ตุลาคม 2005

ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม
ความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2548

คำหลักๆ ที่ขึ้นต้นเป็นชื่อของบทความนี้มีความหมายที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จนในหลายๆ กรณีมีบางคนเอาไปใช้ในความหมายเดียวกัน บางคนใช้เป็นเหตุผลในการสนับสนุนหรือการปกป้องการกระทำของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็โจมตีผู้อื่นที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม

เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในสื่อหลากชนิด โดยเฉพาะจากนักการเมือง และแม้กระทั่งจากเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิดบางคน

หรือโลกยุคปัจจุบันและโลกในอนาคตอันใกล้ กำลังลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม ความยุติธรรม ความชอบธรรม เหลือแค่เพียงความถูก-ผิดทางกฎหมาย และโดยเฉพาะความถูก-ผิดตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานของตนเอง จึงเกิดการโต้แย้งโต้เถียง ปกป้องและกล่าวหาผู้อื่นในทำนองว่าตนเองทำถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่ตนสังกัด ทำถูกต้องตามหน้าที่ของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ส่วนคนอื่นที่ประท้วงหรือต่อต้าน เป็นฝ่ายผิด ไม่รู้เรื่องหรือแม้กระทั่งหาเรื่อง ในทางกลับกันอีกฝ่ายก็โจมตีอีกฝ่ายว่าผิด และบอกว่าตนเองถูก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีตำแหน่งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณ คุณวิสุทธิ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เช่นประธานวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการสตง. และอีกหลายๆ คน ไม่มีใครบอกว่าตัวเองทำผิด มีแต่บอกว่าทำถูกต้องตามขั้นตอน ตามกฎหมาย ตามกฎ ระเบียบข้อบังคับ

ข้อสังเกตและข้อควรพิจารณาก็คือ ถ้าทุกคนทำถูกต้อง ทุกหน่วยงานทำถูกต้อง แล้วทำไมจึงยังมีปัญหาอยู่ และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าไม่ควรทำให้เรื่องนี้กระทบกระเทือน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

บนความสับสนวุ่นวายของปัญหานี้ ที่เหลือไว้คือความทุกข์และความเจ็บปวดทางความรู้สึกของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์กับคู่กรณี ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมทางกฎหมาย ที่เหลือไว้คือความทุกข์ความเจ็บปวดที่ต้องไปต่อสู้กันในศาล เพื่อพิสูจน์ความถูก-ผิดทางกฎหมาย

ความดี ความงาม ความมีคุณธรรมจริยธรรม และสุนทรียธรรมในชีวิตและสรรพสิ่งหายไปไหนหมด คู่กรณีไม่สามารถจะมีสุนทรียสนทนากันได้ ต้องจ้างนักกฎหมายให้ว่าและหาความแทนตนเอง กลายเป็นสงครามตัวแทน

กรณีการซื้อหุ้นมติชน ผู้ซื้อก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมเพราะทำถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. ฝ่ายผู้ถูกซื้อก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมในการต่อต้าน และต่อสู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายมีความชอบธรรมและต่อสู้กันอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย ที่เหลือไว้คือความทุกข์และความเจ็บปวดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรณีของคุณประมวล รุจนเสรี กับสมาชิกพรรคไทยรักไทยจำนวนหนึ่ง ที่ต่างก็อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อ้างความชอบธรรม และบางคนอ้างมารยาท ฝ่ายหนึ่งอยากให้ถูกไล่ออกจากพรรคอีกฝ่ายหนึ่งก็อยากไล่ให้ออกจากพรรค แต่จนถึงปัจจุบันคุณประมวลก็ยังคงสถานภาพเหมือนเดิมตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนสถานภาพทางสังคมและการยอมรับจากพรรคไทยรักไทย ที่เหลือไว้คือความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน และรอวันเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎระเบียบข้อบังคับของพรรค

ความเป็นเพื่อนร่วมพรรค ความรักความเมตตาที่เคยมีให้แก่กันและกัน มันหายไปไหนหมด ทำไมจึงเอาความเคียดแค้น ชิงชัง มาแทนที่ความเป็นกัลยาณมิตร

กรณีกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมือง ผู้ผลักดันก็บอกว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความชอบธรรม แต่ผู้คัดค้านก็บอกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมและไม่ยุติธรรมกับข้าราชการประเภทอื่น

ตกลงความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมจริงหรือไม่ ความถูกต้องตามกฎหมาย สร้างให้สังคมเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมจริยธรรมหรือไม่ ทั้งที่ในหลักการแล้วกฎหมายที่ดีก็ควรนำไปสู่ความยุติธรรมและความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ไม่ควรแยกหรือแปลกแยกออกจากกัน

เนติกรที่ดีก็ควรมีจิตวิญญาณและจิตสำนึกของการเป็นเนติบริกรที่ตั้งอยู่บนความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรมและความมีคุณธรรมจริยธรรมประจำใจ ไม่ใช่การพยายามจะจับผิดหรือเอาชนะคู่กรณีในแง่ของการเล่นแร่แปรธาตุในทางกฎหมาย เพียงเพื่อชื่อเสียงและความสมประโยชน์ของฝ่ายตน เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายก็จะเหลือแต่ความถูก-ผิดตามตัวอักษรและความเชี่ยวชาญในการบิดเบือนกฎหมายของเนติกรที่ขาดจิตวิญญาณของการเป็นนักกฎหมายที่ดี เพราะขาดความถูกต้องชอบธรรม ขาดความยุติธรรมในแง่ของคุณธรรมจริยธรรมและสุนทรียธรรมในจิตใจ

กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็เช่นกัน ต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องของความถูก-ผิดทางกฎหมาย หรือเป็นเรื่องของความชอบธรรม ความยุติธรรม หรือเป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม หรือจริงๆ แล้วมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปหมด ถ้าคำตอบคือเรื่องถูก-ผิดทางกฎหมาย ก็มีแนวโน้มว่าจะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ถ้าเป็นเรื่องของความชอบธรรมความยุติธรรม ก็ควรใช้และให้ความชอบธรรมและความยุติธรรม ถ้าเป็นเรื่องของความคุณธรรมจริยธรรม ก็ควรมาเน้นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ถ้ามองว่ามันสัมพันธ์กันไปหมด ก็ควรจัดการแบบองค์รวมที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยง และจึงต้องระดมหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยกัน

ผู้บริหารและผู้นำของโลก ของประเทศ และขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรทางธุรกิจและการเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เชื่อ คิด และทำ ภายใต้ภาวะถูกมนต์สะกดของ "กลไกตลาด" ที่ดูเหมือนเป็นคำที่ขลังและยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นคำที่ผู้บริหาร นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ในกระแสต่างก็ใช้คำนี้เป็นคำอธิบาย และบางครั้งก็ใช้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จนบ่อยครั้ง ขาดสติ ขาดปัญญา ที่จะมองเห็นว่า "กลไกตลาด" นั้นมันผุดโผล่มาจาก "การค้าเสรี" ภายใต้การสะกดจิตของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่เน้นการแข่งขันมากกว่าการแบ่งปัน เน้นความโปร่งใสในความหมายแคบๆ แค่ทำตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ และตรวจสอบความถูก-ผิด ตามกฎกติกาได้ โดยทำให้หลงเชื่อ โน้มน้าวและ/หรือบีบบังคับด้วยหลากวิธีเพื่อจะได้นำโลกไปสู่ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ตามกฎกติกาและมาตรฐานที่ตนวางไว้

เรากำลังอยู่ภายใต้สงครามล้างเผ่าพันธุ์ทางความคิด ทางวัฒนธรรม และดูเหมือนว่าเรากำลังจะพ่ายแพ้ เพราะหลายภาคส่วนในสังคมของเรามีวิสัยทัศน์ มีพันธกิจ มียุทธศาสตร์และการปฏิบัติในแนวทางของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมแบบเกินร้อย และเชื่อว่าเราสามารถจะเป็นที่หนึ่งได้

เรากำลังถูกทำให้เหมือนกันทั่วโลก ภายใต้ "มาตรฐาน" เดียวกัน และดูเหมือนว่าเรากำลังถูกสะกดจิตหมู่ให้ก้าวเดินไปทางนั้น

นี่เรากำลังถูกสะกดจิตอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะดูเหมือนเราหลงและไหลไปตามกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

เพื่อช่วยสร้างความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรมจริยธรรม และสุนทรียธรรมในสังคมไทยและสังคมโลกให้มีเพิ่มมากขึ้น สมควรที่จะได้มีการนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญาพอเพียง โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวของไทยมาใช้อย่างจริงจัง

จิตวิญญาณนั้นมีค่า อย่าคิดขาย

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2548

หลังบ้านของยายมีหนองน้ำกว้าง ยายลงหลักปักผักบุ้งไว้แปลงใหญ่ ทั้งเอาใจใส่ดูแลจนมันงามทอดยอดอวบสะพรั่ง

ทุกเช้ายายพายเรือเล็กออกไปเก็บผักบุ้ง ยายเด็ดทุกยอดอย่างมีความสุข มันคือน้ำพักน้ำแรงของยาย ยายเรียงยอดผักค่อย ๆ มัดเป็นกำไม่ให้ช้ำ เมื่อนำผักบุ้งไปขายทั้งหมด มันก็ต่อชีวิตของยาย

โรงเรียนปิดเทอม หลานวัยรุ่น ๓ – ๔ คน มาอยู่กับยาย ทุกเช้าเขาพากันพายเรือไปเก็บผักบุ้ง ดึงทึ้งทั้งก้านแก่และยอดอ่อนอย่างสนุก พอได้เต็มลำเรือก็ขยุ้มมัดลวก ๆ เอาไปกองขายไม่ได้ราคา กอผักบุ้งในหนองน้ำก็เหี่ยวเฉา เงินที่ได้ก็ไม่ถึงมือยาย

ความสุขของยายได้หายไปแล้ว หลานเห็นผักบุ้งเป็นของเล่น แต่สำหรับยาย ผักบุ้งเป็นยิ่งกว่าผัก มันเป็นจิตวิญญาณของยาย

สล่าคำแกะสลักไม้เนื้ออ่อนเป็นรูปสัตว์นานาชนิด สัตว์แต่ละตัวมีสีหน้าท่าทางน่ารักน่าชังเหมือนมีชีวิต สล่าคำเหลาเกลากลึงเต็มฝีมือ ทำเพราะรัก เพลิดเพลินในงาน และใส่จิตวิญญาณลงไป เขาทำงานไปตามกำลังที่มี ผลงานผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด มีเงินพอใช้ สล่าคำก็มีความสุขพอสมควร

พ่อค้ามาซื้องานของสล่าคำไปทำต้นแบบ แล้วก็ทำพิมพ์หล่อออกมาด้วยวัสดุอื่น ผลิตจากโรงงานเป็นร้อยเป็นพัน เขาแบ่งกำไรส่วนน้อยให้สล่าคำ เงินส่วนใหญ่เป็นของพ่อค้านายทุน ตุ๊กตาสัตว์เหล่านั้น เป็นตุ๊กตาโหล ไร้จิตวิญญาณ ขาดลักษณะเฉพาะตัว สล่าคำมีเงินมากขึ้น แต่ความสุข ความอิ่มเอิบใจได้หายไปเสียแล้ว

สาวใหญ่เป็นช่างเสริมสวย เธอเบื่อและเซ็งในงานที่ทำจำเจ ทุกวันทำงานซ้ำ ๆ ยืนสระผม เป่า เซ็ทผม กวาดพื้น ซักผ้าขนหนู งานอะไรไม่สร้างสรรค์เลย เธอแต่งผมคนแล้วคนเล่า เหมือนลูกค้าเป็นหุ่น ตัวเธอเองก็ทำงานเหมือนหุ่นเช่นกัน บรรยากาศในร้านดูทึม ๆ และซึม ๆ ร้านเสริมสวยร้านนี้ไม่น่าเข้า ดูไม่มีชีวิตชีวา

จิตวิญญาณของงานบริการคือความยิ้มแย้มแจ่มใส เต็มใจและมีความสุขที่ได้พบผู้มาใช้บริการ สร้างสัมพันธภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมสะอาดและบรรยากาศรื่นรมย์สบายใจ

ครูสังคมสอนนักเรียนให้วาดรูปอย่างมีความสุข นักเรียนได้ฟังเพลง ฝึกคิดจินตนาการ สังเกตสิ่งแวดล้อมและหัดใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง นักเรียนวาดรูปอย่างรื่นรมย์ ผลงานมีสีสัน ชั้นเรียนมีชีวิตชีวา ครูสังคมมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

หมู่บ้านเศรษฐีราคาบ้านหลังละสามสิบล้าน ทุกบ้านก่อกำแพงสูง ต่างคนต่างอยู่ บ้านติดกันแต่ไม่รู้จักกัน บ้านหนึ่งเลี้ยงสุนัขเป็นฝูง เพื่อนบ้านเขียนจดหมายไปใส่ตู้รับหนังสือพิมพ์ว่ารำคาญเสียงสุนัขเห่ามาก ถ้าไม่ห้ามสุนัขเห่า เขาจะฟ้องเจ้าหน้าที่เขตให้มาจับสุนัขไป

หมู่บ้านนี้เหมือนหมู่บ้านร้าง เงียบเหงา เห็นแต่ยามหน้าตาถมึงทึง ขี่จักรยานตรวจตราอยู่นาน ๆ ครั้ง หมู่บ้านเศรษฐีนี้มีราคา แต่ไม่มีจิตวิญญาณของชุมชน

มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมีบริเวณกว้างใหญ่ อาคารสูง สนามกีฬาในร่ม สระน้ำ หอสมุด ฯลฯ พร้อมบริบูรณ์ คณาจารย์มีหน้าที่สอน นักศึกษามีหน้าที่เรียนแล้วสอบให้ได้ ทุกเวลาว่างจะจับกลุ่มอยู่ตามโต๊ะ นักศึกษาแต่งเครื่องแบบที่ไม่ใช่เครื่องแบบ ไม่ใฝ่รู้ ไม่ใฝ่แสวงหาความรู้ คณาจารย์ไม่มีงานวิชาการไม่วิจัย ไม่สนใจที่จะช่วยสร้างสรรค์สถาบันสู่ความเป็นเลิศ ถ้าคณบดีมอบหมายภารกิจ เขาจะถามว่าได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ แทนที่จะถามว่าเราจะช่วยกันทำงานให้ดีได้อย่างไร

มหาวิทยาลัยนั้นเป็นองค์กรที่ขาดจิตวิญญาณ เป็นองค์กรที่มีอาการป่วย ต้องการสร้างเสริมสุขภาวะของหน่วยงาน

จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยบรรยากาศทางวิชาการ กิจกรรมการเรียนการสอนที่ทั้งครูและศิษย์ค้นคว้า เรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา จัดการความรู้และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ฝึกการใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา และมีกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมรวมถึงคุณค่าของบัณฑิตที่มีคุณภาพ

จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย คือการที่สถาบันมีความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้สภาวะแวดล้อม ปัญหาของสังคม และได้ฝึกจิตอาสาสมัคร ในการร่วมพัฒนาชีวิตชาวบ้าน

มหาวิทยาลัย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ประชาคม ชุมชน ต่างก็ทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีจิตวิญญาณรวมกัน

กลับมาเรื่องหุ่นอีกครั้ง เมื่อเราได้ดูโขน และหุ่นกระบอก แม้ว่าคนจะสวมหัวโขน หุ่นจะถูกเชิดถูกชัก แต่สีหน้าท่าทางของหุ่นทุกอิริยาบถเคลื่อนไหวตามบทพากย์และเสียงดนตรี คนเชิดหุ่นเขาฝึกซ้อมจนเชี่ยวชาญ ฝึกฝน พัฒนา ทุ่มเทชีวิตจิตใจลงไปกับการเชิดจนบรรสานสอดคล้องกันระหว่างคนกับหุ่นเป็นหนึ่งเดียว หุ่นจึงไม่เป็นเพียงหุ่น มันมีบทบาท มีจิตวิญญาณ

ต่างจากคนแท้ ๆ คนเป็น ๆ ผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่คิด ไม่ตระหนักในบทบาทภารกิจของตน เพียงมีเหยื่อหรืออามิสสินจ้างมาหลอกล่อ เขาก็ยอมเป็นร่างทรงให้มีคนเชิดอยู่ข้างหลัง คนประเภทนี้มีชีวิตแต่เหมือนหุ่น เขาขาดจิตวิญญาณที่สร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง

ในวงการศึกษาและการเมืองมีข้อเสนอที่ซ้ำซากว่าประเทศของเราต้องมีกระบวนการปลูกฝังจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่จะมีความหมายอะไรถ้าการบริหารบ้านเมืองและเนื้อหาในหลักสูตรการศึกษาเป็นเพียงบอกนิยามความหมายของประชาธิปไตยเท่านั้น วิถีการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอน บรรยากาศการบริหารการศึกษา มิได้เอื้อต่อสิทธิและโอกาสของคนต่างสถานะที่จะสามารถพัฒนาตนไปจนเต็มตามศักยภาพของเขา บรรยากาศทางการเมืองยังขาดสามัคคีธรรม นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถเป็นผู้นำทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ ยังคงมีบรรยากาศของความหวาดระแวงและกลวิธีที่ไม่โปร่งใส มีการยอมสยบต่ออิทธิพลและอำนาจ การปฏิรูปการศึกษาและทางการปฏิรูปการเมืองจึงเห็นผลน้อย เพราะยึดติดอยู่กับเนื้อหาแต่ไม่ลงลึกถึงกระบวนการและเสนอแบบอย่างที่ชัดเจน

รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งได้ส่งคนไปถามกลุ่มวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร ว่ารู้ความสำคัญของวันที่ ๑๔ ตุลาคม หรือไม่ ผลคือผู้ตอบเกือบทั้งหมดมีสีหน้างงงวย มีคำตอบที่น่าขัน เช่น ๑๔ ตุลาคม หมายถึงวันที่ ๑๐ + ๔ เป็นต้น

จิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กำลังจะจางหายไป ใครบ้างในบ้านเมืองนี้รู้สึกเดือดร้อน

กรณีตัวอย่างที่ยกมาดังกล่าว ช่วยให้พอจะอนุมานได้อย่างกว้าง ๆ ว่า จิตวิญญาณนั้นประกอบด้วยจิตใจ ความรัก ความผูกพัน ความตระหนักและสำนึกในคุณค่า หน้าที่ ความสุขสงบ พอเพียง มีชีวิตชีวา ไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สภาวะของจิตใจเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน อบรมตนอย่างต่อเนื่องยาวนาน

จิตวิญญาณไม่ใช่วิญญาณและไม่ใช่ภูตผีปีศาจ หากแต่เป็นสภาวะของจิตที่ได้ฝึกดีแล้ว มีความประณีต เปี่ยมด้วยความใส่ใจ เข้าใจและร่วมใจกัน เป็นนามธรรมภายในที่สามารถแสดงออกมาทางอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และการปฏิบัติภารกิจ ขยายความให้กว้างขึ้นอีก จิตวิญญาณก็เป็นต้นธารของความเมตตากรุณา สุนทรียภาพและความสงบสุขทั้งในส่วนตนและสังคม

แม้ว่าจะพยายามอธิบายเรื่องจิตวิญญาณตามนัยของภาษาและถ้อยคำ แต่จิตมนุษย์นี้ยากที่จะนิยามได้ครอบคลุมครบถ้วน สภาวะมันมีปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มาแปรผันให้จิตวิญญาณของคนและสภาวะของกลุ่มต้องตกต่ำหรือสลายลง

ด้วยเหตุนี้การเสริมสร้างสุขภาพของคนและสังคมจึงต้องคำนึงถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ภารกิจหนึ่งคือการฝึกฝนและพัฒนาจิตให้ลดความเห็นแก่ตัว รักเพื่อนมนุษย์ และลดความขัดแย้งด้วยปัญญา

สติสัมปชัญญะ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ควบคุมมิให้จิตใจคับแคบและตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นจนเป็นอิสระ ก้าวพ้นจากความอยากที่ไร้ขอบเขตและความหวาดกลัว

งานของกลุ่มจิตวิวัฒน์ จึงแสดงความพยายามที่จะเน้นภารกิจในการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ใฝ่ฝันที่จะสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของคนทุกรุ่น ทุกองค์กร เพื่อถักทอความรักและความดีงามให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา

มนุษย์ทุกคน กลุ่มชนทุกกลุ่มมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ซึ่งรวมกันเป็นจิตวิญญาณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงน่าอัปยศอย่างยิ่งถ้ายอมขายจิตวิญญาณที่สร้างสะสมมายาวนาน

ตัวอย่างในสังคมก็เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ มิใช่หรือ

จิต (ที่) อิสระ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 15 ตุลาคม 2548

ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้เคยอธิบายอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับ “จิตวิวัฒน์” ว่าคือจิตที่ใหญ่ จิตที่ไม่คับแคบ และอาจารย์เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า “ชีวิตที่มีอิสรภาพหลุดออกไปจากโครงสร้างต่างๆ ที่กดทับเรามากแค่ไหนก็จะยิ่งพบกับความสุขมากเท่านั้นและสามารถเป็นความสุขแบบฉับพลัน (Instant Happiness) ได้อีกด้วย”

ตามความเข้าใจของผม “ความหมายหนึ่ง” ของ “จิตวิวัฒน์” จึงน่าจะหมายถึงการมี “จิตที่เป็นอิสระ” เพื่อชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น

ผมคิดว่าคำอธิบายเรื่อง “จิตวิวัฒน์” เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ง่ายนักเพราะเป็นเรื่องของการมองโลกแบบคนละใบ อ.จุมพล พูลภัทรชีวิน ก็ได้พยายามอธิบายความหมายบางอย่างไปบ้างแล้วในบทความชิ้นก่อนๆ ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งผมได้เลือกที่จะลองทำหน้าที่นี้ดู ผมอยากจะลองอธิบายความหมายหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ว่าอาจจะหมายถึง “จิตที่อิสระ” ดูว่าอาจจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นได้บ้างและผมก็ขอปวารณาตัวว่าที่เลือกทำหน้าที่นี้ในบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาอวดดีหรืออวดรู้ว่าผมหรือกลุ่มจิตวิวัฒน์จะมี “จิตที่อิสระ” มากกว่าคนอื่นๆ หรืออะไรทำนองนั้นแต่เพียงอยากจะลองนำเสนอความคิดเห็นบางมุมเพื่ออธิบายถึงแนวทางที่พวกเรากำลังพยายามกระทำและยังต้องเรียนรู้กันอยู่เท่านั้น

ในสภาพสังคมปัจจุบัน ดูเผินๆ เหมือนกับว่าพวกเราก็มี “อิสรภาพ” กันดีอยู่แล้ว ใครอยากจะพูดอะไรเขียนอะไรก็ทำได้ในขอบเขต ใครอยากจะทำค้าขายอะไรก็ทำได้ ใครอยากจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ทำได้

แต่ถ้าพวกเราลองมาตรึกตรองดูกันดีๆ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเราส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันนี้ “ไม่เป็นอิสระ” หรือ “ไม่มีอิสรภาพ” เอาเสียเลย

เราอาจจะมีสังคมที่ให้อิสระทุกอย่างตามขอบเขตที่เหมาะสม แต่คิดดูให้ลึกๆ และลองถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมา “เรามีอิสรภาพจริงหรือ?” หรืออีกนัยหนึ่งเรามี “จิตที่อิสระ” มากพอแล้วหรือยัง เพราะจริงๆ และลึกๆ แล้วเราจะรู้สึกได้ว่าบางทีเราเหมือนกับว่าได้ตก “เป็นทาส” ของอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจและเราก็ปลอบตัวเองว่าเรามีอิสรภาพที่จะทำอะไรก็ได้

ผมคิดว่า “อิสรภาพด้านใน” จึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญด้วย เราจะไม่ได้ “อิสรภาพอย่างแท้จริง” ตราบเท่าที่เรายังไม่มี “อิสรภาพด้านใน” หรือ “จิตที่เป็นอิสระ”

คำถามที่อยากจะยกมาเพื่อความเข้าใจในประเด็นนี้ก็คือ อยากจะให้ลองสำรวจชีวิตของพวกเราที่ผ่านมาเอาเป็นว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้ว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้คำถามข้อแรกคือ “ตัวเราได้ทำสิ่งที่อยากทำ” มาก-น้อยแค่ไหน และคำถามข้อที่สองคือ “ตัวเราต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ” มาก-น้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าสองคำถามนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่งถึง “มีอิสรภาพที่แท้จริงในชีวิต” ของพวกเรา สมมติฐานของผมก็คือว่า หนึ่ง คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ทำสิ่งที่อยากทำ สอง คนส่วนมากกว่านั้นยังต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ

ผมชอบท่อนหนึ่งในหนังสือที่ชื่อ The Earth Path มาก เป็นหนังสือที่เขียนโดย สตาร์ฮอว์ค (Starhawk) ซึ่งเป็นนักสังคมบำบัดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีส่วนที่เชื่อมโยงกับเรื่อง “จิตที่เป็นอิสระ” นี้เป็นอย่างดี เธอบอกไว้ว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากมายระหว่างคำว่า “I have to” กับ “I choose to” ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมากเพราะการที่เราจะเลือกใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมจำเป็นต้อง…….” กับ “ผมเลือกที่จะ…………” จะส่งผลที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นต้นว่า

“ผมจำเป็นต้องอดทนทำงานที่ผมต้องทำเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว” กับ “ผมเลือกที่จะทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว” สองประโยคนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกัน

“หนูจำเป็นต้องมีมือถือเพราะเพื่อนเขามีกัน” กับ “หนูเลือกที่จะมีมือถือเพื่อใช้งาน” สองประโยคนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกันเพราะมือถือแบบประโยคแรกจะเป็นมือถือที่แข่งขันกันราคาสูงแข่งกันทันสมัยแบบถ่ายรูปได้อัดเสียงได้เล่นเพลงได้ แต่มือถือแบบที่สองจะเป็นมือถือที่ใช้ติดต่อสื่อสารจริงเท่านั้น

หรือแม้แต่เรื่องราวในด้านลบบางอย่างก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของวิธีคิดและอิสรภาพเช่น “หนูจำเป็นต้องแต่งตัวโป๊เพราะใครๆ เขาก็แต่งกันแบบนั้น” กับ “หนูเลือกที่จะแต่งตัวโป๊เพราะอยากจะแต่ง” การกระทำสองอย่างนี้แสดงถึงอิสรภาพด้านในที่แตกต่างกัน

หลายคนต้องทำงานหนักเพื่อทำมาหากิน ก็จะบอกว่าเขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะไม่มีกิน หลายคนต้องขี้โกงก็บอกว่าเป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะอดตาย บางคนบอกว่า “เราอยู่ในโลกของทุนนิยม เราไม่มีทางเลือก เราต้องเป็นไปตามกระแสโลก”

แบบนี้จะเป็น “จิตที่อิสระ” ได้อย่างไรกัน

เวลาที่เราใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมจำเป็นต้อง……” หรือ “ดิฉันจำเป็นต้อง……” นั่นหมายความถึงความไม่มีอิสรภาพ ความที่จะต้องตกเป็นทาสของสถานการณ์อะไรบางอย่างที่ช่วยไม่ได้หรือที่มักจะพูดกันเสมอว่า “ไม่มีทางเลือก” และโดยลึกๆ แล้วนั่นจะหมายความถึงความพยายามที่จะไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โทษสถานการณ์ โทษคนอื่น โทษคนรอบข้างแต่ไม่เคยโทษตัวเองเลย

ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น” หรือ “ดิฉันเลือกที่จะเป็นอย่างนี้” นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญกับตัวเอง ให้สิทธิ์ตัวเองในการเลือก มีอิสรภาพในการเลือกและพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลของการกระทำอย่างเต็มที่หากว่าเกิดเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์ ไม่โยนความผิดไปให้คนอื่น ไม่โทษสถานการณ์ ไม่โทษคนรอบข้างว่าทำไม่ดีทำให้เราต้องเป็นแบบนี้ เพราะในความเป็นจริงแล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น “เราทุกคนมีอิสระที่จะเลือกได้เสมอ”

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้สึกเบาสบายที่ไหล่ทั้งสองของเรามากขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่ต้องแบกโลกเอาไว้อีกแล้ว เราเพียงทำหน้าที่ของเราตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์และเรารู้ว่าเราเลือกที่จะแบบนั้นและเราจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรากระทำอย่างเต็มที่

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมองเห็น โอกาสใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้นเท่านั้น เราจะมองเห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่างได้เอง เราจะเข้าใจได้ว่าเราสามารถไว้ใจชีวิตได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ได้มากเท่านั้น เราจะมีทางเลือกมากมาย

เพราะแม้แต่ “อิเลกตรอน” ที่ดูเหมือนจะเป็น “เพียงวัตถุ” ในมุมมองแบบหนึ่งก็สามารถเลือกได้ว่ามันอยากจะเป็นคลื่นหรืออยากจะเป็นอนุภาค

อย่างไรก็ตามผู้ที่มี “จิตอิสระ” นี้จะเข้าใจความหมายของ “อิสรภาพ” ว่าไม่ใช่การทำอะไรตามใจตัวฝ่ายเดียวและผมจะขอไม่ลงไปถกเถียงในประเด็นนี้ในบทความนี้

ต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นความหมายหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ที่หลายๆ ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นจะต้องมี จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นมาในวิวัฒนาการของมนุษย์ ณ เวลานี้

ผมไม่ทราบว่า “จิตที่เป็นอิสระ” นี้จะช่วยให้โลกรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ “จิตที่เป็นอิสระ” จะสามารถช่วยให้เรารู้สึกมีพลังมีความสดชื่นและมีความสุขมากขึ้นและมองเห็นโอกาสต่างๆ ที่สร้างสรรค์มากมายได้เหมือนอย่างที่ท่านอ.หมอประเวศ วะสีได้กล่าวถึงไว้ในข้างต้นจริงๆ

ศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2548

คำถามพื้นฐานของสังคมกำหนดความเป็นไปของสังคม

คนบางกลุ่มบางยุคบางสมัยตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร”

ความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ทำให้เกิดศาสนาต่างๆ ขึ้น ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำถามว่า
“ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร” หัวใจของทุกศาสนาคือ “จิตวิวัฒน์”

ในสังคมปัจจุบัน คำถามพื้นฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจะรวย ก็ทำอะไรทุกอย่างก็ได้ที่จะทำให้รวย เช่น เอาเปรียบคนอื่น ค้ากำไรเกินควร ทำลายสิ่งแวดล้อม ขายผู้หญิง ขายเด็ก ส่งเสริมการพนัน และอบายมุขอื่นๆ สร้างภาพ หลอกลวง ทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อฉลด้วยประการต่างๆ ตั้งแต่กินหัวคิวไปจนถึงปั่นหุ้น ไปจนถึงคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย โดยวิธีนี้จะแก้ความยากจนไม่ได้ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคมไม่ได้ เพราะคนที่แข็งแรงก็จะเอาเปรียบคนออ่นแอ และเอาเปรียบส่วนรวม ช่องว่างทางสังคมจะถ่างมากขึ้น ทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง

จะเห็นได้ว่าถ้าถามว่า “ทำอย่าไรจะรวย” บ้านเมืองจะเข้าไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายไร้ศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเกิด “วิวัฒน์” แต่จะ “วิบัติ” มากขึ้นๆ ผู้คนจะจิตใจตกต่ำ จิตของสังคมทั้งหมดก็จะตกลงด้วย ต่อให้เก่งอย่างใดก็สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขไม่ได้ ตราบใดที่ยังตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย”

ในทางตรงกันข้าม ถ้าตั้งคำถามว่า “ความดีคืออะไร” แล้วพยายามตอบ เช่น ความดีคือความซื่อสัตย์ สุจริต ความดีคือความขยันหมั่นเพียร ความดีคือการพึ่งตนเอง ความดีคือการประหยัด ความดีคือความพอเพียง ความดีคือการมีความเมตตา กรุณา ความดีคือการไม่เบียดเบียน ความดีคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความดีคือการอนุรักษ์วัฒนธรรม ความดีคือการมีจิตใจเพื่อส่วนรวม ความดีคือการพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น ดังนี้เป็นต้น

ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยอัตโนมัติ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกับระบบเศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานที่ต่างกัน เศรษฐกิจทุนนิยมอยู่บนคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จึงนำไปสู่พฤติกรรมทางลบต่างๆ นานาตามที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งนำไปสู่ความวิตถารของคุณค่า แต่โบราณมาเราถือว่าความประหยัดเป็นของดี แต่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมถือว่า ต้องกระตุ้นการบริโภค จึงจะทำให้เศรษฐกิจดี ก่อให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตสินค้า การซื้อ การขาย การโฆษณา การเพิ่มการบริโภค เป็นการเพิ่มการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเมื่อน้ำมันขึ้นราคาก็เลี้ยวมากระทบระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เดือดร้อนวุ่นวายวิกฤต เป็นวงจรแห่งความวิกฤตโดยแท้

แต่เศรษฐกิจพอเพียงนั้นอยู่บนฐานของความเพียร สัมมาชีพ การพึ่งตนเอง การประหยัด การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การรู้ความพอดี การมีไมตรีจิตต่อกัน การพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น นั่นคืออยู่บนฐานของความดีนั่นเอง

โปรดสังเกตว่า ถ้าตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จะแก้ความยากจนไม่ได้

เพราะคนแข็งแรงจะเอาเปรียบคนอ่อนแอ และขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าขาดความเป็นธรรมทางสังคมจะแก้ความยากจนไม่ได้ ประเทศไทยไม่ได้ยากจน แต่ขาดความเป็นธรรมทางสังคม คนจนจนเพราะขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าเร่งความร่ำรวยจะยิ่งทำให้ขาดความเป็นธรรมทางสังคม จึงแก้ความยากจนไม่ได้

ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะแก้ความยากจนได้ เพราะความดีทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนพออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน จึงมีคำถามว่า

สาธุชนทั้งหลาย
ความไม่ดี จะทำให้บ้านเมืองเจริญ ไม่ใช่ฐานะจะมีได้


ถ้าสังคมมีการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง จะเป็นฐานของจิตวิวัฒน์อันยิ่งใหญ่

ถ้าสังคมปั่นป่วนไร้ศีลธรรม จะเป็นฐานขอความวิบัติและหายนะ

ท่ามกลางกระแสแห่ง “ทำอย่างไรจะรวย” อันสร้างความวิบัติให้สังคมอย่างรุนแรง “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้พ้นวิบัติ สาธุชนผู้หวังจิตวิวัฒน์พึงทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของเรื่องศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2548

ในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ เมื่อศาสตราจารย์ล็อตฟี เอ ซาเดห์ แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องตรรกศาสตร์แบบฟัซซี (Fuzzy Logic) หรือตรรกศาสตร์สมานฉันท์ วงการวิทยาศาสตร์กระแสหลักก็ถึงกับสะเทือนหวั่นไหว

เพราะอะไรน่ะหรือ?

ตรรกศาสตร์ดั้งเดิมนั้นมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล ผู้ก่อตั้งระบบตรรกศาสตร์แบบทวิภาค ค่าความจริงทางคณิตศาสตร์มีได้เพียงหนึ่งค่าเท่านั้น นั่นคือ ถูกหรือผิด ขาวหรือดำ ตรรกศาสตร์แบบขาว/ดำนี้ได้หยั่งรากมั่นคง และเป็นพื้นฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์แบบนิวตันจนถึงปัจจุบัน

เมื่อซาเดห์กล่าวว่า ค่าความจริงมีได้หลายระดับ ไม่ได้มีเพียงถูกหรือผิด ขาวหรือดำ เท่านั้น เขาก็ถูกโจมตีจากนักวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกอย่างรุนแรง แต่กลับได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิทยาศาสตร์ทางตะวันออก เขาได้รับเชิญไปบรรยายที่ญี่ปุ่น และนับแต่นั้น วงการวิจัยของญี่ปุ่นก็ทุ่มเทให้กับตรรกศาสตร์แบบ “ฟัดจี้”

นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโลกล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์นี้ ว่ากันว่า ในขณะที่รถไฟฟ้าชินคันเซ็นของญี่ปุ่นซึ่งมีระบบออกตัวและเบรคที่ดีที่สุดของโลกถูกสร้างโดยตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์นี้ วิศวกรผลิตรถรางไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่นิวยอร์กยังไม่เคยได้ยินคำว่า “ฟัซซี” ด้วยซ้ำไป

ปัจจุบันนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิด นับตั้งแต่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ เครื่องดูดฝุ่น ไปจนถึงอุปกรณ์การแพทย์อันซับซ้อน ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์ ซาเดห์เองได้รับรางวัลเกียรติคุณจากหลายแห่ง รางวัลสูงสุดก็คือ เหรียญเกียรติยศจากไอทริปเปิลอี ซึ่งเทียบได้กับโนเบลทางด้านคอมพิวเตอร์

ซาเดห์ไม่ใช่บุคคลแรกที่กล่าวว่าค่าความจริงมีได้หลายระดับ พระพุทธเจ้าเคยกล่าวว่าโลกล้วนประกอบด้วยคู่ตรงข้าม เต๋ากล่าวว่าในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน หรือที่ติช นัท ฮันห์กล่าวว่า “ก ประกอบด้วย ก และ สิ่งที่ไม่ใช่ ก” นักคิดตะวันตกอย่างพลาโต เฮเกล มาร์กซ์ เองเงล และลูคาซีวิคซ์ ก็กล่าวว่า เส้นแบ่งระหว่างสีดำและสีขาวล้วนประกอบด้วยสีเทาจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าซาเดห์เป็นบุคคลแรกที่สามารถเชื่อมต่อโลกทรรศน์ที่ไม่แบ่งแยกเข้ากับระบบคณิตศาสตร์ร่วมสมัยได้สำเร็จ ตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การทำความเข้าใจโลก หรือระบบปัญหาอันซับซ้อน จำต้องใช้ความคิดที่พ้นไปจากการแบ่งแยกเพียงขาว/ดำ

ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงล้วนตั้งอยู่บนทัศนะที่ว่าฝ่ายเราถูก อีกฝ่ายผิด เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ความเป็นมนุษย์ของเขาจะถูกทำลาย เพื่อที่อีกฝ่ายหนึ่งจะมีความชอบธรรมในการปฏิบัติกับเขาอย่างสิ้นไร้ความยึดถือความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ทัศนะเช่นนี้เกิดจากการแบ่งถูก/ผิดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเห็นคนกระทำผิด ก็มองเห็นว่าผิดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ มองไม่เห็นความดีอื่นเลย หากประกอบด้วยอารมณ์โกรธเกลียดเข้าด้วยแล้ว คนที่กำลังโกรธกำลังเกลียดยิ่งมีพฤติกรรมแยกส่วนชัดเจน คือ มองเห็นว่าคนที่ตนกำลังโกรธหรือเกลียดนั้นประกอบด้วยความเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ มนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์จึงถูกประหารเข่นฆ่าได้ ถูกทำร้ายได้ ถูกทุบตีได้

นาซีเยอรมันที่เข่นฆ่าชาวยิวกว่าหกล้านคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เพราะไม่ได้มองว่าคนยิวเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน คนยิวกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะสิ้นไร้ความดีงามในสายตาของพวกนาซี มนุษย์ที่ประหารชีวิตซึ่งกันและกันในทุกวันนี้ ก็เพราะมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันนั่นเอง

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างอิสลามและโลกตะวันตกก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยสมัยสิบสี่ตุลา หกตุลา ยี่สิบสี่พฤษภา ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมจำต้องปะทะกันของฮันติงตัน ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งนี้ล้วนเกิดจากตรรกศาสตร์ดำ/ขาวนั่นเอง

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์ที่ยอมรับว่าสัจจะความจริงมีหลายระดับ พ้นไปจากความสุดโต่ง และได้นำพามนุษย์ไปสู่ความจำเริญอย่างยิ่งยวดทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตรรกศาสตร์สมานฉันท์นั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอย ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ ทั้งยังช่วยทำความเข้าใจปัญหาอันซับซ้อนในโลกได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง

เมื่อมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย ตรรกศาสตร์แบบทวิภาคจะมองเห็นเส้นแบ่งแยกที่ชัดเจน ทำให้มองข้ามสิ่งที่ถูกแบ่งแยก แต่ตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์จะมองเห็นความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว มองเห็นสรรพสิ่งที่ไม่แบ่งแยก ทั้งปฏิเสธการตั้งคำถามเรื่องความแตกต่าง หากตั้งคำถามถึงหนทางที่จะพบกับสันติภาวะร่วมกัน

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์มิใช่สัจจะสมบูรณ์ หากเป็นหนทางหนึ่งที่มนุษย์ย่อมอาจเลือกได้ เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤติ ดังเช่น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีย่อมไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเผด็จการทางสัจจะที่ย่นย่อความจริงให้เหลือเพียงถูก/ผิด หากต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องความจริงหลายระดับ และแม้จะนับถือพระเจ้าคนละองค์ ก็ต้องไม่ละทิ้งศรัทธาว่ามนุษย์ย่อมพูดคุยเจรจากันได้

ถ้าคุยกันไม่ได้ล่ะ?

ท่านทะไล ลามะเคยตอบคำถามนี้ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องปล่อยให้ทะเลาะกัน รบกัน เดือดร้อนมากขึ้น ตายกันมากขึ้น สูญเสียมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดที่ว่า ทนทานกับสภาพความขัดแย้งนี้อีกต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้นผู้คนอาจจะเข้าใจโทษแห่งความขัดแย้ง และมุ่งสู่สันติภาวะมากขึ้น

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์จึงโอบกอดความสุดโต่งไว้ในอ้อมแขนด้วยเช่นกัน ตรรกศาสตร์ที่ยอมรับได้กระทั่งความคลุมเครือและสุดโต่ง ถือได้ว่าเป็นตรรกศาสตร์ใจกว้างยิ่ง

โลกทรรศน์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบตรรกศาสตร์สมานฉันท์จึงเป็นสิ่งที่นำไปสู่วัฒนธรรมสันติภาพ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่แบ่งโลกออกเป็นส่วนให้เหลือเพียงดำ/ขาว ถูก/ผิด ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด มองเห็นความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวของสรรพสิ่ง ยอมรับความดำรงอยู่ของสิ่งที่แตกต่างจากตน เป็นหนทางที่เอื้อต่อความกรุณา เป็นเครื่องมือทางปัญญาของมนุษย์ในการก้าวล่วงพ้นไปจากกลียุคแห่งความรุนแรงทั้งกาย วาจา ใจ

Back to Top