มกราคม 2007

ศตวรรษสุดท้ายของเรา

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มกราคม 2550

ชื่อบทความนี้เอามาจากหนังสือที่เขียนขึ้นมาเมื่อสองปีก่อน โดย เซอร์ มาร์ติน รีส นายกราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งอังกฤษคนปัจจุบัน (Sir Martin Reese: Our Final Century, 2004) และได้รับการตอบสนองจากนักวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกแตกต่างกันไป ตั้งแต่เห็นด้วยทั้งหมดไปจนถึงไม่เห็นด้วยเลย เพราะเหมือนกับนวนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่ เซอร์ มาร์ตินไม่ได้เขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์และกล้าหาญพอที่จะบอกว่า เขาหมายความเช่นนั้นจริง เซอร์ มาร์ติน กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า ไม่เพียงแต่อารยธรรมของมนุษย์เท่านั้นที่จะล่มสลายหายไปทั้งหมด แต่แม้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์เองก็จะพลอยสูญพันธุ์ไปด้วย นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงชื่นชมความกล้าหาญของ เซอร์ มาร์ติน รีส ที่กล้าเอาชื่อเสียงมาเป็นเดิมพัน เพื่อยืนยันความเห็นและความเป็นห่วงโลกธรรมชาติของเขาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้เขียนได้นำข้อมูลทั้งหมดนั้น รวมทั้งข้อมูลของ สตีเฟน บายเออร์ (Stephen Byers) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของอังกฤษ ประธานคณะทำงานดินน้ำป่าอากาศนานาชาติ (International Climatic Taskforce) ที่บอกว่า มนุษยชาติมีเวลาเหลืออีกเพียงทศวรรษเดียว และจากหนังสือของ เจมส์ เลิฟล็อค (James Lovelock) ที่จะกล่าวต่อไป พูดในที่ต่างๆ สามสี่รายการก่อนสิ้นปี ๒๐๐๖ ไม่กี่วัน และก่อนการวางระเบิตหลายจุดในใจกลางกรุงเทพฯ ปรากฏว่าผู้ฟังแทบทั้งหมดนั่งนิ่งเงียบกริบไปตามๆ กัน จริงๆ แล้วเรื่องความพินาศหายนะของระบบนิเวศโลก ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ด้วยระบบทุนนิยมเศรษฐกิจเสรีกับเทคโนโลยีล้างผลาญทรัพยากรของโลกนั้น มีนักวิทยาศาสตร์ได้เขียนเอาไว้มากมาย กระทั่ง ริชาร์ด ลีกคีย์ เขียนไว้เป็นหนังสือที่ชี้บ่งสภาพการณ์ที่เราอาจเรียกว่าสภาวะโลกแตกครั้งที่หก (Richard Leakey: The Sixth Extinction, 1996) ว่า “สภาพโลกแตก (mass extinction) ที่เกิดกับโลกแห่งชีวิตมาแล้วห้าครั้งนั้น เราไม่รู้ หรือพิสูจน์ไม่ได้หมดว่าเป็นเพราะอะไร แต่ครั้งต่อไปนี้เรารู้ว่าเกิดจากฝีมีอของเราเอง”

การคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของ เซอร์ มาร์ติน รีส นั่น – ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อ บิล จอย ที่ผู้เขียนเอาชื่อบทความของเขาที่ลงใน ไวร์ (Wired) แม็กกาซีนมาตั้งเป็นชื่อหนังสือของผู้เขียนว่า ศตวรรษใหม่ที่โลกไม่ต้องการมนุษย์อีกแล้ว (Why the Future Doesn’t Need Us) เมื่อช่วงต้นศตวรรษ บิล จอย (Bill Joy) เองได้คาดการณ์ไว้คล้ายๆ กับ เซอร์ มาร์ติน รีส หรือในอีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านของจิตวิญญาณ ด้วยญาณทัศนะหรือความรู้เร้นลับ (mysticism) ของสัตเปรม ทายาทของคุณแม่ (The Mother) กับ ศรีอรพินโท (Sri Aurobindo) ที่เชื่อว่ามนุษยชาติจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมดและชีวิตที่จะวิวัฒนาการขึ้นใหม่แทนมนุษยชาติจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีจิตวิญญาณสูงส่งและทรงปัญญาอย่างยิ่ง โดยมีรูปร่างครึ่งแมงกะพรุนครึ่งปลาหมึก (Satprem: Evolution II, 1990)

แท้จริงแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า เซอร์ มาร์ติน รีส คงเชื่อรายงานของคณะทำงานติดตามการเปลี่ยนแปลงดินน้ำป่าอากาศโลก (IPCC) ขององค์การสหประชาชาติที่รายงาน (ครั้งที่สาม) เอาไว้เมื่อปี ๒๐๐๑ (ไอพีซีซีประกาศว่าจะรายงานครั้งต่อไปในปี ๒๐๐๗) แต่รายงานของไอพีซีซีนั้น เป็นทางการและเป็นวิชาการมากเกินไป จนคนทั่วไปหรือผู้อยู่ในอาชีพอื่นๆ หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของดินน้ำป่าอากาศ มักไม่ค่อยติดตามอย่างใกล้ชิดหรือไม่สนใจ ความเป็นวิชาการที่ใช้วิธีวิทยา (methodology) ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้มานานดึกดำบรรพ์ เช่น การทำซ้ำโดยใครที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของกายและพลังงาน อันเป็นเรื่องภายนอกทั้งสิ้น ที่ ธอมัส คุห์น บอกว่าเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว (Thomas Kuhn : Structure of Scientific Revolutions, 1962) ความเป็นวิชาการที่เกินไปเช่นนั้นเองที่ทำให้คนทั่วไป โดย เฉพาะนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สายสังคมผู้นำประเทศมักไม่ได้รับข้อมูลอันสำคัญอย่างยิ่งนี้เท่าที่ควร ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของโลกไม่สามารถทำอะไรที่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการสรรค์สร้างอารยธรรม “สมัยใหม่” ซึ่งก่อความล่มสลายให้กับระบบนิเวศธรรมชาติ ความรับผิดชอบในผลพวงที่ประเทศของตนเหล่านั้นเองเป็นผู้แพร่กระจายอารยธรรมที่ทำลายโลกให้เป็นกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไร้หนทางแก้ไขอยู่ในขณะนี้

เจมส์ เลิฟล็อค นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอีกคนหนึ่งที่พูดเช่นเดียวกับ มาร์ติน รีส, เลิฟล็อคเป็นนักชีวเคมีผู้ตั้งทฤษฏีไกย่า (Gaia theory) หรือโลกที่เป็นประหนึ่งองค์กรชีวิต ที่ทุกวันนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยให้การยอมรับ ในอดีตเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การนาซ่า ผู้คำนวณว่า พิจารณาจากการปราศจากสารเคมีที่เป็นของเสีย (ที่ต้องปล่อยออกมาของสิ่งมีชีวิต) สู่บรรยากาศ (ที่มีเพียงเล็กน้อยบนดาวอังคาร) แสดงอย่างชัดเจนว่าดาวอังคารไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ข้อมูลของ เจมส์ เลิฟล็อค ที่ว่า ดูจะขัดแย้งกับข้อมูลที่องค์การนาซ่าได้มาเมื่อไม่กี่วันมานี้ จากการสำรวจดาวอังคารโดยตรง ที่ชี้บ่งความเป็นไปได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตและน้ำอยู่ภายไต้พื้นผิวของดาวนพเคราะห์คู่เแฝดของโลก นั่นไม่ได้แปลว่า เจมส์ เลิฟล็อค คำนวณผิด แต่เพราะ เจมส์ เลิฟล็อคไม่มีข้อมูลที่ได้จากใต้ดินของดาวอังคารมากกว่า

เจมส์ เลิฟล็อค เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นว่า เผ่าพันธุ์ต่างๆ ของโลกกำลังเดินทางมาถึงจุดพินาศหายนะแทบจะโดยสิ้นเชิงก่อนสิ้นศตวรรษนี้ หรือเมื่อไรที่อุณหภูมิโลกสูงกว่าอุณหภูมิในปี ๑๘๐๐ เกิน ๕ องศาเซลเซียส และจากนั้นอุณหภูมิที่สูงเช่นนั้นหรือกว่านั้นจะอยู่กับโลกเราไปอีกนับเป็นแสนๆ ปี เจมส์ เลิฟล็อค บอกว่า สำหรับเขาเองและนักวิทยาศาสตร์หลากหลายที่ติดตามสภาพดินน้ำป่าอากาศของโลกอย่างใกล้ชิด ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำป่าอากาศและอุณหภูมิโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน “โลกจะร้อนเหมือนเป็น “นรก” ที่มีแต่ความตายอยู่ทุกหนแห่ง ตอนนั้นประชากรโลกที่มีจำนวนมากหลายๆ พันล้านคน จะมีเหลืออยู่เพียง “หยิบมือเดียว” (handful) เท่านั้น” ... “เป็นฝีมือของเราเองที่สร้างความฉิบหายไร้ระเบียบให้กับดาวเคราะห์ดวงนี้ และบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจที่คิดว่าดีอย่างเสรีแต่ไร้การควบคุม แม้แต่ขณะนี้ ที่เสียงระฆังบ่งบอกถึงความตายที่ใกล้เข้ามาอย่างชัดแจ้ง แต่เรายังพูดกันถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการแสวงหาพลังงานทดแทน ราวกับว่าสิ่งที่เรากำลังให้คืนกลับโลก (ที่สุดแสนจะจิ๊บจ๊อย) - ที่เราคิดว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของเรา - ที่โลกแห่งชีวิต หรือไกย่า ควรจะยอมรับ ว่าไปแล้ว เราเหมือนกับเด็กเหลือขอของครอบครัวที่ไร้ความผิดชอบใดๆ นอกจากสร้างแต่ปัญหา หรือเอาแต่จะทำลายและทำร้ายผู้อื่น แล้วคิดว่าเพียงคำขอโทษเท่านั้นก็จบเรื่อง เจมส์ เลิฟล็อค คิดว่าแม้โลกเราจะชอบความหนาวเย็นมากกว่าชอบโลกที่ร้อน แต่ถึงตอนใกล้ๆ สิ้นศตวรรษที่ ๒๑ นั้น คือเมื่ออุณหภูมิโลกอยู่ที่ ๕ องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น เขาเชื่อว่าเมื่อนั้นแทบจะทุกทวีป และแทบทุกมหาสมุทรจะกลายเป็นทะเลทรายหรือน้ำร้อนจัดจนสัตว์น้ำอยู่กันไม่ได้ ยกเว้นเพียงภูมิภาคบางส่วนที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้ที่จะเย็นพอเพราะมีน้ำแข็งเหลืออยู่บ้าง และเป็นภูมิภาคนี้เท่านั้นที่อาจมีเผ่าพันธุ์ของมนุษย์กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ (James Lovelock: The Revenge of Gaia,2006)

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นการคาดการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก (high probabilities) ไม่ว่าหลายคน – รวมทั้งศรีอรพินโทและสัตเปรมที่เป็นผู้ปฏิบัติจิตมาอย่างยาวนาน - จะเชื่อว่า ไม่เพียงแต่อารยธรรมสมัยใหม่เท่านั้นที่จะหายไปทั้งหมด แต่แม้แต่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติก็จะพลอยสูญพันธุ์หายไปทั้งหมดพร้อมกันไปด้วย หรือว่าเผ่าพันธุ์จะเหลือเพียง “หยิบมือเดียว” เช่นไม่กี่ล้านคนอย่างที่ เจมส์ เลิฟล็อค ทำนาย ทั้งหมดนั้นมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนและยืนยันว่าต้องเป็นอย่างนั้นมากกว่าไม่เป็นประเด็นคือมันจะเป็นไปได้จริงหรือไม่? คำตอบที่แท้จริงเราคงไม่รู้ เพราะมันดูจะคาบเกี่ยวกันกับสองมุมมองที่ต่างกัน

ประเด็นแรก มองจากทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ข้อมูลทางโลกดูจะบ่งชี้ไปทางเส้นทางนั้น คือเป็นไปได้ว่าเผ่าพันธุ์ของมนุษย์อาจจะสิ้นสุดก่อนสิ้นศตวรรษที่ ๒๑ นี้ หรือเหลือน้อยเต็มที ดังที่ เซอร์ มาร์ติน รีส และ เจมส์ เลิฟล็อค และนักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดคะเน การสิ้นสุดสูญพันธุ์ของชีวิตย่อมมีผลตามมาของวิวัฒนาการใหม่ หรือการเหลือเชื้อพันธุ์ที่น้อยนิด ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ย่อมให้โอกาสกับการกลายพันธุ์ก็ได้
ส่วนประเด็นที่สอง หากมองในด้านของจิตวิญญาณที่อยู่ในรูปกายของสัตว์โลกทั้งหลาย จิตจะต้องมีวิวัฒนาการผ่านความเป็นอัตตาตัวตนสู่ความหลุดพ้นทั้งนั้น -

ไม่ว่าจิตจะอยู่ในรูปกายอย่างหนี่งอย่างใด รูปกายจึงเป็นแต่ “ทางผ่าน” โดยมีอัตตาที่ให้ความเป็น “ตัวกูของกู” อันเป็นสาเหตุของทุกข์ รูปกายมนุษย์ -ในด้านหนึ่ง - จึงเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการวิวัฒนาการอันเป็นกฎธรรมชาติหรือหลักการของอิทัปปัจจยตาก็ได้ ดังนั้นหากมองจากด้านจิต การสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ของ กายมนุษย์ จึงเป็นเสมือนโอกาสของการมีวิวัฒนาการใหม่ เพื่อให้โอกาสเช่นเดียวกันแก่จิต ทำให้จิตของสัตว์โลกในรูปกายใหม่ สามารถมีวิวัฒนาการทางจิตสู่ความ “หลุดพ้น” ก็ได้ มองจากมุมมองนี้ การสูญสิ้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่มีความสำคัญใดๆ

มองจากประวัติศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่า มนุษย์ไม่น่าจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมด แต่อาจกลายพันธุ์เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปยาวนานนับแสนปีจากการที่มีโลกร้อนมากๆ อย่างที่ไอพีซีซีคาดการณ์ให้ไว้ ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยเลยว่าสุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ว่าด้วยวิวัฒนาการของโลกกายภาพก็ดี วิวัฒนาการของชีวิตที่มีมาถึงมนุษย์และสังคมของมนุษย์ก็ดี วิวัฒนาการของจิตและจิตวิญญาณที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งยังไกลจากแล้วเสร็จก็ดี ทั้งหมดจะจบลงง่ายดายเช่นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการทั้งหมดต้องมีความหมาย จริงๆ แล้ว หากเรามองจากด้านของศาสนาต่างๆ - ไม่ว่าเป็นศาสนาที่มีพระเจ้าหรือศาสนาที่ไม่พูดถึงพระเจ้า เช่น ศาสนาพุทธ - ก็ไม่มีศาสนาใดที่ไม่พูดถึงการสิ้นสุดของโลกและสัตว์โลกอย่างไม่เป็นทางการไว้ เพียงแต่ไม่ได้ระบุเวลา

หากมองจากลัทธิพระเวทย์ที่มีมาเป็นอันดับแรกสุดของศาสนาใหญ่ๆ ของโลก คัมภีร์อุปนิษัทเล่มแรกๆ จะพูดถึง “ลีลา” การละเล่นของพรหมมัน (Brahmam) พระเจ้าผู้สร้างกฎธรรมชาติว่าด้วยวิวัฒนาการของโลกและจักรวาล (เฉพาะจักรวาลนี้) ขึ้นมา ก็เพื่อให้มีมนุษย์มีจิตที่สามารถวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนสามารถสังเกตและรับรู้ว่าจักรวาลและโลกคือสิ่งใด? รู้ว่าจิตสามารถหลุดพ้นความเป็นตัวตน หรือ “โมกษะ” กลับไปรวมเป็นหนึ่งกับพรหมมันได้อย่างไร? นั่นแปลได้ว่าโลกยังต้องรอคอยให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการของจิตเข้าสู่ระดับจิตวิญญาณเสียก่อน แม้ว่าโลกเราในปัจจุบันจะอยู่ในยุคสุดท้าย ที่เรียกว่ากลียุค ซึ่งจะต้องล่มสลายไปพร้อมๆ กับชีวิตอันหลากหลายจากความผันผวนของธาตุสามธาตุ รวมหรือแยกกัน คือ น้ำ ลม และไฟ ก็ตาม

ช่องว่าง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มกราคม 2550

ช่องว่างที่จะเขียนถึงในบทความนี้ ไม่ใช่ช่องว่างทางกายภาพที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป

แต่เป็นช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง เพราะขาดความเข้าใจและพร่องการยอมรับ

เป็นช่องว่างที่เต็มไปด้วยความอิจฉา ริษยา ใส่ร้าย ป้ายสี เพราะขาดความรักและพร่องความเมตตา

ช่องว่างที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ เพราะขาดคุณธรรมและพร่องจริยธรรม

ช่องว่างที่เต็มไปด้วยอวิชชา ความไม่รู้เท่าทันธรรมชาติของสรรพสิ่ง เพราะขาดสติและพร่องปัญญา

ในช่วงชีวิตของผู้เขียน ได้ผ่านพบและคุ้นเคยกับช่องว่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดที่หลายหลาก

บางช่องว่าง ทำให้งุนงง สงสัย ใคร่จะรู้ อยากจะเข้าใจ

บางช่องว่างทำให้โกรธ และบางครั้งถึงกับเกลียด ไม่อยากรู้ ไม่อยากเข้าใจ

ส่วนหนึ่งเพราะไปผูกพันกับสิ่งที่ผ่านพบ พอยึดติดเลยคิดแคบ ขาดสติ

เมื่อตอนเป็นเด็กก็เคยนึกโกรธพ่อ-แม่ และพี่ชาย ที่ไม่ยอมให้เราออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย พอเราหนีไปเที่ยวก็ถูกตี และเหตุผลที่ถูกตี พ่อแม่บอกว่า ที่ตีก็เพราะรักและเป็นห่วง เราก็นึกอยู่ในใจแบบเด็กๆ ว่า ถ้ารักและเป็นห่วงแล้วตีทำไม ถ้ารักลูกจริงทำไมไม่ให้ลูกไปเที่ยวเล่นอย่างมีความสุขกับเพื่อนๆ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของช่องว่างระหว่างวัย

เมื่อตอนได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ได้เรียนรู้ด้านปรัชญา และโดยเฉพาะอนาคตนิยม (Futurism) ก็สงสัยใคร่รู้ เริ่มติดใจกับแนวคิดใหม่ของวิชาอนาคตศาสตร์ ที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับวิชาประวัติศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัยอนาคตก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระเบียบวิธีวิจัยที่เคยเรียนมาก่อน ยิ่งทำให้น่าสนใจใคร่รู้เพิ่มขึ้น เห็นความแตกต่างระหว่างศาสตร์มากขึ้น กลายเป็นช่องว่างระหว่างศาสตร์ เพราะไปยึดติดศาสตร์ที่ตนเองเรียนรู้ แล้วเอาเกณฑ์ของศาสตร์นั้นไปตัดสินอีกศาสตร์หนึ่งอย่างขาดสติ ปัญญาเลยพร่องไป

เมื่อตอนทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากหลายประเทศ และโดยเฉพาะเมื่อตอนทำงานเป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยให้อาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา ก็ประสบและเรียนรู้ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมได้มากขึ้น ทำให้เข้าใจและยอมรับความแตกต่างได้ดีขึ้น

ตอนนี้เป็นคุณพ่อของลูกชาย ๒ คนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ช่องว่างระหว่างพ่อ-ลูก ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ คล้ายๆ สมัยที่เราเป็นเด็ก เพียงแต่สถานการณ์แตกต่าง

เพราะรักและห่วงใยลูก เราจึงคอยเตือนสติและให้คำชี้แนะ แต่ลูกบอกว่าจู้จี้ ขี้ระแวง มองโลกในแง่ร้าย....

ช่องว่างระดับโลก ก็เห็นได้ชัดเจน มีการแบ่งแยกประเทศต่างๆ ออกเป็นกลุ่มๆ ตามภูมิภาค ตามความเชื่อ ตามกลุ่มเศรษฐกิจ ตามระดับการพัฒนา ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และอื่นๆ ...
โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยช่องว่าง ช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง ช่องว่างที่ขาดความเข้าใจ จึงพร่องไปในเรื่องของการยอมรับและเคารพความแตกต่าง นำไปสู่ความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ถูกทำให้กว้างขึ้น ภายใต้โลกาภิวัตน์ และการบังคับให้มีการแข่งขันเสรี ที่ไม่มีความยุติธรรม

การพัฒนาที่ดำเนินอยู่ นอกจากจะไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภูมิธรรมของท้องถิ่นแล้ว ยังจงใจทำลายให้หมดสิ้นด้วยการกำหนดมาตรฐานโลกด้านต่างๆ ที่ฝ่ายได้เปรียบ (ประเทศที่พัฒนาแล้ว) เป็นผู้กำหนด

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาในปัจจุบัน งานวิจัยชิ้นนี้รายงานว่า ช่องว่างระหว่างการมีชีวิตรอดจากโรคมะเร็ง (Cancer Gap) ของชาวยุโรปตะวันตก (ที่รวยกว่า) กับชาวยุโรปตะวันออก (ที่ยากจนกว่า) มีเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

งานวิจัยนี้บ่งบอกถึงความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจนในเรื่องของโอกาสที่จะมีชีวิตรอดจากมะเร็งโรคร้าย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม

พัฒนาการด้านความรู้และเทคโนโลยี กำลังขยายช่องว่างชีวิตของคนรวยกับคนจนใช่หรือไม่

ดูเหมือนความร่ำรวยหรือความมั่งมี จะช่วยยืดชีวิตให้รอดจากโรคร้ายได้มากขึ้น เพราะคนรวยสามารถเข้าถึงการรักษาที่แพงกว่าได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนเลว

อันที่จริง ความรวยหรือความมั่งมี อาจจะไม่ช่วยให้คนรวยคนมั่งมี มีสุขภาวะ (Well-Being) โดยเฉพาะสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Well-Being) ที่ดีขึ้นก็ได้

บางคนยิ่งมีเงิน (ทุน) มาก ก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะอยากมีมากขึ้น จึงต้องดิ้นรนมากขึ้น

เมื่อทำงานหรือทำธุรกิจระดับพออยู่ พอกิน พอใช้ในชุมชนแล้ว ก็อยากขยายกิจการมีเครือข่ายสาขาระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อให้เหลืออยู่ เหลือกิน เหลือใช้ ตามแนวทางของทุนนิยม และเสรีนิยม ในยุคโลกาภิวัตน์

โดยไม่เคยหยุดคิดอย่างมีสติและปัญญาว่า แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ความสุข (Happiness) ความสันติสุข (Peacefulness) ทั้งในระดับบุคคลคือตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และมวลมนุษยชาติที่แท้จริงหรือไม่

หรือลองคิดแบบสุดโต่งว่า ถ้าทุกคน ทุกชุมชน ทุกประเทศ คิดและทำไปในทางเดียวกันหมดตามแนวทางของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม โลกของเราน่าจะเต็มไปด้วยการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ เต็มไปด้วยการแย่งชิงความได้เปรียบมากกว่าการมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วโลกของเราจะน่าอยู่จริงหรือ

การพัฒนาที่พึงประสงค์ น่าจะเป็นการพัฒนาที่เอื้อให้คนทั่วโลก มีพื้นฐานการดำรงชีวิตที่พอเพียง ในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย ไม่ใช่ยิ่งพัฒนา ยิ่งขยายช่องว่างเพิ่มขึ้นเหมือนในปัจจุบัน

หรือเราน่าจะลองมาตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ทำไมแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจึงขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น

เคยสงสัยและหยุดคิดบ้างหรึอไม่ว่าทำไมคนรวยบางคนมีทรัพย์สินเงินทองมากกว่างบประมาณประจำปีของบางประเทศ

ทำไมนักกีฬา หรือดาราดังบางคนของบางประเทศมีรายได้มากกว่าครู หมอ หรือนายกรัฐมนตรี หลายพันหลายหมื่นเท่า

ทำไมนักกีฬาทีมชาติที่ได้ชัยชนะกลับมาได้รางวัลเป็นเงินมากมาย แต่ครูสอนลูกศิษย์ด้วยความรักความทุ่มเทตลอดปีมีแต่เงินเดือนที่น้อยนิด

หรือนี่คือวิปริตทางสังคม มะเร็งทางความคิดที่ก่อกำเนิดและแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

หรือนี่คือมะเร็งทางกายภาพ ที่ก่อกำเนิดและแพร่ขยายอย่างไร้ขีดจำกัด ไร้พรมแดนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

ดูเหมือนมะเร็งร้ายกำลังเจริญเติบโตกลืนกินอวัยวะสำคัญ และความคิดของเราอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครบวงจร อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพในเชิงทำลายล้างสูง ดังจะเห็นได้จาก

วัฒนธรรมของท้องถิ่น และความเป็นไทย กำลังถูกกลืน

ทรัพยากรท้องถิ่น และทรัพยากรของชาติกำลังถูกกอบโกยทั้งจากคน / องค์กรในประเทศ และระหว่างประเทศ

เงินและวัตถุครอบงำจิตใจ

มุ่งชัยชนะโดยการยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ผู้อื่น

ทุกอย่างขายได้ ไม่ว่าจะเป็น “สิทธิ” “ศักดิ์ศรี” และ “อวัยวะ” ของมนุษย์

คนที่ไม่รู้จักประมาณตน กลายเป็นคนมีเครดิต

คนที่ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย กลายเป็นมืออาชีพ

คนที่สุขุมรอบคอบ กลายเป็นคนเชื่องช้าไม่กล้าตัดสินใจ ฯลฯ

เราควรจะคิดและดำเนินชีวิตตามกระแสอย่างขาดสติและพร่องปัญญา ที่ดูเหมือนจะขยายช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและแตกแยก หรือเราควรจะคิดและดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่า รู้ทัน อย่างเข้าถึงและเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง

มาช่วยกันเชื่อมช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและแตกแยก โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสุนทรียสนทนา และจริยประพฤติ เพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และความเคารพระหว่างกัน ด้วยความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทรในแต่ละความคิดของแต่ละชีวิต เพื่อรังสรรค์ความเป็นหนึ่งบนความหลากหลาย เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่ พออยู่ อย่างพอเพียงสำหรับทุกชีวิตและทุกสิ่ง

พิธีกรรม ... เติมความศักดิ์สิทธิ์และความหมายให้กับชีวิตยุคใหม่

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มกราคม 2550

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทยมีพิธีกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพราะช่วยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร บอกกล่าว หรือให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมทั้งแสดงความเชื่อ และตำนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การรับรู้หรือมองโลก และการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น หลายๆ พิธีกรรมแสดงถึงความเคารพนอบน้อมต่อผืนแผ่นดิน ระบบนิเวศและเทพเทวาที่ปกป้องคุ้มครองสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ พิธีกรรมยังช่วยเชื่อมร้อยให้เกิดความผูกพันระหว่างคนในชุมชน รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญของการแสดงความเชื่อ ความศรัทธา และแนวปฏิบัติร่วมกันในทางศาสนาอีกด้วย

ในขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมนั้นผูกโยงอยู่กับความจริงที่มองไม่เห็น ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่สมาทานความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์เชิงประจักษวาส จะเชื่อเฉพาะแต่สิ่งที่ตาเนื้อมองเห็นและเป็นไปตามแนวคิดเหตุผลนิยม มีผลให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงมิติของความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตถูกลดทอนไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้ โดยที่พิธีกรรมส่วนมากก็หาได้มีการปรับเนื้อหา วิธีการ หรือชุดภาษา ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้คนสมัยใหม่เข้าถึงได้อย่างสร้างสรรค์แต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม บนหนทางแห่งการพัฒนามิติทางจิตวิญญาณไปควบคู่กับความเป็นชุมชนแห่งการพึ่งพาอาศัยและการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมสมัยใหม่นั้น พิธีกรรมจะยังคงเป็นส่วนสำคัญและพึงได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ และในท่ามกลางความหลากหลายของความเชื่อความศรัทธานั้น การน้อมรับ ชื่นชม และเรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้คนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ อันจะเป็นต้นทุนหรือรากฐานแห่งการดำรงสันติภาพอันแท้จริงของสังคม

ทั้งนี้ บทบาทในการเข้าถึงมิติอันศักดิ์สิทธิ์และการพัฒนาจิตนั้น ไม่จำต้องจำกัดอยู่ในชุมชนนักบวชเท่านั้น ฆราวาสหรือประชาชนคนธรรมดาที่แม้ไม่สมาทานศาสนาหรือลัทธิใดๆ ก็น่าจะเข้าถึงได้ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานร่วมกันของทุกศาสนาคือความรักนั่นเอง

พิธีกรรมต่างจากกิจกรรมอย่างไร พิธีกรรมมีหลายประเภท เช่น การยืนเคารพธงชาติ สวดมนต์หน้าเสาธงทุกเช้าตามโรงเรียนต่างๆ นั้น เป็นกิจกรรมที่ตอกย้ำความเชื่อในเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แม้ว่าเด็กนักเรียนจำนวนมากจะทำพิธีกรรมเหล่านี้ไปอย่างเสียมิได้ ทำเพราะรู้สึกว่าต้องทำ จึงอาจขาดแรงบันดาลใจและความตั้งใจไปบ้าง แม้กระนั้น ความเชื่อในเรื่องความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จะถูกฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น ในแง่นี้พิธีกรรมคือ กิจกรรมที่ทำซ้ำๆ เป็นหมู่คณะ แต่จะมีความหมายอย่างไรกับผู้ปฏิบัตินั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการตีความหรือการให้ความหมายของแต่ละคน ไม่สามารถยัดเยียดหรือบังคับให้ยอมรับเหมือนกันได้

กิจวัตรประจำวันในฐานะพิธีกรรม พฤติกรรมบางอย่างที่ทำซ้ำๆ แล้วทำให้ชีวิตรู้สึกดี มีแบบแผนหรือทำให้รู้สึกปลอดภัย เช่น การดื่มกาแฟหรือชา อ่านหนังสือพิมพ์ก่อนออกไปทำงาน (มนุษย์ทุกวันนี้มีเวลาอย่างที่ว่าน้อยมาก) การหอมแก้มลูกก่อนนอน การสวัสดีคุณยายก่อนก้าวเท้าเดินออกไปโรงเรียน การเดินออกกำลังกายตอนเช้า การรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในครอบครัว การออกไปดูหนังทุกวันเสาร์ การดูข่าวตอนเช้าก่อนอาบน้ำ เป็นต้น กิจวัตรเหล่านี้ แม้จะดูง่ายๆ ไม่ได้มีความหมายในเชิงศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ช่วยให้ชีวิตมีแบบแผนบางอย่างรองรับ ทำให้รู้สึกว่ามีความเป็นปกติอยู่ ซึ่งสำหรับแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้น จะเห็นว่ามนุษย์สามารถสร้างกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นพิธีกรรมขึ้นมาเองได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนั้น เราอาจค้นพบว่าพิธีกรรมมีหลากหลายมิติ ในเป้าหมายและบริบทที่แตกต่างกันออกไป ผมขอตั้งข้อสังเกตบางประการเพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์พิธีกรรมเอง ได้แก่

พิธีกรรมมีฐานะที่เป็นกิจกรรมเพื่อการตื่นรู้ อยู่กับปัจจุบันขณะ ช้าลงแต่มีสติเพื่อมองสิ่งต่างๆ ให้เห็นมิติที่ลึกลงไป พิธีกรรมเป็นเรื่องทางกาย การลงไม้ลงมือ และลงใจ ไปพ้นเรื่องภาษาหรือความคิด ทำงานกับจิตไร้สำนึก พิธีกรรมมีจุดเริ่มต้น สิ้นสุดที่ชัดเจน พิธีกรรมคือกิจกรรมที่มีความตั้งใจ หรือการอธิษฐาน บวกกับการเปิดรับพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาลที่มีชีวิต

ทั้งนี้หลายๆ พิธีกรรมอาจเป็นโอสถที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการเยียวยารักษาอาการทางจิตและกายได้ด้วย ดังที่ เดนนี่ ซาร์เจ้นท์ (DENNY SARGENT) ผู้เป็นทั้งนักเขียน ศิลปิน และนักสร้างสรรค์พิธีกรรมที่นำมาจากจารีตประเพณีต่างๆ ของโลก หลังจากที่ได้ศึกษาความรู้เชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี เขาได้เขียนไว้ในหน้งสือเรื่อง พิธีกรรมของโลก (Global Ritualism: Myth & Magic Around the World) ว่า

“ถ้าเราสามารถลอกเอาเปลือกนอกที่เก่าคร่ำของพิธีกรรมที่ทำซ้ำซากจนเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งอยู่ล้อมรอบตัวเราออกได้ เราจะได้พบขุมทรัพย์อันกว้างใหญ่ไพศาล ที่บรรจุทั้งความรู้ ตำนาน รูปแบบ การรับรู้ และความคิด ซึ่งเราสามารถเลือกหยิบเอามาสร้างตำนานหรือพิธีกรรมให้สูงส่งสักเท่าใดก็ได้ นอกจากมนุษย์ทุกคนจะมีสัญชาตญาณในการสร้างพิธีกรรมอยู่แล้วตามปกติ มนุษย์ยังมีทางเลือกอยู่อีกด้วย ดีกว่าที่จะเพียงปฏิบัติตาม (หรือถูกบังคับ) พิธีกรรมเก่า ซึ่งถูกถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า เราจงมาช่วยกันเลือกพิธีกรรมของเราเอง พิธีกรรมซึ่งจะช่วยให้เราสมหวังในจุดมุ่งหมายสำคัญของชีวิตมนุษย์ ๓ ประการ อันได้แก่ ความสงบที่แท้จริง ความสุข และอิสรภาพ”


ผมอยากเชิญชวนมาสืบค้นร่วมกันว่า เราจะร่วมกันสร้างหรือรื้อฟื้นพิธีกรรมบางอย่างกลับมาใช้อย่างไรให้

๑. เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และประกอบพิธีกรรม ทั้งในส่วนของกิจกรรมเองและการให้ความหมาย

๒. เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงมิติอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตในยุคสมัยใหม่ได้ในขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว โดยหลายคนปฏิเสธที่จะสมาทานความเชื่อหรือแนวปฏิบัติของศาสนาหรือลัทธิใดๆ เพราะอาจรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึง หรือพิธีกรรมที่ทำกันอยู่ไม่สามารถสื่อความหมายให้สอดคล้องกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นหากมีพิธีกรรมที่สามารถทำหน้าที่เชื่อมร้อยจิตวิญญาณมนุษย์เข้าด้วยกันอย่างไปพ้นข้อจำกัดของความเชื่อทางศาสนา ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

๓. หากพิธีกรรมช่วยให้เกิดความอ่อนโยนและมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเชื่อมโยงได้ ย่อมเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แปรเปลี่ยนจิตใจให้เบ่งบานและวิวัฒน์ได้

๔. หากเราสามารถพัฒนาพิธีกรรมที่เรียบง่าย เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย แต่ไม่ฉาบฉวย ไม่รุ่มร่ามและซับซ้อนจนเกินไปนัก ก็น่าจะช่วยน้อมนำผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างพิธีกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำกันเองในครอบครัว หรือแวดวงมิตรสหายในวาระพิเศษ เช่น งานวันเกิด โดยสามารถให้คนใกล้ชิดได้บอกกล่าวแก่เจ้าของวันเกิดถึงความเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตที่สังเกตเห็นในตัวเจ้าของงานวันเกิด หรืออาจกล่าวถึงว่าเจ้าของวันเกิดมีคุณค่าหรือความหมายอย่างไรกับเรา เพียงเท่านี้ก็อาจเพิ่ม “ความหมาย” ให้กับงานวันเกิดที่มีเสียงเพลงและการสังสรรค์กันให้พิเศษมากขึ้นก็ได้

ทั้งนี้ ผู้สร้างและประยุกต์ใช้พิธีกรรม พึงคำนึงถึงเงื่อนไขหรือปัจจัยจำเพาะในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อทำให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้อง และมีประสิทธภาพ บนพื้นฐานของการเคารพนอบน้อมต่อมรดกทางปัญญาและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่สั่งสมกันมา ไปพร้อมๆ กับการเปิดรับและเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายอย่างถ่อมตน ซึ่งจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้แนวลึกที่ผสมผสานโบราณธรรมที่หลากหลายมาเกื้อกูลการดำรงอยู่ การพัฒนาจิตมนุษย์ และความเป็นชุมชนได้อย่างสมสมัย กลายเป็นปัจจุบันธรรมที่มีพลังและนำพาสังคมอนาคตที่บรรสานสมดุล เป็นสุข และพอเพียงตามที่เราต่างปรารถนาให้บังเกิดขึ้นร่วมกัน

ความสุขจากการเข้าถึงความจริง

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 มกราคม 2550

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐ กลุ่มผู้สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์ขออวยพรให้เพื่อนคนไทยประสบความสุขสวัสดี อวยพรแปลว่าให้สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สิ่งที่ประเสริฐที่สุดคงจะมีความหลากหลายไปตามความหลากหลายของใจของแต่ละคน สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในความหมายหนึ่งคือ การเข้าถึงความจริง

มนุษย์เมื่อเข้าถึงความจริงจะประสบอิสรภาพ เกิดความสุขอย่างล้ำลึก เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผู้ที่ต้องการความสุขอย่างแท้จริง และต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงควรสนใจการเข้าถึงความจริง

เพื่อความเข้าใจง่าย จะขออธิบายว่า จิตมี ๒ ประเภท และธรรมชาติมี ๒ ประเภท (ดูรูป) คือ



ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง คือ ธรรมชาติที่เรารับรู้ตามปรกติวิสัย เป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นขาว เป็นดำ เป็นบวก เป็นลบ หรือแยกเป็นส่วนๆ เป็นสภาวะชั่วคราว มีเกิด มีตาย

ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง คือ ความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติทั้งหมด ใหญ่โต กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นนิรันดร สงบ เพราะไม่ปรุงแต่ง ไม่มีเกิด ไม่มีตาย

จิตตามปรกติเป็นจิตที่ปรุงแต่งและรับรู้ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง หรือเพราะจิตที่ปรุงแต่งนั่นแหละจึงเกิดธรรมชาติที่ปรุงแต่งอย่างนั้นๆ จิตที่กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ จึงมาปรุงแต่งความคิด และรับรู้สิ่งต่างๆ ไปตามความคิดที่ปรุงแต่ง

จิตที่ปรุงแต่งด้วยกิเลสเป็นจิตที่เล็กและคับแคบ เพราะเอาตัวกูของกูเป็นตัวตั้ง เมื่อคับแคบจึงบีบคั้น ขาดอิสรภาพ ก่อความทุกข์ให้ตัวเองและผู้อื่น

แต่จิตที่สงบสามารถรับรู้ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งหรือเรียกว่าความจริง ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งหรือความจริงนี้มีขนาดใหญ่ ไร้ขอบเขต จิตที่สงบเข้าถึงความจริงที่มีขนาดใหญ่ จิตจึงใหญ่ หลุดพ้นจากความบีบคั้นของตัวกูของกูอันคับแคบ เมื่อหลุดพ้นจากความคับแคบจึงเป็นอิสระ อิสรภาพคือความสุขอันล้ำลึก หรือความสุขอันเป็นทิพย์ และเพราะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันกับทั้งหมด จึงเกิดความรักอันไพศาลต่อมนุษย์และสรรพธรรมชาติทั้งมวล

คำว่าโลกุตตระ แปลว่าเหนือโลก แต่ไม่ได้หมายความว่านอกโลก โลกหมายถึงโลกแห่งเนื้อหนังมังสาหรือโลกแห่งการปรุงแต่ง การอยู่เหนือโลกสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวันนี่เอง เราสามารถทำให้โลกุตตรโอสถเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยเยียวยาชีวิตของเราได้ จากการเข้าถึงความจริง ถ้าเราเข้าใจจิต ๒ ประเภท และธรรมชาติ ๒ ประเภทดังกล่าวข้างต้น เราจะมีทักษะในการเข้าถึงความจริงได้ด้วยพหุวิธี อย่างรื่นรมย์หรือแม้แต่สนุกสนาน เราอาจเข้าถึงความจริงได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น

๑. การสัมผัสกับธรรมชาติ เมื่อมนุษย์สัมผัสกับธรรมชาติ เช่น ป่าเขา ทะเล ท้องฟ้า แล้วเกิดความสุขสงบ เพราะธรรมชาติกว้างใหญ่ทำให้ลืมนึกถึงตัวเอง เมื่อนึกถึงตัวเองก็บีบคั้น หัดเอาใจไว้กับธรรมชาติเสมอๆ จิตจะสงบ แท้ที่จริงเราสัมผัสกับธรรมชาติตลอดเวลา แต่เราไม่ระลึกรู้ เพราะไปอยู่แต่ในความคิด (ปรุงแต่ง) หัดให้ระลึกรู้ถึงธรรมชาติรอบตัวและในตัวบ่อยๆ ก็จะเข้าถึงความจริงได้ง่ายขึ้นๆ มีความเบาสบาย เป็นอิสระ และมีความสุขมากขึ้นๆ การปลีกวิเวก (retreat) จะไปอยู่ในป่าคนเดียวหรือในทะเลทรายคนเดียว ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้จิตสงบและสัมผัสกับความจริงตามธรรมชาติ

๒. ทำความรู้จักจิตที่ไม่ปรุงแต่งบ่อยๆ จนคุ้นเคย เราจะคุ้นเคยอยู่กับจิตที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตที่รู้สึกสุขทุกข์ ชอบไม่ชอบ และจิตที่คิดปรุงแต่งไปตามนั้น เช่น เกลียด โกรธ อยากได้ อยากหนี ที่เรียกว่าอยากเป็นอยากเอา แล้วก็วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน บีบคั้น แล้วไปก่อกรรมตามจิตที่รู้สึกและคิดปรุงแต่งขึ้นมา ตามปรกติ จิตจะเข้าไปวุ่นวายอยู่กับการรับรู้ รู้สึก คิด และทำโดยไม่รู้สึกตัวเอง

แต่เรายังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง เป็นจิตที่รู้เฉยๆ ทดลองดูได้ เหมือนเป็นอีกคนหนึ่งแยกมาดูหรือรู้ตัวเอง มาดูกายดูจิตของตัวเอง โดยดูเฉยๆ ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย เห็นกายเดิน นั่ง ยืน สัมผัส เย็นร้อนอ่อนแข็ง หรือเจ็บ สามารถเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง จิตนี้จะเป็นจิตที่สงบ เพียงแต่ดูหรือรู้กายรู้จิตของตัวเองอยู่เฉยๆ พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นเรียกว่า “ผู้รู้” เมื่อจิตส่วนที่ไม่ปรุงแต่งหรือผู้รู้ตามรู้กายรู้จิต จะเกิดความสงบ เมื่อสงบก็ไปสัมผัสธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง หรือเข้าถึงความจริง

ฝึกให้คุ้นเคยกับจิตที่ไม่ปรุงแต่งหรือผู้รู้ที่ตามรู้กายรู้จิตไว้เนืองๆ จะเกิดทักษะที่เข้าถึงความจริงได้ง่ายขึ้นบ่อยขึ้น

แท้ที่จริง การระลึกรู้กายรู้จิตที่ว่านี้ คือ สติ นั่นเอง ฝึกเจริญสติบ่อยๆ จิตจะสงบ เข้าถึงความจริง เป็นสุขอย่างยิ่ง

๓. ไม่ว่าจะทำอะไรๆ ก็โยงเข้ามาสู่การพิจารณาจิตของตัวเองเสมอ เช่น การออกกำลัง การทำงาน การทำงานศิลปะ การสร้างความเป็นชุมชน การเรียนรู้ ฯลฯ การโยงมาสู่การพิจารณาจิตของตัวเองจะเกิดปัญญา เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) จิตตปัญญาศึกษาควรเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ และสำหรับคนทั่วไป ปรกติเราทำอะไรๆ ก็เป็นแต่เพียงเรื่องภายนอกตัว ไม่เชื่อมโยงกับการรู้จิตของตัวเอง จึงไม่เกิดปัญญา เข้าไม่ถึงความจริง อยู่ในความทุกข์ความบีบคั้นชั่วกาลนาน มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มทำหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษา หวังว่าในอนาคต จิตตปัญญาศึกษาจะเป็นปรกติธรรมดาทั่วไป

๔. สุนทรียสนทนา การทะเลาะด่าทอกัน การพูดสวนกันไปมา การพูดเปรี้ยงทำเปรี้ยง เป็นเรื่องที่ตื้นเขิน เมื่อตื้นเขินก็แยกส่วน เป็นเขาเป็นเรา เป็นดำเป็นขาว เป็นบวกเป็นลบ เกิดความขัดแย้งและรุนแรง สุนทรียสนทนาเน้นการฟังอย่างสงบหรือฟังอย่างลึก (deep listening) เมื่อสงบและลึก ก็สัมผัสความจริงได้ ทำให้เกิดปัญญา จะคิด จะพูด จะทำ ก็ผ่านสภาวะทางปัญญามาแล้ว จึงตรงต่อความจริง และเกิดอรรถประโยชน์มากกว่าการคิด การพูด การทำอย่างตื้นๆ สุนทรียสนทนากำลังได้รับการนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำให้จิตสงบและประสบอิสรภาพได้

๕. การอ่านหนังสือธรรมะบ่อยๆ โดยเฉพาะหนังสือธรรมะที่พาเราเข้าถึงธรรม เมื่ออ่านบ่อยๆ ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น จิตสงบมากขึ้น และเข้าถึงธรรมหรือธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่งมากขึ้น มีอิสรภาพและความสุขมากขึ้น

๖. การสวดมนต์ และการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า การสวดมนต์ให้ยาวๆ นานๆ ทำให้จิตสงบ เมื่อจิตสงบก็สัมผัสความจริงตามธรรมชาติได้ พระผู้เป็นเจ้าคือธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าทำให้จิตใหญ่ เป็นอิสระจากความบีบคั้นของความคับแคบในตัวกูของกู แต่ต้องไม่เข้าใจพระเจ้าแบบจิตเล็กว่า เป็นพระเจ้าของเราเท่านั้น ไม่ใช่ของคนอื่น พระเจ้าต้องเป็นของทุกคนและสรรพธรรมชาติทั้งหมด

๗. ฝึกเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งเป็นเนืองนิตย์ ตามปรกติเราเห็นแบบแยกส่วนเป็นก้อนเป็นแท่ง แยกกันอยู่เป็นส่วนๆ ซึ่งไม่จริง เพราะความจริงคือสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง ไม่มีอะไรอยู่โดดๆ ด้วยตัวของตัวเอง ควรฝึกให้เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา หรือในตัวเรา หรือกับตัวเรา เช่น เรากินข้าว กินน้ำ สวมเสื้อผ้า ก็ไม่เห็นเพียงเป็นข้าว เป็นน้ำ เป็นเสื้อผ้า อย่างโดดๆ แต่ข้าวย่อมสัมพันธ์กับสรรพสิ่งมากมาย เช่น กับพลังงานจากแสงอาทิตย์ กับออกซิเจนในอากาศ กับดิน กับน้ำ กับชาวนาผู้ไถ หว่าน เกี่ยว คนสีข้าว คนขายข้าว คนหุงข้าว ... ข้าวไม่ได้อยู่โดดๆ น้ำก็ไม่ใช่เห็นสั้นเพียงก๊อกน้ำ แต่สัมพันธ์กับสรรพสิ่งรวมทั้งคนที่ต้นน้ำลำธาร เสื้อผ้าที่เราใส่ก็สัมพันธ์อยู่กับคนปลูกฝ้าย คนทำด้าย คนทอผ้า คนขายผ้า คนตัดเสื้อผ้า ... เราไม่สามารถดำรงอยู่โดดๆ แต่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นและคนอื่น ถ้าเราเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง เราจะมีความกตัญญูในหัวใจ อันเป็นจิตใจที่ไม่แข็งกระด้าง ไม่หยาบคาย แต่เป็นจิตใจที่เข้าถึงความจริงได้ ความจริงคือความเป็นกระแสของเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ไม่มีตัวตนในตัวของตัวเอง การเข้าถึงกระแสของอิทัปปัจจยตา คือการเข้าถึงความจริง

เหล่านี้เป็นต้น

การเข้าถึงความจริงยังมีวิธีการอันหลากหลายและพิสดารมากกว่านี้ หากเราสนใจแสวงหา ศึกษา และปฏิบัติเนืองๆ เราก็จะสามารถเข้าถึงความจริงได้ง่ายขึ้น บ่อยขึ้น และดีขึ้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ ขออวยพรให้เพื่อนคนไทยพบความสุขและอิสรภาพกันให้มากที่สุด เพื่อสามารถฝ่าความเสียดทานของความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันได้

Back to Top