มิถุนายน 2012

การตกผลึกและการระเบิดประสบการณ์ ทางจิตตปัญญาทัศน์และจิตตปัญญาปฏิบัติ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2555

ประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดของผม ทั้งราบเรียบ น่าเบื่อหน่าย ทั้งตื่นเต้น ท้าทาย ทั้งสับสน ไร้ทิศทาง ทั้งมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ทั้งดีและร้าย ได้หลอมรวมเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตเมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการทำวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ให้กับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์ และเชื่อมต่อด้วยการร่วมบุกเบิกและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล นำไปสู่การระเบิดแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาของผมในแวดวงวิชาการ (โดยเฉพาะวงการศึกษา) วงการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย

โดยเฉพาะในช่วงสามสี่ปีหลังนี้ ผมมีส่วนโดยตรงและโดยอ้อม ก่อให้เกิดงานวิจัยด้านจิตตปัญญาศึกษาเกือบสองร้อยเรื่อง การระเบิดครั้งใหญ่สุดในช่วงสามปีหลังคือการร่วมงานกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลัยและกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) จัดการอบรมและพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมากกว่าสี่หมื่นคน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรระดับต่างของหน่วยงานของรัฐ เอกชนและอื่นๆ

การระเบิดประสบการณ์ทางจิตตปัญญาทัศน์และจิตตปัญญาปฏิบัตินี้ ผมเรียกว่าเป็นการระเบิดใหญ่สีขาว (The White Big Bang) ของความคิดและจิตวิญญาณของผม ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมประสบการณ์ทั้งหมดของชีวิตผ่านการสั่นสะเทือนด้วยพลังบวกของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมขาวของชีวิตของผม ผนวกควบรวมกับพลังความรักความเมตตาของกัลยาณมิตรเครือข่ายจิตตปัญญศึกษา ผสมผสานกับการใคร่ครวญทบทวนตนเองเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง กลั่นกรอง ทดลองปฏิบัติ คลุกเคล้า ควบแน่น ตกผลึก แล้วระเบิดออกมาเป็นระเบิดสีขาว ระเบิดแห่งความปีติสุขที่ได้ทำ ได้เผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

และต่อไปนี้คือผลึกจิตตปัญญาศึกษาของผม ที่ผมเต็มใจ สุขใจ และยินดีนำเสนอเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ร่วมเดินทางบนถนนสายที่เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Contemplative Education and Transformative Learning)

จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ผมเรียกว่าจิตตปัญญาทัศน์ และจิตตปัญญาปฏิบัติโดยภาพรวม เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้ การเรียนรู้และการรู้เท่าทันมิติ/โลกภายใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิต โลก และสรรพสิ่ง) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้งทางความคิดความเชื่อและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเอง โลก และสรรพสิ่ง ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ อย่างมีปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ในทางการศึกษา จิตตปัญญาศึกษาเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงภายใน หรือที่วิจักขณ์ พาณิชเรียกว่า การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบจิตตปัญญาศึกษาจะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Learning and Evaluation) ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายในของแต่ละคน ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผย รู้จักตนเองและผู้อื่น

โดยนัยดังกล่าว จิตตปัญญาศึกษาได้ผนวกควบรวมการคิดวิเคราะห์เชิงระบบไว้ในแนวคิด อีกทั้งขยายการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ ให้ครอบคลุม และตระหนักในความสำคัญของระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นมิติด้านในของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกับการจัดการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษา เพราะมิติด้านในดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”

ในทางการบริหาร การวินิจฉัยองค์การที่ขาดข้อมูลเกี่ยวกับมิติด้านในของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ จะนำไปสู่ระบบการบริหารที่ถูกโน้มนำด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความรู้มิติด้านนอก การวางแผน กระบวนการวางแผน และการบริหารจัดการ จึงมีลักษณะค่อนข้างจะเป็นเส้นตรง จากบนลงล่าง เน้นปริมาณของผลผลิตหรือกำไร มากกว่าผลกระทบที่ดีงามต่อสังคม เน้นการแข่งขันมากกว่าการร่วมมือ จึงแปลกแยก แบ่งส่วน ไม่สมดุล ไม่เป็นองค์รวม เป็นแฟชั่น (ชั่วคราว) ไหลตามกระแส ขาดความเป็นเอกลักษณ์ จึงไม่ยั่งยืน

ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์บริบท (ทั้งภายนอกและภายใน) องค์กรที่ไม่พิจารณามิติภายในของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในฐานะที่เป็นบริบทภายในที่แท้จริง ก็มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ระบบการบริหารที่เน้น “งาน” มากกว่าเน้น “คน” เป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่รู้ว่าหัวใจของการได้ผลงานที่มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ อยู่ที่คุณภาพ (จิตสำนึก+ความรู้ความสามารถ+ทักษะ) ของคนทำงานที่มีความเข้าใจ ความเต็มใจ มุ่งมั่น มีความภูมิใจ ผสมผสานกับการมีความรู้ ความถนัด ความสามารถและทักษะในการทำงาน

ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ในส่วนของการศึกษาก็มุ่งเน้นเชิงปริมาณ เร่งรีบ รวบรัด ย่อและแยกส่วน ทั้งเรื่องการวัด การประเมินผล ทั้งเรื่องการสอน การเรียน มากกว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงอย่างเป็นองค์รวมและเป็นธรรมชาติ

ที่สำคัญ ผู้บริหารต้องตระหนักรู้ตลอดเวลาว่าองค์กร/สถานศึกษา เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ สร้างและสะสมองค์ความรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง

จิตตปัญญาทัศน์ และจิตตปัญญาปฏิบัติที่ผมใช้เป็นกรอบกว้างๆ เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ สรุปโดยย่อเพื่อช่วยความจำคือ “๔ – ๓ – ๓”

โดยที่ ๔ หมายถึง ความเชื่อพื้นฐาน/หลักการ ๔ ประการ คือ เชื่อมั่นและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้ จึงต้องเปิดและสร้างโอกาสและบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดและสร้างพื้นที่ที่มั่นคงปลอดภัยให้กับตนเองและกลุ่ม เพื่อเปลี่ยน “ที่ทำงาน” หรือ “ที่เรียนที่สอน” ให้เป็น “ชุมชนปฏิบัติการเรียนรู้”

ยอมรับและเคารพในความไม่เหมือน/ความแตกต่างของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง จึงไม่เปรียบเทียบกับใคร แต่เรียนรู้จากผู้อื่นได้ เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) สำหรับตนเองและหน่วยงาน เพราะแต่ละคนและแต่ละหน่วยงานมีบริบทไม่เหมือนกัน จึงต้องเรียนรู้และสร้าง Best Practice ของตนเอง

เชื่อในความเป็นองค์รวม (Holism) ที่มีความหมายมากกว่าการเอาส่วนย่อยมากองรวมกัน องค์รวมจึงไม่ใช่กองรวม หรือองค์ร่วม (Aggregation/ Compilation) ไม่แยกส่วน จึงต้องมีสติและเตือนสติอย่างต่อเนื่องว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ (ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร) ที่เกิดขึ้น เพราะหากขาดสติก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการ “องค์ลง” หรือที่ศรชัย ฉัตรวิริยะชัยเรียกว่า “จักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ”

เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ ผู้สอนจึงต้องเปลี่ยนบทบาทของผู้สอนแบบเดิม ไปเป็นผู้ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับผู้เรียน ทั้งผู้สอนและผู้เรียนจึงมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้เรียนรู้ ไม่ใช่ผู้สอน และผู้เรียนแบบเดิม

บนความเชื่อและหลักการทั้งสี่ประการดังกล่าว การอบรมและพัฒนาบุคลากรในองค์การ และการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา จึงไม่เน้นการถ่ายทอด การบรรยายแบบเดิมๆ แต่ใช้การจัดกระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การสงบนิ่งอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา การสะท้อนการเรียนรู้ในตนและกลุ่ม สานเสวนา/สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง การเขียนอนุทิน/บันทึกเส้นทางการเรียนรู้ กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี การฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้ผ่านการทำงานแบบ On the job training การอ่านบทความ หนังสือ งานวิจัย... ไปจนถึงพิธีกรรมและการปฏิบัติทางศาสนา... โดยกิจกรรมทั้งหมดจะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน ๓ กระบวนหลัก และ ๓ ฐานการเรียนรู้

โดยที่ ๓ กระบวนการหลักตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ได้แก่
  • สุนทรียสนทนา (Dialogue)
  • การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เพื่อเข้าใจผู้พูดอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่ภาษาหรือคำพูด ไม่ตัดสินผู้พูด
  • การสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Reflection) ทั้งส่วนบุคคล และกลุ่ม เพื่อการตระหนักรู้ เรียนรู้ และรู้เท่าทันตนเองและผู้อื่น เกิดปัญญาและปัญญาร่วม
และ ๓ ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านฐานกาย ฐานหัว และ ฐาน (หัว) ใจ ด้วยกิจกรรมและกระบวนการที่หลากหลาย

กิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนว “๔ – ๓ – ๓” หรือ ๔ หลักการ ๓ กระบวนการ ๓ ฐานการเรียนรู้ ที่ผู้เขียนออกแบบไว้เป็นแนวทางกว้างๆ มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิด/พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่าปัญญาร่วมในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นแนวทางที่พึงประสงค์ พอเพียง และเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสังคม/วัฒนธรรมไทย

และเพื่อให้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีพื้นความเข้าใจที่ตรงกันเป็นเบื้องต้นก่อนเข้ากระบวนการ ควรมีการทำความเข้าใจความหมายของคำ/ชุดภาษาที่ใช้อย่างน้อย ๖ ชุด ได้แก่
  • การเรียน – การรู้ – การเรียนรู้
  • ผู้สอน/วิทยากร – กระบวนกร – วิทยากรกระบวนการ
  • Systematic – Systems – Systemic/General Systems
  • การบรรยาย - การอภิปราย (กลุ่มย่อย-กลุ่มใหญ่) – สุนทรียสนทนา
  • มิติภายนอก - มิติภายใน - มิติภายในที่สัมพันธ์กับมิติภายนอก
  • การเปลี่ยนแปลง (Change) – การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental Transformation) หรือการเปลี่ยนฐานคิด//จิตสำนึก (Consciousness Transformation)
โดยที่จิตตปัญญาศึกษาเน้นและให้ความสำคัญกับคำสุดท้ายของแต่ละชุดภาษา

หากครู อาจารย์ และผู้บริหารการศึกษา นำแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา (๔ – ๓ – ๓) ไปใช้เป็นแกนการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษา ก็น่าจะมีโอกาสได้รับความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาผู้เรียน (ลูกศิษย์) ให้เป็นผู้เรียนรู้อย่างยั่งยืน (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) ได้

หากผู้บริหารนำแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา (๔ – ๓ – ๓) ไปใช้เป็นแกนการพัฒนาและขับเคลื่อนคน งาน และกระบวนการบริหาร โอกาสที่จะได้รับความสำเร็จทั้งการได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพ และความสุขความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเพิ่มขึ้น สังคมโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น สังคมคุณภาพ สังคมคุณธรรมก็จะเป็นความฝันที่เป็นจริงได้ในอนาคต

อนาคต ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และรอให้เราเดินเข้าไปหา แต่อนาคตเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นได้ ตั้งแต่ปัจจุบัน นี่จึงเป็นความท้าทายที่แท้จริง ที่ผู้บริหารต้องดำเนินการอย่างมีสติ ใช้ปัญญาและปัญญาร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันสร้างอนาคตที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นร่วมกัน

ประชุมทำไม



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2555

บ้านเรามีการประชุมจำนวนมากเกิดขึ้นทุกวัน จนกระทั่งเป็นที่น่าสงสัยว่าการประชุมส่วนใหญ่ทำให้คนทำงานเสียเวลาทำงานตรงหน้าโดยไม่จำเป็นเสียมากกว่า

การประชุมกลุ่มส่วนใหญ่เป็นการประชุมระดมสมอง อย่างที่เรียกว่า brain storming นั่นคือให้บุคลากรมาระดมของที่มีอยู่ในสมอง คือ ความคิด ความเห็น หรือข้อเสนอแนะ แต่บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะเสริมคำบ่น แย่กว่านี้คือคำต่อว่า แย่ที่สุดคือคำด่า

ความคิด หมายถึง กรอบความคิดหรือความคิดสำเร็จรูป การประชุมระดมความคิดเป็นการประชุมที่ดีหากที่ประชุมมีเสรีภาพที่จะให้ระดมความคิดอย่างเปิดกว้างและไม่เป็นภัย จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการต่อยอดทางปัญญา หมายความว่าตอนที่เริ่มเปิดประชุมแต่ละคนมีความคิดชุดหนึ่ง ระหว่างประชุมจะเกิดความคิดใหม่ๆ และหลังประชุมจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าทุกคนและองค์กรมีปัญญา (wisdom) สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง กลับไปทำงานด้วยวิธีใหม่ที่ชาญฉลาดและได้ผลมากกว่าเดิม

แต่การประชุมระดมสมองในประเทศไทย โดยเฉพาะในระบบราชการมักมีปัญหา สาเหตุเพราะประเทศไทยมีชั้นอำนาจมาก ผู้น้อยไม่กล้าระดมสมอง ผู้ที่ระดมสมองก็มักได้รับบทเรียนหรือเรียนรู้ว่าเงียบไว้ปลอดภัยกว่า ผู้บริหารมักมีคำตอบในใจแล้วจึงทำให้การประชุมไร้ความหมาย การจัดกระบวนการกลุ่มประเภทให้บุคลากรระบายความในใจก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือระบายแล้วก็แล้วไป ทั้งหมดนี้ทำให้การระดมสมองหรือระดมความคิดไม่เกิดผลอะไรมากนักในประเทศไทย

การระดมความเห็นโดยไม่มีข้อมูล เป็นที่ทราบว่าไม่มีประโยชน์เช่นกัน

การให้ข้อเสนอแนะที่ไม่เหมาะสมกับบริบทของคนทำงาน มักส่งผลให้คนทำงานทำท่าฟังไปเช่นนั้นเอง เพราะรู้ว่าเป็นข้อเสนอแนะประเภทเอาแต่ใจตัวคนเสนอแนะ คนเสนอมิใช่คนทำ

คำบ่น คำด่า มีประโยชน์ในแง่การระบาย แต่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาปัญญา

การจัดกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้เล่า “วิธีทำงานของตนเอง” เป็นการประชุมอีกลักษณะหนึ่ง แตกต่างจากการประชุมระดมสมองอย่างสิ้นเชิง

หลักการคือทำให้บุคลากรรู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ตนเองทำอยู่ทุกวัน ดังนั้นเรื่องเล่าจึงควรเป็นเรื่องเล่าความสำเร็จ หากเป็นคุณหมอหรือพยาบาลอาจจะเล่าเรื่องที่ตนเองได้ช่วยเหลือผู้ป่วยคนหนึ่งอย่างดีที่สุด ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ครอบครัว แม้กระทั่งด้านจิตวิญญาณ หากเป็นคุณครูอาจจะเล่าเรื่องที่ตนเองช่วยเหลือนักเรียนคนหนึ่งให้หยุดยาเสพติดและผลการเรียนดีขึ้น วิธีคือเตรียมเรื่องเล่าให้ดี เตรียมกลุ่มที่สนใจเรื่องราวคล้ายกันมาเป็นผู้ฟังและจะเป็นผู้เล่าในลำดับถัดไปด้วย

พูดง่ายๆ ว่านี่คือวงประชุมที่มีผู้เล่าและผู้ฟัง การฟังอย่างที่เรียกว่าตั้งใจฟังหรือฟังอย่างลึกซึ้ง(deep listening) เป็นทักษะสำคัญที่ผู้เข้าร่วมกลุ่มจะได้ฝึก

ผลจากการแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าที่ดีจะทำให้เกิดปรากฏการณ์สองอย่าง หนึ่งคือ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” สองคือ “พัฒนาจิต”

แลกเปลี่ยนเรียนรู้หมายความว่า ผู้เล่าและผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนวิธีทำงาน และได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจากทักษะตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง ทำให้ทุกคนได้ความรู้ใหม่กลับไปทำงานของตน ที่ดีกว่าคือเป็นความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรและหน่วยงานของตนเอง ไม่มีใครบีบบังคับให้ฟังหรือสั่งการ แต่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเองจากการตั้งใจฟัง ระหว่างประชุมผู้เข้ากลุ่มทุกคนจะได้พูดว่า “ตนเองเรียนรู้อะไร” การพูดออกมาว่าตนเองเรียนรู้อะไรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่าการสะท้อน (reflection) นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่สองคือ “พัฒนาจิต”

พัฒนาจิตเป็นคำกว้างๆ หมายรวมตั้งแต่คนทำงานภูมิใจในงานของตนเอง เห็นคุณค่าของงานที่ตนเองทำ นำไปสู่คุณค่าของตนเอง นำไปสู่คุณค่าของงาน นำไปสู่คุณค่าของอาชีพหรือวิชาชีพ นำไปสู่ความรู้สึกเป็นสุขกับการทำงาน สนุกกับการทำงาน ไม่เหนื่อยง่าย ไม่เบื่องาน ตัวกระบวนการกลุ่มเหนี่ยวนำให้เกิดเสรีภาพในการพูดและการฟัง เพราะเรื่องที่พูดมิใช่เรื่องของคนอื่น มิได้วิพากษ์วิจารณ์ใครหรืออะไร แต่เป็นเรื่องเล่าการทำงานของตนเองล้วนๆ ส่วนผู้ฟังอย่างตั้งใจมีโอกาสเจริญสติระหว่างการฟังโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้ทำให้ผู้เล่าและผู้ฟังได้เรียนรู้จักใจตนเอง มีการพัฒนาจากภายใน มีการพัฒนาจิต มากกว่านี้คือพัฒนาทางจิตวิญญาณ

จะเห็นว่าสิ่งที่ได้จากการประชุมแบบนี้แตกต่างจากการประชุมระดมสมองที่ไม่มีเสรีภาพจริงๆ ให้ระดม การประชุมที่ไม่มีเสรีภาพมักทำให้เกิดผลตรงข้ามกับที่ว่ามา คือ ทำให้เหนื่อยหน่าย รู้สึกว่างานประจำเป็นภาระ ไม่เห็นคุณค่าของงาน ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง หลงลืมอุดมการณ์ทางวิชาชีพของตนเอง ท้อแท้ง่าย และหมดไฟเร็ว

การประชุมที่เปิดโอกาสให้เล่าเรื่องการทำงานที่ได้ผลดีและการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง มีเนื้อหาที่อิงกับการทำงานของคนทุกคน เป็นประสบการณ์ตรง มิได้อิงกับเรื่องอื่นใด หากจัดกระบวนการดีๆ สามารถแปลงเรื่องเล่ากลายเป็นปัญญา

การประชุมที่ดีควรช่วยให้บุคลากรค้นพบตนเอง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับความสุขทางปัญญา (spiritual health) พบว่าตนเองเป็นบุคคลมีศักยภาพที่จะสร้างนวัตกรรม (innovation) หรือคิดค้นวิธีทำงานใหม่ๆ ในการทำงานประจำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม

การพัฒนามนุษย์ที่มีค่าสูงคือพัฒนาปัญญา

จักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2555

เปรมนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตถามผมว่า “ผมต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าชาติหน้ามีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง ชาติที่แล้วมีจริง” ผมถามเขาว่าเขาต้องการไปเพื่ออะไร เขาว่า “มันมีผลต่อการใช้ชีวิตของผม ทุกวันนี้ผมไล่คนออกเยอะมาก จ่ายเงินใต้โต๊ะ ฮั้วประมูล แล้วผมก็ใช้ชีวิตไปวันๆ หาความสำราญใส่ตัว กินอาหารอร่อย ตีกอล์ฟ ฟังเพลง เพราะผมเชื่อว่าคนเรามีชีวิตแสนสั้น อยู่ได้ไม่นานก็ตาย ควรหาความสุขใส่ตัวให้มากที่สุด… ถ้าผมรู้แน่ว่ามีโลกหน้า ผมก็คงไม่ทำตัวอย่างที่ผมทำอยู่”

ผมบอกว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ผมหาให้เขาไม่ได้หรอก และต่อให้นักวิทยาศาสตร์ที่อัจฉริยะที่สุดในโลกก็ไม่อาจจะหาหลักฐานมาให้เขาได้ แต่ผมสามารถชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ได้ว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเขาจะตอบคำถามผมสักสองสามคำถาม เขาตกลง ผมจึงถามเขาว่า

“เมื่อวานนี้มีไหม” เขาตอบว่ามี ผมจึงถามต่อไปว่า “ถ้ามีจริงก็เอามาให้ดูหน่อยสิ”

“เอามาให้ดูไม่ได้เพราะมันผ่านไปแล้ว แต่ยังจำได้อยู่”

“แล้วตอนอายุสามขวบ คุณจำเรื่องราวได้ไหม” ผมถามต่อ เขาตอบว่าจำไม่ได้ “แล้วถ้าหากว่ามีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งจำได้ว่าคุณเคยไปเล่นที่บ้านเขา ทำแจกันของเขาหล่นแตก แต่พอเขาเล่าให้คุณฟัง คุณเกิดจำไม่ได้ ส่วนญาติก็ไม่ได้เก็บหลักฐานอะไรว่าเคยมีแจกันใบนั้นอยู่เลย คุณจะเชื่อไหมว่าคุณเป็นคนทำแจกันแตกเมื่อตอนอายุสามขวบ!”

เขานิ่งไปเล็กน้อย ใบหน้าครุ่นคิด ผมจึงบอกเขาเบาๆ ว่า

“ถ้าคุณจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงตอนสามขวบไม่ได้ แล้วทำไมถึงคิดว่าจะจำเรื่องของชาติที่แล้วได้”

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องการวิวัฒน์จิต ไม่ช้าก็เร็วคุณก็จะต้องถูกซักด้วยคำถามในลักษณะนี้ เพราะการพูดถึงเรื่อง “จิต” ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่อาจตรวจวัดด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนที่ติดอยู่ในกระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือวิธีการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์เก่าไม่สามารถจะยอมรับได้ ที่ไม่อาจยอมรับก็เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นไปขัดแย้งกับกระบวนการเสาะหาความรู้ความจริงของเขา

โธมัส คุห์น (Thomas Kuhn) กล่าวใน The Structure of Scientific Revolutions ว่า “กระบวนทัศน์” ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ แต่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า คือ “วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง” กระบวนทัศน์มีความสำคัญมาก เพราะฐานการมองโลกย่อมมีผลต่อพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ยกตัวอย่างเรื่องของเปรม ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่เกิดความเฉลียวใจและเกิดความสงสัยในกระบวนทัศน์ที่ตนเองดำรงอยู่ เหมือนปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำย่อมไม่รู้จักว่ามีโลกที่อยู่บนบก หรือผู้ที่อยู่ในเมทริกซ์ (The Matrix) ย่อมไม่สงสัยว่าตัวเองดำรงอยู่ในโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์



การศึกษาเรื่องของ “จิต” จึงต้องเรียนรู้ด้วยวิธีการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่อาจจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการคิดวิเคราะห์ ด้วยตรรกะ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดและมีความวิจิตรพิสดาร เครื่องมือที่เหมาะสมที่จะใช้เข้าถึงก็ต้องเป็นสิ่งที่มีความละเอียดพิสดารพอกัน ก็คือต้องอาศัย “จิต” เพื่อเข้าใจ “จิต” จิตเป็นต้นทุนที่ทุกคนมีอยู่แล้วเพียงแต่ไม่เท่ากัน เฉกเช่นเดียวกับร่างกายของคนเราที่มีความสามารถไม่เท่ากัน คุณภาพของจิตใจของแต่ละคนก็ย่อมมีไม่เท่ากัน ความยากอยู่ที่วิชาจิตวิวัฒน์ไม่ได้มีสอนกันในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ แต่เป็นเรื่องของวิชาชีวิตที่จะต้องประจักษ์ต่อตนเอง จึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้ก้าวข้าม “กระบวนทัศน์” เก่าของตัวเอง ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือจำนวนปริญญาที่มี

ในสถาบันการศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดการเรียนในหลักสูตรทางด้าน “จิตตปัญญาศึกษา” กันบ้างแล้ว โดยสอดแทรกเข้าไปอยู่ในวิชาปกติบ้าง หรือมีอยู่ในลักษณะเต็มรูปแบบบ้าง แต่ถ้าหากผู้บริหารไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะเอาเกณฑ์ทางวิชาการกระแสหลักเข้าจับ ตั้งแต่การคัดเลือกอาจารย์ วิธีการจัดการเรียนการสอน หรือวิธีการประเมิน ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ทีแรก

ในมหาวิทยาลัยของรัฐในระดับภูมิภาคบางแห่ง อย่างที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมได้เห็นพลังของอาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มาจากสหสาขาวิชา ซึ่งมีความสนใจจะนำจิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาทั่วไป โดยใช้ชื่อเรียกวิชาว่า “มนุษย์กับการเรียนรู้” และถึงแม้เป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวเล็กๆ แต่ก็น่ายกย่อง เพราะเป็นความพยายามที่จะใส่มิติทางจิตวิญญาณเข้าสู่สถาบันการศึกษากระแสหลัก ซึ่งนับวันจะถูกครอบงำด้วยกระแสทุนนิยมจนความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนให้เหลือน้อยลงทุกที

การนำวิชาที่ว่าด้วยการเรียนรู้เรื่อง “จิต” เข้าสู่มหาวิทยาลัย ไม่สามารถจะทำโดยใช้ช่องทางปกติ หมายถึงว่าเราไม่สามารถที่นำความรู้เรื่องนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยโดยการก๊อบปี้หลักสูตรจากส่วนกลางแล้วนำมาใช้กับภูมิภาคอย่างเป็นแท่ง เพราะการศึกษาเรื่อง “จิต” ต้องคำนึงถึงภูมิธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะแผ่นดินอิสานซึ่งมีรากเหง้าของพุทธธรรมหยั่งลงอย่างมั่นคงโดยทั่วไปในจิตวิญญาณของคนท้องถิ่น หากความรู้ที่เรานำมาไม่สอดบรรสานเป็นเนื้อเดียวกับรากที่มีอยู่ ก็จะเกิดการต่อต้านไม่ยอมรับ จึงควรต้องคำนึงว่าวิชาความรู้ทาง “จิต” ที่เราอิมพอร์ตมาจากต่างประเทศจะไปขัดแย้งกับวิถีชีวิตของเดิมของท้องถิ่นหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นเราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายรากวัฒนธรรมซึ่งเชื่อมโยงแนบแน่นอยู่กับจิตวิญญาณของท้องถิ่นโดยไม่รู้ตัว กระบวนการบ่อนเซาะฐานความเข้าใจเรื่องจิตซึ่งกระทำต่อชุมชนท้องถิ่นและนำองค์ความรู้ใหม่แปลกปลอมเข้าไปแทนที่นี้ผมเรียกมันว่า “จักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ” (Spiritual Colonization)

การแก้ไขมิให้เกิดจักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องทำความเข้าใจกับกระบวนการจิตตปัญญา เพราะผู้ที่ทำงานด้านนี้ล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย และมีวิธีการจัดกระบวนการที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกสรรให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และให้เหมาะกับรากเหง้าทางจิตวิญญาณของบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งเรื่องการข้ามผ่านทางกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของสังคมไทย ผมมองเห็นพลังของคนกลุ่มเล็กๆ ผู้เริ่มมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของจิตวิวัฒน์ กำลังถักทอสอดประสานกันเพื่อนำพาสถาบันการศึกษากระแสหลักทั่วประเทศเข้าสู่กระแสการวิวัฒน์ทางจิต ส่วนตัวผมไม่ได้ตั้งความหวังใหญ่ขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องตั้งต้นที่ความงามของตัวผู้เดินทางเป็นปฐม เพราะเรื่องการวิวัฒน์จิตเป็นภารกิจเฉพาะตัว เมื่อเราเข้าใจและปฏิบัติได้ผลกับตัวเองแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้กับผู้อื่นและสังคมไทยของเราได้ต่อไป

การฟังอย่างลึกซึ้ง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555

ผมไปทำจัดการเรียนรู้ให้กับงานของคอตโต้ บริษัทในเครือ SCG หลังจบกิจกรรม ฟาระ (ฟาซิลิเตเตอร์ หรือกระบวนกรชื่อ “ระ”) ก็ตั้งคำถามว่า "การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นอย่างไร” ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอตอบแบบเป็นบทความหนึ่งเลยดีกว่า

ครั้งหนึ่งมีสาวคนหนึ่งมาบอกผมว่า ผมช่วยชีวิตเธอไว้ เธอรู้สึกว่า การฟังของผมมันเหมือนสระน้ำที่ไม่มีก้น เหมือนหุบเขาที่ลึกลงไปอย่างไม่อาจหยั่งความลึกได้ คือมันรับความเป็นไปของตัวเธอได้ทั้งหมด อย่างไม่มีเงื่อนไข ในความนิ่งสงบของการรับฟังนั้น เธอค่อยๆ นำตัวเองขึ้นมาจากหุบเหว และในที่สุดเธอก็เข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

จากสาวคนนี้ ผมได้คำว่า “หุบเขา” เมื่อก่อนผมเคยใช้คำว่า “ภาชนะ” คือเป็นภาชนะบรรจุความเป็นตัวตนของอีกคนหนึ่งเข้าไป เข้าไปอยู่ในนั้นได้ทั้งหมด ทั้งหมดของความเป็นตัวเขา

แล้วเราจะบรรจุคนคนหนึ่ง ทั้งหมดของเขาเข้าไปในตัวตนของเราได้อย่างไร?

ในกระบวนการเรียนรู้ที่จะฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราจะต้องเริ่มที่ “รู้จักตัวเอง” ก่อน แล้วรู้จักตัวเองอย่างไรล่ะที่จะเป็นภาชนะบรรจุคนอื่นทั้งตัวลงไปในเราได้?

ชีวิตได้สร้างโลกภายในขึ้นมาล้อกับโลกภายนอก จึงจะทำให้ชีวิตอ่านโลกภายนอกได้ เราจะเข้าใจโลกภายนอกได้ เราต้องสร้างแบบจำลองโลกภายในขึ้นมาล้อกัน

ในกิจกรรมที่พวกผมจัด เราจะเรียนเรื่องบุคลิกภาพของผู้คนอย่างง่ายๆ โดยแบ่งเป็นสี่ทิศสี่แบบ1 หากบุคลิกภาพในตัวเราไม่มีทิศของคนอื่น เช่นเราเป็นทิศเหนือกระทิง แต่ไม่มีหนูทิศใต้ เราก็จะไม่เข้าใจหนู เป็นต้น

เราก็ต้องเติมความเป็นหนูเข้ามา แต่ส่วนใหญ่เวลาเราเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ยากที่จะเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรา แต่ความลับมีอยู่ว่า ที่จริงเรามีเมล็ดพันธุ์ของทุกอย่างอยู่แล้ว เพียงเรารดน้ำพรวนดิน เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะงอกงาม หากเรารดน้ำความเป็นหนูของเรา เราก็จะเพิ่มเติมความเป็นหนูเข้ามาได้ และหากเรามีความเป็นหนู หรือบ่มเพาะความเป็นหนูให้ชัดเจนขึ้นมา เราก็จะเริ่มเข้าใจคนอื่นที่เป็นหนู

อันนี้เป็นเพียงการเทียบเคียงกับบุคลิกภาพสี่ทิศสี่แบบ ซึ่งรายละเอียดเรื่องสี่ทิศสามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ไม่ยากนัก

เมื่อเรามีแบบจำลองภายในอย่างหนึ่ง เราก็จะเข้าใจโลกภายนอกอย่างหนึ่ง เหมือนมีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง เราก็จะมองโลกกว้างและลึกได้เท่ากับซอฟต์แวร์ตัวนั้น หากเพิ่มซอฟต์แวร์เข้ามา เราก็รับรู้โลกได้มากขึ้น ลึกขึ้น กว้างขึ้น หลากหลายขึ้นไปอีก

"ที่ยากที่สุด เราจะมีสิ่งที่เราไม่เคยมีได้อย่างไร"

เช่นเราเป็นกระทิงที่ดุดัน แล้วเราอยากจะเติมความอ่อนโยนของหนูเข้ามา เราจะทำอย่างไร?

วิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นวิธีการของเกอเธ่ ปราชญ์ชาวเยอรมัน คือ "สังเกต สังเกต สังเกต" ใช้คำๆ เดิมสามครั้งติดต่อกัน คือให้สังเกตอย่างเดียวเลย ฟัง มองอย่างตั้งใจต่อเนื่อง ซึมซับ "จนกระทั่งก่อเกิดอวัยวะแห่งการรับรู้เรื่องนั้นๆ ขึ้นมา" ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สังเกต สังเกต สังเกต จนกระทั่ง ภายใน จะเรียกว่าสมองก็ได้ คือวงจรสมอง (อันนี้แบบสมัยใหม่) เริ่มก่อตัววงจรใหม่ขึ้นมา จนกระทั่งกลายเป็นอวัยวะ คือเป็นวงจรที่สมบูรณ์ขึ้นมาเพื่อจะรับรู้ได้ ต้องใช้เวลา คนมาเข้าร่วมกิจกรรมสี่วันที่ผมจัดขึ้น วันแรกจะงง วันที่สองจะเริ่มเห็นเบาะแส วันที่สามเริ่มสนุก ท้าทาย ปิ๊งแว้บ วันที่สี่ไม่อยากกลับบ้าน เป็นต้น

หรือใช้วิธีสร้างจินตนาการซ้ำๆ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า mental rehearsal แปลตรงๆ ว่า "ซักซ้อมในจินตนาการ" บางสำนักให้ก๊อปปี้เลย อย่างตอนผมยังเด็กๆ ความเป็นกระทิงยังไม่ชัด พอได้เห็นแบบในครูของผม คือ ส. ศิวรักษ์ ผมซึมซับมาแบบฟองน้ำเลย กลายเป็นกระทิงได้เลย เหมือนองค์ลงอย่างไรอย่างนั้น แล้วเมื่อทำซ้ำบ่อยๆ ความเป็นกระทิงมันก็ฝังลึกลงไปในความเป็นตัวตนของเรา

คำถามต่อมา "จะแก้ไขการฟังอย่างไร ให้มีพลัง ให้การฟังเป็นพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงของเรา?"

ไม่มีค่ายเรียนรู้ครั้งไหนเลยที่ผมจะไม่พูดถึงคำว่า "อัตโนมัติ" ระบบอัตโนมัติได้ถูกจัดตั้งไว้ในการทำงานของสมอง ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่ทุกครั้งที่ได้อะไรมา ก็จะมีอะไรที่อาจเสียไปด้วย "อัตโนมัติ" ที่ว่านี้ ในคนส่วนมากก็จะเป็น "อัตโนมัติที่หลับใหล" เรามักจะไม่รู้ว่าชีวิตเราดำเนินไปด้วยอัตโนมัติที่หลับใหล

ผมอยากจะพูดถึงอีกสองอย่างที่จะมาเกี่ยวข้องกับความเป็นอัตโนมัติ นั่นคือ "ความคิด" กับ "อารมณ์ความรู้สึก" หรือ emotion ซึ่งมาจากคำสองคำ คือ energy กับ motion แปลว่า พลังงานที่ไหลไปมา หรือพลังงานที่เคลื่อนไหว

ความคิดเป็นวิวัฒนาการล่าสุดของสิ่งมีชีวิต ที่มาบรรลุจุดสูงสุดในมนุษย์ ความคิดก็คือ "แผนที่" ผมนึกถึงหนังสือ The Guide for The Perplexed ที่ผมแปล แล้วอาจารย์สุลักษณ์ช่วยตั้งชื่อให้ว่า แผนที่คนทุกข์ คือสิ่งที่ชีวิตสร้างขึ้นมาล้อกับโลกภายนอก คือสร้างโลกภายในขึ้นมา ประกอบด้วยโครงสร้าง แบบแผน และกระบวนการ (อันนี้เอามาจาก The Web of Life ของ ฟริตจ๊อฟ คราปา) สมองสร้างโลกภายในให้เนียนขึ้นอีก และสร้างแผนที่ของโลกภายนอกด้วยโลกภายในที่เรียกว่า "ความคิด" แต่ความคิดเป็นแผนที่ ส่วนอารมณ์ความรู้สึกเป็นพลังขับเคลื่อน

ความคิดที่ก่อประกอบเป็นโลกภายใน ที่ล้อกับโลกภายนอก เพื่อจะรับรู้ เรียนรู้และเข้าใจโลกภายนอก เพื่อที่จะกระทำต่อโลกภายนอกได้อย่างเหมาะสมนั้น ไม่ได้มีอิสระไปเสียเลยทีเดียว แต่ยังผูกพันอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก ผูกพันทั้งที่รับรู้ได้ และผูกพันแบบเราไม่ได้รับรู้ หลายคนคิดว่าตัวเองมีแต่ความคิด ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก จริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

งานวิจัยทางสมองระบุว่า ความคิดกับอารมณ์ความรู้สึกไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พอไปผนวกกับความเป็นอัตโนมัติด้วยแล้ว ทั้งความคิดและอารมณ์ที่ไปด้วยกันนั้น ก็จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติและหลับใหลด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของเราได้ง่ายๆ เพราะชีวิตของเรามีแผนที่เดิมๆ ด้วยความรู้สึกเดิมๆ อย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล

ทีนี้ ชีวิตมีอยู่สองโหมด โหมดปกติกับโหมดปกป้อง ในโหมดปกป้องนั้น เราถูกผูกติดอยู่กับปมทางจิตวิทยาอันเกิดจากการที่เราถูกทำร้ายทางจิตใจ (บางกรณีก็พร้อมไปกับการทำร้ายทางร่างกายด้วย) ในอดีต อาจจะในวัยเด็ก และแล้วในโหมดปกป้อง เราจะจมอยู่ในหลุมหรือร่องเดิมๆ ที่เราไม่อาจก้าวออกมาได้ ทำให้หลายคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต ปมจิตวิทยาเหล่านี้ทำงานในจิตไร้สำนึก หรือจิตใต้สำนึก มันฉุดเราไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปทางใดได้ แต่ให้เราอยู่ที่เดิม อยู่ในหลุม ในกรอบแคบๆ ของสิ่งที่เราเรียกว่า "อัตลักษณ์" หรือ "ความเป็นตัวของตัวเอง"

โหมดปกติก็ไม่ได้ดีกว่าโหมดปกป้องนัก งานวิจัยล่าสุดมากๆ เหมือนกัน ระบุว่า สมองที่หยุดจากการทำงานไม่ได้รับรู้โลกภายนอก และไม่ได้กระทำการกับโลกภายนอก สมองในเวลาว่างๆ ที่อาจจะเพลินๆ นั้น ปรากฏว่าสมองกำลังเคี้ยวเอื้อง หรือ ruminate กำลังคิดย้อนอดีต และคาดการณ์อนาคตอย่างอัตโนมัติและหลับใหล ดังนั้น ความรู้สึกลบๆ ความคิดลบๆ แบบอัตโนมัติก็จะค่อยๆ เข้ามาครอบครอง แล้วเราก็อาจจะตกลงไปในโหมดปกป้องได้อีก มันเป็นการทำงานของสมองที่ขาดความตั้งใจ ความใส่ใจและความตื่น พระพุทธองค์จึงทรงพูดถึง "การปรารภความเพียร" บ่อยครั้งมาก

ทีนี้ หากสมองทำงานด้วยความตื่น ด้วยความใส่ใจ การจะเป็นไปอย่างตรงกันข้าม มันเป็นการกระตุ้น หรือปลุกเร้าสมองส่วนหน้าให้ทำงาน สมองส่วนหน้าเป็นวิวัฒนาการล่าสุดและสูงสุด มันคือตาที่สาม อยู่ในตำแหน่งตาที่สามพอดีๆ มันทำให้เราตื่นตัว เท่าทันความคิดความรู้สึกได้ ถอยตัวออกมาได้ ไม่ติดกับดักหลุมพรางของอัตตาตัวตนอีกต่อไป หากสามารถเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงการฟังของเราได้ ให้ไปพ้นจากกรอบแคบของอัตตา อัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวของตัวเอง เราสามารถรื้อสร้าง รื้อโลกภายในของเราออกและสร้างใหม่ ซึ่งได้แก่ความคิดและความรู้สึก เมื่อเกิดความคิดใหม่ๆ ความรู้สึกๆ ใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้!!!



1 ศาสตร์ว่าด้วยการเข้าใจตัวเองและผู้อื่นของอินเดียนแดง แบ่งบุคลิกภาพของผู้คนเป็นสี่ทิศ โดยใช้สัตว์สี่ชนิดเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ ทิศเหนือ กระทิง มีบุคลิกกล้าได้กล้าเสีย ทำอะไรรวดเร็ว ชัดเจน ปัญหาอยู่นอกตัว โทษคนอื่น รักพวกพ้อง รักความยุติธรรม ฯลฯ ทิศใต้ หนู ไวต่อความรู้สึกของคนรอบข้าง ยืดหยุ่น ให้คุณค่ากับคนอื่นมากกว่าตัวเอง ไม่ชอบกระทบกระทั่ง ฯลฯ ทิศตะวันตก หมี รอบคอบ เป็นระเบียบ ยึดหลักเกณฑ์ ไม่ชอบเข้าสังคม ฯลฯ ทิศตะวันออก เหยี่ยว คิดนอกรอบ สร้างสรรค์ ชอบความแปลกใหม่ เปลี่ยนแปลงเร็ว ขี้เบื่อ ฯลฯ

Back to Top