กรกฎาคม 2013

หลักประกันสำหรับอนาคต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2556

ผมเคยสงสัยมานานแล้วว่าทำไมเพื่อนหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิง มีพฤติกรรมแบบ ตอนเช้าเข้าวัด ตกบ่ายดูหมอ ทั้งสองอย่างดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้ เพราะถ้าหากคนเราเชื่อในศาสนา ก็ไม่น่าจะเชื่อหมอดู เพราะไม่มีศาสนาไหนจะสอนให้เชื่อหมอดู มีแต่ให้เชื่อในคำสอนของศาสดาซึ่งหมายถึงพระเจ้า หรือหลักธรรมของศาสนานั้นๆ

ต่อเมื่อได้มาศึกษางานของ โคลด เลวี-สโทรสส์ (Claude Levi-Strauss) และนักคิดสายโครงสร้างนิยม ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเราจัดให้ “การไปวัด” กับ “การดูหมอ” อยู่ในกลุ่มของกิจกรรมเดียวกันได้ ด้วยเหตุที่มันทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือการบรรเทาความวิตกกังวลของมนุษย์ที่มีต่ออนาคตอันไม่แน่นอน หรือพูดง่ายๆ มันเป็นวิธีการที่มนุษย์แสวงหาการ “หลักประกัน” ให้กับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นวันพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรือแม้กระทั่งโลกหน้า (ถ้าหากเขาเชื่อว่ามี)

ถ้ามองแบบนี้ “การดูหมอ” ดูจะมีภาษีดีกว่าการเข้าวัดไม่น้อย เพราะคนส่วนใหญ่เข้าวัดไปเพื่อกราบไหว้พระพุทธรูป ถ่ายรูป แล้วก็เดินตัวปลิวออกมา น้อยคนที่จะเข้าวัดเพื่อไปฟังเทศน์ฟังธรรม การสนทนากับพระนักบวช เรื่องหัวข้อธรรมคำสั่งสอนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก แต่กับ “หมอดู”​ ซึ่งมีสถานภาพเป็นคนธรรมดา ทำให้ไม่เกิดอาการเกร็งที่จะถามอะไรตรงๆ เช่น เมื่อไหร่จะได้แต่งงาน ผู้ชายที่มาจีบอยู่ใช่เนื้อคู่หรือไม่ งานที่ทำจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง ฯลฯ​ มองในแง่นี้ “การดูหมอ” จึงตอบโจทย์ของการลดความวิตกกังวลในอนาคตมากกว่าการเข้าวัด

เราสามารถนำความเข้าใจเรื่องนี้มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ “แม่ชีแก้กรรม” ซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาได้ ว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย เพราะแม่ชีให้คำตอบในสิ่งที่โลกสมัยใหม่ให้ไม่ได้ แม่ชีทำให้อนาคตซึ่งมีความไม่แน่นอน ปัจจุบันซึ่งยุ่งเหยิง อดีตซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้ กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และบริหารจัดการได้ ดังนั้น จึงตอบโจทย์ของมหาชนได้มากกว่า อย่างน้อยก็มากกว่าการให้นั่งหลับตา หลังขดหลังแข็ง และไม่รู้สึกว่าได้อะไรเลย

ในทำนองเดียวกัน เรามักจะได้ยินคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า พวกที่ชอบเข้าวัดไปทำบุญสร้างวัตถุมงคล สร้างโบสถ์ พอกลับมาอยู่ในที่ทำงานกลับเห็นแก่ตัว และชอบเอารัดเอาเปรียบคนอื่นมากกว่าพวกที่ไม่ชอบเข้าวัดเสียอีก แสดงว่าการเข้าวัดไม่ได้ช่วยทำให้คนกลายเป็นคนดีเลย การมองแบบนี้เป็นการมองที่ผิดพลาด เพราะไปหลงติดอยู่กับรายละเอียด จึงมองไม่เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังลงทุนกับอนาคตระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนกับอนาคตของนักเล่นหุ้นในตลาดหุ้น แต่กับเพื่อนที่เล่นหุ้น เราไม่คาดหวังให้เขาต้องมีพฤติกรรมต่างไปจากเดิม แต่กลับไปคาดหวังกับเพื่อนที่พึ่งกลับมาจากวัด
ความเข้าใจเรื่องนี้ยังบอกกับเราว่า การจัดตั้งแผนกซีเอสอาร์ (CSR) ขึ้นมาเพื่อทำจิตอาสาให้กับสังคม อาจจะดีกว่าการเกณฑ์พนักงานไปปฏิบัติธรรม เพราะซีเอสอาร์ยังทำหน้าที่ตอบโจทย์ของการ “ลงทุนในอนาคต”​ มากกว่า เนื่องจากการถูกบังคับไปปฏิบัติธรรม คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกว่าได้ลงทุนอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะถ้าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นแบบที่ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ให้เห็นว่าได้บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เห็นนิมิต เห็นดวงแก้ว ก็ยิ่งไม่ตอบโจทย์ของการทำให้อนาคตเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้ และไม่ทำให้ปมที่มีมาในอดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขหรือเข้าใจได้

เช่นเดียวกับผู้ที่วิจารณ์ว่า คนที่ชอบสะสมวัตถุมงคลเป็นพวกงมงาย เพราะศาสนาไม่น่าจะสอนให้ยึดติดกับวัตถุภายนอก ก็เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจว่าวัตถุมงคลนั้นทำหน้าที่เชื่อมโยงโลกที่มองไม่เห็นกับโลกที่มองเห็นเอาไว้ด้วยกัน การห้อยแขวนวัตถุมงคลจึงช่วยให้ผู้ที่สวมใส่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับโลก โลกที่เต็มไปด้วยความแปลกแยก โลกสมัยปัจจุบันที่ถูกครอบด้วยกระบวนทัศน์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ความชอบธรรมในการพูดถึงบางสิ่ง ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นและเก็บกดไม่ให้พูดถึงบางสิ่ง ผู้ที่แขวนพระอีกนัยหนึ่งก็เป็นการประกาศว่าตนเองเป็นขบถต่อวาทกรรมแบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน เมื่อความเป็นขบถอยู่ตรงข้ามกับความงมงาย จึงเกิดคำถามว่าแล้วใครกันแน่ที่ “งมงาย” ?

ส่วนคนที่ออกมาบอกว่า เพราะเหตุใดศาสนาซึ่งสอนให้คนเป็นดี แต่คนที่นับถือศาสนากลับมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น ถ้อยคำในอดีตที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือทำไมจึงมีสงครามศาสนา ก็หลงติดในรายละเอียดจนมองไม่เห็นว่า สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่ความรุนแรง (ในทัศนะของเขา) แต่เป็นการ “สร้างหลักประกันให้กับอนาคต” ตามความเชื่อของเขาต่างหาก (ส่วนจะถูกต้องตามหลักคำสั่งสอนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราย่อมเข้าไปแก้ปัญหาโดยการปรับความเข้าใจของศาสนิกจากความคลาดเคลื่อนสุดโต่งให้เกิดปัญญามากขึ้น เพราะถ้าหากเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองทำและเข้าใจว่ากำลังสร้างหลักประกันให้กับอนาคต แท้จริงแล้วเป็นการเดินตรงกันข้ามกับหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดา เขาจึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความยินยอมพร้อมใจ ด้วยปฏิบัติการภายในใจตัวของเขาเอง ไม่ใช่การบังคับควบคุมจากภายนอก

กล่าวโดยสรุป ถ้ามองตามหลักโครงสร้างนิยม เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่ถูกลวงด้วยสภาพที่ปรากฏภายนอก หรือถูกทำให้ไขว้เขวเพราะรายละเอียด จนมองไม่เห็น “กลไกที่ซ่อนเร้น” ซึ่งทำหน้าที่ของมันอยู่ตามปกติ การทำความเข้าใจเรื่องหน้าที่และความสัมพันธ์ของส่วนย่อยจะทำให้เราเข้าใจว่ากลไกบางอย่างอาจจะถูก “แทนที่” ด้วยกลไกในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกันได้ ส่วนการแทนที่สิ่งหนึ่งด้วยอะไรถึงจะดีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไป

การฟื้นคืนหลังการสูญเสีย: กรณีศึกษาในผู้ต้องขังหญิง (๓)
กระบวนการฟื้นคืน



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กรกฎาคม 2556

ต่อจากตอน “การตั้งหลักและทิศทางของผู้ต้องขัง” ในฉบับที่แล้ว

เมื่อผู้ต้องขังหญิงเข้าสู่เรือนจำใหม่ๆ หลังจากเผชิญกับความสูญเสียตนเองและอัตลักษณ์แล้ว ผู้ต้องขังหญิงจำเป็นต้องตั้งหลักและรู้สึกถึงทิศทางในชีวิตให้สำเร็จ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนที่สาม คือ “กระบวนการฟื้นคืน”

บทบาทของเจ้าหน้าที่มีส่วนอย่างมากในการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงจากการสูญเสียตนเองและอัตลักษณ์ กฎระเบียบที่เคร่งครัดและซ้ำๆ ช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงสามารถตั้งหลักและรู้สึกถึงทิศทางในชีวิตต่อไปได้

สำหรับกระบวนการฟื้นคืนจะดำเนินไปบนพื้นฐานสำคัญ ได้แก่บริบทความสัมพันธ์ที่สะท้อนมิตรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตากรุณา

ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นไปในระหว่างผู้ต้องขังด้วยกัน หรือระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ ข้อความเหล่านี้น่าจะแสดงประเด็นนี้ได้ดี

“…ตอนนั้นเราเป็นลม เวียนหัว เค้ามาถาม...ไม่รู้จักเค้าเลยค่ะ เค้าถามว่าอยากได้อะไร เราบอกยา เค้าก็รีบไปหาให้นะ เราก็มานั่งนึกว่าเค้าเป็นใคร ทำไมมาเรียกหาเรา...เราก็ประทับใจนะว่า ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเลย มันก็เหมือนความอบอุ่น ซึ่งข้างนอกไม่มีเลยนะ แบบนี้ไม่มีถาม ฉะนั้น ประทับใจและจะไม่มีวันลืมเลยนะ ยากเนาะที่เค้าจะเข้ามาถามเราอย่างนี้ ที่นี่ตื่นขึ้นมาก็ยิ้ม จุดนี้ถึงบอกว่าโชคดีที่มาติดคุก ได้เจออะไรหลายๆ อย่าง”


อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ที่ฟื้นคืนผ่านการได้รับความยอมรับนี้ ไม่จำเป็นต้องไปถึงระดับความตระหนักในคุณค่าของตนเองก็ได้ ความยอมรับนั้นกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นความเคารพ ดังกล่าวแล้วว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของความเคารพ การขาดซึ่งความยอมรับจึงเป็นการไม่ได้รับความเคารพและเป็นการสูญเสียความรู้สึกถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์

ในเมื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเงื่อนไขของคุณค่าของปัจเจกบุคคล การสูญเสียดังกล่าวจึงกระทบต่อความตระหนักในคุณค่าของตนเองหรือความยกย่องตนเองด้วย แต่การได้ความเคารพดังกล่าวกลับมา ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าได้ความยกย่องตนเองกลับมาพร้อมกันด้วย ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับความแตกต่างระหว่างคุณค่าของมนุษย์ (เรื่องของความเคารพ) และคุณค่าของปัจเจกบุคคล (เรื่องของความยกย่อง) ที่กล่าวไว้ในบทความตอนแรก “ความสูญเสียเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขัง” ซึ่งตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แล้ว

ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงว่า การทำหน้าที่หรือการทำงานยังมีบทบาทมากกว่าเรื่องการเสริมสร้างความตระหนักในตนเองและสำนึกรับผิดชอบ กล่าวคือยังมีบทบาทในการส่งเสริมความตระหนักในคุณค่าของตนเองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น

“...ทำไมเค้าไม่เห็นคุณค่าของเราเหรอ ก็ย้ายไป แรกๆ ก็กดดันเพราะว่าทำอาหารไม่เป็น จากคนที่ว่าล้างจานก็ไม่เป็น แต่ไม่อยากให้คนอื่นหาว่าเราเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พี่เจ้าหน้าที่นั่นแหละ คอยบอกสอนเรา แล้วเวลาแม่งานทำอะไรยังไง เราก็คอยจำว่า แกงเท่านี้ใส่อะไรๆ จำมาๆ และเริ่มพัฒนาตัวเอง พยายามจากที่ล้างจานไม่เป็น จับหม้อ จับอะไรหล่นแตกตลอด จนหลังๆ เริ่มฝึกทำอาหาร ทุกวันนี้ทำอาหารออกมาอร่อย ใครๆ ถามมีอีกไหมๆ เราก็ปลื้มกับตรงนั้นค่ะ วิธีของตัวเองคือจะใช้งาน งานที่ทำให้เรามีคุณค่าขึ้น...”


คุณค่าในตนเอง ความสุขจากความสำเร็จในการงาน ทำให้ผู้ต้องขังรายนี้ลืมความผิดพลาดในอดีตและตั้งต้นอัตลักษณ์ใหม่ที่นิยามด้วยความสำเร็จนี้ การทำงานกลายเป็นเป้าหมายที่กำหนดการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นไปอย่างกระตือรือร้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเกิดใหม่ของอัตลักษณ์ (ใหม่)

สังเกตเห็นได้ว่า ความรู้สึกถึงคุณค่านั้นคลุมไปทั้งอัตลักษณ์ เนื่องจากมีบทบาทเกินกว่าความใคร่รู้และมุ่งมั่นพัฒนาตนเกี่ยวกับการงาน แต่ยังแผ่ขยายไปถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย โดย ณ ที่นี้จะเห็นว่าอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้มีการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์กับผู้อื่นในรูปแบบใหม่

ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United National Rules for the Treatment of Woman Prisoners and Non-custodial Measures for Woman Offenders) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” (Bangkok Rules) เป็นหลักปฏิบัติที่สามารนำมาส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้สามารถเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในตนเอง โดยผ่านกระบวนการ ๓ ขั้นตอน คือการสูญเสีย การตั้งหลักและทิศทาง และการฟื้นคืน ดังที่บรรยายมา

การฟื้นคืนหลังการสูญเสีย: กรณีศึกษาในผู้ต้องขังหญิง (๒)
ตอน การตั้งหลักและทิศทางของผู้ต้องขัง



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2556

ต่อจากบทความเรื่อง “ความสูญเสียเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขัง” ในฉบับที่แล้ว

เมื่อแรกเข้าไปเป็นผู้ต้องขัง ส่วนใหญ่จะรู้สึกหวาดกลัวและไร้ทิศทาง คำพูดและท่าทีรวมทั้งคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในวันรับตัวมีความสำคัญต่อผู้ต้องขังมาก เจ้าหน้าที่สามารถช่วยให้พวกเธอคลายความหวาดกลัวลงได้แม้จะยังไร้ทิศทางอยู่ก็ตาม

“..เราจินตนาการไปแรกๆ แล้วว่ามันน่ากลัว เจ้าหน้าที่คงจะถือตะบอง ใครทำผิดเค้าต้องลงโทษ แต่พอมาถึง เค้าพูดไม่ให้เรากลัว พูดตลก เค้าจะนำเราตลอดวันแรก... เค้าก็ถามไถ่คดีเป็นยังไง เราบอกคุณยังไม่ได้ตัดสินอะไรเลย แกก็บอกว่าไปอยู่กับแกนะ มาทำมุ้งลวดอะไร แค่คำพูดแกเราก็รู้สึกอุ่นใจแล้ว เพราะว่าเราไม่เคยรู้จักแก ไม่ต้องหยิบยื่นสิ่งของอะไรให้ แค่คำพูดก็เป็นกำลังใจนะคะ…”

หากพิจารณาว่าผู้ต้องขังได้เผชิญภาวะการสูญเสียอัตลักษณ์มา การได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในเรือนจำ รวมถึงความเป็นมิตร นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจะทำให้ขาดความรู้สึกไร้ทิศทางเท่านั้น แต่การสูญเสียอัตลักษณ์ยังกระทบต่อความรู้สึกดังกล่าวในระดับที่ลึกกว่า เนื่องจากเป็นการสูญเสียความหมายในชีวิต ช่วงแห่งการรับเข้านี้จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเป็นเข็มทิศสำหรับการตั้งต้นเพื่อก้าวเดินต่อไป

ระเบียบวินัยอันเป็นความซ้ำซากที่แน่ชัดนั้นมีบทบาทสำคัญ บทบาทที่ว่านั้นมิได้อยู่ในรูปของการช่วยให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างคุณลักษณะบางอย่างขึ้นภายในตัวผู้ต้องขังอีกด้วย

“เริ่มต้นนอนขึ้นมา เราต้องตื่นตีห้าสี่สิบ ทุกคนต้องเรียบร้อยแล้ว ต้องเป็นระเบียบวินัยของใครของมัน ต้องพับตามที่เรากำหนดไว้ พับในรูปแบบไหนชื่อของตัวเองจะออกมา ก็คือ เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจแล้วต้องเห็นชื่อเราชัด คือ ออกมาเป็นแนวเดียวกัน ที่นอนอะไรต้องวางเป็นแถวเป็นระเบียบ ถ้าเราไม่อยู่ในกฎระเบียบ ไม่อยู่ในวินัย ของเราจะแตกแถวด้วย มองก็ไม่สวย เริ่มลงจากเตียงนอนมา การอาบน้ำก็มานั่งเข้าแถว...ช่วยกันนับว่ามีกี่คน อาบรอบนี้ ก็คือได้ความอดทน คือถ้าเกิดไม่มีวินัย ไม่มีความอดทน ถ้ากระทบกระทั่งกันเพราะคนเป็นพัน หลังจากอาบน้ำแล้วทานข้าวก็...จะต้องมานั่งรอแถวเพื่อที่จะมารับถาด แล้วพอรับถาดเสร็จแล้ว ถึงตัวเองจะได้ก่อนก็ต้องรอคนทั้งหมดให้พร้อมกัน คือให้รับครบทุกคนแล้วนั่ง ก่อนจะรับประทานก็ต้องปฏิญาณ คือก็ต้องอดทนค่ะ...คือทั้งวันต้องใช้ความอดทนใช้ความพยายามที่จะข่มใจตัวเองว่าไม่ให้กระทบกระทั่งกับคนอื่น”

ข้อความที่ยกมาดูจะเน้นเพียงว่าการอยู่ภายใต้กฎระเบียบทำให้ต้องพัฒนาความอดทน แต่อันที่จริงแล้วยังพบว่ามีคุณลักษณะอื่นๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบและข้อจำกัดอื่นๆ ได้แก่ การมุ่งเป้าหมาย

แต่เป้าหมายในที่นี้มีลักษณะแคบ คือ เป็นเพียงการมุ่งหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกัน

ข้อจำกัดต่างๆ นานาทำให้ผู้ต้องขังต้องตระหนักถึงตนเองทั้งในแง่ของการกระทำและการวางแผน กฎระเบียบรวมถึงข้อจำกัดด้านเวลาและสิ่งแวดล้อมช่วยสร้างความรู้สึกด้านทิศทางให้แก่ผู้ต้องขังอย่างไม่รู้ตัว ผู้ต้องขังต้องฝึกวางเป้าหมาย ไม่ว่าระยะสั้น (เช่น ทำตามกฎระเบียบ ไม่กระทบกระทั่งกับผู้อื่น) หรือระยะที่ยาวกว่า (เช่น การจัดสรรเวลา การอ่านหนังสือ)

ด้วยสภาพที่ต้องอยู่ในที่ต้องขัง ความตระหนักถึงตนเองและการมีเป้าหมายทิศทางเพื่อดำรงตนในข้อจำกัดต่างๆ จึงได้รับการกระตุ้นทุกวัน

การทำสิ่งที่ซ้ำซากจำเจและขาดอิสระ ที่มักเข้าใจกันว่าเป็นปัจจัยในการลดทอนความเป็นปัจเจกบุคคล การเห็นคุณค่าในตัวตนและเป้าหมายในชีวิต ที่จริงแล้วจึงกลับกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูความตระหนักในตนเองและความรู้สึกถึงทิศทางในชีวิตของผู้ต้องขัง

“สิ่งที่หนูแบ่งเวลานะคะ เวลาที่นี่มีค่ามากกว่าอื่นใดเลย ทุกอย่างจำกัดเวลาเราหมดเลย ถ้าเราแบ่งไม่ถูก มันจะทำให้เราผิดที่ผิดทางไปหมด พอถ้าเกิดอีกอย่างคือ ถ้าเราไม่ไปกินข้าวตรงเวลาก็อด ถ้าเราทำงานไม่เรียบร้อยเราก็โดนว่า เราได้เงินจากการทำงาน ก็ต้องคิดแล้วว่าตรงนี้ต้องเอาไปทำอะไรบ้าง ๓ เดือนครั้ง ต้องไปจ่ายค่าเล่าเรียน ๖ เดือนครั้ง ต้องมาแยก ว่าปันผลได้เท่าไหร่ต้องไปจ่ายเท่าไหร่...”

เรื่องเล่าของผู้ต้องขังดังกล่าว แสดงถึงความสอดแทรกกันไปมาระหว่างความตระหนักในตนเอง เป้าหมาย และการรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ความรับผิดชอบดังกล่าวน่าจะเป็นองค์ประกอบที่อธิบายกลไกการสร้างความตระหนักในตนเองและความรู้สึกถึงทิศทาง

นอกเหนือจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว การมอบหมายความรับผิดชอบก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมความตระหนักดังกล่าว

ลองอ่านเรื่องเล่าของผู้ต้องขังรายนี้

“ถามว่าเปลี่ยนไหม เปลี่ยนเยอะเลย เมื่อก่อนเราไม่มีเวลามานั่งคิดเล็กคิดน้อย คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ ถึงมีแต่มันไม่เยอะ เรามีเวลาทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ถ้าเราไม่เห็นแก่เงินนิดเดียว เราไม่ต้องมาขนาดนี้ ทำให้เราใจเย็นขึ้น มีสติขึ้น เมื่อก่อนทำอะไรก็ทำ เราไม่ได้คิดเลย เดี๋ยวนี้ทำอะไรต้องคิดไว้ก่อน...เมื่อก่อนอยู่ข้างนอก ไม่มีเวลามานั่งคิดเล็กคิดน้อย แต่พอมาอยู่ข้างในนี้ มีเวลาคิดทบทวนเหมือนว่า เช่น สมมุติเราขายยา เราพลาด เราก็มานั่งทบทวนนะ เอ้อ...จริง...เราไม่น่าจะไปทำมันเลย สิ่งที่เราได้มากับสิ่งที่เราได้มาอยู่ในนี้มันไม่คุ้มกันเลย มันอยู่ตั้ง ๘ ปี แต่สิ่งที่เราทำพลาดนิดเดียว ก็มีเวลาคิดสิ่งที่ว่า เราเคยทำผิดพลาดมาจากข้างนอก แล้วเข้ามาอยู่ข้างใน คือ ได้ทบทวนหลายๆ สิ่ง”

การมีเวลาอยู่กับตนเองมากขึ้น เปิดโอกาสให้ได้คิดทบทวน อันเป็นการมองย้อนถึงตนเองในฐานะผู้กระทำที่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง

โดยสรุป กฎระเบียบและความซ้ำซากจำเจที่ต้องปฏิบัติ ช่วยให้ผู้ต้องขังตั้งหลักและทิศทางได้สำเร็จ เหล่านี้คือขั้นตอนที่สองของการปรับตัว

ยังมีต่อเป็นตอนสุดท้าย คือ “กระบวนการฟื้นคืน” ...

การฟื้นคืนหลังการสูญเสีย: กรณีศึกษาในผู้ต้องขังหญิง
ตอน ความสูญเสียเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขัง



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2556

ข้อเขียนต่อไปนี้ เก็บความ ตัดตอน เขียนใหม่ จากเอกสารทางวิชาการของ รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการอนุมัติจากเจ้าของผลงานแล้ว

ประเทศไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United National Rules for the Treatment of Woman Prisoners and Non-custodial Measures for Woman Offenders) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” (Bangkok Rules) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๕

ก่อนที่จะประกาศข้อกำหนดกรุงเทพฯ พบว่าในประเทศไทยมีผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่เรือนจำส่วนหนึ่ง มีวิธีการทำงานที่สาธิตให้เห็นได้ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องขังได้รับโอกาสพัฒนาตนเองขณะอยู่ในเรือนจำ โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้ประสานความร่วมมือจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ต้องขังหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่และวิธีการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขัง ที่ทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตนเองและผู้อื่น

ประเด็นแรกที่ควรตระหนักไว้ก่อนคือ คุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นคนละสิ่ง คุณค่าความเป็นมนุษย์อาจเรียกได้อีกอย่างว่าคุณค่าในฐานะมนุษย์ คุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของความเคารพ (respect) ขณะที่คุณค่าของปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของความยกย่อง (esteem)

กล่าวคือ บุคคลใดๆ ต่างก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านี้เป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเคารพบุคคลทุกคน โดยมิกระทำต่อเขาเหล่านั้นราวกับว่าเป็นวัตถุ

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาบุคคลที่ต่างก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เหล่านี้ ต่างก็มีคุณค่าเชิงปัจเจกบุคคลในระดับที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของสถานะ คุณธรรม ความพยายาม หรือความสำเร็จ ดังนั้น แม้เราจำเป็นต้องเคารพบุคคลทุกคน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องยกย่องทุกคนในคราวเดียวกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ ณ ที่นี้ด้วยคือ ความแตกต่างระหว่าง “ตัวตน” (self) และ “อัตลักษณ์” (identity) การแบ่งแยกทั้งสองมีคำอธิบายแตกต่างกันไป การพูดถึง “ตัวตน” (self) ไม่ใช่การพูดถึง “ฉัน” (I) กล่าวคือ “ตัวตน” คือผู้สร้าง “อัตลักษณ์” (หรือ “ฉัน”) โดย “อัตลักษณ์” นี้คือความเข้าใจว่า “ฉันคือใคร”

ปกติทั้ง “ตัวตน” และ “อัตลักษณ์” จะซ้อนทับกันอยู่ เราสามารถตระหนักถึงการมีอยู่ของ “ตัวตน” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราสับสนว่า “ฉันคือใคร” จะเห็นได้ว่าในกรณีที่เราไม่รู้ว่า “ฉันคือใคร” คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วใครเล่าคือคนที่ตั้งคำถามและดิ้นรนเพื่อตอบคำถามนี้ คำตอบคือ “ตัวตน”

การดิ้นรนเพื่อแสวงหาคุณค่าของปัจเจกบุคคลจากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ต้องขังหญิง ช่วยให้เราได้เรื่องเล่าที่เป็นรูปธรรม สะท้อนให้เห็นภาพของ “ตัวตน” ที่พยายามสร้าง “ตัวฉัน” ขึ้นมาใหม่

ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ต้องขังสะท้อนให้เห็นถึงการแสวงหาคุณค่าของปัจเจกบุคคล การแสวงหาดังกล่าวเป็นกระบวนการที่เริ่มจากความสูญเสียอัตลักษณ์ ก่อนที่จะเป็นเรื่องของการฟื้นคืนอัตลักษณ์ ดำเนินจากระดับของความสูญสิ้นไปสู่ระดับของความตระหนักในคุณค่าของตนเอง

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ความหมายของการเป็นผู้ต้องขังจะเริ่มต้นด้วยความสูญเสีย สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่อาชญากร การตกเป็นผู้ต้องขังเป็นการสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิมแทบทั้งหมด

อัตลักษณ์มีองค์ประกอบสำคัญหลายส่วนจากความเป็นสมาชิกในสังคม แต่เนื่องจากการเป็นผู้ต้องขังทำให้ถูกกันออกไปจากสังคม ทำให้กลายเป็นคนนอกสังคม องค์ประกอบของชีวิตทางสังคมดั้งเดิมจึงสูญหายไปด้วย

ความสูญเสียอัตลักษณ์นี้มีผลกระทบลึกซึ้งเนื่องจากคนเราให้ความหมายแก่ชีวิตและโลกผ่านกรอบแห่งอัตลักษณ์ ความสูญเสียเช่นที่ว่าจึงเป็นภาวะที่บุคคลพบว่าชีวิตและโลกนี้หมดความหมายไปเสียทั้งหมด ในเมื่อชีวิตไร้ความหมาย ความตายจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คิดถึงกัน

“...ก็เครียด ตอนนั้นมีลูกสาวโดนด้วย เพราะว่าตอนนั้นลูกสาวมานอนด้วยจากกรุงเทพฯ เราพยายามทำเรื่องเอาลูกสาวออกไป...ทำเรื่องให้ลูก เพราะว่าลูกไม่เกี่ยวจริงๆ จนเค้าก็ยกฟ้องไป ตัดสินแต่เราคนเดียว ก็ดีใจให้ลูกหลุดไป...พอลูกออกไปก็ร้องไห้ บอกแม่อย่าทำอะไรนะ เคยคิดไว้แล้วว่าจะไม่อยู่ จะผูกคอตาย แต่สงสารลูกมาก ลูกก็กอดร้องไห้ นายหญิงที่เรือนจำเล็กก็รู้จักกัน เค้าก็พยายามปลอบ บอกว่าอย่าทำอะไรนะ คิดถึงลูกบ้าง แต่เราแอบผ้าไว้แล้ว ไว้ผูกคอตาย พอคืนนั้นลูกสาวก็ไป แล้วเค้าก็ไม่มีใครนอนเลย ดูเฝ้าเราทั้งคืน...”

ข้อความที่ยกมาเป็นเรื่องเล่าของผู้ต้องขังที่มีอัตลักษณ์ในฐานะแม่ ประสบการณ์การตกเป็นผู้ต้องขังของเธอทำให้สูญเสียอัตลักษณ์แบบซ้อนทับ กล่าวคือนอกจากจะเผชิญความสูญเสียเช่นคนอื่นๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องขังแล้ว อัตลักษณ์ความเป็นแม่ยังถูกกระทบเนื่องจากทำให้ลูกต้องโชคร้ายตกเป็นผู้ต้องขังด้วย

การดิ้นรนสุดท้ายเป็นการดิ้นรนเพื่อทำหน้าที่ตามอัตลักษณ์ของแม่ดังกล่าว นั่นคือ ผู้ต้องขังรายนี้ได้พยายามช่วยให้ลูกได้พ้นจากที่ต้องขังเพียงเพื่อที่ตนเองจะกลับมาสู่ภาวะแห่งการสูญสิ้นทั้งหมด ซึ่งนำสู่ความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย

ข้อความที่ยกมาสะท้อนความตึงแย้ง (tension) ของการสูญเสียอัตลักษณ์อันเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี ในด้านหนึ่งการตกเป็นผู้ต้องขังคือความสูญสิ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง อัตลักษณ์บางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่และพยายามดิ้นรนทำหน้าที่ของตนเอง

ที่สมควรชี้ให้เห็นคือ เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่เพียงเฝ้าระวังชีวิตของผู้ต้องขังรายนี้ พวกเขาได้กอบกู้อัตลักษณ์ที่เหลืออยู่ของสตรีรายนี้เอาไว้ด้วย


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงขั้นตอนที่หนึ่งของการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิง

ยังมีต่อ...

Back to Top