หวังสูงกับสังคมที่เจริญทางจิตใจ



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2552

คำถามที่ผู้เขียนมักได้ยินจากแวดวงเพื่อนฝูงบ่อยครั้งคือ ทำไมประเทศไทยซึ่งมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเรื่องของจิตใจ จึงมีบ้านเมืองที่ดูน่ากลัวและไม่ปลอดภัย ทำไมโจรขโมยจึงมีมากมาย มีการเอารัดเอาเปรียบสูง บ้านเมืองดูทรุดโทรมไม่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร สกปรกและมีมลพิษมากเกินกว่าจะยอมรับได้

สิ่งที่เกิดขึ้นจะกล่าวโทษเอาผิดกับใคร รัฐบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน วัด ครอบครัว ประชาชน หรือ ซูเปอร์แมน ฯลฯ ท้ายที่สุดความคิดของผู้เขียนก็สรุปว่า กล่าวโทษไปเสียทั้งหมดทุกภาคส่วนก็แล้วกัน จะได้รับผิดชอบไปเท่าๆ กัน

จากนั้นจึงมีสมมติฐานว่า ฮีโร่ หรือ ซูเปอร์แมน อาจจะไม่มีจริง แต่ถ้ามีจริงคงน่าสงสาร เพราะมนุษย์คนหนึ่งคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ไปเสียทุกเรื่อง แต่ถ้าคนเราเลิกกดดันสังคมให้มุ่งแต่จะผลิตซูเปอร์แมนเพื่อรองรับทุกปัญหาแทนผู้อื่น กลับเป็นคนธรรมดาด้วยกันที่สามารถผิดพลาดได้ เรียนรู้ได้ ช่วยกันลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ ทุกอย่างคงจะดีขึ้น ความคาดหวังกับสังคมจึงมีมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างสังคมที่สามารถทำให้บ้านเมืองสะอาดสวยงาม มีความสุข อยู่ในหลายๆ ประเทศ โดยไม่ต้องรอซูเปอร์แมนมาจัดการให้ อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่า เมื่อคนเรามีความคาดหวังกับสิ่งใด ย่อมเป็นทุกข์ เมื่อมีความคาดหวังกับสังคมสูง แล้วสังคมไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ความทุกข์จึงเกิด

ตอนหนึ่งของหนังสือ “เบิกบานกลางคลื่นลม” ของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล กล่าวว่า “ปัญหาสำคัญของคนเราในปัจจุบันคือ เราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงที่ไม่ถูกใจเรา และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าความเป็นจริงนั้นไม่ถูกใจเรา ก็เพราะชอบมองไปข้างหน้า โดยตั้งความหวังว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เลยยอมรับไม่ได้ จึงมีท่าทีต่อต้านทันที”

ความคาดหวังนี่เอง ที่ทำให้ทุกข์ ความคาดหวังว่าสังคมที่มีรากทางวัฒนธรรมทางด้านจิตใจที่เข้มแข็งน่าจะสามารถแสดงออกมาให้ชาวโลกเห็นเป็นรูปธรรมได้ ในแง่ของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความงดงามสะอาดตา ปราศจากมลพิษ ฯลฯ และความชอบมองไปข้างหน้า ไม่อยู่กับปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคาดหวัง รวมทั้งการชอบมองไปข้างหลัง ย่อมจะทำให้เกิดความอาลัยอาวรณ์เช่นกัน เช่น การมีสมมติฐานว่าเมื่อก่อนบ้านเมืองคงจะสงบสุขร่มเย็นกว่านี้ ถ้าไม่มีรัฐบาลชุดนั้นชุดนี้ คงจะดีเหมือนบ้านเมืองสมัยเดิม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เราคงหมดเวลาจะเหลียวหลังแลหน้าแล้ว จะชอบหรือไม่ก็ตาม ประเทศเราโลกเราพัฒนาไปถึงจุดที่ความเจริญทางวัตถุถึงขั้นสุด และมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างที่สุดเช่นกัน บางคนยังไม่เห็นโทษภัยของการบริโภคที่เกินจำเป็น และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงนี้เอง ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงทั่วโลก คนมุ่งครอบครองวัตถุ เพื่อความเพลิดเพลินและความปลอดภัยในแง่ต่างๆ ยิ่งสังคมน่ากลัวเท่าใด คนยิ่งสะสมวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์ วนเป็นวงจรอยู่เช่นนี้ ทรัพยากรก็ถูกทำลายเรื่อยไป ธรรมชาติก็เริ่มวิปริต นอกเหนือไปจากนั้น คนบางกลุ่มที่ห่วงใยสังคม เกรงว่าคนจะติดยึดในวัตถุกลับเป็นตัวแทนความรุนแรงเสียเองในบางครั้ง เกิดการต่อต้านทุนนิยมอย่างก้าวร้าว เพราะเล็งเห็นโทษภัยในอนาคต ส่วนคนที่ยังไม่เห็นโทษภัยของบริโภคนิยมย่อมไม่เข้าใจในความรุนแรงของการต้านทุนนิยมบริโภคนิยม สุดท้ายทุนนิยมบริโภคนิยมจึงยิ่งฝังรากได้โดยธรรมดาธรรมชาติ ยิ่งไล่ ยิ่งอยู่

ณ วันนี้ สังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับบทเรียนอีกมาก ที่สมควรจดจำ เพื่อที่จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำเดิมอีก ในหนังสือของพระอาจารย์ไพศาล กล่าวว่า “การมีสติอยู่เสมอ เห็นสิ่งต่างๆ โดยไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา จะช่วยให้เราอยู่กับสิ่งต่างๆ แม้ไม่น่าพอใจได้” “เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงที่ไม่ถูกใจ ไม่ได้แปลว่าไม่แก้ ไม่จัดการ ตรงกันข้าม ถ้าป่วย เราต้องรักษาตัว แต่ก็ต้องรักษาหรือจัดการด้วยใจที่ไม่อึดอัด ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส ไม่ตีโพยตีพาย นี่เรียกว่ายอมรับความเป็นจริง”

ดังนั้น หากวันนี้เราเห็นว่าสังคมป่วย เพราะการบริโภคอย่างเกินจำเป็น จนเกิดการทำลายทรัพยากรและสมดุลสิ่งแวดล้อม เกิดความแตกแยกและการแก่งแย่งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ก็ต้องเยียวยารักษา ไม่ใช่ไม่ทำอะไร “การฟัง” อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการฟังความทุกข์เดือดร้อนของชาวบ้าน น่าจะเป็นหนทางที่จะสามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสม สิ่งที่เข้าใจว่าเป็นพิษ อาจกลับกลายเป็นยาที่เหมาะสมที่สุดก็ย่อมได้ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในด้านต่างๆ ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล เป็นต้น

ศาสตราจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังสนุกๆ เรื่อง หมอชีวกโกมารภัจจ์ ตอนที่ท่านจะจบวิชาแพทย์จากอาจารย์ ข้อสอบก็คือ ให้ท่านถือเสียมไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ เพื่อตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา ท่านหมอกลับมาหาอาจารย์ แล้วบอกว่า มิได้เห็นสิ่งไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ได้ตอบว่า “พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้แล้ว” สรุปแล้วหากปราศจากอคติ ทุกสิ่งในธรรมชาติเป็นยาได้ หากรู้จักใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ

สุดท้ายความคาดหวังของผู้เขียนต่อสังคมไทยก็ยังมีอยู่ ว่าจะสามารถเลือกใช้ยาในการรักษาอาการป่วยของประเทศได้อย่างเหมาะสม ซึ่งความคาดหวังของผู้เขียนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นความทุกข์บีบคั้นใจอีกต่อไป แต่เป็นความรู้สึกลุ้นลึกๆ อยู่ในใจว่ายังไงสังคมไทยน่าจะไปรอด เพราะมีรากของวัฒนธรรมทางจิตใจที่เข้มแข็ง อาจจะหลงลืมกันไปบ้าง ประเดี๋ยวคงจะระลึกได้ เรียนรู้ได้ เพราะการออกมาเป็นอาสาสมัครในเรื่องต่างๆ ทุกวันนี้พัฒนาไปไกล ไม่ใช่แค่เรื่องอาสาเก็บขยะอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาจิตใจด้วย จะไม่เพียงแต่ทำให้สังคมมีชีวิตชีวาและน่าสนใจเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกเห็นว่า เมื่อตกอยู่ในยามวิกฤต คนหลายๆ คนที่ประกอบขึ้นมาเป็นประเทศไทยมีสติปัญญาร่วม สามารถแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นกลาง จะลุกขึ้นมาแก้ไขวิกฤตของสังคม โดยไม่ผลักไสความทุกข์ แบบปล่อยปละละเลย แต่จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ฟังเสียงหัวใจของเพื่อนร่วมทุกข์อย่างตั้งใจ ความจริงสากลจะปรากฏ ประเทศจะเดินหน้าหรือถอยหลังออกจากเหวนั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือจังหวะการก้าวครั้งนี้จะได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แน่นอน ว่าคนไทยช่วยกันก้าวอย่างมีสติปัญญา มีความเป็นธรรม

Back to Top