มกราคม 2011

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สนใจเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณ : เรื่องเล่าเร้าการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2554

ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่หันมาสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องจิตวิญญาณ เพราะวิทยาศาสตร์ให้คำตอบได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และจุดหมายของชีวิต นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้ฝึกฝน เรียนรู้การเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จากภูมิปัญญาตะวันออก และจากศาสนาต่างๆ แล้วนำมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบ ศาสตราจารย์ ดร. โรเจอร์ วอลช์ (Roger Walsh) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ดร.วอลช์ เป็นชาวออสเตรเลีย เกิดและเติบโตในในชนบทที่ห่างไกล ไม่มีภาพยนตร์ ไม่มีทีวีให้ดู แต่เป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ ในช่วงที่เป็นหนุ่ม ท่านเล่าเรียนและหลงไหลในวิทยาศาสตร์มาก ถือว่าวิทยาศาสตร์คือพระเจ้า ยอมศิโรราบให้กับนักวิทยาศาสตร์ เลื่อมใสในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ในช่วงนั้นท่านก็คิดเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปว่า อะไรที่วัดไม่ได้ด้วยเครื่องมือและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่เลื่อนลอยไม่มีความหมาย

ดร. วอลช์ ใช้เวลาสิบกว่าปีในมหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สะสมปริญญาบัตรในสาขาวิชาต่างๆ เช่นปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (สรีรวิทยา) ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางจิตวิทยา แพทยศาสตร์ และปริญญาเอกทางประสาทวิทยา ทั้งหมดจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้รับใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ จิตวิทยา และจิตแพทย์ ต่อมาย้ายไปอยู่และทำงานในอเมริกา เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ในช่วงแรกของการเป็นนักวิชาการ มีผลงานและเขียนตำราทางวิชาการเกี่ยวกับสมอง และพฤติกรรม เมื่อมีเวลาว่างก็จะล้อเพื่อนๆ ที่สนใจศาสนาว่าล้าสมัย

ต่อมาด้วยความสนใจความลึกลับของจิต ดร. วอลช์ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาเพื่อทำวิจัยทางสมองและจิตแพทย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท่านได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิต ยิ่งทำให้ท่านสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องภายในของจิตมากขึ้น ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปรับการรักษาทางจิต (จิตบำบัด) ในฐานะคนไข้ เพื่อเรียนรู้เรื่องการหยั่งรู้ภายใน และจากการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ทางจิตบำบัด ยิ่งทำให้ท่านสนใจเรื่องมิติภายในเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาและเรียนรู้จิตใจของตนเองอย่างใคร่ครวญมากขึ้น ก็ทำให้รู้ว่าจักรวาลภายในนั้นยิ่งใหญ่และลึกลับเช่นเดียวกับจักรวาลภายนอก ในช่วงแรกๆ ของการศึกษาเรื่องภายในนี้ ท่านเกิดภาวะช็อคที่ตื่นเต้นสุดในชีวิต เพราะโลกภายใน ไม่ว่าจะเป็นความคิด การฝันเฟื่อง จินตภาพ การหยั่งรู้ อารมณ์และแรงจูงใจ มีความหลากหลายที่น่าทึ่ง ไม่เคยตระหนักรู้มาก่อน ทั้งๆ ที่โลกภายในเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เข้าใจจิตและตนเอง ให้แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ประมาณค่าไม่ได้ ท่านยอมรับว่าท่านตามืดบอดเกี่ยวกับตัวเองมาตลอด และพบว่าคนอื่นๆ ก็มืดบอดเกี่ยวกับตนเองเช่นกัน

ในการเริ่มต้นศึกษาสำรวจโลกภายในนี้ ท่านเริ่มจากการการทดลองฝึกสมาธิหลากหลายรูปแบบ และพบว่าการฝึกสมาธิมีพลังมากในการฝึกจิต และพัฒนาด้านความสงบเย็น มีสมาธิ รู้สึกไว และตระหนักรู้ในตนเอง

การฝึกสมาธิช่วยทำให้ตระหนักถึงและเข้าใจความลึกซึ้งของจิต ซึ่งเดิมเคยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญ แต่กลายเป็นเรื่องใหญ่และลึกลับซับซ้อนมากกว่าที่คิด

ในช่วงของการฝึกปฏิบัติเหล่านี้ ท่านมีความรู้สึกตื่นเต้นระคนกับความเจ็บปวดลึกๆ กับความรู้สึกที่ว่าตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่มานั่งสมาธิซึ่งเป็นเทคนิคทางศาสนาและโบราณ ความสับสนทางความคิดลักษณะนี้ดำรงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน

จนมาวันหนึ่ง ที่กำลังเตรียมตัวจะกินอาหารเย็น ท่านเดินออกจากห้องนอนเพื่อจะไปห้องน้ำ เดินไปโดยไม่คิดอะไร ขณะที่เปิดประตูห้องน้ำ ก็เกิดแสงสว่างแห่งความเข้าใจแว้บเข้ามา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญของท่าน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่านปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า ใจกลางของการศึกษาจิตวิญญาณของศาสนาใหญ่ๆ ทั่วโลก จะมีแกนร่วมของแนวปฏิบัติในการฝึกและพัฒนาจิต และแนวปฏิบัติเหล่านี้จะนำไปสู่ผลทำนองเดียวกัน คือความลุ่มลึกและความลึกซึ้งของสภาวะของจิต และคุณภาพหรือคุณสมบัติที่สำคัญของจิต คือความรัก (Love) และปัญญา (Wisdom) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ให้กำเนิดศาสนาต่างๆ ค้นพบมาตั้งนาน

ความเข้าใจที่ลุ่มลึกใหม่นี้ทำให้ท่านเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของท่านไปโดยสิ้นเชิง ท่านเริ่มดื่มด่ำกับการศึกษาศาสนาและแนวทางการปฏิบัติด้านจิตวิญญาณ โดยเริ่มจากทางด้านเอเชีย เรียนรู้และฝึกสมาธิแบบพุทธ โดยฝึกฝนอย่างจริงจังเต็มเวลาเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากนั้นก็ท่องไปในโลกกว้างเพื่อค้นหาผู้รู้ ศึกษากับนักเทววิทยา นักปรัชญา ท่านศึกษาอย่างกระหายหิวเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาพุทธ ขงจื๊อ เล่าจื๊อ และผู้รู้อื่นๆ

หลังจากนั้นสองสามปี ดร. วอลช์ก็เริ่มกลับมาสำรวจความเชื่อพี้นฐานดั้งเดิมของตนเอง คือศาสนาคริสต์ และได้ค้นพบด้วยความตื่นเต้นว่า สามารถค้นพบความลุ่มลึกของปัญญาที่ปรากฏในคำสอนของศาสนาคริสต์ที่ท่านไม่เคยเข้าใจมาก่อนได้

ในอดีตศาสนาคริสต์สำหรับท่านก็เป็นเพียงแค่ประเพณีปฏิบัติ มีโรงเรียนวันอาทิตย์ และไปเข้าโบสถ์ตามปกติ แต่ในปัจจุบัน ท่านได้ค้นพบแนวปฏิบัติทางจิตวิญญาณ และจิตตปัญญาญาณ (Contemplative Wisdom) ที่มีมากว่าสองพันปีของคริสต์ศาสนา ซึ่งมีชาวคริสต์จำนวนน้อยที่รู้ และในปัจจุบันท่านยังคงปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาของคริสต์เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้เข้าไปศึกษาศาสนาอื่นๆ อีกเช่น ยิว อิสลาม และลัทธิเก่าแก่ เช่น ชามันนิสม์ และได้เขียนหนังสือชื่อ The Spirit of Shamanism

จากประสบการณ์ที่ลุ่มลึกและหลากหลาย ท่านได้สรุปและเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Essential Spirituality ว่ามีแกนปฏิบัติร่วมของทุกศาสนาอยู่ ๗ ประการ จะเริ่มจากเรื่องใดก่อนก็ได้ ทั้งหมดจะนำไปสู่การมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณในท้ายที่สุด การฝึกปฏิบัติ ๗ ประการได้แก่ ความกรุณา (Kindness) การเรียนรู้และการให้ความรัก (Love) การฝึกสมาธิและการสงบสุข (Peace) การมองเห็นและการยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง (Spiritual Vision) การพัฒนาปัญญาและความเข้าใจในชีวิต (Wisdom) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Generosity) และการมีปิติสุข (Joy) ในการทำความดีและการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

บทเรียนจากชีวิตจริงของ ดร.วอลช์ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่เสาะแสวงหาวิถีสู่การมีสุขภาวะทางจิดวิญญาณ เพราะวิถีของโลกกระแสหลักดูเหมือนจะนำไปสู่ทุกขภาวะทางจิตวิญญาณ

เปลี่ยนช้า-ช้า แต่ว่าแน่นอน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2554

การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นของแน่ ใคร-ใครก็รู้ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเป็นเรื่องปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างตามมีตามเกิด ไม่อย่างนั้นแล้วผู้คนก็คงไม่ลุกขึ้นมาพูดว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำอย่างไร?

บ้างก็ว่าสังคมเป็นเบ้าหล่อหลอมของมนุษย์ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเน้นที่โครงสร้างทางสังคม – สถาบัน องค์กร หน่วยงานรัฐ บริษัท โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ

บ้างก็ว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มที่คนในสังคม ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเน้นที่ปัจเจกหรือตัวเรา

วิลเลียม ชแตร์น นักปรัชญาเยอรมันเชื่อว่าสังคมและปัจเจกต่างเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกันผ่านกระบวนการที่มนุษย์รับรู้ความจริงผ่านโลก และนำไปสู่การหลอมรวมคุณค่าทางสังคมกับคุณค่าภายในของมนุษย์ – แต่แนวคิดนี้พิสูจน์ได้อย่างไร?
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ อแลน เดอ วูลปิแอ็ง นักสังคมวิทยาและนักชาติพันธุ์วิทยาที่เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้คน และใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลมากกว่า ๕๐ ปี ยืนยันอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและคุณค่าของผู้คน เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างช้า-ช้า

กว่าที่คุณค่าใหม่ของผู้คนจะเข้าไปสู่ครอบครัว โรงเรียน และย้ายเข้าไปสู่ภาคธุรกิจและองค์กรรัฐนั้นใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว – แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และหากภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนที่เปลี่ยนแปลง อแลนถึงกับออกปากเตือนว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาได้

ที่ว่าผู้คนเปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น - เปลี่ยนแปลงแบบไหน?

ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ให้คุณค่ากับอิสรภาพและความหมายของความสุขมากขึ้น มีการตั้งคำถามกับกรอบทางสังคมที่มีแนวโน้มของการเป็นเผด็จการทางความเชื่อ หรือผูกขาดทางจริยธรรมและสติปัญญา มองว่าความสุขนั้นประกอบด้วยความพึงพอใจในชีวิตทั้งทางกายและจิตใจ

ผู้คนที่รักในอิสรภาพเหล่านี้ต่างแสวงหาหนทางในการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีของตัวเอง พวกเขาหรือเธอต้องการชีวิตที่มีความรักความอบอุ่น มีการงานที่มีความหมาย จากเดิมที่ต้องการแสวงหาความสำเร็จผ่านอาชีพการงาน ก็เริ่มที่จะมองหาการงานที่สนับสนุนเป้าหมายของชีวิต

โครงสร้างทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ตอบสนองคุณค่าหรือความต้องการที่เปลี่ยนไปของมนุษย์นั้น จะต้องมีความเป็นทางการน้อยลง โครงสร้างอำนาจทางดิ่งหายไป มีความเสมอภาคมากขึ้นเปิดพื้นที่ของความสร้างสรรค์มากขึ้น

ในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ บริษัทวอลโวเริ่มสังเกตเห็นว่าคนงานในโรงงานเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และมองว่าในอนาคตคงเป็นไปได้ยากที่จะนำเอาคนงานเหล่านี้มายืนทำงานในระบบสายพานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ แต่แทนที่จะใช้วิธีไล่ออกหรือหาคนงานไร้สัญชาติที่ไร้อำนาจต่อรองหรือเชื่องเชื่อมาแทนคนงานเดิม วอลโวเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบสายพานมาเป็นทีมทำงานที่มีความรับผิดชอบของตัวเองและเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้

ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้บริหารบริษัทรอยัล ดัทช์/เชลล์ก็พบว่า การพยากรณ์แนวโน้มอนาคตด้วยวิธีการจำลองสถานการณ์แบบเดิมในห้องประชุมนั้น ไม่อาจเชื่อมโยงกับโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ ปิแอร์ แว็ก ผู้บริหารของบริษัทใช้วิธีการค้นหากระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่ เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงแนวคิดภายในของคนทำงานจะต้องผ่านปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก

ดังนั้นเอง บริษัทหรือหน่วยงานรัฐที่อยากจะมีคนเก่ง ฉลาด และมีความสามารถมาร่วมงานด้วย ก็ต้องเริ่มคิดถึงแรงจูงใจอื่นนอกเหนือจากตัวเลขเงินเดือนสูงๆ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรให้มีอำนาจแนวดิ่งลดลง มีพื้นที่ให้ผู้คนสร้างสรรค์และปฏิสัมพันธ์ทางราบมากขึ้น ผู้บริหารต้องสอนน้อยลง เรียนรู้มากขึ้น มิฉะนั้นแล้ว บริษัทหรือหน่วยงานรัฐที่ไม่อาจปรับตัวกับผู้คนที่เปลี่ยนไป อาจถึงกาลล่มสลายในห้วงเวลาแห่งความปั่นป่วนสับสนนี้ได้

อแลนยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทั้งในฝรั่งเศสและนิวยอร์ก ผู้คนเหล่านี้มีความเป็นผู้นำที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน พวกเขาหรือเธอไม่ได้ทำตัวเป็นเจ้านายที่โน้มตัวลงมารับฟังความคิดเห็นของคนทำงานระดับล่าง หากเข้าไปคลุกคลีและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในแทบทุกระดับผ่านกระบวนการสนทนาและสื่อสาร โดยมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญ ผู้นำเหล่านี้สามารถสร้างบริหารจัดการผ่านการแบ่งปันทัศนคติและความคิดเห็นที่ร่วมสมัย แทนที่จะใช้ระบบอำนาจสั่งการที่บั่นทอนอิสรภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงาน

เอาล่ะ เรารู้แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของผู้คนนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแน่นอน และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้เวลานาน กินเวลาหลายสิบปี แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงของผู้คนเกิดขึ้นแล้ว โครงสร้างทางสังคมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงตามผู้คนก็อาจจะอยู่ไม่รอด – แต่วิธีการที่ผู้คนเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?

อารี เดอ กีส์ อดีตผู้บริหารบริษัทเชลล์ เจ้าของแนวคิด “การวางแผนในฐานะการเรียนรู้” และ ผู้เขียน “บริษัทที่มีชีวิต: การอยู่รอดในภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอันปั่นป่วนสับสน” ยอมรับว่าสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากงานของอแลนก็คือ ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงสังคมเหล่านี้ไม่อาจนั่งอยู่ที่วงนอก แล้วก็ชี้นิ้วตะโกนสั่งให้สังคมเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นสมาชิกของสังคมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะเมื่อเราเปลี่ยน โครงสร้างถึงจะเปลี่ยน

ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม การเปลี่ยนแปลงของผู้คนก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และองค์กรหรือสถาบันทางสังคมที่ไม่อาจปรับตัวก็ย่อมถูกคัดเลือกออกตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน – อย่างแน่นอน

มนุษย์ต่างดาวเป็นสุคติกว่าเราเสียอีก



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2554

พุทธศาสนาไม่ได้บอกเรื่องมนุษย์ต่างดาวเคยมาที่โลก แต่บอกว่าพรหมเป็นผู้ปกครองกาแลคซี่ เช่นท้าวมหาพรหมเป็นผู้ปกครองจุลกนิกะ โลกธาตุซึ่งเป็นกลุ่มกาแลคซี่ (cluster of galacxies) ขนาดเล็กเท่านั้น ถ้าหากเป็นกลุ่มของกาแลคซี่ที่ใหญ่กว่านั้น ผู้เขียนคิดว่าคงจะเป็นอรูปพรหมที่ปกครอง พุทธศาสนายังกล่าวถึงพรหมวิมานซึ่งเป็นสถานที่อุบัติของพรหมซึ่งเป็นเรื่องของลัทธิพระเวท ที่ต่อมาพระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยว่าพรหมเกิดจากความปรารถนาความหลากหลายซึ่งไม่เป็นธรรมชาติของวิวัฒนาการ แอริช วอน ดานิเกนส์ ได้พิมพ์หนังสือจำหน่ายรวมทั้งหมดถึงกว่า ๓๐ ครั้งจำนวนกว่า ๓ ล้าน ๕ แสนเล่มมีชื่อว่า“วิมานของเทวดา” (Erich Von Danikens: Chariots of the Gods?, 1973) ว่าเทวดาได้มาเยี่ยมเยียนโลกเราโดยวิมาน (UFO) มาตั้งแต่ก่อนมีโฮโม ซาเปี้ยนส์เสียอีก แต่คริสต์ศาสนามี ซึ่งผู้เขียนภาพวาดหลายภาพมียูเอฟโอที่หน้าตาเหมือนกับยูเอฟโอทั่วไปของทุกวันนี้ เมื่อไม่กี่วันนี้ลูกชายของผู้เขียนได้เอารูปจานบินที่ถ่ายด้วยกล้องของดาวเทียมมาให้ถึงหกลำ บทความของวันนี้จะมองในอีกแง่หนึ่ง คือมองว่าสิ่งมีชีวิตที่มีรูปกายคล้ายๆ กับมนุษย์หรือมนุษย์ต่างดาวที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีอย่างแน่นอนนั้น เมื่อตายไปแล้ว ก็ย่อมจะไปสู่สุคติได้ และได้เหนือกว่ามนุษย์ในโลกนี้เสียอีก ทั้งนี้แล้วแต่กรรมจะกำหนด เพราะผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวอย่างน้อยจำพวกหนึ่ง อยู่บนสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ

แต่ถ้าให้พูดอย่างหมดเปลือกจริงๆ เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นการเกิดใหม่ที่เป็น“สุคติ” หรือมีวิถีชีวิตที่จะรู้จักความสุขบ้าง แม้จะเป็นความสุขที่ส่วนใหญมากๆ มักจะไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นความสุขทางกายภาพนำ ที่ตัวเองก็ไม่รู้และคิดว่าคือความสุขที่แท้จริง มีน้อยคนนักที่รู้ความสุขสองด้าน นั่นคือความสุขทางกายภาพและทางจิตภาพ แทบจะรู้สึกว่ามาพร้อมๆ กัน แต่จริงๆ แล้วโดยมีที่จิตก่อนและมีจิตนำ นั่นคือความสุขที่สมบูรณ์และที่มีปีติหรือความซาบซ่านเป็นหัวหอก (blissful happiness) ซึ่งผู้ปฏิบัติสมาธิแทบทุกคนรู้จักดี แต่มีบางคนที่ไม่มีปีติเลยก็ได้ นอกจากนี้ สุคติซึ่งเป็นการเกิดมาบนโลกนี้ของมนุษย์นั้น จะมีทางเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง คือสามารถจะเลือกเส้นทางของจิตที่ดีงามอันเป็นเส้นทางแห่งจิตวิญญาณที่จะนำไปสู่สวรรค์หรือนิพพานได้ หรือเส้นทางแห่งความเลวร้ายที่จะนำไปสู่อบายหรือนรกได้ ซึ่งภพภูมิอื่นๆ ไม่มีทางเลือกเช่นนี้ การมีทางเลือกเช่นว่านี้ ทำให้ - นอกจากมนุษยภูมิซึ่งทางพุทธศาสนาถือว่าเป์นภพภูมิแหงกาม เฉกเช่นสวรรค์ระดับล่างสุดๆ หรือชั้นระดับกามาวจรภูมิที่ถือว่าเป็นสุคติภูมิแล้ว ยังทำให้ผู้เขียนมีความสงสัยว่ากามาวจรภูมิจะเป็นภูมิที่มีภพเช่นโลกเราหรือดาวเคราะห์ในกาแลคซี่ทางช้างเผือกเราหรือไม่? หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นมนุษย์ต่างดาวประเภทหนึ่งหรือไม่? ความสงสัยที่น่าเชื่อว่าอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ คือมีรูปกายอยู่ภายนอกและมีจิตอยู่ภายในหรือไม่? ทั้งนี้ น่าจะยกเว้น โดยเฉพาะภูมิหรือสวรรค์ที่ไม่มีรูป (อรูปพรหม) ทั้งหลายซึ่งท่องเที่ยวไปด้วยจิต (psychological) ที่ผู้เขียนเคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ในเรื่อง “ประสบการณ์ใกล้ตายที่เป็นลบ” (FNDEs ซึ่งเป็นลบหรือ negative) ที่เป็นเสมือนนรก พุทธศาสนาสายทิเบตก็บอกว่า นรกน่าจะเป็นเหมือนๆ กับสวรรค์ชั้นพรหม คือเป็นการท่องเที่ยวไปด้วยจิต หรือเป็นความรู้สึกด้วยจิต อาจไม่ใช่เรื่องทางกายที่เราเชื่อๆ กันก็ได้

ในสมัยโบราณ เราจะเห็นว่า วิวัฒนาการของจิต - ที่จริงๆ แล้ว ผู้เขียนคิดอย่างแน่ใจว่า คือการบริหารจิตไรัสำนึกของจักรวาลหรือจิตจักรวาลของ คาร์ล กุสต๊าฟ จุง (universal unconscious continuum) เป็นจิตรู้หรือจิตสำนึกของคนแต่ละคนโดยสมอง - ดังที่ผู้เขียนได้บอกไปแล้วหลายครั้ง และจะย้ำอีกเพราะมันสำคัญมากๆ สมองนั้นสำคัญเหลือเกิน แต่สมองก็ไม่ใช่จิต ทั้งจิตก็ไม่ใช่การทำงานที่ซับซ้อนของสมอง (epiphenomenon) และจิตรู้หรือจิตสำนึกนั่นเองที่มีวิวัฒนาการไปตามเสปคตรัม (spectrum of consciousness) จิตสำนึกที่ทางศาสนาพุทธเรียกว่าวิญญานขันธ์ที่มีห้าที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการ “รู้” (cognition) ซึ่งนอกจากจะเป็นจิตสำนึกที่รู้แล้ว (ยามปกติ) แต่จิตไร้สำนึก (ยามไม่ปกติ เช่น อภิญญา (ESP) หรือการรู้ในปรภพ) รู้ได้โดยไม่ใช้สมองที่ คาร์ล จุง ก็เชื่อเช่นนั้น (unconsciousness cognition) ฉะนั้น วิวัฒนาการของจิตตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ามาแล้ว คนโบราณจึงมักจะเทียบกับสีต่างๆ ของสายรุ้ง ซึ่งมี ๗ สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง นั้น – นับจากบนหรือสูงสุดลงมา แต่จะบวกสีสุดท้ายหรือสุดยอดเหนือสีม่วงเป็นสีขาวนวลหรือสีเหลืองที่กระจ่างใสซึ่งเป็นสีของพระเจ้าหรือพุทธะ (Buddhahood) แสดงถึงความจริงที่แท้จริง (Supreme Reality) แต่ผู้เขียนคิดว่า เราอย่าไปหลงสีต่างๆ จะดีกว่า เพราะเราอาจจะสับสน อย่าลืมว่าสีต่างๆ ที่ แคลร์ เกรฟ (ตายแล้ว) และ ดอน เบ็ค ใช้ในสไปรัลไดนามิกส์ (spiral dynamics) นั้นได้สีต่างๆ จากการถ่ายรูปออร่า (aura) ซึ่งมีสีต่างกันไปเล็กน้อย

มนุษย์นั้นนอกจากคุณสมบัติที่กล่าวมาแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่ทางวิชาการถือว่ามีศักยภาพที่แทบจะไม่มีขอบเขต ดูได้จากความคิดคำนึงจินตนาการดังที่ไอน์สไตน์ว่าไว้ว่า ความรู้กับสติปัญญาความฉลาดนั้นไม่สำคัญหากเทียบกับจินตนาการ เพราะว่าจินตนาการสามารถเดินทางไปรอบโลกได้ในทันทีทันใด จนมีผู้กล่าวว่าไม่มีอะไรที่มนุษย์จะทำไม่ได้ และนั่น - ทำให้มนุษย์ในอดีต เช่น ฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์ผู้ทรงอิทธิพลยิ่งเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อน และมนุษย์ทั้งยุโรปในเวลานั้น ได้พากันหลงตัวเอง (narcissism) อย่างน่าเกลียด จนกระทั่งมีบางคนที่มีจำนวนไม่น้อยในทุกวันนี้ (ราวๆ ร้อยละ ๕ - ๑๕) - โดยเฉพาะคนในประเทศด้อยพัฒนาที่ด้อยการศึกษา - ไม่สามารถจะมีวิวัฒนาการตามธรรมชาติได้ตามปกติเหมือนเพื่อนเขา ซึ่งมีวิวัฒนาการสูงถึงขั้นระดับตัวตนและเหตุผล (self – rational) อันเป็นระดับชั้นที่คนส่วนใหญ่มีอยู่ในปัจจุบัน คนจำพวกนี้จะยังคงอยู่ระดับหรือชั้นแห่งการเจริญเติบโตวิวัฒนาการในขั้นต่ำที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ (mythic) นั่นคือ ยังอยู่ที่นิยายจักรๆ วงศ์ๆ คนจำพวกนี้ คือพวกผู้คลั่งชาติ คลั่งศาสนา (fundamentalist) บ้าสี บ้าเข็มขัด หรือเครื่องหมายที่ตนสังกัดอยู่ (membership) ซึ่งเหตุผลเป็นเรื่องรองๆ

ทำไม? มนุษย์ถึงต้องเป็นเช่นนั้น? เพราะอะไรหรือ? เราถึงต้องเจริญเติบโตวิวัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอน นั่นชี้บ่งว่าเป็นจิตที่คุมกายและพฤติกรรมทั้งหมด จริงๆ แล้วเกิดมาเป็นสัตว์โลก ที่รวมทั้งมนุษย์แล้ว ไม่ว่าอะไรจะต้องขึ้นอยู่กับจิตทั้งหมดเลย หรือว่าเพราะมีจิต สัตว์โลกทั้งหลายโดยเฉพาะมนุษย์ จึงต้องเรียนรู้ไปตามลำดับ? เราไม่รู้คำตอบเหล่านี้ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่น่าจะอยู่ที่จิตไร้สำนึกหรือจิตจักรวาล ที่สมองจะบริหาร/เปลี่ยนแปลงเป็นจิตสำนึกหรือจิตรู้รูปแบบต่างๆ ไปตามเสปคตรัม เช่น ความคิด อารมณ์ ที่ต้องรอคอยช่วงเวลาในการวิวัฒนาการไปตามช่วงหนึ่งๆ ให้เปลี่ยนแปลง คือรอให้จิตไร้สำนึกของจักรวาลที่ว่านั้นให้เป็นจิตสำนึกหรือจิตรู้เสียก่อน? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ รูปและช่วงเวลาหรือวัยและอายุก็มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับมนุษย์และจักรวาลที่มีรูปมีกายทั้งสองชนิดเลย และวิวัฒนาการก็คือ วัย หรือช่วงเวลาโดยธรรมชาติของจิตไร้สำนึกของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในกายหรือสมองของมนุษย์ (self) ที่จะรอการเปลี่ยนแปลงเป็นจิตสำนึกหรือจิตรู้เท่านั้น มนุษย์จึงมีความสำคัญที่สุดในประเด็นของการเรียนรู้เฉพาะด้านวิวัฒนาการ สำคัญกว่าภพภูมใดๆ ทั้งสิ้นในประเด็นนี้ ส่วนประเด็นของความทุกข์หรือความสุขที่แท้จริงเป็นคนละประเด็น “สุคติคือภพภูมิของการเรียนรู้และวิวัฒนาการ” ที่สุดท้ายแล้วจะต้องเป็นบูรณาการ และนั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนคิดมาตลอดถึงเหตุผลที่ต้องเกิดมาเป็นมนุษย์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิที่จะเลือกเส้นทางแห่งสภาวะจิตวิญญาณอันเป็นบูรณาการ ซึ่งก็คือนิพพานนั่นเอง

“สุคติ” นั้นคือวิถีชีวิตที่ดีซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับทุคติอันเป็นวิถีชีวิตอันได้แก่อบายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มนุษย์และเทวดาระดับล่าง หรือกามาวจรภูมิที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นภพภูมิของมนุษย์ต่างดาวที่อยู่ในสวรรค์ชั้นล่างที่สุดที่มี ๖ ชั้น เพราะว่ายังเกี่ยวข้องกับกามและคิดว่าตนมีหนทางที่จะเลือกทางเดินของตน มีทางเลือกของตนนั้น ผู้เขียนคิดเอาเองว่ามนุษย์และเทวดาหรือมนุษย์ต่างดาวที่คิดว่าตนเป็นผู้เลือกนั้น สุคติจึงน่าเป็นดาวเคราะห์ดวงไหนก็ได้ เพราะเป็นกามาวจรภูมิเหมือนกัน จริงๆ แล้วล้วนแล้วแต่กำหนดด้วยการกระทำหรือกรรมของสัตว์โลกหรือมนุษย์ทั้งสิ้นไม่ว่ามนุษย์นั้นๆ จะเป็นมนุษย์ต่างดาวหรือไม่? เพราะทั้งมนุษย์และเทวดาระดับล่างนั้นๆ ต่างก็มีทั้งจิตที่เป็นกุศล และจิตที่เป็นอกุศลเท่าๆ กัน ต่างก็มีกรรมที่เป็นของตนเองและกรรมร่วมโดยรวม โดยเฉพาะในชั้นล่างๆ เช่นชั้นหรือระดับที่มีสี่กษัตริย์ปกครอง (จาตุมหาราชา) ชั้นหรือระดับที่มีกษัตริย์เป็นเทพ - อสูร แต่ชั้นหรือระดับที่อยูสูงกว่าจะมีจิตที่เป็นกุศล (กุศลจิต) มากขึ้นเรื่อยๆ (อภิธรรมมัตสังคาหะ) นั่นบ่งชี้ว่าทำไม? ยูเอฟโอจึงพบบ่อยขึ้นในโลกในปัจจุบัน

มนุษย์ในโลกนั้นหรือมนุษย์ต่างดาวเกิดอยูในสุคติก็จริง แต่ “มีที่มา” ไม่เหมือนกัน ที่มนุษย์จึงมีหลายๆ ที่มา บางคนจึงสงสัยและมักถามว่า ประชากรโลกมาจากไหนถึงได้มีมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ หมูเห็ดเป็ดไก่มาจากไหน คนจึงกินไม่หมดสักทีทั้งๆ ที่ประชากรของโลกเพิ่มทวีมากขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ก็ขอตอบรวมกันเสียเลยว่า จักรวาลนี้จักรวาลเดียวมีคลื่นอนุภาคถึง ๑๐ ยกกำลัง ๘๐ - ซึ่งเมื่อสภาพคลื่นได้สลายตัว (wave-function collapse) ก็จะเหลืออนุภาคหรือสสารที่ประกอบเป็นวัตถุเนื้อเยื่อเต็มจำนวนนั้น - ทีนี้พุทธศาสนาบอกว่า ทุกๆ สิ่งทุกๆ ปรากฏการณ์ มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนประกอบด้วยรูปกับนามเท่านั้น และรูปกายของชีวิตทั้งหลายทั้งปวงวิวัฒนาการมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยมาจากจิตปฐมภูมิที่แยกออกจากพลังงานปฐมภูมิไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนั้น - โดยแควนตัมเม็คคานิกส์และพุทธศาสนาที่กล่าวเหมือนๆ กันว่า ได้มาจากความว่างเปล่าทางแควนตัม (quantum vacuum) หรือสุญตา เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตตั้งแต่เม็ดกรวดเม็ดทราย พืชพันธุ์ต้นไม้ มดปลวกหรือแมลง จนกระทั่งกุ้งปลาลิงค่างบ่างชะนี ล้วนมีสิทธิที่จะมีวิวัฒนาการได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ ผู้ใดที่หลุดจากกรรมหรือใช้กรรมหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์หรือนรกชั้นไหน ก็ย่อมจะเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อการเรียนรู้ และเพื่อแสวงหาจิตวิญญาณนิพพาน (spirituality-nirvanna) กันทั้งนั้น อย่าลืมว่าในทางพุทธศาสนานั้น การเกิดใหม่ ไม่ว่าในภพภูมิไหน? หรือภพไหน? หรือภูมิอะไร? ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ดังนั้น วิวัฒนาการไม่มีขาดตอน เพียงแต่การเจริญเติบโตวิวัฒนาการนั้น เป็นเรื่องของกายอย่างเดียวก็ได้ เป็นเรื่องของจิตอย่างเดียวก็ได้ หรือทั้งกายและจิตก็ได้ ดังนั้นสวรรค์ชั้นล่าง ชั้นกามาวจรภูมิ หรือมนุษย์ต่างดาวอย่างในบทความของวันนี้ ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำนั้นๆ

มังคุด, พุทธศาสนา และอมาตยา เซน



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มกราคม 2554

ไปเที่ยวจันทบุรีช่วงปีใหม่ ผมไปติดใจเข้ากับต้นมังคุดอายุเป็นร้อยปีที่นี่ พ่อของเพื่อนซึ่งเป็นชาวจันทบุรีแต่กำเนิดเล่าให้ฟังว่า มังคุดเป็นพืชเก่าแก่โบราณ จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่มีวิธีในการเร่งผลผลิตของมังคุด ด้วยวิธีการหรือเทคโนโลยีทางการเกษตรใดๆ เราได้แต่เฝ้ารอคอย แล้วหวังว่าเขาจะออกผลให้เราทานในปีนี้ แต่ถ้าไม่ได้เราก็ต้องรอปีหน้า หรือปีต่อๆ ไป

ผมติดใจกับสิ่งที่ยืนยงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ในโลกที่มนุษย์คิดว่าเราสามารถจัดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามใจของเรา ด้วยความรู้ของเรา “ต้นมังคุด” ยังยืนยงท้าทายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ยี่หระในความสามารถอันใหญ่ยิ่งของมนุษย์…

*********

ปีใหม่เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลอง การพบปะเพื่อนเก่าหลังจากที่ไม่เจอกันมานานนับปี ผมพบเจอกับคนอย่างน้อย ๔-๕ คนที่บ่นเรื่องการงานของตนเอง รุ่นพี่คนหนึ่งที่จันทบุรี เพิ่งลาออกจากงานธนาคารซึ่งตนเองทำงานมายี่สิบกว่าปี เขาเล่าว่าไม่มีวันไหนที่เขาจะไม่วิตกกังวลเรื่องการทำยอดขายให้กับธนาคาร บ่าสองข้างแทบทรุด เพราะถูกรุ่นน้องใช้เป็นบันไดเหยียบเดินข้ามหัวเขาไปไม่เว้นแต่ละวัน

ชีวิตของพี่ชายคนนี้ ถูกกำหนดด้วยตัวเลข “เป้าหมาย” ที่สำนักงานใหญ่กำหนดให้ ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของพวกเราหลายๆ คนที่ถูกกำหนดด้วยอะไรต่างๆ ที่เราคิดว่ามันจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา

หากย้อนทบทวนสักนิดใครกันหนอเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย ทำให้เราต้องวิ่งเป็นหนูถีบจักร เขาอาจจะเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งซึ่งรวยมาก คอยนั่งบัญชาการอยู่ในคฤหาสน์หรูๆ ที่ไหนสักแห่ง เขาสามารถยกหูโทรศัพท์สั่งเศรษฐกิจของโลกให้หมุนไปทางซ้ายหรือขวาตามความต้องการ เขาผู้นี้กระมังเป็นผู้สร้างเงื่อนไข สร้างโครงสร้างที่ครอบงำ ให้เราตกเป็นทาสต้องทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

แล้วทำไมต้องทำตามโครงสร้างที่ครอบงำนี้ บางคนบอกว่าเราไม่มีทางเลือก เพราะโครงสร้างที่กำหนดมาแล้วอย่างเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นเล่นกับความอยากได้อันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ตราบใดที่เรายังมีความอยาก เราก็เสร็จเขา เมื่อหนีไม่พ้นเราก็เลยต้องผันตัวมาเล่นเกมส์ของเขา เล่นให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้แซงหน้าผู้อื่นขึ้นไป เพราะเราไม่อยากเป็นผู้ที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง หรือถูกเหยียบเอาไว้เบื้องล่าง…

ผู้ใหญ่ใจดีหลายคนทนเห็นสังคมไทยเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ประชาชนคนไทยถูกโกง ถูกหยามศักดิ์ศรี มีความเหลื่อมล้ำอยู่ทั่วไปไม่ได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย

การปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือรูปแบบ (Reform) ถ้าเราเชื่อว่ารูปแบบนั้นไม่เป็นธรรม เราก็ปรับเปลี่ยนที่รูปแบบให้เกิดความเป็นธรรม เราจะสร้างสังคมที่ยุติธรรมได้ แนวคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าโครงสร้างย่อมกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ เราจึงพยายามคิดหาโครงสร้างที่เหมาะสม นโยบายที่เหมาะสม ชะรอยว่า บทเรียนที่เราฉีกรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับนั้นจะไม่ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าตัวหนังสือที่กำหนดโดยบุคคลชั้นแนวหน้าเพียงกระหยิบมือนั้นไม่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนได้ ขนาดคนคุณภาพอย่างท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ยังเคยทดลองและล้มเหลวมาแล้ว

ไม่แปลกใจเลยที่ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเพิ่งมาเยือนประเทศไทยเร็วๆ นี้ มีท่าทีอ้อมแอ้มเวลาตอบคำถามเรื่องความยุติธรรมกับสังคมไทย สุดท้ายเขาฟันธงว่าประเทศไทยมีคำตอบสำหรับปัญหานี้อยู่แล้ว โดยบอกว่าอย่าเสียเวลาถามหาความยุติธรรม แต่ถามหา “ความตื่นรู้” ของประชาชนคนไทยกันเสียก่อนเถิด ไอ้หลานชาย

ผู้สัมภาษณ์ยังพาซื่อถาม “อัน ‘ความตื่นรู้’ นั้นอยู่ ณ หนใดกันเล่าท่าน วานบอก”

เซน ถอนหายใจเฮือกก่อนตอบว่า ก็ตื่นรู้ หรือ รู้แจ้ง คำนี้ผมยืมคำของพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของท่านเองนั้นมาใช้ ไม่ได้คิดอะไรใหม่หรอกจะบอกให้ แล้วการจะไปหาความรู้แจ้งไม่ต้องไปที่ไหนไกล ไม่ต้องไปเดินทั่วประเทศไทยให้เสียงบประมาณชาวบ้านที่เขามารอรับ (อันนี้ผมพูดเอง ลุงไม่ได้พูด) ให้ทำเพียงสองอย่างดังนี้ (ตามที่ผมสรุปความ)

๑. ให้รู้จักติเตียนตนเอง (Reflection)

๒. ให้รู้จักสนทนาอย่างบัณฑิต (Dialogue)

พระพุทธเจ้าสรรเสริญเรื่องคุณของการติเตียนตนเองเอาไว้มาก คนไทยหัวฝรั่งเรียกให้งง เอ๊ย ให้ร่วมสมัยว่าการใคร่ครวญ ส่วนการสนทนาอย่างบัณฑิตเรากระเดียดไปเรียกว่าสุนทรียสนทนา ซึ่งความเป็นจริงแล้วถึงไม่สุนทรีย์ก็ต้องพูดคุยกัน เพื่อเป็นไปเพื่อการฝึกฝนตนเอง ตามแนวทางข้อที่ ๑. เรื่องการติเตียนตนเอง เพราะถ้าเราติเตียนตนเองไม่ได้ เราก็ไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และถ้าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ สังคมก็ไม่มีทางเปลี่ยน ต่อให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยอีกร้อยคณะก็ตาม

อาจเป็นเพราะการติเตียนตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครอยากเสียเซลฟ์ คนส่วนใหญ่ก็เลยหันมาบริภาษโครงสร้างต่างๆ ในสังคมว่าเป็นต้นเหตุของความเลวร้าย ความไม่เสมอภาค ความเหลื่อมล้ำในสังคมของเรา ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาที่นักวิชาการเดี๋ยวนี้มองกันว่าเป็นตัวร้ายที่ฉุดรั้งความเจริญของสังคมเอาไว้ ไม่ให้ไปถึงความศิวิไลซ์ที่พวกเขาพากันนึกฝัน หรืออย่างเบาก็มองว่าศาสนาเป็นเพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่มีหน้าที่ในการ “ผดุงสังคม” อีกต่อไป

ไม่มีหน้ากระดาษพอที่จะตอบโต้ความเห็นเหล่านี้ แต่ผมอยากจะพูดว่ากระแสการมองโลกแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ ทั่วโลก คนเหล่านั้นหันมาทบทวนตนเองโดยศึกษาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาเก่าแก่ จากการน้อมใจเข้าพูดคุยสนทนาอย่างบัณฑิต คนเหล่านั้นไม่ได้หยุดการแสวงหาความรู้แจ้งจากการวิเคราะห์วิจารณ์ หรือการใช้เหตุผล แต่เริ่มหันมามองเข้าด้านใน เพื่อแสวงหาความจริงในอีกด้านประกอบกันอย่างเป็นองค์รวม เขาเปลี่ยนท่าทีในการเย้ยหยันโลกมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงภายในตัวเขาซึ่งไม่ได้สวยงามเสมอไป เมื่อพบมาร เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับมารโดยไม่ให้มันครอบงำเขาอยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้แล้วจึงก้าวเดินต่อไป ใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หนูถีบจักรที่ถูก ‘เขา’ บงการโดยไม่รู้ตัว

คนแบบนี้ยังมีอยู่น้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี ผมสงสัยว่าในหัวใจของมนุษย์เราคงจะมีความกล้าหาญบางอย่างที่ไม่สยบยอมกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งอยู่ภายนอก และมารซึ่งอยู่ภายใน พี่ชายนายแบงก์ของผมในที่สุดก็ลาออกไปทำสวนผลไม้ ทุกวันนี้เขายิ้มกว้างกว่าที่เคย และกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนสนทนากับใครก็ตามที่สนใจจะคุยกับเขาเรื่องบ้านโฮมสเตย์ อันเป็นโครงการในฝันของเขา เขาจูบลาเงินเดือนก้อนใหญ่ที่ขโมยศักดิ์ศรีของความเป็นคนไปจากตัวเขา ทุกวันนี้เขามีเวลาอยู่กับครอบครัว และเพื่อนมากขึ้น พี่ชายคนนี้ได้เริ่มต้นทบทวนตนเอง และได้ทำในสิ่งที่เขารัก ผมไม่รู้ว่าแบบนี้จะเรียกได้ไหมว่าเขากำลัง ‘ผดุงสังคม’ ในแบบของเขา และถ้าถามกันจริงๆ เขาคงไม่สนเรื่องความรู้จ้ง รู้แจ้งอะไรนั่น แต่ที่แน่ๆ เขารู้ว่าวันนี้เขาต้องการอะไรจากชีวิตของเขา แบบนี้จะเรียกว่า “รู้ตน รู้กาล รู้ประมาณ” จะได้ไหม....

********

...ต่อไปนี้เวลาผมมองต้นมังคุด ความรู้สึกที่เกิดคือความมั่นคงในใจ ที่รู้ว่าในโลกนี้ยังมีบางสิ่งที่ดำรงอยู่นอกเหนือการก้าวก่ายของมนุษย์ มังคุดเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ไม่กลายพันธุ์ ผลมังคุดที่เราทานในวันนี้จึงมีหน้าตาและรสชาติไม่แตกต่างจากเมื่อร้อยหรือพันปีที่แล้ว เฉกเช่นเดียวกับสัจธรรมที่แม้เวลาล่วงเลยไปเท่าใดก็ยังถูกหยิบยกมาพูดถึง ยังยืนท้าทายให้มาพิสูจน์ และยังคงให้ผลอยู่กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้

๒๕๕๔ – ปีแห่งการสร้างสุข



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2554

๑ มกราคม สวัสดีปีใหม่ เพื่อนคนไทยทุกคน

ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา โดยถ้วนหน้า

“ความสุขไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” นี้อาจจะเรียกว่าเป็นปัญญาในเบื้องต้นหรือสัมมาทิฏฐิ ความไม่รู้ทำให้เที่ยวหาซื้อความสุขกันด้วยราคาแพงๆ แล้วก็ไม่ได้ กลับได้ความทุกข์ความเดือดร้อนแทน เพราะความสุขไม่มีขาย แต่ความสุขสร้างได้ ที่ทุกคนควรสร้างเองและร่วมกันสร้าง

การสร้างสุขมี ๓ ระดับคือ

๑. ปัจเจกบุคคลสุขฉับพลัน คือความสุขที่ปัจเจกบุคคลทุกคนสร้างได้อย่างฉับพลัน โดยออกจาก “คุกที่มองไม่เห็น” (The Invisible Prison) การถูกจองจำในคุก ทำให้ขาดอิสรภาพและอยู่ในสภาพบีบคั้นหรือทุกข์ คุกที่มองไม่เห็นออกไม่ได้ด้วยการใช้พละกำลังหรืออำนาจใดๆ แต่ออกได้ด้วยการ “เห็น” การเห็นหรือจักขุกรณีก็คือปัญญา โลกแห่งมายาคติคือคุกที่มองไม่เห็น เราคิดอยู่


ในมายาคติต่างๆ เช่น ฐานะ อำนาจ เงิน รูปแบบ ความคิด-ทฤษฎี-ทิฏฐิ ทำให้ตัดขาดจาก “ความเป็นมนุษย์” ในโลกของความเป็นมนุษย์นั้นคือชีวิตและการอยู่ร่วมกัน ในธรรมชาติความเป็นจริง เมื่อความเป็นมนุษย์ได้สัมผัสกันจะเกิดความเห็นใจ (Empathy) และเกิดการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ (Altruism) ความเป็นใจและการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ที่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ ในสมองของมนุษย์มีส่วนที่ไวต่อความรู้สึกของคนอื่นจากสีหน้า แววตา ท่าทาง สุ้มเสียง การรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นทำให้เกิดความเห็นใจและการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ นี้คือความจริงของชีวิตและการอยู่ร่วมกัน

แต่ในโลกมายาคติไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น มีแต่กฎหมาย กฎ ระเบียบ อำนาจ เงิน รูปแบบ ความคิด-ทฤษฏี-ทิฏฐิ เหมือนอยู่ในทะเลทรายที่แห้งผาก เมื่อไม่มีผัสสะกับความเป็นมนุษย์ ก็แล้งน้ำใจ ถ้าหมอรักษาคนไข้แล้วเห็นแต่ “ไข้” แต่ไม่เห็น “คน” แล้วจะเป็นอย่างไร ก็ทำนองเดียวกัน

ในโลกมายาคติ รัฐคิดเชิงอำนาจ ธุรกิจคิดเชิงกำไร การศึกษาคิดเชิงความรู้ ไม่ได้คิดเชิงการอยู่ร่วมกัน มีแต่ในครอบครัวและในชุมชนเท่านั้นที่คิดเชิงอยู่ร่วมกัน ในครอบครัวไม่คิดเชิงกำไรขาดทุน ไม่คิดเชิงใครฉลาดกว่าใคร ไม่เคยคิดเชิงทอดทิ้งตัดรอน หรือวิหิงสาพยาบาท เพราะคิดเชิงการอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันคือศีลธรรม ในโลกมายาคติจึงไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม เพราะไม่คิดเชิงการอยู่ร่วมกัน ในโลกมายาคติถึงมีการสอนศีลธรรมเท่าใดๆ ศีลธรรมก็ไม่เกิด เพราะไปเอาศีลธรรมเป็นวิชา ศีลธรรมไม่ใช่วิชาแต่เป็นวิถีชีวิตร่วมกัน ชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การทำอะไรๆ ถ้าไม่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งก็จะพลาดเสมอ เช่นการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง หรือการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง

โลกมายาคติก็คือโมหภูมิหรือภูมิที่หลงไป ภูมิแห่งอวิชชา เมื่อมนุษย์ติดอยู่ในโลกมายาคติหรือโมหภูมิก็เกิดความบีบคั้น ทั้งบีบคั้นตัวเองและบีบคั้นซึ่งกันและกัน เกิดความโหดร้ายและรุนแรงนานัปการ เป็นวิกฤตการณ์แห่งยุคสมัย

เราถูกโลกมายาคติครอบงำจนศักดิ์ศรีและศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ตกต่ำลง แท้ที่จริงมนุษย์มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนและศักยภาพในตัวเอง ถ้าเรารู้เท่าทัน “คุกที่มองไม่เห็น” ที่กักขังเราไว้ในโลกแห่งมายาคติ แล้วเกิดสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เราจะหลุดไปสู่อิสรภาพ พ้นจากความบีบคั้นจากความไม่จริง ความเป็นอิสระจะทำให้เกิดความสุขทั้งเนื้อทั้งตัวอย่างฉับพลันทันที ทุกคนสามารถทดลองความจริงนี้กับตัวเอง โดยสลัดใจออกจากมายาคติ สำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของตัวเราเองและของคนอื่น จิตสำนึกใหม่จะพาให้พบความสุขและความสร้างสรรค์มหาศาล จิตใจใหม่จะประสบความงามและความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด อันจักเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม นี้คือความสุขฉับพลันที่แต่ละคนสร้างได้

๒. ความสุขจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน ในโลกแห่งมายาคติที่ถืออำนาจ เงิน และความรู้เป็นใหญ่ ผู้คนจะสัมพันธ์กันเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความบีบคั้นและพฤติกรรมทางลบต่างๆ นานา คนทั้งหลายติดอยู่ในโครงสร้างอำนาจทางดิ่งที่บีบคั้นจึงไม่มีความสุข การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างเท่าเทียมกันเป็นโครงสร้างใหม่ เป็นโครงสร้างทางราบ ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเสมอกัน มีความเสมอภาค จึงรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความสมัครใจ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ มีการลดความเห็นแก่ตัวไปในตัว เกิดความเป็นชุมชน หรือความเข้มแข็งทางสังคม มีศักยภาพที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ง่าย มีองค์กรจัดการขึ้นที่เรียกโดยรวมๆ ว่า องค์กรชุมชน เมื่อมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำหรือความเป็นชุมชนเกิดขึ้น ผู้เข้าร่วมจึงมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะหลุดพ้นจากความบีบคั้นของความไม่เสมอภาคและไม่มีศักดิ์ศรี และมีศักยภาพของความสำเร็จสูงเพราะเกิดพลังร่วม (Synergy) และเกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom)

จึงควรมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างหลากหลายในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ในกระบวนการนี้สังคมจะเปลี่ยนโครงสร้างจากสังคมทางดิ่งเป็นสังคมทางราบ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี ตราบใดที่ยังเป็นสังคมทางดิ่ง ต่อให้พยายามอย่างใดๆ เศรษฐกิจก็จะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี จะมีความขัดแย้งรุนแรงเรื่อยไป คนไทยเมื่อรู้แล้วพึงรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ องค์กรต่างๆ เมื่อรู้แล้วพึงส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำให้เกิดขึ้นเต็มสังคม เมื่อสังคมปรับตัวเป็นทางราบหรือประชาสังคม (Civil Society) ความสุขความสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นได้ง่าย โลกอนาคตเป็นโลกแห่งความเป็นชุมชนหรือชุมชนาภิวัฒน์ ทุกคนควรสร้างสุขจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันอย่างถ้วนหน้า

๓. ความสุขระดับโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างกำหนดคุณสมบัติ เช่น โครงสร้างของเรือทำให้มันลอยน้ำได้ โครงสร้างของรถทำให้มันวิ่งไปได้ โครงสร้างของเครื่องบินทำให้มันบินได้ ในสังคมก็มีโครงสร้างที่กำหนดคุณสมบัติของสังคม เช่น โครงสร้างการปกครอง โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น ถ้าโครงสร้างไม่เป็นธรรมก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างแรง ความไม่เป็นธรรมทางสังคมทำให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้ยาก แต่จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงหาความสงบไม่ได้ เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างมีผู้เข้าใจน้อยและเป็นเรื่องแก้ไขได้ยาก ปัญหาเชิงโครงสร้างจะเหมือนเข่งที่กักขังไก่ไว้ ทั้งๆ ที่จะถูกนำไปเชือดตายหมด แต่ไก่ในเข่งก็จะจิกตีกันร่ำไป เพราะเข่งคับแคบทำให้ไก่กระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าจะจิกตีกันเท่าไรๆ ก็ออกจากเข่งไม่ได้ เพราะเข่งเป็นโครงสร้างที่แน่นหนาที่กักขังไก่ไว้ นอกจากไก่จะหยุดตีกันแล้วรวมตัวบินออกจากเข่ง

คนไทยก็เช่นเดียวกัน จะจิกตีกันจนตายเท่าไรๆ ก็ออกจากโครงสร้างที่บีบคั้นไม่ได้ จึงควรหยุดจิกตีกัน แล้วรวมตัวทำความเข้าใจเข่งหรือโครงสร้าง ว่าโครงสร้างอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมที่ทำให้คนไทยต้องมาขัดแย้งถึงฆ่ากันตาย โครงสร้างอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คืออำนาจรัฐรวมศูนย์ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ คอร์รัปชั่นมาก ทำให้เกิดรัฐประหารง่าย เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้เกิดความรุนแรง เช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองให้ได้มากที่สุด

ต้องมีคนจำนวนหนึ่งศึกษาให้เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วนำความเข้าใจนั้นมาสู่การรับรู้ของสาธารณะอย่างกว้างขวาง เมื่อประชาชนจำนวนมากเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างและรู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร พลังทางสังคมที่ติดอาวุธด้วยปัญญาจะเป็นปัจจัยให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ลำพังอำนาจรัฐและอำนาจเงินไม่สามารถแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนและยากได้ พลังทางสังคมที่ติดอาวุธด้วยปัญญา ใช้สันติวิธีและมีการสื่อสารถึงกันโดยทั่วถึง คือพลังอำนาจที่ ๓

เราคุ้นเคยอยู่กับพลังอำนาจ ๒ อย่าง คือ หนึ่ง พลังอำนาจรัฐ และสอง พลังอำนาจเงิน พลังอำนาจ ๒ อย่างนี้มีอยู่เป็นปรกติวิสัยในทุกสังคม พลังอำนาจ ๒ อย่างนี้ ใช้ได้ผลในเรื่องง่ายๆ และตรงไปตรงมา แต่สำหรับเรื่องที่ยากและสลับซับซ้อน ลำพังอำนาจทั้งสองใช้ไม่ได้ผล ต้องใช้พลังอำนาจที่ ๓ คือพลังอำนาจสังคมดังกล่าวข้างต้น

การสร้างสุขทั้ง ๓ ระดับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันและกัน ความสุขส่วนบุคคลอันเกิดจากจิตสำนึกใหม่ เป็นความสุขอันประณีตและลึก ทำให้เปลี่ยนโลกทรรศน์และวิธีคิด อันเป็นไปเพื่อความเห็นใจและอยากทำเพื่อผู้อื่น ทำให้อยากเคลื่อนไปสู่ข้อที่ ๒ และ ๓ การแก้ไขโครงสร้างให้เป็นธรรมจะเหมือนยานใหญ่ที่ช่วยให้การสร้างสุขในระดับ ๑ และระดับ ๒ เกิดง่ายขึ้นสำหรับคนทั้งมวล คนทั้งมวลเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ถ้าคนทั้งมวลมีความทุกข์ การจะมีความสุขโดยเอกเทศเป็นเรื่องยาก การมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์จะนำไปสู่ความสุขร่วมกัน ความเมตตากรุณาจะเป็นจุดเริ่มต้นของความดีงามและความสุข

ขอให้ปี ๒๕๕๔ เป็นปีแห่งความสุขทั้ง ๓ ระดับ ต้องลองดูเองแล้วจะรู้ว่าความสุขสร้างได้จริง ขอให้เพื่อนคนไทยพบความสุขและศานติสุขโดยทั่วกัน

Back to Top