กรกฎาคม 2009

ศิลปะที่ชุบชื่นชีวิต



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2552

“เราจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรมได้อย่างไร?” - เป็นหัวข้องานเสวนาซึ่งจัดที่พิพิธภัณฑ์บางกอก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา

สาวน้อยศิลปินที่เพิ่งจบจากอิตาลีใหม่หมาด เสนอความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า “ศิลปินน่าจะเลิกมองว่าพื้นที่แสดงผลงานศิลปะอยู่แต่เพียงในแกลอรี และรอให้มีคนเดินเข้ามาชื่นชม หากแต่ต้องพยายามนำงานศิลปะนั้นเข้าไปหาผู้คนให้มากขึ้น มากกว่าการเรียกร้องพื้นที่แสดงงานศิลปะ” พร้อมทั้งยกตัวอย่างการแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ และลักษณะของงานศิลปะอันเรียบง่าย ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก ดังเช่น แมดริด เบอร์ลิน ปารีส ลอนดอน เป็นต้น

ช่างภาพหนุ่มอีกคนนำโปสการ์ดภาพถ่ายผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมาให้ดู ภาพถ่ายแต่ละภาพถ่ายจากมุมอันเรียบง่าย หากแต่มองเห็นใบหน้าของผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แม้ว่าจะมีร่องรอยของความทุกข์ยากที่ต้องจากบ้านเกิด บางรายมีร่องรอยของการถูกทำร้ายทรมาน ศิลปะที่ไม่ซับซ้อนตรงไปตรงมาเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องการคำอรรถาธิบายจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่

เป็นที่น่ายินดีที่ศิลปินร่วมสมัยมีความถ่อมตนมากขึ้น หากแต่ถ้อยคำของคนรุ่นใหม่ยังต้องรอการพิสูจน์ตนต่อไป
อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้นเอง รูปธรรมที่ชัดเจนของการนำศิลปะเข้าไปหาผู้คนก็เกิดขึ้นที่แผนกไอซียู โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ

สมคิด ชัยจิตวณิช - ช่างภาพอาชีพ - บริจาคภาพถ่ายที่ปรกติมีแต่หนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำมาขอซื้อ ประดาสหายจิตอาสานำภาพ ๔๐ กว่าภาพไปขยายเข้ากรอบรูป ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาจากงบของโรงพยาบาลบวกผู้มีใจเมตตา มีผู้บริจาคช่างไม้และลูกมือมาติดตั้งภาพทั้งหมด อีกมุมหนึ่งวางตู้เพลงธรรมะและชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสืออัดแน่น บางมุมมีกระถางต้นไม้มาวาง เปลี่ยนแปลงบรรยากาศที่นั่งพักผ่อนของญาติ ทางเดินและที่พักเปลผู้ป่วยก่อนเข้าห้องผ่าตัด ไปจนถึงหน้าเคาน์เตอร์ทำงานของพยาบาลในห้องไอซียู ตลอดจนในห้องไอซียูของผู้ป่วย ซึ่งปราศจากหน้าต่าง ไร้ช่องทางในการมองเห็นทัศนียภาพภายนอก หมดโอกาสที่จะได้ยินเสียงฝนโปรยปราย และรับความสดชื่นจากลมภายนอก ให้มีชีวิตชีวาและเบิกบานขึ้นอย่างเด่นชัด

การนำงานศิลปะเข้าไปในสถานพยาบาลนั้น ย่อมช่วยในการเยียวยามิติทางอารมณ์ จิตวิญญาณ และสังคม ในขณะที่เครื่องช่วยชีวิตนั้นเยียวยาได้เฉพาะทางกาย

เมื่อมองเห็นภาพอันงาม มีพื้นที่พักผ่อนทางใจ ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์เองย่อมคลายความทุกข์ ความกังวล ความหดหู่และเศร้าหมองของจิต - แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด หากแต่สภาพแวดล้อมก่อนและหลังติดตั้งงานศิลปะก็มีบรรยากาศแตกต่างกันอย่างน่าอัศจรรย์ - ศิลปะย่อมนำพาใจของผู้คนไปสู่ที่ที่ไม่เคยไป

เมืองไทยเรายังไม่มีงานวิจัยใดมาศึกษาเกี่ยวกับผลดีของการนำศิลปะเข้าไปหาผู้คนในโรงพยาบาล หากแต่รูปธรรมของศิลปะที่รับใช้มากกว่าตัวเองนี้ ปรากฎผลอย่างค่อนข้างชัดเจนจากงานที่เริ่มขึ้นเมื่อ ๓๐ ปีก่อนในประเทศยากจนอย่างเวเนซูเอลา
เมื่อโฮเซ อันโตนิโอ เอบรอย นักเศรษฐศาสตร์และนักดนตรีก่อตั้งวงออเคสตราที่ประกอบด้วยเด็กและเยาวชน ๑๑ คนขึ้นที่โรงรถ ในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ โครงการ El Sistema ที่ให้การศึกษาด้านดนตรีกับเด็กและเยาวชนก็ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นอุบายดึงให้พ้นจากยาเสพติดและอาชญากรรมที่มีอยู่มากมายในสังคมขณะนั้น

El Sistema ได้นำเอาดนตรีคลาสสิคชั้นสูงเข้ามาสู่มือของเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ กว่าร้อยละ ๙๐ ของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมาจากครอบครัวชั้นล่าง นอกเหนือจากเครื่องดนตรี ทุนการศึกษา ยังมีค่าเดินทางจากบ้านมาเรียน เด็กเหล่านี้ช่วยสอนให้ที่บ้านรู้จักกับงานดนตรีอันเลิศของนักประพันธ์เอกแห่งโลก และทำลายกำแพงแห่งชนชั้นในโลกศิลปะแห่งดนตรีลง

ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้กว่าครึ่งล้าน ช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา เวเนซูเอลามีวงออเคสตราอาชีพเพิ่มขึ้นจาก ๒ วง เป็น ๓๐ วง ทั่วประเทศ และวงออเคสตราเด็กและเยาวชน - ไซมอน โบลิวาร์ – ผลผลิตของโครงการ รวมทั้งวาทยกร ก็ถือได้ว่ายืนอยู่แถวหน้าของวงออเคสตราระดับโลกเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นว่า ธนาคารอินเตอร์-อเมริกันเพื่อการพัฒนา อนุมัติเงินสนับสนุนให้กับโครงการนี้ถึง ๑๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๕ หลังจากงานวิจัยของธนาคารที่เก็บข้อมูลจากเด็กกว่าสองล้านคนในเวเนซูเอลา ปรากฏผลยืนยันว่า เด็กหนีเรียนน้อยลง ผลการเรียนดีขึ้น และลดจำนวนเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ อย่างเด่นชัด ธนาคารคาดว่าการลงทุนแต่ละดอลลาร์ในโครงการ El Sistema จะทำให้เกิดกำไรทางสังคมราว ๑.๖๘ ดอลลาร์

งานศิลปะที่ชุบชื่นชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วทั้งในบ้านเรา และที่อื่น ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนหน้า หากเมืองไทย – ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ – มีงานศิลปะที่เข้ามาสัมผัสกับชีวิตความเป็นจริงตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล สวนสาธารณะ ริมทางเดิน ในสถานศึกษา ในที่ทำงาน ในหมู่บ้าน ไม่ใช่ในฐานะเครื่องประดับตบแต่ง หรือสินค้ามีราคา หากแต่ในฐานะที่ชุบชื่นชีวิตผู้คนได้จริง-จริง สภาวะจิตของผู้คนในสังคมจะเป็นอย่างไร จินตนาการอันกว้างใหญ่น่าจะตอบได้

บอดี้สแกน



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 25 กรกฎาคม 2552

ผมรู้จัก “บอดี้สแกน” (Body Scan) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ในช่วงที่เตรียมทำโครงการหัวใจใหม่ชีวิตใหม่ ก่อนจะเขียนเป็นหนังสือ โดยศึกษาจากหนังสือ Full Catastrophe Living ที่เขียนโดย ดร.จอน คาบัต-ซินน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยลดความเครียดของศูนย์การแพทย์แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

ดร.จอน คาบัต-ซินน์ ใช้หลักการที่เรียกว่า “Mindfulness-Based Stress Reduction” เขียนย่อเป็น MBSR คือการใช้ “การรับรู้กับปัจจุบันขณะมาช่วยลดความเครียด” ซึ่งคำว่า “Mindfulness” หรือ “การรับรู้กับปัจจุบันขณะ” นี้ คือหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา ซึ่งท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามพูดถึงอยู่เสมอ

ช่วงปี ๒๕๔๔ ผมและทีมงานได้นำบอดี้สแกนเข้ามาใช้ในโครงการหัวใจใหม่ชีวิตใหม่ และในเวิร์คชอปต่อๆ มา จนกระทั่งทุกวันนี้ เรายังคงเริ่มเวิร์คชอปในภาคบ่ายหลังอาหารกลางวันด้วยบอดี้สแกน เป็นเวลาประมาณ ๔๕ นาที ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมโครงการนอนหงายกับพื้น แล้วผู้นำกระบวนการจะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมเคลื่อนความคิดไปยังตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย และลองรับรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับร่างกายส่วนนั้น เช่น เมื่อเลื่อนความคิดไปยังต้นขาซ้าย ให้ลองดูว่ากำลังรู้สึกที่ขาซ้ายหรือไม่รู้สึกอะไร

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ ผมเริ่มรู้สึกว่า บอดี้สแกนที่พวกเราหลายๆ คนทำกันในเวิร์คชอป ดูจะมีวัตถุประสงค์เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งหลายๆ คนบอกว่า “เป็นการนอนหลับหลังมื้อเที่ยง”

จำได้ว่า ผมรู้สึกไม่ค่อยดีนักกับคำว่า “นอนหลับตอนเที่ยง” ผมเข้าใจว่า บอดี้สแกนไม่ใช่การนอนหลับ แม้ผมจะยอมรับว่า “การนอนหลับ” ในช่วงบ่ายไม่ได้เสียหายอะไร เพราะหลายๆ ประเทศในยุโรปก็มีการนอนหลับในช่วงบ่ายหลังมื้อเที่ยงที่เรียกว่า “Siesta” ก่อนที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาทำงานกันอย่างกระฉับกระเฉงหลังจากนั้น

แต่ “บอดี้สแกน” ให้ผลดีมากไปกว่า “Siesta”

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับพบว่า ร่างกายของเราจะต้องใช้เวลาประมาณสามถึงสี่ชั่วโมงในการทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อก่อนที่การนอนหลับจะเคลื่อนไปสู่ “การหลับลึก” ซึ่งการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบที่เกิดขึ้นในการนอนสามสี่ชั่วโมงแรกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการทำบอดี้สแกนเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้น

ดร.จอห์น คาบัต-ซินน์ ให้ความสำคัญกับเรื่องบอดี้สแกนมาก และเขาถือว่าเป็น “การฝึกหัด” ที่เป็นแกนหลักวิธีหนึ่งเพื่อเข้าถึง MBSR เขาจะแนะนำให้ผู้เข้าร่วม “ไม่หลับ” ไม่ว่าจะง่วงสักเพียงใด เพราะเวลาที่เริ่มผ่อนคลายนั้น หลายๆ คนอาจจะเคลิ้มๆ หลับไปได้ เขายังแนะนำว่าถ้ากำลังรู้สึกว่าจะหลับ ขอให้ลืมตาขึ้นมาด้วยซ้ำ เพราะวัตถุประสงค์หลักของบอดี้สแกนต้องการให้เรา “ตื่นรู้” อยู่กับ “ความผ่อนคลาย” ของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายๆ ทีละจุดทีละตำแหน่ง ไม่ได้ต้องการให้หลับ และ “การตื่นรู้กับกล้ามเนื้อแบบนี้” จะให้ความผ่อนคลายที่เบาสบายและให้ผลดีได้มากกว่าการนอนหลับทั่วๆ ไป อย่างน้อยในช่วงที่มีเวลาไม่มากพอที่จะหลับได้ยาวหลายๆ ชั่วโมงเหมือนในช่วงกลางคืน

โดยรวมๆ เวลาที่ผมนำบอดี้สแกนเอง ผมมักจะแนะนำไม่ให้หลับ ยกเว้นว่าไม่ไหวจริงๆ และย้ำว่า บอดี้สแกนไม่ใช่การนอนหลับ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ตอนเที่ยงหลังกินอาหารเสร็จ คงให้ทุกๆ คนแยกย้ายกันไปนอนในห้องพักน่าจะสบายกว่าต้องมานอนรวมกันในห้องประชุมกระมังครับ

หลังจากได้รู้จักและคลุกคลีอยู่กับบอดี้สแกนมาเป็นเวลาเกือบสิบปี ในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสกลับมาอ่านหนังสือ Full Catastrophe Living ของ ดร.จอน คาบัต-ซินน์ ใหม่อีกรอบ และยังได้มีโอกาสสั่งหนังสือเล่มใหม่ๆ ของเขา ทั้งที่เขาเขียนเองและเขียนร่วมกับคนอื่นๆ พบว่า ดร.จอน คาบัต-ซินน์ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานอย่างบอดี้สแกนเหมือนกับที่เคยให้และบันทึกไว้ในหนังสือเล่มแรกๆ ของเขา

ทำให้ผมได้ทดลองกลับมาฝึกบอดี้สแกนด้วยตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม โดยนำมาใช้เป็นกิจวัตรประจำวันเลย ไม่ได้ทำเฉพาะในช่วงที่มีเวิร์คชอปเท่านั้นเหมือนกับช่วงก่อนๆ

ผมพบว่า ผมได้เรียนรู้อะไรจากบอดี้สแกนเพิ่มขึ้นอีกหลายๆ เรื่องครับ

หนึ่ง ผมพบว่า บอดี้สแกนช่วยทำให้ผมผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่มากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยนึกว่าตัวเองผ่อนคลายได้เก่งมากแล้ว เมื่อกลับมาฝึกฝนอย่างเป็นประจำก็ยิ่งพบว่า ร่างกายยังมีความตึงเครียดอยู่เยอะมากและยังสามารถผ่อนคลายได้อีกมาก

สอง ผมพบว่า บอดี้สแกนช่วยทำให้ผมกลับมาที่ “ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกาย” (Body Sensation) ได้ง่ายมากขึ้น และการกลับมา “รับรู้ความรู้สึก” ที่ร่างกายนี้ เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ เพราะจะสามารถเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ให้กับเราได้ก่อนที่ร่างกายจะตกลงไปสู่ “สภาวะเครียด” ที่รุนแรงกว่าเดิม คือเมื่อรับรู้ว่าส่วนของร่างกายกำลังตึงตัวอยู่นั้น ระบบของร่างกายจะค่อยๆ ปรับสภาพไม่ให้ตกเข้าไปสู่สภาวะเครียดแบบลึกและไม่รู้ตัว

สาม ผมพบว่า บอดี้สแกนช่วยทำให้ผม “ยอมรับ” กับทุกสถานการณ์ได้ง่ายมากขึ้น เพราะ “บริบท” อย่างหนึ่งในการทำบอดี้สแกนคือ “ต้องปล่อยไป” “ต้องทิ้งไป” ความตึงตัวต่างๆ เราต้องปล่อยไป เป็นการใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของโลกโดยที่เราไม่ต้องฝืนไม่ต้องต่อสู้

และเมื่อรับรู้กับความรู้สึกตึงตัวที่เกิดขึ้นแล้ว การ “ใส่ใจ” กับร่างกายในบริเวณนั้นจะค่อยๆ ทำให้เกิดการคลายตัวและ “ปล่อย” เมื่อร่างกายสามารถ “ปล่อยสบาย” ได้แล้ว อารมณ์และความคิดจะค่อยๆ ปรับสภาพให้สามารถ “ปล่อยคลาย” ได้ง่ายมากขึ้นตามไปด้วย เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันจะมีปัญหาในเรื่องของ “ความคิดและอารมณ์ที่สับสน” กันอยู่มาก การฝึก “ปล่อยสบาย” ที่ร่างกายจะช่วยได้มากครับ

โดยรวมๆ แล้ว ผมพบว่า บอดี้สแกนมีประโยชน์มากกว่าที่เคยคาดคิดไว้ เพราะ “ความเครียด” นั้นเปรียบเสมือน “ภัยร้าย” ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวของเรา และคนที่เครียดมักจะไม่รู้ตัวว่าเครียด งานวิจัยจำนวนมากพบว่าการฝึกบอดี้สแกนให้เป็นกิจวัตร จะสามารถช่วยตัดวงจรของความเครียดที่ก่อเกิดและทำร้ายร่างกายของเราได้เป็นอย่างดี

เดินอินเดีย



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2552

อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ได้ให้เกียรติมาพูดคุยกับกลุ่มจิตวิวัฒน์เป็นครั้งที่สองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ครั้งแรกอาจารย์มาเล่าเรื่อง “การเดิน” ของท่านจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ครั้งที่สองอาจารย์กลับมาเล่าเรื่อง “การเดินทาง” ของท่านอีกครั้ง

ครั้งนี้ท่านเดินทางครึ่งประเทศอินเดีย

แม้ว่าครั้งนี้อาจารย์จะไม่ได้ใช้วิธีเดินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ดูคล้ายประสบการณ์ที่ท่านได้ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ท่านเดินทางไปในประเทศอินเดียด้วยเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากการเขียนหนังสือเรื่องการเดินในครั้งแรก โดยตั้งปณิธานไว้แต่แรกว่าครั้งนี้จะไปทบทวนชีวิตของตนเอง และทดแทนพระคุณให้แก่ผืนแผ่นดินอินเดียที่เคยศึกษาหาความรู้โดยไม่มีข้อแม้ อะไรที่ให้ได้ท่านจะให้ โดยไม่มีการอิดออดหรือพยายามจะต่อรอง ไม่ว่าจะราคาสินค้า หรือค่าพาหนะ หรืออะไรทั้งสิ้น เดินทางให้ทั่วโดยไม่รบกวนใคร ไม่เป็นภาระใคร อยู่ได้ทุกสถานที่ ไปได้ทุกสถานที่ ถึงจะไปในที่เปลี่ยวลับตาแม้พบผู้ร้ายต้องการอะไรก็พร้อมจะให้โดยไม่อิดออด

เมื่อศรัทธาแรงกล้าตั้งแต่ต้นแล้ว ท่านก็ทำตามนั้นจนสำเร็จ

ครั้งนี้ท่านเดินทางย้อนรอยสมัยที่เคยเป็นนักศึกษาก่อน จากนั้นท่านเดินทางไปเรื่อยๆ ลงไปที่อินเดียใต้ รถจะพาไปไหนก็ไปที่นั่น ไม่ใช้เป้าหมายเป็นตัวกำหนดเพราะชีวิตถูกกำหนดด้วยเป้าหมายมามากแล้ว

บางเวลาท่านต้องนั่งรถไฟชั้นที่ต่ำที่สุดร่วมกับคนที่ยากจนเป็นที่สุดของที่สุดของอินเดีย แม้ว่าจะมีตั๋วที่นั่ง แต่เมื่อถูกไล่ก็พร้อมจะสละให้ บางครั้งท่านนอนหน้าห้องส้วมที่น้ำปัสสาวะไหลเจิ่งนอง ยามรถไฟเลี้ยว น้ำปัสสาวะไหลไปมาให้ท่านต้องคอยยกตัวหลบ บางครั้งท่านนอนร่วมกับคนอินเดียที่ยากจนข้นแค้นและเจ็บป่วย เวลาที่จะเข้าห้องน้ำต้องค่อยๆ เดินไปทีละก้าว ตั้งสติวางขาลงไปบนช่องว่างระหว่างมนุษย์ที่นอนแออัดกันบนพื้น แต่นั่นทำให้ได้เห็นความเป็นมนุษย์อย่างใกล้ชิด และยังคง “เดินทาง” ไปเรื่อยๆ

มีเรื่องน่าประทับใจ คือท่านหาโอกาสไปพบครูเก่าๆ ที่เคยสอนท่าน ไปพบภารโรงแก่ๆ ที่เคยเกื้อกูลกันมา ไปพบห้องที่ท่านเคยนอนในหอพักนักศึกษาที่เลิกใช้แล้ว เหล่านี้มิใช่ประสบการณ์ย้อนอดีตหรือโหยหาอดีต แต่วิธีที่ท่านเดินทางไปและการประพฤติปฏิบัตินั้นทำให้ท่านได้ “เห็น” “ตัวเอง” หมายถึง เห็นตัวเองอย่างแท้จริง และรู้จักตัวเองตามที่เป็นจริง หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง “ความจริง” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

มีเรื่องน่าประทับใจอีกที่ท่านได้ไปพบพระพุทธรูปเก่าแก่นับพันปีอยู่กลางทุ่งนา น่าจะเป็นประสบการณ์ที่สร้างความปีติให้แก่ท่านล้นเหลือ ใครที่ชอบเดินทางไปคนเดียวออกนอกเส้นทางปกติไปพบของเก่าแก่ที่ไม่มีใครเหลียวแลจะเข้าใจความปีตินี้ดี แต่สำหรับอาจารย์ประมวลแล้วน่าจะเป็นมหาปีติเพราะท่านมิใช่ไปพบอย่างนักท่องเที่ยวแต่ไปพบด้วยตัวตนที่แท้ของตนเอง ทั้งนี้เพราะท่านได้ปลดเปลื้องพันธนาการต่างๆ นานาไปมากแล้วระหว่างการเดินทาง

การเดินหรือการเดินทางของท่านไม่เหมือนนักเดินทางคนอื่นเพราะท่านได้ปลดเปลื้องพันธนาการที่ผูกมัดคนในสังคมออกจนหมดสิ้นหรือเกือบจะหมดสิ้น ความอ่อนน้อมถ่อมตนในทุกย่างก้าว ความพร้อมของจิตใจที่จะไปโดยไม่มีเงื่อนไข ความพร้อมของจิตใจที่จะให้โดยไม่มีข้อแม้ เหล่านี้ทำให้ท่านดูคล้ายจะไม่มีอะไรผูกมัดกับสังคมหรือสถานะทางสังคมที่มีอยู่ ท่านจึงเหลือแต่ “ตัวตน” ที่ท่องไปในแผ่นดินอินเดีย

อย่างไรก็ตามท่านยังมีคนที่อยู่ข้างหลัง ท่านพูดถึงภรรยาที่อยู่ข้างหลังได้น่ารักมาก ดังนั้นแม้ว่าท่านจะไป และจะให้ แต่ท่านก็จะกลับไปด้วย ความมุ่งมั่นของท่านนั้นชัดเจนและแก่กล้าจนกระทั่งไม่มีอะไรขัดแย้งกัน คือจะไป จะให้ และจะกลับในคราวเดียว

ดังนั้นจนแม้วันกลับเมื่อท่านถูกกักตัวที่สนามบินเพราะเหตุน้ำหนักของหนังสือที่ท่านซื้อหามาระหว่างการเดินทางมากเกินกำหนด ขณะที่ท่านรอให้กระบวนการจัดการตามระเบียบสายการบินดำเนินไปอย่างเชื่องช้าน่าจะตกเครื่องบินได้แล้ว ท่านก็ยังมีสติกับปัจจุบัน ไม่มีความกระวนกระวายใจหรือเรียกร้องสิ่งใด ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามศรัทธาที่ท่านมีนั่นคือจะไป จะให้ แล้วอย่างไรก็จะกลับ จนกระทั่งมีใครบางคนมาช่วยจัดการสัมภาระของท่านและพาขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยในวินาทีสุดท้าย

ผมเดาว่าท่านนิ่ง สงบ เยือกเย็น เพราะศรัทธาท่านมั่นคง ไม่ได้กลับเที่ยวบินนั้นก็แปลว่าไม่ได้กลับ และไม่กังวล เพราะอย่างไรก็จะกลับไปพบคนที่รออยู่อย่างแน่นอน

เรียกว่าอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง

ท่านว่าสารรูปของท่านในบางช่วงเวลานั้นถ้าไปขอทานใครเขาก็คงจะให้ ไปเจอคนไทยด้วยกันก็ไม่น่าจะจำได้ว่าท่านเป็นคนไทย น่าจะแปลว่าท่านได้ปลดเปลื้องพันธะเรื่องเครื่องแต่งกายลงแล้ว บางขณะท่านได้รับการต้อนรับจากหมู่ขอทานให้เข้าร่วมสมาคมเพราะคิดว่าท่านเป็นขอทานประเภทหนึ่ง นับตั้งแต่วันแรกที่ท่านก้าวสู่ผืนดินอินเดียแล้วถูกขอทานสะกิดจนถึงวันที่ท่านอาศัยร่วมกับขอทานนับเป็นการเดินทางไกลอย่างหาได้ยากยิ่ง

แต่ที่สำคัญกว่าการปลดเปลื้องพันธะเรื่องเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นรูปธรรมที่ชัดมากที่สุดเรื่องหนึ่งของมนุษย์ ท่านยังได้ปลดเปลื้องพันธะที่มองไม่เห็นซึ่งได้ชื่อว่าปลดเปลื้องยากที่สุดคือ “อคติ” ดูคล้ายท่านจะวางอคติลงได้มากที่สุดเมื่อท่านเดินทางไปสักการะวัดในศาสนาเชนซึ่งเป็นเดียรถีย์ เดียรถีย์สำหรับคนทั่วไปคงจะไม่ชัดว่าคืออะไร แต่รู้ว่าคำนี้ไม่ดีแน่ๆ น่ารังเกียจไปจนถึงเลวทรามต่ำช้า อาจารย์ประมวลนั้นเป็นคนธรรมดา ไม่มีอะไรต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่ท่านวางอคติลงได้และเดินทางไปดูกับตาว่าศาสนาเชนเป็นอย่างไร ไปศึกษาให้เห็น พูดคุยกับนักบวชในศาสนาเชน ตามหาพระในศาสนาเชนมาบูชา และทำความเข้าใจอย่างดีที่สุด

สำคัญที่สุดคือท่านปลดเปลื้องพันธนาการจากลัทธิความเชื่อทั้งปวง เมื่อท่านไปถึงวัดไหน เทวสถานไหน อารามของลัทธิใด บุคลิกท่าทางที่นอบน้อมและไม่ยึดติดสิ่งใดน่าจะเป็นสาเหตุให้ท่านได้รับเชิญจากเจ้าของสถานที่ให้เข้าไปสักการะหรือปฏิบัติในวิหารชั้นในหรือเขตหวงห้ามหรือเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาหรือลัทธิแห่งนั้นเสมอๆ

เพราะความว่างไม่เป็นพิษแก่ผู้ใด

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง
(Transformative Learning)



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2552

กระแสการศึกษาทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเข้าใจใหม่ เพราะคนจำนวนหนึ่งตระหนักแล้วว่า การศึกษาที่เน้นแต่เรื่องนอกตัวหรือเรื่องทางกายภาพ โดยขาดความเข้าใจในเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณ ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ ทุกวันนี้คนยิ่งเรียน ยิ่งก้าวร้าวมากขึ้น มีอัตตามากขึ้น ยึดติดในทฤษฎี เน้นการเปรียบเทียบ มีตัวชี้วัดที่ตายตัว เอาความเก่งเป็นตัวตั้งและตัดสินถูกผิด บนพื้นฐานของการแยกส่วนเสี้ยว ซึ่งไม่ใช่ความจริง ความเป็นจริงในธรรมชาติไม่มีการแยกส่วนเสี้ยว แต่มีความเป็นทั้งหมด มีเหตุมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

การอธิบายความจริงของสิ่งๆ หนึ่ง จะอธิบายด้วยความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นต่อสิ่งอื่น ไม่ได้กำหนดอัตลักษณ์ตายตัว ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity) และทฤษฎีความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในควอนตัมฟิสิกส์ ใช้การอ้างอิงความสัมพันธ์ในการอธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติ ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ถือว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพและควอนตัม เป็นทฤษฎีที่เข้าใกล้ความจริงของธรรมชาติมากที่สุด

วงการธุรกิจเริ่มเข้าใจและยอมรับเรื่องความไม่แน่นอน และความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ จึงมีการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบใหม่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในกลุ่มจิตวิวัฒน์บ่อยครั้ง ได้แก่ ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ของ มาร์กาเรต เจ วีทเลย์ (Leadership and the New Science; Margaret J. Wheatley) ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานแบบไว้วางใจกัน และไม่มีตัวชี้วัดในองค์กร เน้นการสื่อสารองค์กรแบบไดอะล็อค หรือสุนทรียสนทนา ที่ประกอบด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ที่ไปพ้นความเข้าใจในระดับภาษา ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพ หรือ องค์กรไร้ระเบียบสู่องค์กรมีระเบียบ ของ ดี ฮ็อค (Chaordic Organization; Dee Hock) ผู้ก่อกำเนิดบัตรวีซ่า ซึ่งกล่าวว่าความไร้ระเบียบจะเข้าสู่ความมีระเบียบโดยไม่ต้องจัดการอะไร เรื่องราวชีวิตของ ดี ฮ็อค น่าสนใจมาก เขาก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทวีซ่า โดยการลาออกในขณะที่กำลังประสบความสำเร็จสูงสุด เนื่องจากเขาเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง เข้าใจจังหวะชีวิต รู้เวลาที่สมควรจะก้าวลงจากอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง นอกจากนี้ยังมีคนแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่ทำงานโดยไม่ใช้ตัวชี้วัดกับคนทำงาน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบไว้วางใจ ซึ่งเมื่อบริษัทของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มที่จะพัฒนาคุณค่าเรื่องความไว้วางใจ ความไว้วางใจจึงขยายออกไปสู่วงกว้างระดับโลกด้วย

ความไว้วางใจนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณ (Spiritual Transformation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ความพร้อม พร้อมที่จะไว้วางใจในมนุษย์ ไว้วางใจในธรรมชาติ โดยผ่านการพิสูจน์และเรียนรู้ด้วยตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการเข้าใจคุณค่าด้านในของมนุษย์ โดยเฉพาะในตนเอง รู้จักตัวตน และวิธีละวางตัวตน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องประสานกับธรรมชาติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นธรรมชาติของความไม่รู้มากกว่าความรู้ เมื่อยอมรับและตระหนักได้ว่าในธรรมชาติจริงมีสิ่งที่ไม่รู้เกือบจะทั้งหมด และทุกอย่างพร้อมจะปรับเปลี่ยน แปรเปลี่ยน จะทำให้คนมีอัตตาลดลง ไม่ยึดติดในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตายตัว เกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีสติรับรู้รับฟังกันและกันมากขึ้น เห็นใจกันมากขึ้น ให้อภัยกันมากขึ้น เพราะต่างก็อยู่บนโลกของความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และปัญหาในอนาคตมีแนวโน้มใหญ่โต คาดการณ์ไม่ได้มากขึ้น มองเห็นว่าสังคมมนุษย์นั้นเล็กมาก จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน และเห็นคนทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อย่างแท้จริง จะกลับมาเอาใจใส่คนรอบข้างมากขึ้น มีการสื่อสารระหว่างกัน เข้าถึงใจจริงกันมากขึ้น จะเกิดความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกมั่นคงในระดับจิตวิญญาณ บนโลกที่ไม่มีความมั่นคงในระดับกายภาพและระดับจิตใจ

ซึ่งที่ผ่านมามนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาในการเรียนรู้ หรือรับรู้เรื่องดังกล่าวในแวดวงการศึกษากระแสหลักเลย การศึกษากระแสหลักมักเน้นแต่เรื่องความแน่นอน แม่นยำ ชัดเจน และการผลิตซ้ำของงาน ผ่านตัวชี้วัด ซึ่งเป็นเรื่องห่างไกลกับความสัมพันธ์เท่าที่จำเป็นของมนุษย์แต่ละคน สวนทางกับความจริงโดยสิ้นเชิง

จึงเป็นที่มาของ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงสู่ความเข้าใจใหม่ ในระดับจิตใจ และจิตวิญญาณ การหยั่งรู้ถึงความจริงของความเปลี่ยนแปลง อันมีเหตุมีปัจจัยเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว เกิดความไว้วางใจ เกิดความรัก และพร้อมที่จะรับฟังอย่างลึกซึ้ง

พาตนเองและมนุษยชาติทั้งหมด โลก และสิ่งแวดล้อม ออกจากความทุกข์ที่มนุษย์ร่วมกันก่อไว้ ไปสู่อิสรภาพจากความคิดและความเชื่อเดิมๆ ที่ทำให้คนเจ็บป่วย โลกเจ็บป่วย เปลี่ยนแปลงไปสู่การหยั่งรู้ในระดับความรู้สึกตัว ที่เกิดความรู้ความเข้าใจที่มีความสดใหม่ตลอดเวลา ไม่ได้มาจากการท่องจำทฤษฎี สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าได้อย่างทันท่วงทีร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจใหม่นี้ เกิดขึ้นได้จากความพร้อมด้วยเหตุด้วยปัจจัยของแต่ละคน อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากการเปลี่ยนไป (Change) ที่ไม่ได้บ่งบอกคุณลักษณะของการเปลี่ยนแปลง ว่าเปลี่ยนไปสู่ความเข้าใจใหม่ที่เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติอย่างไร

การศึกษานี้ไม่สามารถเรียนรู้จากทฤษฎี หรือการบอกให้เชื่อ แต่ต้องผ่านการพิสูจน์และใคร่ครวญด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้และจริตในการเข้าถึงความจริงของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เรียนบ้าง เล่นบ้าง หลับบ้าง ทดลองบ้าง การเรียนจึงประกอบด้วยวิธีที่หลากหลาย ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้เอื้อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งโดยพื้นฐานและหัวใจของการเรียนรู้นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วยการเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ มีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้อย่างไม่ตัดสินถูกผิด เชื่อใจ และไว้วางใจ กระบวนการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ เมื่อแต่ละคนได้ค้นพบความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าทฤษฎีที่ตนรับรู้มา จึงจะยอมละวางความคิด ความเชื่อที่ตายตัว จนเกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลง คือกลายเป็นผู้รับฟังมากกว่าผู้ตัดสิน เป็นผู้เมตตากรุณามากกว่าเป็นคนเก่ง ผู้เรียนจะกลายเป็นผู้ที่มีความสุขสงบลึกๆ ในใจ แม้กระทั่งตกอยู่ในสภาวะที่กำลังเผชิญปัญหา เนื่องจากสามารถก้าวข้ามตัวตนหรือกรอบที่ครอบงำหรือความเชื่อเดิม ที่ไม่เชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันขณะ จากนั้นจะเกิดความกล้าหาญขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น เข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกทั้งความเจ็บป่วยต่างๆ ลดลง

จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีขนาดไหนหากมีประชากรที่มีคุณภาพในการรับฟังผู้อื่นอย่างมากมายในประเทศ เป็นประชากรที่มีความสุขจากการเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จะไม่เกิดการเสียเวลาโต้แย้งทางความคิดในเรื่องการใช้ชีวิตให้มากความ เพราะการเข้าถึงความจริงไม่สามารถคิดๆ เอา แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยตนเอง และทุกคนมีเวลาเป็นของตนเอง ผ่านความเชื่อมั่น ไว้วางใจของคนรอบข้างและสังคมโดยรวม

ผู้เขียนมีความหวังอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะตื่นขึ้นมาเป็นผู้นำในการศึกษาเรื่องนี้ได้ โดยไม่ยึดติดกับกระแสตัวชี้วัดของโลกวัตถุ ที่เน้นการผลิตซ้ำ กลับมาตั้งสติดีๆ มีความเข้มแข็งที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาของมนุษย์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลกใบเล็กๆ นี้ร่วมกัน

สุสานกับลายมือบนกำแพง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2552

เหนือกรุงปักกิ่งมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปชม ได้แก่สุสานราชวงศ์หมิง ยกเว้นสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซีแล้ว สุสานราชวงศ์หมิงนับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดของจีน เพราะนอกจากอยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีความยิ่งใหญ่อลังการทั้งด้านขนาดและวิจิตรศิลป์ เนื่องจากส่วนใหญ่สร้างในช่วงที่ราชวงศ์นี้ยังเรืองอำนาจและว่างเว้นจากสงคราม

ในบรรดาสุสานของจักรพรรดิ ๑๓ พระองค์ที่จับกลุ่มอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ มีเพียงสุสานเดียวที่ทางการได้ขุดสำรวจเรียบร้อยแล้ว ได้แก่สุสานติ้งหลิงของจักรพรรดิองค์ที่ ๑๓ คือจักรพรรดิวั่นลี่ (ค.ศ.๑๕๖๓-๑๖๒๐) สุสานแห่งนี้จัดว่าวิจิตรอลังการมากที่สุด ผู้ที่เข้าไปชมสุสานแห่งนี้นอกจากจะต้องเดินผ่านลานด้านหน้าและซุ้มประตูหลายซุ้มแล้ว ยังต้องลงบันไดลึก ๓๐ เมตรกว่าจะถึงวังใต้ดิน และต้องผ่านประตูหินขนาดใหญ่หลายบานซึ่งในอดีตถูกปิดตาย

ในวังใต้ดินซึ่งมีห้องโถงใหญ่สามห้อง นอกจากบรรจุพระศพของจักรพรรดิและพระมเหสีกับพระสนมแล้ว ยังมีบัลลังก์หินอ่อนสามบัลลังก์ และสมบัติของจักรพรรดิอีกมากมาย รวมทั้งมงกุฎทองคำและเครื่องราชูปโภคที่ทำอย่างวิจิตรบรรจง รวมแล้วหลายพันชิ้น

วังดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการบุกรุกและลักขโมย ดังนั้นจึงสร้างประหนึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน นอกจากนั้นยังมีประตูพิเศษที่ลั่นดาลด้วยตนเองจากด้านใน เมื่อปิดแล้วก็ไม่สามารถเปิดได้อีก เท่านั้นยังไม่พอ ทางเข้าวังยังปกปิดไว้เป็นความลับ กล่าวกันว่าช่างที่ออกแบบและสร้างทางเข้าดังกล่าวถูกฆ่าปิดปากทันทีที่บรรจุพระศพเสร็จ ส่วนผู้ที่ฆ่านั้นก็ไม่วายถูกฆ่าอีกทอดหนึ่ง เป็นเช่นนี้อยู่หลายทอด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครที่ล่วงรู้ความลับดังกล่าวหลงเหลือแม้แต่คนเดียว

สมบัติมากมายประมาณค่ามิได้เหล่านี้ถูกเก็บไว้ในสุสาน ก็ด้วยความเชื่อว่าจะตามไปอำนวยสุขให้แก่จักรพรรดิอย่างพรั่งพร้อมในภพหน้า ดังนั้นจึงต้องป้องกันรักษาอย่างเต็มที่ไม่ให้ใครขโมยไปได้แม้แต่ชิ้นเดียว แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไร้ผล เพราะเมื่อทางการจีนสามารถเข้าไปในวังใต้ดินได้สำเร็จเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ได้พบว่าสมบัติหลายชิ้นในนั้นถูกขโมยไปแล้ว แม้กระนั้นก็ยังเหลืออีก ๓,๐๐๐ ชิ้นที่ต่อมาถูกย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์

จักรพรรดิวั่นลี่เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพนั้น ทรงหมกมุ่นในกามสุข เอาแต่เสวยน้ำจัณฑ์และมัวเมาในเพศรส ไม่ใส่ใจราชการแผ่นดิน ปล่อยให้ขันทีและขุนนางกังฉินขึ้นมาเป็นใหญ่ ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงและรีดนาทาเร้นราษฎรจนเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน ความตายดูเหมือนจะไม่ทำให้พระองค์สำนึก เพราะคิด(หรือหวัง) ว่าถึงตายไปแล้วก็ยังสามารถเสวยสุขได้ต่อไปในภพหน้า ดังนั้นจึงสะสมทรัพย์สมบัติไม่หยุดยั้งเพื่อเอาไว้ใช้ต่อในปรโลก

แต่ความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำว่า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้แม้แต่อย่างเดียว เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพ ทรงมีอำนาจล้นฟ้า เป็นเจ้าชีวิตของผู้คนนับร้อยล้าน แต่เมื่อสิ้นลมแล้ว แม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ยังรักษาหรือหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ไม่ได้เลย

ความยึดติดถือมั่นว่า “ของกู” นั้นฝังลึกมากในใจของผู้คน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าตัวเองจะต้องตายก็ยังไม่ยอมปล่อยวางทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ยังยึดมั่นว่าสิ่งเหล่านั้นยังจะต้องเป็น “ของกู” ต่อไปในปรโลก จึงพยายามหวงแหนเอาไว้อย่างถึงที่สุด จักรพรรดิองค์แล้วองค์เล่าพยายามสร้างสุสานหรือวังใต้ดินให้ซับซ้อนยิ่งกว่าองค์ก่อนๆ แต่ก็ไม่เคยประสบผล ไม่มีสุสานใดเลยที่ปลอดพ้นจากการบุกรุกและลักขโมย

มิใช่แต่ “ของกู” เท่านั้น ความยึดติดถือมั่นว่า “ตัวกู” ก็ฝังลึกในจิตใจของผู้คนด้วยเช่นกัน ใช่หรือไม่ว่าสุสานเหล่านี้สร้างขึ้นจากแรงขับภายในของจักรพรรดิที่ต้องการเป็นอมตะ จริงอยู่ร่างกายไม่มีวันคงทน ในที่สุดย่อมต้องเสื่อมสลายไป แต่สิ่งที่จักรพรรดิและผู้คนทั้งหลายปรารถนาในส่วนลึกก็คือ ความยั่งยืนของ “ตัวกู” ที่สืบเนื่องไปถึงภพหน้า แม้ตายไปแล้วก็ยังมี “ตัวกู” เป็นผู้รับรู้และเสวยสุขต่อไปได้อีก ดังนั้นนอกจากจะหวงแหนทรัพย์สมบัติทั้งหลายเอาไว้เป็น “ของกู” ต่อไปในยามที่หมดลมแล้ว ยังต้องการให้ทายาทและข้าราชบริพารเซ่นไหว้ต่อไปชั่วกาลนาน โดยมีประเพณีพิธีกรรมที่ซับซ้อนเป็นเครื่องกำกับ รวมทั้งการวางผังและออกแบบสุสานตลอดจนลวดลายเครื่องประดับให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย เพื่อบันดาลสิริมงคลแก่เจ้าของสุสานไปชั่วนิรันดร์

อย่างไรก็ตาม “ตัวกู” ไม่ได้ต้องการเป็นอมตะอย่างเดียวเท่านั้น หากยังต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” ด้วย มิใช่ด้วยการแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการแสดงยศศักดิ์อัครฐาน สำหรับจักรพรรดิจีน ความยิ่งใหญ่ของสุสานเป็นเครื่องประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” อีกอย่างหนึ่ง จักรพรรดิวั่นลี่ทรงมีบัญชาให้สร้างสุสานสำหรับพระองค์เองตั้งแต่มีพระชนม์ ๒๒ พรรษา แม้อยู่ในวัยหนุ่ม ยังห่างไกลจากความตาย แต่หลังจากที่ทรงครองราชย์มาได้ ๑๓ ปี ก็คงตระหนักแล้วว่าเพียงกามสุขเท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่ทรงต้องการมากกว่านั้นคือการประกาศความยิ่งใหญ่ จึงทรงสร้างสุสานอันมโหฬารขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งสุสานมิใช่หลักประกันความสุขสำหรับภพหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” ในภพนี้ด้วย

ความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” นั้น นอกจากแสดงออกด้วยวัตถุ เช่น สุสาน วัง คฤหาสน์ หรือบ้านเรือน แล้ว ยังวัดกันด้วยชื่อเสียงอีกด้วย ยิ่งมีชื่อเสียงขจรขจายกว้างไกลเพียงใด ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า “ตัวกู” นั้นยิ่งใหญ่หรือโดดเด่นมากเพียงนั้น คนเรานั้นมีทรัพย์สินมากมายเพียงใดก็ยังไม่รู้สึกพอ แต่ยังต้องการความยิ่งใหญ่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกจาก “ของกู” แล้ว “ตัวกู” ยังต้องการยืนยันให้คนอื่นรู้ว่า “นี่กูนะ” อีกด้วย

“นี่กูนะ” เป็นแรงปรารถนาที่ทรงพลังมาก ในด้านหนึ่งมันทำให้เราต้องการเป็นใหญ่หรือโดดเด่นเหนือผู้อื่น (หากอวดเบ่งไม่ได้ผล ก็ต้องอ้างบารมีของพ่อหรือย้อนถามว่า “รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร”) แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้เราทนไม่ได้ที่จะอยู่ในสภาพต่ำต้อยหรือไร้ชื่อเสียงเรียงนาม โดยเฉพาะในยุคนี้ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ทรมานได้เท่ากับการเป็น nobody เพราะนั่นไม่ต่างจากการอยู่เหมือนคนตาย ถึงแม้จะมีกินมีใช้สะดวกสบายก็ตาม ไม่มีวิธีใดที่จะทำร้ายจิตใจของผู้คนได้มากเท่ากับการทำกับเขาประหนึ่งว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ ใช่หรือไม่ว่า นั่นคือสาเหตุที่ผลักดันให้ผู้คนมากมายเลือกที่จะปลิดชีวิตตนเองมากกว่าที่จะทนอยู่ในสภาพดังกล่าว

มีกินมีใช้อย่างเดียวไม่พอ เราทุกคนยังต้องการเป็น somebody นั่นคือเป็นที่ยอมรับหรืออย่างน้อยก็เป็นรู้จักของผู้คน ยิ่งมากยิ่งดี ชื่อเสียงจึงเป็นยอดปรารถนาของผู้คนในเวลานี้ อะไรที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง ก็ยอมทำทั้งนั้น หากเด่นในทางดีไม่ได้ ก็พร้อมจะเด่นในทางที่เลว เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าการทนอยู่ในสภาพ “ตายทั้งเป็น” ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมจะต้องฆ่าคนสักกี่คนถึงจะมีชื่อในหนังสือพิมพ์หรือได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ” เขาบ่นว่ากว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เขาก็ต้องลงมือฆ่าไปแล้วหกคน

ยังดีที่สำนึกทางศีลธรรมทำให้คนส่วนใหญ่ยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้วิธีที่โหดร้ายดังกล่าวเพื่อประกาศตัวตนให้โลกรู้ แต่หันไปใช้วิธีอื่นแทน มีวิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในเวลานี้และพบเห็นได้ไม่ไกลจากสุสานราชวงศ์หมิง ห่างออกไปไม่ถึง ๒๐ กม. คือกำแพงเมืองจีนที่พาดผ่านเหนือกรุงปักกิ่ง ความยิ่งใหญ่โด่งดังของกำแพงแห่งนี้ดึงดูดคนทั้งแผ่นดินจีนและจากทุกมุมโลกไปเยี่ยมเยือนนับล้านคน เมื่อปีนขึ้นไปได้ไม่กี่สิบเมตร สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือเส้นสายลายมือบอกชื่อแซ่ที่เปรอะเปื้อนตลอดแนวกำแพง ยิ่งผนังภายในหอคอยหรือเก๋งจีนด้วยแล้ว ชื่อแซ่ทุกสีทุกขนาดและทุกภาษาจะปรากฏอย่างโดดเด่นเต็มตา ตรงไหนที่มีคนเดินผ่านมาก ก็ยิ่งมีชื่อแซ่เปรอะเปื้อนมากเท่านั้น

ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้ทิ้งชื่อแซ่ของตนเอาไว้เป็นที่ระลึกอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่ว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อประกาศตัวตนให้คนอื่นรับรู้ และที่ใดเล่าจะมีผู้คนรับรู้ถึงการประกาศนั้นได้มากเท่ากับที่กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ ๑ ใน ๗ ของโลก มองให้ลึกลงไป เขาไม่เพียงต้องการประกาศชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองเท่านั้น หากยังต้องการบอกว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”

ที่น่าคิดก็คือ ลำพังตัวเขาเองไม่เพียงพอหรือที่จะยืนยันว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ” ทำไมถึงต้องให้คนอื่นร่วมรับรู้หรือเป็นสักขีพยานด้วย เป็นไปได้หรือไม่ว่าในส่วนลึกของจิตใจเราทุกคนสงสัยว่า “ตัวกู” มีอยู่จริงหรือ หรือว่า “ตัวกู” เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง มองในแง่ของพุทธศาสนา ความสงสัยดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วอัตตาหรือ “ตัวกู” นั้นหามีจริงไม่ หากเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาหรือยึดมั่นเอาเองว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ว่าจะยึดอะไรเป็นตัวตน ในที่สุดก็พบว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนอันเที่ยงแท้ยั่งยืนได้เลย แม้กระทั่งร่างกาย หรือจิตใจ จริงอยู่ในชีวิตประจำวันเรามักสำคัญตนว่า “กู” เป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นพ่อ เป็นลูก เป็นคนไทย แต่บ่อยครั้งจะพบว่า “ตัวกู” หรือความสำคัญตนเช่นนั้นไม่เคยคงที่หรือคงตัวเลย หากแปรเปลี่ยนไปเสมอ สุดแท้แต่เหตุการณ์หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แม้แต่ความสำคัญตนว่า “กู” เป็นคนไทยก็หายไปเมื่อเจอคนบ้านเดียวกัน เกิดความสำคัญตนว่า “กู” เป็นคนขอนแก่นหรือภูเก็ตมาแทนที่

ความไม่เที่ยงแท้คงทนของ “ตัวกู” นี้เองที่ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า “ตัวกู” นั้นมีจริงหรือไม่ แต่หากจะยอมรับความจริงว่า “ตัวกู” ไม่มีอยู่จริง “ตัวกู” ก็ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นมันจึงพยายามทุกอย่างที่จะหาสิ่งต่าง ๆ มายืนยันว่า “ตัวกู” มีจริง ยิ่งมีผู้คนยืนยันมากเท่าไร ก็ยิ่งมั่นใจหรือหายสงสัยมากเท่านั้น การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเป็นวิธีหนึ่งที่จะยืนยันกับตนเองว่า “ตัวกู” มีอยู่จริง ในทางตรงข้าม การไม่มีใครรู้จักหรือไม่อยู่ในสายตาของคนอื่นเลย เท่ากับตอกย้ำความสงสัยว่า “ตัวกู” ไม่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องเจ็บปวดมาก ดังนั้นการพยายามเผยแพร่ชื่อเสียงของตนจึงเป็นเรื่องใหญ่มากโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับคนที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง คงไม่มีวิธีใดที่ง่ายและสะดวกเท่ากับการทิ้งลายมือชื่อแซ่ไว้ตามที่สาธารณะ (รวมทั้งฉีดสเปรย์ตามกำแพงริมถนน) เพื่อยืนยันว่า “นี่กูนะ” หรือ “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”

“ตัวกู” นั้นกลัวความขาดสูญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นมันจึงปรารถนาความเป็นอมตะ แต่หากจะต้องตาย ก็หวังว่าจะมีโลกหน้าเพื่อให้ตัวตนได้สืบต่อ แต่ถ้าไม่เชื่อโลกหน้า ก็ยังหวังว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง” เพราะหากยังมีชื่อเสียงปรากฏแม้สิ้นลมไปแล้ว ก็เท่ากับว่าตนยังไม่ตาย (ความเชื่อดังกล่าวสะท้อนชัดเจนจากคำกล่าวของลองเฟลโลว์ กวีอเมริกันเมื่อพูดถึง ไมเคิล แองเจโล ว่า “เขาจะตายได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่อย่างเป็นอมตะในหัวใจของผู้คน”) ด้วยเหตุนี้คนเราจึงกลัวที่จะถูกลืมหลังตาย (อาจกลัวถูกลืมมากกว่ากลัวตายด้วยซ้ำ)

แต่ที่ “ตัวกู” กลัวยิ่งกว่านั้น ก็คือกลัวความจริงว่า “ตัวกู” ไม่มีอยู่จริง นี้คือปัญหาที่รบกวนจิตใจของผู้คนทั้งๆ ที่ยังห่างไกลจากความตาย ดังนั้นจึงพยามทำทุกอย่างเพื่อยืนยันว่า “ตัวกู” นั้นมีอยู่จริง อาทิ การสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักให้มากที่สุด รวมถึงการแสวงหาทรัพย์สมบัติและอำนาจเพื่อเติมเต็มความรู้สึกพร่องอันเนื่องจากความสงสัยในความว่างเปล่าแห่งตัวตน (อนัตตา)

จักรพรรดิประกาศตัวตนและสนองความต้องการเป็นอมตะด้วยการสร้างสุสาน ส่วนคนเล็กคนน้อยที่ไม่สามารถสร้างอนุสาวรีย์ให้ตนเองได้ ก็มีวิธีประกาศให้ผู้คนรู้ว่า “นี่กูนะ” ด้วยการทิ้งชื่อเสียงเรียงนามไว้บนกำแพงเมืองจีนและสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งเป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรและจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนาน ก็ยิ่งมีหวังว่าตนเองได้เป็นอมตะตามไปด้วย

แต่ความพยายามทั้งหมดนี้ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำว่า “ตัวกู” นั้นหามีจริงไม่ และไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืนเลยแม้แต่อย่างเดียว

Back to Top