เปลี่ยนช้า-ช้า แต่ว่าแน่นอน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2554

การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นของแน่ ใคร-ใครก็รู้ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเป็นเรื่องปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างตามมีตามเกิด ไม่อย่างนั้นแล้วผู้คนก็คงไม่ลุกขึ้นมาพูดว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำอย่างไร?

บ้างก็ว่าสังคมเป็นเบ้าหล่อหลอมของมนุษย์ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเน้นที่โครงสร้างทางสังคม – สถาบัน องค์กร หน่วยงานรัฐ บริษัท โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ

บ้างก็ว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มที่คนในสังคม ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเน้นที่ปัจเจกหรือตัวเรา

วิลเลียม ชแตร์น นักปรัชญาเยอรมันเชื่อว่าสังคมและปัจเจกต่างเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกันผ่านกระบวนการที่มนุษย์รับรู้ความจริงผ่านโลก และนำไปสู่การหลอมรวมคุณค่าทางสังคมกับคุณค่าภายในของมนุษย์ – แต่แนวคิดนี้พิสูจน์ได้อย่างไร?
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ อแลน เดอ วูลปิแอ็ง นักสังคมวิทยาและนักชาติพันธุ์วิทยาที่เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้คน และใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลมากกว่า ๕๐ ปี ยืนยันอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและคุณค่าของผู้คน เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างช้า-ช้า

กว่าที่คุณค่าใหม่ของผู้คนจะเข้าไปสู่ครอบครัว โรงเรียน และย้ายเข้าไปสู่ภาคธุรกิจและองค์กรรัฐนั้นใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว – แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และหากภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนที่เปลี่ยนแปลง อแลนถึงกับออกปากเตือนว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาได้

ที่ว่าผู้คนเปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น - เปลี่ยนแปลงแบบไหน?

ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ให้คุณค่ากับอิสรภาพและความหมายของความสุขมากขึ้น มีการตั้งคำถามกับกรอบทางสังคมที่มีแนวโน้มของการเป็นเผด็จการทางความเชื่อ หรือผูกขาดทางจริยธรรมและสติปัญญา มองว่าความสุขนั้นประกอบด้วยความพึงพอใจในชีวิตทั้งทางกายและจิตใจ

ผู้คนที่รักในอิสรภาพเหล่านี้ต่างแสวงหาหนทางในการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีของตัวเอง พวกเขาหรือเธอต้องการชีวิตที่มีความรักความอบอุ่น มีการงานที่มีความหมาย จากเดิมที่ต้องการแสวงหาความสำเร็จผ่านอาชีพการงาน ก็เริ่มที่จะมองหาการงานที่สนับสนุนเป้าหมายของชีวิต

โครงสร้างทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ตอบสนองคุณค่าหรือความต้องการที่เปลี่ยนไปของมนุษย์นั้น จะต้องมีความเป็นทางการน้อยลง โครงสร้างอำนาจทางดิ่งหายไป มีความเสมอภาคมากขึ้นเปิดพื้นที่ของความสร้างสรรค์มากขึ้น

ในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ บริษัทวอลโวเริ่มสังเกตเห็นว่าคนงานในโรงงานเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และมองว่าในอนาคตคงเป็นไปได้ยากที่จะนำเอาคนงานเหล่านี้มายืนทำงานในระบบสายพานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ แต่แทนที่จะใช้วิธีไล่ออกหรือหาคนงานไร้สัญชาติที่ไร้อำนาจต่อรองหรือเชื่องเชื่อมาแทนคนงานเดิม วอลโวเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบสายพานมาเป็นทีมทำงานที่มีความรับผิดชอบของตัวเองและเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้

ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้บริหารบริษัทรอยัล ดัทช์/เชลล์ก็พบว่า การพยากรณ์แนวโน้มอนาคตด้วยวิธีการจำลองสถานการณ์แบบเดิมในห้องประชุมนั้น ไม่อาจเชื่อมโยงกับโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ ปิแอร์ แว็ก ผู้บริหารของบริษัทใช้วิธีการค้นหากระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่ เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงแนวคิดภายในของคนทำงานจะต้องผ่านปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก

ดังนั้นเอง บริษัทหรือหน่วยงานรัฐที่อยากจะมีคนเก่ง ฉลาด และมีความสามารถมาร่วมงานด้วย ก็ต้องเริ่มคิดถึงแรงจูงใจอื่นนอกเหนือจากตัวเลขเงินเดือนสูงๆ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรให้มีอำนาจแนวดิ่งลดลง มีพื้นที่ให้ผู้คนสร้างสรรค์และปฏิสัมพันธ์ทางราบมากขึ้น ผู้บริหารต้องสอนน้อยลง เรียนรู้มากขึ้น มิฉะนั้นแล้ว บริษัทหรือหน่วยงานรัฐที่ไม่อาจปรับตัวกับผู้คนที่เปลี่ยนไป อาจถึงกาลล่มสลายในห้วงเวลาแห่งความปั่นป่วนสับสนนี้ได้

อแลนยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทั้งในฝรั่งเศสและนิวยอร์ก ผู้คนเหล่านี้มีความเป็นผู้นำที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน พวกเขาหรือเธอไม่ได้ทำตัวเป็นเจ้านายที่โน้มตัวลงมารับฟังความคิดเห็นของคนทำงานระดับล่าง หากเข้าไปคลุกคลีและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในแทบทุกระดับผ่านกระบวนการสนทนาและสื่อสาร โดยมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญ ผู้นำเหล่านี้สามารถสร้างบริหารจัดการผ่านการแบ่งปันทัศนคติและความคิดเห็นที่ร่วมสมัย แทนที่จะใช้ระบบอำนาจสั่งการที่บั่นทอนอิสรภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงาน

เอาล่ะ เรารู้แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของผู้คนนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแน่นอน และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้เวลานาน กินเวลาหลายสิบปี แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงของผู้คนเกิดขึ้นแล้ว โครงสร้างทางสังคมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงตามผู้คนก็อาจจะอยู่ไม่รอด – แต่วิธีการที่ผู้คนเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?

อารี เดอ กีส์ อดีตผู้บริหารบริษัทเชลล์ เจ้าของแนวคิด “การวางแผนในฐานะการเรียนรู้” และ ผู้เขียน “บริษัทที่มีชีวิต: การอยู่รอดในภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอันปั่นป่วนสับสน” ยอมรับว่าสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากงานของอแลนก็คือ ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงสังคมเหล่านี้ไม่อาจนั่งอยู่ที่วงนอก แล้วก็ชี้นิ้วตะโกนสั่งให้สังคมเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นสมาชิกของสังคมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะเมื่อเราเปลี่ยน โครงสร้างถึงจะเปลี่ยน

ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม การเปลี่ยนแปลงของผู้คนก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และองค์กรหรือสถาบันทางสังคมที่ไม่อาจปรับตัวก็ย่อมถูกคัดเลือกออกตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน – อย่างแน่นอน

Back to Top