เมษายน 2009

กฎแห่งกรรมกับคลื่นแม่เหล็กธรรมชาติ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 เมษายน 2552

ได้พูดได้เขียนมาตลอดว่า ผู้เขียนเชื่อในกฎแห่งกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่าหลังจากตายไปแล้ว ทุกคนต้องเกิดใหม่เพื่อใช้กรรมนั้น นั่น-ว่ากันตามศาสนาพุทธ แต่ความรู้แทบทุกสาขาที่อิงวิทยาศาสตร์ (กายภาพ) เป็นฐาน โดยเฉพาะชีววิทยานีโอ-ดาร์วินิสมไม่ยอมรับ เพราะไม่มีหลักฐานตามวิธีที่วิทยาศาสตร์กำหนด

ก่อนที่จะเกิดใหม่ ตั้งแต่เกิดมากระทั่งกำลังย่างเข้าอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ผู้เขียนยังไม่เคยดูหมอจริงๆ แม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีศัตรูและเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมกับการเกิดใหม่ ทั้งอยู่กับมรณานุสติจนเป็นนิสัย จึงไม่ได้คิดจะดูหมอ แท้ที่จริง เรื่องตายนี้ ผู้เขียนเคยบอกกับเพื่อนๆ หลายคนมาแต่ไหนแต่ไรว่า คิดว่าตัวเองคงตายเมื่ออายุ ๘๔ ปี เมื่อร่วม ๑๕ ปีก่อน อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ยังเคยถามผู้เขียนว่า “รู้ได้อย่างไรว่าจะตายอายุ ๘๔?” ได้ตอบไปในตอนนั้นว่า “คิดตามหลักสถิติ” เพราะพ่อแม่ย่ายายอายุยืนทุกคน ซึ่งเป็นความจริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีเวลาอธิบาย เพราะกำลังจะออกรายการโทรทัศน์สดๆ ด้วยกันในคืนนั้น ที่ไม่ได้บอกคือ ตัวเลข ๘๔ จะโผล่ออกมาเสมอๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ที่เล่ามานี้เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักเรียนเตรียมอุดมรุ่นเดียวกัน เป็นหมอเหมือนกัน แต่จบคนละสถาบัน จึงไม่เคยได้พบกันมากว่า ๕๐ ปี เพิ่งรู้เมื่อเร็วๆ นี้เองว่าดูหมอเป็นด้วยการผูกดวง เขาเลยดูดวงให้และทำนายว่าจะตายตอนอายุ ๘๙ ปี แต่เจียนตาย ๒ ครั้ง ตอนอายุ ๘๔ กับ ๘๗ ที่สำคัญและเกี่ยวกับบทความนี้คือ เพื่อนบอกว่า ผู้เขียนสนใจในเรื่องของจิตและความลี้ลับมาก และในเร็วๆ นี้จะสามารถอธิบายเรื่องลี้ลับบางอย่างได้

เมื่อร่วม ๒๐ ปีมาแล้ว ผู้เขียนได้รับเชิญไปพูดให้นักวิชาการกลุ่มหนึ่งฟังเรื่องพลังงานธรรมชาติ ซึ่งผู้เขียนบอกว่าที่สำคัญที่สุด คือพลังงานคลื่นที่มีความถี่คลื่นขนาดต่างๆ มีผู้ฟังที่เป็นวิศวกรได้พูดขึ้นว่า ที่เขารู้ พลังงานที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติ คือพลังงานที่ได้จากฟอสซิลคาร์บอนหรือไซคลิคไฮโดรคาร์บอน นั่นแสดงถึงความล้มเหลวและผิดธรรมชาติของระบบการศึกษาของเรา ที่มองเห็นแต่สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติที่แปรเป็นเงิน หรือเป็นประโยชน์ของมนุษย์เฉพาะที่สามารถทำให้เราผลิตเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพที่ดีของชีวิต (มนุษย์) หรือความสุขได้ พูดง่ายๆ เราคงคิดว่า ธรรมชาติของโลกของจักรวาลมีคุณค่าและราคาเทียบได้กับเงินที่ให้ความทุกข์ความสุขกับการดำรงซึ่งชีวิตของเราแต่เพียงประการเดียว

เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ผู้เขียนจึงใช้คำว่า “คลื่นพลังงาน” ที่หมายถึงพลังงานธรรมชาติที่มีมากที่สุด พลังงานที่เป็นธรรมชาตินั้นพบได้ในทุกสถานที่ของจักรวาลตั้งแต่ที่ซึ่งเล็กที่สุด เช่น แรงในนิวเคลียสของอะตอม ไปจนมหึมา เช่น กาแลคซี หรือดาว เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา นั่นคือพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้ามีลักษณะเป็นคลื่นความถี่ มีความถี่คลื่นต่อวินาที (เฮิร์ตซ์) ซึ่งเท่าที่วิทยาศาสตร์รู้ในปัจจุบัน คือมีความยาวตั้งแต่เท่าๆ กับเส้นผ่าศูนย์กลางของอะตอม เช่น รังสีแกมม่าที่ยาวสิบยกกำลังลบแปดเซนติเมตร (๑๐-๘ ซม.) จนกระทั่งคลื่นวิทยุซึ่งยาวหลายร้อยเมตร จึงอาจพูดได้ว่าสรรพสิ่งและปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีหรือปรากฏอยู่ในจักรวาล ต่างอาศัยหรือถูกควบคุมโดยพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าหรือแม่เหล็กนั้นเหมือนกันทุกประการ เพียงแตกต่างกันที่ทิศทางของการสั่นสะเทือน (vibration) โดยพลังงานไฟฟ้าจะสั่นสะเทือนไปตามแนวดิ่ง (vertical) ส่วนพลังงานแม่เหล็กจะสั่นสะเทือนทำมุมฉากกับพลังงานไฟฟ้า คือจะสั่นไปตามแนวนอน (horizontal) เราจึงเรียกรวมๆ กันว่าพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า

ตรงนี้มีข้อมูลเก่าของตันตริกพุทธศาสนาของมหายาน โดยเฉพาะวัชรยาน และข้อมูลที่มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าประสูติเสียอีกในปรัชญาโยคะจริยะของอินเดียโบราณ – ที่เชื่อกันว่าได้มาจากตันตระของลัทธิพระเวทกว่า ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว – คัมภีร์ตันตระของพระเวทที่สำคัญที่สุด ได้ตกทอดมาถึงศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ (โดยเฉพาะวัชรยาน) ต่างก็ว่าของตนมาก่อนเพราะเน้นที่เนื้อหาคนละตอน (Arthur Avalon: Principle of Tantra, 1914) น่าสนใจและน่าแปลกใจที่ความสำคัญของข้อมูลเก่าๆ โบราณๆ ของตันตระ (โยคะจริยะหรือโยคะ) ที่ว่านี้ได้ตกทอดมาถึงพุทธศาสนาวัชรยาน (เข้าใจว่าเพราะเขียนเป็นภาษาสันสกฤตด้วยกัน) พูดถึงการเกิด-สิ้นสุดของจักรวาลตลอด (ไม่รู้ว่ามีพูดในไตรปิฎกหรือมีในภาษาบาลี (Pali Cannon) ของเถรวาทเราบ้างหรือไม่? เพราะหาไม่พบ) แต่มีอย่างแน่นอนในหนังสือของ อีแวน-เวนซ์ (W.Y.Evan-Wentz: The Bardo Thodol, 1927) ซึ่งให้ข้อมูลที่ตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของพลังงานแม่เหล็กของโลกและดวงอาทิตย์ที่เชื่อมโยงกัน (ดูพารากราฟข้างล่าง)

หนังสือของ อีแวน-เวนซ์ เขียนไว้ในเรื่องของมณฑล (mandala) ว่า “... (มณฑลที่เกิดจาก) ศูนย์สองศูนย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นั้นคือ ศูนย์สมองบางทีเรียกว่าศูนย์เหนือ กับศูนย์หัวใจหรือศูนย์ใต้ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสิ่งแรกสุดที่เกิดขึ้นในตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ (embryo) ของมนุษย์ในครรภ์แม่ โดยมีพลังงานจากพื้นดินของโลกภายนอกซึ่งมีแหล่งรวมศูนย์ (central reservoir) อยู่ในดวงอาทิตย์ อันเป็นระบบสุริยะของเราทำหน้าที่บริหารจัดการรูป (มณฑลที่อยู่ในเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนของมนุษย์ในครรภ์แม่) นั้นขึ้นมา” ซึ่งความถี่ของพลังงานธรรมชาติคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ว่านี้ จะมีความถี่คลื่นต่อวินาทีที่จำเพาะของคลื่นนั้นๆ ไปตามชนิดหรือประเภทขององค์กรนั้นๆ – ไม่ว่าองค์กรนั้นมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เล็กละเอียดหรือใหญ่โตมโหฬาร เช่น โลกหรือดวงอาทิตย์ – ไปตามกฎของการสั่นสะเทือนนั้นๆ

ตรงนี้เช่นกัน เกิดมีข้อมูลใหม่ทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาจากองค์กรนาซ่าที่ศูนย์อวกาศก็อตดาร์ด (NASA – Goddart Space Center) โดยนักฟิสิกส์ชื่อ เดวิด ซีเบค ที่บอกว่า “…เพียง ๑๐ ปีก่อนหน้านี้ ผมมั่นใจเหลือเกินว่าเรื่องเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่แน่ๆ แต่ทุกวันนี้มันมีอย่างที่ใครจะปฏิเสธไม่ได้” (David Sibeck NASA 30 Oct. 2008 www.tinyurl.com/67uvh2) นั่นคือ ช่องทางที่เปิด-ปิดติดต่อกัน – เพื่อให้อนุภาพของพลังงานแม่เหล็กที่สูงยิ่ง – ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก (flux transfer event = FTE) เชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนพลังงานกันและกัน ซึ่งช่องทางที่ว่านั้นจะเปิดเฉพาะกลางวันโดยจะเปิดทุกๆ ๘ นาที แล้วจะปิดไปเองในทุกๆ ครึ่งนาที (โดยประมาณ) ช่องทางที่ปิด-เปิด (portal) นี้ มีขึ้นเพื่อที่จะให้สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์กับสนามแม่เหล็กโลก – ที่อยู่ห่างกันถึง ๙๓ ล้านไมล์หรือกว่า ๑๕๐ ล้านกิโลเมตร – สามารถที่จะเชื่อมต่อรวมประสานกันได้ ช่องทางปิด-เปิดนี้จะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าๆ กับโลกทีเดียว “...แต่เราไม่รู้ว่าทำไมมันถึงต้องเปิดทุกๆ ๘ นาที และเราก็ไม่รู้ว่าสนามแม่เหล็กที่อยู่ในทรงกระบอกนั้นมันบิดหรือม้วนขดตัวของมันอย่างไร”

หรือว่า? ความถี่ของคลื่นแม่เหล็กหรือแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นพลังงานธรรมชาตินี้ จะมีความหมาย จำเพาะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนของชีวิตที่อยู่ในครรภ์แม่นั้น? ที่ยิ่งไปกว่านั้น หรือว่า? ปรากฏการณ์ที่ คาร์ล จุง เรียกว่า “ความพ้องจองซึ่งกันและกัน” (synchronicity) คือปรากฏการณ์ที่ทำให้ข้อมูลทางศาสนามาพ้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าของดวงอาทิตย์ และพลังงานแม่เหล็กของโลก (geomagnetic)) ทั้งๆ ที่เวลาระหว่างข้อมูลทั้งสองห่างกันถึงกว่า ๔,๐๐๐ ปี ซึ่งถ้าหากความหมายจำเพาะและความพ้องจองซึ่งกันและกันที่ว่า มันเกิดเป็นความจริงขึ้นมาจริงๆ เราจะคิดว่าความหมายจำเพาะนั้น-เป็นอะไร? ผู้เขียนคิดว่า มันน่าจะเป็นไปได้ที่ความหมายจำเพาะนั้นจะเกี่ยวข้องกันกับเรื่องราวที่เล่ามาในสองพารากราฟข้างบนนั้น คือจะเป็นที่มาของกรรมของปัจเจกบุคคล? หรือเป็นแรงกรรมในอดีตของเอ็มบริโอหรือมนุษย์ผู้นั้นๆ ที่จะต้องได้รับในชาติใหม่นั้นๆ

เรื่องเช่นนี้ผู้เขียนมีความรู้สึกแปลกๆ อย่างไม่มีเหตุผลว่า ในระยะหลังๆ มานี้ หรือจริงๆ ร่วมสิบปีมานี้ มีอะไรหลายๆ อย่างที่ “โผล่ปรากฏ” ออกมาเป็นข้อมูลใหม่ๆ หรือเป็นความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ การโผล่ปรากฏของข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่น่าจะเรียกว่า “เป็นการค้นพบสิ่งที่เคยค้นพบมาแล้ว” (re-discover) ในทางศาสนา เช่น การค้นพบความจริงทางแควนตัมกับความจริงทางศาสนา (พุทธหรือเต๋า) นั่น-ทำให้ผู้เขียนนึกถึง เซอร์ อาเธอร์ เอ็ดดิงตัน นักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษเจ้าของรางวัลโนเบล (๑๙๔๐) ผู้พบรอยเท้าประหลาดๆ ที่ชายหาดบนเกาะที่ไม่เคยมีสำรวจมาก่อน หลังจากที่เขาสร้างภาพจำลองรอยเท้านั้น เขาต้องตกใจอย่างสุดขีดเมื่อปรากฏว่ารอยเท้านั้นเป็นรอยเท้าของเขาเอง หรือไม่ก็นึกถึง เบอร์นาร์ด รีแมน นักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อ ซึ่งได้ค้นพบสมการทางคณิตศาสตร์ที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน เขานึกว่าสมการที่เขาพบไม่มีประโยชน์ใดๆ หรือกับใครๆ เป็นแต่เพียงสมการประหลาดที่ไม่มีความหมาย แต่เพียงสิบกว่าปีให้หลัง ไอน์สไตน์ก็ได้ใช้สมการนั้น (เพียงสมการเดียว) ที่สามารถอธิบายกฎสัมพัทธภาพทั่วไปของเขาได้ ประวัติศาสตร์ของฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์เต็มไปด้วยความพ้องจองซึ่งกันและกันเช่นนี้เสมอๆ จน แบรนดอน คาร์เตอร์ เอามาเขียนเล่าไว้ว่า มีมากมาย (Brandon Carte: Large Number of Coincidences in the Anthropic Principle in Cosmology, 1974)

ข้อสันนิษฐานที่เล่ามาข้างบนนั้น แปลกและไม่น่าเชื่อ ไม่มีเหตุผลว่าจะเกี่ยวกับเพื่อนที่บอกว่าผู้เขียนสนใจแต่เรื่องของจิตและความลี้ลับที่เราไม่เห็น แต่เรื่องที่เรามองไม่เห็นมาก่อนในอดีต ก่อนยุคสมัยวิทยาศาสตร์ “กายภาพ” หรือวิทยาศาสตร์คลาสสิคนานนักหนา เช่น อะตอมที่เดโมคริตัสบอกว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด – และแบ่งแยกไม่ได้อีกแล้ว – ของสสารมาตั้งแต่ร่วม ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล แต่พระพุทธเจ้าได้มาจากไหน? ที่บอกว่าสสารที่เล็กที่สุดเรียกว่า อัฏฐกัลละปะหรืออะตอมนี้ก็ยังแยกต่อไปได้ นั่นคือ “อนุกัลละปะ” ซึ่งก็คืออนุภาค นั่น-ก่อนเวลาของเดโมคริตัสอีกร่วม ๓๐๐ ปี แต่จนบัดนี้เราก็ยังไม่เห็นอะตอมจริงๆ เลย แต่นักฟิสิกส์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันทั้งหมด ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นว่ารายละเอียดของอะตอมว่าเป็นอย่างไร โดยดูจากความสัมพันธ์ของมันกับสิ่งอื่นปรากฏการณ์อื่นๆ

เพราะฉะนั้น ที่เราเรียกว่าเหตุผลคือเป็นความจริงตามที่ตาของมนุษย์เห็น หรือไม่เราก็เชื่อนักวิจัยวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มากๆ ว่า มันเป็นความจริงเช่นที่ตาเห็น ในความเห็นของผู้เขียน ความจริงจึงเท่ากับเหตุผล หรือเท่ากับตาของมนุษย์เห็น-จบ ดังนั้น เรื่องที่พลังงานแม่เหล็กของดวงอาทิตย์กับพลังงานแม่เหล็กโลกและการเชื่อมโยงเข้าหากับช่องทางปิด-เปิดที่เปิดทุก ๘ นาที และข้อมูลทางตันตระพุทธศาสนาว่าด้วยพลังงานแม่เหล็กที่มาจากศูนย์กลางพลังงานแม่เหล็กร่วม (central reservoir) ของดวงอาทิตย์จะมองเป็นอย่างอื่นได้ยาก นอกจากคิดเช่นที่ผู้เขียนเชื่อว่า ศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของพลังงานแม่เหล็กโลกที่นำกรรมของปัจเจกบุคคลจากโลก เพื่อไปแลกเปลี่ยนกับพลังงานแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ซึ่งนำกรรมแห่งปัจเจกบุคคลอันเป็นกรรมใหม่ไปยังเอ็มบริโอผ่านมณฑลที่กล่าวไปแล้ว เพื่อที่จะให้มนุษย์ที่เติบใหญ่จากตัวอ่อนนั้นได้รับกรรมที่ตัวเองได้กระทำไปแล้วในอดีตอย่างยุติธรรม

ความจริงสีไม่มี



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 เมษายน 2552

มองดูดวงตะวันยิ้มแฉ่ง
ลองระบายสีแดงสวยสด
ป้ายสีฟ้าให้ฟ้าแต้มสีเขียวให้ป่า
สีรุ้งบางเวลาเราวาดเกินกว่าเจ็ดสี

...

งามยิ่งดูยิ่งงามในความรู้สึก
งามที่ลึกมีสีของฟ้าเจืออยู่
เขียวให้เขียวร่มไม้ร้ายใจร้ายโค่นป่า
ฟ้าสีฟ้า ถามว่าคนสีอะไร

ผมเริ่มฮัมเพลงนี้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติหลังจากถูกน้องแซวว่าชอบยิ้มแฉ่ง ร้องเพลง “วาดฝัน” ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นี้ไปได้ไม่กี่บรรทัด ก็สะดุดกึกกับประโยคสุดท้ายที่ถามว่า “คนสีอะไร?”

ที่เอะใจก็เพราะไม่ถึงชั่วโมงที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะได้อ่านบทกวีของเพื่อนรุ่นน้อง จากอีเมล์ชื่อ “ความจริงไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง” เป็นถ้อยคำงดงามถ่ายทอดระบายและสะท้อนความรู้สึกอัดอั้นที่อยู่ภายใน

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เป็นเหตุบังเอิญของจักรวาลหรือเปล่า หรือว่า “ไม่มีเหตุบังเอิญในจักรวาล” ดังคำที่อาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ท่านหนึ่งมักจะกล่าวประจำ

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพิ่งจะประกาศยุติการชุมนุมไปไม่กี่ชั่วโมง ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายท่ามกลางสถานการณ์ที่คลี่คลายลง แม้ว่าจะยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บ้าง

กลุ่มควันดำที่พวยพุ่งจากรถโดยสารและยางรถยนต์ที่ถูกเผาไหม้อาจจางหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคุกรุ่นอยู่อาจเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจคนไทยส่วนใหญ่คือ แล้วเราจะมีความสามารถที่จะก้าวผ่านข้ามพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันหรือไม่ ชาวสยามประเทศโดยรวมจะกลับมารักใคร่กลมเกลียวกัน เห็นคนอื่นเป็นคน เห็นคนอื่นเป็นญาติพี่น้องที่สืบสาวต้นตอกลับไปก็ล้วนเคยเกี่ยวดองเป็นญาติกัน เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันทั้งสิ้น เราจะเห็นและเป็นดังนี้ได้อีกหรือไม่

ถามว่าพวกเราจะกลับมารักกันอีกหรือไม่ ผมนั้นไม่รู้

แต่ถ้าถามว่าพวกเรามีความสามารถจะทำเช่นนั้นหรือไม่นั้น ผมตอบได้ด้วยความมั่นใจว่า สามารถแน่นอน (คอนเฟิร์ม!)

เงื่อนไขสำคัญคือ สังคมไทยนี้มีความมุ่งมั่นและมีพันธะสัญญาร่วมกันที่จะกลับมารักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีหรือไม่ต่างหาก

มีตัวอย่างหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกที่คนจำนวนมากเกิดการเปลี่ยนแปลงจากความจงเกลียดจงชังอย่างยิ่งถึงขนาดจะฆ่าจะแกงกัน มาเป็นความรัก ความเอื้ออาทร เป็นห่วงเป็นใยกัน ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหมือนการเพิ่มของสิ่งเดียวกันให้มีมากขึ้นหรือน้อยลง เช่น จากมีเงินหนึ่งร้อยบาทเป็นมีหนึ่งร้อยสิบบาท หรือจากเกลียดมากเป็นเกลียดน้อย

การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทย (และโลก) ต้องการเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับขั้นพื้นฐานหรือทรานส์ฟอร์เมชัน (Transformation) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดสิ่งใหม่ เกิดคุณภาพใหม่โดยสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทย (และโลก) ต้องการนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีลักษณะข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (Transcend and Include) คือ แม้จะมีคุณลักษณะใหม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ทอดทิ้งของเดิม เข้าใจและดูแลทุกส่วนและทุกฝ่ายโดยเข้าใจว่าล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไม่ใช่แค่รักกันได้เพราะเห็นเหมือนกันและไม่เคยทะเลาะกัน แต่รักกันได้ (คุณภาพใหม่) ทั้งๆ ที่เคยมีความหลัง บาดหมางไม่ลงรอยกันแต่เดิม (คุณภาพเก่า)

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งเช่นนี้ ย่อมต้องการปัจจัยหลายอย่างที่เป็นหัวใจที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นคืออะไร?

---------------------------------

ย้อนหลังกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน หลังจากเลิกประชุมจิตวิวัฒน์ ผมได้พูดคุยเรียนปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า “อาจารย์ว่าจะทันไหมครับ?” คำตอบหลักต่อข้อถามของผมจะเป็นเช่นไร ขออนุญาตไม่เฉลยในตอนนี้ แต่สิ่งที่ท่านพูดต่อจากนั้นต่างหากที่ผมรู้สึกว่าสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง

ท่านว่า “ผมยังไม่เห็นวิธีไหนเลยที่จะช่วยได้ นอกจากชักชวนให้คนมาเจริญสติมากๆ”

หรือว่าสติ (และการเจริญสติ) เป็นหัวใจสำคัญของทรานส์ฟอร์เมชัน?

---------------------------------

หรือว่าจะจริง เพราะปัจจุบันโลกมีความรู้และเทคโนโลยีมากมาย สามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยของมนุษย์ได้มาก ทำสิ่งเล็กๆ เช่น เอาอะตอมของซีนอนมาเรียงเป็นเป็นชื่อ หรือทำสิ่งใหญ่ๆ เช่น สร้างกระสวยอวกาศพามนุษย์ไปเดินเล่นนอกโลก หรือทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงได้ มีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงทำให้คนตายทีละเป็นล้านได้ แต่ความรู้เหล่านี้ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าเราจะป้องกันปัญหาคนในชาติเกลียดชังกัน ทำร้ายกันด้วยวาจา และลงไม้ลงมือกันได้อย่างไร

หรือว่าเป็นเพราะความรู้เหล่านี้ที่กลับทำให้เราคิดแบบแยกส่วน ที่สำคัญคือคิดเร็ว ทำเร็ว หรือ “คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง” อย่างที่เรียกกัน ไม่มีเวลาสำหรับมาพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรองกัน

หรือว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นผลจากการที่เราไม่ค่อยทำการบ้านเรื่องการเจริญสติกันเสียนาน ทิ้งภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ ถึงแม้ว่าประเทศจะมีครูบาอาจารย์ผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่พอควร แต่เรากลับละเลย ไม่ศึกษา ไปหลงชื่นชมกับความรู้ทางโลกภายนอก เราจึงเห็นความจริงอย่างเป็นส่วนเสี้ยว

ธรรมชาติและความจริงนั้นเป็นไปได้มากมาย แต่เราไปจำกัดความเป็นไปได้เหล่านั้น เราจึงรู้สึกอึดอัด คับแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอึดอัดกับความเป็นตัวตนของเรา

เมื่อเราเห็นความจริงบิดเบี้ยวไปตามความคิดปรุงแต่งของเรา แม้กระทั่งคนก็ยังต้องแบ่งเป็นสีๆ แถมมีให้เลือกไม่กี่สี ทำให้บีบคั้นอย่างยิ่ง มองเห็นสิ่งต่างๆ ก็มีให้เลือกแค่ต้องผิดอย่างเดียวหรือถูกอย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นธรรมด้วย

การมีสติทำให้เราไม่คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง มีเวลาใคร่ครวญ สามารถมองเห็นความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เห็นว่า “ความจริงไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง” คือ ความจริงนั้นไม่ใช่ทั้งสีเหลืองและสีแดง แต่หมายรวมถึง “ความจริงนั้นไม่มีสี” คือ “สี” ที่เราคิดว่ามีนั้นมันก็ไม่มีด้วย เป็นไปตามความคิดปรุงของเราเองทั้งสิ้นเช่นกัน

หากมนุษย์เราเข้าใจความจริงพื้นฐานข้อนี้ก็จะเข้าถึงความงามและความดีไปพร้อมกัน เกิดความสุขโดยฉับพลัน สามารถให้ความรักกับทุกคน เพราะเข้าใจความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง

แล้วเราจะไม่ลองเจริญสติกันทั้งประเทศหน่อยละหรือ ก็เห็นๆ กันแล้วว่าศาสตร์ต่างๆ ที่เราลองกันมาล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบที่ไหน อิรัก อัฟกานิสถาน หรือบนราชดำเนิน

หากได้ลอง เราอาจจะพบว่าคำตอบมันไม่สำคัญ ไม่ว่าจะต่อคำถามที่ว่า “คนสีอะไร” หรือ “แล้วจะทันไหม”

:-)

ปัญญาจากบันไดเลื่อน



โดย ประมวล เพ็งจันทร์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน 2552

ความสุขแท้อาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เช่น ความสุขของเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นความสุขชั่วขณะที่ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ เนื่องจากสภาวะจิตที่ยังไม่ถูกรบกวนหรือเจือปนด้วยกิเลส เป็นจิตที่ผ่องใสและเบิกบานที่เรียกว่า “จิตประภัสสร” แต่นี่ไม่ใช่ความหมายของ “ความสุขแท้ด้วยปัญญา”

การแสวงหาความสุขที่แท้เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ วัยที่ได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่างและมีกิเลสเกาะกุมในจิตใจให้ขุ่นมัวเป็นธรรมดา ผู้ที่ปรารถนาความสุขแท้อาจเริ่มด้วยจิตที่ตั้งมั่นในการขจัดความหม่นหมองดังกล่าวให้จางคลายไปจากใจ เพื่อดึงจิตกลับคืนสู่สภาวะเดิมที่เคยเบิกบานแจ่มใส ส่วนจะขจัดได้อย่างไรนั้น ต้องพึ่งพลังทางปัญญาเป็นตัวชี้นำ

“ปัญญา” ในความหมายอย่างกว้างๆ คือ จิตที่ได้สัมผัสหรือรับรู้โลก ทั้งโลกภายนอกที่ผ่านเข้ามาและโลกภายในใจที่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ด้วยการรักษาความสมดุลระหว่างโลกภายนอกที่เข้ามากระทบกับโลกภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลง หากจิตของเราสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นใดๆ โดยไม่หวั่นวิตก ไม่ตื่นกลัวหรือตระหนก เราสามารถเบิกบานกับสิ่งที่ได้รับรู้ ความสุขแท้ด้วยปัญญาย่อมผุดขึ้นในจิตใจ ตรงข้าม หากสิ่งนั้น เป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาตอบสนองความปรารถนาของเรา เช่น ความสะดวกสบายในชีวิต ความสุขที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเพียง “ความสุขเทียม” ที่เราปรุงแต่งขึ้นเองภายในใจ

ความหมายของปัญญาที่ผมให้ความสำคัญ ไม่ใช่นัยยะของปัญญาที่รับรู้โลกภายนอก หากแต่เป็นมิติของปัญญาที่มุ่งพิจารณาโลกภายในใจเรา ซึ่งเป็นภาพเงาสะท้อนของโลกภายนอกอีกที ปัญญาในความหมายนี้เองที่ทำงานกับความสุขแท้

ปัญญาด้านในเกิดขึ้นจากภาพที่จิตของเราไปรับรู้โลกภายนอก แล้วนำภาพที่ได้รับรู้ดังกล่าวกลับมาบันทึกไว้ภายใน ภาพของโลกภายในที่เราบันทึกได้จึงเป็นคนละชุดกับโลกภายนอก ลำดับการสัมผัสรับรู้ของจิตที่ว่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการที่ละเอียดและซับซ้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องการทำงานของจิตเพียงถ่ายเดียว แต่ยังมีกระบวนการที่ใจเราไปปฏิสัมพันธ์อย่างเชื่อมโยงกับโลกภายนอกด้วย

เมื่อโลกภายในใจเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับโลกภายนอก ภาพลักษณ์ของความมืดมิดในใจเราจึงอาจน่าสะพรึงกลัวมากกว่าความมืดในโลกแห่งความเป็นจริง ขณะเดียวกัน โลกใบนี้สำหรับเราก็อาจน่าอภิรมย์ยิ่งกว่าความเป็นจริงก็เป็นได้ ทั้งความน่ากลัวและความน่าอภิรมย์ ล้วนเกิดขึ้นดั่งภาพเงาสะท้อนในใจเรา ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ภายนอกจิตใจ เฉกเช่นรอยยิ้มของผู้ร้ายที่เรามักรู้สึกมีเลศนัยแอบแฝงมากกว่ารอยยิ้มของพ่อค้าที่ส่งยิ้มเพียงเพื่อต้องการเรียกลูกค้าของตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่โลกภายนอกมืดและสว่าง ปรากฏและเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ โลกภายในของเราต่างหากที่ถูกปรุงแต่ง แปรความหมายของความมืดให้เป็นความพรั่นพรึง นี่คือตัวอย่างภาพความทุกข์ที่เราไม่ปรารถนา หนทางสู่ความสุขที่แท้ด้วยปัญญาในทัศนะของผม จึงหมายถึงการจัดการกับปฏิบัติการของสภาวะจิตที่มักเผลอไปตีความ และบันทึกภาพเงาให้เป็นโลกแห่งความทุกข์โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ผมขอเปรียบเทียบคำอธิบายข้างต้นกับกลไกการทำงานของสายพานบันไดเลื่อนอัตโนมัติในอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า กล่าวคือ เมื่อบันไดเลื่อนทำงานปรกติ ตัวเราที่ยืนอยู่บนขั้นบันได พร้อมมือที่วางอยู่บนราวบันได ย่อมเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง หากบันไดเลื่อนทำงานผิดปรกติ ขั้นบันไดที่เลื่อนขึ้นลงทำงานไม่สอดคล้องกับราวบันได เช่น ขั้นบันไดเลื่อนขึ้น ขณะที่ราวบันไดกลับหยุดนิ่ง หากตัวเราที่กำลังเคลื่อนที่ยังคงจับราวบันไดอย่างยึดมั่น เราย่อมสูญเสียการทรงตัว เสียจังหวะ อาจล้มกลิ้งตกบันไดเลื่อนไม่เป็นท่า แต่ถ้าเราปล่อยมือที่จับราวบันไดนั้นเสีย เป็นอิสระจากราวบันได ตัวเราที่กำลังไหลเลื่อนย่อมเคลื่อนที่ได้ต่อเนื่อง การใช้ปัญญากำกับจิตให้ปล่อยละจากการถือมั่นในสิ่งใดๆ ก็เช่นกัน

เหตุแห่งทุกข์ จากตัวอย่างข้างต้น จึงมาจากการที่เราไม่ยอมปล่อยราวบันไดเลื่อนโดยคิดปรุงแต่งไปเองว่า สายพานของราวบันไดนั้นยังคงเคลื่อนที่เป็นปรกติ ไม่ปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้าหากเราสามารถฝึกฝนจิตใจให้ปล่อยละได้ ใจเราก็จะเป็นสุขแท้และเป็นอิสระจากความเป็นไปของโลกภายนอก ถึงแม้จิตกับโลกภายนอกจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ขัดแย้งตรงข้าม ใจของเรากลับไม่ไหวเอน คือรับรู้โลกอย่างที่ปรากฏและแปรเปลี่ยนไปอย่างปรกติสุข ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความเป็นจริงภายนอกแต่ประการใด

หากเราสามารถใช้ปัญญารักษาความสมดุลระหว่างจิตกับโลกอย่างเหมาะสม คือการรู้เท่าทันสภาวะจิตและพินิจโลกที่ผ่านเข้ามาอย่างที่เป็น เห็นคุณค่าของความมืดที่ช่วยให้เราได้นอนหลับพักผ่อน ชื่นชมกลางวันที่ช่วยให้เรามีเวลาได้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่นำความคิดปรุงแต่งด้วยอวิชชาของตนเข้าไปเพิ่มเติม ความกลัวภายในใจเราก็จะค่อยๆ ถูกขจัดให้หมดไป เมื่อนั้น ใจเราก็จะเริ่มเป็นสุข รับรู้โลกอย่างปล่อยวาง ซึ่งเป็นความสุขง่ายๆ ที่แท้ด้วยปัญญาญาณ

หวังสูงกับสังคมที่เจริญทางจิตใจ



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2552

คำถามที่ผู้เขียนมักได้ยินจากแวดวงเพื่อนฝูงบ่อยครั้งคือ ทำไมประเทศไทยซึ่งมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเรื่องของจิตใจ จึงมีบ้านเมืองที่ดูน่ากลัวและไม่ปลอดภัย ทำไมโจรขโมยจึงมีมากมาย มีการเอารัดเอาเปรียบสูง บ้านเมืองดูทรุดโทรมไม่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร สกปรกและมีมลพิษมากเกินกว่าจะยอมรับได้

สิ่งที่เกิดขึ้นจะกล่าวโทษเอาผิดกับใคร รัฐบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน วัด ครอบครัว ประชาชน หรือ ซูเปอร์แมน ฯลฯ ท้ายที่สุดความคิดของผู้เขียนก็สรุปว่า กล่าวโทษไปเสียทั้งหมดทุกภาคส่วนก็แล้วกัน จะได้รับผิดชอบไปเท่าๆ กัน

จากนั้นจึงมีสมมติฐานว่า ฮีโร่ หรือ ซูเปอร์แมน อาจจะไม่มีจริง แต่ถ้ามีจริงคงน่าสงสาร เพราะมนุษย์คนหนึ่งคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ไปเสียทุกเรื่อง แต่ถ้าคนเราเลิกกดดันสังคมให้มุ่งแต่จะผลิตซูเปอร์แมนเพื่อรองรับทุกปัญหาแทนผู้อื่น กลับเป็นคนธรรมดาด้วยกันที่สามารถผิดพลาดได้ เรียนรู้ได้ ช่วยกันลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ ทุกอย่างคงจะดีขึ้น ความคาดหวังกับสังคมจึงมีมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างสังคมที่สามารถทำให้บ้านเมืองสะอาดสวยงาม มีความสุข อยู่ในหลายๆ ประเทศ โดยไม่ต้องรอซูเปอร์แมนมาจัดการให้ อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่า เมื่อคนเรามีความคาดหวังกับสิ่งใด ย่อมเป็นทุกข์ เมื่อมีความคาดหวังกับสังคมสูง แล้วสังคมไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ความทุกข์จึงเกิด

ตอนหนึ่งของหนังสือ “เบิกบานกลางคลื่นลม” ของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล กล่าวว่า “ปัญหาสำคัญของคนเราในปัจจุบันคือ เราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงที่ไม่ถูกใจเรา และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าความเป็นจริงนั้นไม่ถูกใจเรา ก็เพราะชอบมองไปข้างหน้า โดยตั้งความหวังว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เลยยอมรับไม่ได้ จึงมีท่าทีต่อต้านทันที”

ความคาดหวังนี่เอง ที่ทำให้ทุกข์ ความคาดหวังว่าสังคมที่มีรากทางวัฒนธรรมทางด้านจิตใจที่เข้มแข็งน่าจะสามารถแสดงออกมาให้ชาวโลกเห็นเป็นรูปธรรมได้ ในแง่ของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความงดงามสะอาดตา ปราศจากมลพิษ ฯลฯ และความชอบมองไปข้างหน้า ไม่อยู่กับปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคาดหวัง รวมทั้งการชอบมองไปข้างหลัง ย่อมจะทำให้เกิดความอาลัยอาวรณ์เช่นกัน เช่น การมีสมมติฐานว่าเมื่อก่อนบ้านเมืองคงจะสงบสุขร่มเย็นกว่านี้ ถ้าไม่มีรัฐบาลชุดนั้นชุดนี้ คงจะดีเหมือนบ้านเมืองสมัยเดิม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เราคงหมดเวลาจะเหลียวหลังแลหน้าแล้ว จะชอบหรือไม่ก็ตาม ประเทศเราโลกเราพัฒนาไปถึงจุดที่ความเจริญทางวัตถุถึงขั้นสุด และมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างที่สุดเช่นกัน บางคนยังไม่เห็นโทษภัยของการบริโภคที่เกินจำเป็น และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงนี้เอง ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงทั่วโลก คนมุ่งครอบครองวัตถุ เพื่อความเพลิดเพลินและความปลอดภัยในแง่ต่างๆ ยิ่งสังคมน่ากลัวเท่าใด คนยิ่งสะสมวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์ วนเป็นวงจรอยู่เช่นนี้ ทรัพยากรก็ถูกทำลายเรื่อยไป ธรรมชาติก็เริ่มวิปริต นอกเหนือไปจากนั้น คนบางกลุ่มที่ห่วงใยสังคม เกรงว่าคนจะติดยึดในวัตถุกลับเป็นตัวแทนความรุนแรงเสียเองในบางครั้ง เกิดการต่อต้านทุนนิยมอย่างก้าวร้าว เพราะเล็งเห็นโทษภัยในอนาคต ส่วนคนที่ยังไม่เห็นโทษภัยของบริโภคนิยมย่อมไม่เข้าใจในความรุนแรงของการต้านทุนนิยมบริโภคนิยม สุดท้ายทุนนิยมบริโภคนิยมจึงยิ่งฝังรากได้โดยธรรมดาธรรมชาติ ยิ่งไล่ ยิ่งอยู่

ณ วันนี้ สังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับบทเรียนอีกมาก ที่สมควรจดจำ เพื่อที่จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำเดิมอีก ในหนังสือของพระอาจารย์ไพศาล กล่าวว่า “การมีสติอยู่เสมอ เห็นสิ่งต่างๆ โดยไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา จะช่วยให้เราอยู่กับสิ่งต่างๆ แม้ไม่น่าพอใจได้” “เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงที่ไม่ถูกใจ ไม่ได้แปลว่าไม่แก้ ไม่จัดการ ตรงกันข้าม ถ้าป่วย เราต้องรักษาตัว แต่ก็ต้องรักษาหรือจัดการด้วยใจที่ไม่อึดอัด ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส ไม่ตีโพยตีพาย นี่เรียกว่ายอมรับความเป็นจริง”

ดังนั้น หากวันนี้เราเห็นว่าสังคมป่วย เพราะการบริโภคอย่างเกินจำเป็น จนเกิดการทำลายทรัพยากรและสมดุลสิ่งแวดล้อม เกิดความแตกแยกและการแก่งแย่งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ก็ต้องเยียวยารักษา ไม่ใช่ไม่ทำอะไร “การฟัง” อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการฟังความทุกข์เดือดร้อนของชาวบ้าน น่าจะเป็นหนทางที่จะสามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสม สิ่งที่เข้าใจว่าเป็นพิษ อาจกลับกลายเป็นยาที่เหมาะสมที่สุดก็ย่อมได้ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในด้านต่างๆ ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล เป็นต้น

ศาสตราจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังสนุกๆ เรื่อง หมอชีวกโกมารภัจจ์ ตอนที่ท่านจะจบวิชาแพทย์จากอาจารย์ ข้อสอบก็คือ ให้ท่านถือเสียมไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ เพื่อตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา ท่านหมอกลับมาหาอาจารย์ แล้วบอกว่า มิได้เห็นสิ่งไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ได้ตอบว่า “พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้แล้ว” สรุปแล้วหากปราศจากอคติ ทุกสิ่งในธรรมชาติเป็นยาได้ หากรู้จักใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ

สุดท้ายความคาดหวังของผู้เขียนต่อสังคมไทยก็ยังมีอยู่ ว่าจะสามารถเลือกใช้ยาในการรักษาอาการป่วยของประเทศได้อย่างเหมาะสม ซึ่งความคาดหวังของผู้เขียนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นความทุกข์บีบคั้นใจอีกต่อไป แต่เป็นความรู้สึกลุ้นลึกๆ อยู่ในใจว่ายังไงสังคมไทยน่าจะไปรอด เพราะมีรากของวัฒนธรรมทางจิตใจที่เข้มแข็ง อาจจะหลงลืมกันไปบ้าง ประเดี๋ยวคงจะระลึกได้ เรียนรู้ได้ เพราะการออกมาเป็นอาสาสมัครในเรื่องต่างๆ ทุกวันนี้พัฒนาไปไกล ไม่ใช่แค่เรื่องอาสาเก็บขยะอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาจิตใจด้วย จะไม่เพียงแต่ทำให้สังคมมีชีวิตชีวาและน่าสนใจเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกเห็นว่า เมื่อตกอยู่ในยามวิกฤต คนหลายๆ คนที่ประกอบขึ้นมาเป็นประเทศไทยมีสติปัญญาร่วม สามารถแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นกลาง จะลุกขึ้นมาแก้ไขวิกฤตของสังคม โดยไม่ผลักไสความทุกข์ แบบปล่อยปละละเลย แต่จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ฟังเสียงหัวใจของเพื่อนร่วมทุกข์อย่างตั้งใจ ความจริงสากลจะปรากฏ ประเทศจะเดินหน้าหรือถอยหลังออกจากเหวนั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือจังหวะการก้าวครั้งนี้จะได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แน่นอน ว่าคนไทยช่วยกันก้าวอย่างมีสติปัญญา มีความเป็นธรรม

Back to Top