ตุลาคม 2010

จิตวิญญาณ คริสปี้ครีม



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2553

คริสปี้ครีม คือชื่อของโดนัท หรือแป้งที่เอาไปทอดกับน้ำมัน เป็นของกินเล่นยอดฮิตชนิด “สุโค่ย” ที่สุดของคนกรุงใน พ.ศ.นี้ (คำสุโค่ยนี้ไม่รู้จักต้องถามวัยรุ่น) บ่ายวันหนึ่งระหว่างมองหาร้านกาแฟเพื่อนั่งจ่อม ผมเหลือบไปเห็นคนจำนวนมากเข้าคิวเพื่อซื้อขนมยี่ห้อนี้ เป็นแถวยาวเหมือนงูพันทบสัก ๓-๔ รอบ ส่วนปลายแถวทิ่มทะลุออกไปนอกห้างสรรพสินค้าชื่อดัง งานนี้น้องสาวแฟนที่เรียนอยู่ชั้นปีหนึ่งที่ ม.อ. สุราษฎร์ธานี ถึงกับอุทานแบบไม่เชื่อสายตาว่า

“บ้าไปแล้ว”

“บ้า” คือ ถ้อยคำที่สะท้อนตรงออกจากใจ สำหรับผมอยากจะใช้คำว่า “หลงเสน่ห์” มากกว่า การหลงเสน่ห์คือการที่คนเรายอมเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เพื่อที่จะได้แลกมาซึ่งประสบการณ์ของการได้บริโภค ครอบครอง หรือเป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคริสปี้ครีม มันอร่อยหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ามัน “สุโค่ย” แค่ไหน มันเท่ห์ที่ได้กินก่อนเพื่อน จะได้เอาไปคุยกับเขาได้ เมื่อฟังเพื่อนคุยแล้ว คนที่ยังไม่ลองก็เกิดความอยากลองบ้าง ผมรู้จักคนที่รอแถวเพื่อซื้อขนมรวยเสน่ห์นี้เป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ไม่มีเวลารอก็ไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวนี้คิวมอเตอร์ไซค์แถวนั้นเขารับจ้างเข้าคิวแล้วนำส่งถึงบ้าน ก่อนหน้านี้กับขนมชื่อดังโรตีบอย ก็ฮิตวูบเดียวแล้วเลิกไป ไม่นานกระแสคริสปี้ครีมก็คงจะสร่างซาไปเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือธรรมชาติของคนไทยที่ “ตื่นตูม” ได้ทุกยุคทุกสมัย มิไยที่คุณหมอประเวศ วะสี จะพูดจนจวนหมดแรงให้พวกเรา “ตื่นรู้” แต่ในอนาคตอันใกล้ ผมก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เหตุที่เรายังไปไหนไม่ได้ไกลในการวิวัฒน์จิต ผมสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเราละทิ้งรากทางวัฒนธรรมของเรา เพราะไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งถึงแก่นศาสนาของตน เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบ เราจึงสั่นไหวไหลเทไปตามกระแสได้ง่าย เหมือนผักตบชวาที่ลอยไปเรื่อยตามกระแสน้ำ

“คริสปี้” ในภาษาไทยแปลว่า “กรอบ” ในกระแสของการวิวัฒน์จิตในปัจจุบันใช้คำว่า “ความเปราะบาง” กันบ่อย คำว่าเปราะบางมีนัยว่าแตกหักง่าย หากใครมีจิตใจที่เปราะบาง เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบก็ย่อมจะหวั่นไหวง่าย ถ้าโดนแรง ๆ ก็ย่อมจะแตกละเอียด ถ้าอยากจะเป็นวัยรุ่นใจสะออน คงใช้คำว่าเปราะบางได้ แต่หากอยากจะเรียนรู้เพื่อเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ความเปราะบางหรอกที่ควรจะฝึกฝน แต่ควรฝึกจิตฝึกใจให้คู่ควรกับการงาน จนมีความฉับไวรู้เรื่องที่ควรรู้ในเวลาที่ควรรู้ คือนักสู้ที่ไร้กระบวนท่าแต่รับได้ทุกท่วงท่า

“ครีม” คือ ไส้ในหวาน ๆ ที่บีบใส่ไว้ในโดนัท เพื่อเพิ่มรสชาติ การศึกษาทางจิตตปัญญาทุกวันนี้ไปติดที่ความหวานกันมาก เพลงหวาน ๆ ถ้อยคำหวาน ๆ รื่นหู คนจำนวนมากตื่นเต้นที่เห็นพระมหายานออกมาร้องเพลง แต่เวลาเห็นพระสวดในทีวีเราเปลี่ยนช่องแทบไม่ทัน เราตื่นตูมกับอะไรที่แปะป้ายว่าเกี่ยวกับความรักและความสุข อาจเพราะจิตใจเราโหยหาความสุขและความรัก แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้แสวงหาความสุข เช่นเดียวกับคริสต์ศาสนาที่ไม่ได้สอนให้รักแบบครอบครอง ส่วนอิสลามมีรากศัพท์มาจากคำว่าสันติ สันติภาพภายในใจย่อมจะเกิดไม่ได้หากผู้เรียนรู้ไม่เข้าใจ สับสนกันระหว่างเปลือกกับแก่น

ที่จั่วหัวเรื่องไว้ว่า “จิตวิญญาณ คริสปี้ครีม” จึงหมายถึงอาการของคนยุคนี้ ที่เปราะบางต่อสิ่งเร้าและโหยหาคำมั่นสัญญาของความสุข แม้สุขชั่วคราวก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะชีวิตของตนที่แสนจะแปลกแยกและว้าเหว่ บางจำพวกก็อยากจะแสวงหาแต่โลกสวยงาม แต่ความเป็นจริงไม่ได้สวยงามอย่างนั้น มีความโลภไม่สิ้นสุด มีสงคราม ความรุนแรง จะผลักไสสิ่งเหล่านี้ไปจากความรู้สึกนึกคิดได้อย่างไรถ้ายังไม่รู้จักจัดการความรุนแรงในใจของตัวเอง จะมีเมตตาธรรมได้อย่างไรถ้าในใจยังแยกเขาแยกเราอยู่เป็นนิจ จะเป็นที่พึ่งให้ตนเองได้อย่างไรถ้ายังแสวงหาฮีโร่คนใหม่ไปเรื่อย จะวิวัฒน์จิตได้อย่างไรถ้าทุกวันนี้สิ่งที่เราทำคือการนั่งมองหรืออ่าน “จุดพลิกผัน” ของชีวิตผู้อื่น หรือหลอกตัวเองว่าเรากำลังช่วยเหลือผู้อื่น แท้จริงแล้วเรากลับทำเพื่อสนองความต้องการลึก ๆ ของเราเอง

ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่ผมนิยมให้ไปอีกโต่งหนึ่ง คือกลายไปเป็นผู้เย้ยหยันโลก ผู้วิวัฒน์จิตบางจำพวกแสวงหาความสะใจที่ได้ประณามทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถาบันศาสนา ด้วยสำคัญว่าตนรู้ความจริงที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่ไม่ได้เฉลียวใจว่าความรู้ที่ตนนำมาวิเคราะห์สังคมนั้นก็คืออีกกรอบกรงหนึ่งที่มาครอบครองพื้นที่ของใจไม่ให้เป็นอิสระจากความคิดเหล่านั้น การแสวงหาความรู้ด้วยการเข้ามาดูความจริงในใจที่เรียกว่าการ “ภาวนา” เท่านั้นจึงจะข้ามพ้นกรอบของความคิดเหล่านั้นได้ แต่ไม่ใช่การภาวนาทุกแบบทุกประเภทจะนำไปสู่อิสรภาพอย่างแท้จริงได้ หาไม่เช่นนั้นแล้วอินเดียสมัยโบราณก็คงจะมีผู้บรรลุธรรมกันเป็นว่าเล่น หรือผู้ที่สวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าทุกคนก็ต้องได้ไปอยู่กับพระเจ้า การภาวนาจึงต้องมีหนทางที่ถูกและทางที่ผิด ไม่ใช่อะไรก็ได้อย่างที่กูรูด้านการพัฒนาจิตร่วมสมัยบางท่านพยายามทำให้เราเข้าใจไปแบบนั้น การขัดเกลาตนเองต้องไปในทางที่ “ถูกต้อง” ไม่ใช่จะเอาแต่ “ถูกใจ” แล้วเมื่อไหร่จะไปถึง หนทางที่ว่าไปทางไหนก็ต้องไปแสวงหาเอาจากครูบาอาจารย์ที่ได้เรียนรู้ปฏิบัติมาก่อนจนรู้จริง และมีความประพฤติที่สมควรแก่การบูชากราบไหว้ ส่วนใครจะไปได้ไกลแค่ไหนก็สุดวิสัยที่จะบอกได้ สำคัญอยู่ที่ได้เริ่มลงมือทำเสียก่อน เพราะ “ทำเพื่อให้ได้ทำ ก่อนที่ไม่มีเวลาจะทำ”

ถ้าทั้งหมดนี้ฟังดูแล้วเข้าท่าก็ไม่ต้องแปลกใจ หรือไม่เข้าท่าก็ไม่ต้องแปลกใจอีก เพราะอีกสองสามวินาทีหลังจากที่อ่านบทความนี้จบ คุณก็จะล่องลอยไปในความคิดที่เข้ามากระทบไปเรื่อย เหมือนสวะที่ลอยไปตามกระแสน้ำ ไหลไปอย่างไร้จุดหมาย แต่ชั่วแล่นหนึ่งคุณอาจจะคิดถึงคริสปี้ครีม คุณอาจจะนึกถึงความนุ่มของเนื้อสัมผัสของโดนัทที่เต็มไปด้วยไส้ครีมหวานหอม แต่ช้าก่อนคุณคงไม่อยากจะเข้าคิวรอหลายชั่วโมง คุณอาจพยายามหาเบอร์โทรศัพท์ของวินมอเตอร์ไซค์แถวนั้น แต่ไม่นานก็รู้สึกผิดเพราะพยายามลดแป้งกับน้ำตาล แต่เชื่อเถอะภาพของโดนัทน่ากินมันจะผุดขึ้นมาวนเวียนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดคุณจะห้ามใจไม่ไหว ไม่ใช่เพราะ “ความหิว” แต่เป็นเพราะคุณ “อยากกิน”

การจัดการความรู้แล้ว



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2553

สัญชาตญาณการอยู่รอดยังคงทำงานในชีวิตมนุษย์ เราเรียนรู้ที่จะจดจำความผิดพลาด และป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องประสบกับความยากลำบากนั้นอีก เราจึงฝึกให้ตัวเองคิดล่วงหน้า และเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อม จนการคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนกลายเป็นโหมดอัตโนมัติที่ทำงานทุกครั้งเมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคง ซึ่งสำหรับในบางคน มันทำงานมากจนเกินความต้องการของเจ้าตัว บางทีดูเหมือนว่าเขาห่วงหรือวิตกกังวลเรื่องงาน แต่พอค้นเข้ามาในตัวเองจริงๆ แล้ว สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการห่วงว่าเขาจะได้รับการยอมรับ ในฐานะคนทำงานสำเร็จ คู่ควรแก่การยกย่อง และได้รับความรักจากเพื่อนร่วมงานหรือไม่ เขาผูกยึดคุณค่าของตัวเองไว้กับผลสำเร็จของงาน ที่อาจส่งผลต่อการมีอาชีพที่มั่นคงอีกด้วย

บางครั้งเราเป็นห่วงตัวเองมาก จนบางทีแทบจะนอนไม่หลับเพราะโหมดปกป้องได้คาดการณ์ และวางแผนล่วงหน้า ด้วยความวิตกกังวล กระบวนการซักซ้อมความคิดเชิงปกป้อง (Defensive Mental Rehearsal) ดังกล่าว ทำงานได้เพราะมนุษย์เรามีความทรงจำ เมื่อเคยพลาด เคยเจ็บ หรือเคยประสบภัยที่เสี่ยงต่อการสูญเสีย เราจะอาศัยความทรงจำเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนและพัฒนายุทธศาสตร์ หรือวิธีการรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ในงานที่ผมทำ คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้และช่วยเหลือให้กลุ่มคนหรือองค์กรเกิดการเรียนรู้ เนื่องจากมีเหตุปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ผมจำต้องใส่ใจกับรายละเอียดของงานทุกขั้นตอน แต่ยังไม่วายหลวมตัวยอมให้ตัวเองทำงานอยู่ในโหมดปกป้องมานานนับสิบปี แม้ความระแวดระวังและการตระเตรียมให้เกิดความพร้อมจะช่วยทำให้พัฒนาตัวเองอย่างรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น แต่ไม่สามารถรับประกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือควบคุมผลลัพธ์ปลายทางให้ได้ดังที่คิดไว้ล่วงหน้า อีกทั้งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นก่อนการเริ่มต้นของงาน ก็ดึงพลังและความสุขสันติออกไปจากชีวิตไม่น้อย จนบางครั้งคิดจะเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างนี้ เช่น งานแปลหรือเขียนหนังสือ เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบในช่วงของการตระเตรียมงานทางความคิดในใจตัวเองคือ เราจะสร้างภาพล่วงหน้าว่ากลุ่มคนที่เราจะได้พบเจอนั้นจะเป็นแบบไหน เราควรจะพูดเรื่องอะไร หรือต้องทำกิจกรรมอะไรให้เหมาะสมกับพวกเขา เพื่อให้เขายอมรับและอื่นๆ อีกมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ การณ์มักกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เราต้องเริ่มใหม่ มองใหม่ทุกครั้ง ต้องลืมสิ่งที่ตระเตรียมไว้ก่อน แต่นำสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเป็นครู ทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการที่อยู่ตรงหน้า ปรับตัวเข้ากับมันแล้วจึงจะสามารถนำพาสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปได้ในทิศทางที่จะตอบสนองความต้องการของเขาและของเราด้วย

บังเอิญผมอ่านพบถ้อยความที่น่าสนใจในหนังสือ The Three Laws of Performance: Rewriting the Future of Your Organization and Your Life โดย Steve Zaffron & Dave Logan ที่ออกมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ ความว่า "หัวใจสำคัญของการเป็นเซียนในแขนงวิชาหรือแนวคิดอะไรก็ตาม คือการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นอย่างไร้ข้อคิดเห็นล่วงหน้า หากมองสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น แล้วสร้างผลลัพธ์จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้น" ความเห็นนี้ช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกือบทุกๆ การอบรมที่ทำมาได้อย่างดี นั่นคือสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดังคิด เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้

ผมชอบประโยคนี้เพราะมันทำให้คิดอะไรออกอีกหลายอย่าง ในการทบทวนบทเรียนจากการทำงานอบรมที่ผ่านมา บ่อยครั้งเราตระเตรียมงานมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ สิ่งที่เราต้องพึ่งพิงอย่างยิ่งคือ ปัญญาญาณภายใน ที่เชื่อมเข้าหาสถานการณ์ตรงหน้า ที่เรียกร้องความเข้าใจจากเรา เราจำต้องสร้างจากสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ใช่จากความคิดของเรา เหมือนกับการทำอาหาร ถ้าเราเตรียมความคิดว่าจะทำนั่นทำนี่ แต่เอาเข้าจริง วัสดุที่มีมาให้ตรงหน้า มันต้องทำอย่างอื่น เราก็ไม่ควรขัดขืนจะทำตามความคิดล่วงหน้าของเรา เพราะอาหารก็จะจืดชืดหรือไม่เป็นรสเอาเสียเลย เหมือนกับการเริ่มต้นจากศูนย์ทุกครั้ง แล้วสังเกตว่าพลังของอะไรหนอที่ต้องการการปลดเปลื้องออกมา

เราอาจทำกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เตรียมไว้ แต่นั่นก็เพื่อจะได้สังเกตดูอย่างใกล้ชิดว่า วาระที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนกลุ่มที่เรากำลังทำงานด้วยแท้จริงแล้วคืออะไร

นอกจากนี้ ระยะหลัง นอกจากการจัดงาน Dialogue แล้ว ผมยังจัดงานการถอดองค์ความรู้ขององค์กร หรือ Knowledge Sharing ที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ (KM) บทเรียนจากการทำงานด้านการจัดการความรู้ ทำให้เห็นว่า เวลาเราทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถอดบทเรียนขององค์กรในเรื่องวิธีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสังเกตเห็นเนื้อหาบางอย่างสดแทรกเข้ามา นั่นคือประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงาน ผมเลยได้บทเรียนอย่างหนึ่งว่า การจัดการความรู้จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากมีการจัดการความสัมพันธ์ไปด้วย ความสัมพันธ์ที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจและมีไมตรีต่อกันเป็นหัวใจสำคัญต่อการแบ่งปันและสร้างความรู้ใหม่ในองค์กร

แต่ในองค์กรที่สนใจแต่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ของงาน อาจละเลยเรื่องการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ไปอย่างไม่ตั้งใจ บ้างก็อาจพยายามหลีกเลี่ยงการต้องเผชิญหน้ากับความไม่ลงตัวของขั้วขัดแย้งต่างๆ แล้วมุ่งไปในเรื่องการทำงาน เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาคาราคาซังหรือเลวร้ายลงไปอีกด้วยการ "เปิดประเด็น" จนเกิดอาการ "งานเข้า" ได้ในภายหลัง ด้วยขาดทักษะในการสื่อสารหรือความสามารถในการคลี่คลายความขัดแย้งเหล่านี้ด้วยตัวเอง การไม่พูดถึงปัญหาความสัมพันธ์จึงเป็นการหมักปัญหาไว้จนอาจเรื้อรัง และนับวันยากจะเยียวยา

ดังนั้น “ความรู้แล้ว” ที่มาจากการตีความหรือการคาดคะเนล่วงหน้าอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าใจ ความรู้ที่มีชีวิตที่อาจแฝงเร้นอยู่ในจิตใจของผู้คนปัจจุบัน โดยเฉพาะความรู้หรือประสบการณ์ที่ถูกกีดกันหรือกดทับเอาไว้ด้วยอำนาจที่เหนือกว่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากการมีตำแหน่งหน้าที่เหนือกว่า สถานภาพทางสังคมหรือทางวิชาการ หากองค์กรที่ต้องการสร้างความรู้ร่วมสามารถปลดเปลื้องพันธนาการที่ยึดกุมความรู้จากความกลัวผิด ความกลัวเสียหน้า หรือไม่ได้รับการยอมรับ ที่ถูกละเลย เช่น ประสบการณ์ของคนทำงานเข็นเปล เหล่านี้ออกมาได้ ศักยภาพในการเรียนรู้ร่วมกันขององค์กรหรือสังคมจะเพิ่มขึ้นได้มหาศาล แต่นั่นอาจหมายถึงผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า จำต้องจัดการกับความรู้แล้วของตัวเองให้ไม่ไปกดข่มความรู้หรือ ความรู้สึกอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน

ดึงความดีงามออกมาจากใจ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2553

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่เคยทำกระเป๋าเงินหาย จำได้หรือไม่ว่ากี่ครั้งที่คุณได้กระเป๋าเงินคืน สำหรับคนที่อยากได้คืนมาก ๆ มีวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณมีโอกาสได้คืนมากกว่าเดิม นั่นคือใส่ภาพทารกกำลังยิ้มน่ารักไว้ในกระเป๋านั้นด้วย เห็นชัดมากเท่าไรก็ยิ่งดีมากเท่านั้น ในบางประเทศพบว่า หากทำเช่นนั้น เจ้าของมีโอกาสได้กระเป๋าคืนเพิ่มขึ้นถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนว่ายังไม่เคยมีการทดลองดังกล่าวในประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าภาพทารกยิ้มหวานจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้คืนมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน (แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อติดต่อหรือส่งคืนได้ด้วย)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่เก็บกระเป๋าเงินได้ เมื่อเห็นภาพเด็กทารกน่ารัก ก็อดคิดไม่ได้ว่า เจ้าของกระเป๋าเป็นคนรักลูกรักครอบครัว ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกดีต่อเจ้าของกระเป๋า ทำให้เกิดความเห็นใจ และอยากช่วยเหลือเจ้าของกระเป๋า แม้จะต้องเสียเวลาหาทางส่งกระเป๋าคืนให้แก่เจ้าของก็ยอมทำ

แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นเพราะว่า ภาพนั้นมีผลโดยตรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้พบกระเป๋า โดยไม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของเจ้าของกระเป๋าเลย ภาพทารกน่ารักและยิ้มหวานนั้น ใครเห็นก็รู้สึกดี เพราะมันได้กระตุ้นหรือดึงเอาความรู้สึกเอื้ออาทรออกมาจากจิตใจของเขา สำหรับหลายคน ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นนั้นมีพลังมากพอที่จะบดบังหรือเอาชนะความเห็นแก่ตัวในใจเขาได้ ความคิดที่จะเก็บเป็นสมบัติของตัว จึงเปลี่ยนเป็นความปรารถนาที่จะส่งคืนเจ้าของ

คนเรานั้นไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังมีความเอื้ออาทร ปรารถนาดี และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย จะเรียกว่าเรามีทั้งความเห็นแก่ตัวและคุณธรรมอยู่เคียงคู่กันก็ได้ การที่ใครสักคนทำความดีนั้น ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความเห็นแก่ตัว แต่เป็นเพราะคุณธรรมในใจเขามีพลังมากกว่า ในทางตรงข้ามคนที่ทำความชั่ว ก็ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความดีอยู่ในตัวเลย หากเป็นเพราะความดีนั้นไม่มีพลังมากจึงถูกความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ อย่างน้อยก็ในชั่วขณะนั้น มองในแง่นี้เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะทำสิ่งดีงามหรือความเลวร้ายได้เสมอ อยู่ที่ว่าขณะนั้นอะไรมีพลังมากกว่ากันระหว่างความเห็นแก่ตัวกับคุณธรรม

ความเห็นแก่ตัว กับ คุณธรรม อะไรมีพลังมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่า เราบ่มเพาะหรือหล่อเลี้ยงอะไรมากกว่า หากเรานึกถึงแต่ตัวเอง จะทำอะไรก็คิดแต่ว่า “ทำแล้วฉันจะได้อะไร” ความเห็นแก่ตัวย่อมเติบใหญ่และครอบงำจิตจนกลายเป็นนิสัย แต่หากนึกถึงผู้อื่นหรือส่วนรวมอยู่เป็นนิจ จะทำอะไรก็ใคร่ครวญก่อนว่า “ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไรต่อส่วนรวม” คุณธรรมโดยเฉพาะความเสียสละและความรับผิดชอบส่วนรวมก็เจริญงอกงามในใจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแวดล้อมก็มีส่วนไม่น้อยในการกระตุ้นเร้าความเห็นแก่ตัวและคุณธรรม ในบางขณะแม้เราจะถูกความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ แต่การกระทำของผู้อื่นก็สามารถปลุกเร้าคุณธรรมในใจเราจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางดีงามได้

นักศึกษาไทยผู้หนึ่งเล่าว่า เธอเคยถูกคนผิวดำล็อกคอขณะรอสัญญาณไฟเขียวบนเกาะกลางถนนในเมืองบอสตัน เขาเอามีดจี้เอวและสั่งให้เธอส่งกระเป๋าเงินให้ วันนั้นเป็นเช้าวันเสาร์จึงมีคนเดินถนนไม่มากทั้ง ๆ ที่เหตุเกิดหน้ามหาวิทยาลัย

โจรไม่พอใจเมื่อพบว่าในกระเป๋าของเธอมีเงินแค่ ๒๐ ดอลลาร์ ไม่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มเลย เขาจึงถามหานาฬิกาและสร้อยคอ เธอก็ไม่มีสักอย่าง เนื่องจากช่วงนั้นจนกรอบมาก

โจรถามเธอว่าเป็นนักเรียนไม่ใช่หรือ คนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ต้องรวย เธอตอบว่า เธอไม่ได้ร่ำรวย แต่มาเรียนได้เพราะได้ทุน

เขาถามเธอว่าจะไปไหน เมื่อได้คำตอบว่า กำลังจะไปซื้ออาหาร เขาแปลกใจ ถามว่าเงิน ๒๐ ดอลลาร์พอหรือ เธอตอบว่าเหลือเฟือเพราะตั้งใจซื้อไข่อย่างเดียว โหลละ ๒ ดอลลาร์เท่านั้น

เขาถามต่อว่า เอาไข่ไปทำอะไร เธอตอบว่า เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์

ระหว่างนั้นเอง เธอสังเกตเห็นยามมหาวิทยาลัยกำลังเรียกตำรวจ เธอจึงรีบโบกมือ พร้อมกับบอกว่า ไม่ต้องเพราะเราเป็นเพื่อนกัน

โจรพอได้ยินเช่นนั้นก็ทำท่างง แล้วถามเธอว่า รู้จักกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เธอตอบว่าเมื่อกี้ไง

จากนั้นเธอก็แนะนำตัวว่ามาจากประเทศไทย ซึ่งกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก จนต้องยอมเป็นเบี้ยล่างให้ไอเอ็มเอฟ สภาพของเธอจึงย่ำแย่กว่าเขาเสียอีก

หลังจากสนทนาพักหนึ่ง เหตุการณ์นี้ก็ลงเอยแบบกลับตาลปัตร โจรแทนที่จะปล้นเอาเงินเธอ กลับพาเธอไปร้านค้า แล้วซื้ออาหารกับขนมให้เธอ ๓ ถุงใหญ่ พร้อมกับหิ้วมาส่งที่หน้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งยังแถมเงินให้อีก ๕๐ ดอลลาร์

คนผิวดำคิดจะปล้นเอาเงินจากนักศึกษาไทย แต่เปลี่ยนใจเมื่อได้เห็นน้ำใจของเธอที่นอกจากห้ามยามไม่ให้เรียกตำรวจแล้ว ยังเห็นเขาเป็นเพื่อน ยิ่งมารู้ว่าเธอมีฐานะการเงินไม่สู้ดีนัก ก็รู้สึกเห็นใจ และยอมควักเงินช่วยเหลือเธอแทน

เวลานึกถึงโจรหรือขโมย เรามักคิดว่าเขาเป็นคนเลวที่เห็นแก่ตัวสถานเดียว แต่เขาก็เช่นเดียวกับเรา คือมีคุณธรรมอยู่ในจิตใจ แต่บางขณะความเห็นแก่ตัวได้ครอบงำจิตใจของเขา จึงลงมือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้กระนั้นความดีในใจของเขาก็สามารถมีพลังเหนือความเห็นแก่ตัว และทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามแทน ในกรณีของคนผิวดำคนนี้ ความดีในใจของเขาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ได้รับการกระตุ้นจากน้ำใจไมตรีของนักศึกษาไทย

ความดีนั้นมีพลัง มันสามารถเชิญชวนหรือดึงดูดความดีที่ซุกซ่อนในใจของอีกฝ่ายหนึ่งให้แสดงตัวออกมา จนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลในใจของเขาได้ ใครก็ตามที่ได้รับการปฏิบัติด้วยดี อย่างมีน้ำใจไมตรี พลังแห่งความดีในใจเขาจะถูกกระตุ้นจนอยากทำดีกับอีกฝ่ายด้วย

บ่อยครั้งเพียงแค่แสดงความชื่นชมในตัวเขาหรือในการกระทำของเขา ก็สามารถปลุกพลังแห่งความดีขึ้นได้ในใจเขา วัยรุ่นซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ป่วนเมืองกลุ่มหนึ่งถูกรุ่นพี่ชวนให้ไปเข้าค่าย “สุขแท้ด้วยปัญญา” เขาไม่อยากไปแต่เกรงใจรุ่นพี่ ในค่ายนั้นเขาพกพาระเบิดและปืนไปด้วยเพราะรู้ว่าจะต้องเจอแก๊งคู่อริที่นั่น ห้าวันในค่ายเกือบจะเหตุปะทะกันหลายครั้ง แต่ผู้นำค่ายสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ค่ายนั้นจึงสำเร็จด้วยดี ชาวบ้านซึ่งรู้จักวัยรุ่นกลุ่มนี้ประหลาดใจที่ไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น ต่างออกปากชมเขาและเพื่อน ๆ ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจมาก เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เขารู้สึกอยากทำความดี ดังนั้นเมื่อถึงวันปีใหม่ เขากับเพื่อน ๆ จึงอาสาไปช่วยตำรวจตั้งด่านป้องกันอุบัติเหตุ ผู้คนต่างชื่นชมการกระทำดังกล่าว เขาจึงรู้สึกประทับใจมาก เกิดความเชื่อมั่นว่าเขาเองก็สามารถทำความดีได้ หลังจากนั้นเขาได้เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ก่อกวนชาวบ้านอีกต่อไป

ในช่วงใกล้ ๆ กัน นักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งอยากจัดงานวันเด็กให้แก่โรงเรียนบนดอยที่ห่างไกล แต่เนื่องจากมีทุนจำกัด ทุกคนจึงไปเล่นดนตรีเปิดหมวก หาเงินได้ถึงสามหมื่นบาท ช่วงที่ไปสำรวจพื้นที่นั้น เป็นช่วงหน้าฝน ทางลื่นไถลลำบากมาก อีกทั้งอันตราย นักเรียนกลุ่มนี้จึงไปขอความช่วยเหลือจากนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเด็กเกเรประจำโรงเรียน ขอให้ช่วยขี่มอเตอร์ไซค์วิบากพาไปส่งที่โรงเรียน ฝ่าย “เด็กแว๊ง” นั้นก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ จนทุกคนถึงที่หมายโดยปลอดภัย ทุกคนชื่นชมนักเรียนกลุ่มนี้มาก ยกย่องให้เป็น “พระเอก” ทำให้พวกเขาเกิดกำลังใจที่จะทำความดี หลังจากนั้นพวกเขาได้เป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ แม้จะเรียนจบแล้ว

สองกรณีข้างต้นยังชี้ว่า นอกจากคำชื่นชมจากผู้อื่นแล้ว การมีโอกาสได้ทำความดี สร้างสรรค์ประโยชน์ ล้วนมีผลในการหนุนเสริมพลังแห่งความดีในใจเราให้งอกงาม จนอยากทำความดีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะปรารถนาคำชื่นชมเท่านั้น หากยังเพราะมีความสุขที่ได้ทำความดี เป็นความสุขที่เกิดจากความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนมีคุณค่า รวมทั้งมีความสุขที่เห็นผู้อื่นได้รับความสุขจากการกระทำของตน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนนั้น ที่ผ่านมามักเน้นมาตรการเชิงลบ เช่น ตำหนิ เพ่งโทษ หรือใช้อำนาจ แต่สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือการใช้มาตรการเชิงบวก ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะการให้รางวัลเป็นแรงจูงใจเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การเสริมสร้างพลังแห่งความดีในใจของผู้คน ด้วยการมีน้ำใจไมตรี ปฏิบัติต่อกันด้วยความปรารถนาดี มองเห็นด้านดีของเขา รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้เขามีโอกาสทำความดีได้มากขึ้น

การใช้มาตรการเชิงลบนั้นแม้จะมีประโยชน์ แต่บ่อยครั้งก็กลับกระตุ้นความรู้สึกฝ่ายลบขึ้นมาในใจของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น เมื่อตำหนิว่ากล่าวเขา ก็ทำให้เขาโกรธและตอบโต้กลับคืน ซึ่งก็เท่ากับกระตุ้นให้อีกฝ่ายว่ากล่าวรุนแรงขึ้น หาไม่ก็ทำให้เขาปกป้องตนเองจนไม่คิดที่จะปรับปรุงตนเอง ส่วนการใช้อำนาจนั้นแม้ทำให้อีกฝ่ายกลัว แต่ก็เกิดความรู้สึกต่อต้านเป็นปฏิปักษ์ จนคิดแต่จะทำสิ่งที่เป็นการบั่นทอนบ่อนทำลายมากกว่าที่จะทำสิ่งสร้างสรรค์

พลังฝ่ายลบนั้นย่อมดึงพลังฝ่ายลบของอีกฝ่ายออกมา ในทำนองเดียวกัน พลังฝ่ายบวกย่อมกระตุ้นพลังฝ่ายบวกของอีกฝ่ายให้แสดงตัวออกมา หากเราปรารถนาที่จะสัมผัสหรือได้รับความดีงามจากอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีทางอื่นนอกจากเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำดีกับเขาก่อน

ปฏิรูปจิตสำนึก



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กันยายน 2553

ตุลาคมเป็นเดือนแห่งการระลึกถึงความตายของเพื่อนคนไทยในความขัดแย้งทางการเมือง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ และก็ควรรวมถึงการเสียชีวิตกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ และเมษายน – พฤษภาคม ๒๕๕๓ ด้วย ชีวิตเป็นของมีค่า ไม่ควรทำให้ตกไปเพราะเหตุใดๆ หรือเพื่อผลใดๆ คนไทยทั้งมวลควรคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งว่าในการอยู่ร่วมกันต่อไป ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ต้องมาฆ่ากันอีก แม้เพราะเหตุใดๆ หรือเพื่อผลใดๆ การฆ่าเป็นบาปมหันต์ คนไทยจะฆ่ากันไม่ได้อีกต่อไป

เราลองมาทบทวนใคร่ครวญจากง่ายไปหายาก ในครอบครัวทุกคนคิดถึงการอยู่ร่วมกัน ในการอยู่ร่วมกันไม่มีการคิดเชิงกำไรขาดทุน ไม่คิดเชิงการแข่งขัน ลูกคนไหนอ่อนแอหรือพิการ แม่กลับดูแลใส่ใจมากขึ้น ไม่มีการทอดทิ้งกัน อาจมีบางคนทำผิดก็มีการให้อภัยกัน ไม่ใช่ขับไล่หรือฆ่าให้ตาย เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน คิดถึงการอยู่ร่วมกันของทั้งหมด นั่นคือมีการเห็นความเป็นทั้งหมด คิดเพื่อทั้งมวล และทำเพื่อทั้งหมด ของครอบครัว

ไม่ได้คิดแยกส่วนเฉพาะตัว ถ้าคิดแยกส่วนเฉพาะตัว ทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเราคิดถึงความเป็นทั้งหมดของครอบครัว ครอบครัวจึงเข้มแข็ง ครอบครัวจึงเป็นฐานที่ให้ความอบอุ่น ความปลอดภัย และความสุขแก่เรา

แต่การคิดถึงความเป็นทั้งหมดของเราจำกัดอยู่เฉพาะในครอบครัวและในชุมชนครั้งโบราณ แต่ในสังคมใหญ่ใจเรายังไปไม่ถึง สังคมใหญ่แต่จิตของคนในสังคมยังเล็ก จิตเล็กทำให้ไม่เห็นว่าเราเป็นทั้งหมด ทั้งหมดคือเรา ไม่เห็นว่าสังคมคือครอบครัวของเรา เราคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน เฉพาะตัวเราและพวกของเรา เมื่อคิดแบบแยกส่วนเฉพาะตัวเราและพวกเรา ไม่คิดถึงทั้งหมด ทั้งหมดก็ขาดความเป็นปรกติ นั่นคือระส่ำระสาย แตกแยก และรุนแรง

ในระบบใดๆ สมาชิกจะต้องเห็นทั้งหมด คิดเพื่อทั้งหมด และทำเพื่อทั้งหมด ระบบนั้นจึงจะเป็นปรกติและราบรื่น เมื่อทั้งหมดเป็นปรกติและราบรื่น ทำให้แต่ละสมาชิกเป็นปรกติและราบรื่น ถ้าทั้งหมดไม่ปรกติและราบรื่น สมาชิกก็ปรกติและราบรื่นไม่ได้ ความเป็นปรกติและราบรื่น ด้วยกันทั้งหมดทำให้หลุดพ้นจากความบีบคั้น นั่นคือเป็นอิสรเสรี

เป็นอิสรภาพและเสรีภาพของทั้งหมด

ธรรมะแห่งความเป็นทั้งหมด จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมการคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน จึงนำไปสู่การติดขัด บีบคั้น แตกแยก และรุนแรง

เพราะจิตเล็ก มนุษย์จึงเห็นแบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วน และทำแบบแยกส่วน ทั้งหมดทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องดีๆ ถ้าคิดอย่างแยกส่วนก็จะไปไม่ได้ทั้งสิ้น เช่น ธรรมะแบบแยกส่วน เสรีภาพแบบแยกส่วน สิทธิมนุษยชนแบบแยกส่วน การพัฒนาแบบแยกส่วน การศึกษาแบบแบบแยกส่วน ฯลฯ

แม้เพราะเหตุนี้ โลกจึงวิกฤต ประเทศจึงวิกฤต

ตัวอย่างระบบที่ดีที่สุดคือร่างกายของเรา เซลล์ทุกเซลล์ อวัยวะทุกอวัยวะจะต้องรู้และทำเพื่อความเป็นทั้งหมด ร่างกายของเราจึงจะมีความเป็นปรกติและราบรื่น ถ้าจะมีเซลล์ใดเซลล์หนึ่ง “คิด” แบบแยกส่วน ทำเป็นเอกเทศเฉพาะตัว ไม่คำนึงถึงความเป็นทั้งหมด เซลล์นั้นคือเซลล์มะเร็ง เมื่อกลุ่มเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็รบกวนความเป็นปรกติสุขของร่างกายทั้งหมด ทำให้ชีวิตร่างกายดำเนินต่อไปไม่ได้

มนุษย์และธรรมชาติทั้งหมดจะเป็นระบบเดียวกัน แต่เพราะมนุษย์มีจิตเล็กไม่เห็นความเป็นทั้งหมด คิดแบบแยกส่วนทำแบบแยกส่วน จึงเหมือนสังคมมีเซลล์มะเร็งเต็มไปหมด จึงไม่แปลกใจว่าทำไมสังคมจึงป่วย และโลกจึงป่วยรุนแรง เพราะเต็มไปด้วยคนจิตเล็กที่คิดแยกส่วนเฉพาะตัว

ไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง” ลาสโล โกรฟ และรัสเซลล์ จึงกล่าวว่า มีทางเดียวเท่านั้นที่โลกจะหลุดพ้นจากวิกฤตคือ ปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution)

ปฏิวัติจิตสำนึกคือการเปลี่ยนแปลงจากจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่

จิตเล็กเห็นแบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน นำไปสู่ความติดขัด จิตใหญ่เห็นทั้งหมด คิดเพื่อทั้งหมด และทำเพื่อทั้งหมด นำไปสู่ความเป็นปรกติและราบรื่นของทั้งหมด

เมื่อมนุษย์อวกาศชื่อ เอ็ดการ์ มิตเชลล์ มองจากอวกาศเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของโลกทั้งหมด จิตเขาเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง หลุดพ้นจากความบีบคั้นของความคับแคบ เกิดความเป็นอิสระ มีความสุขอย่างล้นเหลือ รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด เอ็ดการ์ มิตเชลล์ เกิดจิตสำนึกใหม่ ไปพ้นจากความมีจิตเล็กที่กักขังตัวเองอยู่ในความคับแคบ สู่ความมีจิตใหญ่ที่เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งหมด

ขณะนี้กระแสใหญ่ (Mega Trend) ของโลก คือกระแสสร้างจิตสำนึกใหม่ หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกคือ หนังสือในตระกูลจิตสำนึกใหม่ ซึ่งมีวิธีการและชื่อที่หลากหลายต่างๆ นานา เพราะมนุษย์ตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า จิตสำนึกใหม่หรือจิตสำนึกใหญ่ คือทางรอดของมนุษยชาติ

ประเทศไทยวิกฤตสุดๆ จนขัดแย้งรุนแรงและปริ่มๆ จะเกิดมิคสัญญีกลียุค ทำให้คนไทยจำนวนมากเกิดสำนึกว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ประเทศไทย เพื่อไปพ้นวิกฤต จะเรียกว่าปฏิรูปประเทศไทย ปฏิวัติ อภิวัติ ยกเครื่อง สังคายนา หรืออะไรก็ตามที เราแก้ปัญหาประเทศด้วยการรักษาตามอาการ ทำนองกินยาแก้ไขแก้ปวดกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้รักษาที่สาเหตุพื้นฐานของโรค โรคประเทศไทยจึงไม่หาย แต่กำเริบและรุนแรง

การปฏิรูปประเทศไทยจึงเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเรามีโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องหลายเรื่อง อันนำไปสู่การขาดความเป็นธรรม เช่นโครงสร้างทางการปกครอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการจัดสรรทรัพยากร โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางการศึกษา เป็นต้น

แต่ลึกที่สุดคือการปฏิรูปจิตสำนึก การปฏิรูปจิตสำนึก – การปฏิรูปโครงสร้าง จะต้องควบคู่กันไป คนไทยจะต้องออกจากการมีจิตเล็ก หรือจิตมะเร็งที่คิดแบบแยกส่วนเฉพาะตัวเอง ไปสู่จิตใหญ่หรือจิตสำนึกใหม่ ที่เข้าถึงความเป็นทั้งหมด ว่าเราคือส่วนรวม - ส่วนรวมคือเรา หรือเราคือทั้งหมด – ทั้งหมดคือเรา

จิตสำนึกใหญ่จะทำให้หลุดพ้นจากความบีบคั้น เป็นอิสระ เกิดความสุขอันล้ำลึก รักเพื่อนมนุษย์และรักธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใหม่จากมุ่งกำไรสูงสุด ไปสู่การอยู่ร่วมกันกันอย่างสูงสุด วัตถุประสงค์ใหม่ทำให้จิตใหญ่ และจิตใหญ่ทำให้เกิดวัตถุประสงค์ใหม่ การปฏิวัติจิตสำนึกจะทำให้เราไปพ้นโศกนาฏกรรมแบบตุลาคม

Inception ปลูกความคิด ให้ตรงกับความจริง



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2553

“Your mind is the scene of the crime”

จิตพิฆาตโลก (Inception) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แนวแอ็คชัน-ไซไฟ จากผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ได้สร้างภาพยนตร์ชั้นยอดมาแล้วอย่าง The Dark Knight เขายังคงรักษาแนวทางการกำกับภาพยนตร์ที่สื่อถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างลงตัว Inception ได้สร้างความฮือฮากับในวงนักคิด นักจิตวิทยา ว่าเขาสามารถสะท้อนแนวคิดทางจิตวิทยาออกมาได้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงได้ง่าย และเป็นรูปธรรม

เพื่อนหลายคนเชียร์ให้ผมเขียนเรื่องนี้ออกมา แล้วช่วยวิเคราะห์ให้หน่อยว่าประเด็นในเรื่องมันเชื่อมโยงอย่างไรบ้างกับจิตใจของเรา บางคนบอกว่า มันคล้ายกับงานจัดอบรมที่ผมทำมาก จึงคิดว่าได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมพอดีกับภาพยนตร์ลาโรงไปสักระยะ เขียนบทความสักชิ้นที่เชื่อมโยงเนื้อเรื่องจากภาพยนตร์เข้ากับประเด็นการทำงานกับจิตใต้สำนึก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับลึกของบุคคล และนี่เป็นเพียงการตีความแค่มุมมองหนึ่งเท่านั้น เนื้อหาต่อจากนี้ จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบยกเนื้อหาสำคัญของเรื่องมาวิเคราะห์ (Spoil Alert!!!)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพโลกในอนาคตที่การก่ออาชญากรรม สามารถใช้เทคโนโลยีเจาะเข้าไปในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เพื่อล้วงข้อมูลความนึกคิดที่เก็บซ่อนไว้ในส่วนลึกของจิตใจ อาชญากรจะอาศัยช่วงเวลาที่คนหลับ เข้าไปจารกรรมข้อมูลในโลกความฝัน อันเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เปราะบาง ไม่รู้ตัว และจิตสำนึกใช้กลไกการป้องกันตัวลดลง การก่ออาชญากรรมเช่นนี้สร้างความกังวลใจแก่บรรดานักธุรกิจและผู้มีอิทธิพลอย่างมาก จึงเกิดคอร์สฝึกอบรมต่อต้านการจารกรรมในความฝัน เพื่อสามารถปกป้องการบุกรุกจากการจารกรรมในขณะที่เจ้าตัวหลับอยู่

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้ผู้ชมเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ความฝันมีหลายชั้น ยิ่งความฝันชั้นลึกเข้าไปเท่าไหร่มนุษย์ก็จะยิ่งเปราะบางมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการถูกจารกรรมข้อมูลมากขึ้น แต่การดำเนินเรื่องกลับพลิกผันว่า ภารกิจที่ดอม หัวขโมยระดับพระกาฬ (แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ได้รับครั้งนี้ ไม่ใช่การขโมยความคิด เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นการปลูกความคิด (Inception) ให้กับฟิสเชอร์ ทายาทนักธุรกิจค้าพลังงานที่ครองตลาดครึ่งค่อนโลก ให้เลิกล้มความคิดสานต่อการครอบครองตลาดจากพ่อของเขาที่กำลังจะตาย และภารกิจนี้ก็เป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เขาได้กลับไปหาลูก และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ลบล้างประวัติอาชญากรของตน

ภารกิจปลูกความคิดได้เริ่มขึ้นโดยการรวบรวมทีมงานและวางแผน หาจุดเปราะบางของฟิสเชอร์ คือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับตัวเขา พวกเขาต้องการเจาะเข้าไปถึงความฝันชั้นที่สาม ซึ่งเป็นชั้นที่ลึกที่สุด และยากมากที่อาชญากรทั่วไปจะเข้าถึงได้ เพื่อให้แน่ใจว่า การปลูกความคิดนั้นจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากที่สุด

แนวทางนี้มีความละม้ายคล้ายกันอย่างมากกับกระบวนการเอกซ์เรย์จิต ที่ผมใช้ทำงานเพื่อวิวัฒน์จิตคน กล่าวคือ การเข้าไปทำงานกับจิตในระดับลึก เพื่อปลูกความคิดให้ตรงกับความจริง การเอกซ์เรย์จิตจะพาเราเข้าไปสำรวจและสะท้อนตนเอง ผ่านไปทีละชั้นๆ จนถึงชั้นที่ลึกที่สุด นั่นคือ ความเชื่อใหญ่ หรือสมมติฐานใหญ่ (Big Assumption) ที่แต่ละคนมีไว้เป็นข้อกำกับหรือธรรมนูญชีวิตของแต่ละคน การเอกซ์เรย์จิตเข้าไปในแต่ละชั้นจะเป็นการเปิดเผยและเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า เมื่ออยู่ในการจัดอบรมที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยและไว้วางใจร่วมกัน การเปิดเผยและเปราะบางเป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นไปทีละชั้น แตกต่างอย่างมากกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ที่เป็นการบุกรุกเข้าไปสู่โลกภายในจิตใจของตัวละคร ฟิสเชอร์เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ผ่านคอร์สฝึกอบรมต่อต้านการจารกรรมในความฝันมาแล้วอย่างดี ทำให้การเจาะเข้าไปในแต่ละชั้นที่ลึกขึ้นไป ยิ่งมีความยากลำบากในการฝ่าฟันกลไกการป้องกันตนเองที่หนาแน่นตามไปด้วย ผมอยากชวนให้ผู้อ่านใช้โอกาสนี้ ลองทบทวนตนเองดูว่า เรามีกำแพงปกป้องความเปราะบางกี่ชั้น หนาแน่นเพียงไร

สมมติว่า เราเอกซ์เรย์จิตผ่านกันมาได้ทุกชั้น จนเจอกับความเชื่อใหญ่ เราจะพบว่า ความเชื่อใหญ่นั้นทำหน้าที่กำกับทิศทางชีวิตเรามาโดยตลอด ลักษณะสำคัญของความเชื่อใหญ่ประการหนึ่งคือ ความเชื่อนี้หลอกให้เราคิดว่าเราถูกอยู่เสมอ และทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม การพบกับความเชื่อใหญ่ ก็เหมือนกับการพบว่าเราหลอกตัวเองมานานแสนนาน และจุดนี้เองจึงจะเปิดโอกาสให้เราได้ปลูกความคิดลงไปใหม่ เพื่อปรับความเชื่อใหญ่ให้ตรงกับความจริงของโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว และโลกก็ไม่ได้หมุนรอบตัวเราอย่างที่เคยคิดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ภารกิจปลูกความคิดของดอมและทีม คือการเข้าไปปรับความเชื่อของฟิสเชอร์ที่เขามีต่อพ่อ ...ในโลกความจริง พ่อเรียกให้ฟิสเชอร์เข้าพบก่อนสิ้นใจเพื่อพูดเพียงคำเดียวว่า “ผิดหวัง” และคำพูดนั้นทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดใจอย่างมาก และทำให้ความสัมพันธ์ทางใจระหว่างเขาและพ่อร้าวฉานลง แม้ว่าพ่อจะจากไปแล้ว ...ในโลกความฝันชั้นที่สาม ฟิสเชอร์ได้พบกับพ่ออีกครั้ง ดอมและทีมงานจัดฉากให้ฟิสเชอร์รับรู้ว่า ที่ผ่านมาพ่อยังคงมีเยื่อใยกับเขามาก ทำให้เขาเปิดใจกับพ่ออีกครั้ง เมื่อฟิสเชอร์เข้าไปใกล้พ่อ บทสนทนาก็เกิดขึ้น

พ่อ: (พยายามพูดด้วยความยากลำบาก) “ฉันผะ ผะ ผิดหวะ...”

ฟิสเชอร์: “ผมรู้ครับพ่อ ว่าพ่อผิดหวังที่ผมไม่สามารถเป็นได้อย่างที่พ่อเป็น”

พ่อ: “ไม่ ไม่ ไม่ พ่อผิดหวังที่เธอพยายาม (จะเป็นเหมือนพ่อ)”

และน้ำตาของฟิสเชอร์ก็ร่วงหล่นลงจากเบ้าตา

แม้เหตุผลของการปลูกความคิดในภาพยนตร์จะแตกต่างอย่างมากกับการทำงานวิวัฒน์จิต กล่าวคือ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของผู้บงการ และพ่อตัวจริงอาจจะไม่ได้พูดเช่นนี้ แต่ “กระบวนการ” ทำงานกับจิตใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีความคล้ายกันมาก ตรงที่เมื่อเราเอกซ์เรย์จิตจนพบกับความเชื่อใหญ่แล้ว เราจะทำงานกับความเชื่อใหญ่ เพื่อปรับความเชื่อใหญ่นี้ให้ตรงกับความจริง

ความเชื่อใหญ่ของฟิสเชอร์ในเรื่องนี้คือ “ฉันไม่เป็นที่รัก” (พ่อผิดหวังในตัวลูก) และ “ฉันไม่สามารถ” (ไม่สามารถเป็นอย่างพ่อได้) และประโยคสั้นๆ ที่ทีมปลูกความคิดใส่เข้าไป เป็นการทำงานกับจิตใต้สำนึกเพื่อไปปรับความเชื่อใหญ่ให้กลายเป็น “ฉันเป็นที่รัก” (พ่อไม่ได้ผิดหวังในตัวลูก) และ “ฉันสามารถ” (ลูกประสบความสำเร็จได้อย่างที่ลูกเป็น) เมื่อได้ปลูกความคิดลงไปในความฝันชั้นที่สามแล้ว ทีมปลูกความคิดก็ค่อยๆ พาฟิสเชอร์กลับขึ้นมาทีละชั้นๆ และตรวจสอบให้แน่ใจว่า เมื่อตื่นขึ้นมาจากความฝันในแต่ละชั้น เขาได้ปรับเปลี่ยนความคิดในการสร้างธุรกิจใหม่ โดยหันมาเชื่อมั่นในวิถีทางของตนเอง ไม่ได้เดิมตามรอยพ่อที่จะครอบครองตลาดโลก และทำอยู่บนพื้นฐานของความรักที่มั่นคงระหว่างเขากับพ่อ

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นการไปปรับเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่น แต่การทำงานวิวัฒน์จิตกลับตรงข้ามกัน คือ เป็นการปรับเปลี่ยนความเชื่อของตัวเราเอง ให้ตรงกับความจริง ไม่มีใครจะปลูกความคิดให้กับใครได้ นอกจากตัวเราเอง และตัวเรานั้นเองคือผู้ที่รับผิดชอบ และเลือกว่าจะหยุดอยู่กับที่ หรือปรับเปลี่ยนถึงขั้นรากฐาน ตัวเราเองนั่นแหละที่จะเป็นผู้วิวัฒน์จิตตัวเอง…

Back to Top