พฤษภาคม 2007

เลื่อนไหลในความโกลาหล

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2550

ช่วงที่ผ่านมามีการสนทนาในหมู่เครือข่ายที่สนใจเรื่องการพัฒนาจิตบนเวบไซต์ของสถาบันขวัญเมือง เรียกว่า “วงน้ำชาเสมือน” ( www.wongnamcha.com) ที่เราสามารถพบปะสังสรรค์กันได้ทุกวัน โดยไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ออกรสเหมือนได้ซดน้ำชากาแฟและเห็นหน้าค่าตาหรือได้ยินน้ำเสียงกันจริงๆ แต่ก็ได้สร้างสีสันมากมายให้กับการสืบค้นเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต การพัฒนากายจิตของตัวเอง รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ยุคนี้

ในจำนวนผู้ร่วมสนทนา คนที่กระตือรือล้นมากที่สุดคือพี่เม (เมธาวี เลิศรัตนา) ที่มักจะนำเอาเรื่องราวดีๆ และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่มาบอกเล่าและเทียบเคียงกับเรื่องราวของชีวิตต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ และได้ช่วยหยิบยกงานเขียนของนายแพทย์ประสาน ต่างใจ ผู้เป็นที่ศรัทธาและเคารพยิ่งมาขยายผลทางความคิดอยู่อย่างสม่ำเสมอ

เรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเนื้อเป็นตัวเธอไปแล้วคือ ทฤษฎีไร้ระเบียบหรือทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) ซึ่งช่วยอธิบายปรากฏการณ์และพฤติกรรมของระบบธรรมชาติและจักรวาล ทั้งเล็กและใหญ่ ที่มีธรรมชาติอันซับซ้อนเกินกว่าจะสามารถทำนายหรือคาดการณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ ยิ่งระบบเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เมื่อสิ่งหนึ่งขยับอีกอย่างก็ขยับเคลื่อนไหวตาม ถือได้ว่าเป็นระบบชีวิตที่มีความไหวตัวสูงมาก อย่างที่ไม่สามารถควบคุมกำกับได้ดังใจคิด

ใครคิดจะทำอะไรทุกวันนี้อาจต้องคิดแล้วคิดอีก หลายคนต้องไปพึ่งพาเรื่องราวทางจิตวิญญาณ หรือสิ่งที่มองไม่เห็น หรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ เพื่อนำมาเผชิญหน้ากับความโกลาหลปั่นป่วน ไร้ระเบียบแบบแผนอันชัดเจนที่ชีวิตเผชิญอยู่ อย่างเสียไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าปรมาจารย์ทั้งหลายที่อธิบายเรื่องราวของสิ่งที่มองไม่เห็น หรือสามารถทำนายทายทักฟันธงลงไปในชีวิตอันอลหม่าน เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น หรือแม้แต่การตลาดด้านวัตถุมงคลทั้งหลาย จึงกำลังมาแรงยิ่งกว่าสิ่งใดๆ อาจถึงคราวที่นักพูดและหมอผีทั้งหลายจะได้กลับมาเป็นผู้นำที่เริ่มน่าเชื่อถืออีกครั้งในยุคไฮเทคนี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องเคออสนี้ อาจช่วยทำความเข้าใจกับการดำเนินชีวิตธรรมดาไม่มากก็น้อย เพราะเป็นการมองว่า โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง เคลื่อนไหว ไม่เป็นไปได้ดัง "ใจเรา" ที่มักมีแนวทาง กรอบคิดอะไร "ชัดเจน" โลกรอบๆ ตัวเราหมุนเปลี่ยนไปในความน่าจะเป็นทั้งมวล ทว่า เราจะยินยอมให้ตัวเราได้เริงระบำไปพร้อมๆ กับความอลหม่านสับสนได้อย่างไร

เป็นเรื่องน่าแปลกว่า ช่วงที่ผ่านมานี้ผมได้รับสาส์นแห่งการเรียนรู้นี้อยู่เรื่อยๆ ราวกับว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญและต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังมีนัยสำคัญในเรื่องการบริหารองค์กรที่ต้องการให้เกิดความสร้างสรรค์ นวัตกรรม การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในความเกาะติดนัวเนีย ก็ยังต้องเปิดพื้นที่ให้กับความไร้ระเบียบ ที่ถือว่าเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา ดังที่ มาร์กาเร็ต วีทลี่ คุรุแห่งการบริหารองค์กรในกระบวนทัศน์ใหม่ ถือว่าหากไม่ยอมเชื้อเชิญเคออสเข้ามาในการทำงาน ก็อย่าได้หวังให้เกิดความสร้างสรรค์ใดๆ อีกทั้งจะไม่ช่วยให้ส่วนต่างๆ ขององค์กรได้เกิดความมุ่งมั่นในการจัดการตัวเองดังที่ระบบชีวิตพึงจะเป็นอีกด้วย

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเข้าเรียนการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสร้างสรรค์ ๕ จังหวะกับคุณทิม โบรทัน (Tim Broughton) ถือได้ว่าเป็นกระบวนการภาวนาในกายที่เคลื่อนไหว ซึ่งช่วยพัฒนาสติ และความตื่นรู้ได้อย่างรื่นรมย์ รูปแบบของระบำภาวนาจนเหงื่อแตกนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยนักเต้นหญิง และผู้ค้นคว้าทางจิตวิญญาณชาวอเมริกัน ชื่อ กาเบรียล รอธ (Gabriel Roth) ที่ตอนนี้กำลังแพร่หลายเป็นอย่างยิ่งในสังคมยุคสมองโตแต่ตัวลีบ ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้วิถีแห่งการดูแลสภาวจิตนั้นมีความรื่นรมย์ได้ ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อให้กายจิตดีขึ้นเสมอไป เพราะแม้แต่ในทางพุทธเอง ก็มิได้ส่งเสริมการปรนเปรอหรือทรมานชีวิตไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

แต่ละจังหวะจะมีคุณภาพเฉพาะในดนตรี ซึ่งจะสื่อหรือสะท้อนโลกภายในของเราให้ออกมาในการร่ายรำ หนึ่งในจังหวะทั้งห้าคือ เคออส (Chaos) หรือจังหวะแห่งความไร้ระเบียบแบบแผน เป็นภาวะแห่งการเวียนวนอลหม่าน ไม่มีหลักยึด จะเรียกได้ว่าเป็นอนิจจังไปเสียทั้งหมดก็คงไม่ผิดนัก โดยการเต้นทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับคลื่นพลังแห่งความปั่นป่วนนั้น เพียงแค่ยอมรับให้เราและภาวะเช่นนี้ไม่แยกออกจากกันอีกต่อไป

เมื่อย้อนกลับมามองการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ความไร้ระเบียบมักกระตุ้นให้เราต้องเผชิญกับภาวะแห่งความหมิ่นเหม่ ความไม่รู้ และเปราะบาง ซึ่งเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นหรือรับรู้อยู่นั้นไม่จำต้องเป็นดังที่เราคิดหรือคาดหวังไว้ และเราต้องพร้อมที่จะถูกทำให้ "ขัดใจ" ซึ่งอาจขัดกับหลักของแนวคิดที่มุ่งเน้นเป้าหมายแน่นอน ซึ่งได้กลายเป็นแนวคิดหลักของสังคมยุคอุตสาหกรรมนิยมไปแล้ว แม้แต่บ้านเราที่เคยพึ่งพิงแนวคิดแบบ “ธรรมชาติ” และความพอเพียง และเน้นความสัมพันธ์ที่ประสมกลมกลืนกันอย่างมีส่วนร่วม ก็ยังหนีไม่พ้นการพยายามจัดการ ควบคุม แยกส่วน โดยถือว่าจะมีผลจากงานที่กระทำลงไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นแนวคิดแห่งการควบคุมกำกับโลกและชีวิตให้เป็นไปดังใจคิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างมากมายมหาศาล แต่ก็เกิดขึ้นพร้อมกับความขัดแย้งและความทุกข์เช่นกัน

การได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการการเยียวยาความสัมพันธ์ภายในเพื่อพัฒนาต่อไปให้ก้าวหน้ามั่นคง โดยเอาหัวใจของความเป็นมนุษย์เป็นสาระสำคัญนั้น สิ่งที่ผมได้พบอยู่เรื่อยๆ คือ แบบแผนความสัมพันธ์หรือโครงสร้างอำนาจในองค์กรได้ก่อให้เกิดโรคร้ายแห่งยุคสมัย ผู้คนเจ็บป่วยทางความรู้สึก ความเหลื่อมล้ำสูงต่ำไม่ทัดเทียม ก่อให้เกิดอาการไม่อยากทำงาน ไร้แรงบันดาลใจ รู้สึกด้อยค่า ไม่มีส่วนร่วมในการคิดทำ ความทุกข์เหล่านี้แพร่หลาย เรื้อรัง และบางรายถึงขั้นสาหัสจนไม่อาจทนได้อีกต่อไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนคุณสมบัติหนึ่งขององค์กรเหล่านี้ คือการไม่สามารถยอมรับหรือยอมรับได้น้อยมากต่อภาวะไร้ระเบียบหรือการไม่สามารถจัดการต่อความเป็นองค์กรจัดการตัวเองของมนุษย์ ซึ่งจะมีผลให้เกิดความสร้างสรรค์น้อยตามไปด้วย

อาจถึงคราวที่เราจำต้องกลับมาเฝ้ามองความโกลาหลที่เกิดขึ้นอย่างสงบนิ่ง ที่มิได้หมายความว่าหยุด หากเลื่อนไหลไปกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างตื่นรู้และเป็นหนึ่งเดียวกันให้มากขึ้น เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งที่ดำรงอยู่ที่ลึกลงไปจากระดับปรากฏการณ์ที่ผิวเผิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองว่าตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวและโลกที่เรามองเห็นเช่นกัน เมื่อนั้นการกระทำใดๆ ก็จะผุดออกมาจากความเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าความแยกส่วนและความขัดแย้ง

คู่มือหมอมนุษย์

โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2550

วิชาแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับความรุดหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาการสาขาอื่นๆ เพราะเมื่อมนุษย์ค้นพบอะไรใหม่ๆ การนำกลับมาใช้ประโยชน์กับตัวมนุษย์เองจะอยู่ในความสำคัญระดับต้นๆ ดังนั้นเราจึงได้ยิน ได้อ่านข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ที่ใช้องค์ความรู้ล่าสุดจากวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ๆ อยู่เกือบตลอดเวลา ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังสูงขึ้นต่อมาตรฐานการตรวจ วินิจฉัย และการรักษาโรค หมอที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแค่เปิดคู่มือการใช้เครื่องมือก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ เครื่องมือพิเศษบางประเภทสามารถตรวจวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ สามารถหารอยโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม หรือในบางกรณี สามารถบอกโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรืออาการแสดงของผู้ป่วยเลย ใครๆ ก็เกิดความรู้สึกต้องการอยากจะได้ประโยชน์จากการตรวจวินิจฉัยจากเครื่องมือพิเศษเหล่านี้มากขึ้น

การที่แพทย์มีเครื่องมือเหล่านี้ช่วย เป็นผลดีอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อควรคำนึง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาแทนกิจกรรมที่แต่เดิมทำโดยมนุษย์ ในกรณีนี้คือ ศิลปะการสัมภาษณ์ การตรวจร่างกายของคนไข้ เพื่อนำมาซึ่งการวินิจฉัย อันเป็นศิลปศาสตร์ที่สำคัญในการเป็นแพทย์ เราต้องพิจารณาให้ดีว่า เครื่องมือเหล่านั้น “ได้ให้” ทุกสิ่งทุกอย่างทดแทนได้ทั้งหมดจริงหรือไม่
เมื่อคนๆ หนึ่งเจ็บป่วย จนกระทั่งตัดสินใจว่าจำเป็นต้องไปหาความช่วยเหลือจากหมอ ความทุกข์นั้นมักจะมีความรุนแรงที่มากพอสมควรทีเดียว การไปพบหมอ ไม่ใช่กิจกรรมที่สุนทรีย์สำหรับคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการไปหาหมอที่คลินิก หรือที่โรงพยาบาล ทั้งของรัฐบาล หรือของเอกชนก็ตาม คนไข้เมื่อไปพบหมอ อาจจะเป็นหมอที่ไม่เคยพบเห็นหน้าค่าตามาก่อน ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน เป็นการเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า ที่ถามคำถามต่างๆ มากมาย บางคำถามก็เป็นเรื่องส่วนตัว ที่แม้แต่คนใกล้ชิดของคนไข้เองก็อาจจะไม่เคยได้รับการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน เสร็จแล้วก็ยังต้องให้คนแปลกหน้าท่านนี้ตรวจร่างกายของเราอย่างละเอียดลออ ยอมหมดทุกอย่าง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะ “ความไว้วางใจ” กระนั้นหรือ? ถ้าใช่ ความรู้สึกไว้วางใจนี้เกิดขึ้นมาจากไหน? เพราะเราเองก็ไม่เคยรู้จักหมอคนนี้มาก่อนเลย

เมื่อเกิดกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหมอและคนไข้ ตั้งแต่ครั้งแรกสุด และทุกๆ ครั้งต่อๆ มา หมอจะมีการประเมินคนไข้ตลอดเวลา ตั้งแต่วินาทีแรกที่พบกัน มีการสำรวจรูปร่าง หน้าตา อายุอานาม การแต่งกาย การพูดจา สำนวน สำเนียง กิริยาอาการต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการรวบรวมข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน คนไข้ก็ทำอย่างเดียวกับหมอเหมือนกัน มีการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน เพราะนี่คือช่วงเวลาที่หมอและคนไข้กำลังสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และปฏิสัมพันธ์นี้เองที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ (doctor-patient relationship) และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้น (หรือไม่เกิดขึ้น) ระหว่างนี้ก็คือ ความไว้วางใจ นั่นเอง คนเราจะมีความไว้วางใจกับคนที่มีกิริยามารยาทดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีความจริงใจ ที่แสดงออกมาทั้งทางวาจา และทางอวจนภาษา ได้แก่ ภาษากาย ทุกรูปแบบ และความไว้วางใจนี้เองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ ให้ประวัติที่ถูกต้อง เข้าใจในโรคที่เป็น ยอมทำตามที่หมอได้แนะนำ และสามารถบอกเล่าถึงความกังวล ความไม่แน่ใจ ความทุกข์ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหมอสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบเป็นการรักษาที่สมบูรณ์แบบ และเป็นองค์รวมได้ดีที่สุด

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสูงสุดแค่ไหน ก็ไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาแทนที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันได้

ดังนั้น คนที่จะเรียนและทำหน้าที่เป็นหมอที่ดีต่อไปในอนาคต ถึงแม้ว่าจะต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ให้ดี ศึกษาและเข้าใจในข้อบ่งชี้และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยคนไข้ให้ได้มากที่สุดก็ตาม แต่หมอไม่ใช่แค่เทคนิเชียน หรือเพียงคนที่ใช้เครื่องมือเป็น แต่หมอจะต้องเป็น มนุษย์ที่แท้ ที่มีจิตใจเมตตากรุณา ที่มีความสามารถปลูกสร้างความสัมพันธ์อันดี ได้กับคนทุกรูปแบบ สร้างความไว้วางใจได้กับคนทุกชั้นวรรณะ เวลาที่หมอได้เพิ่มมาจากการมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะต้องทุ่มเทให้กับกระบวนการกิจกรรมต่างๆ ที่จะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ให้ดีที่สุด เราจะต้องไม่ยอมให้การมีเครื่องมือที่ดี กลายเป็นเรื่องของการเพิ่มยอดจำนวนคนไข้ที่จะตรวจเพิ่มขึ้นได้เท่านั้น แต่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะใช้เวลา ทำความรู้จัก กับคนไข้ที่กำลังทุกข์อยู่นั้นให้มากขึ้นต่างหาก

ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่าง วิ่งไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์ก็ยังต้องการความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ยังต้องการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ไม่ใช่แค่ ความสัมพันธ์โดยอาชีพ (professional relationship) เท่านั้น แต่เป็น สัมผัสของมนุษย์ (human touch) ที่จะช่วยสอดประสานสังคมให้ดี ให้อยู่รอดได้อย่างมีความสุข คู่มือที่หมอควรจะเปิด จึงไม่เพียงแค่คู่มือการใช้เครื่องมือวิเศษพิสดารในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นคู่มือการดำรงชีวิตอยู่ คู่มือการอยู่ในสังคม คู่มือการสื่อสารอย่างมีเมตตากรุณา เหล่านี้จึงเป็นคู่มือหมอมนุษย์ที่แท้จริง

จากศิลปะและวัฒนธรรมกายวัตถุสู่จิตวิญญาณ

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2550

คำพังเพยที่ว่า “มนุษย์เอาแต่เคี่ยวเข็ญเทวดา ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า” คือคำพังเพยที่ชี้บ่งถึงพฤติกรรมมนุษย์ต่อจักรวาลแห่งปรากฏการณ์ เป็นการแสดงออกของอัตตาอหังการ์ของวัฒนธรรมหรือการดำรงอยู่ของเรา พร้อมกันนั้น คำพังเพยที่ยกมา ก็เป็นเบื้องหลังของบทความนี้ ความทระนงอวดดีของอัตตาอหังการ์ที่มนุษย์เรามีจากการนำเอาตัวเองเป็นไม้บรรทัดหรือเป็นศูนย์กลาง “มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ไม่เคยผิด” นั่นคือความคิดและพฤติกรรมที่ได้มาจากระดับจิตที่วิวัฒนาการเพียงครึ่งทางหรือระดับของอัตตาอหังการ์และเหตุผล ตามทฤษฎีของ เค็น วิลเบอร์ (Ken Wilber) ที่สอดคล้องกับของ ฌอน เก็บเซอร์ (Jean Gebser, self-egoic rational or mental) และนักคิดอีกหลายคน

ความคิดและพฤติกรรม - ที่ส่วนหนึ่ง - ได้กลายมาเป็นรากฐานของศิลปะและวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับศิลปินแต่ละคนและกับสังคมโดยรวมมาตั้งแต่เมื่อ ๔,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปี ก่อนเป็นต้นมา ในด้านของศิลปะนั้น ส่วนใหญ่มากๆ จะเน้นด้านกายและวัตถุ (กำหนดโดยผู้ชมหรือคนส่วนใหญ่) ของปัจเจกชนที่เป็นศิลปินนั้นๆ พร้อมๆ กับแผ่กระจายเป็นกระแสสังคมหรือเป็นวัฒนธรรมโดยรวมของเผ่าพันธุ์หนึ่ง ก่อนจะแผ่ขยายเป็นอารยธรรมของสังคมใหญ่ในยุคสมัยต่างๆ เช่น เป็นอารยธรรมของสุเมอเรีย ของอียิปต์สมัยราชวงศ์ในยุคหลัง ของกรีกและโรมัน ของอารยธรรมตะวันตกและอเมริกัน กระทั่งได้กลายเป็นอารยธรรม “สมัยใหม่” เป็นกระแสโลกาภิวัตน์อยู่ในปัจจุบัน

นั่นคือตลอดเวลาของการดำรงอยู่ของมนุษย์ในช่วงเวลากว่า ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว นั่นคือระดับจิตแห่งอัตตาตัวตนที่หลงมัวเมาอยู่กับกายวัตถุ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงจากเส้นกร๊าฟฐานดิ่ง (vertical) เป็นเส้นกร๊าฟฐานราบ (horizontal) จากด้านลึกแห่งจิตใจสู่ด้านกว้างแห่งรูปกาย ที่ในเร็ววันนี้ กำลังก้าวสู่จุดจบของอารยธรรมกายวัตถุ จุดจบของอารยธรรม “สมัยใหม่” ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล (anthropocentric) แห่งกระบวนทัศน์เก่าหรือพาราไดม์เก่า และนั่นคือเหตุผลที่นักคิดและนักปราชญ์ระดับโลก ไม่ว่า พิตทริม โซโรกิน, ธอมัส คุห์น, เออร์วิน ลาซโล หรือแม้แต่ ฟริตจ๊อฟ คาปร้า ฯลฯ วิเคราะห์ว่าปัจจุบันนี้ สังคมโลกกำลังก้าวมาถึงจุดจบของกระบวนทัศน์เก่า - กระบวนทัศน์ของรูปกายและวัตถุ - แล้ว ขณะนี้เรากำลังย่างก้าวเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ทางจิตวิญญาณแล้ว ดังที่ผู้เขียนนำมาเขียนเล่าไว้ในที่ต่างๆ ตลอดมาจนทุกวันนี้

นั่นคือการเปลี่ยนย้ายที่เราอาจมองเห็นไม่เด่นชัดนัก แต่แม้ในบ้านเรา หากมองหาให้ดี เราอาจค้นพบและมองเห็นว่า เรื่องของคุณธรรมจริยธรรมนำสังคม ความพอดีพอเพียงที่ยั่งยืน กำลังเริ่มขึ้นและท้าทายกระแสทุนและกายวัตถุอย่างรุนแรง แม้ว่าการเปลี่ยนย้ายจะยังไม่แน่นอน แต่หวังว่าจิตใจจะเอาชนะกายวัตถุในช่วงสุดท้ายโดยไม่เสียหายมากนัก เพราะเรากำลังตีจากกระบวนทัศน์เก่าที่อยู่กับเราอย่างแนบแน่นถึงกว่าหนึ่งร้อยชั่วคน ทำให้เรามีความเคยชินกับมันและคิดว่านั่นคือธรรมชาติหรือเป็นนิสัยสันดานดิบของมนุษย์ – ที่ในด้านหนึ่งไม่ได้ต่างไปจากสัตว์หน้าขนทั้งหลาย – ที่แก้ไขอะไรไม่ได้ และผู้เขียนคิดว่า การตีจากกระบวนทัศน์เก่าและการเปลี่ยนแปลงระดับโลก จากกายและวัตถุสู่จิตและจิตวิญญาณในคราวนี้ มีหลักฐานหรือเหตุผลพอจะเชื่อได้ว่า อาจจะทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่มากๆ ที่ไม่พร้อมหรือไม่เข้าใจในวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลง ที่มีธรรมชาติและดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง (ecocentric) ต้องจ่ายค่าทดแทนหรือต้องประสบกับความทุกข์ทรมานด้วยภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ นานา กระทั่งต้องสังเวยด้วยชีวิตเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ดังผู้เขียน - ที่ไม่เคยมองโลกในแง่ร้าย หรือต้องการแช่งชักหักกระดูกกำพืดหรือเผ่าพันธุ์ของตัวเอง – ได้นำเสนอเป็นบทความต่างๆ ไปมากแล้ว จึงจะไม่เล่าซ้ำในที่นี้อีก

เนื่องจากบทความนี้ เป็นเรื่องของการวิเคราะห์เฉพาะแต่ศิลปะกับวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ในยุคนี้สมัยนี้หรือกระบวนทัศน์เก่าที่กำลังจบสิ้นลงไปในช่วงเวลานี้ ศิลปะที่ส่วนใหญ่มักจะเน้นเฉพาะกายหรือวัตถุ - ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม เป็นนาฏศิลป์การแสดง เป็นภาพวาดหรืองานแกะสลัก กลอนกวี ฯลฯ - ที่เราคิดว่าเป็นความงาม ล้วนแสดงความสำคัญของกายและวัตถุ หรือความจริงตามที่ตาเห็น (vision-logic) ของจักรวาลแห่งปรากฏการณ์ หรืออย่างดีอาจจะมีความหมายด้านลึกซ่อนเร้นเอาไว้บ้าง เช่น ภาพวาดในเชิงนามธรรม (abstract) แต่ความหมายลึกๆ หรือคุณค่าแท้จริงนั้นๆ ก็มักจะถูกซ่อนจนแม้แต่เจ้าของผู้สร้างงานศิลปะเองบางคน อาจไม่สามารถอธิบายความลึก (depth) อันซ่อนเร้นอยู่ภายในให้ผู้ชมเห็นเป็นเช่นเดียวกัน – ในทุกๆ ครั้ง - ได้อย่างเป็นเอกภาพ

อย่างไรก็ตาม จากผลของการวิจัยหลากหลายในช่วงเวลาที่ยาวนาน ทำให้นักจิตวิทยาและนักสังคม-มนุษย์วิทยาส่วนหนึ่งเชื่อว่า วิวัฒนาการของจิตแห่งปัจเจกของมนุษย์แต่ละคน กับวิวัฒนาการของจิตแห่งสังคมโดยรวมหรือวัฒนธรรมนั้น ไม่ได้เป็นผลที่มีเหตุปัจจัยสืบเนื่องระหว่างกัน คือไม่ใช่ว่าเพราะจิตและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลเป็นสาเหตุที่ก่อผลให้กับสังคมโดยรวม หรือไม่ใช่จิตแห่งปัจเจกสร้างวัฒนธรรม ทั้งไม่ใช่ในทางกลับกัน ว่าวัฒนธรรมเป็นกรอบหรือก่อให้จิตของแต่ละปัจเจกบุคคลวิวัฒนาการตามสังคมโดยรวมไปในทีหลัง แต่ทั้งสอง – ปัจเจกและโดยรวม – ต่างวิวัฒนาการไปพร้อมๆ กันและสัมพันธ์กัน จากสนามจิตร่วมสากล (หรือสนามจิตร่วมของเผ่าพันธุ์) เช่น สนามเอ็ม-ฟิลด์ (m-field) ของ รูเพิร์ต เชลเดรก จิตไร้สำนึกที่ต่อเนื่องของจักรวาล หรืออาร์คีไทป์ (unconscious continuum or archetype) ของคาร์ล จุง ตามที่นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาจำนวนหนึ่งเชื่อในปัจจุบัน (Sheldrake, Jung, Habernas, Gebser, Erich Jantsch, Ken Wilber, etc.) นั่นคือ ทั้งจิตแห่งปัจเจกและจิตร่วมแห่งสังคม หรือวัฒนธรรม ต่างมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และวิวัฒนาการไปด้วยกันและพร้อมๆ กัน โดยเริ่มมาตั้งแต่มีมนุษย์คนแรก (โฮโมซาเปียนส์) เกิดขึ้นบนโลก และมีวิวัฒนาการผ่านระดับจิตต่างๆ จากจิตดึกดำบรรพ์หรือระดับธรรมชาติหยาบดิบ (archaic or nature) สู่ระดับมายกลหรือหลับลึก (magic) สู่ระดับนิยายปรัมปรา หรือหลับใหล (mythic) และสู่ระดับจิตแห่งอัตตาอหังการ์ (self-rational) ที่เน้นการแข่งขันและการเอาชนะธรรมชาติ เน้นกายวัตถุและเทคโนโลยี นั่นคือระดับจิตที่มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อกว่า ๔,๐๐๐ ปีก่อนและยังคงมีอยู่กับเราตราบปัจจุบัน

ส่วนในด้านวัฒนธรรมโดยรวมของสังคมใหญ่ หรืออารยธรรม “สมัยใหม่” ซึ่งได้กลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน (ที่เน้นกายกับวัตถุเหมือนกัน เช่น งานศิลปะของปัจเจกบุคคลที่กล่าวมาข้างบน) ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่าธรรมชาติของจักรวาลหรือสังสารวัฏนั้น ล้วนเป็นอนิจจัง – คือไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกันกับทั้งหมดตลอดเวลา - รูปกายหรือวัตถุก็เช่นนั้น จิตหรือจิตวิญญาณก็เช่นนั้น

ดังนั้น เราจะหวังให้จิตของมนุษย์ ไม่ว่าโดยปัจเจกหรือโดยรวมที่หมายถึงวัฒนธรรมมีความเสถียรคงที่เป็นอสังขตธรรมเหมือนกับนิพพานคงไม่ได้ จึงย่อมจะเหมือนกับธรรมชาติอื่นที่ไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังที่นักคิดนักปราชญ์ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ตั้งแต่เริ่มมนุษย์หรือโฮโมซาเปี้ยนส์คนแรกมีขึ้นมาบนโลก จิตของปัจเจกบุคคลและจิตของสังคมโดยรวมหรือวัฒนธรรมต่างได้เปลี่ยนแปลงระดับมาตลอด (จากระดับอาร์เขก สู่ระดับเมจิก สู่ระดับมีตธิก (archaic - magic - mythic)) จนกระทั่งมาเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๔,๐๐๐ กว่าปีก่อน เป็นระดับตัวตนและเหตุผลตามที่ตาเห็น และคงอยู่ในระดับนั้นจนวันนี้ เพราะฉะนั้นอารยธรรมในกรอบที่ใหญ่กว่าก็ดี หรือวัฒนธรรมในกรอบที่เล็กกว่าก็ดี หรือศิลปะในด้านของปัจเจกก็ดี ทั้งหมดต่างก็ได้ความคิด มโนทัศน์ และพฤติกรรมจากระดับจิตที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ - ประสานเป็นความเจริญงอกงามของระบบและสถาบัน ของชุมชนและดินแดน เข้ากับความงดงามของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของเผ่าพันธุ์ที่ได้มาจากคุณธรรมจริยธรรม (morality) อันเป็นหลักที่ยึดเหนี่ยวให้เผ่าพันธุ์หรือสายพันธุ์นั้นๆ สามารถดำรงชีวิตร่วมกัน – นั้นคือลักษณะรูปแบบของสังคมประเทศชาติและวัฒนธรรมหลากหลายของกระบวนทัศน์เก่าที่เรามีอยู่ตั้งแต่กว่า ๔,๐๐๐ ปีก่อนจนบัดนี้

ซึ่งสำหรับปัจเจกบุคคล นั่นคือระดับจิตแห่งอัตตาอหังการ์และเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา และสำหรับวัฒนธรรมและอารยธรรมที่มีวิวัฒนาการระดับเดียวกัน นั่นคือการแยกส่วนแยกดินแดนเป็นสังคมเป็นประเทศชาติที่มีภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี เรียกว่าวัฒนธรรม (หรืออารยธรรมในกรอบที่ใหญ่กว่า) ดังที่เป็นอยู่ทั่วไปในโลกปัจจุบัน

และทุกวันนี้ เรากำลังเปลี่ยนย้ายรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรมที่ว่านั้น จากกระบวนทัศน์เก่าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือจากระดับจิตแห่งตัวตน (personal) และเหตุผล สู่ระดับผ่านพ้นตัวตน (transpersonal) ระดับธรรมจิตหรือจิตวิญญาณระดับแรกๆ (spirituality) อันเป็นเส้นทางต้นๆ สู่นิพพาน ซึ่งสำหรับจิตแห่งปัจเจกและสังคมโดยรวมล้วนเป็นเช่นนั้น ดังที่ผู้เขียนเคยนำมาเล่า เรียกว่า “ผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรม” (Cultural Creatives or CC - Paul H. Ray) ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมากๆ ของยุโรป และเป็นระดับเดียวกับวิวัฒนาการของจิตแห่งสังคมหรือวัฒนธรรมที่กำลังก่อตัวอยู่ในที่ต่างๆ เช่น ความประหนึ่งเป็นคนชาติเดียวกันและวัฒนธรรมเดียวกันของชาวยุโรป – ที่ไม่ว่าประชาชนของยุโรปเหล่านั้นจะมาจากประเทศใดหรือมีวัฒนธรรมย่อยๆ ของตนอย่างไร -

ในอีกด้านหนึ่ง และดังที่นักคิดนักเขียนส่วนมากได้กล่าวไว้ ระดับจิตแห่งปัจเจกบุคคลระดับใหม่นี้ - หากวิวัฒนาการทางจิต (ที่ร่วมกันมากับกายหรือชีววิวัฒนาการตั้งแต่ต้น) ต้องใช้เวลานานกว่าวิวัฒนาการของกายที่เพิ่งจะวิวัฒนาการมาได้เพียงครึ่งทางดังที่เรามีอยู่ในเวลานี้ – คือกว่าที่เราทุกคนจะมีวิวัฒนาการทางจิตถึงนิพพานได้ และกว่าจิตของสังคมหรือวัฒนธรรมจะสามารถก้าวสู่ระดับเดียวกันได้หรือเป็นอารยธรรมใหม่ของโลกได้ คงต้องใช้เวลายาวนานใกล้เคียงกัน - ไม่ว่าเราจะเรียกยุคสมัยนั้นว่า ยุคพระศรีอารยเมตไตรย เมสไซย่า แชงการิลล่า หรือนิวเยรูซาเล็ม หรืออย่างไร - ทั้งหมดนั้น แทบจะทุกศาสนาได้มีระบุไว้ จนดูประหนึ่งว่า ชื่อของยุคเหล่านั้น เป็นชื่อเดียวกันของอารยธรรมโลกในอนาคตที่ไกลโพ้น

Back to Top