“สติ” ที่ถูกมองข้าม



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2557

การฝึกสติกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งจำกัดวงอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมของชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ บัดนี้ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ ไม่เว้นกระทั่งเรือนจำ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการฝึกสติได้เข้าสู่กระแสหลักของสังคมอเมริกันไปแล้ว

บรรษัทชั้นนำของอเมริกาเป็นอันมากได้จัดคอร์สเจริญสติให้แก่ผู้บริหารและพนักงานอย่างจริงจัง กูเกิลมีโครงการฝึกสติชื่อ “แสวงหาด้านในของคุณ” (Search Inside Yourself) ปีละ ๔ ครั้งๆ ละ ๗ สัปดาห์สำหรับเจ้าหน้าที่ของตน ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในสำนักงานของกูเกิลยังมีทางเดินจงกรมซึ่งทำเป็นรูปเขาวงกต ขณะที่อีเบย์จัดห้องสมาธิที่มีบรรยากาศชวนนั่งเจริญสติ ส่วนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการจัดคอร์สเจริญสติแก่พนักงานเช่นกัน ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์คนหนึ่ง แม้แยกตัวมาตั้งบริษัทใหม่ แต่ก็ยังจัดให้มีการฝึกสติเป็นประจำ

ล่าสุดท่านติช นัท ฮันห์ได้รับนิมนต์ให้ไปนำการเจริญสติที่สำนักงานของกูเกิล โดยมีผู้บริหารของบรรษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีมาร่วมปฏิบัติด้วย ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพอาราธนาท่านติช นัท ฮันห์ไปบรรยายเรื่องพลังแห่งสติ ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานอย่างล้นหลามจนห้องประชุมแน่นขนัด

กิจกรรมหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีมีร่วมอย่างคับคั่ง คือ “Wisdom 2.0” ซึ่งเป็นเสมือนมหกรรมประจำปีด้านการเจริญสติ ปีนี้มีคนเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน (ปีแรกที่จัดคือ ๒๕๕๒ มีคนร่วมเพียง ๓๒๕ คน) มีองค์กรมากมายผุดขึ้นเพื่อรับจัดคอร์สฝึกสติให้แก่บริษัทต่างๆ โดยมีรูปแบบและจุดเน้นจุดขายที่หลากหลาย ใช่แต่เท่านั้น อุปกรณ์ส่งเสริมการเจริญสติก็ขายดีมาก นอกจากเบาะรองนั่ง เสื่อ ระฆัง ธูป แล้ว ปัจจุบันมีแอปส์ (apps) นับร้อยๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกสติและทำสมาธิ ยิ่งหนังสือด้วยแล้ว ไม่ยากเลยที่จะหาหนังสือที่มีชื่อผูกกับคำว่า “สติ” หรือ mindfulness เช่น การเลี้ยงลูกอย่างมีสติ การกินอย่างมีสติ การสอนอย่างมีสติ การบำบัดด้วยสติ การเรียนรู้อย่างมีสติ การเมืองแห่งสติ (Mindful Politics) สมองกับสติ (The Mindful Brain) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่นิตยสารไทม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขึ้นปกด้วยภาพหญิงสาวในชุดขาวกำลังหลับตาทำสมาธิอย่างสงบ พร้อมกับพาดข้อความว่า “The Mindful Revolution” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา

อะไรทำให้การฝึกสติได้รับความนิยมอย่างมากมายเช่นนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ ความเครียดที่มากขึ้น อันเนื่องจากชีวิตที่เร่งรีบและข้อมูลที่ท่วมท้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับโลกแห่งข้อมูลอันมากมายมหาศาล ทำให้ผู้คนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ยังไม่ต้องพูดถึงการงานที่สามารถแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นส่วนตัว (เช่น เวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว หรือเวลานอน) ความเครียดเหล่านี้ผู้คนพบว่าไม่อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการที่คุ้นเคย เช่น กิน เที่ยว เล่น เพราะให้ผลเพียงชั่วคราว อีกทั้งยังมีโทษตามมาโดยเฉพาะการเสพติดยาหรืออบายมุข

หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า การเจริญสตินั้นช่วยลดความเครียดได้ อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นด้วย ผลดีที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาการเจริญสติ ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจก็เห็นว่ามันเป็นผลดีต่อหน่วยงานของตนด้วย เพราะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการหลังนี้เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดใจผู้บริหารองค์กรธุรกิจมาก เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้หน่วยงานของตนมี “ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่มีการนำการเจริญสติเข้าไปในคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ใช่แต่เท่านั้น มันยังเป็นจุดขายขององค์กรที่รับจัดทำคอร์สเจริญสติให้แก่องค์กรธุรกิจด้วย

สภาพการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องดีเสมอไป หลายคนเป็นห่วงว่า การเจริญสติกำลังกลายเป็นธุรกิจทำกำไร ซึ่งทำให้ “สติ” กลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นหมายความว่า ความหมายและคุณค่าของสติย่อมแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป คุณค่าของสติไม่ได้อยู่ที่การลดความเครียดหรือการมีสมาธิกับงานเท่านั้น ที่สำคัญก็คือสติช่วยให้เรารู้เท่าทันกิเลสตัณหาของตนและไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน รวมทั้งช่วยให้เห็นกายและใจตามเป็นจริง ไม่เห็นผิดหรือหลงในมายาภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่าสัมมาสติ ตราบใดที่การเจริญสติยังอยู่ในระดับที่ช่วยให้จิตหายฟุ้งซ่านเท่านั้น ความเครียดหรือความสงบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นของชั่วคราว เนื่องจากกิเลสตัณหายังมีอยู่เท่าเดิม พอมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้อยาก หรือประสบกับความไม่สมอยาก หรือเห็นคนอื่นได้รับความสำเร็จมากกว่าตน จิตใจก็จะรุ่มร้อน เครียดและเป็นทุกข์อีก

การใช้สติเพื่อช่วยให้จิตสงบและเป็นสมาธิ จะได้ทำกำไรยิ่งกว่าเดิมนั้น จะไม่ช่วยให้เราพบกับความสงบเย็นและผ่อนคลายอย่างแท้จริง กลับทำให้รากเหง้าของความทุกข์และความเครียดมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มากขึ้น การเจริญสติที่แท้ไม่เพียงบรรเทาความฟุ้งซ่านเท่านั้น หากยังช่วยให้เราเห็นความจริงว่า ความสุขที่แท้มิได้อยู่ที่เงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ หากอยู่ที่ใจซึ่งสงบจากกิเลส ตัณหาเบาบาง ไม่คับแคบเพราะความเห็นแก่ตัว แม้จะทำงานเต็มที่ แต่ก็มิได้มุ่งหมายเอาชนะผู้อื่นหรือตักตวงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แทนที่จะเอาเข้าตัว สติช่วยเปิดใจให้กว้าง มีเมตตาเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งช่วยให้ใจสงบเย็น

จะว่าไปแล้วสัมมาสติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ย่อมอาศัยกุศลธรรมอื่นๆ เป็นตัวรองรับสนับสนุน เช่น ความเห็นชอบ การคิดชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ (คือ มีศีล) และการเลี้ยงชีพชอบ เป็นต้น ดังนั้นการรักษากาย วาจา ใจให้ดีงาม จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเจริญสติด้วย เพียงแค่นั่งในห้องสมาธิหรือเดินอย่างสงบบนทางจงกรม ยังไม่พอ หากจำต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องทั้งภายในและภายนอกอย่างกลมกลืนกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งในการทำงานด้วย

สติจึงไม่ใช่แค่เทคนิคการฝึกจิตเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตทั้งหมดด้วย หากแยกการเจริญสติออกมาจากการดำเนินชีวิต หรือเอามาใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ มันก็อาจกลายเป็นมิจฉาสติได้ เพราะอย่าลืมว่าแม้แต่โจรหรือขโมยก็ต้องใช้สติในการประกอบมิจฉาชีพเช่นกัน แต่สติอย่างนั้นย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมิจฉาสติ เพราะนอกจากจะปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำจิตแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำความชั่วอีกด้วย

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกานั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างกับที่กำลังเกิดในเมืองไทย ดังทุกวันนี้แทบทุกวงการพากันพูดถึงการเจริญสติ ทำสมาธิ และปฏิบัติธรรม ขณะที่หนังสือธรรมะก็ขายดี แต่หากการปฏิบัติธรรมยังไม่ช่วยให้กิเลสของเราลดลง ยังมีความเห็นแก่ตัว อยากได้ใคร่ดี หรือไร้น้ำใจเหมือนเดิม ก็แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่การเจริญสัมมาสติอย่างแน่นอน

Back to Top