ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม
ความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2548

คำหลักๆ ที่ขึ้นต้นเป็นชื่อของบทความนี้มีความหมายที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จนในหลายๆ กรณีมีบางคนเอาไปใช้ในความหมายเดียวกัน บางคนใช้เป็นเหตุผลในการสนับสนุนหรือการปกป้องการกระทำของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็โจมตีผู้อื่นที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม

เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในสื่อหลากชนิด โดยเฉพาะจากนักการเมือง และแม้กระทั่งจากเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิดบางคน

หรือโลกยุคปัจจุบันและโลกในอนาคตอันใกล้ กำลังลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม ความยุติธรรม ความชอบธรรม เหลือแค่เพียงความถูก-ผิดทางกฎหมาย และโดยเฉพาะความถูก-ผิดตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานของตนเอง จึงเกิดการโต้แย้งโต้เถียง ปกป้องและกล่าวหาผู้อื่นในทำนองว่าตนเองทำถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่ตนสังกัด ทำถูกต้องตามหน้าที่ของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ส่วนคนอื่นที่ประท้วงหรือต่อต้าน เป็นฝ่ายผิด ไม่รู้เรื่องหรือแม้กระทั่งหาเรื่อง ในทางกลับกันอีกฝ่ายก็โจมตีอีกฝ่ายว่าผิด และบอกว่าตนเองถูก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีตำแหน่งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณ คุณวิสุทธิ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เช่นประธานวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการสตง. และอีกหลายๆ คน ไม่มีใครบอกว่าตัวเองทำผิด มีแต่บอกว่าทำถูกต้องตามขั้นตอน ตามกฎหมาย ตามกฎ ระเบียบข้อบังคับ

ข้อสังเกตและข้อควรพิจารณาก็คือ ถ้าทุกคนทำถูกต้อง ทุกหน่วยงานทำถูกต้อง แล้วทำไมจึงยังมีปัญหาอยู่ และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าไม่ควรทำให้เรื่องนี้กระทบกระเทือน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

บนความสับสนวุ่นวายของปัญหานี้ ที่เหลือไว้คือความทุกข์และความเจ็บปวดทางความรู้สึกของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์กับคู่กรณี ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมทางกฎหมาย ที่เหลือไว้คือความทุกข์ความเจ็บปวดที่ต้องไปต่อสู้กันในศาล เพื่อพิสูจน์ความถูก-ผิดทางกฎหมาย

ความดี ความงาม ความมีคุณธรรมจริยธรรม และสุนทรียธรรมในชีวิตและสรรพสิ่งหายไปไหนหมด คู่กรณีไม่สามารถจะมีสุนทรียสนทนากันได้ ต้องจ้างนักกฎหมายให้ว่าและหาความแทนตนเอง กลายเป็นสงครามตัวแทน

กรณีการซื้อหุ้นมติชน ผู้ซื้อก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมเพราะทำถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. ฝ่ายผู้ถูกซื้อก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมในการต่อต้าน และต่อสู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายมีความชอบธรรมและต่อสู้กันอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย ที่เหลือไว้คือความทุกข์และความเจ็บปวดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรณีของคุณประมวล รุจนเสรี กับสมาชิกพรรคไทยรักไทยจำนวนหนึ่ง ที่ต่างก็อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อ้างความชอบธรรม และบางคนอ้างมารยาท ฝ่ายหนึ่งอยากให้ถูกไล่ออกจากพรรคอีกฝ่ายหนึ่งก็อยากไล่ให้ออกจากพรรค แต่จนถึงปัจจุบันคุณประมวลก็ยังคงสถานภาพเหมือนเดิมตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนสถานภาพทางสังคมและการยอมรับจากพรรคไทยรักไทย ที่เหลือไว้คือความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน และรอวันเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎระเบียบข้อบังคับของพรรค

ความเป็นเพื่อนร่วมพรรค ความรักความเมตตาที่เคยมีให้แก่กันและกัน มันหายไปไหนหมด ทำไมจึงเอาความเคียดแค้น ชิงชัง มาแทนที่ความเป็นกัลยาณมิตร

กรณีกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมือง ผู้ผลักดันก็บอกว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความชอบธรรม แต่ผู้คัดค้านก็บอกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมและไม่ยุติธรรมกับข้าราชการประเภทอื่น

ตกลงความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมจริงหรือไม่ ความถูกต้องตามกฎหมาย สร้างให้สังคมเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมจริยธรรมหรือไม่ ทั้งที่ในหลักการแล้วกฎหมายที่ดีก็ควรนำไปสู่ความยุติธรรมและความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ไม่ควรแยกหรือแปลกแยกออกจากกัน

เนติกรที่ดีก็ควรมีจิตวิญญาณและจิตสำนึกของการเป็นเนติบริกรที่ตั้งอยู่บนความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรมและความมีคุณธรรมจริยธรรมประจำใจ ไม่ใช่การพยายามจะจับผิดหรือเอาชนะคู่กรณีในแง่ของการเล่นแร่แปรธาตุในทางกฎหมาย เพียงเพื่อชื่อเสียงและความสมประโยชน์ของฝ่ายตน เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายก็จะเหลือแต่ความถูก-ผิดตามตัวอักษรและความเชี่ยวชาญในการบิดเบือนกฎหมายของเนติกรที่ขาดจิตวิญญาณของการเป็นนักกฎหมายที่ดี เพราะขาดความถูกต้องชอบธรรม ขาดความยุติธรรมในแง่ของคุณธรรมจริยธรรมและสุนทรียธรรมในจิตใจ

กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็เช่นกัน ต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องของความถูก-ผิดทางกฎหมาย หรือเป็นเรื่องของความชอบธรรม ความยุติธรรม หรือเป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม หรือจริงๆ แล้วมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปหมด ถ้าคำตอบคือเรื่องถูก-ผิดทางกฎหมาย ก็มีแนวโน้มว่าจะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ถ้าเป็นเรื่องของความชอบธรรมความยุติธรรม ก็ควรใช้และให้ความชอบธรรมและความยุติธรรม ถ้าเป็นเรื่องของความคุณธรรมจริยธรรม ก็ควรมาเน้นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ถ้ามองว่ามันสัมพันธ์กันไปหมด ก็ควรจัดการแบบองค์รวมที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยง และจึงต้องระดมหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยกัน

ผู้บริหารและผู้นำของโลก ของประเทศ และขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรทางธุรกิจและการเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เชื่อ คิด และทำ ภายใต้ภาวะถูกมนต์สะกดของ "กลไกตลาด" ที่ดูเหมือนเป็นคำที่ขลังและยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นคำที่ผู้บริหาร นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ในกระแสต่างก็ใช้คำนี้เป็นคำอธิบาย และบางครั้งก็ใช้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จนบ่อยครั้ง ขาดสติ ขาดปัญญา ที่จะมองเห็นว่า "กลไกตลาด" นั้นมันผุดโผล่มาจาก "การค้าเสรี" ภายใต้การสะกดจิตของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่เน้นการแข่งขันมากกว่าการแบ่งปัน เน้นความโปร่งใสในความหมายแคบๆ แค่ทำตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ และตรวจสอบความถูก-ผิด ตามกฎกติกาได้ โดยทำให้หลงเชื่อ โน้มน้าวและ/หรือบีบบังคับด้วยหลากวิธีเพื่อจะได้นำโลกไปสู่ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ตามกฎกติกาและมาตรฐานที่ตนวางไว้

เรากำลังอยู่ภายใต้สงครามล้างเผ่าพันธุ์ทางความคิด ทางวัฒนธรรม และดูเหมือนว่าเรากำลังจะพ่ายแพ้ เพราะหลายภาคส่วนในสังคมของเรามีวิสัยทัศน์ มีพันธกิจ มียุทธศาสตร์และการปฏิบัติในแนวทางของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมแบบเกินร้อย และเชื่อว่าเราสามารถจะเป็นที่หนึ่งได้

เรากำลังถูกทำให้เหมือนกันทั่วโลก ภายใต้ "มาตรฐาน" เดียวกัน และดูเหมือนว่าเรากำลังถูกสะกดจิตหมู่ให้ก้าวเดินไปทางนั้น

นี่เรากำลังถูกสะกดจิตอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะดูเหมือนเราหลงและไหลไปตามกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

เพื่อช่วยสร้างความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรมจริยธรรม และสุนทรียธรรมในสังคมไทยและสังคมโลกให้มีเพิ่มมากขึ้น สมควรที่จะได้มีการนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญาพอเพียง โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวของไทยมาใช้อย่างจริงจัง

Back to Top