ศิลปะที่ชุบชื่นชีวิต



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2552

“เราจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรมได้อย่างไร?” - เป็นหัวข้องานเสวนาซึ่งจัดที่พิพิธภัณฑ์บางกอก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา

สาวน้อยศิลปินที่เพิ่งจบจากอิตาลีใหม่หมาด เสนอความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า “ศิลปินน่าจะเลิกมองว่าพื้นที่แสดงผลงานศิลปะอยู่แต่เพียงในแกลอรี และรอให้มีคนเดินเข้ามาชื่นชม หากแต่ต้องพยายามนำงานศิลปะนั้นเข้าไปหาผู้คนให้มากขึ้น มากกว่าการเรียกร้องพื้นที่แสดงงานศิลปะ” พร้อมทั้งยกตัวอย่างการแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ และลักษณะของงานศิลปะอันเรียบง่าย ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก ดังเช่น แมดริด เบอร์ลิน ปารีส ลอนดอน เป็นต้น

ช่างภาพหนุ่มอีกคนนำโปสการ์ดภาพถ่ายผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมาให้ดู ภาพถ่ายแต่ละภาพถ่ายจากมุมอันเรียบง่าย หากแต่มองเห็นใบหน้าของผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แม้ว่าจะมีร่องรอยของความทุกข์ยากที่ต้องจากบ้านเกิด บางรายมีร่องรอยของการถูกทำร้ายทรมาน ศิลปะที่ไม่ซับซ้อนตรงไปตรงมาเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องการคำอรรถาธิบายจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่

เป็นที่น่ายินดีที่ศิลปินร่วมสมัยมีความถ่อมตนมากขึ้น หากแต่ถ้อยคำของคนรุ่นใหม่ยังต้องรอการพิสูจน์ตนต่อไป
อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้นเอง รูปธรรมที่ชัดเจนของการนำศิลปะเข้าไปหาผู้คนก็เกิดขึ้นที่แผนกไอซียู โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ

สมคิด ชัยจิตวณิช - ช่างภาพอาชีพ - บริจาคภาพถ่ายที่ปรกติมีแต่หนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำมาขอซื้อ ประดาสหายจิตอาสานำภาพ ๔๐ กว่าภาพไปขยายเข้ากรอบรูป ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาจากงบของโรงพยาบาลบวกผู้มีใจเมตตา มีผู้บริจาคช่างไม้และลูกมือมาติดตั้งภาพทั้งหมด อีกมุมหนึ่งวางตู้เพลงธรรมะและชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสืออัดแน่น บางมุมมีกระถางต้นไม้มาวาง เปลี่ยนแปลงบรรยากาศที่นั่งพักผ่อนของญาติ ทางเดินและที่พักเปลผู้ป่วยก่อนเข้าห้องผ่าตัด ไปจนถึงหน้าเคาน์เตอร์ทำงานของพยาบาลในห้องไอซียู ตลอดจนในห้องไอซียูของผู้ป่วย ซึ่งปราศจากหน้าต่าง ไร้ช่องทางในการมองเห็นทัศนียภาพภายนอก หมดโอกาสที่จะได้ยินเสียงฝนโปรยปราย และรับความสดชื่นจากลมภายนอก ให้มีชีวิตชีวาและเบิกบานขึ้นอย่างเด่นชัด

การนำงานศิลปะเข้าไปในสถานพยาบาลนั้น ย่อมช่วยในการเยียวยามิติทางอารมณ์ จิตวิญญาณ และสังคม ในขณะที่เครื่องช่วยชีวิตนั้นเยียวยาได้เฉพาะทางกาย

เมื่อมองเห็นภาพอันงาม มีพื้นที่พักผ่อนทางใจ ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์เองย่อมคลายความทุกข์ ความกังวล ความหดหู่และเศร้าหมองของจิต - แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด หากแต่สภาพแวดล้อมก่อนและหลังติดตั้งงานศิลปะก็มีบรรยากาศแตกต่างกันอย่างน่าอัศจรรย์ - ศิลปะย่อมนำพาใจของผู้คนไปสู่ที่ที่ไม่เคยไป

เมืองไทยเรายังไม่มีงานวิจัยใดมาศึกษาเกี่ยวกับผลดีของการนำศิลปะเข้าไปหาผู้คนในโรงพยาบาล หากแต่รูปธรรมของศิลปะที่รับใช้มากกว่าตัวเองนี้ ปรากฎผลอย่างค่อนข้างชัดเจนจากงานที่เริ่มขึ้นเมื่อ ๓๐ ปีก่อนในประเทศยากจนอย่างเวเนซูเอลา
เมื่อโฮเซ อันโตนิโอ เอบรอย นักเศรษฐศาสตร์และนักดนตรีก่อตั้งวงออเคสตราที่ประกอบด้วยเด็กและเยาวชน ๑๑ คนขึ้นที่โรงรถ ในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ โครงการ El Sistema ที่ให้การศึกษาด้านดนตรีกับเด็กและเยาวชนก็ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นอุบายดึงให้พ้นจากยาเสพติดและอาชญากรรมที่มีอยู่มากมายในสังคมขณะนั้น

El Sistema ได้นำเอาดนตรีคลาสสิคชั้นสูงเข้ามาสู่มือของเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ กว่าร้อยละ ๙๐ ของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมาจากครอบครัวชั้นล่าง นอกเหนือจากเครื่องดนตรี ทุนการศึกษา ยังมีค่าเดินทางจากบ้านมาเรียน เด็กเหล่านี้ช่วยสอนให้ที่บ้านรู้จักกับงานดนตรีอันเลิศของนักประพันธ์เอกแห่งโลก และทำลายกำแพงแห่งชนชั้นในโลกศิลปะแห่งดนตรีลง

ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้กว่าครึ่งล้าน ช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา เวเนซูเอลามีวงออเคสตราอาชีพเพิ่มขึ้นจาก ๒ วง เป็น ๓๐ วง ทั่วประเทศ และวงออเคสตราเด็กและเยาวชน - ไซมอน โบลิวาร์ – ผลผลิตของโครงการ รวมทั้งวาทยกร ก็ถือได้ว่ายืนอยู่แถวหน้าของวงออเคสตราระดับโลกเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นว่า ธนาคารอินเตอร์-อเมริกันเพื่อการพัฒนา อนุมัติเงินสนับสนุนให้กับโครงการนี้ถึง ๑๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๕ หลังจากงานวิจัยของธนาคารที่เก็บข้อมูลจากเด็กกว่าสองล้านคนในเวเนซูเอลา ปรากฏผลยืนยันว่า เด็กหนีเรียนน้อยลง ผลการเรียนดีขึ้น และลดจำนวนเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ อย่างเด่นชัด ธนาคารคาดว่าการลงทุนแต่ละดอลลาร์ในโครงการ El Sistema จะทำให้เกิดกำไรทางสังคมราว ๑.๖๘ ดอลลาร์

งานศิลปะที่ชุบชื่นชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วทั้งในบ้านเรา และที่อื่น ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนหน้า หากเมืองไทย – ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ – มีงานศิลปะที่เข้ามาสัมผัสกับชีวิตความเป็นจริงตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล สวนสาธารณะ ริมทางเดิน ในสถานศึกษา ในที่ทำงาน ในหมู่บ้าน ไม่ใช่ในฐานะเครื่องประดับตบแต่ง หรือสินค้ามีราคา หากแต่ในฐานะที่ชุบชื่นชีวิตผู้คนได้จริง-จริง สภาวะจิตของผู้คนในสังคมจะเป็นอย่างไร จินตนาการอันกว้างใหญ่น่าจะตอบได้

Back to Top