พฤษภาคม 2014

กฤษณากับงาช้าง (Ebony and Ivory)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2557

“Ebony and ivory live together in perfect harmony
Side by side on my piano keyboard, oh Lord, why don't we?

We all know that people are the same where ever we go
There is good and bad in ev'ryone,
We learn to live, we learn to give
Each other what we need to survive together alive.”

Paul McCartney and Stevie Wonder (1982)

ผมนึกถึงเพลงนี้ หลังจากได้อ่านงานของนักวิชาการที่พูดถึง “กับดักคู่ตรงข้าม” ซึ่งหมายถึงการคิดอะไรเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ขาวย่อมตรงข้ามกับดำ กลางวันย่อมตรงข้ามกับกลางคืนเสมอ ฯลฯ คำว่า “เสมอ” นั้นเป็นเหมือนการฟันธง จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราจึงควรจะฝึกตัวเองให้ตั้งคำถามเสมอๆ เวลาได้ยินว่าใครพูดคำว่า “เสมอ”

ในระหว่างสีขาวกับสีดำ ย่อมมีเฉดสีเทา แม้แต่สีขาวเองก็ยังมีหลายเฉด ผู้อ่านคงจะเคยได้ยินสำนวนไทยว่า ขาวเหมือนหยวกกล้วย ขาวเหมือนงาช้าง ขาวเหมือนสำลี ดำเหมือนนิล หรือดำเป็นตอตะโก ฯลฯ​ คำสร้อยเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าในธรรมชาติเองไม่ได้สร้างสีเช่นสีขาว ให้เป็นสีขาวในอุดมคติอย่างที่เปลโต้ต้องการ เมื่อธรรมชาติมีความหลากหลาย และเตือนให้เราเห็นความหลากหลายเสมอ สีขาวหรือสีดำอันบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งใดเจือปนจึงสามารถดำรงอยู่ได้เพียงในอุดมคติ หรือในความคิดของมนุษย์เท่านั้น

มนุษย์สร้างอุดมคติขึ้นในความคิด แต่ความคิดไม่ใช่ความจริง (reality) และนี่เป็นถ้อยคำประกาศสัจจะ (truth) หมายถึงว่าเถียงไม่ได้ แต่หลายคนกลับไม่ตระหนักรู้ในสัจธรรมข้อนี้ เมื่อใครก็ตามพยายามทึกทักความคิดว่าเป็นความจริง สักวันหนึ่งโลกก็จะทำให้คนคนนั้นผิดหวัง หรือสับสนงุนงง นั่นหมายถึงใครคนนั้นได้ตกลงสู่ “กับดักของคู่ตรงข้าม” ไปเรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้ “ความคิดไม่ใช่ความจริง” แต่ความคิดก็เป็นปัจจัยให้กับพฤติกรรมซึ่งส่งผลต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะหากมันได้ผนวกกับ “เจตจำนง” ที่มุ่งมั่น เจตจำนงของบุคคลหนึ่งเมื่อผนวกรวมเข้ากับเจตจำนงของคนหลายๆ คน ทั้งหมดย่อมกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนของสังคม และประกอบสร้างประเทศชาติของเรา

เป็นธรรมดาที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป และต่างก็มีภาพอนาคตที่ต้องการจะเห็นจากประเทศของเราแตกต่างกันไป นี่เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ไม่ปกติก็คือการไม่ยอมแยกแยะระหว่าง “ความเห็น” ของเราซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราเชื่อ กับ “กระบวนการทางความคิด” ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปซึ่งเป็นความเห็นที่เรายึดมั่นไว้ในใจ ผมได้กล่าวไปแล้วว่า กระบวนการทางความคิดของมนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในกับดักของคู่ตรงข้าม ซึ่งก็คือการสร้างอุดมคติขึ้นเอาไว้ในใจ โดยไม่คำนึงถึงว่าความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร

การยึดมั่นใน “ความคิดความเห็น” ของตน ก็ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าสีขาวจะต้องขาวเหมือนสำลีเท่านั้น จะเป็นสีขาวเหมือนก้อนเมฆไม่ได้ ส่วนสีดำก็ควรต้องดำเหมือนนิลจะไปดำเหมือนคีย์เปียโนไม่ได้ ซึ่งทุกคนย่อมทราบว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ดังนั้นความพยายามจะให้ผู้อื่นมาคิดเห็นเหมือนเราจึงเป็นไปได้ยาก ที่ง่ายกว่าคือการกลับมาแก้ไขตนเอง เมื่อเราแก้ไขตัวเองให้พ้นไปจากกับดักทางความคิดทั้งหลายได้ มายาคติต่างๆ จะถูกปลดเปลื้องออกไป เมื่อนั้นเราจึงจะมีอิสรภาพทางความคิดได้อย่างแท้จริง

เราจะไปถึงอิสรภาพทางความคิดได้อย่างไร? ส่วนตัวผมไม่เห็นอะไรจะดีไปกว่าการพัฒนาทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการบริภาษด่าทอหรือวิจารณ์ผู้อื่นอย่างเสียๆ หายๆ แต่เป็นการพัฒนาความสามารถในการแยกแยะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราด้วยปัญญา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมีขึ้นในระบบการศึกษาของเราตั้งแต่วันนี้

หลายคนไม่เห็นด้วย และเข้าใจผิดไปว่าการสนับสนุนการศึกษาที่จะปลูกฝังความคิดเชิงวิพากษ์นั้น สร้างความวุ่นวายให้กับโรงเรียนและสังคม และอาจจะแย้งว่าเรามีนักเรียน นักศึกษาที่ทำตัว “เกรียน” ลุกขึ้นมาสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมมากเพียงพอแล้ว และไม่อยากจะมีเพิ่มอีก นั่นเป็นเพราะสังคมเรายังใหม่ต่อเรื่องนี้จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับที่รุนแรงเกินไป เราจึงขาดสิ่งที่นานาประเทศเรียกว่า Tolerant หรือความ “อดกลั้น” ต่อความแตกต่าง ถ้าเรายังรักที่จะส่งลูกหลานไปโรงเรียนอินเตอร์ รักที่จะส่งครูอาจารย์ไปศึกษาต่างประเทศ รักที่จะเปิดให้ต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย เราก็จะปิดกั้นลูกหลานของเราให้รับวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์ที่มาจากต่างประเทศไม่ได้

วิธีที่ถูกต้องก็คือจับเอาเรื่องนี้มาสอนและปลูกฝังอย่างจริงจังในสถาบันการศึกษาของเราตั้งแต่ยังเล็กๆ และให้ความรู้อย่างถูกต้องว่าความคิดเชิงวิพากษ์นั้นเป็นคนละเรื่องกับความรุนแรง และไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย ถ้าในห้องเรียนของเรามีเด็กคนหนึ่งคิดไม่เหมือนเด็กคนอื่น เด็กคนนั้นไม่สมควรจะต้องรู้สึกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน แต่ถ้าเด็กคนใดทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด เด็กคนนั้นต่างหากที่ควรจะต้องถูกคุณครูตักเตือน ถูกเพื่อนตักเตือน แต่ไม่ควรมีเด็กคนไหนควรถูกต่อว่าถ้าหากเขาจะชอบสีขาว “งาช้าง” ในขณะที่ทั้งห้องชอบขาว “หยวกกล้วย”

ผมเห็นมิตรสหายหลายท่าน บางคนเป็นอาจารย์นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม มีความคิดเชิงวิพากษ์ที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในการสนทนาโต้ตอบเชิงความคิดได้ พวกเขาจึงเป็นผู้ที่มีอิสรภาพทางความคิด แต่กลับพลาดพลั้งตกลงใน “กับดักของความรู้สึก” การสนทนาแลกเปลี่ยนจึงกลายเป็นสงครามที่ปะทุในใจ เกิดความขุ่นข้องหมองใจทั้งสองฝ่าย (หรือหลายฝ่าย)

ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ ควรจะต้องมาควบคู่ไปกับการภาวนา หรือการเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลในจิตใจ ซึ่งไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะคำสอนในศาสนาต่างๆ ก็มุ่งสอนให้เกิดการขัดเกลาจิตใจและรู้จักธรรมชาติของจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ผมยืนยันว่าสองอย่างนี้อยู่ด้วยกันได้ อยู่กันได้ในลักษณะ “ข้ามพ้นแต่ปนอยู่” หมายถึงเป็นการบูรณาการ ไม่ใช่ต้องเลือกขั้วเลือกข้าง เมื่อเอาด้านนี้ ด้านนั้นต้องไม่เอา อย่างที่เข้าใจผิดกัน

เพราะนักเปียโนย่อมรู้ดีว่าสีขาวบนคีย์เปียโนแต่ละตัวนั้นขาวมากน้อยแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน คีย์สีดำก็เช่นเดียวกัน เปียโนแต่ละคีย์ก็ย่อมให้เสียงที่แตกต่างกัน คงไม่มีใครต้องการฟังเปียโนที่มีแต่คีย์สีขาว หรือสีดำเพียงอย่างเดียว ทุกคนทราบว่านักเปียโนที่ฝึกฝนตนมาอย่างดีจะสามารถสร้างเสียงดนตรีที่ไพเราะประทับใจผู้ฟังได้ เพราะคีย์สีดำและคีย์สีขาวบนเปียโนนั้นเป็นแค่เครื่องหมายที่ชี้ไปสู่เส้นสายที่ซ่อนอยู่ในตัวเปียโนซึ่งมีเอาไว้สร้างเสียงซึ่งมีความกลมกลืนในความแตกต่าง

ฟังกันเถิด จะค่อยได้ยิน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2557

ในห้องที่เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยเซ็งแซ่ของผู้คน ดูเหมือนว่ายิ่งอยากให้คนอื่นได้ยินสิ่งที่เราพูดมากขึ้นเท่าไหร่เราก็จะยิ่งพูดเสียงดังมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งแทบกลายเป็นการตะโกนพูดใส่กัน กลายเป็นว่าเสียงทั้งหมดในห้องก็ยิ่งดังขึ้นและดังขึ้น แต่เรากลับคุยกันแทบไม่รู้เรื่อง

ยิ่งในขณะที่เราพูดอยู่ มีคนพยายามพูดแทรก ไม่ยอมรอให้เราพูดจนจบประโยคหรือเนื้อความ ก็ยิ่งน่าหงุดหงิดโมโห และที่น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าคือ ฟังเราไม่เข้าใจ ตีความไปเอง โกรธไปเอง โมโหไปเอง แล้วการสนทนาก็กลายเป็นการเสียดสีเหยียดเย้ยและด่าประนามกัน

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราควรทำอย่างไร?

หลายคนตอบว่า ก็เลิกคุย – น่าเสียดายที่การเลิกคุย มีความหมายเดียวกับการเลิกฟัง

มนุษย์เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่สำคัญยิ่งก็คือ การมองเห็น และการได้ยิน

เมื่อปฏิเสธการพูดคุยและปฏิเสธการฟัง การรับรู้ก็ไม่สมบูรณ์ วงจรเรียนรู้ก็ถูกตัดตอน ภาวะอารมณ์ก็ตกร่องเดิม ผูกติดกับความทรงจำเก่า แม้ว่าปัจจุบันตรงหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ยังมีข้อสรุปเดิม-เดิม ตัดสินคุณค่าแบบเดิม-เดิม ปราศจากการทบทวนความรู้ ความเชื่อ ความคิด ของตนเอง อัตตาตัวตนก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ถ้าไม่ไปกดทับคนอื่น ก็ดิ้นพล่านเมื่อคนอื่นคิดเห็นหรือปฏิบัติต่างไปจากตนเอง เพราะเข้าใจไปว่าตนเองกลายเป็นสัจจะพจน์ (Axiom) ที่พิสูจน์ไม่ได้ไปเสียแล้ว

การฟังจึงยังสำคัญอยู่แม้จะไม่อยากพูดคุย และอาจจะช่วยให้เริ่มพูดคุยกันไปในทิศทางสร้างสรรค์และหาทางออกร่วมกันได้มากขึ้นในอนาคต

หากอีกฝ่ายมีความโกรธโมโห หรือกระทั่งโศกเศร้าเสียใจ การฟังที่ดีก็เป็นการให้ในรูปแบบหนึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นการเยียวยาก็ว่าได้ การฟังที่ดีคือการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ ฟังโดยไม่ตีความ ฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องมีความคิดเห็นเสนอแนะ และดีที่สุดคือการได้ยินเสียงของตนเองไปพร้อมกับการได้ยินเสียงของคนอื่น

เสียงของความรู้สึกเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เสียงของความไม่เชื่อใจไม่ไว้ใจ เสียงของความรักศรัทธา เสียงของการตัดสินถูกผิด เสียงของความเห็นอกเห็นใจหรือสะใจ ฯลฯ – เหล่านี้แหละคือเสียงภายในที่ปรากฏ ถ้าเราฟังเป็นก็จะได้ยิน

หลายครั้งที่เสียงภายในเหล่านี้ส่งเสียงดังมากจนกลบหัวใจเรา และทำให้เราไม่ได้ยินคนอื่น เพราะเสียงของเราที่เป็นเสียงของการตีความ การตัดสินผิดถูก ความรู้สึกรักชอบชังเกลียดริษยา ฯลฯ จะผลักให้เราพูดออกไป แม้ไม่พูดออกมา แต่ก็เป็นเสียงในใจ เซ็งแซ่แกล่กลบเสียงคนอื่น ทำให้เราไม่ได้ยินคู่สนทนาอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดถึง “ประชาธิปไตย” เสียงในใจก็ตีความไปว่าเป็นพวกมุ่ง “ล้มเจ้า” หรือเมื่อฝ่ายหนึ่งพูดถึง “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เสียงในใจก็ตีความไปว่าเป็นพวกเห็น “คนไม่เท่ากัน”

ในการฟังให้ได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริงนั้น นอกจากเสียงภายในจะเงียบพอและเงี่ยหูฟังเป็น ยังอาจจะต้องได้ยินสิ่งที่ไม่ได้พูดด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก คุณค่าที่ผู้พูดยึดถือหรือให้ความสำคัญ และความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด ไม่ว่าจะเป็น “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ก็ล้วนแล้วแต่มาจากความต้องการพื้นฐานที่อยากให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่ฝ่ายแรกอาจจะรู้สึกไม่เชื่อถือหรือไว้วางใจกติกาเดิมของผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายหลังอาจจะรู้สึกไม่เชื่อถือหรือไว้วางใจกลุ่มคนที่เสนอตัวเข้ามาปฏิรูป ดังนั้น โจทย์ปัญหาพื้นฐานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายจึงอาจจะอยู่ที่การมีศรัทธาและความไว้วางใจต่อกันและกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญและจำเป็นในระบบนิเวศประชาธิปไตย

ในภาวะวิกฤตที่เต็มไปด้วยเสียงตะโกนเซ็งแซ่ การหยุดฟังกันบ้างจึงเป็นเรื่องจำเป็น แน่ล่ะ – อาจจะมีใครบางคนเริ่มโมโหหรือโกรธ และพร้อมจะต่อยตี ถ้าคนรอบข้างไม่ห้ามปราม ก็คงต่อยตีจนหัวร้างข้างแตก และถ้าใช้อาวุธที่รุนแรงขึ้น คนรอบข้างก็อาจจะถูกลูกหลง และ – บางครั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือความสงบเรียบร้อยก็จะต้องออกมาป้องปราม

คนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจแนวดิ่ง มักจะเคยชินกับวัฒนธรรมพูดออกคำสั่ง ซึ่งถ้าเขาหรือเธอรำคาญเสียงเซ็งแซ่ ก็อาจจะออกกฎหมายให้ผู้คนปิดปากเงียบ หรือคิดภาษีการพูดให้แพงลิบลิ่วที่สุดในโลก แต่การห้ามพูด – ย่อมไม่อาจหยุดเสียงความคิดความรู้สึกของผู้คนได้เลย ความคิดต่อต้าน ความรู้สึกไม่สยบยอม เมื่อขยายตัวมากขึ้น รวมตัวมากขึ้น ต่อให้มีอำนาจมากเพียงใด ก็ไม่อาจปกครองได้ ผู้มีอำนาจที่มีสติปัญญามักจะมีความกรุณาเป็นฐาน เขาหรือเธอย่อมเปิดพื้นที่ให้กับการฟัง เสริมสร้างบรรยากาศของความเคารพกันและกัน บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความรู้สึกปลอดภัยได้กว้างขวางขึ้น ผู้คนที่ไม่หวาดกลัว ย่อมแสดงสติปัญญาที่นำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่หวาดกลัวและก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในปิรามิดอำนาจ ย่อมรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ โกรธและโมโหต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจที่ปรากฏอยู่ แต่การแสดงอารมณ์ตอบสนองในท่วงทำนองเย้ยหยันเสียดสีประชดประชันต่อปรากฏการณ์รายวันย่อมไม่นำไปสู่หนทางของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน การพยายามทำความเข้าใจปัญหาอย่างเป็นองค์รวม เข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเสนอทางออกจากปัญหานั้นอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่ามาก

ในภาวะวิกฤต สถานการณ์สับสนซับซ้อนวุ่นวาย ความสงบรำงับภายในเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง การฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องจำเป็น หากเรายังเศร้าหมองโกรธเกรี้ยว ก็ย่อมชำระทุกข์และนำพาความสงบสุขมาสู่สังคมไม่ได้ ตราบที่เราไม่เข้าใจที่มาของความเศร้าหมองโกรธเกรี้ยวภายในตัวเรา เราก็ย่อมปฏิเสธและไม่เข้าใจคุณค่าที่ผู้อื่นยึดถือ สังคมของเราก็จะเต็มไปด้วยศัตรูมากกว่ามิตร เราก็จะกลายเป็นเผด็จการคนหูหนวกผู้กล้าหาญที่ถือดาบแห่งคุณธรรมเที่ยวไล่ฟาดฟันผู้อื่น แล้วก็พร่ำบูชาถึงความรักต่อเพื่อนมนุษย์และหรือศรัทธาต่อประชาธิปไตย

แผ่นดินไหว ใจคน และความเหลื่อมล้ำ



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2557

รายงานข่าวว่าแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเวลาประมาณหกโมงเย็นของวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา

แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากที่สุดเท่าที่คนรุ่นนี้ของจังหวัดเชียงรายเคยประสบ ครั้งที่สร้างความเสียหายให้พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน เมื่อหลายปีก่อน หรือสร้างความเสียหายให้แก่ยอดเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสนเมื่อไม่นานมานี้ ไม่รุนแรงเท่า

แผ่นดินไหวที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่อำเภอเชียงแสนมักจะเกิดจากรอยเลื่อนแม่จัน ว่ากันว่ารอยเลื่อนแม่จันทำให้เกิดเวียงหนองหล่มมาก่อนแล้วในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสนเมื่อพันปีก่อน

ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนแม่จันหรือรอยเลื่อนพะเยา รวมทั้งรอยเลื่อนในทะเลอันดามันที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เมื่อสิบปีก่อนซึ่งเป็นเหตุให้มีคนตาย ๒๓๐,๐๐๐ คน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนขนาดใหญ่กว่าที่ซ่อนอยู่ข้างใต้

เป็นรอยเลื่อนที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอินโดออสเตรเลียนเพลทและยูเรเซียนเพลท

อินโดออสเตรเลียนเพลท (Indo-Australian Plate) เป็นเทคโทนิคเพลท (tectonic plate) คือแผ่นดินของผิวโลกขนาดยักษ์ที่กินอาณาบริเวณตั้งแต่ทวีปออสเตรเลียและพื้นสมุทรโดยรอบขึ้นมาทางตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงอนุทวีปอินเดียและพื้นสมุทรโดยรอบเช่นกัน ที่ขอบขวาแผ่นดินแผ่นนี้คือบริเวณพรมแดนตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่เหนือสุดลงถึงใต้สุด

ยูเรเซียนเพลท (Eurasian Plate) เป็นเทคโทนิคเพลทขนาดมโหฬารอีกแผ่นหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของทวีปเอเชียและยุโรปเกือบทั้งหมด นั่นคือรวมเอาประเทศจีนไว้ด้วย โดยมีประเทศไทยอยู่ทางตอนล่างของแผ่นดินแผ่นนี้

นึกภาพโลกที่เป็นก้อนลาวาเหลวปกคลุมด้วยแผ่นดินที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ลอยไปมาตามกระแสลาวา แผ่นดินบางส่วนโผล่พ้นน้ำ แต่แผ่นดิน ๒ ใน ๓ ส่วนอยู่ใต้สมุทร เวลาแผ่นดินเหล่านี้ขยับตัวเข้าหากันจึงเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์

อินโดออสเตรเลียนเพลทกำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกด้วยความเร็ว ๗๐ มิลลิเมตรต่อปี ปะทะกับยูเรเซียนเพลท แผ่นดินทั้งสองบดกันเกิดเป็นรอยเลื่อนแม่จัน พะเยา ศรีสวัสดิ์ ฯลฯ รวม ๑๔ รอยเลื่อนในประเทศไทย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ดูเบาว่าไม่น่าจะร้ายแรงตลอดมา

เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๕ เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าอินโดออสเตรเลียนเพลทกำลังแตกออกเป็นสองแผ่น คือแผ่นอินเดียที่เคลื่อนขึ้นเหนือช้าๆ เข้าหาภูเขาหิมาลัยด้วยความเร็ว ๓๕ มิลลิเมตรต่อปี และแผ่นออสเตรเลียที่เคลื่อนตัวขึ้นเหนือด้วยความเร็วสูงกว่าคือ ๕๖ มิลลิเมตรต่อปี เหล่านี้กระทบกับกับรอยเลื่อนในประเทศไทย

เย็นวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คนเชียงรายพบการสั่นสะเทือนของแผ่นดินรุนแรงและยาวนานอย่างที่ไม่เคยพบ คืนนั้นมีอาฟเตอร์ช็อคอีกนับไม่ถ้วนตลอดทั้งคืนและยังคงมีอยู่ทุกคืนอีกสามคืนถัดมา เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะหลับได้สนิทในคืนที่หนึ่ง

เพียงตอนเย็นของวันที่หนึ่งเราก็ได้เห็นภาพเศียรพระขาดที่วัดอุดมวารี อำเภอพาน วัดร่องขุ่นแตกเสียหายหลายจุด ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่แยกเป็นสองเสี่ยง ภาพอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่ได้เห็นมีสาเหตุมาจากความแตกแยกและรอยร้าวที่ใหญ่กว่าลึกลงไปหลายสิบกิโลเมตรข้างใต้

ใจคนเป็นเช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ ซิกมันด์ ฟรอยด์ได้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เพื่ออธิบายใจคนและยังคงเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ใช้อธิบายใจคนได้ดีที่สุดนับจากศตวรรษที่ ๒๐ มาถึงศตวรรษที่ ๒๑ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยประสาทวิทยาของสมอง (Neuroscience) ได้รวมตัวกันวิจัยสมองในสาขาใหม่คือประสาทวิทยาของจิตวิเคราะห์ (Neuropsychoanalysis)

บทความเรื่อง “The Second Coming of Sigmund Freud” เขียนโดย Kat McGowan ตีพิมพ์ในนิตยสาร Discover ฉบับเดือนเมษายน ๒๐๑๔ ให้ข้อมูลว่าการแพทย์สาขาใหม่คือประสาทวิทยาของจิตวิเคราะห์นี้กำลังก้าวข้ามไปสู่พรมแดนใหม่ นั่นคือพยายามศึกษาจิตวิเคราะห์ด้วยกรอบความรู้ทางชีววิทยาและประสาทวิทยา แม้ว่าความก้าวหน้ายังไม่มากแต่ดูเหมือนจะไม่เกินความจริงหากจะทำนายว่าวันหนึ่งพวกเขาคงได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ตรวจจิตใต้สำนึก หรือเครื่องมือที่ใช้ดูเนื้อเรื่องที่ผู้ป่วยฝัน หรือเครื่องมือที่ใช้ตรวจเนื้อหาของอาการประสาทหลอน ไม่ว่าจะเป็นหูแว่วหรือภาพหลอนของผู้ป่วยได้เป็นแน่

คล้ายนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจพบแผ่นดินขนาดใหญ่ที่ประกอบกันเป็นเปลือกโลกฉะนั้น

จิตวิเคราะห์อย่างสั้นที่สุดอธิบายว่าคนเราไม่รู้จักตัวเอง ใจคนเราประกอบด้วยจิตใต้สำนึก (unconscious) เป็นส่วนสำคัญ คนเราเก็บกดความปรารถนาไว้ในจิตใต้สำนึก ความปรารถนาหรือแรงผลัก (impulse) ที่สำคัญมี ๒ อย่าง หนึ่งคือแรงผลักดันทางเพศ สองคือแรงผลักดันที่จะกระทำรุนแรง เรื่องนี้เข้าใจได้เพราะที่แท้มนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง หากมิได้ขัดเกลาด้วยกติกาสังคมที่ดีหรือศีลธรรมที่เหมาะสมย่อมกลายเป็นสัตว์กันได้ง่ายๆ

อะไรในจิตใต้สำนึกมักผุดขึ้นมาบางเวลา ส่วนหนึ่งผุดขึ้นเป็นความฝัน (dream) ส่วนหนึ่งผุดขึ้นมาเป็นอาการพลั้งปากหรือพลั้งเผลอ (slip) อีกส่วนหนึ่งจะต่อสู้กับแรงเก็บกดอย่างเอาเป็นเอาตายจนกระทั่งได้รับชัยชนะแล้วผุดขึ้นมาในสภาพที่ชำรุดเสียหาย เกิดเป็นอาการทางจิต กลายเป็นผู้ป่วยโรคประสาทหรือโรคจิต

ประเด็นคืออะไรที่เราทำๆ กันทุกวันนี้ เราทำไปเพราะอะไรบางอย่างที่เก็บไว้ข้างใต้ในจิตใต้สำนึก หากเราไม่เก็บกดอะไรไว้มากเกินไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ในทางตรงข้ามหากเราเก็บกดอะไรไว้มากเกินไป อะไรนั้นก็พร้อมจะต่อสู้ ดิ้นรน แล้วผุดขึ้นมาเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่นได้มาก


เหมือนรอยเลื่อนที่เคยเงียบสงบอยู่ใต้ดินมาช้านานกำลังสะสมพลังอยู่ทุกวันรอเวลาที่จะขยับตัวอีก

การกระทำของกลุ่มบุคคลและเครือข่ายที่สถาปนาตนเองเป็นคนดีได้ปลูกฝังความเกลียดชังและแค้นเคืองให้แก่ประชาชนไทยจำนวนหลายล้านคนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องมาหลายปี จำนวนหลายล้านคนนี้จะเป็นจำนวนส่วนใหญ่หรือเป็นจำนวนมากหรือเปล่านั้นเถียงกันได้ แต่ที่แน่ๆ คือจำนวนนี้มากพอที่จะทำให้เกิดแรงปะทุครั้งใหญ่ของจิตใต้สำนึกรวมหมู่ (collective unconscious) แล้วสร้างความแตกแยก ความเสียหาย และความสูญเสียแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มได้มาก


กลุ่มบุคคลและเครือข่ายที่สถาปนาตนเองเป็นคนดี มักชูประเด็นการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากปฏิรูปการเมืองแล้วยังพูดถึงปฏิรูปความเหลื่อมล้ำอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็น่าแปลกใจที่ไม่ยินยอมฟังเสียงประชาชนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำมานานแสนนานเลย

แผ่นดินเหลื่อมล้ำข้างใต้จึงเกิดแผ่นดินไหวข้างบน

ดูความคิด


บทสนทนาของอาจารย์เขมานันทะกับลูกศิษย์
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2557

ชีวิตคือการไหลของความคิด มโนภาพ จินตภาพเป็นความคิด ภาพในความฝันก็เป็นความคิด เพราะมันสัมผัสได้ ถ้าสัมผัสไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความคิด (หาก)เราเห็นความคิด สัมผัสความคิดได้ นั่นเป็นปากประตูไปสู่อิสรภาพ

ความคิดก็เป็นวัตถุ เป็นอาการลักษณะหนึ่ง เราเห็นความคิดไม่ได้ แต่เราจับอาการมันได้ ต้องใช้ปัญญาความเข้าใจที่เกิดภายในแต่ละคน การจับความคิดเหมือนเราเอาปลายไม้วาดวนน้ำ มีภาพ แต่ตั้งอยู่ไม่ได้ รู้ตัวอีกทีก็หายไปแล้ว ปัญญาคือความเข้าใจ วิธีที่จะเข้าใจเป็นเทคนิค หลวงพ่อเทียนท่านใช้ยกมือสร้างจังหวะ

ความไม่เข้าใจเป็นรากของอวิชชาและปัญหาต่างๆ (ใน)ทางกลับกัน ความเข้าใจเป็นปัญญา จะเข้าใจได้ต้องสัมผัสของจริง สิ่งมีอยู่จริง ถึงจะเกิดปัญญาชนิดหยั่งรู้ (insight) ไม่ใช่พุทธิปัญญา (intellect) การหยั่งรู้เกิดเองภายใน แล้วความภูมิใจ ความเป็นตัวของตัวเอง(จะ)มาจากความเข้าใจนี้ รู้เช่นนี้แล้ว(ก็)โยนตำราทิ้งได้เลย ผมโยนไปเลย ไม่แสวงหาความรู้ของภายนอกอีกเกือบ ๒๐ ปี พิสูจน์ได้ว่าปัญญาที่ได้จากความรู้ภายนอกไม่มีผลต่อการภาวนา มีผลต่อเรื่องราวทางสังคม (social affair) มากกว่า สติปัญญาจากภายนอก จากการเรียน ความทรงจำ นั่นไม่ใช่ปัญญาแท้ เป็นปัจจัยแวดล้อม ปัญญา(ภายนอก)กับความเข้าใจแตกต่างเหมือนฟ้ากับดิน เฉลียวฉลาดมีปัญญาก็ดี แต่สู้ความเข้าใจจริงที่เกิดจากการสัมผัสความคิดไม่ได้

ความเข้าใจความคิดนั่นแหละเรียกว่าปัญญา(ที่แท้) ท่านผู้รู้จึงเริ่มสอนว่า จงเฝ้าดูความคิดโดยไม่ทำลายพลังของมัน “ดูความคิด” ถ้านำไปปฏิบัติ อานิสงส์สูง ความคิดเกิดขึ้นครั้งเดียว กำแพงเมืองทะลาย ถ้าเป็นจักรพรรดิ ความคิดเกิดขึ้นครั้งเดียว สังสารจักรหักเลย เพราะความคิดซับซ้อน ต้องดูเป็น ดูแบบนักฝึกสิงโต อย่าลืมตัวเป็นอันขาด ไม่ว่าเราจะเรียกว่าความรู้สึกตัวหรือความคิด ความจริงมีอันเดียว ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแบบแผนของสำนักไหม ลงเมื่อตั้งลำดูความคิด โลกถูกเขย่าแล้ว

อย่าเข้าใจว่าความคิดเป็นสิ่งเลวร้าย ความคิดเหมือนม้าป่าที่ทรงพลัง เราจับม้ามัสแตงค์มาฝึก แต่ความเถื่อนเราไม่ต้องการ ภาวนาคือการฝึก ถึงวันมันเปลี่ยนนิสัย มันรักเจ้านาย มัน(ก็)เชื่อฟังเรา ถ้าเราไม่เข้าใจ ไปทำลายชีวิตม้าป่า ทำลายพลัง หยุดความคิด เราจะเสียพลัง

แต่พลังโดยปราศจากความเข้าใจ อันตรายมาก ความคิดอันตรายยิ่งกว่าปรมาณู เป็นที่มาของปรมาณู เป็นที่มาของบรรดาเทคโนโลยี อาศัยความคิดที่ฉลาดแหลมคม สร้างสรรค์สิ่งวิจิตร (ใน)ทางกลับกันถ้ามีอุปาทาน ยึดถือของเรา(ว่า)จริง คนอื่นไม่จริง เป็นสิ่งที่ต้องสังวร เพราะพลังของความคิดมักทำลายตัวเองก่อน ก่อนไปทำลายผู้อื่น

คนที่เข้าใจความคิดมีน้อยมากในโลก หลวงพ่อเทียนว่า คนเข้าใจความคิดมีน้อยมาก แต่คนถูกใช้จากความคิดมีมาก เรากำลังทำความเข้าใจความคิด เรากำลังใช้ความคิดเพื่อเข้าใจความคิด เราคิดจะหยุดความคิด เหมือนความคิดรายล้อมตัวเราอยู่ วันหนึ่งที่วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนบอกลูกศิษย์(ว่า) เดินหนีหลวงพ่อสิ ลูกศิษย์เดิน หลวงพ่อก็กอดลูกศิษย์ไว้ นี่ความคิดมันกอดเราอย่างนี้

ในเบื้องต้น ความคิดจะน้อยลงก่อน เรามักจะใช้วิธีเพ่งจ้องไปสกัดกั้นกระแสความคิดอย่างตรงไปตรงมา ทื่อๆ ต่อมาเราก็ผ่อนปรน เมื่อความคิดน้อยลง จะรู้สึกเป็นสุขขึ้น เหมือนเราอยู่เขตร้อน เข้าไปเขตหนาวก็สบาย

ต่อมาเมื่อมีนิสัยชอบดูความคิด สติปัญญาชอบความเข้าใจชีวิต ก็ง่ายเข้า ความคิดตัดรอนสภาพพะรุงพะรังที่คิดว่าเป็นเพชรนิลจินดา แต่(ที่จริง)เป็นขยะมูลฝอย ความคิดน้อยลงในเบื้องต้น ต้องระวัง ไม่ใช่เราทำ มันจะน้อยลงเอง เมื่อเราดูถี่เข้าๆ ความคิดก็ถูกตัดกระแสลง

ความคิดเหมือนนักเลง ครองครองอาณาบริเวณหนึ่ง หนุ่มคนหนึ่งเพิ่งมาใหม่ เขาต้องรู้จักนักเลง ปรองดองกับความคิดดีกว่า หักโหม(แล้ว)อันตราย อันตรายหมายความว่า จิตใจจะเตลิดเปิดเปิงไปในทิฐิทัศนะที่ผิด ปรองดองกับความคิด ชีวิตก็ราบรื่นขึ้น เมื่อรวบรวมพลังใช้สมาธิก็ทำได้ดี เมื่อถึงเวลาก็พักผ่อน จิตใจก็เหมือนกรรมกร ถ้าใช้งานหนักเกินไปก็เอาเปรียบ ส่วนใหญ่เราไม่ใส่ใจว่าเราเอาเปรียบไปหรือเปล่า ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็น เราควรทะนุถนอมความคิด อย่าโกรธง่ายเวลาไม่ได้ดั่งใจ เรียกว่าปรองดอง เป็นศิลปะอย่างยิ่งในการเจริญภาวนา

ความรู้สึกตัวก็เป็นรูปของความคิด คือเราคิดถึงความรู้สึกตัว เมื่อเรากลับมาที่ความรู้สึกตัว ความคิดก็จบลงแล้ว ดังนั้นต้องทำเบาๆ อย่าหักโหม อย่าเอาแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่งั้นจิตใจจะเหนื่อย การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องธรรมดาๆ

ความคิดมันเป็นชั้นเป็นเชิง มันยั้วเยี้ยไปหมด ที่เราเห็นเป็นชั้นเดียว เห็นแว้บๆ ผ่านไป แต่พอแก่กล้า เห็น(เป็น)ชั้นๆ มีชั้นลึกอีก จนจิตเงียบเชียบ ถ้าเกิดจากวิปัสสนาจะดีมาก (แต่)ถ้าเกิดจากสมถะไปสะกดข่มมัน มันให้ปัญญาอีกแบบ ทั้งหมดเป็นปัญญาที่เป็นการหยั่งรู้ ไม่ได้ปฏิเสธ มันมีประโยชน์ในบางแง่ ปัญญาแห่งความเข้าใจที่เกิดขึ้นเอง เกิดจากการเฝ้าดูและแจ่มแจ้งขึ้นเอง พูดง่ายๆ คือ ปัญญาแห่งความเข้าใจโดยธรรมชาตินั่นเอง

ผมรู้สึกเหนื่อย เป็นปัญญาที่เกิดเอง รับรู้ว่าร่างกายอ่อนเปลี้ย แล้วมีวิธีผ่อนปรน โดยขยับเนื้อขยับตัว นี่เป็นความเข้าใจชีวิตทั้งนั้นเลย

“สติ” ที่ถูกมองข้าม



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2557

การฝึกสติกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งจำกัดวงอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมของชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ บัดนี้ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ ไม่เว้นกระทั่งเรือนจำ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการฝึกสติได้เข้าสู่กระแสหลักของสังคมอเมริกันไปแล้ว

บรรษัทชั้นนำของอเมริกาเป็นอันมากได้จัดคอร์สเจริญสติให้แก่ผู้บริหารและพนักงานอย่างจริงจัง กูเกิลมีโครงการฝึกสติชื่อ “แสวงหาด้านในของคุณ” (Search Inside Yourself) ปีละ ๔ ครั้งๆ ละ ๗ สัปดาห์สำหรับเจ้าหน้าที่ของตน ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในสำนักงานของกูเกิลยังมีทางเดินจงกรมซึ่งทำเป็นรูปเขาวงกต ขณะที่อีเบย์จัดห้องสมาธิที่มีบรรยากาศชวนนั่งเจริญสติ ส่วนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการจัดคอร์สเจริญสติแก่พนักงานเช่นกัน ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์คนหนึ่ง แม้แยกตัวมาตั้งบริษัทใหม่ แต่ก็ยังจัดให้มีการฝึกสติเป็นประจำ

ล่าสุดท่านติช นัท ฮันห์ได้รับนิมนต์ให้ไปนำการเจริญสติที่สำนักงานของกูเกิล โดยมีผู้บริหารของบรรษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีมาร่วมปฏิบัติด้วย ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพอาราธนาท่านติช นัท ฮันห์ไปบรรยายเรื่องพลังแห่งสติ ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานอย่างล้นหลามจนห้องประชุมแน่นขนัด

กิจกรรมหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีมีร่วมอย่างคับคั่ง คือ “Wisdom 2.0” ซึ่งเป็นเสมือนมหกรรมประจำปีด้านการเจริญสติ ปีนี้มีคนเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน (ปีแรกที่จัดคือ ๒๕๕๒ มีคนร่วมเพียง ๓๒๕ คน) มีองค์กรมากมายผุดขึ้นเพื่อรับจัดคอร์สฝึกสติให้แก่บริษัทต่างๆ โดยมีรูปแบบและจุดเน้นจุดขายที่หลากหลาย ใช่แต่เท่านั้น อุปกรณ์ส่งเสริมการเจริญสติก็ขายดีมาก นอกจากเบาะรองนั่ง เสื่อ ระฆัง ธูป แล้ว ปัจจุบันมีแอปส์ (apps) นับร้อยๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกสติและทำสมาธิ ยิ่งหนังสือด้วยแล้ว ไม่ยากเลยที่จะหาหนังสือที่มีชื่อผูกกับคำว่า “สติ” หรือ mindfulness เช่น การเลี้ยงลูกอย่างมีสติ การกินอย่างมีสติ การสอนอย่างมีสติ การบำบัดด้วยสติ การเรียนรู้อย่างมีสติ การเมืองแห่งสติ (Mindful Politics) สมองกับสติ (The Mindful Brain) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่นิตยสารไทม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขึ้นปกด้วยภาพหญิงสาวในชุดขาวกำลังหลับตาทำสมาธิอย่างสงบ พร้อมกับพาดข้อความว่า “The Mindful Revolution” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา

อะไรทำให้การฝึกสติได้รับความนิยมอย่างมากมายเช่นนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ ความเครียดที่มากขึ้น อันเนื่องจากชีวิตที่เร่งรีบและข้อมูลที่ท่วมท้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับโลกแห่งข้อมูลอันมากมายมหาศาล ทำให้ผู้คนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ยังไม่ต้องพูดถึงการงานที่สามารถแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นส่วนตัว (เช่น เวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว หรือเวลานอน) ความเครียดเหล่านี้ผู้คนพบว่าไม่อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการที่คุ้นเคย เช่น กิน เที่ยว เล่น เพราะให้ผลเพียงชั่วคราว อีกทั้งยังมีโทษตามมาโดยเฉพาะการเสพติดยาหรืออบายมุข

หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า การเจริญสตินั้นช่วยลดความเครียดได้ อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นด้วย ผลดีที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาการเจริญสติ ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจก็เห็นว่ามันเป็นผลดีต่อหน่วยงานของตนด้วย เพราะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการหลังนี้เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดใจผู้บริหารองค์กรธุรกิจมาก เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้หน่วยงานของตนมี “ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่มีการนำการเจริญสติเข้าไปในคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ใช่แต่เท่านั้น มันยังเป็นจุดขายขององค์กรที่รับจัดทำคอร์สเจริญสติให้แก่องค์กรธุรกิจด้วย

สภาพการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องดีเสมอไป หลายคนเป็นห่วงว่า การเจริญสติกำลังกลายเป็นธุรกิจทำกำไร ซึ่งทำให้ “สติ” กลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นหมายความว่า ความหมายและคุณค่าของสติย่อมแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป คุณค่าของสติไม่ได้อยู่ที่การลดความเครียดหรือการมีสมาธิกับงานเท่านั้น ที่สำคัญก็คือสติช่วยให้เรารู้เท่าทันกิเลสตัณหาของตนและไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน รวมทั้งช่วยให้เห็นกายและใจตามเป็นจริง ไม่เห็นผิดหรือหลงในมายาภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่าสัมมาสติ ตราบใดที่การเจริญสติยังอยู่ในระดับที่ช่วยให้จิตหายฟุ้งซ่านเท่านั้น ความเครียดหรือความสงบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นของชั่วคราว เนื่องจากกิเลสตัณหายังมีอยู่เท่าเดิม พอมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้อยาก หรือประสบกับความไม่สมอยาก หรือเห็นคนอื่นได้รับความสำเร็จมากกว่าตน จิตใจก็จะรุ่มร้อน เครียดและเป็นทุกข์อีก

การใช้สติเพื่อช่วยให้จิตสงบและเป็นสมาธิ จะได้ทำกำไรยิ่งกว่าเดิมนั้น จะไม่ช่วยให้เราพบกับความสงบเย็นและผ่อนคลายอย่างแท้จริง กลับทำให้รากเหง้าของความทุกข์และความเครียดมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มากขึ้น การเจริญสติที่แท้ไม่เพียงบรรเทาความฟุ้งซ่านเท่านั้น หากยังช่วยให้เราเห็นความจริงว่า ความสุขที่แท้มิได้อยู่ที่เงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ หากอยู่ที่ใจซึ่งสงบจากกิเลส ตัณหาเบาบาง ไม่คับแคบเพราะความเห็นแก่ตัว แม้จะทำงานเต็มที่ แต่ก็มิได้มุ่งหมายเอาชนะผู้อื่นหรือตักตวงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แทนที่จะเอาเข้าตัว สติช่วยเปิดใจให้กว้าง มีเมตตาเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งช่วยให้ใจสงบเย็น

จะว่าไปแล้วสัมมาสติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ย่อมอาศัยกุศลธรรมอื่นๆ เป็นตัวรองรับสนับสนุน เช่น ความเห็นชอบ การคิดชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ (คือ มีศีล) และการเลี้ยงชีพชอบ เป็นต้น ดังนั้นการรักษากาย วาจา ใจให้ดีงาม จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเจริญสติด้วย เพียงแค่นั่งในห้องสมาธิหรือเดินอย่างสงบบนทางจงกรม ยังไม่พอ หากจำต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องทั้งภายในและภายนอกอย่างกลมกลืนกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งในการทำงานด้วย

สติจึงไม่ใช่แค่เทคนิคการฝึกจิตเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตทั้งหมดด้วย หากแยกการเจริญสติออกมาจากการดำเนินชีวิต หรือเอามาใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ มันก็อาจกลายเป็นมิจฉาสติได้ เพราะอย่าลืมว่าแม้แต่โจรหรือขโมยก็ต้องใช้สติในการประกอบมิจฉาชีพเช่นกัน แต่สติอย่างนั้นย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมิจฉาสติ เพราะนอกจากจะปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำจิตแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำความชั่วอีกด้วย

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกานั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างกับที่กำลังเกิดในเมืองไทย ดังทุกวันนี้แทบทุกวงการพากันพูดถึงการเจริญสติ ทำสมาธิ และปฏิบัติธรรม ขณะที่หนังสือธรรมะก็ขายดี แต่หากการปฏิบัติธรรมยังไม่ช่วยให้กิเลสของเราลดลง ยังมีความเห็นแก่ตัว อยากได้ใคร่ดี หรือไร้น้ำใจเหมือนเดิม ก็แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่การเจริญสัมมาสติอย่างแน่นอน

Back to Top