มกราคม 2015

ติดยา เยียวยาได้จริงล่ะหรือ?



โดย ภัทร กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มกราคม 2558

หลายครั้ง เวลาไปทำเวิร์คช็อป คนส่วนใหญ่เมื่อได้ฟังประสบการณ์การเลิกยาของผม จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หลายคนชื่นชมว่าผมเก่ง ผมใจแข็งที่สามารถเลิกได้ บางคนบอกว่าเป็นเพราะผมมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ถ้อยคำที่ผมบอกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะผมเป็นคนพิเศษ ดูจะไม่เข้าหูพวกเขา สิ่งที่ผมตั้งใจจะบอกคือ ผมเลิกติดยาได้เพราะผมได้รับการดูแลที่ดี ผมพูดเสมอว่าที่ผมเป็นตัวเป็นตนทุกวันนี้ก็เพราะลุงใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) และลุงเองก็ไม่ใช่ผู้วิเศษที่ใช้คาถาเสกให้ผมเลิก แต่เป็นเพียงคนที่ชอบการเรียนรู้ ศึกษาลงลึกในเรื่องที่ตนสนใจ นั่นคือ “การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์” และนำมาปฏิบัติจริงทดลองจริงเท่านั้น

ตอนนั้น พอเลิกยาได้แล้ว ผมก็เรียนกับลุงต่อในเรื่องที่แกใช้เยียวยาผมนั่นแหละ เริ่มทำงานกับผู้คนจนเห็นว่าคนทั่วไปในสังคมก็ป่วยแทบไม่แตกต่างจากคนเสพติดเลย เพียงแต่การเสพติดคืออาการป่วยที่สังคมไม่ยอมรับ เวลาผ่านไปทำให้คิดว่า “เมื่อเราสามารถช่วยคน (ป่วย) ทั่วไปให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เมื่อเราเองก็ได้รับการดูแลจนเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วเราจะเอาเรื่องพวกนี้กลับไปช่วยผู้เสพติดและครอบครัวของพวกเขาบ้างไม่ได้หรือ?”

อ่านต่อ »

Mind Feed



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 มกราคม 2558

ในแต่ละวินาทีผู้คนทั่วโลกอัพสเตตัสในเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง ๕,๐๐๐ เรื่องราว (มิติของ ‘THEY’) แต่นั่นยังเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนครั้งที่นิวรอนในสมองยิงสัญญาณไฟฟ้าเข้าหากัน (อย่างน้อยหนึ่งร้อยล้านล้านครั้ง)

สัญญาณนิวรอนในสมองเป็นการมองในมิติ “IT” สำหรับ เคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) ส่วนจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งคือมิติของ “I” แหล่งอ้างอิงทางพุทธศาสนาระบุเอาไว้ว่า ในเวลาอึดใจเดียว “จิต” เกิดดับไปแล้วถึงหนึ่งล้านล้านดวง

ในมิติของ “US” ซึ่งหมายถึง “พวกเรา” ในแต่ละวัน พวกเราต่างยิงถล่มกันด้วยความคิดจากจิตสำนึกของเราซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านภาษาลงสู่โครงสร้างทางดิจิตอล คือโซเชียลมีเดียอันทันสมัย และเข้าถึงได้ทุกที่ ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ความคิดของปัจเจกบุคคลจะถูกเข้าถึงและถูกถ่ายทอดให้แก่กันได้ง่ายดายเช่นนี้

อ่านต่อ »

นิเวศภาวนา พิธีกรรมสู่การเดินทางทางจิตวิญญาณ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2558

เมื่อวันที่ ๒๒-๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ สถาบันขวัญแผ่นดินได้จัดกิจกรรมเรียนรู้ “นิเวศภาวนา” (Eco-Quest) ณ ป่าผลัดใบบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยการภาวนาอดอาหาร ๓ วันเต็ม เพื่อให้ร่างกายได้เผชิญกับสภาวะอดอย่างเต็มที่และข้ามผ่านไปสู่ภาวะของการสร้างใหม่หรือการเกิดใหม่ อาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนเองทำแต่งานอบรมและพัฒนาคนในห้องแอร์ โรงแรม หรือรีสอร์ทต่างๆ แม้จะไกลจากความวุ่นวายของเมือง แต่ยังรู้สึกโหยหาความใกล้ชิดจากธรรมชาติที่มากกว่าพื้นที่จัดแต่งสีเขียวด้วยสายตา มุมมอง และน้ำมือของมนุษย์

ความปรารถนาที่ลึกซึ้งของตัวเขียนเองในการเดินทางสู่พื้นที่ป่า เป็นเหมือนกับการได้ไปภาวนาประจำปี แม้จะไม่ได้ไปในฐานะผู้ละวางภารกิจการงาน เพราะมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกกับธรรมชาติ แต่รู้สึกได้ว่าป่ามีพลังการเยียวยาสูงอย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนกับมีมนต์บางอย่างที่รอคอยให้เราค้นพบ ดังที่ บิล พล็อตคิน (Bill Plotkin) นักจิตวิทยาเชิงธรรมชาติ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “ความทุกข์ของลูกค้าของเขามักมีรากฐานมาจากชีวิตที่ขาดพร่องจากธรรมชาติ จากความลี้ลับ และการมีชีวิตในสังคมอย่างมีความหมาย อันเป็นความปรารถนาทางจิตวิญญาณขั้นพื้นฐาน แม้จิตบำบัดแบบดั้งเดิมที่ทำๆ กันมาในห้องหับ อาคารที่มั่นคงถาวร ก็ไม่สามารถตอบสนองความกระหายทางจิตวิญญาณที่ต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ป่าที่ไม่มีอะไร “เชื่อง” กระแสน้ำที่กระโชกกระชากแรงตามจังหวะ ทางเดินอันเลาะเลี้ยววกวนในป่าใหญ่ และสัตว์ป่าที่อาจคึกคะนอง

อ่านต่อ »

ครูผู้เปลี่ยนชีวิตนักเรียน ด้วยการเปลี่ยนวิถีการสอน


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มกราคม 2558

ช่วงปีใหม่ ผมได้รับคำอวยพร บทกลอน คำคม เรื่องเล่าและเรื่องราวดีๆ มากมายจากเพื่อนๆ และลูกศิษย์ที่ส่งมาให้ มีอยู่ข้อความหนึ่งที่ผมอ่านแล้ว กระตุ้นให้ผมคิดโยงถึงเรื่องการศึกษาของไทยขึ้นมาทันที ข้อความนั้นคือ “อ่านหนังสือออก สำคัญ อ่านเหตุการณ์ออก สำคัญกว่า อ่านคนอื่นออก สำคัญยิ่ง อ่านตนเองออก สำคัญที่สุด”

ดูเหมือนการศึกษาของไทยจะเน้นเรื่องแรกเป็นหลัก เรื่องที่สองรองลงไป ส่วนเรื่องที่สามและสี่ไม่ได้เน้น เพราะการศึกษากระแสหลักของเราให้ความสำคัญกับการสอนหนังสือ/วิชา มากกว่าสอนคน/ชีวิตกับสังคมและสรรพสิ่ง

อ่านต่อ »

ฟังด้วยใจ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มกราคม 2558

“แก้ว” ป่วยด้วยโรคมะเร็ง อาการของเธอลุกลามจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรงพยาบาลที่เธอรักษาตัวได้ส่งจิตอาสาผู้หนึ่งชื่อ “แพรว”มาเยี่ยมเธอ มาเป็นเพื่อนรับฟัง มาวันแรกแพรวก็ตั้งหน้าตั้งตาคุยฝ่ายเดียว และเรื่องที่คุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของแพรวทั้งนั้น แก้วซึ่งเป็นคนไข้ก็ดีมาก เวลาแพรวมาเยี่ยมและพูดมากๆ แก้วก็ตั้งใจฟัง บางครั้งแพรวพูดจาวกวน แก้วก็ช่วยจับประเด็นให้เธอ การเยี่ยมเป็นเช่นนี้อยู่นานนับเดือน

วันหนึ่ง แพรวมาหาแก้ว สีหน้าดูดีมากเธอเล่าว่าเธอเคยมีปัญหาทางจิต และเคยไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะมาเป็นจิตอาสา แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย หมอเอาแต่ให้ยา เธอไม่ชอบ ตอนหลังเธอจึงไม่ได้ไปหาหมอ พอมีการเปิดรับจิตอาสา เธอก็เลยสมัครมาทำงานนี้ ล่าสุดเธอได้ไปหาจิตแพทย์อีก หมอทักว่าเธอดูดีขึ้นเยอะ แล้วถามว่าเธอไปรักษาที่ไหนมา เธอก็บอกว่าเธอไม่ได้ไปรักษาที่ไหนเลย นอกจากมาเป็นจิตอาสาให้แก้ว เธอเชื่อว่าที่เธอมีอาการดีขึ้นก็เพราะแก้วช่วยรับฟังเรื่องราวของเธออยู่เสมอ จึงอยากขอบคุณแก้วมาก

อ่านต่อ »

Back to Top