ทำบุญแต่ห่างธรรม



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2559

เคยเข้าใจกันว่าการทำบุญเป็นเรื่องของคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อคนเหล่านี้แก่ตัวหรือล้มหายตายจากไป การทำบุญก็จะลดน้อยถอยลง แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้การทำบุญไม่ได้ลดน้อยลงเลย หรือถึงลดน้อยลงก็ไม่มากนัก คนรุ่นลูกซึ่งบัดนี้กลายเป็นพ่อคนแม่คนก็ยังนิยมทำบุญกันอยู่ สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งก็คือปัจจุบันเครื่องสังฆทานหาได้ง่ายตามห้างใหญ่ๆ ไม่ได้กระจุกอยู่ในร้านสังฆทานหรือเสาชิงช้าดังแต่ก่อน

การนิยมทำบุญตามวัดวาอารามนั้นเป็นเรื่องดี หากเป็นการต่อยอดจากความดีที่เคยทำกันเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว แต่หากการทำบุญดังกล่าวกลับทำให้ความดีที่เคยทำหรือพึงกระทำลดน้อยถอยลง ก็คงจะถือว่าเป็นเรื่องดีไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นี้คือแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น

ครอบครัวหนึ่งมีแม่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ การดูแลแม่ตกเป็นหน้าที่ของลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งทิ้งอาชีพการงานมาพยาบาลแม่นานนับสิบปี โดยที่พี่ๆ แทบจะไม่ได้มาช่วยเหลือเลยนอกจากให้เงินค่าดูแล วันหนึ่งน้องสาวมีธุระนอกบ้าน จึงขอให้พี่สาวมาช่วยดูแลแม่แทนเธอสักวัน คำตอบที่ได้รับจากพี่สาวคือ ไม่ว่างเพราะจะไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งชานเมือง

การที่พี่สาวอยากทำบุญที่วัดนั้นเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ไม่ถูกต้องแน่หากเข้าใจว่าการทำบุญต้องทำที่วัดหรือทำกับพระเท่านั้น การดูแลแม่ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน คำตอบดังกล่าวของพี่สาวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับบุญที่คับแคบและคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก จะว่าไปแล้วก่อนที่จะทำบุญกับพระที่วัด สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการทำบุญกับพ่อแม่ที่บ้าน การไปทำบุญกับพระ โดยไม่สนใจพ่อแม่ที่เจ็บป่วยนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้ใฝ่ธรรม


บางรายพ่อแม่ไม่ถึงกับเจ็บป่วย แต่ก็ชรามาก แม้กระนั้นลูกก็ปล่อยให้พ่อแม่ทำงานบ้านตามลำพัง ทั้งกวาดบ้าน ทำครัว ล้างจาน ซักผ้า ส่วนลูกแค่ไปทำงานหาเงิน กลับมาบ้านก็ขลุกอยู่ในห้องของตัว เสาร์อาทิตย์ก็เข้าวัดทำบุญหรือไปปฏิบัติธรรม ไม่สนใจช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่บ้านเลย จนบางคราวพ่อแม่เหนื่อยถึงกับเป็นลม เพื่อนบ้านอดสงสัยไม่ได้ว่าความใฝ่บุญกับความกตัญญูนั้นเป็นคนละเรื่องกันหรือ

มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้อยู่ว่าการดูแลพ่อแม่นั้นเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังนิยมทำบุญกับพระมากกว่าที่จะทำบุญกับพ่อแม่ เหตุผลก็เพราะว่า การทำบุญกับพระนั้น ทำได้ง่ายกว่า กล่าวคือเพียงแต่ถวายเงินเท่านั้น และใช้เวลาไม่นาน ขณะที่การทำบุญกับพ่อแม่ นั้น ต้องใช้ทั้งแรงและเวลา เช่น ช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน ทำอาหารให้กิน หากท่านเจ็บป่วย ก็ต้องเช็ดตัว ป้อนข้าว บางครั้งก็ต้องอุ้มขึ้นและลงเตียง คนทุกวันนี้ชอบอะไรที่สะดวก ง่าย และเร็ว การทำบุญกับพระจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการทำบุญกับพ่อแม่

ที่สำคัญคือความเชื่อว่าถ้าทำบุญกับพระ โดยเฉพาะพระที่มีคุณวิเศษหรือเกจิอาจารย์ ก็จะทำให้เกิดอานิสงส์มาก เช่น มั่งมี ประสบโชค ซึ่งบางสำนักสรุปเป็นคำขวัญว่า “รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง” ขณะที่มีความเข้าใจกันว่าการดูแลพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนธรรมดานั้นไม่ทำให้เกิดอานิสงส์ดังกล่าว พูดอีกอย่างคือ การทำบุญกับพระนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่า (ไม่ต่างจากการซื้อหุ้นตัวสวยๆ) อีกทั้งยังสามารถถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊กให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญได้ ขณะที่การดูแลพ่อแม่นั้นไม่ใช่โอกาสที่จะทำอย่างนั้นได้ง่ายๆ หรือบ่อยๆ

มีหลายคนให้เหตุผลว่า การไปทำบุญที่วัด หรือการไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการช่วยพ่อแม่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ส่งบุญไปให้ท่าน บางรายพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเจ็บป่วย แทนที่จะช่วยพยาบาลท่าน กลับเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน แล้วใช้วิธีแผ่เมตตาหรือส่งบุญมาให้ท่านเพื่อให้หายป่วยไวๆ เขาคงลืมไปว่า พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง “การทำจิต” เท่านั้น แต่ยังสอนเรื่อง “การทำกิจ” ด้วย กล่าวคือ นอกจากน้อมจิตแผ่เมตตาตามหลักพรหมวิหาร ๔ แล้ว ควรบำเพ็ญธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ด้วย ซึ่งข้อหนึ่งได้แก่ อัตถจริยา นั่นคือ การลงมือช่วยเหลือ เช่น ดูแลหรือพยาบาลท่าน แม้จะดูแลทางกายได้ไม่ดีเท่าหมอหรือพยาบาล แต่ก็สามารถให้ความช่วยเหลือทางจิตใจได้ ยิ่งมีประสบการณ์ทางธรรมมามาก ก็ยิ่งอยู่ในวิสัยที่จะให้คำแนะนำทางจิตใจแก่ผู้ป่วยได้ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งช่วยให้ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย หรือรักษาใจให้เป็นปกติได้ นี้เป็นการกระทำที่ให้ประโยชน์หรืออานิสงส์มากกว่าการส่งบุญมาให้หลายเท่า

อันที่จริงจริยวัตรของพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างให้แก่เราได้ในเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบว่ามีผู้ประสบทุกข์ เช่น เจ็บป่วย ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะส่งบุญไปให้เขาเหล่านั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทำคือ เสด็จไปช่วยเหลือเขาเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เช่น พยาบาล (ดังกรณีพระติสสะ) หรือให้คำแนะนำทางธรรม (ดังกรณีนกุลบิดาและทีฆาวุอุบาสก) พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำเช่นเดียวกัน

การทำบุญนั้นมีความหมายกว้างขวางกว่าการให้ทาน และการช่วยเหลือผู้คนนั้นเราสามารถทำได้มากกว่าการส่งบุญไปให้เขา แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากกำลังใช้การทำบุญเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการทำความดีขั้นพื้นฐาน มิใช่แค่ละเลยการทำดีต่อผู้ประสบทุกข์ที่เป็นคนแปลกหน้าเท่านั้น หากยังละเลยที่จะกตัญญูต่อบุพการีหรือผู้มีพระคุณ

ใช่หรือไม่ว่าการทำบุญของผู้คนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ แรงผลักดันสำคัญคือ ประโยชน์ส่วนตน เช่น หวังความมั่งมี ร่ำรวย โชคลาภ หาใช่ความมีน้ำใจ หรือความตั้งใจที่จะลดละกิเลสไม่ เมื่อมีความเห็นแก่ตัวเป็นแรงจูงใจในการทำบุญ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงละเลยได้แม้กระทั่งการช่วยเหลือบุพาการี

เป็นเพราะไม่รู้เท่าทันแรงจูงใจดังกล่าว ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ การทำบุญของคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นการเดินห่างจากธรรม สวนทางกับบุญที่แท้จริง และสร้างปัญหาให้แก่สังคม

Back to Top