ความท้าทายกับเสน่ห์แห่งการเริ่มต้นงานกระบวนการ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2559

วาระที่ผมได้กลับมาใคร่ครวญกับงานกระบวนการว่าด้วยการเริ่มต้น ผมจะบอกลูกศิษย์ที่มาเรียนว่า เวลาจัดกระบวนการให้กับองค์กรหนึ่งใด ช่วงที่ยากที่สุดคือช่วงเริ่มต้น อาจจะเป็นครึ่งวันแรกของงานสองวัน หรือหนึ่งวันแรกของงานสามสี่วัน เพราะมันเป็นรอยต่อที่จะเชื่อมโลกสองโลกเข้าด้วยกัน คือโลกของมนุษย์ธรรมดาทั่วไปในโลกใบนี้ ยุคสมัยนี้ ซึ่งรับชะตากรรมความเป็นไปอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ กับโลกของมนุษย์ที่ฝึกฝนทางจิตใจ ที่สามารถออกแบบชีวิตของตัวเอง ไม่ปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม เป็นเหยื่อของชะตากรรมอย่างไม่สามารถถอนตัวออกมาได้ โดยบางทีเราก็ไม่รู้ว่า ตัวเองตกอยู่ในกรงขัง ผู้คนในโลกนั้นอาจจะรับรู้แต่เพียงว่า สิ่งที่เป็นไปและสิ่งที่เขาประสบก็คือ “ความเป็นจริง” เขาไม่รู้เลยว่า เพียงเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้มอง ความเป็นจริงก็สามารถแปรเปลี่ยนได้ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกเขาเห็นเท่านั้น

ลองตรองดูนะครับว่ามันยากแค่ไหนกัน


ความหลากหลายของเครื่องมือนำพา

เรามีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะนำพาพวกเขาให้สามารถเห็นว่า มีโลกอีกใบหนึ่งอยู่ และพวกเขาสามารถมีตัวเลือก ไม่จำต้องอยู่ในโลกใบเดิมแต่เพียงอย่างเดียว เครื่องมือหนึ่งก็คือ กิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างบรรยากาศ ประกอบด้วยแสง สี เสียง ที่ทำให้พวกเขาผ่อนคลาย และเข้าสู่คลื่นสมองที่ผ่อนคลาย คือคลื่นอัลฟา1 และกิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ทำให้โหมดปกป้องหรือกลไกป้องกันตัวเองผ่อนคลายลง เหล่านี้เป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ต้องใช้ บางทีเราอาจเรียกมันว่า เครื่องเคียง หรือ อาหารเรียกน้ำย่อยก็ได้ แต่ยังไม่ใช่อาหารจานหลัก

กิจกรรมเล็กๆ นี้ก็เช่นการเดินและหยุด นำด้วยเสียงระฆัง เราจะเปิดเพลงประกอบเป็นเพลงบรรเลงเย็นชื่นใจให้คลื่นสมองที่วุ่นวายแบบเบต้าแก่ๆ คลายลงเป็นเบต้าอ่อนๆ และเพิ่มอัลฟา แสงในห้องก็ปรับให้อ่อนลง รุกรานรุกเร้าน้อยลง ให้ผู้เข้าร่วมมีพื้นที่อันอบอุ่นอบอวลสบายๆ เวลาเดินและหยุดก็มีเสียงกระบวนกรนำพาให้กลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาเช็คความตึงหย่อนของกล้ามเนื้อ และน้อมนำให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลมหายใจ หายใจลึกขึ้น ยาวขึ้น เป็นต้น ระหว่างการเดิน ก็ให้จับคู่กันบ้าง หาประเด็นที่เมื่อคุยกันถามไถ่กันแล้วจะรู้สึกเป็นมิตรต่อกันมากขึ้น


ต่อจากนั้นจึงเริ่มยากว่าจะไปต่ออย่างไร โดยเฉพาะแนวทางการทำกระบวนการซึ่งไม่เน้นแผนมาตรฐานสำเร็จรูป

มาดูว่า มีอะไรให้เลือกได้บ้าง หนึ่ง คือการบรรยาย สอง กิจกรรมทรงพลังต่างๆ ที่เคยทำมา เช่น ผู้นำ ๔ ทิศ เล่าชีวิตวัยเด็ก (ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดฝึกการฟัง) สาม การแบ่งกลุ่ม และให้ทีมกระบวนกรเข้าไปผสมผสาน พูดคุยอะไรแล้วแต่จะตั้งประเด็นขึ้นมา และสี่ อะไรก็ได้ที่คิดขึ้นมาได้ตรงนั้นเลย

การทำกระบวนการในสมัยแรกๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก (ที่จริงก็ยังเป็นนักเรียนอยู่แม้ในเวลานี้) เราเคยบรรยายแบบตัดไม้ข่มนาม คือแสดงความเหนือกว่าทางสติปัญญาเพื่อจะให้ผู้เข้าร่วมเปิดใจยอมรับการนำพาของพวกเราเหล่าทีมกระบวนกร ต้องยอมรับว่า สมัยนั้นโลกภายในของเรายังไม่กว้างและลึกพอที่จะไม่หวั่นไหวกับผู้คนที่อาจจะไม่ยอมรับเรา

แต่สมัยนี้ ยิ่งสองสามปีหลังๆ เราหวั่นไหวน้อยลง และมีท่าทีเป็นมิตรมากขึ้น สามารถวางใจในมนุษย์ แม้บางคนที่แสดงอาการไม่ยอมรับในกระบวนการก็ตาม

ในงานสองวันหลังสุดที่เราทำให้กับองค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเช่นองค์กรอื่นๆ จำนวนมาก ที่คนในองค์กรไม่เคยมีโอกาสคุยกัน ไม่ได้รู้จักกันจริงๆ ไม่ต้องถามหาความเข้าใจ มิตรไมตรีที่จะมอบให้แก่กันและกัน ถือได้ว่าไม่มีอยู่เลย ความท้าทายและประสบการณ์ที่ผมได้รับ ทำให้เข้าใจการเริ่มต้นในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงแรกเริ่มมากขึ้น

สิ่งนั้นคือการประนีประนอม การไกล่เกลี่ยเข้าหาโลกของผู้เข้าร่วม เราไม่จำต้องทำอะไรระดับเทพที่ไกลเกินตัวพวกเขามากเกินไป

เรื่องหนึ่งที่สำคัญในโลกของพวกเขาคือ “คำตอบ” และ “คำอธิบาย” และรูปแบบการบรรยายอย่างทรงพลัง ยังเป็นสิ่งที่สามารถน้อมนำและนำพาพวกเขาดิ่งลึกลงสู่คลื่นสมองแบบอัลฟาได้ และอาจจะสามารถดำดิ่งลึกลงไปถึงคลื่นสมองแบบจิตตื่นรู้ ซึ่งเป็นที่หมายของการนำพาคลื่นสมองให้เปิดออกเพื่อการเรียนรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อเลย เพียงกิจกรรมเล่าเรื่องผู้นำ ๔ ทิศและต่อมาเป็นกิจกรรม ๔ ทิศภาคพิสดาร ก็สามารถนำพาพวกเขาบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดกระบวนการสองวันนี้แล้ว

ประสบการณ์ที่ได้จากการจัดกระบวนการครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า เราไม่ต้องทำอะไรมากมายกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพียงในแต่ละกิจกรรมนั้น เราต้องทำให้เนียนที่สุด และติดตามกระบวนการเรียนรู้ต่อไปอย่างใส่ใจ ให้ใจเราใจเขามาพบกัน หลอมรวมกันได้ และเก็บเกี่ยวหลุมดำหรือสิ่งเย้ายวนที่ปรากฏขึ้น นำมาทำอะไรกับมันได้อย่างทรงพลัง กระบวนการก็สามารถบรรลุถึงฝั่งฟากที่ต้องการจะไปได้

สิ่งที่เก็บเกี่ยวเรียนรู้ระหว่างทางอีกสองประการคือ หนึ่ง การดูแลกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ สอง เสน่ห์ของเนื้อแท้ของเรื่องราว

มาคราวนี้ เจ้าของงานต้องการให้เราตอบโจทย์ขององค์กร ด้วยเหตุนี้ จึงรับโพยหรือคำบอกเล่าจากเจ้าของงานซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรด้วย เธอได้ระบุชื่อบุคคลระดับนำที่ต้องการให้พวกเราช่วยนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ๓-๔ คน ซึ่งผมเองก็จะอาศัยการบรรยายที่ทรงพลังเพื่อจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ รวมทั้งใช้โอกาสของการพูดคุยกันช่วงพักเข้าไปพูดคุยกันในระดับลึกพอสมควร นอกจากบทบาทของการเป็นกระบวนกรแล้ว เราก็แถมมิติของการเป็นที่ปรึกษาองค์กรไปด้วย ช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาระดับลึก ซึ่งการพูดคุยในวงใหญ่ไม่สามารถไปถึงได้ พอได้ใจคนกลุ่มนี้มาแล้ว พลังแห่งการน้อมนำกลุ่มก็สามารถเกิดได้ง่ายขึ้น

ประการที่สอง เสน่ห์ความเป็นเนื้อแท้ของเรื่องราว ความเป็นจริงขององค์กรคือ ปัญหาขององค์กรและคนทำงานมีเสน่ห์ของมัน มันเป็นหลุมดำ ถ้าจัดวางดีๆ ด้วยถ้อยคำหรือโจทย์ที่ทรงพลัง มันจะมีแรงดึงดูดมหาศาล สามารถนำพาผู้คนให้ปรับเปลี่ยนคลื่นสมองสู่แดนฝันซึ่งจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกมาบรรจบกันได้ และสามารถนำพาให้พวกเขาค่อยๆ ทำความรู้จักกับโลกภายใน ตลอดจนค่อยๆ เห็นความเป็นไปได้ของการเข้าไปเปลี่ยนแปลงโลกภายในของตนเอง เปลี่ยนแปลงเลนส์ที่ใช้มองโลกจากโลกตามยถากรรมมาเป็นโลกที่ตนเองสามารถเลือกได้

  1. อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “จิตตปัญญากับคลื่นสมอง” โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ที่ http://jitwiwat.blogspot.com/2006/04/blog-post_29.html

Back to Top