ออึงดังระงมด้วยคำกล่าวโทษอีกฝ่าย และปรารถนาให้ฝ่ายตรงข้ามมาขอโทษตนเอง แม้หูจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยินคำสอนของพระพุทธองค์ กลับจะรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำ ถึงกับทูลขอให้พระองค์ทรง “อยู่เฉย ๆ”

ใช่แต่เท่านั้นความเชื่อมั่นว่าตนเองถูกเต็มร้อย ยังทำให้ไม่สามารถมองเห็นความผิดของตน หรือยอมรับได้ว่าตนเองก็มีส่วนผิดที่ทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนวุ่นวายทั้งวัดและลามไปถึงฆราวาสญาติโยม (รวมทั้งเทวดาในสวรรค์) แม้ถึงเพียงนั้นแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าเกิดโทษภัยอะไรบ้าง เพราะใจจดจ่ออยู่แต่ความถูกของตนและความผิดของอีกฝ่าย

ไม่มีอะไรทำให้ใจปิดและสติปัญญาคับแคบ มองเห็นแค่ปลายจมูก ได้มากเท่ากับความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ผลก็คือทำผิดโดยไม่รู้ตัว และทั้ง ๆ ที่ทำผิดก็ยังเชื่อว่าตนเองทำถูก ซึ่งก็หนุนส่งให้ทำผิดมากขึ้น โดยยากที่จะยอมรับผิด ดังกรณีภิกษุโกสัมพี ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงปลีกพระองค์ไปจำพรรษาในป่าแต่พระองค์เดียว ก็ยังไม่รู้สำนึก ทุ่มเถียงกันต่อไป ต่อเมื่อถูกชาวบ้านประท้วงด้วยการไม่กราบไหว้ ไม่ถวายอาหาร ร่างกายซูบผอม จึงยอมลดทิฐิมานะ ยอมรับผิด กลับมาสามัคคีกัน แม้กระนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการสำนึกผิดอย่างแท้จริง เนื่องจากทำไปเพราะถูกแรงกดดันจากญาติโยม นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่พากันไปขอขมาโทษจากพระพุทธองค์ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากญาติโยมอีกต่อไป

นี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ “คนดี” เพราะยิ่งทำดีมากเท่าใด ก็ยิ่งยึดติดในความดีหรือความถูกต้องของตนได้ง่ายเท่านั้น สามารถทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้โดยไม่รู้ตัว ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทถึงกับฆ่าฟันห้ำหั่นกันกลายเป็นสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จำนวนไม่น้อยเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน จนไม่สนใจว่ามีความพินาศเกิดขึ้นกับตนและผู้อื่นมากมายเพียงใด ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะก็พอ

ถ้าเรายึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตนให้น้อยลง เปิดใจฟังผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งเปิดตามองเห็นโทษภัยที่เกิดจากความยึดติดดังกล่าวบ้าง อย่าคิดแต่จะเอาชนะกัน ความวิวาทบาทหมางและการทำลายล้างกันจะน้อยลง ชีวิตจะผาสุกและบ้านเมืองจะมีความสงบกว่านี้มาก

ความเปราะบาง ที่มาของความรัก



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มกราคม 2557

ทุกวันนี้เราพอจะพูดได้ไหมว่าเราสนิทสนมกับใครบ้าง? งานจัดกระบวนการเพื่อความเปลี่ยนแปลง ได้นำผมมาศึกษาค้นคว้าเรื่องความสนิทสนมมากขึ้น เหมือนว่ามันน่าจะเป็นกุญแจเข้าไปทำความเข้าใจจิตใจมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องความสุขที่แท้

ผมได้มีโอกาสศึกษาวอยซ์ไดอะล็อกหรือจิตวิทยาตัวตน ที่บอกว่าคนเรามีตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ หลายๆ ตัวตน หลายๆ บุคลิกภาพในตัวเอง บุคลิกภาพหนึ่งๆ หรือตัวตนหนึ่งๆ ในตัวเรา ซึ่งบางทีเรียกว่าส่วน คือส่วนหนึ่งๆ ในตัวเรา คืออวัยวะแห่งจิต เหมือนร่างกายมีอวัยวะของมัน จิตก็มีอวัยวะเป็นองค์ประกอบคือแยกเป็นส่วนต่างๆ ได้ ตอนหลังมาศึกษาประสาทวิทยา (neuroscience) ส่วนต่างๆ ก็คือวงจรสมองต่างๆ ที่เรานำมาใช้งาน ซึ่งผมเคยเขียนในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ไว้บ้างแล้ว (บทความเรื่อง “เชื่อมโยง นพลักษณ์ ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) จิตวิทยา พุทธธรรม”, ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖)

แต่บทความนี้จะพูดถึงตัวตนหนึ่ง ส่วนหนึ่ง อวัยวะทางจิตหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ “เด็กน้อยผู้เปราะบาง” ซึ่งเป็นตัวละครที่สำคัญมากๆ ในวอยซ์ไดอะล็อก แต่ทำไมเราจึงไม่ค่อยได้สัมผัสกัน เมื่อมาใคร่ครวญ ผมก็ได้คำตอบว่า เป็นเพราะเรามักจะหลีกหนีหรือกลบเกลื่อนความสั่นไหวเปราะบางของเราไปเสียก่อนที่จะยอมสัมผัสกับส่วนนี้ในตัวเรา เราจะเห็นว่าความสั่นไหว หรือความเปราะบางเป็นความอ่อนแอ เราจึงมุ่งไปหา “ความเข้มแข็ง” ต่างๆ เช่นการตัดสินคนอื่นและตัวเราเอง ความพยายามเป็นตัวของตัวเองแบบแยกตัวออกมา เหินห่างเย็นชา ไม่เห็นสัจธรรมแห่งความเป็นโยงใยที่ซ่อนเร้นหรืออิทัปปัจจยตา

และเร็วๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของเบรนเน่ บราวน์ ชื่อ The Power of Vulnerability ที่จริงเธอพูดเรื่องนี้ใน “เท็ดทอล์ก” ด้วย เธอพูดถึงอุปสรรคสามประการ ที่ทำให้คนเราไม่เข้าถึง “ความเปราะบาง”

ประการแรกคือ เราไม่ยอมอนุญาตให้ตัวเรา “มีความสุข”

เราจะคอยระแวดระวังว่า เราคงสุขได้ไม่นานเดี๋ยวก็ทุกข์ และหากหลงระเริงมากไป ณ หัวเลี้ยวของทางเดินแห่งชีวิต ภัยวิบัติใหญ่หลวงกำลังรอเราอยู่ ข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์ต่างๆ ก็มักจะปรากฏข่าวคราวเคราะห์หามยามร้ายเหล่านี้เสมอๆ หากเราไม่หลงระเริงกับความสุขมากเกินไป เราคิดว่าพอเราประสบเรื่องร้าย เราก็จะพอรับมือกับมันได้กระมัง

ผมจะพูดถึงเรื่องนี้ในสองประเด็น ประเด็นแรก ตอบโจทย์นี้ด้วยเรื่องเล่าของเบรนเน่ บราวน์ เธอเล่าว่ามีชายคนหนึ่งได้ใช้ชีวิตด้วยทัศนคติเช่นนี้ คือเขาจะไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุข เขาจะมองความสุขว่าก็อย่างนั้นๆ เดี๋ยวก็ทุกข์ เราอย่าปล่อยให้ใจดื่มด่ำไปกับความสุขเลย เขาอยู่กับภรรยามายี่สิบปี และแล้วภรรยาก็มาจากเขาไปด้วยโรคร้าย ณ ตอนนั้น เขากลับมาใคร่ครวญอีกทีว่า รู้อย่างนี้ เขาสู้อนุญาตให้ตัวเองมีความสุขน่าจะดีกว่า ดีกว่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปด้วยความระแวงระวังต่อชีวิต

อีกประเด็นหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ล่วงรู้ก็คือ การเปิดออกให้กับชีวิตนั้นอาจจะมีคุณภาพที่ไปไกลกว่านั้นได้อีก นั่นคือความสามารถที่จะแนบสนิทกับปัจจุบันขณะ หรือก็คือการฝึกสติ สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้อย่างแท้จริง ตรงนั้นเราจะรับรู้ชีวิตได้เต็มๆ ทุกเม็ด และที่จริงความทุกข์ที่รบกวนเรามากๆ ไม่ใช่ทุกข์ตามสภาพ แต่คือทุกข์ที่เป็นความวิตกกังวลอันวนเวียนซ้ำซาก อันเป็นสิ่งที่จิตก่อประกอบขึ้นมาเองมากกว่า ทุกข์ตามสภาพจะอยู่กับเราเพียงสั้นๆ มาแล้วก็ผ่านไป แต่ทุกข์อย่างหลังจะวนเวียนอยู่กับเราได้นานเท่านาน

ประการที่สอง คือ perfectionism หรือการต้องการความสมบูรณ์แบบ

ความสมบูรณ์แบบเป็นเสื้อเกราะที่หนาหนักมาก เราต้องใช้พลังงานมากมายที่จะทำให้ชีวิตดูสมบูรณ์แบบ และในที่สุดชีวิตก็ไม่สมบูรณ์แบบอยู่ดี ลึกๆ ความสมบูรณ์เป็นการใช้ชีวิตด้วยเปลือกนอก ด้วยเหตุที่เรามีความกลัวว่าคนอื่นหรือสังคมจะตำหนิเรา เราจึงต้องทำตัวให้สมบูรณ์แบบ เราจะใช้ชีวิตเพ่งเล็งไปที่เปลือกนอกตลอดเวลา แทนที่เราจะถามตัวเองอย่างแท้จริงว่า เราต้องการอะไร เรากลับถามว่า คนอื่นเขาจะมองเราเป็นเช่นไร เราไม่กล้าให้ด้านในของเราส่งเสียง เราไม่กล้าใช้ชีวิตถามหาความเป็นไปแห่งตัวตนด้านในของเราจริงๆ

ประการที่สาม คือการมอมเมาตัวเองให้เฉื่อยชา

อันนี้ก็คืออาการกลบเกลื่อนตัวเองทุกชนิดทุกประเภทด้วยการเฉไฉออกไปข้างทาง ด้วยเหตุที่เราอาจไม่พอใจกับชีวิตของเรา เราจึงพยายามหาอะไรมาทดแทน หาอะไรมาทำให้เพลิดเพลิน “ฆ่า” เวลาของชีวิตไป อย่างมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ใช้คำว่า fast forward หากชีวิตเป็นวีดีโอ เราอาจ fast forward ชีวิตของเราไปข้างหน้า เวลาชีวิตเราน่าเบื่อ ซึ่งก็หมายความว่า เรากำลังจะทิ้งเวลาของชีวิตไป

แต่แล้วด้วยสิ่งมอมเมาต่างๆ นั้นเอง ไม่ว่าเป็นการเสพติดอย่างอ่อนหรืออย่างแก่ ไม่ว่าจะเป็นเหล้ายา หรือการเสพติดสื่อทางสังคม การบ้างานก็เป็นอาการเสพติดได้เช่นกัน การเสพติดเหล่านี้ทำให้เราดูเหมือนเพลิดเพลิน แต่อันที่จริง เราไม่พอใจชีวิตของเราต่างหาก แล้วเราก็แก้ไม่ตรงจุด แต่ไปอย่างข้างๆ คูๆ

แล้วอย่างไรต่อไปล่ะ?

ประการแรก เราควรอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข คนที่มีความสุขได้ จะค่อยๆ สามารถเก็บเกี่ยวความสุขเข้ามา ความสุขนั้นเมื่อมีศิลปะที่จะสุข เราจะพบว่า ความสุขไม่ต้องการอะไรมากมาย ชีวิตธรรมดาก็สุขแล้ว น้ำเปล่าสักแก้วเวลากระหาย ก็เป็นอะไรที่วิเศษสุดแล้ว การได้อยู่กับสมาชิกในครอบครัวก็มีความสุขแล้ว เพียงเราไม่ fast forward ชีวิตไปให้เปล่าดาย

ประการที่สอง การตื่นขึ้นกับการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ เข้าถึงเนื้อแท้ของชีวิต ผ่อนตัวเองไปกับกระบวนการของชีวิต ที่จะเผยตัว ณ ขณะนั้นๆ เราก็จะสามารถวางเสื้อเกราะแห่งความสมบูรณ์แบบลง และในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ชีวิตโดยไม่ต้องการอาศัยสิ่งมอมเมาอีกด้วย เพราะว่ารสชาติชีวิตในตัวของมันเอง วิเศษสุด โดยไม่ต้องกลบเกลื่อนหรือหาอะไรมาทดแทน

ประการที่สาม เมื่อฝึกฝนระดับหนึ่งที่มีชีวิตตื่นรู้ สามารถดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะได้ สามารถอยู่กับรสแท้ของชีวิตได้ หากเราเปิดใจออกให้กับความเปราะบางหรือความสั่นไหวของเราได้ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับผู้คน ความเปราะบางที่ขณะแรกๆ อาจจะดูเหมือนอ่อนแอ น่าอับอาย กลายมาเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม ที่จริง ความเปราะบางคือความกล้าหาญ ความเปราะบางคือความสามารถที่จะสนิทสนมได้อย่างแท้จริง เป็นความสัมพันธ์ที่สื่อตรงจากใจถึงใจ

เราอาจจะเรียนสิ่งนี้ได้จากเด็กน้อย เด็กทารก ตาแป๋ว มองมาที่เรา ผมสังเกตความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้ชายมีกรอบวัฒนธรรมครอบงำมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายเข้มแข็งแต่เหินห่าง เราจะเห็นผู้หญิงถูกดึงดูดจากเด็กน้อย และเข้าไปหาเด็กน้อยอย่างเป็นธรรมชาติ เชื่อมโยงและมีสัมผัสที่อบอุ่นระหว่างกัน ความสนิทสนมก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

Back to Top