สิงหาคม 2008

คุณคือใครและคุณกำลังทำอะไร?



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 สิงหาคม 2551

คำถามสั้นๆ ง่ายๆ สองคำถามที่ผมอ่านเจอในหนังสือของ โจแอนนา มาซี เมื่อหลายปีก่อนนั้น เป็นคำถามที่สะดุดใจผมมาก และเมื่อได้ลองนำไปใช้ในเวิร์คชอปตามที่ โจแอนนา มาซี ได้เขียนแนะนำเอาไว้ ผมก็พบว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสค้นหาตัวเองได้เป็นอย่างดี

“คุณคือใคร?” (Who are you?) และ “คุณกำลังทำอะไร?” (What are you doing?) หลังจากนั้นผมก็เพิ่งมาอ่านพบในภายหลังว่า คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่นักคิดนักปรัชญาใหญ่ๆ มักจะเลือกใช้เลือกถามเพื่อให้ผู้คนเกิดการใคร่ครวญที่สำคัญในชีวิต

ผมได้มีโอกาสนำกิจกรรม “คุณคือใคร” นี้ไปใช้ในเวิร์คชอปหลายครั้งหลายหนในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และได้มีการปรับแต่งประยุกต์หลายเรื่องเข้ามาในกิจกรรมนี้ เช่น จะต้องสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมและต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ถามกับผู้ตอบเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการเก้อเขินขึ้น และทำให้คำถามคำตอบไม่ได้ “ลงลึก” ลงไปอย่างแท้จริง และบางครั้งกลับกลายเป็นการเล่นสนุกไร้สาระไปเสียอีก เช่น บางคนอาจจะตอบแบบกวนๆ ไปว่าผมเป็นซุปเปอร์แมน ผมเป็นตุ๊ด ฯลฯ อะไรแบบนั้นไปเสีย

เมื่อหลายปีก่อนในวงจิตวิวัฒน์ ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี คุณเดวิด สปิลเลน ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับ “ทฤษฎีตัวยู” ซึ่งในตอนนั้นหนังสือ ทฤษฎียู ของ อ็อตโต ชาร์มเมอร์ ยังไม่ได้จัดพิมพ์ออกมา เขาเพียงเขียนบางส่วนของทฤษฎีนี้ร่วมกับ ปีเตอร์ เซงเก้ โจเซฟ จาวอสกี้ และ เบตตี้ ชูว์ ในหนังสือที่ชื่อว่า Presence

ในช่วงเดือนมิถุนายนปี ๒๕๕๐ เมื่อหนังสือใหม่เล่มใหญ่ที่ชื่อ Theory U ของ อ็อตโต ชาร์มเมอร์ ได้ปรากฏออกมาสู่ท้องตลาด ซึ่ง คุณหมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล ที่น่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่สั่งหนังสือเล่มนี้มาอ่านและนำมาเผยแพร่เพื่อใช้ในเวิร์คชอป

โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาคุณหมอวรวุฒิได้นำทฤษฎียูนี้มาใช้ในงานด้านสาธารณสุขอย่างจริงๆ จังๆ และแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทฤษฎีนี้สามารถช่วยนำพาให้บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เรียนรู้จากการสัมผัสประสบการณ์ตรงว่า “แก่นหรือความหมายที่แท้จริง” ของการทำงานด้านสาธารณสุขคืออะไร และเป็นทฤษฎีที่ง่ายมากในการนำพาให้ผู้คนได้ “สัมผัส” กับ “จิตใหม่” หรือ “กรอบคิดใหม่”

และผมก็ต้องสะดุ้งเมื่อพบว่า ที่ก้นตัวยูนั้น ชาร์มเมอร์เองได้เขียนกำกับเป็นคำถามไว้ว่า “คุณคือใครและคุณกำลังทำอะไร?” เช่นเดียวกัน การที่ชาร์มเมอร์เลือกตั้งคำถามนี้ “ที่ก้นตัวยู” หมายความว่า น่าจะมีกระบวนการอะไรบางอย่างที่จะช่วย “นำพา” ให้ผู้คนได้ค่อยๆ ดำดิ่งเดินทางเข้าไปภายในตัวเองตามขาลงของตัวยูเสียก่อนที่จะได้มีโอกาสได้ใคร่ครวญกับคำถามนี้อย่างลึกซึ้งที่ก้นตัวยู

ผมเห็นด้วยกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก เพราะหากว่าอยู่ดีๆ จะให้ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ตอบคำถามนี้ว่า “คุณเป็นใคร?” ท่านอาจจะงงๆ เพราะไม่รู้ว่าจะตอบไปทำไม ตอบไปแล้วจะได้อะไร อย่าว่าแต่ท่านผู้อ่านเลยครับ ประสบการณ์ในเวิร์คชอปที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนหลายสิบคนนั้น บางครั้งหลายๆ ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถ “ดำดิ่ง” ลงไปในตัวเองได้ลึกพอ หรืออยู่ในโลกของเหตุผล ก็จะยังคง “งงงวย” กับคำถามนี้ได้เช่นเดียวกัน

ในเวิร์คชอปครั้งหนึ่งที่พวกเราได้มีโอกาสทำให้กับโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง มีคนขับรถท่านหนึ่งยกมือขึ้นถามหลังจากที่ได้ทดลองตอบคำถามนี้ไปด้วยตัวเองแล้ว “ผมยังไม่เข้าใจครับว่า เราจะตอบคำถามนี้ไปทำไม? ในเมื่อผมก็เป็นคนขับรถ ผมก็แค่ขับรถ ผมยังไม่รู้สึกว่างานของผมจะมีความหมายอะไรมากไปกว่าการขับรถส่งคนไข้ ส่งเจ้าหน้าที่?”

คุณหมอวรวุฒิตอบคำถามของคนขับรถท่านนี้ได้ดีมากๆ ครับ โดยบอกว่า “งานทุกอย่างมีความหมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ความหมายแก่งานของเราอย่างไร ถ้าเราเป็นคนขับรถและให้ความหมายกับงานของเราเพียงแค่การขับรถ เราก็อาจจะไม่รู้สึกพิเศษอะไร และเราก็จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราลองให้ความหมายการขับรถของเราว่า เราเป็นผู้นำพาความปลอดภัยให้กับผู้คนที่นั่งอยู่ในรถยนต์ของเรา ชีวิตทุกคนที่ไม่ว่าจะเป็นใครยิ่งใหญ่แค่ไหนก็อยู่ในมือเรา ตัวเราเป็นผู้นำพาให้ผู้คนเหล่านี้ไปถึงที่หมายที่เขาต้องการอย่างปลอดภัย เราส่งคนไข้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนให้สามารถได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที เราส่งลูกกลับสู่อ้อมกอดของแม่ เราส่งพ่อให้กลับไปสู่ลูก เราส่งผู้คนให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย ทุกคนขึ้นอยู่กับสองมือที่จับพวงมาลัยของเรา ต่อเมื่อเราสามารถมองงานของเรา ซึ่งในกรณีนี้คือการขับรถเป็นงานที่มีความหมายแบบนี้ได้เท่านั้น เราจึงจะเห็นความแตกต่างได้ว่า งานของเรา “มีความหมาย” และไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่างานอื่นๆ ในระบบเลย”

หลังจากนั้น ผมก็สังเกตเห็นสีหน้าของคนขับรถท่านนี้ว่า ดวงตาของเขาเป็นประกายสดใส เขาตะโกนออกมาด้วยความลิงโลดยินดีว่า “ผู้รู้แล้ว ผมเข้าใจแล้ว”

ผมรู้สึกว่า ไม่เพียงแต่คนขับรถท่านนี้เท่านั้นที่ดูเหมือนจะ “ทะลุทะลวง” อะไรบางอย่างภายในตัวตนของเขา ผู้เข้าร่วมท่านอื่นๆ ก็อาจจะพลอยเกิดความเข้าใจอะไรบางอย่างไปด้วย หน้าที่ของพยาบาลคนหนึ่งในตึกผู้ป่วยก็อาจจะไม่ใช่แค่การเช็ดตัวคนไข้ จ่ายยาฉีดยาหรือแทงน้ำเกลือให้กลับคนไข้ แต่เป็นการดูแลคนไข้ทั้งเนื้อทั้งตัวทั้งจิตใจ ให้เขาสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ หน้าที่ของพยาบาลทำคลอดก็อาจจะไม่ใช่แค่ดึงให้เด็กออกมาจากมดลูกของแม่ แต่เป็นการช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตใหม่ดำรงอยู่ได้และสามารถผูกพันกับผู้เป็นแม่และอื่นๆ

คำถามสองข้อนี้แม้จะดูเหมือน “ธรรมดาๆ” เสียเหลือเกิน แต่ผมก็พบว่าเป็นคำถามที่จะช่วยให้เรา “ฝังแน่น” อยู่กับ “เป้าหมายแห่งการมีชีวิตอยู่” ของตัวเราได้อย่างไม่สั่นคลอนง่าย

และต่อเมื่อเราเข้าใจว่า “เราเป็นใคร” และเข้าใจถึง “ความหมายแห่งงานของเรา” แล้วเท่านั้น งานจึงจะไม่ใช่ “เครื่องตัดรอนพลังงานในชีวิตเรา” อีกต่อไป แต่จะสามารถเป็น “แหล่งพลังงาน” เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงตัวเรา หล่อเลี้ยงหัวใจของเราให้ชุ่มฉ่ำอิ่มเอิบ และทำให้เรามีโอกาสมองเห็นมุมมองใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

และงานแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเกิดรู้สึกที่มั่นคงอย่างแท้จริง เหมือนกับที่ชาร์มเมอร์ใช้คำว่า “Connect to the Source” ที่ตำแหน่งก้นตัวยูนั่นเอง

ถึงตรงนี้แล้วใครจะสามารถ “Connect to the Source” ได้หรือไม่อย่างไร ก็คงจะต้องแล้วแต่ “กรรมเวร” แล้วกระมังครับ?

กล้าที่จะเป็นตัวเอง



โดย นพ.กิจจา เจียรวัฒนกนก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2551

Now I become myself.
It’s taken time, many years and places.
I have been dissolved and shaken,
Worn other people’s face ….

(May Sarton "Now I Become Myself")



หลายคนคงรู้จักเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ กันดี เพราะเป็นหนังสือที่ขายดีจนแทบไม่มีเด็กในเมืองคนไหนจะไม่รู้จัก เรื่องราวของพ่อมดน้อยแฮรี่เต็มไปด้วยจินตนาการและการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ชื่นชอบหนังสือเรื่องนี้ ติดตามอ่านกันจนถึงภาคอวสานอย่างใจจดใจจ่อ

ในเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงคุกอัซคาบัน เป็นคุกอันน่าหวาดกลัวที่สุด เพราะผู้คุมวิญญาณจะทำให้นักโทษต้องได้รับโทษทัณฑ์ด้วยการเผชิญกับความหวาดกลัวของตนเอง ดูดทึ้งความสดใส ความสุขออกจากวิญญาณของนักโทษจนหมดสิ้น ถ้าคุกเช่นนี้มีอยู่จริง การมีชีวิตในนั้นคงเลวร้ายกว่าความตายเสียอีก

แม้ว่าจะไม่มีคุกอัซคาบันอย่างเต็มรูปแบบอย่างในหนังสือ ทว่าผู้เขียนสังเกตว่ามีหลายครั้งในชีวิตที่ได้เผชิญกับคุกภายในใจที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน เป็นการคุมขังที่กักขังชีวิตเราให้ไม่สามารถสัมผัสกับความสุขอย่างแท้จริง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้กับชีวิตในทุกๆ วันใหม่ กำแพงของมันบางครั้งก็ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ว่ามีสิ่งใดที่ปรารถนาต้องการ แต่หลายครั้งมันก็ไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้ไม่อาจมีความสงบสุขได้

มีที่มาของความพร่ามัวนั้นมันซ่อนตัวอย่างแนบเนียนในส่วนลึกของอัตตา สิ่งนั้นคือความกลัว แต่ไม่ใช่ความกลัวธรรมดาๆ หากเป็นความกลัวในความกลัว ที่เรากลัวเกินกว่าจะยอมรับมัน จนสามารถหาข้ออ้างต่างๆ ที่ดูสมเหตุสมผล เป็นข้ออ้างไม่ให้ยอมรับในสิ่งที่เป็นความกลัวของตัวเอง สิ่งที่ตามมาทำให้ตัวตนภายในได้รับการคุมขังอย่างแนบเนียนด้วยกำแพงของการดำรงตนเพื่อให้ดูดี กลัวที่จะยอมรับความต้องการดูแลตัวตนภายใน และตกแต่งความล้มเหลวที่ผ่านมาโดยการสะกดจิตตนเองด้วยภาพที่ว่า “ศัตรูอยู่แต่ภายนอก และโลกยังไม่พร้อมสำหรับผม”

ทว่าชีวิตย่อมดำเนินมาอย่างสมบูรณ์แบบ ชีวิตไม่เคยผิดพลาด ทุกความสำเร็จและล้มเหลวเป็นผลลัพธ์ที่ถูกต้องเสมอ ทุกผลของการกระทำเป็นเสมือนหลักบอกระยะทางของการดำเนินชีวิตว่าไปด้วยกันกับโลกนี้ได้ดีหรือไม่ ทุกหลักกิโลเมตรมีบทเรียนของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค มันทำให้เราได้ทบทวนว่าสิ่งที่ต้องการนั้นมีความหมายกับชีวิตอย่างไร แรนดี พอส์ช (Randy Pausch - ศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) กล่าวใน The Last Lecture เกี่ยวกับอุปสรรคว่า “กำแพง (อุปสรรค) มีเหตุผลของมัน: มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องการสิ่งที่คาดหมายนั้นมากเพียงใด และผู้ที่จะได้รับต้องเป็นผู้ต้องการสิ่งนั้นอย่างแท้จริง กำแพงช่วยพิทักษ์สิ่งนั้นเพื่อมอบต่อเจ้าของที่แท้จริง”

บทเรียนของผู้เขียนเริ่มต้นจากคำถาม ผู้เขียนถามตัวเองว่า ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และกำลังพยายามทำให้สิ่งใดเกิดขึ้น เมื่ออุปสรรคทำให้ไม่สามารถได้รับสิ่งที่ต้องการ มันไม่ได้เป็นการสูญเสียความพยายามโดยเปล่าประโยชน์ เพียงแต่ผู้เขียนไม่ค่อยได้มาทบทวนว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งที่ต้องการ มันมีต้นกำเนิด ‘มาจากตัวตนที่แท้จริง (authentic self)’ หรือ ‘มาจากความกลัว’ ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับนับถือ เราก็ต้องแสวงหาเครื่องประดับให้กับภาพลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ตำแหน่ง ด้วยความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ เราก็ต้องยอมทำในสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อให้ผู้อื่นชื่นชม การให้มิได้เกิดจากความสุขที่เป็นผู้ให้ แต่เป็นไปเพื่อซื้อความยอมรับนับถือจากผู้คน (รวมถึงตนเองด้วย ทำให้รู้สึกว่าเราดีพอที่จะนับถือตัวเองได้) เรากลบเกลื่อนความทุกข์ของการแบ่งแยกการกระทำออกจากตัวตนที่แท้จริงเช่นนี้โดยบอกตัวเองว่า เราเป็นผู้เสียสละ ความทุกข์ของเราเกิดจากการเอาเปรียบของผู้อื่น

การกระทำซึ่งมาจากตัวตนที่แท้จริงภายในนั้นแตกต่างจากสิ่งที่มาจากความกลัวอย่างไร คำตอบของผู้เขียนสำหรับตัวเองในเวลานี้คือ ให้ถามความรู้สึกของตัวเอง หากรู้สึกว่าตนเองมีพลังทำในสิ่งนั้น มีความสุขใจเมื่อได้ทำ สามารถหาเวลา และหนทางทำในสิ่งนั้นได้อยู่เสมอ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนั้นแหละที่ใช่ความต้องการจากภายใน ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำเพราะความกลัว ซึ่งจะรู้สึกถึงความด้อยของตนเอง แสวงหาการยอมรับของผู้อื่น และหากหลีกเลี่ยงได้ก็จะไม่ทุ่มเทความพยายามให้ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเมื่อใดสิ่งนั้นจะสิ้นสุดลงเสียที

ในความทุกข์ยากของการถูกจองจำด้วยความกลัว ความทุกข์จากการปฏิเสธความต้องการของตัวตนภายใน เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง อาจนำสู่การกระทำที่ปลดปล่อยอิสรภาพให้กับตัวเรา เหมือนกรณีของ โรซา ปาคส์ (Rosa Parks) หญิงผิวดำวัยสิ่สิบปีได้ตัดสินใจกระทำขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๕ เมื่อเธอกระทำในสิ่งที่สังคมในยุคนั้นไม่อนุญาต โดยไปนั่งที่นั่งด้านหน้าในรถประจำทางซึ่งสงวนไว้สำหรับคนผิวขาว เมื่อหลายปีผ่านไป นักศึกษาได้ถามว่าเหตุใดเธอจึงนั่งในที่นั่งตอนหน้าของรถบัสในวันนั้น คำตอบของเธอไม่ได้เป็นเรื่องของกระบวนการประท้วงเพื่อต่อต้านการเหยียดผิว ความประสงค์ของเธอในตอนนั้นเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ทว่าลึกซึ้ง เธอตอบว่า “เพราะว่าฉันเหนื่อย” แต่ความเหนื่อยของเธอไม่ได้หมายถึงเพียงร่างกาย หัวใจของเธอก็เหน็ดเหนื่อย ทั้งชีวิตของเธอเหนื่อยหน่ายกับการต้องเล่นตามกฎเกณฑ์ของลัทธิเหยียดผิว ซึ่งไม่ยอมรับความต้องการมีตัวตนที่แท้จริงของเธอ

ชีวิตที่แบ่งแยกจากตัวตนอันแท้จริงเป็นชีวิตที่เหนื่อยหน่าย ในบางครั้งที่เรารู้สึกว่าไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรเลย เป็นเพราะใช้พลังงานไปกับการเล่นตามกฎของผู้อื่น เพื่อกักขังความต้องการของความจริงภายใน ปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอที่จะยืนยันความต้องการ ผู้เขียนเคยพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นความกล้าหาญ เพื่อเปลี่ยนแปลง มันดีขึ้นสักพัก แต่ความกลัว เจ้าเพื่อนเก่า ก็กลับมาใหม่ หรือจนกว่าเราจะยอมรับทุกผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ อย่างกล้าหาญ เห็นบทเรียนจากความล้มเหลว เฝ้าดูความกลัวของตัวเองด้วยความไม่กลัว เมื่อนั้นการเรียนรู้ในบทเรียนจึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ผู้เขียนไม่ต้องการเรียนรู้เพื่อจะเป็นคนอื่นอีกต่อไปแล้ว แต่หวังเพียงว่าจะได้ดำเนินชีวิตของตนเองอย่างแท้จริงเท่านั้น

เราทุกคนต่างครอบครองของขวัญล้ำค่า เป็นเครื่องมือเพื่อนำตัวตนที่แท้จริงออกมาปรากฏสู่โลก สิ่งนั้นคือตัวของเรา ด้วยร่างกายและความคิด เราสามารถนำสิ่งที่ตัวตนภายในเรียกร้อง สร้างให้เป็นจริงขึ้นมาผ่านการกระทำ ความผิดหวังในผลของการกระทำเป็นเหมือนยาที่แม้จะเป็นประโยชน์ แต่มีรสขม มันช่วยเตือนให้ผู้เขียนได้ทบทวนตนเอง หากสิ่งที่ต้องการนั้นเป็นตัวตนของเรา มันก็คุ้มค่าที่จะเจ็บตัวกับการเดินผ่านกำแพงอุปสรรค มันเพียงแค่เตือนว่าเรายังกระทำเพื่อรับใช้ตัวตนภายในได้ไม่ถูกต้อง ในที่สุด เราอาจได้เรียนรู้ว่าจะกระทำในเรื่องที่ “มิอาจไม่กระทำ” ได้อย่างไร เพราะสิ่งนั้น เป็นเสียงที่มาจากภายใน ซึ่งเป็นของขวัญเฉพาะของตนเอง เรามีหน้าที่เรียกคืนสิทธิอันชอบธรรม ที่จะนำของขวัญนี้มาสู่โลก โดยผ่านการกระทำซึ่งมาจากความจริงแท้ของตนเอง

(บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความ Now I Become Myself จากหนังสือ Let Your Life Speak ของ Parker J. Palmer)

จงหาความสุขให้แก่ชีวิตเมื่อคุณยังพอหาได้



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2551

นั่นเป็นหัวข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์การ์เดียน ฉบับวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ของอังกฤษ ที่ผู้เขียนนำมาแปลเป็นไทยอย่างตรงตัว (enjoy life while you can) เป็นคำสัมภาษณ์ของนักชีวเคมีชื่อก้องโลก เจมส์ ลัฟล็อค โดย เด็กก้า ไอเก็นเฮด เจมส์ ลัฟล็อค วัย ๘๘ ปี เจ้าของทฤษฎี “ไกย่า” (Gaia) หรือ โลกอันมีชีวิตจากการจัดการและควบคุมตนเอง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนมาก ลัฟล็อคที่มีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ทันสมัยเป็นของตัวเอง และเป็นทั้งนักเขียน นักอนาคตศาสตร์ที่ทำนายเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมาตั้งแต่ปี ๑๙๖๐ ร่วมครึ่งศตวรรษมาแล้ว ที่สำคัญเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับกันว่า มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของประเทศอังกฤษ โดยสรุป เจมส์ ลัฟล็อค บอกว่า ความพินาศหายนะของโลกมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การหาพลังงานทดแทนน้ำมันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ การกำจัดคาร์บอนให้ลดลงไปไม่ว่าวิธีไหนเป็นเรื่องตลก และการอยู่อย่างมีจริยธรรมเป็นเรื่องที่พูดเล่นๆ กันเท่านั้น

ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่ เจมส์ ลัฟล็อค พูด และหนังสือพิมพ์การ์เดียนเอามาเป็นหัวข่าวและผู้เขียนเอามาเป็นชื่อของบทความนี้ คงจะไม่มีใครทำและทำไม่ได้ เพราะเราจะหาความสุขสนุกสนานทั้งที่รู้ว่าลูกหลานจะต้องลำบากได้อย่างไร?

ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดเนื้อหาอันเป็นประเด็นของโลกร้อน ซึ่งผู้เขียนสนใจและติดตามข่าวคราวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและจริงจังถึงร่วมยี่สิบปี ดังที่ได้พูดได้เขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศ “ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์และเทคโนโลยี” เพื่อความสุขหรือคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มพูดเริ่มเขียนใหม่ๆ ซึ่งแท้จริงแล้ว ในทุกวันนี้ เรื่องของโลกร้อนที่จะเป็นเหตุแห่งภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมโลก ภัยแล้ง และความล่มสลายทางการเกษตร ฯลฯ นั้น ผู้เขียนไม่ค่อยอยากจะพูดจะเขียนต่อไปเท่าไรนัก ด้วยสาเหตุสองประการ คือ

หนึ่ง ผู้เขียนได้พูดได้เขียนเตือนชาวโลกและชาวไทยในเรื่องนี้มามากและยาวนานร่วมยี่สิบปี ก่อนหน้าที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก และหมอประเวศ วะสี จะเชิญไปประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงกลางปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งผู้เขียนได้พูดโต้แย้งอย่างค่อนข้างมากจนหลายคนที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนพูดไม่ค่อยพอใจ และคงเสียใจที่เชิญผู้เขียนมาร่วมสัมนาด้วย แต่การพูดและเขียนเรื่องดินน้ำป่าอากาศของผู้เขียนในช่วงร่วมยี่สิบปีมานั้น แทบว่าจะไม่มีใครเชื่อ ใครอ่าน ใครฟัง และเปลี่ยนแปลงเลย นอกจากผู้ที่เชื่อจริงๆ เพียงไม่กี่คน (เหมือนกับการพูดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และที่อื่นๆ ซึ่งแน่นอน ผู้ฟังหรืออ่านเพียงครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้ง โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่และเชื่อมั่นในหลักการแยกส่วนและกายวัตถุนิยม) เพราะที่เขียนและพูดโดยมาก มักจะเป็นเรื่องของจิตก่อนรู้หรือจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness)

ประการที่สอง เรื่องโลกร้อนในตอนนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไปรวมทั้งสื่อจำนวนมาก ทำให้มีนักวิชาการออกมาเขียนเรื่องสภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติกันอย่างเป็นกิจลักษณะและเป็นวิทยาศาสตร์เหนือกว่าผู้เขียนมากนัก ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีนักวิชาการผู้ใด ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ที่ให้ความเห็นกระจ่างพอที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหรือบรรเทาปัญหาวิกฤตโลกได้ หลายๆ แห่งต้องเรียกว่าอยู่ในสภาพใกล้ๆ กับอนาธิปไตย (Anarchy) เหมือนกับว่าจะให้มนุษย์เรานั่งคอยนอนคอยให้วันนั้นมาถึง หรือหวังว่าพลังงานทดแทนจะมาได้ทันเวลา และแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ขอย้ำที่นี่อีกครั้งว่า ไม่มีอะไรจะมาทดแทนน้ำมันซากฟอสซิลคาร์บอนได้หรอกในสังคมนิยมวัตถุและนิยมกายนี้ สังคม “คุณภาพที่ดีกว่า” ที่เราเลือกของเราเอง เมื่อเราเลือกแบบนี้มันก็ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขียน แม้ว่าบางคนจะเห็นว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ผู้เขียนยังได้ให้แนวทางแก้ไขไว้ตลอดเวลาร่วมยี่สิบปีที่เขียนมา เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ ไม่ฟัง ไม่อ่าน ไม่ทำ อาจเป็นเพราะว่าทำไม่ได้ หรือไม่เคยทำ จึงไม่รู้ว่าทำอย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนบอกว่าการแก้ไขวิกฤตทั้งหลายให้ได้นั้น อย่าไปหาทางแก้ไขด้วยกาย ด้วยวัตถุ และเทคโนโลยีแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรีไซเคิล ปลูกป่า (ทั้งๆ ที่มีการตัดป่ามากกว่า) หรือการค้นหาพลังงานทดแทนในทุกๆ รูปแบบที่พยายามกันอยู่เลย เสียเวลาเปล่าๆ เพราะมันสายเกินไปมากแล้ว การแก้ไขที่พอจะทำใด้ ต้องแก้ไขด้วยจิต จิตเท่านั้น ทั้งไม่ใช่จิตรู้ด้วย และต้องเร็วๆ ด้วย ดังที่นักคิดนักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ของตะวันตกจำนวนมาก (รวมทั้ง เจมส์ ลัฟล็อค ที่ตอนหนุ่มเป็นสังคมนิยมและสนใจการเมือง) บอก ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปในตอนท้ายของสรุปความคิดเห็นการทำนายอนาคตของ เจมส์ ลัฟล็อค ที่ลงในหนังสือพิมพ์การ์เดียนฉบับนั้น

ในปี ๑๙๖๕ กรรมการบริหารของบริษัทเชลล์ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ว่าโลกในปี ๒๐๐๐ จะมีลักษณะอย่างไร ต่างได้รับคำตอบที่เป็นเรื่องของจินตนาการฝันเฟื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เช่น เรื่องเรือสะเทินน้ำสะเทินบกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานโคลด์ฟิวชั่น เมื่อกรรมการระดับสูงของบริษัทมาถามความเห็นของ เจมส์ ลัฟล็อค เขาตอบว่าปัญหาใหญ่ในปี ๒๐๐๐ จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม “มันจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ที่เมื่อถึงตอนนั้น ความเลวร้ายของมันจะกระทบกับธุรกิจบริษัทน้ำมันของคุณอย่างแรง” ซึ่งตรงเผงกับที่เขาทำนาย

เจมส์ ลัฟล็อค ได้ทำนายอนาคตของโลกเรื่อยมาตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๖๐ จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ส่วนตัวของเขาที่คอร์นวอล ด้วยความแม่นยำที่สม่ำเสมอ จนเขาได้การยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์อิสระที่มีคนนับถือ “มากที่สุด” ของอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ เขาทำงานคนเดียวมาตั้งแต่อายุ ๔๐ และเป็นคนคิดเครื่องมือตรวจจับซีเอฟซี (CFC) ที่ช่วยตรวจดูหลุมโอโซนในชั้นบรรยากาศ ลัฟล็อคคือผู้สร้างทฤษฎี “ไกย่า” โลกเป็นองค์กรชีวิตมหึมาที่มีการจัดองค์กรให้กับตนเองประหนึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งในตอนแรกๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องของขบวนการนิวเอจที่เหลวไหลไร้สาระ แต่ในปัจจุบันทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป และได้กลายเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยดินฟ้าอากาศแทบจะทั้งหมดเลย

ลัฟล็อคไม่คิดว่า การวางแผนและการกระทำใดๆ (ของอังกฤษ) เพื่อป้องกันความพินาศหายนะของโลกนั้น จะสามารถหยุดยั้งได้เลย ไม่ว่าเราจะทำอย่างไรมันก็ผิดไปทั้งนั้น “มันสายเกินไปเสียแล้ว” สภาพโลกร้อนได้ไปไกลเกินกว่าที่โลกจะหวนกลับมาเหมือนเดิมได้แล้ว หากเราคิดและทำอย่างที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี ๑๙๖๗ ก็อาจจะพอช่วยได้ ดังนั้น ความคิดของพวกโลกสีเขียวและความยั่งยืนจึงเป็นเพียงคำพูดที่ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น...โลกในอนาคตใกล้ๆ หากไม่ร้อนจัดจนชีวิตดำรงอยู่ไม่ได้ ก็จมอยู่ใต้ทะเล...ลัฟล็อคบอกว่า มีคนหวังดีที่ทำงานในการหาทางป้องกันโลกร้อนมากมายมาพูดกับเขาว่า คุณพูดอย่างนี้ได้อย่างไร อีกหน่อยเราก็จะไม่มีอะไรทำหรอก เจมส์ ลัฟล็อค จึงบอกว่ามีสิ่งที่เราจะต้องทำเยอะเลย เพียงแต่มันเป็นคนละเรื่องกับที่พวกเรากำลังทำกัน

เจมส์ ลัฟล็อค ได้จัดการโยนสิ่งที่เราชาวโลกกำลังทำเพื่อหวังให้ช่วยป้องกันโลกร้อนทิ้งไปทีละอย่างๆ “เรื่องการปลูกป่าเพื่อหวังว่าจะลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ (carbon offsetting) ลงได้บ้าง เป็นเรื่องตลก ในกรณีนี้ เราควรเอาเงินไปให้ชาวบ้านในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อไม่ให้พวกเขาตัดป่ายังจะดีกว่า ส่วนเรื่องรีไซเคิล และรีเอนจิเนียริ่ง ต่างล้วนเป็นเรื่องที่ทั้งเสียเงินและเสียพลังงานโดยใช่เหตุ...ความพอเพียงพอดีและยั่งยืนของกลุ่มสีเขียวเป็นเรื่องของคนเพี้ยนที่คิดว่า การหวนกลับสู่ธรรมชาติหรือเลิกใช้เทคโนโลยีแล้วเราจะปลอดภัย จริงๆ แล้วเราต้องการเทคโนโลยีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ...ส่วนการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายก็คงไม่ช่วยอะไรนอกจากเป็นการเสแสร้งเล่นละครกัน ลัฟล็อคไม่เห็นด้วยกับการบริโภคอย่างมีจริยธรรม โดยเห็นว่ามันเป็นเรื่องหลอกเด็ก เขาไม่เห็นด้วยกับการหาพลังงานใดๆ มาทดแทนน้ำมันซากฟอสซิลคาร์บอน (นอกจากพลังงานนิวเคลียร์) มาใช้กับสังคมแบบที่มีอยู่ เพราะเราสร้างสังคม “สมัยใหม่” มาให้ขึ้นกับน้ำมัน

ทั้งหมดนั้น เจมส์ ลัฟล็อค พูดด้วยความฉงนสนเท่ห์เล็กน้อยกับความโง่เง่าเต่าตุ่นของคน คนส่วนมากต้องการทำในสิ่งที่ตนเคยทำ พวกเขาต้องการให้ทุกอย่างเหมือนเดิม พวกเขารู้แน่ๆ ว่าเราจะต้องเผชิญกับปัญหาในวันข้างหน้า แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เจมส์ ลัฟล็อค คิดว่าคนทั่วไปก็เหมือนกับคนในช่วงปี ๑๙๓๘-๙ ที่รู้ว่า ความทุกข์ความเลวร้ายกำลังจะเกิดและต้องเกิดแน่ๆ แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ดังนั้น พอสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดขึ้นแล้ว ประชาชนคนทั่วไปจึงคล้ายกับดีใจที่ไม่ต้องรอคอยกันอีกต่อไป จากนี้ พวกเขาจะมีหน้าที่เสียที มีงานใหญ่ที่ต้องทำเสียที บางทีเราในปัจจุบันอาจมีความประสงค์ลึกๆ เช่นนั้น

จริงๆ แล้ว หนังสือของลัฟล็อค (James Lovelock: Revenge of Gaia; 2006) ทำนายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ พรั่งพร้อมไปด้วยผลการวิจัยมากมาย ชี้บ่งว่าปี ๒๐๒๐ สิบสองปีจากวันนี้ ความร้อนจัดที่ผิวโลกจะมาพร้อมๆ กับความล่มสลายของการเกษตรอย่างรุนแรงทั่วทั้งโลก และพอถึงปี ๒๐๔๐ ส่วนใหญ่ของยุโรปทั้งหมดจะเป็นทะเลทรายเช่นสะฮารา โดยมีส่วนหนึ่งจมอยู่ใต้ทะเล และสุดท้าย ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ประชากรโลกราวๆ ร้อยละ ๘๐ จะล้มหายตายจากไปด้วยภัยธรรมชาติ อดน้ำอดอาหาร และโรคระบาดต่างๆ ลัฟล็อคมองด้วยสายตาของความเป็นนักวิทยาศาสตร์แห่งชีวิตและลมฟ้าอากาศที่เขาสนใจมาร่วมห้าสิบปีว่า เราไม่มีทางหยุดยั้งหรือป้องกันไม่ให้ความหายนะของโลกเกิดขึ้นได้เลยแม่แต่น้อย ฉะนั้นเราควรใช้เงินและเวลาไปในการวางแผนอพยพประชาชน หาที่อยู่ที่ทำกินกันใหม่นับแต่บัดนี้ และช่วยกันหาเทคโนโลยีค้นคว้าผลิตอาหารเทียม (synthetic food) จะดีกว่า

ปัญหาก็คือ เราจะเชื่อการป้องกันสภาพโลกร้อนของเกียวโตดี หรือเชื่อ เจมส์ ลัฟล็อค และความพินาศหายนะระดับโลกดี? แม้คณะกรรมการติดตามสภาวะอากาศโลกของนานาประเทศ หรือ ไอพีซีซี (IPCC) จะใช้คำพูดที่นุ่มนวลกว่าและเป็นวิชาการมากกว่าคำพูดขวานผ่าซากของ เจมส ลัฟล็อค แต่การคำนวณสภาพการณ์ก็ใช่ว่าจะห่างไกลกันนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า ไม่เราควรเชื่อใครที่ต่างเป็นกายวัตถุนิยมแยกส่วนทั้งคู่

หากมองปัญหาในทางจิต ผู้เขียนเชื่อว่า หากเราสามารถอ่าน คิด และ “ตื่น” ได้ทันไม่ว่าโลกจะอยู่ในสภาวะใดหรือสมัยไหน เราก็สามารถอยู่ได้ด้วยความเข้าใจ ชีวิต สัตว์โลก และมนุษย์ทั้งผองล้วนมีจิตเท่านั้นเป็นเนื้อใน จิตที่ประหนึ่งมีดวงเดียวที่สร้างไม่ได้ ทำลายไม่ได้ เพียงแต่ว่ายวนหมุนเวียนอย่างไม่จบสิ้นอยู่ในโลกหรือในจักรวาลนี้ ก็เพื่อเรียนรู้ความจริง ซึ่งวันหนึ่งวันใดเราผู้นั้นก็จะพบ ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับโลกหรือธรรมชาติด้วยความเข้าใจเป็นหนึ่งเดียว นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนพูดมาตลอดเวลาว่า ผู้เขียนเป็นผู้มองโลกในแง่ดี ร้ายหรือดีขึ้นกับโลกทัศน์หรือกระบวนทัศน์กายวัตถุหรือใช้จิตนำของผู้นั้นๆ

จิตไม่ว่าง



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2551

ย้อนไปเมื่อสมัยผมเรียนอยู่มัธยมปลาย ก็ประมาณยี่สิบปีมาแล้ว ผมเป็นเด็กวัยรุ่นที่สนใจในเรื่องราวต่างๆ มากมาย ผมหลงใหลการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นชีวิตจิตใจ ผมชอบอ่านหนังสือทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น หรือหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธนิกายเซน รวมทั้งเรื่องลึกลับอื่นๆ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยชอบจะอ่านก็คือหนังสือเรียน ด้วยความที่สนใจในเรื่องราวหลากหลายเช่นนี้ ผมพบว่าการจะหาใครสักคนที่พูดคุยได้ถูกคอในเรื่องที่ชอบนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง ไม่ช้าไม่นานผมจึงได้พัฒนานิสัยแปลกๆ ขึ้นมาอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือนิสัยในการ “สนทนากับตนเอง” ในใจ บทสนทนาที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในหัวของผมอาจจะเป็นเช่นนี้

ผม ๑ : “แกคิดยังไงกับเรื่องนี้...”

ผม ๒ : “ไม่รู้นะ ผมว่ามันยังไม่ใช่ จริงๆ แล้วถ้าเขาทำอย่างนั้นมันน่าจะดีกว่านี้...แล้วคุณคิดว่าไง”

ผม ๑ : “แต่ผมว่ามันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก การที่เขาทำอย่างนั้นมันเพราะเขาอาจจะคิดดีแล้ว แล้วทำไมแกไม่คิดบ้างว่า เขา...”

ผม ๒ : “เออ...มันก็อาจเป็นได้…”

บทสนทนาในหัวแบบนี้ จะดำเนินไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ติดพันต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเดินทางขึ้นรถเมล์ ระหว่างเดินไปโรงเรียน ระหว่างรอสั่งก๋วยเตี๋ยวที่ร้านประจำ หรือแม้แต่ตอนที่เคี้ยวตุ้ยๆ กลืนอาหารลงคอไปอย่างไม่รู้รสชาติ ผมคุ้นชินกับการปล่อยความคิดให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งเมื่อหมกมุ่นมากๆ ก็ถึงกับพึมพำกับตัวเองไปด้วย บางครั้งเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนมาทักทายก็เดินเลยผ่านเขาไป ไม่รับรู้ ไม่ได้สังเกตเห็น ไม่ทักตอบ จนใครต่อใครมองว่าเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักหน่อย อาการที่จมจ่อมกับความคิดตนเองจนไม่ได้รับรู้เรื่องราวภายนอกนี้ดำเนินไปเป็นกิจวัตร มาเริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นเช่นนี้เมื่อได้พูดคุยกับน้องสาวถึงนักเรียนรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเธออ้างว่าผมรู้จักเป็นอย่างดี แต่ผมยืนยันกับเธอว่าผมไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นเขาคนนั้นมาก่อนเลย ด้วยความสงสัย ผมจึงถามว่าผมไปรู้จักเขาตั้งแต่เมื่อใด น้องสาวผมจึงตัดพ้อว่า

“โธ่...ใครๆ เขาก็รู้จักพี่ทั้งนั้นแหละ พี่นั่นแหละที่ไม่รู้จักเขา!”

ภาพเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้ได้ผุดพรายขึ้น ในระหว่างที่ได้อ่านหนังสือที่กัลยาณมิตรของผมแนะนำให้ แต่ละหน้าที่ผ่านไป ทำให้ผมกลับไปใคร่ครวญกับอดีตของตนเองและพบว่าจิตใจของผมวิ่งวุ่นจนไม่ได้เว้นว่าง และใช้ชีวิตเหมือนกับ “คนเดินละเมอ” ตามที่บรรยายเอาไว้ในหนังสือทุกประการ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Power of Now แต่งโดย เอกคาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคุรุทางจิตวิญญาณระดับโลกผู้หนึ่งที่ยังอยู่ร่วมสมัยกับเรา พระไพศาล วิสาโล ได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเขาลงใน มติชนรายวัน ด้วยชื่อเรียบง่ายว่า “อิสรภาพจากตัวตน” หนังสือเล่มนี้ของเขาได้รับความนิยมอย่างสูง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า ๓๓ ภาษา ทั่วโลก

เอกคาร์ท โทลเลอ เล่าให้ฟังว่า มนุษย์เรานั้นมักจะทำทุกอย่างเพื่อให้จิตของเรา “ไม่ว่าง” การที่ต้องอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทนไม่ได้เอาเสียเลย บางคนเมื่ออยู่ในบ้านคนเดียวก็ลุกเดินขึ้นไปเปิดโทรทัศน์ แม้จะไม่ได้ดูแต่ขอให้ได้ยินเสียงก็ยังดี หรือบางคนเมื่อต้องรอคอยอะไรบางอย่าง ก็ต้องควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาโทรหาเพื่อน หรือไม่ก็กดเล่นเกมไปพลางๆ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเมื่ออยู่ในวงสนทนาจะเปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กขึ้นมาเล่นเกมไพ่ Solitaire แล้วปากก็พูดคุยไป ส่วนมือก็ขยับเล่นไปเรื่อยๆ เมื่อจบเกมแล้วก็เริ่มใหม่ จะต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้มนุษย์เรา “กลัว” การอยู่ว่างๆ เราจึงได้หากิจกรรมทางร่างกายและทางสมองมาป้อนให้กับตัวเองตลอดเวลาโดยไม่เว้นว่าง

เอกคาร์ทอธิบายว่า เหตุที่คนเราไม่อยากจะอยู่ว่างๆ เป็นเพราะในความว่างนั้น “ตัวตน” ของเราจะปลาสนาการไปชั่วคราว ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ตัวตน” ของเรายอมรับไม่ได้ เพราะอัตตานั้นย่อมจะพยายามทุกวิถีทางที่จะดำรงอยู่ มิเช่นนั้นก็ต้องกลายไปเป็นอนัตตา ปัญหาร้อยแปดพันประการ รวมทั้งความทุกข์ยากในชีวิตของมนุษย์นั้นก็มีที่มาจากอัตตาตัวตนของเรานี้นั่นเอง ปัญหาก็คือถ้าหากเรากำจัดตัวตนของเราออกไปแล้วเราจะเหลืออะไร? ตัวตนของเราไม่ใช่หรือที่จะบอกว่าเราคือใคร? และเราเกิดมาทำไม?

แท้จริงแล้ว เอกคาร์ทไม่ได้บอกให้กำจัดตัวตนของเราออกไป เขาเพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงการดำรงอยู่ในสิ่งที่เขาเรียกว่า Being ซึ่งเป็นสภาวะที่จะเผยออกมาเมื่อเราข้ามพ้นไปเสียจากการยึดโยงอยู่กับอัตตา หรือสิ่งที่เป็นตัวตนปลอมๆ ของเรา ตัวตนปลอม (False Self) เกิดขึ้นมาจาก “ความคิด” ของเราเองที่ไปสร้างมโนภาพต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นตัวของเรา การสร้างมโนภาพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งฝัน นั่งจินตนาการ แต่เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวตลอดเวลาตั้งแต่เราเป็นเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จากสภาพแวดล้อมทางครอบครัว สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นปัจจัยภายนอก และโดยที่ไม่รู้ตัว เราก็เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “ตัวฉัน” และ “ของฉัน” และด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงต้องตกเป็นทาสของ “ความคิด” ประดิษฐ์ปรุงของตนอย่างช่วยไม่ได้ ถ้าหากเราคิดว่าเรื่องนี้ฟังดูเหลือเชื่อและไม่น่าเป็นไปได้ ลองถามตัวเองว่าครั้งสุดท้ายที่เราพูดกับตัวเองในทำนองว่า “ถ้าเป็นฉัน ฉันจะไม่ทำอย่างนั้น” คือเมื่อใด

สิ่งที่ตัวตนปลอมของเรานั้นกลัวที่สุด ก็คือจิตที่รู้เท่าทันอยู่ในปัจจุบันขณะ ถ้าเปรียบตัวตนปลอมเป็นหมาไนที่หิวกระหาย สิ่งที่มันชื่นชอบที่สุด ก็คือการได้แทะเล็มซากเหง้าชีวิตของเราในอดีต เอกคาร์ทบอกว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นชีวิต (Life) ของเรานั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงสถานการณ์แห่งชีวิต (Life Situation) แต่ผู้คนส่วนใหญ่เสียเวลาง่วนอยู่กับการฉายวิดีโอเทปม้วนเก่ากลับไปกลับมาอยู่ในหัวของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ตระหนักว่าเขากำลังถูกบงการจาก “หมาไน” ตัวร้าย หรือตัวตนจอมปลอมที่หล่อเลี้ยงพลังของตัวมันเองให้ดำรงอยู่จากซากอดีตที่ผ่านเลยไปอย่างไม่มีวันกลับ

นอกจากอดีตแล้ว สิ่งที่ตัวตนปลอมของเราชื่นชอบอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการลอยล่องอยู่ในความคิดคำนึงถึงอนาคต มันจะคอยบอกกับเราว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เราจะดีขึ้นถ้าหากเรามีสิ่งนั้น เป็นเจ้าของสิ่งนี้ และชีวิตของเราจะไม่สมบูรณ์เลยถ้าหากขาดเสียซึ่งวัตถุสิ่งของ และอื่นๆ สุดแล้วแต่ที่ตัวตนมันจะเสกสรรมาให้วิ่งวุ่นอยู่ในความคิดคำนึงของเรา ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ทีวีสีพลาสมาจอแบนรุ่นใหม่ รถมินิคันเล็กรุ่นล่า บ้านหลังงาม แฟนใหม่ งานใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลใหม่... ทั้งหมดนี้ เอกคาร์ทบอกว่าตัวตนปลอมมักจะทำสำเร็จอย่างแยบคาย ผลก็คือเราจะอยู่ในความวิตกกังวลและความโหยหาในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงอยู่เป็นนิจ และนี่คือความหมายที่เป็นรูปธรรมของการ “ตกนรก” ทั้งเป็น ก็คือหากเราไม่จมปลักอยู่กับอดีต ก็ละเมอเพ้อพกถึงอนาคต

เอกคาร์ทบอกเป็นนัยว่า หากเราสามารถตระหนักรู้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดที่เรามีอยู่นี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าผลที่เกิดจากปฏิบัติการ “ลับ ลวง พราง” ของตัวตนจอมปลอมที่ “เห็นแก่ตัว” ของมันเอง จนนำพาชีวิตของเราเข้าสู่วังวนของความ “หลง (อยู่กับ) ตัวเอง” อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว เราก็จะสามารถเป็นอิสระจากตัวตนปลอมๆ นี้ได้ อิสรภาพใหม่ที่ผุดบังเกิดขึ้นจะเผยให้เห็นถึงตัวตนจริงแท้ภายในที่อยู่ในมนุษย์ทุกผู้คน การเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ ก็คือการตื่นโพลงเข้าสู่การรู้แจ้ง หรือเป็นสภาวะของการ “ตรัสรู้” นั่นเอง

พอเราได้ยินคำว่า “ตรัสรู้” จิตใจที่วุ่นวิ่งของเราก็ทำงานอีกครั้ง บางคนอาจจะบอกกับตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่สูงส่งจนเกินกว่าที่จะทำได้ในชีวิต “ของฉัน” บ้างบอกว่ามันเป็นเรื่องสำหรับพระสงฆ์ที่ปลีกวิเวกออกไปอยู่ตามป่าเขา หรือบางคนก็มองว่าการตรัสรู้ในระดับนั้นคงเกิดได้ในสมัยพุทธกาลเท่านั้น บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวและมีความสำคัญน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการหาเลี้ยงปากท้อง...ฯลฯ

...ถ้าความคิด แล ความเห็น เช่นที่ว่ายังแซ่เซ็งก้องอยู่ ก็ให้รู้ว่าจิตของท่านเริ่มที่จะ “ไม่ว่าง” และกำลังเริ่มเข้าสู่วงวัฏแห่งปฏิบัติการของ “ความคิด” อีกครั้ง ถึงเวลาหรือยังที่จะหยุดความคิดและจิตที่วิ่งวุ่น มาเริ่มต้นกันเสีย “เดี๋ยวนี้” เลยจะดีมั้ย

สำนึกเชื่อมประสานกับโลกวิวัฒน์



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2551

เหตุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสรรพสิ่ง เป็นสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ผู้รู้ สัพพัญญูหลายท่าน ได้ศึกษา จำแนก จารึก ต่างกรรมต่างวาระ ในบริบทแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เกิดขึ้นในทุกสังคม ทุกวัฒนธรรม ทุกความเชื่อ ผลแห่งการนำเอาความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณากับปรากฏการณ์นานาประการ ทำให้เกิดภูมิปัญญาในระดับต่างๆ ที่นำไปใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งในระดับอภิปรัชญา

เราสามารถสังเกตเห็นผลแห่งความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงได้หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลไกจักรกล ผลของแรงกายภาพ อาทิ แรงน้ำ แรงกล แรงลม หรือในบางครั้ง เราสามารถสังเกตผลของความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงชนิดอื่น ในที่นี้คือ ของจิตสำนึก ที่มีการแสดงผลปรากฏออกมาได้เช่นกัน

มีคำกล่าวของ วิลเลียม โอ’เบรียน (William O’Brien) ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทฮันโนเวอร์ประกันภัย (Hanover Insurance Company) ว่า “ผลสัมฤทธิ์แห่งการกระทำนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะ ภายในของผู้กระทำ” หรือของ โจเซฟ จาวอร์สกี (Joseph Jaworski) ที่กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ของการทำกิจกรรมใดๆ อยู่ที่ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะเริ่มทำกิจกรรมนั้นๆ ” และอื่นๆ อีกมากมาย เน้นถึง ความสำคัญในการหล่อหลอม “เจตจำนง” ความตั้งใจมุ่งมั่นในความต้องการอย่างที่สุด ที่อยากจะให้ ผลลัพธ์ใดๆ ก็ตามที่เรากำลังจะทำนั้นเกิดขึ้นมาให้ได้

ในการดำรงชีวิตของเราในแต่ละวัน มีสัดส่วนไม่น้อยที่เราใช้เวลาไปอย่างอัตโนมัติ ไม่ได้ใส่ใจ ตั้งใจอะไร มากนัก แต่ก็จะมีบางเวลาที่เรามีสติ มีสมาธิ และตั้งใจมั่น ที่จะทำงาน ทำกิจกรรม ทำกิจใดๆ ให้สัมฤทธิ์ผล และเมื่อเราสังเกตดีๆ จะพบว่า ผลงานของกิจกรรมที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจทำนั้น ช่างแตกต่างกัน แม้แต่ กิจกรรมบางชนิดที่เรามีความชำนาญจนแทบสามารถจะทำได้โดยอัตโนมัติ เราก็จะพบปรากฏกาณ์ที่เมื่อเรา “ใส่ความตั้งใจ มุ่งมั่น” ลงไปด้วยแล้ว เราสามารถทำให้งานนั้นสมบูรณ์ มากขึ้นได้อีก หรือเรามีจิตอันเป็นสมาธิ สงบนิ่ง และสุนทรีย์ มากขึ้นอีกในการทำกิจกรรมนั้นๆ

มีนักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์หลายท่าน ตั้งสมมติฐานว่า นอกเหนือจากการมีสมาธิ จิตตั้งมั่น ทำให้งานเพิ่มสัมฤทธิ์ผลได้ ลำพัง “เจตจำนง ความตั้งใจมั่น ที่จะทำให้อะไรเกิดขึ้น” ที่เรียกว่า อินเทนชัน (Intention) นี้ สามารถทำให้เกิดผลทางกายภาพต่อสรรพสิ่งโดยตัวมันเองได้หรือไม่ เกิดเป็นงาน วิจัยเชิงสังคม เชิงจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์พื้นฐานในหลายๆ สาขาที่หันมาสนใจกับ คุณสมบัติอีกประการของมนุษย์ นั่นคือ “เจตจำนง หรือ Intention กับสรรพสิ่งทางกายภาพ”

ลินน์ แมคแท็กการ์ต (Lynne McTaggart) ได้รวบรวมผลงานการวิจัยที่เกี่ยวกับ “เจตจำนง และผลทางกายภาพ” เขียนลงในหนังสือชื่อ Intention Experiments มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ไปถึงตัวอย่าง ที่น่าทึ่ง น่าตื่นเต้น เมื่อคำนึงถึงผลกระทบต่อความเข้าใจในศักยภาพที่แท้ของมนุษย์ ถ้าหากเราสามารถ นำเอา “เจตจำนง” ที่ว่านี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายได้

มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแบบเรื่องเล่า และผลการวิจัยที่มีระเบียบการวิจัยที่รัดกุม ถูกต้องตามหลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่องความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเจตจำนงและผลทาง กายภาพ อาทิ การให้กลุ่มผู้เยียวยา (healer) ที่ใช้พลังทางการตั้งเจตจำนง รวมกันส่งความต้องการในการ ทำให้คนไข้ที่เป็นเอดส์ในโรงพยาบาลมีอาการดีขึ้น มีเม็ดเลือดขาวที่แข็งแรงและจำนวนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกัน ที่ดีขึ้น ผลปรากฏว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระยะเดียวกัน ที่ไม่ได้รับการส่งแรงแบบนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับเจตจำนงที่ดีนั้น สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ มากกว่า ตัวอย่างเลือดแสดงผลที่ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันจากกลุ่มทรานส์เซนเดนซ์ เมดิเทชัน (Transcendence Meditation - TM) พบว่าอาจจะทำให้ผลดีนี้เกิดขึ้นในมิติอื่นๆ ได้ อีกด้วย อาทิ อัตราการเกิดอาชญากรรม ความรุนแรงในชุมชน ฯลฯ ถ้าหากจำนวนของผู้ที่ส่งเจตจำนงที่ดี มีมากพอในชุมชนนั้นๆ

ไม่ว่าผลการทดลองดังกล่าวจะจริงหรือไม่ก็ตาม หากเรามาพิจารณาสถานการณ์ของบ้านเมือง ในปัจจุบัน โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มนุษย์ได้ส่ง “เจตจำนง” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ตามสภาวะ ทางจิตของเราออกไปตลอดเวลา ปรากฏการณ์ แมส ฮิสทีเรีย (mass hysteria) ที่แรงคลื่นอารมณ์ของ คนจำนวนมากเกิดความเชื่อมต่อกัน โน้มน้าวซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดพฤติกรรมของกลุ่มไปในทิศทางใด ทิศทางหนึ่งได้ หรือบรรยากาศในสนามกีฬา สนามฟุตบอล ที่มีการเชียร์ทีมของแต่ละฝ่าย คนที่เคยไป สัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้โดยตรง จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความแตกต่างต่ออารมณ์ความรู้สึกของ ตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับการชมกีฬาทางโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือเมื่อเราอยู่ในที่ที่อาจจะถูกเบี่ยงเบน ความสนใจไปจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้

สมมติฐานเรื่องนี้หากเป็นจริง ก็มีนัยสำคัญที่น่าสนใจมากแฝงอยู่ พวกเราอาจจะเริ่มตั้งคำถามต่อ ตัวเองว่า ณ ปัจจุบัน เจตจำนงที่เป็นสมุหะของสังคม ของชุมชนเรา เป็นไปในทิศทางใด เป็นไปได้หรือไม่ ที่ความร้อน อุณหภูมิ หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) ณ ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่มา จากก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในบรรยากาศ แต่เสริมด้วยผลกระทบจาก “อุณหภูมิแห่ง เจตจำนง แห่งอารมณ์” ของสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกนี้ด้วย?

ปรากฏการณ์นี้เป็นได้ทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในเวลาเดียวกัน ข่าวร้ายก็คือ ผลเสีย มลภาวะทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ นี้ เราเองเป็นผู้มีส่วนในการทำให้เกิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น แต่ข่าวดีก็คือ ในเมื่อ เราทุกคนมีส่วนทำให้เกิด ก็หมายความว่าเราทุกคนสามารถทำอะไรบางอย่างต่อความก้าวหน้าของ ปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน

ถ้าหากโลกในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยเจตจำนงด้านลบ ความโกรธเกลียด ความโลภ ความเศร้าซึม ความท้อถอย ความมักง่ายเห็นแก่ตัว ความโง่เขลา อวิชชา สิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกลบล้าง เยียวยา ได้ด้วยเจตจำนงด้านตรงกันข้าม ได้แก่ ความรัก ความเพียงพอ ความเมตตากรุณา ความมุ่งมั่น ปัญญาที่มองเห็น และเข้าใจในความเกี่ยวโยงแห่งสรรพสิ่งต่างๆ การเริ่มต้นจากการหล่อหลอมเจตจำนง ความมุ่งมั่น เป็นฉันทาคติที่ส่งผลไปถึงการธำรงชีวิต ด้วยอิทธิบาท ๔ พรหมวิหาร ๔ และฆราวาสธรรม ๔ ขอให้เรามีเจตจำนงความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยทำงานเพื่อธรรมะ เพื่อความดี เพื่อความสงบสันติ เพื่อความเพียงพอ โลกนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เพื่อลูกหลานของเรา

Back to Top