พฤศจิกายน 2017

จุดอ่อนของความหลง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560

ธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตก็คือพยายามอยู่รอดให้ได้และเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์อกุศลก็มีธรรมชาติคล้ายๆ กัน มันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเติบใหญ่และแพร่ขยายไปเรื่อยๆ มันจะสั่งให้เราทำทุกอย่างเพื่อเราจะได้จมอยู่ในอารมณ์นั้นนานๆ เวลาเราโกรธใคร บางครั้งเรากลัวว่าจะลืมโกรธเขา จึงต้องตอกย้ำ เช่น สักชื่อเขาไว้ที่แขนบ้าง เขียนชื่อติดกระจกในห้องนอนบ้าง เพื่อย้ำเตือนว่าไอ้นี่มันเลว จะต้องโกรธมันชั่วฟ้าดินสลาย

ในทำนองเดียวกัน เวลาเราเศร้า ความเศร้าจะบงการให้เราอยู่ในอำนาจของมันไปเรื่อยๆ สังเกตไหมเวลาเศร้าเราอยากฟังเพลงอะไร อยากฟังเพลงสนุกหรือเปล่า ไม่อยากหรอก เราอยากฟังเพลงเศร้า เพื่ออะไร เพื่อเศร้าหนักขึ้นๆ ถามว่าอะไรสั่งให้เราฟังเพลงเหล่านั้น ความเศร้ามันสั่ง มันสั่งใจเราว่าให้เปิดแต่เพลงเศร้าๆ มันจะได้ครองจิตใจเราไปนานๆ นี้คืออุบายของมัน

สุดท้ายมันก็จะบงการให้เราคอยปกปักรักษามันไม่ให้อ่อนแรง เวลาเราโกรธใครบางคน ถ้าหากมีเพื่อนแนะนำเราว่า ให้อภัยเขาไปเถอะ ความโกรธมันจะสั่งให้เราเล่นงานเพื่อนคนนั้นทันที เช่น ต่อว่าเขา หาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับคนนั้น เขาไม่รักเราจริง ฯลฯ ความโกรธมันสั่งให้เราทำเช่นนั้น ก็เพราะมันรู้ว่าถ้าเราทำตามคำแนะนำของเขา คือให้อภัย ความโกรธก็จะจืดจางหรือเลือนหายไป

อ่านต่อ »

โรงเรียนวัด



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิก

ายน 2560

ระหว่างที่พวกเราอยู่บนรถบัสเพื่อเดินทางลงใต้ มิตรสหายบางคนเอ่ยขึ้นว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งศรัทธา”

ประโยคง่ายๆ นี้ชวนให้ตั้งคำถามอะไรได้มากมาย

ผมได้มีโอกาสเข้าไปในโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในความเข้าใจของผมก็น่าจะเป็นเหมือนโรงเรียนที่สอนภาษาอิสลาม แต่พอเข้าไปเยี่ยมชมแล้วรู้สึกว่านี่ไม่ใช่โรงเรียน แต่ควรจะถูกเรียกว่า “วัด” มากกว่า และเด็กนักเรียนที่มาเรียนก็ควรจะถูกเรียกว่าเป็น “เณร” หรือ “พระ” เสียมากกว่า เพราะบาบอหรือคุณครูที่สอน (ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือน) จะเน้นถ่ายทอดความรู้จากคัมภีร์อัลกุรอานเป็นหลัก และเด็กๆ ที่มาอยู่อาศัยต้องมากินนอนเหมือนโรงเรียนประจำและไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาในโรงเรียนยกเว้นว่าจะได้ปิดผ้าคลุมผมเป็นที่เรียบร้อย (ไม่ว่าจะมาจากศาสนาอะไรก็ต้องมีผ้าคลุมผมเหมือนกันหมด) ความสมถะของการอยู่การกินและการอุทิศตัวเพื่อศึกษาธรรมของเด็กๆ และเยาวชนทำให้ผมรู้สึกเลื่อมใส

บาบอเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนแห่งนี้ยังใช้หลักสูตรเหมือนเมื่อแปดสิบปีที่แล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เด็กที่นี่เมื่อแปดสิบปีที่แล้วเรียนอย่างไร เดี๋ยวนี้ทุกคนก็ยังเรียนเหมือนเดิม ผมรู้สึกตื่นเต้นและอ้ำอึ้ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก จะมีหลักสูตรการศึกษาของใครกันที่สามารถพูดได้แบบนี้ ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษา การวัดผล อะไรต่อมิอะไรมากมายไม่เคยหยุดนิ่งในนามของการพัฒนา คล้ายกับว่าเรากำลังวิ่งไล่ตามจับปลายสุดของรุ้ง ซึ่งมันไม่เคยมีอยู่จริง แต่ที่นี่รากแก้วของเขาหยั่งลงไปอย่างมั่นคง ผมไม่ได้ดูที่ไหนเลย เพียงแค่คุณสบตากับเด็กนักเรียนของที่นี่ซึ่งนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยบนพื้นกระเบื้องสีขาว ในห้องเรียนใหญ่ที่ปราศจากผนังกั้นห้อง เด็กวัยรุ่นราวหนึ่งร้อยคนไม่มีใครก้มหน้าอ่านสมาร์ทโฟน หรือคุยเล่นล่อกแล่ก พวกเขาตั้งใจในสิ่งที่บาบอพูด และเมื่อคุณครูปล่อยมุกตลก ทั้งห้องก็มีเสียงหัวเราะครืนขึ้นพร้อมๆ กัน

อา... นี่ไม่ใช่สวรรค์ของนักการศึกษาทุกคนหรอกหรือ? ทุกวันนี้ผมได้ยินได้ฟังคำพร่ำบ่นจากมิตรสหายซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาบอกว่า “...แววตาของพวกเขาส่วนใหญ่ดูไร้ชีวิต ไม่ได้มีความมุ่งมั่นปรารถนาอยากจะเรียนรู้อะไร คำถามที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ตรงที่ถามออกไปจึงมีแต่ความเงียบ และความอ้ำอึ้งเป็นคำตอบ ไม่ใช่พวกเขาไม่เข้าใจคำถาม แต่มันคือการไม่มีอะไรจะตอบ...”

ส่วนแววตาของเด็กในปอเนาะผมจะบอกอย่างไรดีล่ะ มันมีความจริงอยู่ในนั้น จริงเสียจริงคุณจะตกใจ มันทำให้เรารู้สึกว่าเขากำลังมองมาที่เราว่าเรากำลังมองพวกเขาอย่างไร เมื่อเปิดโอกาสให้พวกเราซักถามเด็กๆ หลายๆ คนก็สอบถามเพื่อไขข้อข้องใจ และบาบอก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ถามเรากลับบ้าง เด็กคนหนึ่งยกมือขึ้นและพูดชัดถ้อยชัดคำว่า “พวกพี่ๆ คิดอย่างไรกับศาสนาอิสลาม?” คำถามสั้นๆ แต่สะเทือนเข้าไปข้างในใจ นั่นสิ ผมถามตัวเอง และรู้สึกโชคดีที่ตนเองไม่ได้รับเลือกให้ต้องมาตอบคำถามนี้ เพราะผมคงจะตอบคำถามนี้ได้ยากเพราะมีสายตาของน้องๆ เป็นร้อยคู่ที่จับจ้องและรอฟังคำตอบ

อันที่จริงทุกประโยคที่เราถามน้องๆ ทุกคนจะวกไปตอบเข้าไปสู่เรื่องคำสอนของศาสดาของเขา โดยไม่ต้องมีการนัดหมายกันไว้ ราวกับว่าทุกลมหายใจของเขาไม่เคยสงสัยต่อการมีชีวิตอยู่ของตนเองเลย เพราะเขารู้ว่าเขาเกิดมาทำไม คำตอบนี้ชัดเจนจนเขาขาดสิ่งที่คนในโลกสมัยใหม่มี นั่นก็คือความลังเลสงสัย ซึ่งเป็นสมบัติของคนในยุคที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า ทุกวันนี้เรามีพระเจ้าองค์ใหม่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว แต่ผมก็แอบสงสัยว่าจะมีใครมีความรู้สึกอิ่มเอมต่อคำตอบที่วิทยาศาสตร์ได้ให้กับเราหรือไม่ ผมอ่านข่าวว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กวัยรุ่นมากกว่าครึ่งเชื่อว่าโหราศาสตร์คือแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศจีนซึ่งเชื่อเรื่องพวกนี้ไม่ถึง ๘ % มันบอกอะไรเกี่ยวกับสภาวะขาดพร่องทางจิตวิญญาณหรือไม่ ในอเมริกา มีบริการด้านความงามชื่อ Mystic Lipstick ที่โฆษณาว่าสินค้าประเภทเสริมความงามจะช่วยเยียวยาจิตวิญญาณได้ ผลคือตอนนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วนเมืองไทยก็ไม่น้อยหน้ากัน เพราะอาจารย์ดังก็ทำลิปสติกปลุกเสกมาขายโดยผ่านการรับรองจาก อย. แล้ว

ตอนผมอยู่ใต้ เวลาไปมัสยิดผมสังเกตเห็นว่าศาสนิกชนของเขาจะสำรวมและมีความเพียร บางที่เขานั่งอยู่ตรงมุมห้องเพียงคนเดียว ปากพร่ำบ่นอะไรบางอย่าง หรือบางทีผมเห็นวัยรุ่นมุสลิมนั่งอยู่ที่บันไดมัสยิด ในมือมีมือถือและใส่หูฟัง แต่สิ่งที่เขาฟังนั้นหาใช่เพลงที่มีเนื้อหาเรื่องอกหักรักคุดแต่เป็นเสียงอ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเขาตั้งใจฟังอย่างซาบซึ้ง นี่ไม่ใช่หรือคือการภาวนา “อยู่กับตัวเอง” ซึ่งกระบวนกรทั้งหลายพยายามบอกกับผู้เข้าร่วมให้ฝึกฝนและทำ พวกเขากำลังอยู่กับตัวเองและพยายามเชื่อมต่อตนเองกับพระเจ้า ซึ่งไม่ได้ทำเล่นๆ แล้วแต่อารมณ์ แต่ทุกวัน วันละห้าเวลา พวกเขาน้อมศิโรราบเพื่อต่อสายตรงถึงพระเจ้าของเขา วันละห้าเวลา!! ผมว่าในเรื่องของจิตวิญญาณ ถ้าคุณยังมานั่งพูดถึงจิตวิญญาณนี่แสดงว่าคุณยังไม่เจ๋งพอ เพราะถ้าหากคุณแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับวิถีดำเนินแห่งชีวิต คุณก็ไม่อาจจะแยกออกมาพูดถึงมันราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอกนู่น

ผมกลับมาดูวัดพุทธของไทยแล้วรู้สึกทอดถอนใจ เรามาไกลเหลือเกิน ไกลออกไปอีกทาง เรามีวัดที่มีหมอดูมืออาชีพมาเปิดออฟฟิศอยู่ในวัด มีการนำเอารูปเคารพของศาสนา เช่น พระราหู พระพิฆเนศ มาประดิษฐสถานซึ่งบางที่ก็โดดเด่นยิ่งใหญ่กว่าพระประธานในวัดเสียอีก ไม่มีแล้วมัคนายกที่ชวนให้ท่านซื้อกระเบื้อง ซื้ออิฐเพื่อช่วยสร้างโบสถ์ แต่เป็นหมอดูที่บอกว่าท่านจะต้องซื้ออะไร ทำพิธีอะไรเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือเสริมดวงชะตา คิดอีกทีหรือมันจะเป็นการส่งเสริมพิธีกรรมในการถวายสังฆทานแบบเวียนเทียนให้กับธุรกรรมธุรกิจในวัดก็ไม่ทราบได้ ส่วนพุทธศาสนิกชนของเราเวลาไปวัดจะมีกี่คนจะพยายามสำรวมกาย สำรวมจิตเพื่อนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนใหญ่ไปถ่ายรูปเซลฟี่ไหว้ประหลกๆ 5 นาที ขอพรนั่นนี่ แล้วก็ออกไปเที่ยวที่อื่นต่อ จากประสบการณ์ตรงที่ผมเคยไปนอนเป็นเด็กวัดที่วัดไทยใน L.A. ศาสนิกชนคนไทยก็ดี คนลาวก็ดี ที่เดินเข้ามาในวัดสิ่งแรกที่ต้องการก็คือ ขอให้พระสงฆ์ทำพิธีเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์หรือให้ค้าขายร่ำรวย ประเภทที่จะเข้าวัดมาเพื่อจะขอปรึกษาหัวข้อธรรมกับพระสงฆ์นั้นไม่เห็นมี

ที่บอกว่า “ศาสนาแห่งปัญญา” ดูจะเป็นคำกล่าวที่เกินจริงไปเสียแล้ว

ผมมาคิดถึงโรงเรียนปอเนอะ แล้วทำให้รู้สึกเสียดายเหลือเกินที่ธรรมเนียมการเรียนในวัดได้ถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ ๕ การแยกส่วนการศึกษาให้เป็นแบบสมัยใหม่ ทำให้รากเหง้าบางอย่างที่สืบทอดกันมาสูญหายไป ผมตกใจเมื่อรู้ว่าเด็กในโรงเรียนปอเนาะที่ห่างไกลความเจริญหลายคนมาจากกรุงเทพฯ เมืองฟ้าเมืองอมร และพ่อแม่ส่งพวกเขามาเรียน การส่งลูกเข้าโรงเรียนปอเนาะเปรียบเหมือนความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของวงศ์ตระกูล คำถามที่เราถามเด็กปอเนาะก็คือ “จบไปแล้วจะไปทำอะไร” เราถามคำถามเขาโดยเอาโลกทัศน์อรรถประโยชน์นิยมอันคับแคบของโลกสมัยใหม่ไปครอบทับเขา แต่คำตอบที่ได้คือการอุทิศชีวิตของเขาให้กับพระเจ้า คำตอบนี้ทำเอาพวกเรางงงวย ไม่เข้าใจ เพราะคนสมัยใหม่ทุกสิ่งทุกอย่างคือการแลกเปลี่ยน แลกไปได้มา ตำแหน่งที่เด็กน้อยยืนตอบเรานั้นอยู่กันคนละระนาบความเข้าใจของพวกเรา

มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับคนยุคนี้ที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ สำหรับคนที่ไม่เคยเริ่มถามตัวเองว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร เราย่อมไม่มีหูเพื่อที่จะฟังจากคนที่ได้ค้นพบความหมายของการดำรงอยู่โดยสิ้นสงสัย แต่จะกลัวไปไย ในเมื่อเรายังมีเงินซื้อลิปสติกปลุกเสกเมตตามหานิยมซึ่งได้ตราประทับรับรองจาก อย.

Back to Top