เมษายน 2016

ฮิตเลอร์ในตัวเรา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2559

เร็วๆ นี้ ผมได้ชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ตั้งคำถามเล่นๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก "เอดอล์ฟ ฮิตเลอร์" กลับมามีชีวิต มีตัวเป็นๆ อีกครั้ง ณ ประเทศเยอรมนี ในยุคปัจจุบัน ภาพยนตร์นั้นมีชื่อภาษาเยอรมันว่า Er ist wieder da หรือ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ดูซิว่า ใครกลับมาแล้ว?" ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความฮือฮาในระหว่างถ่ายทำ เพราะแทนที่ชาวเยอรมันผู้ได้พบเห็นนักแสดงที่แต่งกายเป็นฮิตเลอร์จะรู้สึกสะอิดสะเอียน กระอักกระอ่วนใจ ชิงชังรังเกียจ กลับมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่โบกมือทักทาย ยิ้มให้ ขอถ่ายรูปเซลฟี่กับเขา แถมยังมีคนทำท่าเคารพเขาด้วยการยกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะ ซึ่งเป็นท่าทางที่ตราไว้ในกฎหมายเยอรมันว่าห้ามทำในที่สาธารณะ อย่างเด็ดขาด (แน่นอนยกเว้นสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ)

ปรากฏการณ์นี้สร้างความฉงนฉงายให้กับผมและต้องยอมรับว่าสร้างความรู้สึกป่วนใจอย่างบอกไม่ถูก การได้เห็นพฤติกรรมของผู้คนที่ให้ความเป็นกันเองกับเผด็จการที่ฆ่าชาวยิวเป็นล้านๆ คน ถึงแม้จะเป็นแค่นักแสดง ทำให้ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเหล่านี้ หรือพวกเขาเป็นพวกสมองเม็ดถั่วที่แยกแยะไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด พวกเขาไม่มีสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์หรอกหรือจึงได้เพิกเฉยในเรื่องที่เห็นอยู่ว่าผิดจริยธรรมชัดๆ พวกเขาอาจจะเป็นคนตัดหญ้าหรือชาวนาที่มีการศึกษาต่ำใช่ไหม แต่เปล่าเลย นักแสดงที่แสดงเป็นฮิตเลอร์ผู้นี้ ได้รับการยอมรับจากชาวเยอรมันในทุกระดับชั้น และลักษณะท่าทางการพูดอันมีอำนาจและฉลาดสุดๆ ทำให้ผู้คนที่กำลังหัวเราะเยาะเขาสงบลงและนิ่งฟังอย่างตั้งใจ เหมือนมีแสงออร่าบางอย่างออกมาจากตัวเขา

อ่านต่อ »

ความสุขจากความสัมพันธ์ กระบวนการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2559

ความสุขในชีวิตคืออะไร อาจเป็นคำถามที่ใช้ทบทวนชีวิตตนเอง หรือถามคนใกล้ชิดเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิต คำตอบที่มีต่อคำถามนี้ นอกจากทำให้รู้ว่าความสุขคืออะไร ยังทำให้เข้าใจมุมมองที่ผู้ตอบแต่ละคนมีต่อความสุข รวมทั้งทำให้เข้าใจความหมายเกี่ยวกับความสุขของสังคมได้อีกด้วย

ผู้เขียนได้ยินเรื่องราวการทำวิจัยเรื่องความสุขของผู้สูงอายุในภูมิภาคอาเซียน1 จาก พรรณภัทร ปลั่งศรีเจริญสุข เพื่อนที่เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอลงภาคสนามเพื่อศึกษาความสุขของผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ไตหรือไทจาก ๕ ประเทศ คือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม และเบื้องต้นพบว่า ความสุขของผู้เฒ่าไทเหล่านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวเหมือนกัน โดยแบ่งที่มาของความสัมพันธ์ได้เป็น ๕ ประเภท คือ ๑. Area การได้อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับลูกหลาน อยู่ในชุมชนที่ตนเองมีส่วนร่วมในกิจกรรม ๒. Belief การได้ทำตามความศรัทธา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ๓. Communication การได้สื่อสารความรู้ของตนเองให้ลูกหลานและสังคม ๔. Development ความภูมิใจที่ความรู้ความสามารถของตนเป็นที่ยอมรับและนำไปพัฒนาต่อยอดได้ และ ๕. Enjoy Happiness การได้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและทำงานที่มีความสุข เช่น ฟ้อนรำ การละเล่น ทอผ้า ขายของ

หลังจากคุยกันถึงงานวิจัยของเธอแล้ว เราได้ช่วยกันออกแบบกิจกรรม “๑๐๐ ปีแห่งความสุข” เพื่อทำความเข้าใจกับความสุขของคนไทยในพื้นที่ชานกรุงเทพฯ บ้าง2 โดยใช้มุมมองเชิงประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนสนใจมาทำเส้นเวลาความสุข (Happiness Timeline) ที่บรรจุเรื่องราวจากประวัติชีวิตของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ ๗๐ คน ซึ่งหลากหลายทั้งเพศ วัย บทบาททางสังคม และพื้นที่ชุมชน

อ่านต่อ »

ทำบุญแต่ห่างธรรม



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2559

เคยเข้าใจกันว่าการทำบุญเป็นเรื่องของคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อคนเหล่านี้แก่ตัวหรือล้มหายตายจากไป การทำบุญก็จะลดน้อยถอยลง แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้การทำบุญไม่ได้ลดน้อยลงเลย หรือถึงลดน้อยลงก็ไม่มากนัก คนรุ่นลูกซึ่งบัดนี้กลายเป็นพ่อคนแม่คนก็ยังนิยมทำบุญกันอยู่ สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งก็คือปัจจุบันเครื่องสังฆทานหาได้ง่ายตามห้างใหญ่ๆ ไม่ได้กระจุกอยู่ในร้านสังฆทานหรือเสาชิงช้าดังแต่ก่อน

การนิยมทำบุญตามวัดวาอารามนั้นเป็นเรื่องดี หากเป็นการต่อยอดจากความดีที่เคยทำกันเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว แต่หากการทำบุญดังกล่าวกลับทำให้ความดีที่เคยทำหรือพึงกระทำลดน้อยถอยลง ก็คงจะถือว่าเป็นเรื่องดีไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นี้คือแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น

ครอบครัวหนึ่งมีแม่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ การดูแลแม่ตกเป็นหน้าที่ของลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งทิ้งอาชีพการงานมาพยาบาลแม่นานนับสิบปี โดยที่พี่ๆ แทบจะไม่ได้มาช่วยเหลือเลยนอกจากให้เงินค่าดูแล วันหนึ่งน้องสาวมีธุระนอกบ้าน จึงขอให้พี่สาวมาช่วยดูแลแม่แทนเธอสักวัน คำตอบที่ได้รับจากพี่สาวคือ ไม่ว่างเพราะจะไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งชานเมือง

การที่พี่สาวอยากทำบุญที่วัดนั้นเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ไม่ถูกต้องแน่หากเข้าใจว่าการทำบุญต้องทำที่วัดหรือทำกับพระเท่านั้น การดูแลแม่ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน คำตอบดังกล่าวของพี่สาวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับบุญที่คับแคบและคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก จะว่าไปแล้วก่อนที่จะทำบุญกับพระที่วัด สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการทำบุญกับพ่อแม่ที่บ้าน การไปทำบุญกับพระ โดยไม่สนใจพ่อแม่ที่เจ็บป่วยนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้ใฝ่ธรรม

อ่านต่อ »

ความท้าทายกับเสน่ห์แห่งการเริ่มต้นงานกระบวนการ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2559

วาระที่ผมได้กลับมาใคร่ครวญกับงานกระบวนการว่าด้วยการเริ่มต้น ผมจะบอกลูกศิษย์ที่มาเรียนว่า เวลาจัดกระบวนการให้กับองค์กรหนึ่งใด ช่วงที่ยากที่สุดคือช่วงเริ่มต้น อาจจะเป็นครึ่งวันแรกของงานสองวัน หรือหนึ่งวันแรกของงานสามสี่วัน เพราะมันเป็นรอยต่อที่จะเชื่อมโลกสองโลกเข้าด้วยกัน คือโลกของมนุษย์ธรรมดาทั่วไปในโลกใบนี้ ยุคสมัยนี้ ซึ่งรับชะตากรรมความเป็นไปอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ กับโลกของมนุษย์ที่ฝึกฝนทางจิตใจ ที่สามารถออกแบบชีวิตของตัวเอง ไม่ปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม เป็นเหยื่อของชะตากรรมอย่างไม่สามารถถอนตัวออกมาได้ โดยบางทีเราก็ไม่รู้ว่า ตัวเองตกอยู่ในกรงขัง ผู้คนในโลกนั้นอาจจะรับรู้แต่เพียงว่า สิ่งที่เป็นไปและสิ่งที่เขาประสบก็คือ “ความเป็นจริง” เขาไม่รู้เลยว่า เพียงเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้มอง ความเป็นจริงก็สามารถแปรเปลี่ยนได้ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกเขาเห็นเท่านั้น

ลองตรองดูนะครับว่ามันยากแค่ไหนกัน


ความหลากหลายของเครื่องมือนำพา

เรามีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะนำพาพวกเขาให้สามารถเห็นว่า มีโลกอีกใบหนึ่งอยู่ และพวกเขาสามารถมีตัวเลือก ไม่จำต้องอยู่ในโลกใบเดิมแต่เพียงอย่างเดียว เครื่องมือหนึ่งก็คือ กิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างบรรยากาศ ประกอบด้วยแสง สี เสียง ที่ทำให้พวกเขาผ่อนคลาย และเข้าสู่คลื่นสมองที่ผ่อนคลาย คือคลื่นอัลฟา1 และกิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ทำให้โหมดปกป้องหรือกลไกป้องกันตัวเองผ่อนคลายลง เหล่านี้เป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ต้องใช้ บางทีเราอาจเรียกมันว่า เครื่องเคียง หรือ อาหารเรียกน้ำย่อยก็ได้ แต่ยังไม่ใช่อาหารจานหลัก

กิจกรรมเล็กๆ นี้ก็เช่นการเดินและหยุด นำด้วยเสียงระฆัง เราจะเปิดเพลงประกอบเป็นเพลงบรรเลงเย็นชื่นใจให้คลื่นสมองที่วุ่นวายแบบเบต้าแก่ๆ คลายลงเป็นเบต้าอ่อนๆ และเพิ่มอัลฟา แสงในห้องก็ปรับให้อ่อนลง รุกรานรุกเร้าน้อยลง ให้ผู้เข้าร่วมมีพื้นที่อันอบอุ่นอบอวลสบายๆ เวลาเดินและหยุดก็มีเสียงกระบวนกรนำพาให้กลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาเช็คความตึงหย่อนของกล้ามเนื้อ และน้อมนำให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลมหายใจ หายใจลึกขึ้น ยาวขึ้น เป็นต้น ระหว่างการเดิน ก็ให้จับคู่กันบ้าง หาประเด็นที่เมื่อคุยกันถามไถ่กันแล้วจะรู้สึกเป็นมิตรต่อกันมากขึ้น

อ่านต่อ »

Back to Top