ความสุขจากความสัมพันธ์ กระบวนการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2559

ความสุขในชีวิตคืออะไร อาจเป็นคำถามที่ใช้ทบทวนชีวิตตนเอง หรือถามคนใกล้ชิดเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิต คำตอบที่มีต่อคำถามนี้ นอกจากทำให้รู้ว่าความสุขคืออะไร ยังทำให้เข้าใจมุมมองที่ผู้ตอบแต่ละคนมีต่อความสุข รวมทั้งทำให้เข้าใจความหมายเกี่ยวกับความสุขของสังคมได้อีกด้วย

ผู้เขียนได้ยินเรื่องราวการทำวิจัยเรื่องความสุขของผู้สูงอายุในภูมิภาคอาเซียน1 จาก พรรณภัทร ปลั่งศรีเจริญสุข เพื่อนที่เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอลงภาคสนามเพื่อศึกษาความสุขของผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ไตหรือไทจาก ๕ ประเทศ คือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม และเบื้องต้นพบว่า ความสุขของผู้เฒ่าไทเหล่านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวเหมือนกัน โดยแบ่งที่มาของความสัมพันธ์ได้เป็น ๕ ประเภท คือ ๑. Area การได้อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับลูกหลาน อยู่ในชุมชนที่ตนเองมีส่วนร่วมในกิจกรรม ๒. Belief การได้ทำตามความศรัทธา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ๓. Communication การได้สื่อสารความรู้ของตนเองให้ลูกหลานและสังคม ๔. Development ความภูมิใจที่ความรู้ความสามารถของตนเป็นที่ยอมรับและนำไปพัฒนาต่อยอดได้ และ ๕. Enjoy Happiness การได้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและทำงานที่มีความสุข เช่น ฟ้อนรำ การละเล่น ทอผ้า ขายของ

หลังจากคุยกันถึงงานวิจัยของเธอแล้ว เราได้ช่วยกันออกแบบกิจกรรม “๑๐๐ ปีแห่งความสุข” เพื่อทำความเข้าใจกับความสุขของคนไทยในพื้นที่ชานกรุงเทพฯ บ้าง2 โดยใช้มุมมองเชิงประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนสนใจมาทำเส้นเวลาความสุข (Happiness Timeline) ที่บรรจุเรื่องราวจากประวัติชีวิตของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ ๗๐ คน ซึ่งหลากหลายทั้งเพศ วัย บทบาททางสังคม และพื้นที่ชุมชน



ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุจาก ๓ พื้นที่ คือ ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม และตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น เช่น เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ครูกศน. นักการศึกษา นักพัฒนาชุมชน และตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสุดท้ายคือกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ และ ๓ ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผู้เขียนเริ่มกิจกรรมด้วยการบรรยายสั้นๆ ถึงแนวคิดการทำประวัติชีวิตว่า เป็นการดึงความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมาเรียบเรียงตามลำดับเวลา และเนื่องจากความทรงจำของคนคนหนึ่งนั้นแยกไม่ออกจากสังคมที่เขาอยู่ เราจึงสามารถนำความทรงจำของแต่ละคนมาเชื่อมต่อเป็นภาพใหญ่ของสังคมได้ จากนั้นแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น ๘ กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มต้องมีทั้งผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น และนักศึกษา เพื่อให้ได้ผลัดกันเล่าถึงความสุขที่สำคัญในความทรงจำในแต่ละปีของชีวิต และมีคนหนึ่งคอยเขียนสรุปประเด็นความสุขและปี พ.ศ. ของความสุขนั้นลงกระดาษสีเล็กๆ แผ่นละ ๑ ความสุข เวลาเพียง ๓๐ นาทีของการพูดคุยอบอวลไปด้วยความสุขหลากอารมณ์ ทั้งสนุกสนานเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และซาบซึ้ง ประทับใจจนบางคนต้องปาดน้ำตา

กิจกรรมช่วงสุดท้ายคือ การให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มเล่าถึงความทรงจำเรื่องความสุขของสมาชิกในกลุ่ม และนำแผ่นกระดาษความสุขของทั้งกลุ่มมาติดเรียงบนเส้นเวลา ๑๐๐ ปีที่ทำเตรียมไว้ ทำให้เห็นความสุขของคนแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิต โดยความสุขของกลุ่มนักศึกษามักเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับตนเอง เช่น การได้ไปเที่ยว การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ขณะที่ความสุขของผู้ใหญ่ทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สูงอายุนั้นขยายขอบเขตจากตนเอง ไปสู่ความสุขจากความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวและชุมชน ทั้งกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ลูกเรียนจบ พ่อหายป่วย ได้อยู่กับครอบครัว ลูกหลาน ได้อยู่กับพ่อในนาทีสุดท้ายก่อนพ่อเสียชีวิต และความสุขที่สัมพันธ์กับชุมชน เช่น สุขที่ได้เป็น อสม. เป็นพ่อเพลงแม่เพลงของชุมชน ทำบุญที่วัดในหมู่บ้าน และความสุขจากการทำงาน เช่น ทำการเกษตร

กิจกรรมเล็กๆ นี้ทำให้เห็นว่า ความสุขของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุไทยนั้นสอดคล้องกับความสุขของผู้เฒ่าชาวไทในอาเซียนมากทีเดียว และเมื่อมองในระดับโลก ข้อค้นพบนี้ก็สอดคล้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขของมนุษย์ที่ใช้เวลาศึกษานานที่สุดในโลกของโครงการ Harvard Study of Adult Development3

งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๓๘ จนถึงปัจจุบันก็ ๗๘ ปีแล้ว คณะนักวิจัยติดตามศึกษาชีวิตวัยรุ่นชาย ๒ กลุ่ม คือกลุ่มนักศึกษาชายปีที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด จำนวน ๒๖๘ คน ซึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง กับกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ ๑๒-๑๖ ปีที่เติบโตในเมืองบอสตัน ซึ่งลำบากและยากจน จำนวน ๔๕๖ คน ทุก ๒ ปี ผู้ร่วมโครงการวิจัยทั้ง ๗๒๔ คนจะถูกขอให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความพอใจในชีวิต ชีวิตแต่งงาน หน้าที่การงาน ความพอใจทางสังคม และได้รับการตรวจสุขภาพทุก ๕ ปี ปัจจุบันเหลือผู้ร่วมโครงการที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง ๖๐ กว่าคน ซึ่งอายุเลย ๙๐ ปีกันแล้ว

โรเบิร์ต วาล์ดินเจอร์ ผู้อำนวยการวิจัยรุ่นที่ ๔ กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานวิจัยว่า คำตอบของการมีชีวิตที่ดีคือ ความสัมพันธ์ที่ดี โดยมีบทเรียนสำคัญ ๓ ข้อ คือ ๑. การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างทำให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาว ในทางกลับกัน ความเหงาและโดดเดี่ยวทำให้มีความสุขน้อยลง สุขภาพไม่ดี และอายุสั้นลง ๒. คุณภาพของความสัมพันธ์สำคัญกว่าปริมาณ และ ๓. ความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงช่วยให้สุขภาพร่างกายดีเท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อสมองด้วย

ทั้ง ๓ กรณีใน ๓ บริบท คือความสุขของผู้สูงอายุในอาเซียน ความสุขของคนสามกลุ่มในชานเมืองกรุงเทพฯ และความสุขของคนสองชนชั้นทางสังคมในสหรัฐอเมริกา ทำให้เราเห็นจุดร่วมทางวัฒนธรรมของมนุษย์ เรื่องความสุขที่เกิดจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบตัวและพื้นที่ในชีวิตประจำวัน อันเป็นความสุขที่มีความหมายลึกซึ้ง และประณีตกว่าการแสวงหาความสุขแบบฉาบฉวยในโลกทางวัตถุตามภาพที่โลกยุคปัจจุบันพยายามสร้างขึ้น ซึ่งเป็นความสุขที่จำกัดอยู่เฉพาะตนเอง และที่สำคัญ การเข้าใจและสัมผัสได้ถึงความสุขที่เกิดจากความสัมพันธ์ ยังเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมแบบเกื้อกูลกันในสังคม เพราะทำให้เราเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสิ่งต่างๆ โดยไม่แบ่งแยกหรือกีดกัน

  1. จากงานวิจัย “การศึกษาแนวทางส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรมของผู้สูงอายุในอาเซียน” ในแผนงานวิจัยเรื่องการศึกษาแนวทางส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขของผู้สูงอายุในอาเซียน ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินโครงการ.
  2. จัดในโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เรื่อง “วัฒนธรรมกับการสร้างสุขในผู้สูงวัย” วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมวัดไร่ขิง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. โรเบิร์ต วาล์ดินเจอร์ ผู้อำนวยการวิจัยเล่าถึงงานวิจัยนี้ไว้บนเวที TEDx Beacon Street พฤศจิกายน 2558.

Back to Top