2005

สื่อสารความดีของแผ่นดิน

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2548

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ชาวจิตวิวัฒน์ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านประสบความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้น จิตที่วิวัฒน์คือจิตที่เจริญย่อมทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงและถาวร สัปดาห์ที่แล้วในคอลัมน์นี้ คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้เขียนเรื่อง “สุนทรียบำบัด” หรือการบำบัดด้วยศิลปะหรือความงาม ความงามมีอยู่ในความจริงโดยทั่วไป ความงามของหัวใจหรือหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นความงามที่มีฤทธิ์ในการเยียวยาอย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดความปีติอิ่มเอิบในหัวใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือแม้พบเห็น

ในการประชุมจิตวิวัฒน์คราวหนึ่ง อาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ เดินเข้ามาด้วยความอิ่มเอิบใจ และว่ามีความสุขไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัวหลายวันมาแล้วยังไม่คลายจากการที่เดินทางไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ซึ่งจัดโดยศูนย์คุณธรรม คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็ไปด้วยในเที่ยวนั้น มูลนิธินี้มีสมาชิกเป็นล้านคน และมีอาสาสมัครเป็นแสนคนที่นอบน้อมถ่อมตน และทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยประการต่างๆ เช่น ช่วยบรรเทาสาธารณภัย ช่วยบริบาลเด็ก คนแก่ คนพิการ มีโรงเรียนแพทย์ของตัวเอง ซึ่งนอกจากทันสมัยแล้ว บุคลากรของโรงพยาบาลทั้งหมดนบน้อมถ่อมตน เคารพผู้ป่วยและญาติประดุจบิดามารดาของตน มูลนิธินี้ยังมีสถานีโทรทัศน์ของตนเองที่นำเอาความดีของผู้คนมาบอกกล่าวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์คุณธรรมได้จัดคณะไปดูงานที่มูลนิธิฉือจี้เป็นรุ่นที่สอง คณะที่ไปมาจากอาชีพต่างๆ กัน เช่น อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู นอกจากนั้นยังมีนายทหารและนายตำรวจอีกหลายคน รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกนาม รวมประมาณ ๔๐ คน ได้ผลเช่นเดียวกับรุ่นที่ ๑ คือทุกคนกลับมาด้วยความปลื้มปีติในเนื้อในตัวที่เห็นการทำดีเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างใหญ่โตและมากมายขนาดนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า

ความดีเยียวยาโลก (Heal the World) ได้

ที่จริงในสังคมมีคนดีมากกว่าคนชั่ว แต่เราไม่มี “เครื่องรับ” และไม่ค่อยได้เอามาสื่อสารกัน การสื่อสารที่ขายได้คือการสื่อสารความชั่ว ทำนองใครฆ่าใคร ใครเป็นชู้กับใคร ใครข่มขืนใคร ฯลฯ บางคนถึงกับพูดว่า “ความชั่วได้ลงฟรี ความดีต้องเสียเงิน” กล่าวคือเรื่องดีๆ บางทีต้องเสียเงิน จึงจะได้ลงในหนังสือพิมพ์

การศึกษาของเราไม่เปิด “เครื่องรับความดี” เพราะศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ศึกษาความจริงและความดีของแผ่นดินหรือของประชาชนคนไทย วิชาก็เป็นวิชา ไม่มีชีวิตจิตใจ ฉะนั้นทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาใหญ่โต แต่ก็ไม่เป็นระบบประสาทที่จะรับรู้เรื่องราวในชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งมีเต็มแผ่นดิน ถ้าเรามีเครื่องรับ เราจะสัมผัสความดีเหล่านี้ได้ทุกวัน ผมขอเล่าเรื่องที่ผมสัมผัส ๓ วันติดๆ กันในวันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘

ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จัดประชุมเครือข่ายเพื่อนมะเร็งครั้งที่ ๒ ที่นครนายก ในหัวข้อ “เพื่อนให้เพื่อน...มิตรภาพบำบัด” คนที่มาประชุมมีทั้งคนเป็นมะเร็ง คนที่หายแล้ว อาสาสมัครที่คอยช่วยคนเป็นมะเร็ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่คอยช่วยเหลือคนเป็นมะเร็ง การช่วยกันและความเป็นมิตรทำให้ชีวิตมีความหมาย ทำให้เกิดการเยียวยา คนเป็นมะเร็งหลายคนบอกว่า ดีใจที่เป็นมะเร็ง เพราะทำให้ได้พบความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน ความสุขจากมิตรภาพ สมดังคำที่เขาใช้ว่า “มิตรภาพบำบัด” ความงามของหัวใจมีฤทธิ์ในการเยียวยาว ลองนึกภาพว่า ถ้า “เพื่อนให้เพื่อน...มิตรภาพบำบัด” ขยายตัวไปเต็มประเทศ สังคมเราจะเป็นอย่างไร ถ้าโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด คือส่งเสริมให้มีอาสาสมัครเข้าไปเป็นเพื่อนผู้ป่วยและญาติ โลกจะสว่างไสวแค่ไหน

ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม “เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาค” อันมีผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู น้าแก้ว สังข์ชู หลวงตาแชร์ และกรรมการท่านอื่นๆ อีก ได้มาเล่าความก้าวหน้าของงานของเครือข่ายฯ ที่ไปส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชนหลายร้อยตำบาล และกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เมื่อชุมชนเหล่านี้สามารถวิเคราะห์ปัญหาของเขาเอง ทำแผนแม่บทชุมชนและขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนที่เขาทำเอง ก็เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ – จิตใจ – ครอบครัว – ชุมชน – สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ พร้อมกันไป หลุดพ้นจากความยากจน และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ที่พัฒนาเศรษฐกิจ – จิตใจ - สังคม – ปัญญา และการจัดการ พร้อมกันไป เป็นของจริงของการปฏิบัติความดีกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม

ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ผมไปร่วมงานที่วัดป่าดาราภิรมย์ที่เชียงใหม่ ซึ่งเขามีงานฉลอง ๓๐ ปี ของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ที่หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ก่อตั้งและดำเนินงานมาตั้งแต่ท่านเป็นที่พระราชวินยาภรณ์ หลวงพ่อเป็นนักการศึกษาและนักพัฒนาที่ชูปรัชญาว่า “เศรษฐกิจจิตใจต้องแก้ไขพร้อมกัน” คือจะทำอย่างใดอย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล มูลนิธินี้ทำงานใน ๘๐ หมู่บ้าน ใน ๓ จังหวัดภาคเหนือ ได้สร้างอาสาสมัครขึ้นมาจำนวนมาก ได้ช่วยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากหลุดพ้นจากความยากจน มีจิตใจและสังคมที่ดี ปรัชญา “เศรษฐกิจจิตใจต้องแก้ไขพร้อมกัน” ของท่านเจ้าคุณ เป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้

อาจารย์ประภาภัทร นิยม และคณะแห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ กำลังทำแผนที่มนุษย์ (Human Mapping) ของคนทุกคนบนเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ โดยถือว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน การเคารพความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน ทำให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความมั่นใจในตัวเอง ปรากฏว่าในการทำแผนที่ดังกล่าว ได้เกิดพลังขึ้นอย่างมหาศาล เพราะชาวบ้านซึ่งไม่เคยมีเกียรติ มีความรู้สึกที่ดีมาก ที่มีผู้ “มีการศึกษา” มานั่งฟังเขาพูดว่า เขาชอบอะไร ถนัดอะไร เขาทำอะไรได้ดีบ้าง การนั่งฟังใครอย่างลึกๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี เพราะแปลว่าเราเคารพผู้พูดและผู้ตั้งใจฟังก็ได้ความรู้ไป เรามีโรงเรียนอยู่ทั่วทุกตำบล ถ้าทุกโรงเรียนไปทำแผนที่มนุษย์ในตำบลที่โรงเรียนตั้งอยู่ คนไทยทุกคนก็จะกลายเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความมั่นใจในตนเอง โรงเรียนก็จะมีแหล่งเรียนรู้เต็มแผ่นดิน ประเทศทั้งประเทศจะเปลี่ยนไป

เรามีและทำให้มีความดีเต็มแผ่นดินได้ ถ้ามีการสื่อสารความดีของแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ ให้เต็มแผ่นดิน ความดีก็จะมีกำลังมากขึ้น รัฐบาลน่าจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่สักหนึ่งช่อง เพื่อสื่อสารความดีของแผ่นดิน โทรทัศน์ช่องสื่อสารความดีของแผ่นดินจะกระตุ้นให้คนอยากนำความดีมาสื่อสารกัน และอยากทำความดีมากขึ้น เมื่อมีการสื่อสารความดีกันเต็มแผ่นดิน ผู้คนจะมีความปีติปลาบปลื้มในความดี จะเกิดความสุขและความสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะความดีเยียวยาโลก (Heal the World) ได้จริง

สุนทรียบำบัด... พลังการเยียวยาของความดีงาม

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2548

หลายปีก่อนผมมีโอกาสพบและพูดคุยกับผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง เธอเป็นภรรยาของเหยื่อระเบิดพัสดุไปรษณีย์ที่เป็นข่าวคึกโครมก่อนหน้านั้นในอเมริกา ผมพบเธอที่วิลลา เซอร์เบลโลนี่ (Villa Serbelloni) ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่เบลลาจิโอ ในอิตาลี ตามธรรมเนียมและระเบียบการของศูนย์ประชุมแห่งนี้ คนที่มาประชุมหรือได้รับเชิญมาเขียนงานที่นี่ ซึ่งมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก นักสังคมศาสตร์ กวี นักดนตรี และศิลปิน จะต้องมารับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เพื่อให้ผู้คนที่เชี่ยวชาญในต่างสาขาได้มีโอกาสรู้จักกันระหว่างร่วมโต๊ะอาหาร

ผมพบกับผู้หญิงวัยกลางคนคนนั้น ที่โต๊ะอาหารในเย็นวันหนึ่ง

สังเกตจากสีหน้าและบุคลิกของเธอ ผมรู้สึกได้ว่าเธอคงจะมีความปวดร้าวและความโศกเศร้าบางอย่างในใจ ผมทราบจากการพูดคุยกับเธอว่า ทั้งเธอและสามีต่างก็เป็นแพทย์ที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตัวเธอเองเป็นกุมารแพทย์ ในขณะที่สามีของเธอเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งเธอและสามีต่างทุ่มเทให้กับงานในวิชาชีพแพทย์ที่ทั้งคู่รักเป็นชีวิตจิตใจ

แต่เธอบอกผมว่า ตอนนี้เธอเลิกอาชีพแพทย์แล้ว

สาเหตุที่ต้องเลิกอาชีพที่เธอรักและทุ่มเทชีวิตให้ก็เพราะมีเหตุการณ์รุนแรงที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นกับครอบครัวเธอ

วันหนึ่งมีพัสดุไปรษณีย์ถูกส่งมาถึงสามีของเธอ ในใบจ่าหน้าระบุชื่อผู้ส่งเป็นศาสตราจารย์นักวิจัยที่ร่วมงานกับสามีเธออยู่ ลูกสาวของเธอพบพัสดุถูกนำส่งมาไว้ที่หน้าบ้านจึงนำเข้าไปไว้ให้พ่อบนโต๊ะในห้องครัว

เมื่อสามีเธอกลับมาเห็นและเปิดห่อพัสดุเท่านั้นก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง บ้านของเธอพังพินาศ หลังคาห้องครัวถล่มลงทับร่างสามีที่มีบาดแผลจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดทั้งที่ใบหน้าและบริเวณหน้าอก นิ้วมือเกือบทั้งหมดถูกระเบิดกระจุยแหลกละเอียด

ระเบิดที่มากับพัสดุไปรษณีย์นี้เป็นหนึ่งในหลายลูกที่ตำรวจระบุว่าส่งมาจากมือระเบิดลึกลับที่เรียกกันในนามของ UNA BOMBER ซึ่งมักส่งระเบิดไปที่ศาสตราจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และสนามบิน

คำว่า UNA BOMBER นั้น มาจากอักษร UN หมายถึง University คือมหาวิทยาลัย ส่วนอักษร A ก็เป็นตัวย่อของ Airport คือสนามบินนั่นเอง

เธอบอกว่าเธอต้องเลิกประกอบอาชีพแพทย์เพราะต้องออกมาดูแลสามีที่ต้องรับการผ่าตัดมากกว่า 10 ครั้งในช่วงหลายปีต่อมาและต้องใช้เวลาอีกหลายปีเยียวยาชีวิตที่บอบช้ำกว่าจะตั้งหลักได้ใหม่

ฟังเรื่องราวที่เธอเล่าทำให้ผมเข้าใจได้ว่าแววตาที่ปวดร้าวและเศร้าลึกๆ นั้น คงเป็นสิ่งตกค้างจากความทุกข์แสนสาหัสที่เธอเผชิญมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผมได้พบสามีของเธอด้วย สามีของเธอได้รับเชิญมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ที่นั่น ดูสามีเธอจะฟื้นจากความบอบช้ำและมีสุขภาพดี แม้ว่านิ้วมือเกือบทั้งหมดจะพิการขาดหายไปก็ตาม

ผมถามเธอว่า ปัจจุบันเธอทำอะไร หลังจากที่ได้ดูแลสามีจนหายแล้ว

เธอบอกว่าเธอไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการแพทย์อีกแล้ว ปัจจุบันเธอทำงานศิลปะจากแก้ว โดยเป่าแก้วเป็นงานศิลป์และประติมากรรมต่างๆ สาเหตุที่เธอต้องเลิกจากการเป็นแพทย์ แม้ว่าจะยังรักในวิชาชีพแพทย์ ก็เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธออยากมีชีวิตที่ใกล้ชิดและดูแลสามีมากขึ้น

ดูจากแววตาและน้ำเสียงของเธอ เธอยังมีใจผูกพันและเสียดายความเป็นแพทย์ที่เธอรัก

ผมบอกเธอว่างานสร้างสรรค์ทางศิลปะกับงานทางการแพทย์อาจไม่ได้แตกต่างหรือแยกเด็ดขาดจากกันอย่างที่เธอคิด เพราะในบางวัฒนธรรมทางการแพทย์นั้น สุนทรีภาพกับสุขภาพเป็นเรื่องเดียวกัน

พอพูดถึงตรงนี้ ผมสังเกตเห็นดวงตาเธอเป็นประกาย

ผมเล่าให้เธอฟังถึงวิชามานุษยวิทยาการแพทย์ ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมสุขภาพและการเยียวยาความเจ็บป่วย มีการศึกษาพบว่าในระบบการแพทย์ที่แตกต่างกันในหลายวัฒนธรรมมีการใช้ศิลปะ ความงาม ดนตรี และการแสดงเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา หรือในสังคมสมัยใหม่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะบำบัด

ในบางศาสนาอย่างเช่น โยเร ซึ่งมีรากฐานจากพุทธศาสนาแบบมหายานของญี่ปุ่นนั้น ก็ถือว่าการเยียวยาความเจ็บป่วยกับการเข้าถึงสุนทรียภาพของชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน ศาสนิกของโยเรจึงต้องเรียนรู้เรื่องความงาม และสุนทรียภาพจากการจัดดอกไม้ ซึ่งถือเป็นศิลปะชั้นสูงเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้มีความประณีตงดงาม

นอกจากนั้นยังต้องเจริญเมตตาภาวนาโดยการเผื่อแผ่รังสีแห่งความรักอันบริสุทธิ์ให้กับเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และผู้คนทุกข์ยากที่ได้พบเห็น

ผมบอกเธอว่า ในวัฒนธรรมเหล่านี้แตกต่างไปจากการแพทย์ตะวันตกที่เน้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอวัยวะและถือว่าสุขภาพดีเกิดจากการที่อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ การแพทย์แบบชีววิทยานี้แม้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางกายได้ดี แต่ก็ขาดมิติทางสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ

แต่ในภูมิปัญญาการแพทย์อื่นๆ สุขภาพกับสุนทรียภาพอาจเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้

หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว เราอาจเห็นได้ไม่ยากว่า ชีวิตที่จะถือว่ามีสุขภาพหรือสุขภาวะที่สมบูรณ์นั้น น่าจะเป็นชีวิตที่เข้าถึงความงาม ความดี และความจริงสูงสุดของชีวิต เพราะหากแม้จะมีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปี แต่ในชั่วชีวิตหนึ่งนั้นไม่เคยเลยแม้แต่ชั่วขณะที่จะได้ดื่มด่ำในสุนทรียภาพและความงามของชีวิต ก็คงจะถือว่าเป็นชีวิตที่ดีได้ยาก

การทำงานศิลป์จึงเป็นหนทางของการบรรลุสุขภาวะหรือความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของชีวิตผ่านการเข้าถึงความงามหรือสุนทรียภาพ


ความงามหรือสุนทรียภาพนี้ไม่จำกัดอยู่แค่ความงามของศิลปะในชั้นของวัตถุธรรมเท่านั้น เพราะความงามนั้นไม่ใช่มีอยู่แต่ในศิลปวัตถุเท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ที่งดงามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุดของแม่ ในความใส่ใจต่อกันของเพื่อนมนุษย์ หรือในความอ่อนโยนต่อชีวิตและสรรพสิ่ง

เธอมองหน้าผมนิ่งอยู่สักครู่แล้วบอกว่า เมื่อครั้งที่ต้องเผชิญกับวิกฤตหลังสามีเธอบาดเจ็บสาหัสจากระเบิดนั้น เธอแทบจะหมดกำลังใจและไร้เรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ประคองชีวิตที่แตกสลาย มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจเธอว่า ทำไมมนุษย์จึงทำร้ายกัน ทำไมสังคมจึงโหดร้ายได้ถึงเพียงนี้

แต่สิ่งที่ทำให้เธอฟื้นและลุกขึ้นมาได้ ก็คือจดหมายและไปรษณียบัตรเป็นจำนวนมหาศาลที่ส่งมาให้กำลังใจกับเธอ เธอเล่าด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า จดหมายและไปรษณียบัตรมหาศาลที่ส่งมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ ปลอบโยน ให้กำลังใจเธอนั้นมาจากผู้คนที่เธอไม่รู้ว่าเป็นใครและไม่เคยรู้จัก

ความห่วงใยและกำลังใจจากคนที่เธอไม่เคยรู้จักนี้ แท้ที่จริงก็คือความงดงามของความรัก มิตรภาพและความอ่อนโยนต่อกันของมนุษย์ ความงามของความเป็นมนุษย์นี้ประคองและหล่อเลี้ยงให้เธอเข้มแข็งจนต่อสู้เอาชนะความทุกข์และความยากลำบากมาได้

ความงดงามและความดีงามนั้นกอบกู้ฟื้นคืนชีวิตให้กับผู้คนได้

เพราะความงดงามของความรัก มิตรภาพ และความเป็นมนุษย์นั้นมีพลังของสุนทรียภาพที่สามารถเยียวยาความบอบช้ำ ความทุกข์และหล่อเลี้ยงชีวิตให้งอกงามได้

บุคคลสำคัญที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2548

ภายในโรงพยาบาลซินเตี้ยน มูลนิธิพุทธฉือจี้ เมืองไทเป มีป้ายประกาศปรัชญาของโรงพยาบาล สวยสง่า ท้าทายระบบทุนนิยมอยู่ ที่ป้ายมีประโยคเรียบง่ายว่า “The Mission to be a Humane Doctor.” (พันธกิจ คือ การเป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์)

ใครที่รู้จักงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาของวงการแพทย์ไทย” คงจะอึ้งทึ่งกับข้อความซึ่งช่างคล้ายคลึงกับข้อแนะนำที่ท่านเคยพระราชทานให้แก่แพทย์ไทยที่ว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายที่จบการศึกษาเป็นทั้งแพทย์และมนุษย์เดินดิน” (I do not want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.)

พันธกิจที่ติดไว้ก็ไม่ได้เป็นแค่คำพูดโก้ๆ มีไว้ประกอบการขอมาตรฐาน ISO แต่แสดงออกในทุกมิติของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ คำกล่าวของ นพ.หูจื้อถัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ว่า “แพทย์และพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญ ที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่” หรือคำพูด นพ. ไช่ซื่อชือ รองผู้อำนวยการที่ว่า “ต้องเคารพนับถือผู้ป่วยทุกคน เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา” แพทย์ของที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ปฏิบัติต่อผู้ป่วยเสมือนญาติ บางครั้งยังเข็นรถเข็นผู้ป่วยออกมาส่งด้วยตนเอง

หากท่านเดินเข้าไปในโรงพยาบาลซินเตี้ยน ท่านก็คงจะแปลกใจกับบรรยากาศที่ไม่เพียงอบร่ำไปด้วยรอยยิ้มแต่ยังมีเสียงดนตรีจากแกรนด์เปียโนที่อาสาสมัครชาวฉือจี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่น ทั้งดนตรีคลาสสิกและดนตรีป๊อป ให้ผู้ป่วยและญาติได้ผ่อนคลายทุกวัน เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในอาคารก็มีอาสาสมัครที่มารอรับด้วยรอยยิ้ม และคำขอบคุณ (ที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้บำเพ็ญตนรับใช้ท่าน) พร้อมช่วยเหลือพาท่านทำกิจกรรมต่างๆ จนเสร็จกระบวนการ

แต่ขอประทานโทษนะครับ งานอาสาเหล่านี้ไม่ใช่จะได้มาทำง่ายๆ นะครับ อาสาสมัครต้องผ่านการฝึกฝนก่อนและต้องรอคิวนานถึงเกือบปีจึงจะได้มีโอกาสมาทำกิจอาสาเพียง ๑ วัน เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ถือเช่นเดียวกับที่ นพ.เจี่ยนฮุ่ยเถิง ที่กล่าวว่า “โรงพยาบาลเป็นทั้งสถานประกอบอาชีพและที่ปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและปูทางให้คนไข้เดินหน้าไปได้สะดวกขึ้น” งานประจำและงานจิตอาสาที่มีคุณค่าเหล่านี้คือ ความดีที่หล่อเลี้ยงชีวิต

โรงพยาบาลมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับนานาชาติแห่งนี้ รับรักษาผู้ป่วยทุกคน ทุกระดับ ด้วยจิตบริการเสมอกัน โดยไม่เว้น แม้ว่าจะไม่มีเงิน หรือประกันสังคมก็ตาม ท่านอาจารย์สุมน สมาชิกจิตวิวัฒน์ที่ร่วมดูงาน (ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม) ถึงกับกล่าวว่าอยากเป็นคนไข้ที่นี่ เพราะรู้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์!

คณะที่เดินทางไปด้วยกันยังได้ไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของโรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวันแห่งนี้อีกด้วย คือ มหาวิทยาลัยพุทธฉื้อจี้ ที่เมืองฮั้วเหลียน มหาวิทยาลัยมีคำขวัญคือ “ฉือ เป่ย สี เสิ่ง” คือ พรหมวิหารสี่: เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง (ข้าพเจ้าหวนนึกคำของพระบิดาของวงการแพทย์ไทยอีกที่ว่า “อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”) ที่นี่นักศึกษาที่สอบเอนทรานซ์เข้ามาแม้คะแนนจะไม่สูงนัก แต่ยามจบเป็นบัณฑิต สอบใบประกอบโรคศิลป์กลับได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ

มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นตรงการผสมผสาน กลมกลืน มิติของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน มีการสอดแทรกเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม จิตสำนึกอยู่ในชีวิตประจำวัน นักศึกษาได้ฝึกการภาวนา เจริญสติ นั่งสมาธิ เขียนพู่กันจีน ชงชา และจัดดอกไม้ เพราะเชื่อว่านักศึกษาสามารถเห็นดอกไม้แล้วเห็นความเป็นทั้งหมด ความเป็นหนึ่งเดียว เห็นความงามของจักรวาลได้ เป็นชุดประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจจิตใจของคนไข้และญาติ เข้าถึงสุนทรียภาพ ความอ่อนโยน ละเมียดละไม เข้าใจธรรมชาติความเป็นคนไปพร้อมความวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตก

ที่นี่มีวิชากายวิภาคศาสตร์ที่โดดเด่นเป็นที่หนึ่งของไต้หวัน นักศึกษาจะได้รู้จักประวัติของอาจารย์ใหญ่ (ศพที่บริจาคเพื่อการศึกษา) ได้ไปใกล้ชิดกับญาติของอาจารย์ใหญ่ จนราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน มีการประกอบพิธีกรรมอันงดงามร่วมกันทั้งก่อนและหลังเรียน เป็นการบ่มเพาะให้นักศึกษาเรียนแล้วเกิดสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ใหญ่และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคต

เป็นโรงเรียนแพทย์ที่บุกเบิกรณรงค์ให้ชาวไต้หวันบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา (เพราะขัดกับความเชื่อเดิมของชาวจีน) จากเดิมที่มหาวิทยาลัยทั่วไต้หวันไม่ค่อยมีจะเรียน ปัจจุบันมีชาวบ้านธรรมดาที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่บริจาคกันมากจนมีเหลือเผื่อแผ่ไปยังที่อื่น อาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ถึงกับยอมไม่รักษาตัวเองด้วยเคมีบำบัด ยอมทนความเจ็บปวด ด้วยความปรารถนาที่จะได้ให้นักศึกษาเห็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนจริง มีความรู้เพื่อที่จะไปรักษาผู้อื่นมากที่สุด อาจารย์ใหญ่อีกท่านบอกว่า “เมื่อฉันตายไปแล้ว เธอจะใช้มีดกรีดฉันผิดกี่ครั้งก็ได้ แต่เมื่อพวกเธอจบออกไป ห้ามกรีดผิดแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งหมดเป็นการดูงานที่อุดมไปด้วยเรื่องราวที่เกิดปิติอย่างยิ่ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นระบบการศึกษาที่งดงามอย่างที่สุด ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์และเครือข่าย (เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนสัตยาไส เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล) กำลังสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ

จิตปัญญาศึกษา การศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งเรื่องวิทยาการภายนอกและพัฒนาการภายใน รู้จักรู้ใจตนเอง เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียน สถาบันการศึกษา และสังคมโดยรวมเข้าสู่ความเป็นจิตวิวัฒน์ไปพร้อมกัน

ดังเช่นที่ ท่านอาจารย์ประเวศ เคยกล่าวในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ ในหัวข้อ “แผนที่ความสุข” ว่า “ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพอย่างที่เป็นกันอยู่แล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเอง และช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้

หรือคำของพระบรมราชชนกที่กล่าวไว้อีกเช่นกันว่า “ความสำเร็จมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้ หากแต่เป็นการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์” นั่นเอง

ถ้าจักรวาลเป็นอย่างนี้จริง - จิตวิวัฒน์ไหม?

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2548

ต้นปี ๒๕๔๘ ที่กำลังจะหมดลงไปอีกไม่นานนี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ แต่คิดเอาเองว่า มันมีหลายประเด็นที่น่าจะเอามาปรับลงใน มติชน อีกครั้ง เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีนักวิชาการหรือปัญญาชนคนชั้นกลางส่วนมากอ่านเป็นประจำ และคงมีผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ หรือ “จิตวิวัฒน์” ที่ยังไม่ได้อ่านหรือคิดในเรื่องนี้ อาจสนใจที่จะติดตามหรือสานต่อ จึงนำบางส่วนมาลงใหม่

ผู้เขียนเชื่อบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนว่า มนุษย์เราทุกคน – ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว – พยายามค้นหาเพื่อเรียนรู้คำตอบหรือ “ความจริง” ของจักรวาล และของโลก สรรพสิ่งและปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราที่อาจเรียกว่าธรรมชาติเฉยๆ ก็ได้ ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร และพร้อมๆ กัน เราก็พยายามค้นหา “ความหมาย” ของชีวิตเราแต่ละคนโดยปัจเจกและของสังคมด้วย (จิตกับจิตวิญญาณ) นั่นคือสามคำถามที่ พอล โกแก็ง เอามาตั้งขึ้นโดยรูปภาพ (เรามาจากไหน? มาอยู่ที่นี่ทำไม? และเราจะไปไหน?) ซึ่งโดยหลักฐาน (Proceeding of Tuson Conference on Toward Science of Consciousness, ๑๙๖๖) ที่อาจสรุปได้มีดังนี้

หนึ่ง ความพยายามค้นหาหรือความขี้สงสัยใคร่รู้ของมนุษย์เรา (ต่อความจริงและความหมาย) นั้นเป็นเนื้อแกนใน (qualia) ที่ติดตัวมากับชีวิตและมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่ต้น

สอง ความสงสัยใคร่รู้นั้นเอง ทำให้เราผลิตสร้างตรรกะและเหตุผลขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้และอยู่ด้วยกัน

สาม ด้วยตรรกะและเหตุผล เราก็สร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นมาและคิดว่าวิทยาศาสตร์ที่ได้มานั้นให้คำตอบ (ความจริง) แก่เราหมดแล้ว เราจึงนำมาเป็นพื้นฐานของระบบทุกระบบของสังคมที่ควบคุมการดำรงอยู่ของเรา

ด้วยข้อสรุปเช่นนั้น กับอัตตาอหังการ์ของปัจเจก เราจึงติดบ่วง (วิทยาศาสตร์) โดยไม่รู้ตัว และนำองค์ความรู้นั้นมาผลิตสร้างเทคโนโลยีทำลายล้างธรรมชาติ โดยลืมเรื่องของความหมายไปแทบทั้งหมด

ผลของการทำลายล้างธรรมชาติ – ในเวลาไม่นานนัก – ค่อยๆ ก่อปัญหาและวิกฤตให้กับเราในทุกๆ ด้าน และภัยพิบัติเหล่านั้นเองที่ทำให้นักคิดหลายคนคิดว่า เราและสังคมของเรา (อารยธรรมที่ได้มาจากความจริงหรือวิทยาศาสตร์) อาจจะล่มสลายไปทั้งหมดก็ได้ ซึ่งนักคิดบางคนและผู้เขียนเองก็เชื่อ (บนบางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์) ว่า ช่วงเวลานี้จนถึงปี ๒๐๑๒ คือช่วงอันตรายที่ภัยธรรมชาตินานัปการจะทยอยกันเข้ามา แต่นั่นจะกระตุ้นเร้าให้เรารู้ตัวกระทั่งเตือนขึ้นมาได้ โดยส่วนหนึ่งของเราจะอยู่รอด จากนั้น หลังปี ๒๐๑๓ เป็นต้นไป ผู้เขียนเชื่อว่าคือ ช่วงเวลาของความหมายหรือจิตวิวัฒนาการของมนุษย์เราโดยเผ่าพันธุ์

บทความที่ปรับแปรมานี้ ต้องการชี้ให้ผู้อ่านคิดตามไปว่า มันมีหนทางที่เราหลุดออกจากบ่วงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ หลุดจาก “ความจริง” ที่ไม่สมบูรณ์อย่างยิ่งนั้นได้อย่างไร เราจะต้องขึ้นมาจากหลุมดำหรือหุบเหวแห่งอวิชชาความเป็นสองที่ให้หลักการแยกส่วนให้ได้ แล้วหันไปหาความหมายมาเป็นประทีปนำชีวิต และเป็นโครงสร้างของสังคมแทน ซึ่งเราจะทำได้ต่อเมื่อเราสามารถย้อนกลับไปหาที่มาปฐมของมนุษย์เรา ที่เป็นที่มาขององค์ความรู้ของความจริงจอมปลอม คือรากเหง้าของวิทยาศาสตร์กายภาพ และค้นพบองค์ความรู้ที่แท้จริง ต้นตอที่มาของจักรวาลหรือจักรวาลวิทยาที่ให้ความสงสัยใคร่รู้แก่เรามาแต่ต้น

จักรวาลวิทยาคือ องค์ความรู้อันดับแรกสุดของทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ประสบการณ์แก่เรา รวมทั้งให้ที่มาของชีวิตและมนุษย์กับการดำรงอยู่ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำที่เราคิด มีที่ว่างและเวลา (Space-time) เป็นเวที ขณะเดียวกัน จักรวาลวิทยาคือต้นตอปฐมภูมิขององค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทุกๆ สาขา ที่ให้อารยธรรมความเป็น “สมัยใหม่” แก่มนุษยชาติตลอดเวลากว่า ๓๐๐ ปีมานี้ น่าเสียดายและน่าเสียใจที่ความรู้ความเข้าใจของเราให้เรื่องนี้ - จักรวาลวิทยา - ได้เถลเฉไฉไถลออกไปนอกลู่นอกทาง ทำให้เราผลิตสร้างองค์ความรู้ที่อธิบายความจริงของธรรมชาติผิดทางไปด้วย อารยธรรมที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาจึงมีอายุสั้นยิ่งนัก เราและสังคมของเรากำลังเดินเข้าไปหาความล่มสลายมากขึ้นและเร็วขึ้น เรามีเวลาน้อยเพียงไม่ถึงทศวรรษที่จะแก้ไของค์ความรู้ที่เถลเฉไฉไปนอกทางนั้น เรามีเวลาน้อยที่จะตื่นและเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราตื่นได้ ที่จะทำให้เรารู้ว่าเรามาผิดทางและสามารถแก้ไขให้มันถูกต้องได้ คือเราต้องลอกคราบลอกความรู้ที่เราเรียนรู้มาผิดๆ ออกไปเสีย เอาวิทยาศาสตร์กายภาพโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ได้มาจากนั้นพร้อมกับระบบสังคมที่เฉไฉทั้งแผงทิ้งไปเสีย แล้วหันมาหาวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มีจักรวาลวิทยาใหม่เป็นหัวหอก

และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ จักรวาลวิทยาใหม่ (ในส่วนที่สำคัญบางส่วน) กลับไปมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาดึกดำบรรพ์ ตำนานปรัมปรา (mythology) ที่ดำรงอยู่คู่กันมากับความหมาย ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันๆ ปี ก่อนจะมีวิทยาศาสตร์ ตำนานดึกดำบรรพ์หลายอย่าง โดยการสรุปย่อข้อมูลของจักรวาลวิทยาใหม่ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ จากหนังสือที่ประหนึ่งเป็นตำรา (text) ทางจักรวาลวิทยาสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สองเล่ม เล่มแรก บีบีซีเวิลด์เอามาออกอากาศเมื่อหลายเดือนก่อน (Michio Kaku: Parallel Worlds; ๒๐๐๔) ที่ได้ข้อมูลมาจากดาวเทียม *COBE (๑๙๙๒) และกล้องดูดาว ฮับเบิล (Hubble) โดยเฉพาะจากดาวเทียม WMAP (๒๐๐๒) อีกที กับหนังสือของแม็ทธิว ริคาร์ด กับ ตริน ซวน ทวน (Matteu Ricard and Trinh Xuan Thuan : The Quantum and the Lotus, ๒๐๐๐) ว่าด้วยจักรวาลกับนิพพาน

มิชิโอะ กากุ ที่เป็นนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ระดับนำของโลกนั้น เคยเขย่ารากฐานของจักรวาลวิทยามาแล้วหลายครั้ง ในตอนแรกนักฟิสิกส์ด้วยกันยังรับไม่ได้ กระทั่งไม่ถึงทศวรรษมานี้เองจึงได้รับการยอมรับกันแทบเป็นเอกฉันท์ นั่นคือการคาดการณ์ทางจักรวาลวิทยาบางประการที่มีข้อพิสูจน์บนสมการคณิตศาสตร์ว่าด้วยทฤษฎีใยมหัศจรรย์ และทฤษฎีแมทริกซ์ (String theory / M-theory) และควอนตัม เมคานิกส์ รวมทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่า จักรวาลมีมิติหลากหลายที่สสารดำรงอยู่ด้วยพลังงานที่ให้ความถี่ของการสั่นสะเทือน (vibration) ของแต่ละมิติแตกต่างกันไป และแตกต่างจากจักรวาลที่มีสี่มิติของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้โดยอาศัยทฤษฎีสตริง และทฤษฎีอื่นๆ ที่กล่าวไปแล้ว พบว่าอย่างน้อยมี ๑๑ มิติ และมิชิโอะบอกว่ามิติที่ ๑๑ เป็นมิติของสภาวะนิพพาน (nirvarna) คราวนี้ มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่าจริงแล้วจักรวาลไม่ได้มีแต่จักรวาลของเราอันเดียว แต่มีมากมาย (multi universes) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยแต่ละจักรวาลจะมีลักษณะเหมือนฟองของเหลวที่ยุบๆ พองๆ หรือให้ฟองขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา มิชิโอะบอกว่าจักรวาลถัดไปอาจอยู่ห่างออกไปเพียงหนึ่งมิลลิเมตรจากผิว (brane) ของจักรวาลเรา แต่เรารับรู้ไม่ได้เพราะมันอยู่เหนือมิติ (สี่มิติ) ของเรา อย่างไรก็ตาม มิชิโอะ กากุ ยังบอกว่าทุกวันนี้นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การเกิดใหม่ของจักรวาลนั้น มีศักยภาพความเป็นไปได้หลายทาง ทางหนึ่งที่จักรวาล(สี่มิติ เช่น จักรวาลของเรา) จะเกิดใหม่หลังจากหนึ่งล้านล้านปีจากวันนี้ จักรวาลของเราจะสิ้นสุดลงด้วยความเย็นยะเยือก (big freeze) ไร้พลังงาน แต่ขณะเดียวกันพลังงานมืด (dark energy) ที่ได้จากการยุบตัวเองลงมาของสสารมืด (dark matter) จะรวมเป็นหลุมดำที่จะต่อเนื่องกับหลุมขาวที่จะให้บิ๊ก แบ็งใหม่ต่อไป หรืออีกเส้นทางหนึ่ง หลุมดำที่อยู่ใจกลางของทุกๆ แกแล็คซี่จะรวมเข้าด้วยกัน ทำให้จักรวาลหดตัวลงมา (big crunch) กลายเป็นหลุมขาว (ทั้งหลุมดำและหลุมขาวจะอยู่ในสภาพความว่างเปล่าทางควอนตัม (quantum vacuum) ที่จะให้การไหวสั่นทางควอนตัม (quantum fluctuation) ความไหวสั่นที่จะให้สสารที่แท้จริงจากอนุภาคเทียม (matter arising form virtual particles as Casimir effect)

ทั้งหมดอาจเข้าใจยากสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า จักรวาลเป็นเหมือนฟองน้ำฟองอากาศที่มีจำนวนไม่สิ้นสุด ที่อาจอยู่ติดชิดกับจักรวาลของเรา แต่เรารับรู้ไม่ได้เพราะอยู่ในมิติมากกว่าเรา มิติที่ไล่สูงขึ้นไปจนถึงมิติที่ ๑๑ อันเป็นมิติแห่งนิพพาน จักรวาลแต่ละจักรวาลจะ “ยุบๆ พองๆ ” ยุบด้วยหลุมดำ ยุบแล้วก็ระเบิดเป็นจักรวาลใหม่ด้วยหลุมขาว ที่มีช่วงระหว่างสองจักรวาลเป็นความว่างเปล่า

อ่านหนังสือของมิชิโอะ กากุ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงยานบิน (UFO) ที่ จอห์น แม็ต จิตแพทย์จากฮาร์วาร์ด ที่เพิ่งตายไปบอกว่า ยานบินไม่ใช่มาจากต่างดาวแต่มาจากต่างมิติที่สามารถควบคุมหรือใช้จิตนำทางก็อาจปรากฏให้เห็นในสี่มิติโลกได้ (Abduction, ๑๙๙๕) ขณะเดียวกันก็อดคิดถึงชั้นต่างๆ ของสวรรค์ไม่ได้ ดังข้อสรุปที่บอกว่าสวรรค์กับเทวดาก็คือผู้มาเยือนจากนอกโลก (Eric von Danicken: Chariots of the Gods, ๑๙๗๐)

ศาสนาพุทธเองพูดถึงจักรวาลที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีการตั้งต้นจึงไม่มีการดับสูญไป (อนามัตโก ยามัง สังสาโร บัพโคติ นะ ปัญญายาติ) จักรวาลที่เราอยู่นี้ มี ๓ ลักษณะ คือ มหาโลกธาตุที่ประกอบด้วยกลุ่มโลกธาตุจำนวนมาก นั่นเทียบได้กับจักรวาลทั้งหมดที่มีกลุ่มกาแล็คซี่จำนวนมาก สองมัชฌิมโลกธาตุ ที่ประกอบด้วยโลกจำนวนมาก ที่เทียบได้กับกาแล็คซี่ทางช้างเผือกที่มีดาวหรือดวงอาทิตย์มากมาย และสามจุลโลกธาตุที่หมายถึงระบบสุริยะ และโลกมนุษย์ กับดาวเคราะห์อื่นๆ มหายานพุทธศาสนาบอกว่า จักรวาลที่เราเห็นและให้โลกที่เราอยู่ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นความจริงสัมพัทธ์เท่านั้น จริงๆ แล้วจักรวาลปรากฏการณ์แยกจากจิตไม่ได้ ทั้งสองอยู่คู่กันและต่างเสริมเติมกันด้วยพลังงานหรือแรงแห่งกรรม แม็ทธิว ริคาร์ด ที่ได้อ้างข้างบนนั้น คือ เจ้าอาวาสวัดใหญ่วัดหนึ่งที่อินเดียตอนเหนือ ได้สรุปรายละเอียดของจักรวาลในพุทธศาสนาเอาไว้อย่างน่าสนใจ แม็ทธิว ริคาร์ด ก่อนบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับผู้บริหารของสถาบันปาสเจ้อร์ (Pasteur Institute) กรุงปารีส ที่มี จาค็อบ โจซัว นักชีววิทยารางวัลโนเบลเป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนั้น ต่อไปนี้ คือใจความว่าด้วยจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาที่ใคร่นำมาเปรียบเทียบกับจักรวาลวิทยาใหม่ที่ผู้เขียนเอามาจาก มิชิโอะ กากุ อ้างไว้ข้างต้น

“ว่าด้วยความจริงสัมพัทธภาพ จักรวาลของเราเกิดจากการรวมตัวกันของธรรมธาตุ (ไม่ใช่สสารโดยนิยาม แต่หมายถึง ศักยภาพของการเป็นสสาร) โผล่ปรากฏ ออกมาจากอวกาศ (Space) อวกาศที่ว่างเปล่า (สุญตา หรือ void) เท่าๆ กับเป็นความเต็ม ในตอนแรกที่ปรากฏออกมา เป็นรังสีที่มีห้าสี ที่ต่อมาจะค่อยๆ กลายเป็นสสาร หรือธาตุทั้งห้า (ธาตุของโลกสี่ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม กับอากาศธาตุที่ไม่ใช่ธาตุของโลกที่ต่อมาประกอบเป็นชีวิต ได้แก่ อากาศธาตุและวิญญาณธาตุ – ธาตุ ๖ ของเถรวาท)ในพุทธศาสนานั้น จักรวาลไม่ใช่มีเพียงหนึ่งหรืออยู่ตามลำพัง (independent) แต่มีจำนวนไม่มีสิ้นสุด ที่ต่างก็พึ่งพาหรือเป็นเหตุปัจจัยกันเป็นวัฏจักร (cyclical หมุนวนเวียน แต่ไม่ทับซ้ำรอยเดิม) ในทางพุทธศาสนาวัฏจักรของจักรวาลหนึ่งๆ จบลงด้วยไฟบัลลัยกัลป์ ๗ ครั้ง แล้วทุกสิ่งทั้งหมดก็ถูกดูดหายไปในความว่างเปล่า ความว่างเปล่าที่เชื่อมต่อระหว่างจักรวาลเก่ากับจักรวาลใหม่”

พอเพียง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2548

ทีแรกตั้งใจจะตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทย และสังคมโลก ภาค ๒” เพราะได้เขียนเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ แต่มาคิดดูอีกทีลองเปลี่ยนมาตั้งชื่อสั้นๆ ดูบ้างก็น่าจะดี เลยออกมาเป็น “พอเพียง”

สังคมไทยและสังคมโลกท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์แห่งเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรมเหลือเพียงแค่ความถูกต้องตาม(การตีความ)กฎหมาย แล้วนำมาอ้างเป็นความชอบธรรมในการกระทำของตนเอง และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และมีทีท่าว่าจะเข้มข้น ดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น จนน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดอาการหน้ามืดด้วยกันทุกฝ่าย

ถ้าหน้ามืดแล้วเป็นลมก็ดีไป จะได้พักชั่วครู่ และมีโอกาสได้พักการทำชั่วเพราะขาดสติได้ แต่ถ้าหน้ามืดแล้วขาดสติ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ผลประโยชน์ตนอยู่เหนือผลประโยชน์ชาติ ความรู้อยู่เหนือปัญญา ความดีและความงาม กฎหมายอยู่เหนือคุณธรรมโอกาสทำผิดทำชั่วก็เพิ่มขึ้น

เมื่อไหร่ ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม จึงจะไปกันได้หรือเป็นเรื่องเดียวกันกับความดี ความมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่แยกออกจากกันเหมือนในปัจจุบัน

หรือเพราะมนุษย์ลืมตัว ขาดสติ ไหลไปตามมนต์เสน่ห์ของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ชักจูงให้เราดิ้นรน กระเสือกกระสนไม่รู้จักพอ จึงไม่รู้จักความพอเพียง แล้วพยายามสร้างกฎ ระเบียบ รวมถึงกฎหมายทั้งในระดับประเทศ ระดับระหว่างประเทศ และระดับโลกขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรม (Justification) ให้กับตัวเอง เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไม่มีความยุติธรรมในหัวใจ

เมื่อไหร่เราจึงจะมีความพอเพียง และความพอดีทางกฎหมาย ไม่สุดโต่งแบบขาดสติ แล้วติดกับกับสิ่งที่เราสร้างขึ้น แล้วพยามยามจะเอาแพ้ เอาชนะกันทางกฎหมายโดยลืมเรื่องความดี ความงาม ความมีคุณธรรม

หันหน้ามาปรึกษาหารือกัน มีสุนทรียสนทนากัน หาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศอันเป็นที่รักของเรา ไม่ดีกว่าหรือ ท่านผู้เก่งกล้าทั้งหลาย

ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนในประเทศจำนวนมากอยากเห็นพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือฝ่ายกฎหมายหรือองค์กรอิสระ มีความกล้าทางคุณธรรมและจริยธรรมมาร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.)ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาที่ยังหาทางออกไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าทำตามกฎหมาย ทั้งที่เคยทำแล้ว มีปัญหา ก็ยังทำแบบเดิม เพราะถ้าไม่ทำก็กลัวว่าตนเองจะผิดกฎหมาย ประชาชนเลยเริ่มสับสนว่า ที่ทำกันอยู่ และอ้างว่าทำตามกฎหมายนั้น ทำเพื่อปกป้องตนเองหรือเพื่อผลประโยชน์ของชาติ หรือเพียงเพื่อพิสูจน์ความถูกผิด และความเก่งกล้าทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของประเทศชาติ

หรือในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการขายหุ้น กฟผ. และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโต้แย้งเรื่องการวางบุหรี่ขายระหว่างเซเวนอีเลฟเวนกับกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงการสรรหา ปปช. และ กกต. ล้วนเป็นเรื่องความถูกผิดทางกฎหมายทั้งสิ้น จนมีกระแสจะให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ปรากฏว่ามีกระแสให้ปรับแก้กระบวนการสร้างและพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม แต่มีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างกรอบมาครอบและควบคุมคน มากกว่าที่จะสร้างคนดีโดยผ่านกระบวนการศึกษา และการปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

เมื่อไหร่ นักการเมือง นักปกครอง ตำรวจ ทหาร ครู อาจารย์ พ่อแม่...จึงจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นครู อาจารย์ต้นแบบที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน มีความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทรต่อกัน มีคุณธรรมและความดีเป็นฐานของการดำเนินชีวิตและการทำงาน

เมื่อไหร่เราจะยอม “ศิโรราบ” ให้กับความดีงาม มองเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง ของตนเองและของผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้ยอมรับ เคารพ ตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่งในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องขจัดกันให้หมดไป

โลกาภิวัตน์แบบทุนนิยม ศาสตร์ทางการบริหารธุรกิจ ศาสตร์ด้านโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาดเชิงรุก กลายมาเป็นศาสตราทำลายคุณภาพชีวิตมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดสิ่งแปลกๆ มากมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นมีการเปิดเผยออกมาจากหน่วยงานของรัฐว่าต้นทุนของชาเขียวตกขวดละประมาณ ๑.๕๐ บาท แต่เราต้องซื้อขวดละ ๑๕-๒๐ บาท ตกลงเราต้องจ่ายเงินให้กับสิ่งที่เราไม่ได้กิน หรือกินไม่ได้เช่น ขวด ค่าโฆษณา ค่าการตลาด...มากกว่าสิ่งที่เรากินได้และได้กินหลายเท่า นี่คือผลพวงของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่เรากำลังหลงเดินตามอย่างขาดสติ ขาดความพอดี เพราะไม่มีความพอเพียงเป็นปรัชญาและแนวทางในการดำเนินชีวิต

เราพร่ำพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่แสวงหาแบบสุดโต่ง เราพร่ำพูดถึงความถูกต้อง ความชอบธรรมและความยุติธรรมทางกฎหมาย แต่ปราศจากคุณธรรมและจริยธรรมทางความคิดและการกระทำ

หรือเรากำลังพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง

เมื่อไหร่เราจะคิด พูด และทำในทิศทางเดียวกัน โดยมีความดีความมีคุณธรรมเป็นฐานของการคิด การพูด และการกระทำ

ประเทศเรามีวัฒนธรรมที่เลิศล้ำ มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีและความมีคุณธรรมอยู่ทั่วแผ่นดิน มีองค์พระประมุขที่ทรงเป็นครูต้นแบบแห่งความดีมีคุณธรรม ทำไมเราต้องไปหลงและไหลไปตามวัฒนธรรมทุนนิยม ทำไมไม่มาช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีความมีคุณธรรมให้เต็มแผ่นดินและเป็นต้นแบบขยายไปทั่วโลก ทำไมไม่คิดใหม่ ทำใหม่ในสิ่งที่ดีงาม

ผู้เขียนมีความสุขและมีความหวังกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ได้ทราบว่า ทางสำนักงานกำลังคิดการใหญ่ ก่อการดี ด้วยการพยายามจะปรับโครงสร้างกฎหมายใหม่ทั้งระบบ โดยเน้นการส่งเสริมประชาชนมากกว่าการบังคับประชาชนอย่างเดียว ขอให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วไว และหวังว่าการปรับครั้งนี้จะมีความดี ความพอดีและความมีคุณธรรมเป็นฐานสำคัญ

ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยบทกลอนสั้นๆ ที่ผู้เขียนแต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก ปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย เพื่อเตือนสติตนเองและเป็นแง่คิดให้กับผู้อื่น

คำพ่อเตือน

พอเพียง จึงเพียงพอ
เพียงเพราะพอ จึงพอเพียง
เพียงพอ เพราะพอเพียง
พอพอเพียง จึงเพียงพอ

เพราะพ่อ บอกพอเพียง
ด้วยสุ่มเสียง สำเนียงพ่อ
สำเหนียกจิต สำนึกพอ
ให้สานต่อ ที่พ่อเตือน

ศิโรราบ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 26 พฤศจิกายน 2548

เวลาที่เจ้ามัฟฟิ่นลูกสุนัขพุดเดิ้ลตัวใหม่ของผมถูกเจ้าลูกหมีซึ่งเป็นสุนัขตัวใหญ่กระโดดเข้าขย้ำ เจ้ามัฟฟิ่นมันจะนอนหงายท้องแบบยอมจำนน แต่ปากของมันก็ยังกัดต่อสู้เป็นระยะๆ ประมาณแบบว่า หนูไม่ได้ยอมแพ้นะ และเมื่อเจ้าลูกหมีลุกออกไป เจ้ามัฟฟิ่นก็ยังคงตามไปไล่กัดไล่แหย่สุนัขรุ่นพี่ตลอดเวลาอย่างไม่ลดละ

อากัปกิริยาที่เจ้ามัฟฟิ่นนอนหงายท้องแบบนั้นทำให้ผมนึกถึงคำๆ หนึ่งขึ้นมาว่าเป็นการ “ศิโรราบ” ต่อเจ้าลูกหมีสุนัขรุ่นพี่ ในพจนานุกรมภาษาไทยได้ให้ความหมายของคำว่า “ศิโรราบ” นี้ว่า “กราบกราน, ยอมอ่อนน้อม” เพราะถ้าเจ้ามัฟฟิ่นมันไม่ยอมศิโรราบแบบนั้น ตัวของมันอาจจะกระจุยเพราะคมเขี้ยวของเจ้าลูกหมีไปแล้วก็ได้

แสดงว่าธรรมชาติได้มอบ “ศิโรราบ” ไว้เพื่อให้เป็นหนทางหนึ่งของความอยู่รอดของสรรพสัตว์
ในวงจิตวิวัฒน์มีคำๆ หนึ่งที่เป็นคำที่หนังสือในแนว “จิตสำนึกใหม่” มักจะใช้เสมอๆ พวกเราพูดถึงเสมอๆ ในหลายๆ ครั้งก็คือคำว่า “surrender” ทั้งคุณเดวิด สปิลเลน ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ อาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน และอีกหลายๆ คนก็พยายามช่วยกันให้ความหมายว่า “surrender” ไม่ได้แปลว่า พ่ายแพ้หรือยอมแพ้นะ แต่น่าจะหมายถึง “ศิโรราบ” มากกว่า

ผลพวงทางความคิดอย่างหนึ่งที่สังคมในปัจจุบันยัง “ติดใจนิวตัน” และยังนำแนวคิดเรื่องนี้ซึ่งเป็น “ตรรกะ” โดยตรงที่นำมาจากวิทยาศาสตร์เก่าแบบของนิวตันก็คือ การควบคุม การจัดการและการคาดหวังผลแบบเด๊ะๆ ตามสูตรแรงเท่ากับมวลคูณกับอัตราเร่ง (F=ma) ของนิวตัน

เมื่อคุณเข้าใจและคุ้นเคยอย่างสม่ำเสมอว่าการที่เราต้องการจะให้ก้อนหินก้อนหนึ่งเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วขนาดหนึ่งเราจะต้องออกแรงจำนวนหนึ่ง เราก็จะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่าถ้าเราออกแรงทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเราก็ควรจะได้ผลของสิ่งที่เกิดขึ้น

ประการแรก เราอาจจะลืมไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนั้น “เป็นจริง” เฉพาะกับมิติเพียงหนึ่งหรือสองมิติที่อยู่ในโลกใบนี้” เท่านั้น ในมิติของความคิดและจิตใจนั้น มีมากกว่าสามมิติตามที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงหรือคุยกันถึงเรื่องราวของความคิดและจิตใจ เราอาจจะต้องมองให้ลึกมากกว่าปกติสักหน่อยเพราะถ้าเราจะต้องไปผลักก้อนหินบนยานอวกาศที่ความเร็วเหนือแสง สูตรของนิวตันก็คงจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว

ประการที่สอง สมการชีวิตไม่ได้ตรงไปตรงมาเป็นสมการเส้นตรงแบบ F=ma เสมอไป สมการชีวิตเป็นสมการเชิงซ้อนที่มีเหตุและปัจจัยต่างๆ มากมาย ผลที่เกิดขึ้นมาในสมการชีวิตจึงไม่ได้ตรงไปตรงมา จึงไม่อาจจะคาดคำนวณได้แบบง่ายๆ

ถ้าจะลงรายละเอียดกันจริงๆ แม้แต่สมการเชิงซ้อนในวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์เองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสมการของชีวิตได้ทั้งหมด เพียงแต่เรื่องราวในควอนตัมฟิสิกส์นั้นน่าจะบอกอะไรที่ใกล้เคียงมากกว่าและน่าจะดีกว่าสมการเชิงเดี่ยวอย่างสมการของนิวตัน

การควบคุมและคาดหวังผลแบบวิทยาศาสตร์เก่าหรือสมการเชิงเส้นเดี่ยวๆ จึงเป็นเรื่องราวที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็นจริง

แต่เรามักจะ “หลง” ไปเชื่อแบบนั้นเสมอ

บางทีเราก็มักจะสงสัยว่าทำไมตัวเราก็ดี๊ดีๆ แต่เรากลับไม่ได้ผลแห่งการทำดีของตัวเรา ไอ้คนข้างบ้านมันแสนจะชั่ว แต่มันกลับได้ดิบได้ดี มีเงินมีทองรวยเอารวยเอา

ในวิทยาศาสตร์ใหม่ “ศิโรราบ” จึงน่าจะหมายถึงความเข้าใจตรงนี้ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา “ปล่อยให้มันเป็นไป” รวมไปถึง “การไม่ตัดสิน” เหตุการณ์ต่างๆ ว่าผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี เพียง “น้อมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้นมาต่างๆ เหล่านั้นโดยที่ “ไม่ได้ยอมแพ้” คือถ้าเรายอมแพ้นั่นจะหมายความว่าเราจะยกเลิกภารกิจในรูปแบบนี้ทั้งหมด เพราะอาจจะคิดว่ามันล้มเหลว มันไม่ได้ผลหรอก

เพราะเมื่อเรา “ศิโรราบ” เราจะรู้สึกผ่อนคลาย เราจะรู้สึกง่ายต่อการจัดการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา

เพราะเมื่อเรา “ศิโรราบ” เราจะรู้สึกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “??” ใครไม่รู้จัดการ เราไม่มีหน้าที่จัดการตรงนั้น

บางทีเราจะรู้สึกว่าเหมือนกับมี “คนมาคอยคุ้มครอง” หรือบางทีเราจะรู้สึกว่า เหมือนกับการได้สื่อสารกับ “???” ใครก็ไม่รู้ ว่าให้เธอหรือเขาเป็นผู้จัดการไปนะ

เพราะเมื่อศิโรราบแล้วเรามักจะ “ไม่กลัว” เรามักจะรู้สึกเหมือนกับว่า “เรากล้า” มากขึ้นยังไงชอบกล เพราะเราเพียงทำไปตามหน้าที่ที่เราควรจะทำและเราไม่หวังผล คนส่วนมากจะกลัวว่าทำอะไรแล้วไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ กลัวความผิดพลาด เราสามารถใช้ความรู้สึกที่ศิโรราบมาลดทอนความกลัวตรงนี้ได้

“ศิโรราบ” อาจจะมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “อหังการ์”

ถ้าศิโรราบไม่ได้หมายถึงว่ายอมแพ้ อหังการ์ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะได้สิ่งที่ต้องการจะได้ อหังการ์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากนำไปสู่ “ความเข้าใจผิดที่เคร่งเครียด” และเหน็ดเหนื่อย เพราะสิ่งที่หวังว่าจะได้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ เช่น ผมเคยรู้สึกอหังการ์มากว่าผมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดเฉพาะทาง ผมสามารถทำผ่าตัดยากๆ ได้ พอเอาเข้าจริงผมก็ได้เรียนรู้ว่าความอหังการ์ของผมไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ในจุดหนึ่ง อหังการ์จึงไม่ได้หมายความว่าจะชนะเสมอไป รังแต่จะ “กดดันตัวเอง” ให้แข็งเกร็งและ “ล่อเป้า” ของความไม่พอใจให้กับผู้คนที่พบเห็นเสียเปล่าๆ

ในอีกนัยหนึ่ง ศิโรราบอาจจะถือได้ว่าเป็น “มาตรวัด” หรือ “ตัวชี้วัด” ตัวหนึ่งของความเจริญเติบโตด้านในของพวกเรา ถ้าเมื่อใดที่เรารู้สึกว่าสเกลหรือตัวชี้วัดในด้านนี้ของเราลดน้อยลง เราจะต้องตรวจตราดูแล้วว่ามีอะไรที่เรายังอหังการ์มากเกินไป

อหังการ์มีความคมกริบ มักจะบาดหรือทิ่มแทงและทำร้ายผู้คน แต่ศิโรราบกลับทำให้ผู้คนรู้สึกอ่อนโยน ทั้งๆ ที่จุดหมายเดิมของทั้งสองวิธีการไม่ได้เปลี่ยนเพราะศิโรราบก็ไม่ได้ยอมแพ้ ยังคงกระทำภารกิจมุ่งสู่จุดหมายที่ต้องการเหมือนกัน

ผมคิดว่า “ทักษะ” ของมนุษย์ในเรื่อง “ศิโรราบ” น่าจะเป็นทักษะหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์อย่างพวกเรามีความ “อ่อนโยนขึ้น” ซึ่งจะทำให้ “มีโอกาส” หลุดออกไปจาก “กับดักแห่งอัตตาภายใน” ตัวเองที่สามารถเกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา โดยที่เราอาจจะไม่สามารถรู้ได้ทันท่วงทีก่อนที่มันจะไปทำร้ายผู้คนอื่นๆ รอบข้างแบบไม่รู้ตัว

วิถีแม่มด
ตอน “ไม่ต้องพัฒนา”

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548

ตัวตนที่อ่อนเยาว์ (Younger Self)

ตัวตนที่อ่อนเยาว์ เมื่อเทียบกับตัวตนที่จำนรรจา หรือตัวตนที่พูดภาษา หรือ Talking Self จากหนังสือ The Spiral Dance ของ สตาร์ฮอว์ค (Starhawk)

“ตัวตนที่อ่อนเยาว์จะเข้ารับรู้ประสบการณ์ตรงจากโลก ด้วยการรับรู้อย่างเป็นองค์รวมด้วยสมองซีกขวา ประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก แรงขับพื้นฐาน ภาพ ความทรงจำ ญาณทัศนะ และการรับรู้อย่างกว้างๆ คลุมๆ เป็นบทบาทของตัวตนที่อ่อนเยาว์ ความเข้าใจภาษาของตัวตนที่อ่อนเยาว์มีขอบเขตจำกัด มันสื่อสารผ่านภาพ อารมณ์ การรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่างๆ ความฝัน ภาพฝัน และอาการทางกายต่างๆ จิตวิเคราะห์ดั้งเดิมได้พัฒนาความพยายามที่จะอ่านภาษาของตัวตนที่อ่อนเยาว์ แต่วิถีแห่งแม่มดไม่เพียงแค่ตีความ หากยังสอนเราให้พูดกับตัวตนที่อ่อนเยาว์ได้ด้วย”

“ตัวตนที่จำนรรจ์จัดสรรภาพลักษณ์ของตัวตนที่อ่อนเยาว์ ให้ชื่อต่างๆ กับมัน จัดที่ทางแบ่งประเภทพวกมันออกเป็นหมวดหมู่ ชื่อของตัวตนที่จำนรรจ์ ส่อให้เห็นถึงสมองซีกซ้ายที่วิเคราะห์แยกแยะ และใช้ภาษาพูดจา มันยังรวมถึงความสามารถที่จะเข้าใจภาษาแห่งคุณธรรม ที่แยกแยะและตัดสินถูกผิด ตัวตนที่จำนรรจ์สื่อผ่านถ้อยคำ ความคิดทางนามธรรม และตัวเลข”

มีคนเคยตั้งข้อสังเกตนานมาแล้วว่า ผมเขียนหนังสือกระโดดๆ คือขาดความต่อเนื่อง ผมเพิ่งมาเข้าใจวันนี้เองว่า ผมเขียนมันมาจากสมองซีกขวา หรือจากตัวตนที่อ่อนเยาว์ เมื่อผมพยายามจะแปรสิ่งที่ผมสัมผัส มาเป็นภาษาเขียน และภาษาเขียนมักจะไม่สามารถอธิบายได้หมดเสมอ มันเพียงเป็นภาพคลับคล้ายคลับคลาเท่านั้น

สตาร์ฮอว์ค พูดถึงการมองเห็นภายใต้แสงดาว (Starlight Vision) ว่ามันเป็นภาพเบลอที่ไม่คมชัด อันสามารถแยกวัตถุที่เห็นออกจากกันอย่างเด่นชัด แต่มันกลับไปมองเห็นแบบแผน ความเชื่อมโยงสัมพันธ์มากกว่าตัววัตถุต่างๆ ที่ดูเหมือนจะแยกขาดออกจากกัน

เมื่อเรานิ่งลงและพยายามล้วงลึกเข้าไปเข้าใจอะไรบางอย่างบางประการที่เห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าการเห็นในสภาพสามัญของเรา มันเหมือนกับการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่ ที่เฝ้าดูเรื่องราวที่ศึกษาอย่างเนิ่นนาน “เฝ้ามองอย่างเนิ่นนาน” จนกระทั่งสิ่งที่สังเกตกับเรากลืนเข้ามาเป็นสิ่งเดียวกัน

ตัวตนที่อ่อนเยาว์ในกระบวนการการเรียนรู้ของเรา

หมอวิธานกล่าวว่า อ่านเรื่องของแม่มดแล้วก็เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่แล้วในกิจกรรมการเรียนรู้หลาย ๆ ประการของพวกเรา ก็เหมือนกับพิธีกรรมของเหล่าแม่มดที่สตาร์ฮอว์คบรรยายไว้นั่นเอง แต่เมื่อลองมาอ่านเรื่องราวของธรรมชาติ ของความเป็นจริง ผ่านวิถีของแม่มดบ้าง ก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ มันเป็นความพยายามที่จะก้าวพ้นชุดภาษา ซึ่งคุณหมอเคยก้าวพ้นมาจากวิทยาศาสตร์เก่ามาใหม่ ทีนี้ลองมาก้าวพ้นด้วยภาษาของแม่มดบ้าง ครั้งที่แล้ว เมื่อเอาผมไปช่วยรักษาเยียวยาโรคหัวใจชั้นต้นที่คุณแม่ของหมอเป็น ก็ทำให้คุณแม่มองหมอด้วยสายตาแปลกๆ ไปทีหนึ่งแล้ว ในครั้งหลังนี้ เมื่อไปเยี่ยมแม่ที่กรุงเทพฯ คุณหมอไปทายทักดินฟ้าอากาศได้อย่างแม่นยำอีก คุณแม่ก็มองคุณหมอด้วยสายตาแปลกๆ อีกครั้ง แต่พอดีคุณหมอถือว่าการมองของคุณแม่ครั้งที่สองนี้ เป็นตัวชี้วัดความเพี้ยนที่ใช้การได้ ถือว่าเป็นเรื่องดีไปก็แล้วกัน ทำให้สบายใจไปได้

ตัวตนที่อ่อนเยาว์นั้น สตาร์ฮอว์คบอกว่าบุคลิกอยู่ที่เด็กวัยสามขวบ ที่ยังคงรักษาวิญญาณอิสระก่อนเข้าระบบโรงเรียน (อันหลังนี้ผมพูดเอง) ไว้ได้ แต่ก็มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างหัวชนฝาอยู่ มันเป็นพลังงานดิบๆ ที่มีความสด และเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ที่ยังไม่ถูกปรุงแต่งและขัดเกลาด้วยโหมดปกป้องของสังคมมนุษย์ที่อ่อนแอและเปราะบาง อันมาจากฐานของความกลัว

ตัวตนที่อ่อนเยาว์เป็นตัวตนที่เชื่อมอยู่ระหว่าง ตัวตนที่จำนรรจ์กับจิตวิญญาณหรือเทพธิดาหรือพระเจ้า เทพธิดาเป็นหญิง พระเจ้าเป็นชาย แต่ในความเป็นจริงระดับจิตวิญญาณยังไม่มีหญิงหรือชาย อันนี้สตาร์ฮอว์คพูดเอง

วิถีแม่มดจึงเอาความเป็นเด็กกลับมา เอาความขี้เล่น ความหฤหรรษ์ในวัยเด็กกลับเข้ามาในพิธีกรรมของแม่มดทั้งหลาย ในกระบวนการเรียนรู้แบบจิตวิวัฒน์ที่เชียงราย เรามักเริ่มกระบวนการด้วย การเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กให้กันและกันฟังในหมู่ผู้เข้าร่วม มันเป็นการนำพาผู้เข้าร่วมทั้งหลายเข้ามาอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกที่มีความกล้าหาญที่จะสำรวจตรวจตราโลกอย่างเด็กๆ เป็นโลกที่ยังไม่ถูกจับเข้าโรงเรียน เป็นโลกที่ยังไม่มีผิดถูก มิตรภาพก่อเกิดอย่างรวดเร็ว การหยั่งลงสู่วงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้นพบที่ทางของตนเองในวงก่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยกลับไปสู่ความเป็นเด็กนี้เอง

“ไม่ต้องพัฒนา”

ณัฐฬส วังวิญญู เพิ่งกลับมาจากสหรัฐอเมริกา เขาไปเรียนต่อเรื่อง Vision Quest หรือการถามหาญาณทัศนะที่จะบอกเล่าเรื่องราวของอนาคตแห่งตัวตนของตัวเอง พวกเรามีธรรมเนียมต้อนรับสมาชิกกลับบ้าน ด้วยการนั่งล้อมวงพูดคุยกัน มันเหมือนกับว่าเราได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับณัฐด้วย ณัฐเขาได้รับญาณทัศนะมาว่า เขาจะต้องเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น รับรู้สิ่งบอกเล่าจากแม่พระธรณีมากขึ้น รับรู้จากสรรพสิ่งในธรรมชาติมากขึ้น การหวนหาการกลับคืนสู่ผืนดินเป็นแรงเรียกที่รุนแรงยิ่งขึ้นกับสมาชิกในชุมชนของเรา มันเหมือนกับการเตรียมตัวให้กับวิกฤตของโลกที่กำลังจะก่อเกิด

นอกจากการเล่าเรื่องต่างๆ ที่เขาได้ไปประสบมาอย่างเร้าใจแล้ว เขาได้สรุปเรื่องราวใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเหล่ากระบวนกรแห่งสหรัฐด้วยคำพูดเพียงคำเดียวว่า “ไม่ต้องพัฒนา” อันนี้คงเป็นการเดินทางสวนกระแสที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง

ยังจำความคิดปฏิวัติอย่างถอนรากของ ไอวาน อิลลิช ได้ เขาบอกว่าศาสนาจักรของโรมันคาทอลิค ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นเครื่องมือในการปกครอง ที่พระใช้ปกครองคนสามัญ คือเรื่องของแคร์ (care) หรือการดูแล ก่อนจะดูแลก็จะต้องทำให้พร่องก่อน หรือทำให้รู้สึกว่าตัวของพวกเขาไม่มีก่อน พระจึงเข้าไปดูแลคนธรรมดาได้ ซึ่งก็คือการทำให้คนเป็นคนที่ยังไม่พัฒนา

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทุนนิยมโลกนำโดยสหรัฐได้ใช้คำว่า “พัฒนา” เพื่อสร้างจักรวรรดิใหม่ อันยิ่งใหญ่เกรียงไกรยิ่งกว่าเดิม โดยเข้าไปดูแลบรรดาผู้คนในโลกที่ยังไม่พัฒนาทั้งหลาย

ในการพัฒนามิติของจิตวิญญาณก็เช่นเดียวกัน กระบวนทัศน์เดิมก็จะต้องมีศาสดาไปพัฒนาศาสนิกชนทั้งหลาย หรือว่าแท้ที่จริง มนุษย์แต่ละคนมีพุทธะอยู่ในตัวแล้ว แทนที่จะต้องไปพัฒนา เราอาจจะหาทางให้มนุษย์ได้ค้นพบศักยภาพของพวกเขากันเอง กลับไปหาตัวตนที่เยาว์วัย หรือเจ้าตัวเล็ก เพื่อหาหนทางของแต่ละคนด้วยตนเอง

เมล็ดพันธุ์แห่งการปลดปล่อยมีอยู่ในแต่ละคนแล้ว เราเพียงเปิดพื้นที่ให้พวกเราได้กลับไปพานพบเจ้าตัวเล็กอีกครั้งหนึ่ง และให้เราได้บ่มเพาะดูแลเจ้าตัวเล็กด้วยตัวของตัวเอง ร่วมกันไปกับเพื่อนๆ อย่างเป็นหมู่คณะ ธรรมชาติภายในของเราก็จะเผยออก คลี่บานออกเอง อันเป็นหนทางแห่งองค์กรจัดการตัวเอง ทั้งที่เป็นปัจเจกและหมู่คณะ ที่จะดำเนินไปในเส้นทางที่ไม่ต้องพัฒนานั้น

ก็รู้กันอยู่!!



โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548

พวกเราล้วนมีทางเลือก
เราอาจเลือกที่จะอยู่บ้านบนดาวโลกดวงนี้
เรียนรู้กฎเกณฑ์กติกา ซึ้งซาบความเปราะบางและความงามแห่งโลก
แบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ยกับมนุษย์และสรรพสัตว์อื่น
เราไม่จำเป็นต้องเลือกทำเช่นนั้นก็ได้ แต่เราคงไม่อาจกล่าวว่า

“ถ้าพวกเราได้รู้ก่อน”

เรารู้กันแล้ว

แซลลี แม็คฟากิว



ในเชิงจิตวิทยานั้น หากคนคนหนึ่งไม่ยอมรับว่าพวกเขามีปัญหา หรือไม่ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ อาการนี้เรียกได้ว่าเข้าข่าย “ปฏิเสธ” อาทิเช่น คนติดเหล้าหรือคนติดยาจะปฏิเสธทันทีที่มีคนบอกว่าพวกเขามีปัญหา บางครั้ง พวกฆาตกรก็ปฏิเสธว่าตนเองได้ก่ออาชญากรรม พวกเราย่อมนึกถึงตัวอย่างทำนองนี้ได้อีกมาก สิ่งที่ยอมรับได้ยากยิ่งกว่าก็คือ ในบางครั้ง พวกเราส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธด้วยอาการทำนองนี้

ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ประชาชนมักจะถูกถามว่า ปัญหาสำคัญลำดับแรกที่อยากจะให้ท่านผู้ว่าราชการกทม. แก้ไข คืออะไร คำตอบก็เป็นอย่างเดิม ๆ – ปัญหาจราจร แล้วถ้าคุณซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่อยู่ในภาวะปฏิเสธ หนทางในการแก้ไขปัญหาย่อมหมายถึง การเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่างน้อยก็สองสามวันในแต่ละสัปดาห์ล่ะ การหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน การย้ายสำนักงานออกไปนอกเมือง การย้ายผู้คนออกไปจากตัวเมือง ไม่ใช่ฉัน! ไม่ใช่ครอบครัวฉัน! ก็รู้กันอยู่!

ปริมาณน้ำมันและแกสโซลีนที่เหลืออยู่ในโลกปัจจุบันนี้มีอยู่ค่อนข้างจำกัด และกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการใช้น้ำมันและแกสโซลีนกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเหตุนี้เอง ราคาน้ำมันและแกสโซลีนจึงสูงขึ้นและจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ราคาแกสโซลีนในประเทศไทยก็ย่อมไม่ลดลง แล้วรัฐบาลของคุณ หรือรัฐบาลของที่อื่นๆ ในโลก ได้เตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้กันอย่างไร? คุณทำอะไรล่ะ? กำลังปฏิเสธหรือเปล่า? ก็รู้กันอยู่!

ดาวโลกดวงนี้มีมนุษย์อยู่ล้นเกินกว่าจะรักษาภาวะความยั่งยืนไว้ได้ พวกเราต่างทำร้ายสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งยังช่วยแพร่กระจายเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่ที่บ่อนทำลายภูมิคุ้มกันโรคในตัว – ทั้งเอดส์เอย ซาร์สเอย ไข้หวัดนกเอย โรคดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดเอย ฯลฯ “หากมีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าโลกจะเจริญสักแค่ไหน ก็ย่อมจบเห่ ผมรู้ว่าภาวะนั้นกำลังจะมาเยือน” ดร. กวน ยี ผู้ชำนาญการด้านไวรัส แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้แสดงความเห็นไว้ขณะที่ไข้หวัดนกกำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง (นิตยสาร ไทม์ ฉบับประจำวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๕) พวกเราเตรียมตัวพร้อมหรือยัง?หรือว่ายังคงปฏิเสธ? ก็รู้กันอยู่!

บัดนี้ สหรัฐอเมริกากำลังประสบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากพายุเฮอริเคนแคทรินา และในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ เฮอริเคนอีกลูก (ริตา) ก็กำลังเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่เดียวกัน นำความทุกข์เดือดร้อนสู่ผู้คนนับล้าน ขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลอเมริกาก็ยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนกับพายุโซนร้อน อย่าเพิ่งยิ้ม! ที่เชียงใหม่นี่ ที่ที่ผมอาศัยอยู่นี่ ปีนี้เกิดน้ำท่วมสองหนแล้ว ผู้คนก็ยังคงตัดไม้ทำลายป่า สร้างเมืองคอนกรีต รถยนต์ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ คุณกับรัฐบาลทำอะไรกันบ้างเพื่อลดมลพิษทางอากาศและปกป้องภาวะโลกร้อน? ไม่เลย! ไม่มีอะไรเลย! ไม่ใช่เรื่องของคุณ – คอยดูต่อไปก็แล้วกัน ปฏิเสธหรือเปล่า? แน่ล่ะ ก็รู้กันอยู่!

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มที่คุณกับผม

“ท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรด้วยการต่อสู้หักหาญกับสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน ในการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง จำต้องสร้างสิ่งใหม่ที่ทำให้สิ่งเดิมจางหายไป”
อาร์ บัคมินิสเตอร์ ฟุลเลอร์


เราจะทำได้อย่างไร?
ก็เริ่มกันเลยไง!

“มนุษยชาติเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ที่พวกเราเรียกว่า “จักรวาล” ส่วนเสี้ยวนั้นถูกจำกัดด้วยกาลและอวกาศ เรารับรู้ตัวตน ความคิดและความรู้สึก เป็นดังบางสิ่งบางอย่างแยกตัวออกจากส่วนที่เหลือ – ซึ่งก็คือมายาการหนึ่งของจิตสำนึกนั่นเอง มายาการนี้เป็นดังที่คุมขังซึ่งขีดวงจำกัดเราไว้แต่เพียงความต้องการส่วนตัวและความพึงใจของผู้คนรอบข้างเพียงสองสามคน หน้าที่ของเราคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการนี้ ด้วยการขยายขอบเขตแห่งความกรุณาให้ครอบคลุมไปถึงสรรพชีวิตทั้งปวง ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์


สำหรับผม – ฝรั่งคนหนึ่ง – ถ้อยคำเหล่านี้คล้ายคลึงกับสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้เมื่อ ๒๕๐๐ ปีที่แล้ว ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน มีสักกี่คนที่ปฏิบัติเมตตาภาวนาเพื่อ “สรรพชีวิตทั้งปวง ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ” จะปฏิเสธหรือไม่ล่ะ? ก็รู้กันอยู่!

เรือเปล่า

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548

จางจื๊อเป็นปราชญ์จีนโบราณซึ่งมักนำเสนอปรัชญาที่ลึกซึ้งโดยอาศัยเรื่องเล่าที่ง่ายๆ เรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงคือเรื่อง “เรือเปล่า” จางจื๊อเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ชายคนหนึ่งกรรเชียงเรืออยู่ในแม่น้ำ ถ้าหากมีเรือเปล่าลำหนึ่งมาชนเข้า แม้เจ้าของเรือกรรเชียงจะเป็นคนเจ้าโทสะ เขาก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนอยู่ในเรือนั้น เขาคงต้องตะโกนบอกให้พายเรือหนีไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ได้ยิน ก็ต้องตะโกนดังขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น แต่อากัปกิริยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีคนอยู่ในเรือลำนั้น ดังนั้นจางจื๊อจึงแนะให้เราทำเรือของเราให้ว่างเปล่า หรือทำตนเป็น “เรือเปล่า” เพื่อจะได้ข้าม “แม่น้ำ” อย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครมาขัดขวางหรือกระทบกระทั่งด้วย

มองอย่างพุทธ “เรือเปล่า” ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี “ตัวตน” ออกไปรับคำด่า ใช่หรือไม่ว่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู”เมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่านั้นมาเป็น “ของกู” เกิดความสำคัญมั่นหมายว่า “ตัวกู” ถูกด่า หรือมี “ตัวกู”เป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก

ตัวตนหรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะถูกต่อว่าเท่านั้น หากยังทุกข์เมื่อประสบกับความสูญเสียพลัดพราก เพราะไปสำคัญผิดว่าสิ่งที่สูญเสียไปหรือบุคคลที่พลัดพรากไปนั้นล้วนเป็น “ของกู” แม้แต่เวลาเจ็บปวดทางกาย ก็ยังทุกข์ไปถึงใจเพราะไปสำคัญมั่นหมายว่า “กูเจ็บ” ท่านอาจารย์พุทธทาสเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ว่า เมื่อมีดบาดนิ้ว ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่า “มีดบาดฉัน” เมื่อไร จะเจ็บยิ่งกว่าเวลารู้สึกว่า “มีดบาดนิ้ว” เสียอีก

ทั้งๆ ที่สมัยนี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุมายมาย แต่เหตุใดผู้คนจึงทุกข์กันง่ายและทุกข์กันมากเหลือเกิน คำตอบก็คือเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ แถมยังเน้นตัวตนกันมากขึ้น จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอย่างสูง อะไรก็ตามที่ปรนเปรอ พะเน้าพะนอ หรือตอบสนองความต้องการของตัวตน เป็นต้องทำหรือหามาให้ได้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการไม่รู้จักหยุดหย่อน ผลคือเกิดความเร่าร้อน เครียด กระสับกระส่าย และเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับผู้คนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่คนใกล้ตัว ความขัดแย้งนี้บ่อยครั้งก็ลุกลามเป็นการประหัตประหารระหว่างกลุ่มชน เพราะการแบ่งเขาแบ่งเรา ใครก็ตามที่ไม่ใช่ “พวกกู” ก็ถือเป็นศัตรูไปหมด

ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองของจิต (ซึ่งตัวมันเองก็ไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน) เมื่อปรุงแต่งแล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้าไปอีก (เหมือนคนที่คิดเอาเองว่าแฟนนอกใจแล้วก็ยึดมั่นกับความคิดความเชื่อนั้นจนไม่ยอมเปิดใจรับความจริง) แต่ไม่ว่าจะยึดมั่นตัวตนอย่างไร มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ อาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ ความเป็น “ฉัน” นั้นแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อประสบความสำเร็จก็สำคัญว่า “ฉันเป็นคนเก่ง” แต่เมื่อล้มเหลวก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่ง” บางคนรู้สึกว่า “ตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร” แต่พอโดนโรคร้ายเกาะกินติดต่อกันหลายปี ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ป่วยใกล้ตาย” ก็เข้ามาแทนที่ อันที่จริงในวันหนึ่งๆ ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้นับสิบๆ อย่าง เช่นเป็นพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูก เป็นอาจารย์เมื่อพบหน้าศิษย์ และเป็นลูกน้องเมื่อไปหาเจ้านาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความเป็นฉันนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง หาได้มีจริงไม่

อะไรก็ตามที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมชวนให้เราฉุกคิดสงสัยในความมีอยู่ของมัน ตัวตนก็เช่นกัน ความเกิดดับและแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของ “ตัวกู” หรือความเป็นฉัน ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจเราย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวตนมีจริงหรือ ความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีอยู่จริงนั้นคอยรบกวนจิตใจของเราเป็นครั้งคราว แต่คนเรานั้นยากที่จะยอมรับได้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง กล่าวได้ว่าเป็นสัญชาตญาณของคนเราที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่ยึดมั่น ดังนั้นจึงพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ลึกลงไปถึงจิตไร้สำนึก แต่ไม่มีอะไรที่เราสามารถกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกได้ตลอด ความลังเลสงสัยดังกล่าวก็เช่นกัน มันไม่ได้หายไปไหน แต่ผุดออกมาสู่จิตสำนึกโดยแสดงตัวในรูปลักษณ์อื่น เช่น ความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่าย ไม่เป็นสุข หรือความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าพิกล อาการเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่ลึกๆ แต่หาไม่พบว่าคืออะไร

เป็นเพราะเกิดอาการดังกล่าว คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามแสวงหาวัตถุมาครอบครองให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อปรนเปรอตัวตนเท่านั้น จุดหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือเพื่อถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็น “ตัวกู ของกู” หรือเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตัวตน อะไรที่เป็นวัตถุรูปธรรม จิตก็อยากเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตน และเพื่อความมั่นคงของจิตใจ

พฤติกรรมอีกประเภทที่แสดงออกมาก็คือการเข้าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง อาทิ ชุมชน แก๊ง ตลอดจนชาติ (หรือแม้แต่บริษัท) การไปผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อถือเอาเป็นตัวกูของกูและเพื่อสร้างความมั่นคงของตัวตนเช่นกัน ยิ่งยึดถือมากเท่าไรก็ยิ่งมั่นใจในความมีอยู่ของตัวตน ทำให้ชีวิตไม่รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป

อันที่จริงแม้กระทั่งการดิ้นรนอยากมีชื่อเสียงหรือ “อยากดัง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนยุคปัจจุบัน ก็อธิบายได้ด้วยสาเหตุเดียวกัน การที่ผู้คนอยากให้ตนเองเป็นที่รู้จัก ลึกลงไปแล้วก็เพื่อยืนยันว่าตัวฉันมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีคนรู้จัก ก็เท่ากับเป็น “nobody” คือนอกจากชีวิตจะไม่มีความหมายแล้ว ยังหมายถึงการไม่มีตัวตนในสังคม ลึกไปกว่านั้นยังตอกย้ำความสงสัยในความไม่มีตัวตนให้หนักขึ้น

แต่ไม่ว่าจะครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด มีกลุ่มก้อนสังกัดยิ่งใหญ่หรือรักชาติแค่ไหน มีชื่อเสียงขจรขจายอย่างไร ก็ไม่สามารถขจัดความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่ายในส่วนลึกไปได้ ความรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าก็ยังจะมารบกวนอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรเราก็ไม่สามารถมีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่ได้

ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรือมั่นคงให้ได้ แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเสียแต่แรกว่าตัวตนนั้นหามีอยู่จริงไม่ รวมทั้งขจัดความกลัวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การยอมรับดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดเอง แต่เกิดจากการประจักษ์ถึงมายาภาพของตัวตน เห็นถึงอาการของจิตที่ปรุงแต่งความเป็นตัวฉันขึ้นมา รวมทั้งตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าทำให้เป็นทุกข์เพียงใด

การมีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าวอย่างถึงที่สุดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน แต่เราก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ในชีวิตประจำวัน เริ่มจากการสังเกตถึงความเป็นตัวฉันที่ผันแปรตลอดเวลา และอาการ “ตัวกู” ที่ชอบแล่นออกมารับคำตำหนิหรือสิ่งไม่พึงปรารถนาที่มากระทบ มองให้เห็นถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา และเปลี่ยนมาใช้สติและปัญญาออกรับสิ่งกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่สนใจว่า “ตัวกู” จะได้รับการปรนเปรอหรือถูกกระทบ จำคำของซุนวูได้หรือไม่ที่ว่า “บุกต้องมิหวังคำยกย่อง ถอยต้องมิกลัวอับอาย” จะรุกหรือถอยก็เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือ “ความถูกต้อง” เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพราะเอาตัวตนหรือ “ความถูกใจ” เป็นใหญ่

ด้วยวิธีนี้แหละ เราจึงจะค่อยๆ กลายเป็น “เรือเปล่า” ที่ข้ามฝั่งได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย

ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม
ความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2548

คำหลักๆ ที่ขึ้นต้นเป็นชื่อของบทความนี้มีความหมายที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จนในหลายๆ กรณีมีบางคนเอาไปใช้ในความหมายเดียวกัน บางคนใช้เป็นเหตุผลในการสนับสนุนหรือการปกป้องการกระทำของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็โจมตีผู้อื่นที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม

เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในสื่อหลากชนิด โดยเฉพาะจากนักการเมือง และแม้กระทั่งจากเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิดบางคน

หรือโลกยุคปัจจุบันและโลกในอนาคตอันใกล้ กำลังลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม ความยุติธรรม ความชอบธรรม เหลือแค่เพียงความถูก-ผิดทางกฎหมาย และโดยเฉพาะความถูก-ผิดตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานของตนเอง จึงเกิดการโต้แย้งโต้เถียง ปกป้องและกล่าวหาผู้อื่นในทำนองว่าตนเองทำถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่ตนสังกัด ทำถูกต้องตามหน้าที่ของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ส่วนคนอื่นที่ประท้วงหรือต่อต้าน เป็นฝ่ายผิด ไม่รู้เรื่องหรือแม้กระทั่งหาเรื่อง ในทางกลับกันอีกฝ่ายก็โจมตีอีกฝ่ายว่าผิด และบอกว่าตนเองถูก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีตำแหน่งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณ คุณวิสุทธิ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เช่นประธานวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการสตง. และอีกหลายๆ คน ไม่มีใครบอกว่าตัวเองทำผิด มีแต่บอกว่าทำถูกต้องตามขั้นตอน ตามกฎหมาย ตามกฎ ระเบียบข้อบังคับ

ข้อสังเกตและข้อควรพิจารณาก็คือ ถ้าทุกคนทำถูกต้อง ทุกหน่วยงานทำถูกต้อง แล้วทำไมจึงยังมีปัญหาอยู่ และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าไม่ควรทำให้เรื่องนี้กระทบกระเทือน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

บนความสับสนวุ่นวายของปัญหานี้ ที่เหลือไว้คือความทุกข์และความเจ็บปวดทางความรู้สึกของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์กับคู่กรณี ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมทางกฎหมาย ที่เหลือไว้คือความทุกข์ความเจ็บปวดที่ต้องไปต่อสู้กันในศาล เพื่อพิสูจน์ความถูก-ผิดทางกฎหมาย

ความดี ความงาม ความมีคุณธรรมจริยธรรม และสุนทรียธรรมในชีวิตและสรรพสิ่งหายไปไหนหมด คู่กรณีไม่สามารถจะมีสุนทรียสนทนากันได้ ต้องจ้างนักกฎหมายให้ว่าและหาความแทนตนเอง กลายเป็นสงครามตัวแทน

กรณีการซื้อหุ้นมติชน ผู้ซื้อก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมเพราะทำถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. ฝ่ายผู้ถูกซื้อก็อ้างสิทธิและความชอบธรรมในการต่อต้าน และต่อสู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายมีความชอบธรรมและต่อสู้กันอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย ที่เหลือไว้คือความทุกข์และความเจ็บปวดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรณีของคุณประมวล รุจนเสรี กับสมาชิกพรรคไทยรักไทยจำนวนหนึ่ง ที่ต่างก็อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อ้างความชอบธรรม และบางคนอ้างมารยาท ฝ่ายหนึ่งอยากให้ถูกไล่ออกจากพรรคอีกฝ่ายหนึ่งก็อยากไล่ให้ออกจากพรรค แต่จนถึงปัจจุบันคุณประมวลก็ยังคงสถานภาพเหมือนเดิมตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนสถานภาพทางสังคมและการยอมรับจากพรรคไทยรักไทย ที่เหลือไว้คือความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน และรอวันเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎระเบียบข้อบังคับของพรรค

ความเป็นเพื่อนร่วมพรรค ความรักความเมตตาที่เคยมีให้แก่กันและกัน มันหายไปไหนหมด ทำไมจึงเอาความเคียดแค้น ชิงชัง มาแทนที่ความเป็นกัลยาณมิตร

กรณีกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมือง ผู้ผลักดันก็บอกว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความชอบธรรม แต่ผู้คัดค้านก็บอกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมและไม่ยุติธรรมกับข้าราชการประเภทอื่น

ตกลงความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมจริงหรือไม่ ความถูกต้องตามกฎหมาย สร้างให้สังคมเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมจริยธรรมหรือไม่ ทั้งที่ในหลักการแล้วกฎหมายที่ดีก็ควรนำไปสู่ความยุติธรรมและความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ไม่ควรแยกหรือแปลกแยกออกจากกัน

เนติกรที่ดีก็ควรมีจิตวิญญาณและจิตสำนึกของการเป็นเนติบริกรที่ตั้งอยู่บนความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรมและความมีคุณธรรมจริยธรรมประจำใจ ไม่ใช่การพยายามจะจับผิดหรือเอาชนะคู่กรณีในแง่ของการเล่นแร่แปรธาตุในทางกฎหมาย เพียงเพื่อชื่อเสียงและความสมประโยชน์ของฝ่ายตน เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายก็จะเหลือแต่ความถูก-ผิดตามตัวอักษรและความเชี่ยวชาญในการบิดเบือนกฎหมายของเนติกรที่ขาดจิตวิญญาณของการเป็นนักกฎหมายที่ดี เพราะขาดความถูกต้องชอบธรรม ขาดความยุติธรรมในแง่ของคุณธรรมจริยธรรมและสุนทรียธรรมในจิตใจ

กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็เช่นกัน ต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องของความถูก-ผิดทางกฎหมาย หรือเป็นเรื่องของความชอบธรรม ความยุติธรรม หรือเป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม หรือจริงๆ แล้วมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปหมด ถ้าคำตอบคือเรื่องถูก-ผิดทางกฎหมาย ก็มีแนวโน้มว่าจะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ถ้าเป็นเรื่องของความชอบธรรมความยุติธรรม ก็ควรใช้และให้ความชอบธรรมและความยุติธรรม ถ้าเป็นเรื่องของความคุณธรรมจริยธรรม ก็ควรมาเน้นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ถ้ามองว่ามันสัมพันธ์กันไปหมด ก็ควรจัดการแบบองค์รวมที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยง และจึงต้องระดมหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยกัน

ผู้บริหารและผู้นำของโลก ของประเทศ และขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรทางธุรกิจและการเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เชื่อ คิด และทำ ภายใต้ภาวะถูกมนต์สะกดของ "กลไกตลาด" ที่ดูเหมือนเป็นคำที่ขลังและยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นคำที่ผู้บริหาร นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ในกระแสต่างก็ใช้คำนี้เป็นคำอธิบาย และบางครั้งก็ใช้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จนบ่อยครั้ง ขาดสติ ขาดปัญญา ที่จะมองเห็นว่า "กลไกตลาด" นั้นมันผุดโผล่มาจาก "การค้าเสรี" ภายใต้การสะกดจิตของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่เน้นการแข่งขันมากกว่าการแบ่งปัน เน้นความโปร่งใสในความหมายแคบๆ แค่ทำตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ และตรวจสอบความถูก-ผิด ตามกฎกติกาได้ โดยทำให้หลงเชื่อ โน้มน้าวและ/หรือบีบบังคับด้วยหลากวิธีเพื่อจะได้นำโลกไปสู่ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ตามกฎกติกาและมาตรฐานที่ตนวางไว้

เรากำลังอยู่ภายใต้สงครามล้างเผ่าพันธุ์ทางความคิด ทางวัฒนธรรม และดูเหมือนว่าเรากำลังจะพ่ายแพ้ เพราะหลายภาคส่วนในสังคมของเรามีวิสัยทัศน์ มีพันธกิจ มียุทธศาสตร์และการปฏิบัติในแนวทางของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมแบบเกินร้อย และเชื่อว่าเราสามารถจะเป็นที่หนึ่งได้

เรากำลังถูกทำให้เหมือนกันทั่วโลก ภายใต้ "มาตรฐาน" เดียวกัน และดูเหมือนว่าเรากำลังถูกสะกดจิตหมู่ให้ก้าวเดินไปทางนั้น

นี่เรากำลังถูกสะกดจิตอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะดูเหมือนเราหลงและไหลไปตามกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

เพื่อช่วยสร้างความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรมจริยธรรม และสุนทรียธรรมในสังคมไทยและสังคมโลกให้มีเพิ่มมากขึ้น สมควรที่จะได้มีการนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญาพอเพียง โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวของไทยมาใช้อย่างจริงจัง

จิตวิญญาณนั้นมีค่า อย่าคิดขาย

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2548

หลังบ้านของยายมีหนองน้ำกว้าง ยายลงหลักปักผักบุ้งไว้แปลงใหญ่ ทั้งเอาใจใส่ดูแลจนมันงามทอดยอดอวบสะพรั่ง

ทุกเช้ายายพายเรือเล็กออกไปเก็บผักบุ้ง ยายเด็ดทุกยอดอย่างมีความสุข มันคือน้ำพักน้ำแรงของยาย ยายเรียงยอดผักค่อย ๆ มัดเป็นกำไม่ให้ช้ำ เมื่อนำผักบุ้งไปขายทั้งหมด มันก็ต่อชีวิตของยาย

โรงเรียนปิดเทอม หลานวัยรุ่น ๓ – ๔ คน มาอยู่กับยาย ทุกเช้าเขาพากันพายเรือไปเก็บผักบุ้ง ดึงทึ้งทั้งก้านแก่และยอดอ่อนอย่างสนุก พอได้เต็มลำเรือก็ขยุ้มมัดลวก ๆ เอาไปกองขายไม่ได้ราคา กอผักบุ้งในหนองน้ำก็เหี่ยวเฉา เงินที่ได้ก็ไม่ถึงมือยาย

ความสุขของยายได้หายไปแล้ว หลานเห็นผักบุ้งเป็นของเล่น แต่สำหรับยาย ผักบุ้งเป็นยิ่งกว่าผัก มันเป็นจิตวิญญาณของยาย

สล่าคำแกะสลักไม้เนื้ออ่อนเป็นรูปสัตว์นานาชนิด สัตว์แต่ละตัวมีสีหน้าท่าทางน่ารักน่าชังเหมือนมีชีวิต สล่าคำเหลาเกลากลึงเต็มฝีมือ ทำเพราะรัก เพลิดเพลินในงาน และใส่จิตวิญญาณลงไป เขาทำงานไปตามกำลังที่มี ผลงานผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด มีเงินพอใช้ สล่าคำก็มีความสุขพอสมควร

พ่อค้ามาซื้องานของสล่าคำไปทำต้นแบบ แล้วก็ทำพิมพ์หล่อออกมาด้วยวัสดุอื่น ผลิตจากโรงงานเป็นร้อยเป็นพัน เขาแบ่งกำไรส่วนน้อยให้สล่าคำ เงินส่วนใหญ่เป็นของพ่อค้านายทุน ตุ๊กตาสัตว์เหล่านั้น เป็นตุ๊กตาโหล ไร้จิตวิญญาณ ขาดลักษณะเฉพาะตัว สล่าคำมีเงินมากขึ้น แต่ความสุข ความอิ่มเอิบใจได้หายไปเสียแล้ว

สาวใหญ่เป็นช่างเสริมสวย เธอเบื่อและเซ็งในงานที่ทำจำเจ ทุกวันทำงานซ้ำ ๆ ยืนสระผม เป่า เซ็ทผม กวาดพื้น ซักผ้าขนหนู งานอะไรไม่สร้างสรรค์เลย เธอแต่งผมคนแล้วคนเล่า เหมือนลูกค้าเป็นหุ่น ตัวเธอเองก็ทำงานเหมือนหุ่นเช่นกัน บรรยากาศในร้านดูทึม ๆ และซึม ๆ ร้านเสริมสวยร้านนี้ไม่น่าเข้า ดูไม่มีชีวิตชีวา

จิตวิญญาณของงานบริการคือความยิ้มแย้มแจ่มใส เต็มใจและมีความสุขที่ได้พบผู้มาใช้บริการ สร้างสัมพันธภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมสะอาดและบรรยากาศรื่นรมย์สบายใจ

ครูสังคมสอนนักเรียนให้วาดรูปอย่างมีความสุข นักเรียนได้ฟังเพลง ฝึกคิดจินตนาการ สังเกตสิ่งแวดล้อมและหัดใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง นักเรียนวาดรูปอย่างรื่นรมย์ ผลงานมีสีสัน ชั้นเรียนมีชีวิตชีวา ครูสังคมมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

หมู่บ้านเศรษฐีราคาบ้านหลังละสามสิบล้าน ทุกบ้านก่อกำแพงสูง ต่างคนต่างอยู่ บ้านติดกันแต่ไม่รู้จักกัน บ้านหนึ่งเลี้ยงสุนัขเป็นฝูง เพื่อนบ้านเขียนจดหมายไปใส่ตู้รับหนังสือพิมพ์ว่ารำคาญเสียงสุนัขเห่ามาก ถ้าไม่ห้ามสุนัขเห่า เขาจะฟ้องเจ้าหน้าที่เขตให้มาจับสุนัขไป

หมู่บ้านนี้เหมือนหมู่บ้านร้าง เงียบเหงา เห็นแต่ยามหน้าตาถมึงทึง ขี่จักรยานตรวจตราอยู่นาน ๆ ครั้ง หมู่บ้านเศรษฐีนี้มีราคา แต่ไม่มีจิตวิญญาณของชุมชน

มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมีบริเวณกว้างใหญ่ อาคารสูง สนามกีฬาในร่ม สระน้ำ หอสมุด ฯลฯ พร้อมบริบูรณ์ คณาจารย์มีหน้าที่สอน นักศึกษามีหน้าที่เรียนแล้วสอบให้ได้ ทุกเวลาว่างจะจับกลุ่มอยู่ตามโต๊ะ นักศึกษาแต่งเครื่องแบบที่ไม่ใช่เครื่องแบบ ไม่ใฝ่รู้ ไม่ใฝ่แสวงหาความรู้ คณาจารย์ไม่มีงานวิชาการไม่วิจัย ไม่สนใจที่จะช่วยสร้างสรรค์สถาบันสู่ความเป็นเลิศ ถ้าคณบดีมอบหมายภารกิจ เขาจะถามว่าได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ แทนที่จะถามว่าเราจะช่วยกันทำงานให้ดีได้อย่างไร

มหาวิทยาลัยนั้นเป็นองค์กรที่ขาดจิตวิญญาณ เป็นองค์กรที่มีอาการป่วย ต้องการสร้างเสริมสุขภาวะของหน่วยงาน

จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยบรรยากาศทางวิชาการ กิจกรรมการเรียนการสอนที่ทั้งครูและศิษย์ค้นคว้า เรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา จัดการความรู้และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ฝึกการใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา และมีกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมรวมถึงคุณค่าของบัณฑิตที่มีคุณภาพ

จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย คือการที่สถาบันมีความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้สภาวะแวดล้อม ปัญหาของสังคม และได้ฝึกจิตอาสาสมัคร ในการร่วมพัฒนาชีวิตชาวบ้าน

มหาวิทยาลัย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ประชาคม ชุมชน ต่างก็ทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีจิตวิญญาณรวมกัน

กลับมาเรื่องหุ่นอีกครั้ง เมื่อเราได้ดูโขน และหุ่นกระบอก แม้ว่าคนจะสวมหัวโขน หุ่นจะถูกเชิดถูกชัก แต่สีหน้าท่าทางของหุ่นทุกอิริยาบถเคลื่อนไหวตามบทพากย์และเสียงดนตรี คนเชิดหุ่นเขาฝึกซ้อมจนเชี่ยวชาญ ฝึกฝน พัฒนา ทุ่มเทชีวิตจิตใจลงไปกับการเชิดจนบรรสานสอดคล้องกันระหว่างคนกับหุ่นเป็นหนึ่งเดียว หุ่นจึงไม่เป็นเพียงหุ่น มันมีบทบาท มีจิตวิญญาณ

ต่างจากคนแท้ ๆ คนเป็น ๆ ผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่คิด ไม่ตระหนักในบทบาทภารกิจของตน เพียงมีเหยื่อหรืออามิสสินจ้างมาหลอกล่อ เขาก็ยอมเป็นร่างทรงให้มีคนเชิดอยู่ข้างหลัง คนประเภทนี้มีชีวิตแต่เหมือนหุ่น เขาขาดจิตวิญญาณที่สร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง

ในวงการศึกษาและการเมืองมีข้อเสนอที่ซ้ำซากว่าประเทศของเราต้องมีกระบวนการปลูกฝังจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่จะมีความหมายอะไรถ้าการบริหารบ้านเมืองและเนื้อหาในหลักสูตรการศึกษาเป็นเพียงบอกนิยามความหมายของประชาธิปไตยเท่านั้น วิถีการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอน บรรยากาศการบริหารการศึกษา มิได้เอื้อต่อสิทธิและโอกาสของคนต่างสถานะที่จะสามารถพัฒนาตนไปจนเต็มตามศักยภาพของเขา บรรยากาศทางการเมืองยังขาดสามัคคีธรรม นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถเป็นผู้นำทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ ยังคงมีบรรยากาศของความหวาดระแวงและกลวิธีที่ไม่โปร่งใส มีการยอมสยบต่ออิทธิพลและอำนาจ การปฏิรูปการศึกษาและทางการปฏิรูปการเมืองจึงเห็นผลน้อย เพราะยึดติดอยู่กับเนื้อหาแต่ไม่ลงลึกถึงกระบวนการและเสนอแบบอย่างที่ชัดเจน

รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งได้ส่งคนไปถามกลุ่มวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร ว่ารู้ความสำคัญของวันที่ ๑๔ ตุลาคม หรือไม่ ผลคือผู้ตอบเกือบทั้งหมดมีสีหน้างงงวย มีคำตอบที่น่าขัน เช่น ๑๔ ตุลาคม หมายถึงวันที่ ๑๐ + ๔ เป็นต้น

จิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กำลังจะจางหายไป ใครบ้างในบ้านเมืองนี้รู้สึกเดือดร้อน

กรณีตัวอย่างที่ยกมาดังกล่าว ช่วยให้พอจะอนุมานได้อย่างกว้าง ๆ ว่า จิตวิญญาณนั้นประกอบด้วยจิตใจ ความรัก ความผูกพัน ความตระหนักและสำนึกในคุณค่า หน้าที่ ความสุขสงบ พอเพียง มีชีวิตชีวา ไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สภาวะของจิตใจเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน อบรมตนอย่างต่อเนื่องยาวนาน

จิตวิญญาณไม่ใช่วิญญาณและไม่ใช่ภูตผีปีศาจ หากแต่เป็นสภาวะของจิตที่ได้ฝึกดีแล้ว มีความประณีต เปี่ยมด้วยความใส่ใจ เข้าใจและร่วมใจกัน เป็นนามธรรมภายในที่สามารถแสดงออกมาทางอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และการปฏิบัติภารกิจ ขยายความให้กว้างขึ้นอีก จิตวิญญาณก็เป็นต้นธารของความเมตตากรุณา สุนทรียภาพและความสงบสุขทั้งในส่วนตนและสังคม

แม้ว่าจะพยายามอธิบายเรื่องจิตวิญญาณตามนัยของภาษาและถ้อยคำ แต่จิตมนุษย์นี้ยากที่จะนิยามได้ครอบคลุมครบถ้วน สภาวะมันมีปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มาแปรผันให้จิตวิญญาณของคนและสภาวะของกลุ่มต้องตกต่ำหรือสลายลง

ด้วยเหตุนี้การเสริมสร้างสุขภาพของคนและสังคมจึงต้องคำนึงถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ภารกิจหนึ่งคือการฝึกฝนและพัฒนาจิตให้ลดความเห็นแก่ตัว รักเพื่อนมนุษย์ และลดความขัดแย้งด้วยปัญญา

สติสัมปชัญญะ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ควบคุมมิให้จิตใจคับแคบและตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นจนเป็นอิสระ ก้าวพ้นจากความอยากที่ไร้ขอบเขตและความหวาดกลัว

งานของกลุ่มจิตวิวัฒน์ จึงแสดงความพยายามที่จะเน้นภารกิจในการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ใฝ่ฝันที่จะสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของคนทุกรุ่น ทุกองค์กร เพื่อถักทอความรักและความดีงามให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา

มนุษย์ทุกคน กลุ่มชนทุกกลุ่มมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ซึ่งรวมกันเป็นจิตวิญญาณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงน่าอัปยศอย่างยิ่งถ้ายอมขายจิตวิญญาณที่สร้างสะสมมายาวนาน

ตัวอย่างในสังคมก็เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ มิใช่หรือ

จิต (ที่) อิสระ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 15 ตุลาคม 2548

ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้เคยอธิบายอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับ “จิตวิวัฒน์” ว่าคือจิตที่ใหญ่ จิตที่ไม่คับแคบ และอาจารย์เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า “ชีวิตที่มีอิสรภาพหลุดออกไปจากโครงสร้างต่างๆ ที่กดทับเรามากแค่ไหนก็จะยิ่งพบกับความสุขมากเท่านั้นและสามารถเป็นความสุขแบบฉับพลัน (Instant Happiness) ได้อีกด้วย”

ตามความเข้าใจของผม “ความหมายหนึ่ง” ของ “จิตวิวัฒน์” จึงน่าจะหมายถึงการมี “จิตที่เป็นอิสระ” เพื่อชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น

ผมคิดว่าคำอธิบายเรื่อง “จิตวิวัฒน์” เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ง่ายนักเพราะเป็นเรื่องของการมองโลกแบบคนละใบ อ.จุมพล พูลภัทรชีวิน ก็ได้พยายามอธิบายความหมายบางอย่างไปบ้างแล้วในบทความชิ้นก่อนๆ ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งผมได้เลือกที่จะลองทำหน้าที่นี้ดู ผมอยากจะลองอธิบายความหมายหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ว่าอาจจะหมายถึง “จิตที่อิสระ” ดูว่าอาจจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นได้บ้างและผมก็ขอปวารณาตัวว่าที่เลือกทำหน้าที่นี้ในบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาอวดดีหรืออวดรู้ว่าผมหรือกลุ่มจิตวิวัฒน์จะมี “จิตที่อิสระ” มากกว่าคนอื่นๆ หรืออะไรทำนองนั้นแต่เพียงอยากจะลองนำเสนอความคิดเห็นบางมุมเพื่ออธิบายถึงแนวทางที่พวกเรากำลังพยายามกระทำและยังต้องเรียนรู้กันอยู่เท่านั้น

ในสภาพสังคมปัจจุบัน ดูเผินๆ เหมือนกับว่าพวกเราก็มี “อิสรภาพ” กันดีอยู่แล้ว ใครอยากจะพูดอะไรเขียนอะไรก็ทำได้ในขอบเขต ใครอยากจะทำค้าขายอะไรก็ทำได้ ใครอยากจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ทำได้

แต่ถ้าพวกเราลองมาตรึกตรองดูกันดีๆ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเราส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันนี้ “ไม่เป็นอิสระ” หรือ “ไม่มีอิสรภาพ” เอาเสียเลย

เราอาจจะมีสังคมที่ให้อิสระทุกอย่างตามขอบเขตที่เหมาะสม แต่คิดดูให้ลึกๆ และลองถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมา “เรามีอิสรภาพจริงหรือ?” หรืออีกนัยหนึ่งเรามี “จิตที่อิสระ” มากพอแล้วหรือยัง เพราะจริงๆ และลึกๆ แล้วเราจะรู้สึกได้ว่าบางทีเราเหมือนกับว่าได้ตก “เป็นทาส” ของอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจและเราก็ปลอบตัวเองว่าเรามีอิสรภาพที่จะทำอะไรก็ได้

ผมคิดว่า “อิสรภาพด้านใน” จึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญด้วย เราจะไม่ได้ “อิสรภาพอย่างแท้จริง” ตราบเท่าที่เรายังไม่มี “อิสรภาพด้านใน” หรือ “จิตที่เป็นอิสระ”

คำถามที่อยากจะยกมาเพื่อความเข้าใจในประเด็นนี้ก็คือ อยากจะให้ลองสำรวจชีวิตของพวกเราที่ผ่านมาเอาเป็นว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้ว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้คำถามข้อแรกคือ “ตัวเราได้ทำสิ่งที่อยากทำ” มาก-น้อยแค่ไหน และคำถามข้อที่สองคือ “ตัวเราต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ” มาก-น้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าสองคำถามนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่งถึง “มีอิสรภาพที่แท้จริงในชีวิต” ของพวกเรา สมมติฐานของผมก็คือว่า หนึ่ง คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ทำสิ่งที่อยากทำ สอง คนส่วนมากกว่านั้นยังต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ

ผมชอบท่อนหนึ่งในหนังสือที่ชื่อ The Earth Path มาก เป็นหนังสือที่เขียนโดย สตาร์ฮอว์ค (Starhawk) ซึ่งเป็นนักสังคมบำบัดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีส่วนที่เชื่อมโยงกับเรื่อง “จิตที่เป็นอิสระ” นี้เป็นอย่างดี เธอบอกไว้ว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากมายระหว่างคำว่า “I have to” กับ “I choose to” ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมากเพราะการที่เราจะเลือกใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมจำเป็นต้อง…….” กับ “ผมเลือกที่จะ…………” จะส่งผลที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นต้นว่า

“ผมจำเป็นต้องอดทนทำงานที่ผมต้องทำเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว” กับ “ผมเลือกที่จะทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว” สองประโยคนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกัน

“หนูจำเป็นต้องมีมือถือเพราะเพื่อนเขามีกัน” กับ “หนูเลือกที่จะมีมือถือเพื่อใช้งาน” สองประโยคนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกันเพราะมือถือแบบประโยคแรกจะเป็นมือถือที่แข่งขันกันราคาสูงแข่งกันทันสมัยแบบถ่ายรูปได้อัดเสียงได้เล่นเพลงได้ แต่มือถือแบบที่สองจะเป็นมือถือที่ใช้ติดต่อสื่อสารจริงเท่านั้น

หรือแม้แต่เรื่องราวในด้านลบบางอย่างก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของวิธีคิดและอิสรภาพเช่น “หนูจำเป็นต้องแต่งตัวโป๊เพราะใครๆ เขาก็แต่งกันแบบนั้น” กับ “หนูเลือกที่จะแต่งตัวโป๊เพราะอยากจะแต่ง” การกระทำสองอย่างนี้แสดงถึงอิสรภาพด้านในที่แตกต่างกัน

หลายคนต้องทำงานหนักเพื่อทำมาหากิน ก็จะบอกว่าเขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะไม่มีกิน หลายคนต้องขี้โกงก็บอกว่าเป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะอดตาย บางคนบอกว่า “เราอยู่ในโลกของทุนนิยม เราไม่มีทางเลือก เราต้องเป็นไปตามกระแสโลก”

แบบนี้จะเป็น “จิตที่อิสระ” ได้อย่างไรกัน

เวลาที่เราใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมจำเป็นต้อง……” หรือ “ดิฉันจำเป็นต้อง……” นั่นหมายความถึงความไม่มีอิสรภาพ ความที่จะต้องตกเป็นทาสของสถานการณ์อะไรบางอย่างที่ช่วยไม่ได้หรือที่มักจะพูดกันเสมอว่า “ไม่มีทางเลือก” และโดยลึกๆ แล้วนั่นจะหมายความถึงความพยายามที่จะไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โทษสถานการณ์ โทษคนอื่น โทษคนรอบข้างแต่ไม่เคยโทษตัวเองเลย

ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น” หรือ “ดิฉันเลือกที่จะเป็นอย่างนี้” นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญกับตัวเอง ให้สิทธิ์ตัวเองในการเลือก มีอิสรภาพในการเลือกและพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลของการกระทำอย่างเต็มที่หากว่าเกิดเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์ ไม่โยนความผิดไปให้คนอื่น ไม่โทษสถานการณ์ ไม่โทษคนรอบข้างว่าทำไม่ดีทำให้เราต้องเป็นแบบนี้ เพราะในความเป็นจริงแล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น “เราทุกคนมีอิสระที่จะเลือกได้เสมอ”

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้สึกเบาสบายที่ไหล่ทั้งสองของเรามากขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่ต้องแบกโลกเอาไว้อีกแล้ว เราเพียงทำหน้าที่ของเราตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์และเรารู้ว่าเราเลือกที่จะแบบนั้นและเราจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรากระทำอย่างเต็มที่

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมองเห็น โอกาสใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้นเท่านั้น เราจะมองเห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่างได้เอง เราจะเข้าใจได้ว่าเราสามารถไว้ใจชีวิตได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ได้มากเท่านั้น เราจะมีทางเลือกมากมาย

เพราะแม้แต่ “อิเลกตรอน” ที่ดูเหมือนจะเป็น “เพียงวัตถุ” ในมุมมองแบบหนึ่งก็สามารถเลือกได้ว่ามันอยากจะเป็นคลื่นหรืออยากจะเป็นอนุภาค

อย่างไรก็ตามผู้ที่มี “จิตอิสระ” นี้จะเข้าใจความหมายของ “อิสรภาพ” ว่าไม่ใช่การทำอะไรตามใจตัวฝ่ายเดียวและผมจะขอไม่ลงไปถกเถียงในประเด็นนี้ในบทความนี้

ต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นความหมายหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ที่หลายๆ ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นจะต้องมี จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นมาในวิวัฒนาการของมนุษย์ ณ เวลานี้

ผมไม่ทราบว่า “จิตที่เป็นอิสระ” นี้จะช่วยให้โลกรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ “จิตที่เป็นอิสระ” จะสามารถช่วยให้เรารู้สึกมีพลังมีความสดชื่นและมีความสุขมากขึ้นและมองเห็นโอกาสต่างๆ ที่สร้างสรรค์มากมายได้เหมือนอย่างที่ท่านอ.หมอประเวศ วะสีได้กล่าวถึงไว้ในข้างต้นจริงๆ

ศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2548

คำถามพื้นฐานของสังคมกำหนดความเป็นไปของสังคม

คนบางกลุ่มบางยุคบางสมัยตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร”

ความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ทำให้เกิดศาสนาต่างๆ ขึ้น ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำถามว่า
“ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร” หัวใจของทุกศาสนาคือ “จิตวิวัฒน์”

ในสังคมปัจจุบัน คำถามพื้นฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจะรวย ก็ทำอะไรทุกอย่างก็ได้ที่จะทำให้รวย เช่น เอาเปรียบคนอื่น ค้ากำไรเกินควร ทำลายสิ่งแวดล้อม ขายผู้หญิง ขายเด็ก ส่งเสริมการพนัน และอบายมุขอื่นๆ สร้างภาพ หลอกลวง ทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อฉลด้วยประการต่างๆ ตั้งแต่กินหัวคิวไปจนถึงปั่นหุ้น ไปจนถึงคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย โดยวิธีนี้จะแก้ความยากจนไม่ได้ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคมไม่ได้ เพราะคนที่แข็งแรงก็จะเอาเปรียบคนออ่นแอ และเอาเปรียบส่วนรวม ช่องว่างทางสังคมจะถ่างมากขึ้น ทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง

จะเห็นได้ว่าถ้าถามว่า “ทำอย่าไรจะรวย” บ้านเมืองจะเข้าไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายไร้ศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเกิด “วิวัฒน์” แต่จะ “วิบัติ” มากขึ้นๆ ผู้คนจะจิตใจตกต่ำ จิตของสังคมทั้งหมดก็จะตกลงด้วย ต่อให้เก่งอย่างใดก็สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขไม่ได้ ตราบใดที่ยังตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย”

ในทางตรงกันข้าม ถ้าตั้งคำถามว่า “ความดีคืออะไร” แล้วพยายามตอบ เช่น ความดีคือความซื่อสัตย์ สุจริต ความดีคือความขยันหมั่นเพียร ความดีคือการพึ่งตนเอง ความดีคือการประหยัด ความดีคือความพอเพียง ความดีคือการมีความเมตตา กรุณา ความดีคือการไม่เบียดเบียน ความดีคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความดีคือการอนุรักษ์วัฒนธรรม ความดีคือการมีจิตใจเพื่อส่วนรวม ความดีคือการพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น ดังนี้เป็นต้น

ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยอัตโนมัติ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกับระบบเศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานที่ต่างกัน เศรษฐกิจทุนนิยมอยู่บนคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จึงนำไปสู่พฤติกรรมทางลบต่างๆ นานาตามที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งนำไปสู่ความวิตถารของคุณค่า แต่โบราณมาเราถือว่าความประหยัดเป็นของดี แต่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมถือว่า ต้องกระตุ้นการบริโภค จึงจะทำให้เศรษฐกิจดี ก่อให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตสินค้า การซื้อ การขาย การโฆษณา การเพิ่มการบริโภค เป็นการเพิ่มการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเมื่อน้ำมันขึ้นราคาก็เลี้ยวมากระทบระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เดือดร้อนวุ่นวายวิกฤต เป็นวงจรแห่งความวิกฤตโดยแท้

แต่เศรษฐกิจพอเพียงนั้นอยู่บนฐานของความเพียร สัมมาชีพ การพึ่งตนเอง การประหยัด การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การรู้ความพอดี การมีไมตรีจิตต่อกัน การพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น นั่นคืออยู่บนฐานของความดีนั่นเอง

โปรดสังเกตว่า ถ้าตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จะแก้ความยากจนไม่ได้

เพราะคนแข็งแรงจะเอาเปรียบคนอ่อนแอ และขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าขาดความเป็นธรรมทางสังคมจะแก้ความยากจนไม่ได้ ประเทศไทยไม่ได้ยากจน แต่ขาดความเป็นธรรมทางสังคม คนจนจนเพราะขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าเร่งความร่ำรวยจะยิ่งทำให้ขาดความเป็นธรรมทางสังคม จึงแก้ความยากจนไม่ได้

ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะแก้ความยากจนได้ เพราะความดีทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนพออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน จึงมีคำถามว่า

สาธุชนทั้งหลาย
ความไม่ดี จะทำให้บ้านเมืองเจริญ ไม่ใช่ฐานะจะมีได้


ถ้าสังคมมีการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง จะเป็นฐานของจิตวิวัฒน์อันยิ่งใหญ่

ถ้าสังคมปั่นป่วนไร้ศีลธรรม จะเป็นฐานขอความวิบัติและหายนะ

ท่ามกลางกระแสแห่ง “ทำอย่างไรจะรวย” อันสร้างความวิบัติให้สังคมอย่างรุนแรง “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้พ้นวิบัติ สาธุชนผู้หวังจิตวิวัฒน์พึงทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของเรื่องศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2548

ในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ เมื่อศาสตราจารย์ล็อตฟี เอ ซาเดห์ แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องตรรกศาสตร์แบบฟัซซี (Fuzzy Logic) หรือตรรกศาสตร์สมานฉันท์ วงการวิทยาศาสตร์กระแสหลักก็ถึงกับสะเทือนหวั่นไหว

เพราะอะไรน่ะหรือ?

ตรรกศาสตร์ดั้งเดิมนั้นมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล ผู้ก่อตั้งระบบตรรกศาสตร์แบบทวิภาค ค่าความจริงทางคณิตศาสตร์มีได้เพียงหนึ่งค่าเท่านั้น นั่นคือ ถูกหรือผิด ขาวหรือดำ ตรรกศาสตร์แบบขาว/ดำนี้ได้หยั่งรากมั่นคง และเป็นพื้นฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์แบบนิวตันจนถึงปัจจุบัน

เมื่อซาเดห์กล่าวว่า ค่าความจริงมีได้หลายระดับ ไม่ได้มีเพียงถูกหรือผิด ขาวหรือดำ เท่านั้น เขาก็ถูกโจมตีจากนักวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกอย่างรุนแรง แต่กลับได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิทยาศาสตร์ทางตะวันออก เขาได้รับเชิญไปบรรยายที่ญี่ปุ่น และนับแต่นั้น วงการวิจัยของญี่ปุ่นก็ทุ่มเทให้กับตรรกศาสตร์แบบ “ฟัดจี้”

นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโลกล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์นี้ ว่ากันว่า ในขณะที่รถไฟฟ้าชินคันเซ็นของญี่ปุ่นซึ่งมีระบบออกตัวและเบรคที่ดีที่สุดของโลกถูกสร้างโดยตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์นี้ วิศวกรผลิตรถรางไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่นิวยอร์กยังไม่เคยได้ยินคำว่า “ฟัซซี” ด้วยซ้ำไป

ปัจจุบันนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิด นับตั้งแต่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ เครื่องดูดฝุ่น ไปจนถึงอุปกรณ์การแพทย์อันซับซ้อน ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์ ซาเดห์เองได้รับรางวัลเกียรติคุณจากหลายแห่ง รางวัลสูงสุดก็คือ เหรียญเกียรติยศจากไอทริปเปิลอี ซึ่งเทียบได้กับโนเบลทางด้านคอมพิวเตอร์

ซาเดห์ไม่ใช่บุคคลแรกที่กล่าวว่าค่าความจริงมีได้หลายระดับ พระพุทธเจ้าเคยกล่าวว่าโลกล้วนประกอบด้วยคู่ตรงข้าม เต๋ากล่าวว่าในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน หรือที่ติช นัท ฮันห์กล่าวว่า “ก ประกอบด้วย ก และ สิ่งที่ไม่ใช่ ก” นักคิดตะวันตกอย่างพลาโต เฮเกล มาร์กซ์ เองเงล และลูคาซีวิคซ์ ก็กล่าวว่า เส้นแบ่งระหว่างสีดำและสีขาวล้วนประกอบด้วยสีเทาจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าซาเดห์เป็นบุคคลแรกที่สามารถเชื่อมต่อโลกทรรศน์ที่ไม่แบ่งแยกเข้ากับระบบคณิตศาสตร์ร่วมสมัยได้สำเร็จ ตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การทำความเข้าใจโลก หรือระบบปัญหาอันซับซ้อน จำต้องใช้ความคิดที่พ้นไปจากการแบ่งแยกเพียงขาว/ดำ

ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงล้วนตั้งอยู่บนทัศนะที่ว่าฝ่ายเราถูก อีกฝ่ายผิด เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ความเป็นมนุษย์ของเขาจะถูกทำลาย เพื่อที่อีกฝ่ายหนึ่งจะมีความชอบธรรมในการปฏิบัติกับเขาอย่างสิ้นไร้ความยึดถือความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ทัศนะเช่นนี้เกิดจากการแบ่งถูก/ผิดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเห็นคนกระทำผิด ก็มองเห็นว่าผิดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ มองไม่เห็นความดีอื่นเลย หากประกอบด้วยอารมณ์โกรธเกลียดเข้าด้วยแล้ว คนที่กำลังโกรธกำลังเกลียดยิ่งมีพฤติกรรมแยกส่วนชัดเจน คือ มองเห็นว่าคนที่ตนกำลังโกรธหรือเกลียดนั้นประกอบด้วยความเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ มนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์จึงถูกประหารเข่นฆ่าได้ ถูกทำร้ายได้ ถูกทุบตีได้

นาซีเยอรมันที่เข่นฆ่าชาวยิวกว่าหกล้านคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เพราะไม่ได้มองว่าคนยิวเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน คนยิวกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะสิ้นไร้ความดีงามในสายตาของพวกนาซี มนุษย์ที่ประหารชีวิตซึ่งกันและกันในทุกวันนี้ ก็เพราะมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันนั่นเอง

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างอิสลามและโลกตะวันตกก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยสมัยสิบสี่ตุลา หกตุลา ยี่สิบสี่พฤษภา ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมจำต้องปะทะกันของฮันติงตัน ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งนี้ล้วนเกิดจากตรรกศาสตร์ดำ/ขาวนั่นเอง

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์ที่ยอมรับว่าสัจจะความจริงมีหลายระดับ พ้นไปจากความสุดโต่ง และได้นำพามนุษย์ไปสู่ความจำเริญอย่างยิ่งยวดทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตรรกศาสตร์สมานฉันท์นั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอย ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ ทั้งยังช่วยทำความเข้าใจปัญหาอันซับซ้อนในโลกได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง

เมื่อมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย ตรรกศาสตร์แบบทวิภาคจะมองเห็นเส้นแบ่งแยกที่ชัดเจน ทำให้มองข้ามสิ่งที่ถูกแบ่งแยก แต่ตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์จะมองเห็นความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว มองเห็นสรรพสิ่งที่ไม่แบ่งแยก ทั้งปฏิเสธการตั้งคำถามเรื่องความแตกต่าง หากตั้งคำถามถึงหนทางที่จะพบกับสันติภาวะร่วมกัน

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์มิใช่สัจจะสมบูรณ์ หากเป็นหนทางหนึ่งที่มนุษย์ย่อมอาจเลือกได้ เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤติ ดังเช่น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีย่อมไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเผด็จการทางสัจจะที่ย่นย่อความจริงให้เหลือเพียงถูก/ผิด หากต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องความจริงหลายระดับ และแม้จะนับถือพระเจ้าคนละองค์ ก็ต้องไม่ละทิ้งศรัทธาว่ามนุษย์ย่อมพูดคุยเจรจากันได้

ถ้าคุยกันไม่ได้ล่ะ?

ท่านทะไล ลามะเคยตอบคำถามนี้ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องปล่อยให้ทะเลาะกัน รบกัน เดือดร้อนมากขึ้น ตายกันมากขึ้น สูญเสียมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดที่ว่า ทนทานกับสภาพความขัดแย้งนี้อีกต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้นผู้คนอาจจะเข้าใจโทษแห่งความขัดแย้ง และมุ่งสู่สันติภาวะมากขึ้น

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์จึงโอบกอดความสุดโต่งไว้ในอ้อมแขนด้วยเช่นกัน ตรรกศาสตร์ที่ยอมรับได้กระทั่งความคลุมเครือและสุดโต่ง ถือได้ว่าเป็นตรรกศาสตร์ใจกว้างยิ่ง

โลกทรรศน์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบตรรกศาสตร์สมานฉันท์จึงเป็นสิ่งที่นำไปสู่วัฒนธรรมสันติภาพ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่แบ่งโลกออกเป็นส่วนให้เหลือเพียงดำ/ขาว ถูก/ผิด ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด มองเห็นความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวของสรรพสิ่ง ยอมรับความดำรงอยู่ของสิ่งที่แตกต่างจากตน เป็นหนทางที่เอื้อต่อความกรุณา เป็นเครื่องมือทางปัญญาของมนุษย์ในการก้าวล่วงพ้นไปจากกลียุคแห่งความรุนแรงทั้งกาย วาจา ใจ

ความยุ่ง คือความขี้เกียจ
(Busy-ness is Laziness)

โดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปลและเรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2548

ชีวิตที่แท้ผุดบังเกิดจากความเงียบอันเป็นพื้นฐานของการรับฟังด้านใน ส่วนชีวิตในแบบทั่วไปที่เราเข้าใจกัน มันเป็นเพียงแค่ภาพมายา สะท้อนแผนการที่ปรุงแต่งขึ้นจากส่วนเสี้ยวของเหตุปัจจัยภายนอก เสียงบอกจากคนรอบกาย หรือสิ่งที่เราเลียนเอาอย่างจากชีวิตคนอื่น อันภาพมายานั้นหาใช่ความเป็นตัวเราที่แท้จริงไม่ ชีวิตที่เต็มไปด้วยแผนล่วงหน้าเหล่านั้นเป็นชีวิตปลอมๆ อันแข็งทื่อ ไร้การเรียนรู้ตอบสนอง มันไม่ได้สะท้อนถึงชีวิตตามแบบที่มนุษย์ควรจะเป็นเลยแม้แต่น้อย

ผู้คนมากมายผ่านเข้ามาในชีวิตผม บอกผมว่า “ฉันไม่มีเวลาพอที่จะฝึกสมาธิภาวนาหรอก ชีวิตฉันยุ่งเหลือเกิน ตารางเวลาประจำวันแทบจะต้องวางแผนกันล่วงหน้าสามสี่เดือน ชีวิตฉันมันเต็มจริงๆ ยุ่งขนาดที่ว่าเช้าจรดเย็นแทบไม่มีช่องว่างให้คิดเรื่องอื่นเลยนอกจากงาน” ดูเหมือนว่าทิศทางของผู้คนในโลกสมัยใหม่ทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งเป็นไปในรูปแบบนี้กันทั้งนั้น

ลองหยุดคิดกันดูสักนิดว่า สิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” จริงน่ะหรือ “ชีวิต”ในแบบที่ว่านั้นมีคุณค่าพอ ที่จะมีชีวิตอยู่กันจริงๆ หรืออย่างไร ในฐานะมนุษย์แห่งโลกสมัยใหม่ เรากำลังวิ่งหนีตัวเราเอง เรากำลังใช้ความยุ่งของชีวิตเป็นข้อแก้ตัว เพื่อการหลีกเลี่ยงที่จะรู้จัก และสัมผัสชีวิตมนุษย์ที่แท้ ...พื้นที่ด้านในอันเป็นอิสรภาพของการรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่เราไม่เคยรู้จัก และเราต่างก็หวาดกลัวกับการเข้าไปรู้จักพื้นที่อันนั้น เป็นความจริงที่น่าเศร้า...เรากลัวที่จะเรียนรู้ เรากลัวที่จะรู้จักตัวเอง...

ผู้คนในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถทนอยู่คนเดียวได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในงานอะไรก็ตามที่ต้องอาศัยความเงียบแห่งพื้นที่ภายในของความเป็นตัวเอง และปราศจากสิ่งบันเทิงภายนอก วิถีชีวิตที่ผู้คนสมัยนี้คุ้นเคยกลับเป็นชีวิตที่ไม่มีแม้แต่เพียงวินาทีเดียว ที่คุณจะต้องอยู่คนเดียว คุณต้องมีทีวีหรือคอมพิวเตอร์อยู่หน้าตัวตลอดเวลา เรากำลังใส่ข้อมูลแห่ง “ความยุ่ง” ให้กับชีวิตจนเกือบจะถึงจุดที่มันพร้อมจะระเบิด และเมื่อใดที่คุณบอกตัวคุณเองให้นั่งลง เพื่ออยู่กับตัวเองบ้าง ก็จะมีเสียงต้านขึ้นมาทันทีว่า “ฉันทำไม่ได้ ฉันไม่มีเวลามากพอที่จะทำอย่างนั้นหรอก” คนส่วนใหญ่ต่างก็เคยชินกับความคิดเช่นนี้จนมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาอะไร เราไม่เคยหยุดที่จะเฝ้ามองชีวิตในความหมายที่แท้จริงเอาเสียเลย

จากพ่อแม่สู่ลูก วิถีชีวิตที่ไม่ถูกตั้งคำถามกำลังถูกถ่ายทอดสู่ลูกๆ ของเรา และมันกำลังทำลายพวกเขาอย่างเลวร้ายที่สุด ตารางชีวิตที่อัดแน่น ซ้อมกีฬา ซ้อมดนตรี การบ้าน สามชั่วโมงหน้าทีวี สามชั่วโมงหน้าคอมพิวเตอร์ ตารางเต็มเอี้ยดตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน พวกเขาแทบจะไม่ได้รู้จักเรียนรู้การอยู่กับความเงียบ ซึ่งหมายถึงการให้พื้นที่กับตัวเอง อยู่กับตัวเองเพื่อการค้นหา และค้นพบ

นอกจากนั้น ปัญหาเดียวกันยังพบได้ในระบบการศึกษา ที่ทั่วโลกกำลังเอาตะวันตกเป็นแม่แบบ ระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความอัดแน่นของข้อมูลที่เรากำลังยัดเยียดเข้าสู่ชีวิตของเด็ก บวกกับค่านิยมของสังคมที่ไม่เหลือช่องว่างให้กับการค้นหาความหมายอันหลากหลายของชีวิต กำลังผลักดันให้เกิดภาพของชีวิตที่ยุ่ง เป็นการประเมินค่าความมีประสิทธิภาพและความเต็มอย่างผิวเผินจากภายนอก อีกทั้งพ่อแม่ยังผลักเอาความคาดหวังส่วนตัวอันเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างยุ่งๆ ที่ไม่เคยตั้งคำถามใดๆ ไปให้ลูก วัฏจักรอันเลวร้ายจึงถือกำเนิดขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์บนพื้นฐานของความกลัว ...ความกลัวที่ว่า คือความกลัวความว่าง ความกลัวพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ชีวิต (Fear of Space)

การฝึกฝนสมาธิภาวนา นั่งลงเงียบๆ กับตัวเอง โดยปราศจากกิจกรรมอื่นใด นอกจากการเฝ้ามองชีวิตด้านในของเรานั้น เป็นเสมือนการถอดปลั๊กของวงจรชีวิต มันเป็นกระบวนการง่ายๆ ที่ส่งผลย้อนกลับ ทำให้ชีวิตของเราเปิดกว้าง ด้วยพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ที่แท้ได้ก่อกำเนิดขึ้นอีกครั้ง เราจะต้องเข้าใจความมหัศจรรย์ของการฝึกฝนที่ว่านี้ และยินดีที่จะบอกตัวเองว่า การนั่งเฉยๆ อยู่กับตัวเอง ก็ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของชีวิต กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณของวัฒนธรรมแห่งโลกสมัยใหม่ คุณจะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า คุณมีชีวิตนี้เพียงชีวิตเดียว เมื่อคุณไม่ใส่ใจกับชีวิตที่ว่านั้น ไม่สามารถให้เวลากับมันแม้เพียงสั้นๆ ๑๕ นาที ในการสร้างความสัมพันธ์ ทำความเข้าใจชีวิต เมื่อนั้นคุณกำลังทำให้ทุกคนรอบข้างเป็นทุกข์ คุณต้องตระหนักเสียทีว่าชีวิตที่ไม่เข้าใจตัวเอง เป็นชีวิตที่ไม่มีทางเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนอื่น คุณกำลังทำร้ายคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว ด้วยการเอาความยุ่งเป็นข้อแก้ตัวที่นำไปสู่การเพิกเฉย ต่อการเรียนรู้จักตนเองและผู้อื่น

ความยุ่งบ่งบอกถึงจิตที่วุ่น เมื่อจิตวุ่นเสียแล้ว คุณก็แทบจะไม่มีความรู้สึกของการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างแท้จริง การละเลิกความคิดที่ว่า “ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ยุ่ง” “ชีวิตว่างเป็นชีวิตที่ไร้ประโยชน์” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเปิดใจเพื่อความเข้าใจชีวิตที่แท้ ชีวิตคือพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ เมื่อเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้ในทุกขณะของชีวิต เราก็จะตื่นที่จะรู้ การปล่อยวางความยุ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกลายเป็นคนเฉยๆ เฉื่อยๆ ไม่กระตือรือร้น ไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่มันหมายถึงการละเลิกความคิดปรุงแต่งที่กีดขวางการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เราต้องปล่อยวางความกลัว ปล่อยวางการยึดมั่นในแผนการทั้งหลายทั้งปวง เพื่อที่จะได้สัมผัสชีวิตที่แท้จริงกันกันเสียที

การปล่อยวางความคิด เพื่อสัมผัสชีวิตในแง่มุมที่ลึกซึ้ง คือเป้าหมายของการฝึกจิตภาวนา การปฏิบัติภาวนาไม่ใช่เรื่องนอกตัว ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่กิจกรรมของการตัดขาดจากโลก แต่มันคือกระบวนการพื้นฐานของการมองด้านใน และเข้าใจกระบวนการการรับรู้ของชีวิต เราได้เห็นจุดที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อนในตัวเรา แล้วพยายามที่จะเข้าใจมันอย่างถูกต้องมากขึ้น การภาวนาคือการที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตตัวเองในแง่มุมที่ลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างภายในของชีวิต อันเป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้อันศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียกว่า ordinary magic ก็ได้ มันเกิดขึ้นในทุกขณะที่เราได้สัมผัสถึงความธรรมดาและง่ายงามของชีวิต ได้สร้างความสัมพันธ์กับความว่างที่เป็นบ่อเกิดของปัญญาและความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ผมขอให้ทุกคนได้ให้โอกาสกับตัวเอง ในการเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ลองให้โอกาสกับการฝึกจิตภาวนาเป็นลำดับต้นๆ ในลิสต์ ให้คุณค่าของการเรียนรู้ที่จะเชื้อเชิญพื้นที่ว่าง ให้กับสิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ผุดบังเกิดขึ้นในชีวิตของคุณ เมื่อนั้นเราก็จะได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์เหนือกรอบของความคับแคบแห่งตัวตนที่เราพยายามสร้างขึ้น สู่ความหมายใหม่ของชีวิตและอิสรภาพของมนุษย์ที่แท้จริง

บทเรียนหนึ่งของการเป็นกระบวนกร
จุดสุดยอดของการเป็นกระบวนกรอยู่ที่การตั้งคำถาม?

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กันยายน 2548

คืนวันหนึ่งหลังเลิกงานแล้ว พักผ่อนแล้ว ทานอาหารเย็นแล้ว กระบวนกรในเชียงรายได้มารวมตัวคุยกัน ณ บ้านเปี่ยมรัก เรื่องการจัดกระบวนการ "เขียนโลกใบใหม่" สี่วันสามคืนให้กับองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง เป็นการนั่งล้อมวงเพื่อทบทวนบทเรียน

อาจารย์ฌานเดช พ่วงจีน กล่าวถึงประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งเอาไว้ในการก้าวเข้าสู่จุดสุดยอดของการเป็นกระบวนกร อาจารย์เฝ้าดูการโยนประเด็น โยนคำถามที่พลิกสถานการณ์ คำถามที่จะเป็นชนวนที่ทำให้การเรียนรู้แตกประเด็น ระเบิดออก ปะทุและเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ดังเช่นระเบิดนิวเคลียร์ อะไรคือชั่วขณะดังกล่าว เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าอะไรคือประเด็น ช่วงเวลาไหนคือช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจารย์คิดว่า ถ้าอาจารย์เข้าถึงสัมผัสอันพิเศษยิ่งนี้ อาจารย์จะเข้าถึงจุดสุดยอดของการเป็นกระบวนกร

คำถาม

ในกระบวนการเรียนรู้อย่างที่เราทำกัน เราจะให้ความสำคัญกับ “คำถาม” ไม่แพ้ “คำตอบ” หรือบางทีอาจจะมากกว่า

คำตอบหนึ่งเดียว หรือคำตอบที่ตายตัวคงไม่ใช่วิถีแห่งการเรียนรู้ในวิทยาศาสตร์ใหม่ คำตอบที่ดีที่สุดคำตอบเดียวไม่มีอยู่ หากมีแต่คำตอบที่ใช้การได้หลายๆ คำตอบ และความหลากหลายนั้นจะช่วยบ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นอีกไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือชีวิต นี่คือรูปแบบ กระบวนการและโครงสร้างของชีวิตที่สร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา

คำถามกับปัญหา

ปัญหาไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นกลางๆ ที่เราจะเข้าไปดู เข้าไปแก้ไขกับมันได้อย่างสบายใจกระมัง แต่มันมักเป็นหลุมดำดึงดูดความรู้สึกด้านลบของผู้คน และบางทีแทนที่จะแก้ปัญหา เรากลับเข้าไปทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก คือการแก้ปัญหากลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหา

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาได้เข้ามาครอบงำทัศนะมุมมองของเรา และบางทีเราก็อาจจะติดข้องอยู่ในนั้น ไม่สามารถถอยหลังออกมาเพื่อจะมองเห็นภาพกว้างได้ พลังงานของเราและความคิดของเรากลับไปติดแหงกอยู่ตรงนั้น จมปลักอยู่กับปัญหานั้นๆ เอง

เราจะมีทางปลดปล่อยตัวเองออกมาจากการครอบงำนั้นได้หรือไม่? อย่างไร?

คำถามกับการสืบค้นด้านบวก

แทนที่จะจมปลักอยู่กับปัญหา เราลองมาปรับเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการปรับเปลี่ยนคำถาม แทนที่จะถามถึงการแก้ปัญหา เรามาถามถึงสิ่งที่เราปรารถนา หรือสิ่งที่เราใฝ่ฝันแทน เราจะทำอย่างไร จึงจะไปถึงฝันของเราได้ แทนที่จะถามว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหา เรากลับถามว่าทำอย่างไรจึงจะไปถึงฝัน? พลังของคำถามมันต่างกันไหม? ความอยากจะตอบมันต่างกันไหม?

คำถามกับแรงบันดาลใจ

ทำอย่างไร? เราจึงจะปลุกเร้าแรงบันดาลใจของผู้คนขึ้นมาได้ ในองค์กรที่ปฏิบัติกับผู้คนดุจดั่งเป็นเครื่องจักร มนุษย์กลายมาเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักร ที่เบื้อใบ้ ไร้คุณค่า ไม่มีบทบาทในความคิดริเริ่มใดๆ ไม่สามารถมีความคิดเห็นดัดแปลงสภาพแวดล้อมและการงานของตัวเองได้

เราต้องใช้เวลาเยียวยาผู้คนเหล่านี้ เปิดเวทีให้เสียงของพวกเขาได้ปรากฏ ให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของงาน คิดค้น ออกแบบ เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม กระบวนการในการทำงานของตัวเองได้ และรู้สึกปลอดภัยที่จะทำเช่นนั้น โดยได้รับการเสริมย้ำในทางปฏิบัติว่าปลอดภัยจริง และสิ่งที่พวกเขาคิดริเริ่มมีผลในทางปฏิบัติจริง เมื่อนั้น พวกเขาจะได้กลับมามีแรงบันดาลใจอีกครั้ง อันเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมในความเป็นมนุษย์ของพวกเขาตั้งแต่เกิดมา

คำถามกับปัญญาร่วม

ปัญญาร่วมหรือ คอลเลคทีฟ อินเทลลิเจนซ์ (collective intelligence) หรือ คอลเลคทีฟ วิสดอม (collective wisdom) นั้นไม่ใช่ปัญญาอันเกิดจากการคิดด้วยเหตุและผล ปัญญาอันเกิดจากการคิดด้วยเหตุและผลก็เป็นของดี แต่มันมีข้อจำกัด มันตอบได้ดีเฉพาะปัญหาที่ลงตัว ที่ยังอยู่ในกรอบของคณิตศาสตร์ที่เป็นสมการเชิงเส้น

ในธรรมชาติของความเป็นจริงอันสลับซับซ้อน เราต้องการปัญญาที่เหนือชั้นกว่าปัญญาที่ว่าด้วยเหตุและผล เหนือกว่า อินเทลเลค (intellect) หรือพุทธิปัญญา แต่ต้องมาจากการภาวนา หรือการเฝ้าดูอย่างเนิ่นนาน เป็นปัญญาระดับญาณทัศนะ ที่เราไม่ได้คิดในจิตสำนึก หากบ่มอยู่ในจิตไร้สำนึกและโผล่ปรากฏขึ้นมาแบบปิ๊งแว้บ

ปัญญาภาวนาที่กล่าวถึงนี้ ทำงานอยู่เหนือระดับเหตุผลออกไป เมื่อได้มา มันจะมีความสมเหตุสมผลอยู่ในที่นั้นเอง หากแต่ว่า มันจะเป็นคำตอบที่เหนือชั้นกว่า คือจะมีความพอดิบพอดีลงตัวได้อย่างประหลาด! เราจึงเรียกมันว่า “ญาณทัศนะ” หรือ “ปิ๊งแว้บ”

เกาะติดนัวเนียก่อนตั้งคำถาม

ในวิทยาศาสตร์เก่า การสังเกตเรื่องราว ผู้สังเกตตั้งระยะห่างจากสิ่งสังเกต ผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตแยกขาดออกจากกัน วิทยาศาสตร์เก่าเอาอารมณ์ไปผูกพันไม่ได้ อารมณ์ถูกตีตราว่าเป็นสิ่งไม่ดี เหตุผลดี อารมณ์ไม่ดี

วิทยาศาสตร์ใหม่ เรารู้ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ และอารมณ์ก็คือปัญญา ไม่ใช่อุปสรรค แต่หากเรารู้ว่าในความเป็นปกติ อารมณ์คือปัญญา ในยามปกป้อง อารมณ์คืออุปสรรค เราก็จะเรียนรู้ปัญญาอารมณ์คือการรักษาความเป็นปกติในชีวิต ในวิทยาศาสตร์เก่าผู้คนยังไม่ได้เรียนรู้ความข้อนี้ จึงมีปัญหาได้มาก แต่ไม่รู้ตัว

เราจะเรียนรู้การเกาะติดนัวเนียจาก ไท ชี ฉวน หรือวิชากำลังภายในที่ว่าด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้มาก คือ เมื่อเกาะติดนัวเนีย เราจึงอ่านแรงคู่ปฏิปักษ์ได้ เมื่ออ่านแรงได้ก็ควบคุมกำกับทิศทางแรงของปฏิปักษ์ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปฏิปักษ์ก็ไม่สามารถทำร้ายเราได้เลย เราจึงสามารถสลายความเป็นปฏิปักษ์ด้วยประการฉะนี้

ในการเป็นกระบวนกร เราต้องพร้อมจะเริ่มต้นใหม่เสมอ เริ่มต้นใหม่อย่างไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา ไม่เอาประสบการณ์ในอดีตมาเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ หรือความเข้าใจต่อเรื่องราวหนึ่งใด จึงสามารถเกาะติดนัวเนียกับกลุ่มคนได้อย่างล้ำลึก รอคอยจังหวะที่จะเข้าไปหันเหทิศทางเพียงหน่อยหนึ่งด้วยการตั้งคำถาม หันเหหรือกำกับหรือเร่งรัดอัตราการเรียนรู้ด้วยคำถาม

ในวงสุนทรียสนทนานั้น เมื่อทุกคนนิ่งฟังได้ เมื่อทุกคนเปิดพื้นที่ ห้อยแขวนการตัดสิน ช่องว่างแห่งความเงียบคือความเป็นไปได้ของญาณทัศนะ ที่จะไปปรากฏบนริมฝีปากใคร ผู้ใดก็ได้ ไม่มีข้อยกเว้นจริงๆ เมื่อนั้นการเกาะติดนัวเนียจึงเป็นการเปิดโอกาสแห่งการเก็บเกี่ยว ญาณทัศนะ ที่กำลังจะโผล่ปรากฏ และจังหวะโอกาสของการป้อนคำถาม ตลอดจนคำถามที่เหมาะสม ก็จะผุดพรายขึ้นในใจของกระบวนกรเอง

จะตื่น(รู้)ทันไหม?! : คำตอบของอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน(ขณะ)

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2548

งานประชุมสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์ จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักคิด นักปฏิบัติ นักวิจัย และผู้สนใจพันกว่าคนที่มาพบกันเพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติจิตสำนึก (consciousness revolution) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และกระบวนทัศน์ใหม่ บรรยากาศในงานเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง เพราะมากไปด้วยความคิดปรารถนาดีต่อโลก

ความรู้สึกที่ดูเหมือนเป็นเอกฉันท์ คือ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง โดยในขณะเดียวกันก็มีความพยายาม ความสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในการแสวงหาทางออก แต่สิ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นต่างกันคือคำตอบที่ว่า "โลกจะรอดวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?"

ความรู้สึกของที่ประชุมคล้ายคลึงกับแนวของหนังสือ Waking Up in Time ที่ปีเตอร์ รัสเซลล์ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติทั้งหมดจะตื่นขึ้นทันกับสถานการณ์ไหม? (สวนเงินมีมา โดยการสนับสนุนของกลุ่มจิตวิวัฒน์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้)

รัสเซลล์ที่มีดีกรีทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมองโลกในแง่มุมใหม่ๆ ดังนี้ ๑) วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่นับวันจะดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นไปๆ ทุกที ส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาในทุกระบบของสังคมและสิ่งแวดล้อม ๒) วิเคราะห์ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือ การมีจิตสำนึกไม่ถูกต้อง ๓) ทางออกของวิกฤตเบื้องหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เครื่องยนต์กลไกภายนอก หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นการเปลี่ยนจิตสำนึกอย่างลุ่มลึก โดยท้ายสุด ๔) นำเสนอแนวทางรูปธรรมของการขยายจิตสำนึก จากจิตอันคับแคบส่วนตัวไปมีจิตใหญ่ มีจิตวิวัฒน์

ลำดับการเล่าเรื่องชวนให้นึกถึงนักคิด นักปฏิบัติคนสำคัญของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว คือ พระสมณโคดม ท่านก็กล่าวไว้ทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ ถึงเหตุที่มาคือสมุทัย ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นคือนิโรธ และหนทางประเสริฐอันมีองค์แปดคือมรรค

ประเทศไทยนับถือคุ้นเคยกับพุทธแบบหีนยาน บางครั้งอาจมองการปฏิบัติ การบรรลุธรรม การแก้ปัญหาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางครั้งก็เข้าใจผิดเห็นความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ว่าเป็นอุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง) หนังสือของรัสเซลล์ชวนให้เรามองเรื่องอริยสัจสี่ในระดับมนุษยชาติหรือในระดับโลก เห็นทุกข์ของโลก สมุทัยของโลก นิโรธของโลก และมรรคของโลก

เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ที่พูดถึงโลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีจิตของโลกด้วย โดยเราอาจเปรียบเทียบว่าถ้าตัวเราประกอบด้วยเซลต่างๆจำนวนมาก โลกก็อาจเป็นเหมือนอย่างเราคือประกอบด้วยมนุษย์เป็นจำนวนมาก

สุขภาพที่ดีของเราต้องมาจากสุขภาพที่ดีของเซลต่างๆ สุขภาพที่ดีของโลกก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในโลก

การที่ในประเทศไทยและทั่วโลกเราพบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้น เซลของเราเติบโตขยายขนาดมากเกินไปและแบ่งตัวไม่รู้จักหยุดกลายเป็นมะเร็ง ชวนให้ตั้งคำถามว่านี่เป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เพิ่มประชากรไม่หยุด แถมแต่ละคนยังทั้งบริโภค ทั้งสะสมอย่างไม่รู้จักพอหรือไม่?

เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ทุกวันนี้ กำลังทำให้เราแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าการศึกษาที่เรียนแต่เรื่องนอกตัว แถมยังเป็นรายวิชา เป็นชิ้นๆ กล่องๆ ขัดกับโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เราไม่รู้จักตัวเองและไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

หากเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ที่เป็นเหมือนเซลมะเร็งจะเรียนรู้ที่จะกลับมาสื่อสารกับโลกได้ไหม?

ตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด เป็นความหวังว่ามนุษย์น่าจะยังมีศักยภาพในการเรียนรู้นี้อยู่

น่าสังเกตที่นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำทั่วโลก อย่างปีเตอร์ รัสเซลล์ (การปฏิวัติทางจิตสำนึก Consciousness Revolution) เคน วิลเบอร์ (ทฤษฎีบูรณภาพ Integral Theory) แดเนียล โกลด์แมน (ปัญญาทางอารมณ์ Emotional Intelligence-EQ) หรือ ฟราสซิสโก วาเรลา (ทฤษฎีซานติอาโก Santiago Theory) กำลังหันมาเห็นสมบัติล้ำค่าที่คนไทยมีอยู่แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับมันมานาน หลายคนเดินทางมาฝึกถึงภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย หรือจีน

คนเหล่านี้ รวมถึงสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เชื่อว่ามนุษยชาติมีศักยภาพในการสื่อสารกับโลกได้ มนุษยชาติทั้งหมดพ้นทุกข์ร่วมกันได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน (Collective Transformative Learning) โดยประตูนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนจิตสำนึก จากจิตเล็กอันคับแคบ แยกส่วน และบีบคั้น ไปสู่จิตใหญ่อันกว้างขวาง เชื่อมโยง และมีอิสรภาพ

ช่องทางหรือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีได้หลากหลาย เช่น การทำงานอาสาสมัคร กระบวนการทางศิลปะ-สุนทรียภาพ การบริหารการบริหารจิต เช่น โยคะ การเรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับความตาย องค์ความรู้ทางศาสนา รวมไปถึงการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ

แม้ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกจะมีช่องทางที่หลากหลายมากมาย แต่ล้วนมีหัวใจหรือแก่นร่วมกัน คือ การตื่นรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยวาง ลดการยึดติดในอดีตและอนาคต

กลุ่มเซลมะเร็งมีศักยภาพที่จะกลับมาสื่อสารกับร่างกายอีกครั้ง

มนุษยชาติก็มีศักยภาพในการที่จะสื่อสารกับโลกอีกเช่นกัน

เพียงแต่พวกเราแต่ละคน และมนุษยชาติโดยรวม จะตื่น(รู้)ทันไหม?!

Back to Top