มกราคม 2010

อวตารของเรา



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม 2553

“โลกที่เราจากมาไม่มีสีเขียวอีกแล้ว พวกเขาฆ่าแม่ตัวเอง และกำลังทำอย่างนั้นกับที่นี่” - นี้อาจจะเป็นสาสน์ที่ทรงพลังที่สุดจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร ตำนานใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้นบนแผ่นฟิล์มในต้นศตวรรษที่ ๒๑

เมื่อหญิงสาวต้องฆ่าเพื่อช่วยชีวิต เธอก็มิได้ยินดีในการฆ่าแม้แต่น้อย และเมื่อชายหนุ่มผู้เป็นศิษย์แสดงให้เห็นถึงการฆ่าที่ปราศจากความกระหายหรือละโมบในชีวิต เธอก็ถึงกับเอ่ยปากว่า “เป็นการประหารที่ประณีตหมดจด”

แม้ในการใช้สัตว์เป็นพาหนะ การสร้างความผูกพันด้วยการผูกโยงอวัยวะของกันและกันไว้เพื่อสื่อสารเชื่อมโยงนั้นเป็นมากกว่าการทำตัวเป็นเจ้าชีวิตเหนืออีกชีวิตหนึ่ง

แม้จะรู้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต แต่การสื่อสารพูดคุยระหว่างต้นไม้ กระทั่งข้ามเผ่าพันธุ์ชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดสำหรับชาวเนวี

ส่วนตัวละครมนุษย์ของเราในภาพยนตร์นั้นก็คงไม่ต่างจากพวกเราเท่าไหร่นัก ที่มองเห็นแต่ว่า ณ ดวงดาวอันไกลโพ้นที่อุตส่าห์กระเสือกกระสนเดินทางไปจนถึงนั้น มีแร่มูลค่ายิ่งกว่าทองรอให้ขุด และถ้ามีชาวบ้านสร้างบ้านนั่งทับเหมืองนั้นอยู่ ก็แค่ไล่ตะเพิดไปให้พ้นก็เป็นพอ ไหนเลยจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านนั้นกำลังปกปักรักษานิเวศน์ชีวาลัย อันเป็นหัวใจแห่งสรรพชีวีและชีวาอาตมันของดาวแพนโดราแห่งนั้น

เราอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าของชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปอเมริกาอย่างอินเดียนแดง ได้ยินตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ผสานสอดคล้องกับธรรมชาติ และการศิโรราบสยบยอมต่อมารดาบิดาและบรรพบุรุษอันศักดิ์สิทธิ์ – ภาพเหล่านั้นดูเหมือนจะปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้นกับตาด้วยเทคโนโลยีชั้นเลิศในการถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว

แต่เรื่องราวดังกล่าวในภาพยนตร์เป็นแต่เพียงผลผลิตของจินตนาการเพ้อฝันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอันทรงพลังล่ะหรือ?

แนวคิดที่ว่าชีวาลัยอย่างโลก หรือดาวแพนโดรา เป็นสิ่งมีชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ดังที่เจมส์ เลิฟล็อก ได้นำเสนอทฤษฎีกายา ที่ว่าด้วยโลกมีชีวิต ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. ๑๙๖๐ ขณะที่ประจำอยู่ที่องค์การนาซ่า

ทฤษฎีกายาชี้เสนอว่า โลกเป็นระบบที่จัดการตัวเอง สามารถปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลผ่านกลไกทางชีวภาพ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เป็นต้นว่า มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มตัวเองทำให้น้ำบนโลกไม่ระเหยไปจนหมด สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน ทำให้มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ไม่เหมือนกับดวงจันทร์ ทั้งที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางใกล้เคียงกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ชั้นบรรยากาศของโลกเกิดขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต ยิ่งทำให้ดูเหมือนว่า โลกและชีวิตบนโลกนั้นล้วนต่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันอยู่ในที

แม้จะถูกโจมตีจากวงการวิทยาศาสตร์อย่างหนัก เพราะดูเหมือนเป็นการลากเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปปนเปื้อนกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ แต่อิทธิพลของแนวคิดจากทฤษฎีกายานั้นก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทีเดียว ดังที่ได้เห็นจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร หรือแม้แต่ภาพของต้นไม้พูดได้เดินได้ที่ลุกขึ้นมารื้อเขื่อนในเรื่องลอร์ดออฟเดอะริง จิตวิญญาณของแม่โลกในอนิเมชันเรื่องไฟนอลแฟนตาซีของฮอลลีวู้ด และพบได้ทั่วไปจากอนิเมชันจากญี่ปุ่นอย่างเรื่อง อรชุน (Arjuna) หรือ อีวานเกเลียน (Evangelion) เป็นต้น

ส่วนแนวคิดที่ว่าสัตว์และต้นไม้เป็นสิ่งชีวิตที่มีสติปัญญาและสามารถสื่อสารกันได้ก็เริ่มมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมารองรับกันมากขึ้น ดังเช่นงานของ ศ. อันโธนี เทรวาวัส แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอร์ก ซึ่งยืนยันว่า พืชมีเจตจำนง ตัดสินใจได้ คำนวณได้ จำได้ ดังที่สามารถยื่นกิ่งก้านสาขาไปในตำแหน่งที่จะได้รับแสงมากที่สุด รู้ถึงวิธีการคำนวณหาจุดสมดุลของแรงโน้มถ่วงและจุดศูนย์ถ่วง พืชบางชนิด เช่น ยาสูบ เมื่อถูกแมลงกัดเจาะก็จะส่งสารเคมีบางอย่างออกมา ทำให้ลำต้นหนาขึ้น และสามารถส่งข่าวไปยังต้นที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ด้วย

ทฤษฎีว่าด้วยความ “ล่มสลาย” ของ จาเร็ด ไดมอนด์ นั้นยืนยันอย่างชัดเจนว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยมือมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการล่มสลายของอารยธรรมหรือสังคมหนึ่ง เขายังมีข้อสังเกตอันแหลมคมต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาว่า ในหลายพื้นที่ แทบไม่มีความขัดแย้งระหว่างเผ่าฮูตูกับเผ่าทุตซีเลย แต่กลับมีการสวมรอยฆาตกรรม และแรงผลักดันหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากประชากรจำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงชีพปลูกผักเลี้ยงสัตว์ได้ด้วยผืนดินที่ครอบครองกันอยู่เพียงน้อยนิด

และถ้าเราจัดอันดับประเทศยากจนสิบอันดับแรกของโลก กับประเทศที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมสิบอันดับแรกของโลก ดูเหมือนว่ารายชื่อประเทศจะไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่นัก

และถ้าตระหนักว่า โลกใบนี้มีอายุยืนยาวมากกว่าเซลล์แรกราว ๑ พันล้านปี และอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง ๕ ครั้ง กระแสความสนใจสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกเสียจาก “การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์บนดาวโลกอันมีชีวิตเก่าแก่นี้”

หากมองตำนานในฐานะภาพสะท้อนจิตวิญญาณภายในของปัจเจกที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งรอบตัว ดังที่ โจเซฟ แคมป์เบลล์ คุรุผู้ยิ่งใหญ่ด้านปกรณัมได้เสนอไว้ ตำนานของมนุษย์ยุคใหม่ที่แสดงตนผ่านภาพยนตร์ร่วมสมัยเหล่านี้ ก็กำลังก่อรูปสร้างรอยปกรณัมร่วมสมัยที่กำลังก่อตัวขึ้นมาบนโลกทัศน์ของการมองเห็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงของความเป็นญาติระหว่างเราและสรรพชีวิตและแร่ธาตุอื่นๆ บนโลกนี้

อวตารของเราในร่างมนุษย์เห็นจะมีหน้าที่ไม่ต่างกับชาวเนวีแห่งดาวแพนโดราในแง่ที่ว่า เราต้องกลับไปหาจิตวิญญาณของแม่โลก กำซาบซึ้งถึงสายสัมพันธ์แห่งบรรพบุรุษร่วมกัน และส่งต่อจิตวิญญาณดั้งเดิมต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

ช่วงวิกฤตนิรันดร์กาล
(Critical Period Forever)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มกราคม 2553

ผมกำลังสนุกกับการได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อาจจะไม่เร้าใจเท่า Courage to Teach ของ พาร์คเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ แต่การค้นพบบางเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่นำมาบอกเล่าในบทความนี้ เป็นหลักฐานการค้นพบอันยิ่งใหญ่มากทีเดียว หนังสือเล่มนี้ชื่อ The Brain That Changes Itself ซึ่งเขียนโดย นายแพทย์นอร์แมน ดอดจ์ (Norman Doidge) ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่นายแพทย์คนนี้เขียนถึง และผมเอาผลงานวิจัยของเขามาเล่า ณ ที่นี้ คือ ไมเคิล เมอร์ซินีช (Michael Merzenich) ซึ่งในแวดวง Plasticity ของสมอง เขาคนนี้นับว่ามีความสำคัญมาก ถึงมากที่สุดเลยทีเดียว

คงต้องไล่เลียงอธิบายคำศัพท์ด้วยกระมังครับ คือคำว่า plasticity ของสมองนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สมองไม่ได้ยืดหยุ่นเฉพาะในวัยเด็ก แต่ยังคงยืดหยุ่นตลอดไปจนวันตาย มีการเปลี่ยนแปลงเรียลเอสเตท (real estate) ในสมองได้ คำว่า เรียลเอสเตทในสมอง ก็ต้องการคำอธิบายอีกใช่ไหมครับ คือนักวิทยาศาสตร์เดิมเชื่อว่า เนื้อสมองในแต่ละส่วน ทำหน้าที่แต่ละอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องการบังคับกล้ามเนื้อ นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถระบุได้ว่า สมองส่วนไหนควบคุมกล้ามเนื้อตรงไหน เป็นต้น และเดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว แผนที่เนื้อสมองเหล่านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เป็น plasticity หรือไม่มีความยืดหยุ่นในเนื้อที่ของสมอง อันนี้เป็นแนวคิดที่กำลังมาแรงในเรื่องสมอง แนวคิดนี้ (เวลานี้มีหลักฐานและการทดลองยืนยันว่าเป็นจริงแล้ว) บอกว่า แผนที่ในสมองนี้เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น คนที่ตาบอด หากมีการฝึกประสาทสัมผัสปลายนิ้วที่ใช้อ่านอักษรเบลล์ ความสามารถในการสัมผัสก็จะเข้ามาแทนที่เนื้อสมองที่เคยใช้ในการมองเห็น เป็นต้น

ทีนี้ มันมีเรื่อง critical period หรือช่วงวิกฤต เช่นว่า เด็กวัยเท่านี้เท่านั้นที่จะเรียนภาษาได้ดี โดยที่สมองเปิดรับทุกสำเนียงของภาษา แต่หากเลยวัยนี้ไปแล้ว มันจะไปปิดการทำแผนที่ของสมอง สมองก็จะโละเซลล์สมองที่ไม่ได้ใช้งานออกไป เหลือไว้แต่ที่ได้มีการใช้งานจริงเท่านั้น เรื่องนี้หากอ่านในรายละเอียดสนุกมาก แต่ผมจะเล่าไว้อย่างย่อๆ เท่านั้นนะครับ แล้วมันก็จะปิดช่วงวิกฤต หากเราไปเรียนภาษาที่สองหลังจากนั้น ก็พอเรียนได้ แต่ยากเย็นเข็ญใจหน่อย ไม่ใช่ว่าจะเรียนไม่ได้เลย ที่สำคัญคือเสียงพื้นฐานบางอย่าง จะออกไม่ได้เอาเลย เพราะช่วงวิกฤตมันปิดตัวไปแล้ว

เมอร์ซินีชมีบริษัทของเขาเอง และกำลังค้นคว้าทดลองหายาที่จะเปิดช่วงวิกฤตนี้ ที่ปิดแล้วให้เปิดออกอีกครั้ง แล้วเราจะพบว่า วิชาที่ยาก ๆ ก็อาจเรียนได้ง่ายดาย อย่างไม่น่าเชื่อ แต่พูดเรื่องยา หลายคนก็อาจจะหวาดเสียวใช่ไหม? มันมีผลข้างเคียงหรือเปล่าอะไรอย่างนั้น แต่มีอีกช่องทางหนึ่งครับ คือ ความใส่ใจอย่างไม่ธรรมดา ที่กระบวนกรสำนักของเราจะเรียกว่า สภาวะจิตตื่นโพลง โจ ดีสเปนซ่า จากหนังสือ Evolve Your Brain จะใช้คำว่า Optimum Learning State และความใส่ใจอย่างไม่ธรรมดานี้ มีแผนที่ในสมองด้วย อันนี้เองที่บอกเราว่าหากเราฝึกสมาธิ (อย่างถูกทาง) เราจะไปเพิ่มเรียลเอสเตทของความใส่ใจในสมอง หรือพื้นที่ในแผนที่สมองสำหรับความใส่ใจจะขยายใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้นทรงพลังขึ้น ตรงนี้แหละครับ มันไปสามารถเปิดช่วงวิกฤตได้ตลอดกาล แปลว่าอะไร แปลว่า ต่อไปนี้ ชีวิตของเราจะเรียนรู้อะไรก็ได้ง่ายไปหมด ไม่มีอะไรยากเลย ครับ ผมกำลังทดลองวิชานี้ที่โรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่นสองโรง โดยดูแลเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ให้กลับมาเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ขอให้พวกเราตามกันไปดูนะครับ

อารยธรรมแห่งการอยู่ร่วม



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มกราคม 2553

การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทางปัญญาที่มองเห็นความเชื่อมโยงและการพึ่งพิงอาศัยของข่ายใยชีวิต สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตมีความสะดวกสบายผ่านการใช้เงินตราและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็น เรื่องที่ท้าทาย ยิ่งการที่จะตระหนักว่าสังคมมนุษย์ยังคงพึ่งพาอาศัย “ธรรมชาติ” นั้น ดูจะห่างไกลจากสำนึก ประจำวันไปเสียทุกที เป็นแต่เพียงคำลอยๆ สวยๆ ที่นิยมใช้เพื่อชื่นชม “ธรรมชาติ” ราวกับเป็นเพียง เครื่องประดับจำเป็นที่จะต้องมีไว้เพื่อความครบถ้วนทางวาทกรรมเท่านั้น ยิ่งคำๆ นี้ดำรงอยู่เพียงในความคิด หรือคำพูด อย่างขาดการสัมผัสตรงเท่าไร “ธรรมชาติ” ก็เป็นแค่เพียงมายาคติที่ถูกโหยหาและกล่าวถึง แอบอ้างอย่างผิวเผิน

การตระหนักรู้ถึงธรรมชาติของชีวิตที่เชื่อมโยงพึ่งพิง จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้สัมผัสตรงกับธรรมชาติ ในช่วงเวลาที่ยาวนานพอ และในภาวะการรับรู้ที่ละเอียดอ่อนมากพอแล้ว คำว่า “ธรรมชาติคือครูที่ยิ่งใหญ่” จะมีความหมายสำหรับเรามากกว่าหลักปรัชญางามหรู เพราะเราสามารถสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาที่มี ลักษณะเป็นองค์กรจัดการตัวเองของธรรมชาติ เราสามารถรับรู้และให้ความหมายพลังของธรรมชาติได้อย่าง หลากหลาย มีทั้งความธรรมดาเรียบง่ายและยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งความบรรสานกลมกลืนและความแตกต่าง อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน

วิกฤติของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ ท้าทายความสามารถในการ “อยู่ร่วม” กันท่ามกลางความ แตกต่างหลากหลายทางความคิด คุณค่า และวิธีการอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราจะพบ ความแตกแยก ความไม่ลงรอย ความรุนแรงทั้งแบบเปิดเผยและแบบหลบซ่อน ทั้งในองค์กรธุรกิจ องค์กรทาง วิชาการ และองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ ที่ผู้คนมีความตั้งใจหรือเจตนาที่ดีในการสร้างสรรค์สังคมให้มีสุข เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ก้าวหน้า มีการศึกษา และเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด

ผู้เขียนคิดว่า อารยธรรมมนุษย์ที่เดินทางมาสุดขั้วความเจริญทางวัตถุ กำลังเรียนรู้ที่จะเดินทางต่อด้วย การหวนคืนสู่การใช้เทคโนโลยีทางจิต ที่อาจดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่มีมูลค่าหรือราคาค่างวดใดๆ แต่กลับอาจ ส่งผลให้เราสามารถ “อยู่ร่วมกัน” กับตัวเองและผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนและอ่อนโยนยิ่งขึ้น การสัมผัสรับรู้ถึง “ธรรมชาติของชีวิต” จะทำให้เราเห็นว่า ชีวิตไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของเรา ธรรมชาติไม่ได้ถูกสร้างโดยมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม ธรรมชาติคือแหล่งกำเนิดหรือที่มาของชีวิตทั้งมวลรวมทั้งมนุษย์ นอกจากนี้ ธรรมชาติยังเป็น “บ้าน” เป็น “ฐานทรัพยากร” ให้กับอารยธรรมแห่งการบริโภคที่มีแต่จะเสื่อมโทรม และร่อยหรอลงทุกทีๆ แม้จะมีความพยายามในการ “จัดการ” ทรัพยากรเหล่านี้อย่างยั่งยืนเพียงใด ก็ดูจะเล็กน้อยไม่ทันอัตราการล้างผลาญที่กำลังเกิดขึ้น นี่อาจจะถึงจุดที่การจัดการที่สำคัญคือการจัดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับ “บ้าน” หลังนี้ของเรา

คุรุหรือผู้นำที่สามารถเป็นตัวอย่างแห่งการสำนึกรักและตระหนักรู้ในภาวะพึ่งพิงอาศัยของระบบชีวิตนี้ อาจไม่ได้อยู่ตามมหาวิทยาลัยหรือชุมชนวิชาการที่มีผลงานน่าเชื่อถือ แต่คือชุมชนที่ยังคงสืบทอดและดำรง วิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์เรื่อยมาอย่างถ่อมตัว หนึ่งในนั้นคือชาวปกาเกอญอแห่งบ้านสบลาน ที่อยู่อาศัยกันเพียง ๒๐ ครัวเรือน แต่รับผิดชอบดูแลผืนป่านับหมื่นไร่ในเขตพื้นที่ของอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา หลายปีก่อนหญิงชาวปกาเกอญอคนหนึ่งเคยกล่าว กับผมว่า “แม้ว่าเราจะเป็นคนตัวเล็กๆ และดูแลลำห้วยเล็กๆ ที่นี่ แต่เราก็รู้ว่าเรากำลังทำหน้าที่ดูแลแม่น้ำให้กับ คนพื้นราบ คนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ ไปด้วย เราคือคนตัวเล็กๆ ที่ดูแลคนกรุงเทพฯ และเราภูมิใจที่ได้ทำ อย่างนั้น”

ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ ผมได้นำพากลุ่มผู้ฝึกกระบวนกรในโครงการจิตตปัญญาศึกษา ที่เสมสิกขาลัยร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปเรียนรู้กับชุมชนสบลาน ในหัวข้อ นิเวศภาวนา (Ecological Quest) เป็นเวลา ๗ วัน โดยผู้ร่วมเดินทางประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และนักการละคร เป็นการเรียนรู้ผ่าน การสัมผัสตรงกับเรื่องราวของการอยู่ร่วมอย่างเป็นชุมชน มิติของความศักดิ์สิทธิ์และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างอ่อนน้อม ทั้งสองมิตินี้เป็นลักษณะสำคัญของ “จิตวิญญาณชนเผ่า” ที่อาจจะดูไม่ฮิบหรือล้าหลังไปใน ยุคออนไลน์ แต่ผมกลับเห็นว่าเป็นทางออกทางหนึ่งของสังคม ด้วยความเป็นตัวอย่างของความรู้ที่ได้รับ การผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวิถีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่หวานหูดูดีมีสำนึกทางนิเวศเท่านั้น

พวกเราใช้เวลาในการเรียนรู้ชีวิตที่ธรรมชาติและเรียบง่ายธรรมดาที่หมู่บ้าน แล้วจึงเดินทางไป ภาวนาในป่าเพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตตัวเอง เป้าหมายชีวิต การคลี่คลายความสัมพันธ์กับผู้คนในอดีต หรืออาจค้นหาแรงบันดาลใจ ความกระจ่างชัดจากธรรมชาติ เพื่อนำกลับมาสู่การดำเนินชีวิตในเมือง อีกครั้งหนึ่ง การที่ได้มีเวลาอยู่กับธรรมชาติเพียงลำพัง ทำให้หลายคนได้เผชิญหน้ากับความกลัว ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ความหิว และความเบื่อหน่าย แต่เมื่อพวกเราผ่านความยากลำบากทั้งทางกาย และใจไปได้ ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นความผูกพันกับชีวิตที่แน่นแฟ้นและกลมกลืนยิ่งขึ้น รอยละอองของฝุ่น และคราบไคลบนผิวหน้าก็ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกปลอมของชีวิตอีกต่อไป พร้อมกับใจที่กลมกลืนน้อมรับชีวิต แวดล้อมอย่างอ่อนโยนและยืดหยุ่น ราวกับได้กลับมารู้สึกอีกครั้งว่าธรรมชาติคือบ้านที่แท้จริงของเรา ดังที่บรรพบุรุษของเราอาจเคยตระหนักเช่นนั้น

ประสบการณ์นี้ช่วยย้ำเตือนให้พวกเราไม่หลงลืมธรรมชาติแห่งความเป็นปกติ และความเป็นเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยง อีกทั้งได้สัมผัสความอ่อนโยนและความกรุณาภายในตัวเอง ไม่เพียงแต่เท่านั้น ชาวปกาเกอญอเจ้าบ้าน ทั้งคนหนุ่มและผู้เฒ่าที่เป็นดังครูของพวกเรา ก็ยังได้ระลึกรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าของพวกเขาเองที่มีต่อโลกและสังคมอีกด้วย ผู้เฒ่าคนหนึ่ง “พะตีแดง” เคยกล่าวกับผมเมื่อหลายปีก่อนว่า “อยากให้พวกเรามากันบ่อยๆ พวกเราที่อยู่ที่นี่ จะได้ไม่หลงลืมว่าเราคือใคร และมีความหมายอย่างไร” ตอนแรกๆ ผมไม่เข้าใจนักว่าการมาของพวกเรา จะช่วยไม่ให้ชาวบ้าน หลงลืมคุณค่าของตัวเองได้อย่างไร แต่มาตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า การพึ่งพาอาศัยกัน และกันทางจิตใจนั้น ดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ บทสนทนาที่เป็นมิตร และการอยู่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ช่วยทำให้เรารับรู้คุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่ของตัวเองได้

ชายหนุ่มปกาเกอญอคนหนึ่งได้กล่าวถ้อยคำจากใจกับพวกเราก่อนกลับว่า “ผมดีใจที่มีคนส่วนหนึ่ง เข้าใจปกาเกอญอ ผมภูมิใจกับความเป็นปกาเกอญอ ถึงแม้จะไม่รวย ความรวยไม่ทําให้คนสบายเสมอไป อาจจะสู้น้ำใจ รอยยิ้มไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าเงิน อย่างพะตี (พวกผู้เฒ่า) อาจรวยอีกแบบ รวยธรรมชาติ แต่ถ้าในเมืองอาจมองอีกแบบ คิดว่าคนดอยไม่รู้อะไร อยากฝากทุกท่านว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิต จิตวิญญาณแบบนี้ วันใดถ้าผมไม่ได้อยู่ที่นี้ ผมก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ ผมจบ (การศึกษากับ) มีด จบมุย (ฆ้อน) จบหน้าแข้ง จบจากบรรพบุรุษ ผมจะทําอย่างนี้ตลอดไป การศึกษาไม่ใช่ไม่จำเป็น จําเป็น ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งเทคโนโลยีอาจพัฒนาอะไรบางอย่งผิดอยู่ ผมยังจับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เป็นห่วง อาจกระทบทั้งบ้านเมือง ไปทั้งหมด อยากฝากว่า ชาวบ้นที่นี้จะรักษาผืนป่านี้ จะภูมิใจ แม้ว่าเขาจะว่าว่าเป็นคนดอย คนปกาเกอญอก็จะไม่น้อยใจ จะมีแรงบันดาลใจ ความรู้สึกดีๆ จะไม่ลืม จะจําไว้ตลอดชีวิต ถ้มีโอกาส ก็ชวนให้กลับมาอีก ทุกคนยินดีต้อนรับเสมอ”

เรียนรู้ด้วยใจอย่างไร้คอก



โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มกราคม 2553

กระบวนการเรียนรู้ใจตัวเองเป็นเรื่องแปลก แปลกที่ว่าหากเผลอเมื่อไร ใจเราก็มักจะสร้างคอกของ “ความรู้ (แล้ว)” ไว้เป็นหลักอ้างอิงให้กับตัวมันเองอยู่เสมอๆ ความรู้ที่ว่านี้อาจใช้การได้ดี และอาจขายได้อยู่พักใหญ่ แต่ไม่นานนักความรู้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งยวดต่อกระบวนการเรียนรู้ของใจ

ธรรมชาติของใจไม่มีคอก ไม่มีขอบเขตแม้กระทั่งเรื่องของความถูกผิด นั่นคือเหตุที่ว่าทำไมใจจึง (ง่าย) งาม ใจจึง (ปกติ) ดี และใจจึงกว้างขวางยิ่งนัก จนเราสามารถไว้วางธรรมชาติของใจได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าเราไว้วาง “ใจ” ไม่ใช่เอาใจไปวางไว้ (ในคอก)

คอกที่ว่านี้มีด้วยกันหลายรูปแบบ ความร่ำรวยมีชื่อเสียง เกียรติยศ ปริญญา สถานะ ความเด่น ความดัง และความสำเร็จ ถือเป็นคอกลักษณะหนึ่งที่เราชอบเอาใจไปวางไว้ ของรักของชอบ ความสุข ความสมหวังในชีวิต และเพื่อนฝูง ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง และอีกแบบหนึ่งที่ลึกซึ้งขึ้นไป ก็คือเรื่องของความรู้ความเข้าใจ สติปัญญา และความดี (ความงามและความจริง) ที่ยิ่งใจเดินทางไปไกลมากเท่าไร คอกเจ้ากรรมก็ดูจะมีความเจ้าเล่ห์ยิ่งขึ้น ดูดียิ่งขึ้น เชื้อชวนและชวนเชื่อยิ่งขึ้น จนเราอดไม่ได้ที่จะพักใจไปวางไว้ในคอก แต่หากเรายังรู้ใจตน นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาที่มืดมนอะไร

ใจของแต่ละคนผ่านการเดินทางมาแสนยาวนาน พักบ้าง ตื่นบ้างไปตามเรื่องตามราว ทว่าความสุขสูงสุดทางจิตใจ คือการที่ใจได้เรียนรู้ที่จะปลดโซ่ตรวนที่ล่ามอิสรภาพของใจไปทีละน้อย ชั่วขณะของความสุขทางจิตวิญญาณ คือการที่เราได้เข้าไปสัมผัสสายลมแห่งอิสรภาพที่ผ่านพัด และการเดินทางก็ยังมีต่อไปด้วยความโหยหาของใจที่จะเข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์ สู่ธรรมชาติเดิมแท้ของใจที่ไร้การปรุงแต่ง ดังนั้นแม้เราจะแอบเอาใจไปพักไว้ในคอกบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อใดที่เราได้กลับมารู้ใจตัวเองแล้ว เราก็ควร “ออกนอกคอก” เสีย แล้วเดินทางต่อ

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ คือการบ่มเพาะความเชื่อมั่นของ “ใจนอกคอก” ดวงนี้ ด้วยความรู้จิตรู้ใจของตัวเอง เคราะห์ดีที่เราๆ เกิดมาเป็นคนที่มีร่างกาย เราจึงไม่ต้องมัวดูดาย นิ่งดูใจไปอย่างแอบๆ และแอ็บสแตรค การรู้จิตรู้ใจจึงฝึกฝนกันได้แบบคนเดินดินธรรมดา ด้วยการบ่มเพาะความรู้เนื้อรู้ตัว ที่ทำให้ใจนอกคอกดวงนี้ปกติตั้งมั่น จนรู้ทันตัวเองได้ในทุกย่างก้าว

และเมื่ออุตส่าห์ลงมาเดินดินกันแล้ว ไม่ว่าความเป็นคนมันจะดูห่วยขนาดไหน มันจะเจ็บขนาดไหน มันจะร้อนรุ่มขนาดไหน มันจะซาบซ่านขนาดไหน มันจะหลงไปไกลใครบ่นอะไรก็ไม่ได้ยิน สิ่งเร้าเข้ามากระทบ อารมณ์ผุด ความรู้สึกโผล่ หรือแม้แต่ความโหยหา ความปรารถนา ตัณหาราคะ ความโกรธ ความเกลียด อิจฉาริษยา อยากจะฆ่าใคร ก็ไหนๆ เหตุปัจจัยก็เอื้อให้สิ่งเหล่านี้ที่ยังคงเหลืออยู่ในใจ ได้ขึ้นมาให้เราเห็นกันจะๆ แล้ว เราจะมัวหนีไปไย แล้วเราจะไปเอาคอกที่ไหนมากดเก็บและกีดกันภาวะเหล่านี้เพื่อจะได้เอาใจไปเก็บใส่ไว้อีก

บางคนอาจจะกล้าๆ กลัวๆ แล้วแก้ตัวไปขุ่นๆ ว่า “ก็เข้าใจอ่ะนะ แต่เอาเป็นว่าฉันจะลองมองหาคอกดีๆ ก็แล้วกัน” คอกที่ดูดีจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเอาไว้ผูกใจที่กล้าๆ กลัวๆ เป็นภาวะของความกึ่งดิบกึ่งดีทางปัญญาที่ดูเผินๆ ออกจะน่าหลงใหลอยู่ไม่น้อย ทว่ายิ่งคอกดีมากเท่าไร ใจก็ดูจะยิ่งถูกปิดกั้นจากการรู้ใจตนมากเท่านั้น

การเรียนรู้ของใจจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่ในคอกห่วยๆ เท่านั้น คอกที่มีขึ้นเพียงชั่วคราวบนรากฐานของความเข้าใจในความยิ่งใหญ่ของ “ใจนอกคอก” คอกที่คอยโอบอุ้มให้ใจที่กล้าๆ กลัวๆ ได้รู้จักความกล้าและความกลัวตามที่เป็น ไม่มีมาตรฐานผ่านเกณฑ์ ไม่มีกดดันบีบคั้น ไม่มีรางวัล พันธสัญญา หรือปริญญาบัตร (หรือหากจะมีก็มีไปขำๆ) เพราะจิตวิญญาณแห่งการแสวงหา คือการเข้าถึงใจตน ไม่ใช่ไปเอาใจใคร เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อเอาใจ (หรือเอาแต่ใจ) คอกห่วยๆ จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งห่วยเท่าไรก็ยิ่งดี เป็นคอกห่วยดีที่หลวม สด ดิบ ง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมที่จะถูกแหกออกเพื่อหลีกทางให้กับใจนอกคอกได้ออกไปโลดโผนยามที่ใจพร้อม หากคอกเกิดพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยใจอะไรขึ้นมา ก็น่าจะอ่อนน้อมถ่อมตัวเป็น “ศูนย์นอกคอก” ที่รวมความหลากหลายของใจทั้งในคอกและนอกคอก ใจในคอกที่ยอมรับถึงข้อจำกัดของใจตน จนไม่ยกตัวตนไปข่มใคร และไม่พยายามเอาใครมาใส่คอก และใจนอกคอกที่เห็นใจเหตุปัจจัยภายในคอก สื่อสาร สัมพันธ์ บนรากฐานของความจริงใจ จนเส้นแบ่งระหว่างนอกและในหายไปจนศูนย์ไม่กลายเป็นคอก

แล้วการเรียนรู้ของใจก็จะเดินทางต่อไป บนหนทางแห่งความไม่รู้ (แล้ว) ที่ยิ่งก้าวไป ใจก็ยิ่งอ่อนน้อม พร้อมที่จะเผชิญกับทุกภาวะ ทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ ทุกปัญหา ทุกความสับสน ทุกสุข ทุกทุกข์ ที่ผ่านเข้ามาอย่างรู้ใจตน เกิดเป็นความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพื่อไทย เพื่อใคร หรือเพื่ออะไร ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีอะไรทั้งนั้น มีก็แต่เพียงเส้นทางของ “การเรียนรู้ด้วยใจ” อย่างที่ไม่มีคอกใดจะเอาอยู่

ความสุขปีใหม่ ๒๕๕๓
สัตว์ร้าย ๓ ตัว และบ่วงอมีกดาลา



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มกราคม 2553

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๕๓ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขความเจริญโดยทั่วกัน ความทุกข์โศกโชคไม่ดีใดๆ ขอให้ผ่านเลยไปพร้อมกับปีเก่า ขอให้รุ่งอรุณแห่งปีใหม่นำความสดใสเรืองรองมาสู่ชีวิตของท่าน ขอให้จิตวิวัฒน์อย่างก้าวกระโดดในปี ๒๕๕๓ เพราะจิตวิวัฒน์เป็นปัจจัยของความสุขที่แน่นอนที่สุด และจิตมนุษย์ยังวิวัฒน์ได้อีกมาก ในขณะที่กายจะไม่วิวัฒน์ต่อไปอีกแล้ว

วิวัฒน์จากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่

จิตเล็กนั้นคับแคบ บีบคั้น และนำมาซึ่งความทุกข์ จิตใหญ่นั้นกว้างขวาง เป็นอิสระ จึงนำมาซึ่งความสุข ในมนุษย์ปุถุชนทุกคนมีสัตว์ร้ายอยู่ ๓ ตัวที่คอยก่อความทุกข์ให้ตัวเองและผู้อื่น สัตว์ร้ายทั้ง ๓ นี้คอยบงการความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราโดยเราไม่รู้ตัว เมื่อเราไม่รู้ตัวมันก็ทำร้ายเราเรื่อยไป ทำให้เราอึดอัดขัดแย้ง อยู่ไม่เป็นสุข ก่อทุกข์ให้ผู้อื่น ในคนบางคน สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ตัวมันโตมาก เป็น Mega beasts มันก็มีฤทธิ์ทำลายมาก จนโกลาหลไปทั้งแผ่นดินก็ได้ ถ้าเรารู้ตัว เห็นมัน เจ้าสัตว์ร้ายทั้ง ๓ ก็จะอ่อนฤทธิ์หรือสงบลง เมื่อมันแรง มันจะบีบให้จิตเล็ก แต่เมื่อมันสงบ จิตจะใหญ่และเกิดความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สารสุขจำพวกเอ็นดอร์ฟินส์จะหลั่งออกมามาก ทำให้ความสุขซึมซ่านไปทั้งเนื้อทั้งตัว

สัตว์ร้าย ๓ ตัว มีชื่อว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ตัณหา คือ ความอยากเอาอยากเป็น

มานะ คือ ความต้องการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

ทิฏฐิ คือ การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่

ลูกพี่ของสัตว์ร้ายทั้ง ๓ คือ “อัตตา” หรือตัวตน คือการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือความเห็นแก่ตัว อัตตานี้เป็นธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง มันรบกวนบีบคั้นจิตใจจนถึงขั้นเป็นพยาธิสภาพ มันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ ความเกลียด หรือ ก ยกกำลัง ๔ คือ กลัว โกรธ เกลียด กังวล

อารมณ์ทางลบ ๔ ก (ที่จริงมีมากกว่านี้) บ่อนทำลายความสุข และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ก่อทุกข์ หรือทุกขสัมพันธ์ กับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ในที่ทำงาน ในสังคม ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง ตลอดจนสงคราม

เมื่อมีอารมณ์ทางลบ จะตกบ่วงอมีกดาลา (Amygdala)

อมีกดาลาเป็นส่วนของสมองที่เป็นศูนย์อารมณ์ ตั้งอยู่ตรงกลางสมอง เดี๋ยวนี้เขามีเครื่องที่สามารถถ่ายภาพการทำงานของสมอง (Brain imaging) ที่ทำให้เห็นว่าเมื่อรู้สึกนึกคิดอย่างไร สมองส่วนไหนที่มันแดงวาบขึ้น เช่น เวลาโลภ ตรงที่เรียกว่านิวเคลียส แอคคัมเบนส์ มันแดงวาบขึ้น รวมทั้งรู้ว่าคนที่ศีลธรรมเสื่อม สมองตรงที่เรียกว่าพรีฟรอนตัล ซึ่งอยู่หลังหน้าผากมันเสียไป ฯลฯ

มีพระกรรมฐานกล่าวว่า เวลามีอารมณ์รู้สึกมันร้อนตรงกลางสมอง ก็คงจะตรงกับอมีกดาลาที่มันแดงวาบขึ้น ที่ว่าตกบ่วงอมีกดาลานั้น คือเวลามีอารมณ์มันจะไปรับความรู้สึกที่ไม่จริงเข้ามาแบบที่ว่าเห็นดีเป็นร้าย เช่น ผัวหรือเมียที่กำลังโกรธจัด อีกข้างพยายามพูดอะไรดีๆ หรือความจริง แต่คนที่กำลังโกรธจะเข้าใจผิดไป คือเข้าใจผิดความจริง จะไปกระตุ้นอารมณ์ทางลบให้ดับไม่ได้ อีกข้างก็จะไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ เราพูดดีๆ ทำไมกลายเป็นร้ายไป ก็อาจจะโกรธขึ้นมาอีกคน โกรธต่อโกรธก็จะปะทะกันบานปลายออกไป ถึงทุบตี ฆ่าแกง หย่าร้าง นี่แหละเป็นตัวอย่างของความทุกข์ความบีบคั้นในตัวเองและทุกขสัมพันธ์

อมีกดาลามันมีคู่หูชื่อ ฮิปโปแคมพัส (Hippocampus) เสียงมันคล้ายฮิปโปโปเตมัส เจ้าฮิปโปนี้เป็นศูนย์ความจำ มันอยู่ชิดกันเลยกับอมีกดาลาซึ่งเป็นศูนย์อารมณ์ มันเป็นคู่หูเข้าคู่กันแล้วกัดเราดังต่อไปนี้ครับ

ธรรมชาติของความจำนั้นมันจะจำเรื่องร้ายได้มากกว่าเรื่องดี

เรื่องดีๆ ก็ผ่านไปง่าย แต่เรื่องไม่ดีมันจำค้างคาใจ อย่างสามีภรรยาอยู่ด้วยกันมามีเรื่องดีๆ ตั้ง ๙๙ ส่วน มีเรื่องร้ายอะไรสักเรื่องเดียว มันจะจำๆ ได้มากกว่า ๙๙ เมื่อเรื่องไม่ดีมันจำแม่น และค้างคาใจอยู่ มันก็คอยฟุ้งขึ้นมา ใส่เข้าไปสู่อมีกดาลา หรือศูนย์อารมณ์ซึ่งเป็นคู่หูอยู่ติดๆ กันนั่นแหละ ทำให้เกิดอารมณ์ลบอยู่เรื่อยๆ บีบคั้นตัวเองและทำให้ความสัมพันธ์แตกร้าว ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องนิดเดียวผัวเมียหย่าร้างกันได้ ก็เพราะมันตกบ่วงอมีกดาลานี่แหละ ที่เจ้าฮิปโปมันเป็นคู่หูกับอมีกดาลา

มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของกระแสฮิปโป-อมีกดาลา ทางลบนานัปการ นี่เป็นที่มาว่าทำไมสื่อมวลชนจึงสื่อเรื่องร้ายๆ มากกว่าเรื่องดี ทั้งๆ ที่เรื่องดีๆ มีมากกว่า เพราะเรื่องร้ายมันขายได้ เรื่องดีมันก็ธรรมดาๆ ไม่น่าสนใจ เพราะเราสนใจเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เราสนใจสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น สื่อมวลชนก็เลยสนองความต้องการที่จะเสพสิ่งร้าย เข้าทำนองว่า “เรื่องร้ายลงฟรี เรื่องดีต้องเสียเงิน” ข่าวสารที่ประชาชนเสพทุกวี่ทุกวันจึงเอียง เป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี จนเสพติดข่าวร้าย ทีนี้ข่าวร้ายที่ได้รับเข้ามาทุกวี่ทุกวันก็ไปกระตุ้นเจ้าคู่หูฮิปโป-อมีกดาลา ทำให้คนทั้งปวงตกบ่วงอมีกดาลา เรียกว่าสังคมตกบ่วงอมีกดาลา คือสังคมมีอารมณ์ลบและรับรู้ผิดๆ ตลอดเวลา การรับรู้ผิดๆ ก็คือหลงไป คือโมหะ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั้งปวงก็ตกอยู่ใน “โมหภูมิ” ตามที่มีพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระมหาชนก เมื่อคนทั้งปวงตกอยู่ในโมหภูมิ ก็พากันสร้าง “เมืองอวิชชา” ขึ้น ในปี ๒๕๕๓ นี้ ควรจะหันกลับไปอ่านพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกกันให้มากๆ และลึก แล้วจะเข้าใจสาเหตุของความทุกข์ยาก เมื่อเข้าใจและจะได้แก้ไขได้

การแก้ไขอย่างหนึ่งคือ การทวนกระแสฮิปโป-อมีกดาลา หรือการสลัดตัวออกจากบ่วงอมีกดาลา

ดังที่บอกแล้วว่า เรื่องดีๆ มีมากกว่าเรื่องร้าย แต่เราเลือกที่จะสนใจและจำเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เลยตกบ่วงอมีกดาลากันทั้งสังคม เราจะต้องตั้งใจทวนกระแสทางลบนี้เพื่อออกจากบ่วงทุกข์และการมองเห็นผิดๆ นั่นคือหันมาสนใจและจดจำเรื่องดีๆ ทุกวันควรระลึกถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดกับเราหรือที่เราทำ เปลี่ยนมุมมองที่เรามองสามีภรรยา พ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน โดยตั้งคำถามในใจว่า เขามีด้านดีอะไรบ้าง พอเปลี่ยนมุมมองมาเห็นด้านดีของเขาเหล่านั้น จะมีความสุขทันที เป็น Instant Happiness จริงๆ ทดลองดูด้วยตัวเองเถิดครับ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจากลบเป็นบวก เกิดความสุขทันที ในสังคมโดยเฉพาะในชุมชนมีเรื่องดีๆ มากมาย ถ้าเราหันไปสนใจเรื่องความดี และเอาเรื่องดีๆ มาสื่อสารกันมากขึ้น ความสุข ความสร้างสรรค์ และพลังทางสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้น เรามาตกลงกันดีไหมว่า ต่อไปสื่อมวลชนควรจะเอาเรื่องดีๆ มาเสนอกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ เพื่อว่าคนไทยและสังคมไทยจะได้หลุดจากบ่วงอมีกดาลา

ส่วนสัตว์ร้าย ๓ ตัวในตัวเรานั้นมันกลัวการรู้ตัว

คือ ถ้าเราไม่รู้กายรู้ในของเรา เราก็จะตกเป็นเหยื่อมัน สัตว์ทั้ง ๓ อาศัยความไม่รู้ตัวเป็นอาหาร ตัวมันก็จะโตขึ้น อาจโตคับบ้านคับเมืองโดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราหมั่นรู้กายรู้ใจของเราไว้เสมอ เจ้าสัตว์ร้ายทั้ง ๓ ก็จะหดตัวลง แล้วเราก็จะมีความสุขขึ้น เพราะฉะนั้นต้องฝึกไว้เสมอให้รู้ความรู้สึกนึกคิดของเรา ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร กำลังคิดอะไร เจ้าตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันกำลังทำอะไรกับความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราหรือไม่ เมื่อเราฝึกเห็นสัตว์ร้ายในตัวเราบ่อยขึ้นๆ มันก็จะเชื่องลงๆ หมดฤทธิ์ลงๆ พร้อมๆ กับเรามีความสงบสบายและความสุขมากขึ้น เพราะความเป็นอิสระจากสัตว์ร้ายเหล่านั้น

ที่ว่าฝึกให้รู้กายรู้ใจ หรือรู้ความรู้สึกนึกคิด ก็คือการเจริญสตินั่นเอง สติจะทำให้เราพ้นจากความบีบคั้นของกรรมทั้งปวง ประสบความดีงามและความสุข

ฉะนั้น ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ จึงขออวยพรให้ท่านประสบความสุขความเจริญ โดยพ้นจากการตกบ่วงอมีกดาลา และพ้นจากความครอบงำของสัตว์ร้าย ๓ ตัว คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ด้วยการสวนกระแสทางลบ และด้วยการเจริญสติรู้กายรู้ใจของตัวเอง

Back to Top