การฟื้นคืนหลังการสูญเสีย: กรณีศึกษาในผู้ต้องขังหญิง
ตอน ความสูญเสียเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขัง



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2556

ข้อเขียนต่อไปนี้ เก็บความ ตัดตอน เขียนใหม่ จากเอกสารทางวิชาการของ รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการอนุมัติจากเจ้าของผลงานแล้ว

ประเทศไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United National Rules for the Treatment of Woman Prisoners and Non-custodial Measures for Woman Offenders) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” (Bangkok Rules) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๕

ก่อนที่จะประกาศข้อกำหนดกรุงเทพฯ พบว่าในประเทศไทยมีผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่เรือนจำส่วนหนึ่ง มีวิธีการทำงานที่สาธิตให้เห็นได้ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องขังได้รับโอกาสพัฒนาตนเองขณะอยู่ในเรือนจำ โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้ประสานความร่วมมือจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ต้องขังหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่และวิธีการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขัง ที่ทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตนเองและผู้อื่น

ประเด็นแรกที่ควรตระหนักไว้ก่อนคือ คุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นคนละสิ่ง คุณค่าความเป็นมนุษย์อาจเรียกได้อีกอย่างว่าคุณค่าในฐานะมนุษย์ คุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของความเคารพ (respect) ขณะที่คุณค่าของปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของความยกย่อง (esteem)

กล่าวคือ บุคคลใดๆ ต่างก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านี้เป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเคารพบุคคลทุกคน โดยมิกระทำต่อเขาเหล่านั้นราวกับว่าเป็นวัตถุ

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาบุคคลที่ต่างก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เหล่านี้ ต่างก็มีคุณค่าเชิงปัจเจกบุคคลในระดับที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของสถานะ คุณธรรม ความพยายาม หรือความสำเร็จ ดังนั้น แม้เราจำเป็นต้องเคารพบุคคลทุกคน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องยกย่องทุกคนในคราวเดียวกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ ณ ที่นี้ด้วยคือ ความแตกต่างระหว่าง “ตัวตน” (self) และ “อัตลักษณ์” (identity) การแบ่งแยกทั้งสองมีคำอธิบายแตกต่างกันไป การพูดถึง “ตัวตน” (self) ไม่ใช่การพูดถึง “ฉัน” (I) กล่าวคือ “ตัวตน” คือผู้สร้าง “อัตลักษณ์” (หรือ “ฉัน”) โดย “อัตลักษณ์” นี้คือความเข้าใจว่า “ฉันคือใคร”

ปกติทั้ง “ตัวตน” และ “อัตลักษณ์” จะซ้อนทับกันอยู่ เราสามารถตระหนักถึงการมีอยู่ของ “ตัวตน” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราสับสนว่า “ฉันคือใคร” จะเห็นได้ว่าในกรณีที่เราไม่รู้ว่า “ฉันคือใคร” คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วใครเล่าคือคนที่ตั้งคำถามและดิ้นรนเพื่อตอบคำถามนี้ คำตอบคือ “ตัวตน”

การดิ้นรนเพื่อแสวงหาคุณค่าของปัจเจกบุคคลจากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ต้องขังหญิง ช่วยให้เราได้เรื่องเล่าที่เป็นรูปธรรม สะท้อนให้เห็นภาพของ “ตัวตน” ที่พยายามสร้าง “ตัวฉัน” ขึ้นมาใหม่

ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ต้องขังสะท้อนให้เห็นถึงการแสวงหาคุณค่าของปัจเจกบุคคล การแสวงหาดังกล่าวเป็นกระบวนการที่เริ่มจากความสูญเสียอัตลักษณ์ ก่อนที่จะเป็นเรื่องของการฟื้นคืนอัตลักษณ์ ดำเนินจากระดับของความสูญสิ้นไปสู่ระดับของความตระหนักในคุณค่าของตนเอง

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ความหมายของการเป็นผู้ต้องขังจะเริ่มต้นด้วยความสูญเสีย สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่อาชญากร การตกเป็นผู้ต้องขังเป็นการสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิมแทบทั้งหมด

อัตลักษณ์มีองค์ประกอบสำคัญหลายส่วนจากความเป็นสมาชิกในสังคม แต่เนื่องจากการเป็นผู้ต้องขังทำให้ถูกกันออกไปจากสังคม ทำให้กลายเป็นคนนอกสังคม องค์ประกอบของชีวิตทางสังคมดั้งเดิมจึงสูญหายไปด้วย

ความสูญเสียอัตลักษณ์นี้มีผลกระทบลึกซึ้งเนื่องจากคนเราให้ความหมายแก่ชีวิตและโลกผ่านกรอบแห่งอัตลักษณ์ ความสูญเสียเช่นที่ว่าจึงเป็นภาวะที่บุคคลพบว่าชีวิตและโลกนี้หมดความหมายไปเสียทั้งหมด ในเมื่อชีวิตไร้ความหมาย ความตายจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คิดถึงกัน

“...ก็เครียด ตอนนั้นมีลูกสาวโดนด้วย เพราะว่าตอนนั้นลูกสาวมานอนด้วยจากกรุงเทพฯ เราพยายามทำเรื่องเอาลูกสาวออกไป...ทำเรื่องให้ลูก เพราะว่าลูกไม่เกี่ยวจริงๆ จนเค้าก็ยกฟ้องไป ตัดสินแต่เราคนเดียว ก็ดีใจให้ลูกหลุดไป...พอลูกออกไปก็ร้องไห้ บอกแม่อย่าทำอะไรนะ เคยคิดไว้แล้วว่าจะไม่อยู่ จะผูกคอตาย แต่สงสารลูกมาก ลูกก็กอดร้องไห้ นายหญิงที่เรือนจำเล็กก็รู้จักกัน เค้าก็พยายามปลอบ บอกว่าอย่าทำอะไรนะ คิดถึงลูกบ้าง แต่เราแอบผ้าไว้แล้ว ไว้ผูกคอตาย พอคืนนั้นลูกสาวก็ไป แล้วเค้าก็ไม่มีใครนอนเลย ดูเฝ้าเราทั้งคืน...”

ข้อความที่ยกมาเป็นเรื่องเล่าของผู้ต้องขังที่มีอัตลักษณ์ในฐานะแม่ ประสบการณ์การตกเป็นผู้ต้องขังของเธอทำให้สูญเสียอัตลักษณ์แบบซ้อนทับ กล่าวคือนอกจากจะเผชิญความสูญเสียเช่นคนอื่นๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องขังแล้ว อัตลักษณ์ความเป็นแม่ยังถูกกระทบเนื่องจากทำให้ลูกต้องโชคร้ายตกเป็นผู้ต้องขังด้วย

การดิ้นรนสุดท้ายเป็นการดิ้นรนเพื่อทำหน้าที่ตามอัตลักษณ์ของแม่ดังกล่าว นั่นคือ ผู้ต้องขังรายนี้ได้พยายามช่วยให้ลูกได้พ้นจากที่ต้องขังเพียงเพื่อที่ตนเองจะกลับมาสู่ภาวะแห่งการสูญสิ้นทั้งหมด ซึ่งนำสู่ความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย

ข้อความที่ยกมาสะท้อนความตึงแย้ง (tension) ของการสูญเสียอัตลักษณ์อันเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี ในด้านหนึ่งการตกเป็นผู้ต้องขังคือความสูญสิ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง อัตลักษณ์บางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่และพยายามดิ้นรนทำหน้าที่ของตนเอง

ที่สมควรชี้ให้เห็นคือ เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่เพียงเฝ้าระวังชีวิตของผู้ต้องขังรายนี้ พวกเขาได้กอบกู้อัตลักษณ์ที่เหลืออยู่ของสตรีรายนี้เอาไว้ด้วย


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงขั้นตอนที่หนึ่งของการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิง

ยังมีต่อ...

Back to Top